วัยว้าวุ่นหรือช่วงวัยมัธยมเป็นวัยกำลังเติบโต ตามธรรมชาติแล้วมักต้องพบเจอกับฮอร์โมนที่มีการ เปลี่ยนแปลงในร่างกายมากมาย หนึ่งในนั้นที่ผู้เขียนจะหยิบยกมาพูดถึงคือ ‘สุขภาพผิวและการดูแล’ แน่นอน ว่าปัญหาสุขภาพของวัยว้าวุ่นที่ถูกพูดถึงกันอย่างล้นหลามคือสุขภาพผิวโดยเฉพาะ สิว รอยตกค้างจากสิว การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลตนเอง ในบทความนี้ผู้เขียนกล่าวถึงปรากฏการณ์ปัญหานักเรียนวัยมัธยมที่มีปัญหาสิว และการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเอง รวมถึงทบทวนวาทกรรมจากสังคม มายาคติต่อการดูแลผิวของวัยรุ่นใน สังคม ความเหลื่อมล้ำและการเข้าถึงสุขภาพผิวที่ดี พร้อมกับวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมระดับ ครอบครัวและโรงเรียนว่าทำไมถึงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลผิว โดยเฉพาะการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ปัจจัยที่ ส่งผลต่อสุขภาพจิตของนักเรียน และกล่าวถึงความเป็นจริงบางประการของผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่สังคมมองข้าม พร้อมเสนอทางแนวทางในตอนสุดท้าย
หากลองมองย้อนกลับไปที่วัยมัธยมต้นหรือมัธยมปลาย สังเกตได้จากตัวเราหรือกลุ่มเพื่อนที่กำลังเริ่ม ดูแลตัวเอง เริ่มรักสวยรักงาม เพิ่มเสน่ห์เพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม เป็นช่วงวัยหนึ่งที่กำลังก่อร่างสร้างคุณค่าให้ตัวเอง ผ่านการดูแลตัวเอง รวมถึงหากดูดีมีเสน่ห์มักถูกยอมรับจากกลุ่มเพื่อน เป็นไปได้ไหมที่เด็กวัยนี้อาจกลายเป็นคนไม่มั่นใจ (Low-Self Confident) ในอนาคตได้หากไม่ถูกยอมรับจากกลุ่มเพื่อนในโรงเรียน พูดถึงการดูแลตัวเองแล้วมักเห็นได้จากการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายต่างๆ อาทิ สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม ลิป น้ำหอม โรลออน ที่ได้ยินบ่อยทั้งจากตัวผู้เขียนเองกับเพื่อนที่เป็นตัวชูโรงบทสนทนายอดฮิตในวัยรุ่น คือ โฟมล้างหน้า “แกใช้โฟมล้างหน้าอะไรอ่ะ ไม่มีสิวเลย” ไม่เว้นแต่นักเรียนกลุ่มผู้ชาย รวมไปจนถึงครีมบำรุงผิว “เธอใช้ครีมไรอ่ะ หน้าใสมาก” ฟังดูเป็นสิ่งที่น่าค้นหา แต่สำหรับผู้เขียนแล้วเหล่านี้คือปัญหาแห่งความสับสนของวัยว้าวุ่นที่แม้แต่โรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีการสอนวิชาเคมียังไม่ได้ให้คำตอบว่าสารชนิดไหนเหมาะกับเรา ทั้งที่เป็นเรื่องของ วิทยาศาสตร์ที่ใกล้ตัวมาก สุดท้ายแล้วครูหรือผู้ปกครองตอบได้เพียง “ออ เพราะฮอร์โมน สิวเลยขึ้นเยอะ เดี๋ยว โตไปก็หาย” ผู้เขียนขอตอบเลยว่าไม่ใช่ ปัญหาใหญ่ของนักเรียนคือการออกไปสุ่มเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หากเลือกถูก ก็รอดไปแต่หากเลือกซื้อผิดและไม่เหมาะสมกับผิวตนเองอย่างแท้จริงแน่นอนว่าต้องส่งผลไม่ดีกับผิวพรรณของ นักเรียนเอง การได้คำตอบว่าตนต้องดูแลตัวเองอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราต้องร่วมกันให้คำตอบ
วาทกรรมจากผู้ใหญ่รอบตัวที่คอยบอกว่า “เป็นเด็กเป็นเล็กดัดจริตใช้อะไรเยอะแยะ” มักทำให้วัยว้าวุ่น อย่างเราต้องสับสนว่าสรุปแล้วเราเป็นเด็กต้องดูแลผิวไหม และ “เป็นผู้ชายทาครีมได้เหรอ” หรือ “เป็นผู้ชายใช้ของผู้หญิงได้อย่างไร” ไม่เพียงแต่สร้างความสับสนแต่ยังมีการแบ่งเพศว่าผู้ชายไม่ควรใช้ของผู้หญิง และการทาครีมเป็นเรื่องของผู้หญิง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กผู้ชายที่สนใจอยากดูแลตัวเองถูกเหมารวมว่าเป็น LGBTQ วัยรุ่นถูกกรอบสังคมหรือมายาคติจากผู้ใหญ่ทำให้ไม่กล้าใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเองอย่างออกนอกหน้ารวมถึงไม่กล้าปรึกษาปัญหาผิวกับผู้ใหญ่ว่าต้องใช้อะไรได้เทียบเท่าเด็กผู้หญิง ผู้เขียนเป็นเด็กผู้ชายที่เคยมีประสบการณ์แอบใช้โฟมล้างหน้าของแม่ แอบเอาลิปมันของแม่มาทา เอาครีมทามือแม่มาใช้ เพียงเพราะอยากดูแลตัวเองและพ่อพูดขึ้นมาว่า “ผู้ชายทาลิปมันได้ยังไง นั่นของผู้หญิง” เสมือนเราถูกตีตราไปแล้วว่าเราไม่ได้เป็นอย่างที่เราเป็น วาทกรรมหรือคำพูดเหล่านี้ที่มาพร้อมกับกรอบความคิดบางอย่างที่ทำให้เราไม่หลุดออกจากกรอบและเข้าถึงข้อมูลหรือข้อเท็จจริงได้ยาก และยังทำให้เราปักใจเชื่อไปแล้วว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับเรา
เมื่อเข้ามายังโรงเรียนที่เป็นสังคมเล็กๆ ของวัยรุ่น ครูบางท่านบอกต่อกันว่านักเรียนต้องใช้โฟมล้าง หน้าเพื่อป้องกันสิว เป็นมุมที่น่าสนใจต่อการเอื้อให้เราดูแลผิว แต่ทำไมถึงใช้โฟมล้างหน้าแล้วยังไม่หาย สิวขึ้นอยู่เรื่อยๆ อีกทั้งเมื่อต้องออกไปเลือกซื้อกลับมีหลายยี่ห้อ และยังต้องเจอกับโฆษณาชวนเชื่อว่าทุกยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ดี หลงกลไปกับโฆษณาที่ไม่รู้ว่าจริงแค่ไหน เชื่อได้หรือไม่ได้ ข้อเท็จจริงคืออะไร นี่เรากำลังส่งต่อข้อมูลหรือ ข้อเท็จจริงที่ผิดพลาดอยู่หรือไม่ แต่เพราะต้องใช้เลยซื้อมาก่อนเพื่อให้มีเหมือนกับคนอื่น ถ้าไม่มีเราคงอดเมาท์ หรือพูดคุยเกี่ยวกับการดูแลตัวเองในวงสนทนาเพื่อนสนิท ไม่เพียงแค่นี้ สุดท้ายแล้วเรายังสงสัยและสับสนเรื่องผิวของตนเอง นี่เป็นความรู้พื้นฐานของการใช้ชีวิตและการดูแลสุขภาพของตนเอง ทั้งที่โรงเรียนสอนวิทยาศาสตร์มีบรรจุไว้ทั้งวิชาชีววิทยาที่เรียนถึงเรื่องสรีระของมนุษย์ลึกไปจนถึงการทำงานของเซลล์และสิ่งมีชีวิต วิชาเคมีที่เรียนถึงองค์ประกอบของสารเคมี วิชาภาษาไทยที่เรียนถึงการอ่านและวิเคราะห์จับใจความ และวิชาคณิตที่เรียนถึงการคำนวณความคุ้มค่าต่างๆ แต่ไม่สามารถนำความรู้เหล่านี้มาประยุกต์กับการใช้ชีวิตประจำวันทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจในเบื้องต้นได้ อย่างการขาดวิจารญาณในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิว การไม่อ่านข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริง การชั่งน้ำหนักระหว่างโฆษณาและข้อเท็จจริง และอย่างยิ่งคือขาดการทำความเข้าใจผิวของตนเองอย่างถ่องแท้เพราะผิวของมนุษย์มีความต้องการการดูแลไม่เหมือนกัน ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดและส่งต่อแนวคิดการดูแลผิวที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงที่ ในปัจจุบันมีการ ค้นคว้าวิจัยมากมายและสามารถให้คำตอบได้ ‘การเรียนการสอนในปัจจุบันเหล่านี้ตอบโจทย์ต่อคุณค่าของการ ใช้ชีวิตแล้วหรือยัง’
การมองว่าสิวเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ในสังคม ถูกต้องในทางชีววิทยา สิวเกิดขึ้นเมื่อรูขุมขนที่ผิวหนัง อุดตัน เกิดจากน้ำมันบนผิวที่ผลิตออกมามากเกินไปและเซลล์ผิวที่ตายแล้วอุดตันที่รูขุมขน สามารถแก้ได้จากการดูแลสร้างสมดุลผิวด้วยผลิตภัณฑ์ดูแลผิวต่างๆ ที่ผ่านมาตรฐานการทดลองว่าสามารถป้องกันการเกิดสิวได้ (“Acne”, ม.ป.ป.) นี่คือปกติของผิวมนุษย์ แต่ที่ไม่ปกติคือการมีวาทกรรมในสังคมเกิดขึ้นกับวัยรุ่นผู้ชายว่า “เป็นผู้ชายทาครีมผู้หญิงได้ไง” ในกรณีการศึกษาความแตกต่างของผิวผู้ชายกับผู้หญิงนี้พบว่าผิวของมนุษย์ทั้ง ชายและหญิงเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายตามสภาพแวดล้อมและรูปแบบการใช้ชีวิต (Rahrovan, Fanian, Mehryan, Humbert, & Firooz, 2018) สุดท้ายแล้วผิวของผู้ชายและผู้หญิงนั้นต้องการการดูแลเหมือนกัน แต่อาจต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมและสรีระทางชีววิทยา เราต้องเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลที่เหมาะสมกับผิวของตนเองมากกว่าการเลือกผลิตภัณฑ์ที่แบ่งเพศแล้วบอกว่านี่เหมาะกับชายหรือหญิง ผู้เขียนมีความเห็นว่า ลักษณะผิวที่ต้องการดูแลนั้นไม่มีเพศแต่คือเฉดของการดูแลที่ต่างกัน และวิจารณญาณการเลือกใช้ที่เหมาะกับผิวของตนเองและตอบโจทย์กับสภาพแวดล้อมให้มากที่สุด นี่ต่างหากที่ส่งผลให้มีสุขภาพผิวที่ดี วาทกรรมข้างต้นนี้ก่อให้เกิดเป็นความสับสนในวัยรุ่นวัยมัธยม สิ่งที่กระทบกับตัวนักเรียนมากที่สุดคือการเกิดสิวที่ใบหน้า นักเรียนกำลังต้องการคำตอบกับตัวเองว่าต้องดูแลอย่างไรให้สิวหาย แต่กลับได้คำตอบและมุมมองจากผู้ใหญ่ที่ ไม่เอื้อต่อการค้นหาคำตอบ ไปจนถึงนักเรียนอาจได้รับมุมมองและความเชื่อการดูแลผิวแบบผิดๆ จาก แหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือจนเกิดเป็นอาการอักเสบทั่วใบหน้า อาทิ เกาให้สิวออก กดให้สิวออกตอนไหนก็ได้ สิวเกิดจากความเครียด นอนน้อยสิวขึ้น ช่วยตัวเองสิวขึ้น โตไปเดี๋ยวสิวก็หายได้เอง ตำแหน่งสิวบอกโรค หรือเน็ต ไอดอลขายครีมใน Tiktok นี่เป็นความเข้าใจผิดโดยขาดข้อมูลและข้อเท็จจริงรวมถึงขาดการเข้าถึงแหล่งข้อมูล หรือผู้ให้คำตอบที่ถูกต้องอย่างเหมาะสม ความเชื่อเหล่านี้ถูกส่งต่อกันในโรงเรียนและกลุ่มวัยรุ่น พร้อมส่งผลต่อ ความหวาดระแวงในตัวเองว่าฉันทำอะไรผิด ทำไมสิวไม่หาย
ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ครอบครัวที่มีรายได้สูงมักเข้าถึงได้ง่ายกว่า นี่อาจเป็น คำตอบของความเหลื่อมล้ำที่ว่าชุดข้อมูลบางอย่าง อาจกำลังผูกติดกับคนรวย ที่มีเงินซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิว สังเกตได้จากโรงเรียนใหญ่ที่มีคนรวยส่งลูกไปเรียน มีผิวพรรณดีได้รับการดูแลที่ดีจากครอบครัว หากลองวิเคราะห์ผ่านเลนส์ของ Bronfenbrenner ด้วยแบบจำลอง Ecological system กล่าวว่า พัฒนาการของเด็กเป็นผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เขาเผชิญมาในชีวิต ทั้งปัจจัยทางชีวิทยา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รวมถึงสังคมและวัฒนธรรม (Cherry, 2023) ครอบครัวที่มีรายได้สูงนั้นมีโอกาสได้เดินห้างสามารถเข้าถึงข้อมูล การดูแลผิวได้ง่ายกว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับคลินิกความงามจากการที่มีพนักงานคลินิกเสริมความงามยืนรอเรียกลูกค้าในห้าง พร้อมมอบความรู้จากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญการดูแลผิวให้ฟรีก่อนเข้ารับบริการ และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีคุณภาพมักอยู่ในร้านขายเครื่องสำอางชื่อดังของห้าง อยู่ใกล้แหล่งความเจริญในหลายๆ ด้าน ผู้ปกครองสามารถเข้าถึงหัตถการหรือคลินิกด้านความงามได้มากกว่า พร้อมได้รับความรู้ความเข้าใจในการดูแลผิวให้มีสุขภาพที่ดีและส่งเสริมด้านความงามที่เป็นเอกลักษณ์ของความมั่นใจ เพียงแค่นี้ลูกก็ได้รับการดูแล ที่ดีจากครอบครัวในระดับหนึ่งแล้ว เมื่อเข้ามาในโรงเรียนสังคมกลุ่มเพื่อนก็สามารถนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันและสร้างความตระหนักเรื่องการดูแลสุขภาพผิวได้ นักเรียนเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตที่ดี อาทิ ห้องเรียนมีเครื่องปรับอากาศ เดินจากอาคารเรียนไปโรงอาหารหรือสถานที่อื่นๆ ใน โรงเรียนมักมีหลังคาบังแดดกันฝนตลอดเส้นทาง ในขณะเดียวกันหากวิเคราะห์จากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ โรงเรียนขนาดเล็ก ผู้ปกครองมีปฏิสัมพันธ์กับแม่ค้าในตลาดสดมากกว่าการเดินห้าง และดูโฆษณาทีวีชวนเชื่อที่ให้ข้อมูลอันน้อยนิดไม่มีผู้เชี่ยวชาญมายืนยันว่าที่โฆษณามีข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด ในบางครั้งอาจอยู่กับชุดข้อมูลที่ไม่ได้รับการยืนยันว่าสิ่งนี้สามารถสร้างเสริมสุขภาพผิวที่ดีให้แก่ตัวเองและลูกหรือคนในครอบครัวได้ อย่างถูกต้อง เมื่อลูกเข้าโรงเรียนแล้วกำลังอยู่ในช่วงวัยที่เกิดสิวได้ง่ายต้องดูแลสุขภาพผิว เสริมด้วยการรับชุดข้อมูลที่คลาดเคลื่อนส่งผลต่อสุขภาพผิวและสุขภาพจิต สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตที่ดี อาทิ เดินไปสถานที่ต่างๆ ในโรงเรียนต้องพบกับอากาศร้อนโดนแสงแดดรังสี UV โดยตรง โรงเรียนไม่มีการสอนที่บอกถึงการปกป้องผิวจากรังสี UV ห้องเรียนก็ร้อน Dr. McGregor กล่าวว่า “สภาพแวดล้อมที่ร้อนชื้น ส่งผลให้ผิวผลิตเหงื่อและน้ำมันมากกว่าปกติ น้ำมันที่มากเกินกับสิ่งสกปรกเหล่านี้เข้าไปอุดตันที่รูขุมขนและ เป็นแหล่งอาหารของแบคทีเรียก่อให้เกิดสิวได้ง่ายกว่าสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ” (“Why Is Acne Worse in the Summer?”, 2021) โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่มีผิวมันอยู่แล้วจะได้รับผลกระทบนี้มากที่สุด พร้อมกับห้องสมุดในโรงเรียนขนาดเล็กมีหนังสือน้อยแหล่งความรู้นอกห้องเรียนไม่มากพอ โรงเรียนเองไม่สามารถให้คำตอบแก่เรื่องนี้ได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากครูไม่มีความรู้มากพอ หนำซ้ำอาจส่งต่อความรู้ความเชื่อผิด ๆ จากที่กล่าวไว้ในข้างต้น สุดท้ายแล้วโรงเรียนกำลังส่งต่อและตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในด้านของการดูแลสุขภาพผิวและคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่หรือไม่
การศึกษายืนยันแล้วว่าผลกระทบจากการเกิดสิว มีผลทำให้เกิดปัญหาสภาวะทางจิตใจ ทั้งจากการเข้าสังคมหรือการไปโรงเรียน การแยกตัวออกจากสังคม การฆ่าตัวตาย และที่สำคัญคือพบได้บ่อยในกลุ่มวัยรุ่น (Misery, 2011) กลุ่มวัยรุ่นที่กล่าวถึงคือช่วงอายุ 13-20 ปี หรือช่วงวัยมัธยมตั้งแต่มัธยมปีที่ 1 จนถึงช่วงต้นของการเข้ามหาวิทยาลัย นี่เป็นคุณภาพชีวิตที่ดีและส่งเสริมให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ Erikson กล่าวถึงการเรียนรู้และพัฒนาการในช่วงวัยนี้ เป็นช่วงวัยแห่งการริเริ่มค้นหาตัวเองและในขณะเดียวกันมักเกิดความสับสนในอัตลักษณ์และบทบาทตนเอง การทดลองในบทบาทของตนเองผ่านการทำ
กิจกรรมต่างๆ ลองผิดลองถูก จึงเป็นการก่อร่างสร้างคุณค่าให้แก่ตนเองหรือการสร้างเอกลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นของวัยนี้ (Cherry, 2023) การเรียนรู้ถึงความแตกต่างทั้งภายในตนเองและรูปลักษณ์ภายนอก ที่ผู้เขียนมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอัตลักษณ์ภายนอก รูปร่างหน้าตา โอกาสการเกิดสิวนั้นส่งผลกระทบต่อตนเองกับสังคม การที่นักเรียนขาดความเข้าใจและแหล่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดูแลตนเอง ก่อให้เกิดปัญหาผิวโดยเฉพาะสิวได้ง่าย และปัญหาที่ตามมาคือการถูกยอมรับและการเข้าสังคม
หากกล่าวถึงการถูกยอมรับในเลนส์ของแนวคิดของพลังกลุ่ม มีการศึกษาที่สำรวจเกี่ยวกับความเห็น ต่อผู้ที่มีสิวบนใบหน้า ผลสำรวจนี้พบว่า การเกิดสิวส่งผลต่อการรับรู้ที่ไม่ดีกับคนในสังคม ทั้งการเข้าสังคม การทำงาน มักถูกมองว่า เครียด ไม่ดูแลตัวเอง น่าเบื่อ เก็บตัวโดดเดี่ยว ในขณะเดียวกันที่วัยรุ่นที่มีผิวใสมักถูกมองว่า ฉลาด มั่นใจในตัวเอง สุขภาพดี สนุกสนาน ชี้ให้เห็นว่าสิวส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์เชิงลบ อาทิ การถูกกลั่นแกล้งมักเกิดขึ้นที่โรงเรียนในลักษณะของการล้อเลียน และการล้อเลียนนั้นแสดงถึงการกีดกันบุคคลหนึ่ง ในการเข้าสังคมและการรักษาอำนาจเหนือกว่า ไม่เว้นแต่ความสัมพันธ์เชิงลบเกี่ยวกับตนเอง ความเชื่อมั่น ในอัตลักษณ์ของตนเองก็ลดลงเช่นกัน ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า (Ritvo, Rosso, Stillman & Riche, 2021) ผลการสำรวจนี้ยืนยันได้แล้วว่าปัญหาการเกิดสิวส่งผลต่อการสร้างพลังกลุ่มและความสัมพันธ์ที่ดีในโรงเรียน พร้อมทั้งการได้รับบทบาทอำนาจจากเพื่อนฝูงเสริมกับแนวคิดทางสังคม ความเชื่อที่ผิดๆ นี้มีอิทธิพลมากต่อเจตจำนงสำหรับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตนเอง แต่กลับกลายเป็นว่านักเรียนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ตามกลุ่มเพื่อนและผู้ใหญ่ที่บอกว่าดี คำติชมที่ส่งต่อกันมาไม่ว่าพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู กลุ่มเพื่อน รวมถึงโลก Social media เป็นปัญหาผิวที่ไม่จบสิ้นเพราะความจริงที่ผิวต้องการนั้นขัดต่อการซื้อของคล้อยตามสังคม เมื่อผลลัพธ์ตรงกันข้ามกับที่สังคมแนะนำมา ก่อให้เกิด Social Deprivation การแยกตัวออกจากสังคมในนักเรียนที่มีสิวเพราะไม่รู้จะเชื่อใคร ซื้อตามคนอื่นก็ยังไม่หาย สับสนกับตนเองว่าสุดท้ายแล้วเราต้องใช้อะไร นอกจาก สุ่มดวงซื้อมา
อธิบายในแง่มุมของสารสื่อประสาทต่อการถดถอยของปรากฏการณ์นี้แล้ว เมื่อถูกกลั่นแกล้งล้อเลียน หรือถูกวาทกรรมและพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าฉันกำลังถูกคุกคามบางอย่าง สารสื่อประสาทที่มีชื่อว่าคอร์ติซอล (Cortisol) เป็นสารที่ตอบสนองต่อความเครียด เมื่อมีความเครียดที่สูงขึ้นระบบการทำงานของซิมพาเทติก (sympathetic nervous system) ระบบนี้จะทำหน้าที่เมื่อมีความเครียดเข้ามากระตุ้นและทำให้เราสามารถหลบหนีจากภัยคุกคามได้ และประมวลผลออกมาเป็นความกลัว (Thau, Gandhi & Sharma, 2023) เมื่อเราผ่านความกดดันหรือภัยคุกคามได้แล้วโดยปกติร่างกายจะกลับสู่ภาวะปกติหรือความสงบ ทั้งจากร่างกายและจิตใจ แต่เมื่อคอร์ติซอล (Cortisol) ถูกหลั่งออกมามากเกินไป มันสามารถทำลายความปกติสุขของมนุษย์ ก่อให้เกิดภาวะวิตกกังวลมาก ภาวะซึมเศร้า เกิดปัญหาของความจำและสมาธิ ปัญหาการนอน น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง (“What Is Cortisol?”, 2022) นี่คือเหตุผลที่ทำให้เราต้องหนีออกมาแล้วเก็บตัวอยู่ คนเดียวไม่กล้าเข้าสังคมเพราะต้องคอยกังวลกับการถูกกลั่นแกล้งในหลากหลายรูปแบบ สุดท้ายแล้วนักเรียนที่มีสิวบนใบหน้าต้องถูกผลักและถูกกีดกันออกจากเพื่อนในกลุ่มหรือ Social Exclusion เกิดเป็นพฤติกรรมเก็บตัว เจ็บปวดทางใจ ไม่กล้าส่องกระจกกังวลและสับสนว่าต้องทำอย่างไร ทั้งจากสังคมที่รุมเร้าและภายในตัวเอง นี่เป็นตัวช่วยทางสังคม (Social facilitation) ที่ส่งผลต่อนักเรียนที่มีสิวให้เติบโตในแบบที่ยังสับสนกับอัตลักษณ์และ เอกลักษณ์ของตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
โอกาสที่นักเรียนเหล่านี้กำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของพื้นที่การพัฒนา การที่เขากำลังสร้างความเข้าใจใน เรื่องของการดูแลตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี การได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นคนในบ้านคือพ่อแม่ หรือในโรงเรียนโดยเฉพาะครูและกลุ่มเพื่อน นี่คือช่วงโอกาสที่ยิ่งยวดของกลุ่มนักเรียนหรือวัยรุ่นกับการเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องของการดูแลสุขภาพผิวและรักษาสิวด้วยตนเอง ช่วยให้เขาสามารถค้นพบเอกลักษณ์จุดเด่นของรูปร่างหน้าตาตนเองได้เร็วขึ้น พร้อมสร้างความมั่นใจและคุณค่าในการเข้าสังคมได้เป็นอย่างดี ทราบดีว่าผลของการไม่รู้คุณค่าในตัวเองนั้นจะส่งผลร้ายอย่างไรต่อตัวเองและสังคม อาทิ กล่าวโทษตนเอง เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นและด้อยค่าเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่ยอมรับความจริงในตนเอง ผู้เขียนจึงอยากเสนอให้โรงเรียนมีหลักสูตรห้องเรียนสุขภาพผิว เพราะศาสตร์สุขภาพผิวไม่ใช่ศาสตร์ที่จะต้องจำและนำไปสอบแต่คือศาสตร์และศิลป์ของการดูแลตนเอง ให้เหมาะกับตนเองมากที่สุด หลักสูตรห้องเรียนนี้เสมือนเป็นการรวมตัวกันของนักเรียนที่ต้องการความเข้าใจด้านสุขภาพผิว พร้อมคำนึงถึงกลักการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เอื้อกับความหลากหลาย สร้างเสริมการทำงานร่วมกัน ร่วมกันค้นหาคำตอบว่าสิ่งใดที่เหมาะกับผิวของเรา ดังนั้นการมีกลุ่มเพื่อนมาร่วมเรียนได้ทำกิจกรรมในห้องเรียนร่วมกันยังสามารถสร้างเสริม พลังกลุ่มเป็นการลดโอกาสการเกิด Social Deprivation สร้างความตระหนักถึงการดูแลสุขภาพผิวอย่างเหมาะสมและมีวิจารญาณในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับตนเอง
ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ครูในโรงเรียน ดังนั้นระบบการรับสมัครค่าราชการครูที่ไม่ยืดหยุ่นมากพอต่อ การรองรับการเรียนรู้ที่หลากหลาย การเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์และแขนงอื่นเขามามีบทบาทในโรงเรียนถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และผู้เขียนอยากเสนอให้ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์และแขนงอื่นมีบทบาทมากขึ้นในวงการการศึกษา พร้อมกับการมีระบบการคัดกรองและการประเมินที่ยืดหยุ่นพอและสามารถควบคุมได้ภายในโรงเรียน เป็นอีกแนวทางการจัดสรรทรัพยากรอีกแบบที่น่าสนใจต่อปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยที่ตกต่ำอยู่ในตอนนี้
จากปรากฏการณ์ที่กล่าวมาทั้งความไม่ปกติของวาทกรรมจากผู้ใหญ่ที่เป็นพ่อแม่ ครู แม้แต่เพื่อนๆ ในโรงเรียน ที่พบเจอเหตุการณ์เรื่องปัญหาสุขภาพผิว โดยเฉพาะสิวที่เกิดขึ้นกับนักเรียนในโรงเรียนและ การศึกษาไทยที่เพิกเฉยต่อองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ ความเป็นจริงและข้อเท็จจริงของการดูแล สุขภาพผิวที่สังคมมักถูกทำให้หลงเชื่อไปกับโฆษณาที่มีข้อเท็จจริงเพียงบรรทัดเดียว เหล่านี้นำไปสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนที่ไม่ได้รับการแก้ไขและยังคงสับสนในอัตลักษณ์ของตนเอง ปัญหาผิวที่อาจก่ออาการเรื้อรัง และนำไปสู่การถูกกีดกันออกจากสังคม ที่ต่างประเทศได้มีการค้นคว้าสำรวจเกี่ยวกับวัยรุ่นที่พบปัญหานี้มาช้านาน แต่ผู้เขียนยังมองว่านี่คือเรื่องใหม่ที่สังคมไทยไม่เคยศึกษาอย่างจริงจัง การเปิดห้องเรียนสุขภาพผิวหรือห้องเรียนอื่นๆ รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชามาเผยแพร่ความรู้ในระดับโรงเรียน ผู้เขียนมีความเห็นว่า เหล่านี้สามารถส่งผลให้นักเรียนได้มีโอกาสเลือกและไปค้นหาความรู้ตามความสนใจที่มีมากกว่าในห้องเรียน การให้นักเรียนได้ไปหาความรู้ตามที่ตนเองสนใจนั้นเป็นสิ่งที่ควรมีในการศึกษา รวมถึงการให้ความสำคัญกับเนื้อหาในห้องเรียนและการนำไปใช้ในกับชีวิตประจำวัน คือการเพิ่มคุณค่าทางการศึกษา ที่ไม่ได้มาเรียนเพื่อสอบ แต่นักเรียนสามารถเอาไปปรับใช้จริงได้ตามช่วงวัยของตนเอง และการเข้าถึงข้อมูลที่มีอยู่บนโลกได้อย่าง มีวิจารณญาณ ผู้เขียนยังคงยึดมั่นในกลไกการเรียนรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง เพื่อให้องค์ความรู้ที่มีอยู่บนโลกได้เข้าถึงกลุ่มคนทุกชนชั้นและสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพ
อ้างอิง
Cherry K., (2023). A Comprehensive Guide to the Bronfenbrenner Ecological Model. Retrieved from https://www.verywellmind.com/bronfenbrenner-ecological-model-7643403
Cherry K., (2023). Identity vs. Role Confusion in Psychosocial Development. Retrieved from https://www.verywellmind.com/identity-versus-confusion-2795735
Cleveland Clinic. (2021). Why Is Acne Worse in the Summer?. Retrieved from https://health.clevelandclinic.org/why-does-my-acne-get-worse-in-the-summer
HFOCUS. (2565). ข่าวปลอม! ตำแหน่งสิวบอกโรค ความจริงแล้วสิวเกิดจากอะไร?. สืบค้นจาก https://www.hfocus.org/content/2022/12/26651
Lauren Thau, Jayashree Gandhi & Sandeep Sharma. (2023). Physiology, Cortisol. Retrieved from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK538239/
Rahrovan S., Fanian F., Mehryan P., Humbert P., & Firooz A., (2018). Male versus female skin: What dermatologists and cosmeticians should know. 4(3): 122–130.doi: 10.1016/j.ijwd.2018.03.002
Ritvo E., Rosso J. Q., Stillman M. A. & Riche C. (2011). Psychosocial judgements and perceptions of adolescents with acne vulgaris: A blinded, controlled comparison of adult and peer evaluations. 5:11 doi: 10.1186/1751-0759-5-11
RTOR.ORG. (2019). The Psychosocial Impact of Acne on Teen Mental Health. Retrieved from https://www.rtor.org/2019/04/10/teen-mental-health-and-acne/
Teixeira F. G. E., Carvalho F. B., Pacheco C. O., Pimentel K., Gomes M. G. & Haas S.E. (2022). The Importance of Skin Health Promotion for Children: Care with Makeup Use and Skin Cancer Prevention. 23(10):3491-3499. doi: 10.31557/APJCP.2022.23.10.3491.
ThaiHealth. (2564). เตือนอันตรายจากครีมกระปุกฝาแดง. สืบค้นจาก https://www.thaihealth.or.th/%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0/
WebMD (Ed.). (2022). What Is Cortisol?. Retrieved from https://www.webmd.com/a-to-z-guides/what-is-cortisol