ฤดูการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา แม้จะไม่เปิดให้มีผู้เข้าชมในสนามแม้แต่คนเดียวเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ไม่ได้ทำให้ผู้คนทั่วโลกที่เฝ้ารอเชียร์ทัพนักกีฬาจากประเทศของตนเองไปประกาศศักดาคว้าเหรียญทองละสายตาออกจากหน้าจอทีวีได้เลย
เป็นที่ยอมรับกันว่าความสำเร็จที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของอาชีพนักกีฬา คือการได้เป็นตัวแทนแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เบื้องหลังกว่านักกีฬาคนหนึ่งจะชนะการแข่งขันได้ ต้องอาศัยการฝึกฝนร่างกาย ความทุ่มเททั้งกายและใจ อุทิศตนให้กับการฝึกซ้อมอย่างหนักเป็นเวลากว่าทศวรรษ วิธีการฝึกฝนก็แตกต่างกันไปตามประเภทกีฬา ส่วนมากต้องเริ่มฝึกตั้งแต่เด็ก ถ้าชนะก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ถ้าแพ้ความพยายามทั้งหมดก็อาจแทบสูญเปล่า
ด้วยโครงสร้างอำนาจในวงการกีฬา ความคิดที่ว่า “โค้ช” เป็นผู้มีอำนาจเหนือนักกีฬาทุกคน บวกกับสภาพเดิมพันสูงลิ่วเช่นนี้อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุให้วัฒนธรรมเป็นพิษก่อตัวขึ้นจนสั่งสมเป็นการละเมิดข่มเหงในโลกกีฬา
รู้หรือไม่? ปัญหาการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นในแวดวงกีฬาทั่วโลก ทั้งระหว่างนักกีฬาด้วยกันเอง ผู้มีอำนาจในสมาคมองค์กรด้านกีฬา ผู้ฝึกสอนกีฬา ไปจนถึงแพทย์ประจำทีม
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทัพนักกีฬาแถวหน้าเจ้าของเหรียญทองจากหลายประเทศต่างออกมา “call out” บอกเล่าประสบการณ์ถูกครูฝึกทำร้ายร่างกาย การเลือกปฏิบัติ เจอพฤติกรรมเหยียดเพศ ไปจนถึงการล่วงละเมิดทางเพศ กันเป็นจำนวนมาก
การออกมาพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์เหล่านี้เพิ่งเคยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เพราะอะไรที่เป็นความเชื่อตามธรรมเนียมแบบเดิมว่าทำได้จนเป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไปแล้วในสังคมปัจจุบัน
ชัยชนะของนักกีฬาเป็นเรื่องน่ายินดี ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
ในประเทศไทยเองก็เคยเกิดปัญหานี้ “โค้ชเช” หรือ ชเว ยอง ซอก หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ที่กำลังถูกชื่นชมผลงานเป็นอย่างมาก จนขนาดโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีประกาศว่าพร้อมพิจารณาให้สัญชาติไทย เคยถูกกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายนักกีฬาระหว่างฝึกซ้อม โดย “ก้อย รุ่งระวี ขุระสะ” นักเทควันโดหญิงทีมชาติ ออกมาเปิดเผยในปี 2557
ปรากฏว่าตัวแทนจากสมาคมเทควันโดก็ออกมายอมรับว่ามีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นจริง แต่กลับอธิบายดื้อๆ ว่า “กีฬาต่อสู้มักจะมีการลงโทษด้วยวิธีนี้อยู่แล้ว”
ซ้ำร้ายคนในสังคมส่วนมาก พร้อมทั้งนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยเจ้าของเหรียญรางวัลหลายคน อาทิ วิว เยาวภา, เล็ก ชนาธิป ซ้อนขำ พากันแห่ปกป้องโค้ชเช ด้วยเหตุผลว่า “รุ่นพี่ต่างเคยโดนหนักกว่านี้มาแล้วทั้งนั้น แต่ทุกคนรับได้ เพราะโค้ชตั้งใจอยากให้นักกีฬาประสบความสำเร็จ”
ต่อมา ก้อย รุ่งระวี ถูกกดดันให้นำพวงมาลัยไปขอโทษโค้ชเช.. แม้ว่าในขณะนั้นสมาคมเทควันโดระบุว่าจะมีการตั้งกรรมการสอบสวน สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป มีเพียงการตั้งโต๊ะแถลงข่าวขอโทษ ถึงตอนนี้โค้ชคนดังกล่าวยังทำหน้าที่ฝึกซ้อมนักกีฬาทีมชาติเช่นเดิม
อีกกรณีในประเทศไทย คือ โค้ชวอลเล่ย์บอลใช้วาจาไม่สุภาพกับนักกีฬาในการแข่งขันที่ประเทศเปรู ผู้คนต่างพากันปกป้อง ตัวนักกีฬาเองไม่เอาผิด แถลงข่าวขอโทษยืนยันจะไม่ทำอีก เรื่องจบอีกตามเคย
เหตุการณ์เหล่านี้นำมาสู่คำถามสำคัญที่ว่าการใช้กำลังฝึก “ซ้อม” นักกีฬาเป็นเรื่องปกติจริงหรือ? การให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทำอีกเพียงพอหรือไม่?
สั่งแบนตลอดชีวิต เหตุทำร้ายร่างกาย-คุกคามจนนักกีฬาฆ่าตัวตาย
ปัจจุบันการทำร้ายร่างกายนักกีฬาเป็นปัญหาใหญ่ของวงการกีฬาทั่วโลก เมื่อเรื่องถูกเปิดโปงออกมา หลายประเทศมีวิธีรับมือ ลงโทษ และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่างจากประเทศไทยโดยสิ้นเชิง
ปีที่แล้ว สมาพันธ์ไตรกีฬานานาชาติสั่งแบนโค้ชและรุ่นพี่นักกีฬาไตรกีฬาชาวเกาหลีใต้ตลอดชีวิต หลังจากพบว่าทั้งสองคุกคาม “ชเว ซุก ฮยอน” นักไตรกีฬาเพื่อนร่วมชาตินานหลายปี ทั้งตบตี พูดจาให้อับอาย ทำร้ายร่างกาย จนทำให้เธอฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 เหตุการณ์นี้ทำไปสู่การสอบสวนครั้งใหญ่ในวงการกีฬาเกาหลีใต้
เมื่อปี 2561 ชิมซุกฮี นักกีฬาสเก็ตน้ำแข็ง เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2014 เปิดเผยว่าถูก โจแจบอม อดีตโค้ชล่วงละเมิดทางเพศและทำร้ายร่างกายอย่างหนักจนถึงขั้นนิ้วหักเป็นเวลาหลายปี ภายในไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังการเปิดเผยเรื่องราวอันโหดร้ายนี้ สมาคมสเก็ตเกาหลีก็สั่งถอดโค้ชจากการทำหน้าที่ทันที จากนั้นก็เดินหน้าสืบสวนข้อเท็จจริง จนโจแจบอมถูกตัดสินจำคุกในคดีทำร้ายร่างกายชิมซุกฮีและเพื่อนนักกีฬาคนอื่นๆ และตัดสินจำคุกกว่า 10 ปีฐานล่วงละเมิดทางเพศ
ล่าสุด แมดดี้ โกลฟ (Maddie Groves) นักกีฬาว่ายน้ำหญิงออสเตรเลีย ประกาศถอนตัวจากทีมชาติในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020 ด้วยเหตุผลว่าเธอถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ต้องประสบกับวัฒนธรรมเหยียดเพศ และเกลียดชังผู้หญิง จากเจ้าหน้าที่ในวงการกีฬา จน Swimming Australia หน่วยงานที่มีอำนาจสูงสุดในการแข่งขันว่ายน้ำของออสเตรเลียต้องออกมาบอกว่าจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเต็มที่
ช่วงต้นปีนี้เอง นักกีฬาชื่อดังในอังกฤษกว่า 1,200 คนร่วมกันส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสหราชอาณาจักรกรีฑา (UK Athletics – UKA) องค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขันกรีฑาในสหราชอาณาจักร เรียกร้องให้มีการลงโทษโค้ชที่พบว่าประพฤติผิดต่อหน้าที่ ทำร้ายร่างกาย หรือล่วงละเมิดทางร่างกายและทางเพศต่อนักกีฬาด้วยการแบนตลอดชีวิต หลังจากนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ โจแอนนา โคตส์ ซีอีโอ สหราชอาณาจักรกรีฑา ก็ให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินนโยบายความอดทนอดกลั้นเป็นศูนย์ (Zero Tolerance) กับการใช้ความรุนแรงต่อนักกีฬา และจะมีการลงโทษสั่งแบนตลอดชีวิต รวมทั้งดำเนินคดีทางอาญา เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ไม่ใช่แค่การทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการประพฤติไม่เหมาะสมทางเพศและการใช้วาจาเหยียดเพศด้วย
เห็นได้ว่าหลายประเทศทั่วโลกมีความพยายามอย่างจริงจังในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ปราศจากการคุกคามทั้งร่างกายและจิตใจให้กับนักกีฬา เมื่อพบการกระทำผิดให้พักงานหรือไล่ออกทันที ตั้งกรรมการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ สั่งแบนตลอดชีวิตเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการกระทำผิดเกิดขึ้นอีกซ้ำ ผสมผสานทั้งแนวทางแก้ไข หยุดยั้ง และป้องกัน เพื่อไม่ให้วัฒนธรรมความรุนแรงเติบโตได้ในวงการกีฬา แต่หลายประเทศก็ยังเลือกจะเอาหูเอานาเอาตาไปไร่ เลือกเชยชมกับความสำเร็จ โดยละเลยสิ่งที่เกิดขึ้นหลังม่าน
คนทำผิดไม่ถูกลงโทษ ขอโทษคำเดียวเรื่องจบ ถึงเวลาสร้างสภาพแวดล้อมปลอดภัยให้นักกีฬา
ประเทศเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกรอบนี้เอง ก็พบปัญหาหนักไม่แพ้กัน รายงานของฮิวแมนไรตส์วอตช์พบว่าประเทศญี่ปุ่นเต็มไปด้วยวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด โค้ชที่ข่มเหงนักกีฬาไม่เคยถูกลงโทษ แม้ว่าเด็กในญี่ปุ่นถูกครูฝึกกีฬาทำร้ายร่างกายเป็นจำนวนมาก จนเกิดเป็นข่าวใหญ่ในปี 2555 หลังนักบาสเก็ตบอลวัย 17 ปีฆ่าตัวตายเพราะทนการทำร้ายร่างกายของครูฝึกกีฬาไม่ไหว
หากเราหันกลับมามองประเทศไทย ก็พบว่ายังมีคนบางกลุ่มเชื่อว่าสามารถสร้างวินัยได้ด้วยการใช้ความรุนแรง ครูตีเด็กเพราะอยากสั่งสอนให้ได้ดี โค้ชทำร้ายนักกีฬาเป็นเงื่อนไขการฝีกความอดทน รุ่นพี่ซ้อมรุ่นน้องเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังสุภาษิตไทยที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ดี” ทั้งที่แท้จริงแล้วความรุนแรงไม่ได้นำมาซึ่งความสำเร็จ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมายังไม่มีโค้ชระดับโลกคนไหนมีชื่อเสียงจากการใช้ความรุนแรงฝึกซ้อมนักกีฬาให้มีวินัย
เหตุการณ์หลังการเปิดเผยเรื่องราวการทำร้ายร่างกายนักกีฬาโดย “โค้ชเช” เมื่อหลายปีก่อนคือเครื่องตอกย้ำวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดชั้นดี
เราไม่มีทางถอนรากถอนโคนความรุนแรงในวงการกีฬาออกไปได้เสียที ตราบใดที่ยังมีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดแพร่หลายอยู่ สังคมกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ ผู้กระทำผิดไม่เคยถูกลงโทษ ตรงกันข้ามกลับถูกแซ่ซ้องสรรเสริญ
อดสงสัยไม่ได้จริงๆ ว่าหากเรื่องนี้เกิดขึ้นในแวดวงกีฬาเกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย หรือสหรัฐอเมริกา จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง? “โค้ชเช” จะถูกแบนหรือยังทำหน้าที่ได้ตามเดิมราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น?
อดสงสัยไม่ได้จริงๆ ว่าเผลอๆ เสียงโห่ร้องยินดีจากกองเชียร์ที่ดังกึกก้องอาจถูกเปิดให้ดังจนกลบเสียงคร่ำครวญของใครหรือไม่? เรากำลังเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยปิดบังปัญหาอะไรไว้ใต้พรหมหรือเปล่า?
ณ วินาทีที่นักกีฬาได้รับเหรียญรางวัล ผู้คนทั้งประเทศรู้สึกภาคภูมิใจ แต่ชัยชนะหรือรอยยิ้มภายใต้เหรียญรางวัล ต้องไม่ได้มาด้วยการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่ประเทศไทยต้องทบทวนนโยบายและมาตรการปกป้องคุ้มครองนักกีฬาให้สามารถทำตามความฝัน นำความภูมิใจสู่คนทั้งชาติได้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ปราศจากการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
อ้างอิง
- รัฐบาล พิจารณา มอบสัญชาติไทย ให้ “โค้ชเช” หลังกลับคุม “เทควันโด” โอลิมปิก, ไทยรัฐออนไลน์, 25 กรกฎาคม 2564
- “ก้อย”ย้ำ”โค้ชเช”ต่อยเต็มแรงแฉคนอื่นก็ทนไม่ได้แต่ไม่กล้าพูด, โพสทูเดย์, 18 กรกฎาคม 2557
- “วิว เยาวภา” รับ เคยถูกโค้ชลงโทษเตะปาก ตาปิด ย้อนถาม “น้องก้อย” ถ้าโค้ชเช ไม่กลับมารับผิดชอบไหวไหม, Sanook.com, 16 กรกฎาคม 2557
- ชาวไทยโอ๋ “โค้ชเช” จวก น้องก้อยไร้ระเบียบ สมควรโดน, ผู้จัดการออนไลน์,16 กรกฎาคม 2557
- โค้ชเช ย้ำไม่หวังดีคงไม่ลงโทษ รักทุกคนเหมือนลูก, คมชัดลึก, 21 กรกฎาคม 2557
- South Korea coach banned for allegedly beating Olympic champ, AP News, 19 มกราคม 2561
- สั่งแบนโค้ชและนักไตรกีฬา “โสมขาว” เหตุ “บูลลี่” ดาวรุ่งจนฆ่าตัวตาย, ไทยรัฐออนไลน์, 13 ก.ค. 2563
- ‘It was dehumanising’: Jessica Shuran Yu condemns training abuse in China, The Guardian, 21 กรกฎาคม 2563
- Swim star Maddie Groves quits Olympics because of ‘misogynistic perverts’, The Australian, 10 มิถุนายน 2564
- SAFEGUARDING ATHLETES FROM HARASSMENT AND ABUSE IN SPORT : IOC TOOLKIT FOR IFS AND NOCS, International Olympic Committee, 2017