สำหรับหลายคน ช่วงปีใหม่อาจเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะทิ้งสิ่งไม่ดีไว้กับปีเก่า เปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น ราวกับว่าเมื่อเลขศักราชขยับเขยื้อน โลกก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในทันที แต่หากเชื่อนักปรัชญาผู้เกลียดวันขึ้นปีใหม่อย่างอันโตนิโอ กรัมชี่ ปีใหม่เป็นเพียงการฝันลมแล้งๆ ว่าชีวิตแบบใหม่กำลังมาถึง เป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร วิธีคิดเรื่อง “วันที่” คือต้นตอของปัญหานี้ เพราะมันทำให้หลายล้านคนทั่วโลกสนใจแค่ตัวเลขของปีที่เปลี่ยนไป แต่กลับลืมไปว่าการนั่งนับวันเวลาที่เปลี่ยนไปยากมากที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงๆ 

แม้อาจจะดูมองโลกในแง่ร้ายไปเสียหน่อย แต่ต้องยอมรับว่าหลังผ่านช่วงเวลาเทศกาลมาระยะหนึ่งแล้วหลายคนก็ต้องกลับมาเผชิญหน้ากับ “ชีวิตเดิม” หรือ “โลกความจริง” อีกครั้ง

เพื่อที่จะก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ย่อมจำเป็นต้องตระหนักและจัดการปัญหาที่ยังดำเนินต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง Common School จึงขอชวนทุกท่านกลับมาสำรวจ 9 เรื่องที่ยังไม่จบไปพร้อมปี 2023




1.สงครามรัสเซีย–ยูเครน สงครามที่ยังไม่มีใครรู้ฉากจบ

ในยุคที่คนจำนวนมากโหยหาผู้นำที่แข็งแกร่ง (strongman) วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้โชว์ความแข็งแกร่งและสวมบทพระเอกส่งกองกำลังบุกรุกดินแดนยูเครน ในดอนบาส (Donbas) แคว้นซึ่งแบ่งเป็น 2 จังหวัดใหญ่คือ ลูฮันส์ (Luhansk) และโดเนตส์ (Donetsk) อ้างว่าสิ่งที่ตนทำไปคือการปลดแอกคนในพื้นที่ออกจากการปกครองของพวกนิยมนาซี

ฟังดูก็น่าตั้งคำถามว่า ข้ออ้างของรัสเซียเรื่องนี้ฟังขึ้นหรือเปล่า แต่หากมองสงครามนี้ในอีกมุมหนึ่งก็ใช่ว่ารัสเซียคิดอยากจะทำอะไรก็ทำทันที เพราะหากเชื่อ John Mearsheimer นักรัฐศาสตร์ร่วมสมัยคนสำคัญ สิ่งที่ทำให้ยูเครนตกอยู่ในภาวะปัจจุบัน ก็เกิดจากการขยายอำนาจของโลกตะวันตกและ NATO เองนั่นแหละ (เขาบรรยายคาดการณ์ทั้งหมดไว้ตั้งแต่ 8 ปีก่อนแล้ว https://youtu.be/JrMiSQAGOS4?si=-DVOOGlD44M0-g8b)

อีกหนึ่งความเห็นน่าสนใจ เป็นของนักปรัชญาสโลวีเนียน Slavoj Zizek ซึ่งพยายามมองผ่านเลนส์ของรัสเซีย แต่ขณะเดียวกันก็ยอกย้อนความคิดได้อย่างเจ็บแสบ 

“คราวนี้ผมจะลองเปิดใจให้กว้างมากที่สุดเพื่อทำความเข้าใจมุมมองของรัสเซีย ใช่ มันมีแนวโน้มแบบนีโอฟาสซิสม์อยู่บ้างในพื้นที่ต่างๆ ทั่วยุโรป ผมก็รู้สถานการณ์ในยูเครนอย่างดีทีเดียว พวกกลุ่มนีโอนาซีที่มีกันอย่างกระจ้อยร่อยอะไรพวกนี้ แต่ในที่นี้ผมจะขอขีดเส้นแบ่งระหว่างฟาสซิสม์กับนาซีหน่อย ฟาสซิสม์คือสิ่งน่าเกลียดน่ากลัวก็จริง แต่ต้องไม่ลืมว่าระบอบแบบเผด็จการอิตาลี Benito  Mussolini ถึงปี 1938 เผด็จการโปรตุเกส Antonio de Oliveira Salazar และเผด็จการสเปน Francisco Franco ต่างก็ไม่ได้เป็นฟาสซิสม์ที่ทำการระเบิดหรือร่ำรวยมากแบบที่กำลังเกิดขึ้น พวกมันต้องการแค่รักษาระเบียบคำสั่งภายในดินแดนของตัวเอง ขณะที่พวกนาซีจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ฮิตเลอร์ต้องการให้มีสงคราม ให้มีความตึงเครียดอยู่เสมอ และอะไรต่างๆ นาๆ ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยว่าเป้าหมายคือการถอดถอนพวกนาซีออกไป แต่ผมคิดว่ามันจะต้องเริ่มต้นที่บ้านตัวเองในรัสเซียก่อน เพราะรัสเซียนั่นแหละที่กำลังเลือกเดินบนเส้นทางอันตรายซึ่งเป็นนาซีในรูปแบบใหม่อยู่”

(https://www.rferl.org/a/zizek-interview-russia-denazification-ukraine-war/32204259.html?fbclid=IwAR1ijSIgaXUh1CNP3pMeKtZwu9aK8WaboNQrIPK0mLao5YV-61E8OtfQNXM)





2.สงครามอิสราเอล-ฮามาส หรือปาเลสไตน์จะถูกลบจากแผนที่โลก?

ซีรีส์ Black Mirror ตอน Men Against Fire มีเทคโนโลยีฝังสมองบังคับให้ทหารเห็นศัตรูเป็น “แมลงสาบ” เพื่อสามารถฆ่าแกงอย่างไรก็ได้ปราศจากความรู้สึกผิด คล้ายกับที่นาซีเรียกคนยิวว่า “หนู” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนทำให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนยิวไม่ใช่เรื่องผิด ซ้ำร้ายยังเป็นภารกิจที่จำเป็นต้องกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์นี้ให้สิ้นซาก

เรื่องเศร้าคือปัจจุบันดันเกิดกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ หรือ “dehumanization” ต่อชาวปาเลสไตน์ ภายใต้เงื้อมมือของรัฐอิสราเอลในลักษณะคล้ายๆ กับที่พวกเขาเคยถูกกระทำจากนาซี 

หากจะเอาตัวอย่างที่เห็นชัดอันหนึ่ง คือตอนที่ Yoav Gallant รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลประกาศต่อชาวโลกว่า ชาวปาเลสไตน์เป็น “เดรัจฉานในร่างคน” (human animals) 

เมื่อทำการประกาศให้ศัตรูไม่ใช่มนุษย์แล้ว เป้าหมายก็มีเพียงหนึ่งเดียว คือการสังหารชาวปาเลสไตน์ โดยเฉพาะที่กำลังมีชีวิตอยู่ในกาซาตอนนี้ให้หมดสิ้น หลังจากได้ปราณีให้มีชีวิตอยู่มานาน ดังที่ Bezalel Smotrich รัฐมนตรีการคลังอิสราเอลบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่อิสราเอล “จำเป็นต้องทำตัวใจร้ายและไม่ไปคิดถึงเรื่องการจับเป็นเชลยศึกมากไป” 

แม้แต่ในช่วงเวลาที่มีการเจรจาให้อิสราเอลหยุดยิงจนแห่พากันเรียกว่า การหยุดด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม (humanitarian pause) ตัวนายกรัฐมนตรีอิสราเอล Benjamin Netanyahu ก็พูดชัดเจนว่า “เราอยู่ในสงคราม และเราจะทำสงครามต่อไปจนกว่าเราจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งหมด คือทำลายล้างฮามาส ชิงตัวประกันของเรากลับมา และทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครในกาซาสามารถสร้างภัยต่ออิสราเอลได้อีก” 

แต่เอาเข้าจริง ปาเลสไตน์ก็อยู่ภายใต้ระบอบล่าอาณานิคมและการแบ่งแยก (apartheid) มาอย่างน้อย 75 ปีแล้ว (ใครสนใจให้ลองไปศึกษาเหตุการณ์ที่เรียกว่า “Nakba”) หรือถ้าจะนับแค่ในกรณีกาซา ก็ต้องบอกว่า ประชาชนปาเลสไตน์กว่า 2 ล้านคน ต่างทนอยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกล้อมรั้วและควบคุมการเข้าออกอย่างเข้มงวดในลักษณะเดียวกับคุกมาตั้งแต่ปี 2007 แล้ว 

UNCTAD องค์การถาวรระหว่างรัฐบาล เคยรายงานไว้เกือบสิบปีก่อนว่า กาซาจะกลายเป็นสถานที่ซึ่งไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ภายในปี 2020 จากการขาดสุขอนามัยที่ดี การเข้าไม่ถึงน้ำสะอาด และการขาดแคลนอาหาร ที่ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะการกระทำของอิสราเอล นั่นหมายความว่า ในช่วงเวลาที่ประกาศตัดน้ำตัดไฟและกำลังถล่มกาซาให้ย่อยยับ อิสราเอลได้ทำให้กาซากลายเป็นเมืองที่อยู่อาศัยไม่ได้ไปนานแล้ว

ในช่วงที่อิสราเอลทิ้งห่าระเบิดลงกาซา Bassem Youssef บุคคลผู้เรียกตัวเองว่าเป็นนักเสียดสีทางการเมืองได้ตั้งข้อสังเกตแสนหดหู่ว่า มนุษยธรรมเดียวที่อิสราเอลมีคือการส่งเสียงสัญญาณเตือนพลเมืองปาเลสไตน์ว่าพวกอิสราเอลกำลังจะปล่อยระเบิดใส่บ้านของพวกเขา

ใช่ พูดอีกก็ถูกอีก ฮามาสไม่ควรบุกสังหารหรือจับคนบริสุทธิ์เป็นตัวประกัน แต่การลบและลืมบริบทที่อิสราเอลกระทำต่อปาเลสไตน์มาเกือบ 80 ปีออกไป ดูจะเป็นอะไรที่ตื้นเขินและมักง่ายมากเกินไปมาก เพราะหากใส่ใจกลับไปดูว่าฮามาสเกิดขึ้นมาได้อย่างไร จะพบว่าฮามาสเป็นผลผลิตของความขัดแย้งที่อิสราเอลก่อไว้ตั้งแต่ปี 1948 โดยแท้ พูดง่ายๆ คือดินแดนปาเลสไตน์ต้องทนกับการไล่ยึดที่ของอิสราเอลอยู่เกือบ 40 ปี กว่าฮามาสจะเกิดขึ้นในปี 1987 

กระทั่งวิธีการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรงก็เป็นสิ่งที่ชาวปาเลสไตน์พยายามทำกันมาตลอด หากใครสนใจลองไปดูเหตุการณ์ Great March of Return ในปี 2018 ซึ่งเป็นการประท้วงเรียกร้องสิทธิในการได้กลับบ้านของชาวปาเลสไตน์ที่สุดท้ายกลับถูกกองกำลังอิสราเอลใช้ความรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 200 กว่าศพ ไม่ก็ลองไปค้นผ่านคีย์เวิร์ด “Boycott, Divestment and Sanctions (BDS)” หรือลองกลับไปดูว่าปาเลสไตน์พยายามเรียกร้องความยุติธรรมผ่านศาลทั้งระดับในประเทศและระดับนานาชาติไปแล้วกี่ครั้ง (แนะนำอย่างยิ่งให้ฟัง Blinne Ní Ghrálaigh กล่าวในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ https://youtu.be/yhsWyBWGoCU?si=1u4vfrDpYoP1LiVy)

สุดท้ายอยากลองชวนคิดว่า การตายของพลเมืองจากผลพวงของสงครามเคยแก้ปัญหาอย่างแท้จริงได้บ้างไหม เพราะยิ่งเรามองผ่านแนวทางการล่าอาณานิคมแบบนี้ในประวัติศาสตร์ ปลายทางที่มักจะเกิดขึ้นคือฝ่ายล่าอาณานิคม (บางคนเรียกอิสราเอลว่าเป็น “Settler colonialism”) จะสังหารชีวิตคนพื้นเมืองให้เหลือเพียงหยิบมือเพื่อไม่ให้ลุกฮือได้อีก (แบบในทวีปอเมริกา) อย่างดีก็จะกลับมาแสดงความอาลัยย้อนหลัง อย่างร้ายก็อาจจะเป็นแบบที่อิสราเอลกำลังทำอยู่ คือพยายามลบดินแดนปาเลสไตน์ออกจากแผนที่

สำหรับทางออก แม้การหยุดยิงสู้รบจะเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างแน่นอนที่สุด แต่มันก็เป็นแค่คำพูดปลอดภัยที่พูดเวลาไหนก็ถูก อย่างไรก็ดี มันมีความจำเป็นยิ่งยวดที่จะต้องทำความเข้าใจรากของปัญหาที่อิสราเอลมีส่วนอย่างมาก และหากเชื่อตามข้อเสนอของนักปรัชญาชื่อดัง Judith Butler “ทางออกของความรุนแรงที่เรากำลังเห็นอยู่จะเกิดขึ้นไม่ได้ จนกว่าสิทธิของชาวปาเลสไตน์จะได้รับการกลับมาเคารพอีกครั้ง”

สงครามจะจบลงอย่างแท้จริงได้ การแบ่งแยกและปฏิบัติกับชาวปาเลสไตน์ราวกับไม่ใช่มนุษย์ของอิสราเอลก็ต้องยุติลง ชาวปาเลสไตน์จะต้องได้สิทธิเสรีภาพอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งพึงมี พูดให้ชัดกว่านั้นคือ ต้องได้รับเท่ากันกับที่พลเมืองยิวอิสราเอล และที่สำคัญที่สุด จะต้องมีการสนองคืนความยุติธรรมให้ชาวปาเลสไตน์โดยเร็วที่สุด คือเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ วันนี้ เพราะเพลง Six day War ของ Colonel Bagshot ก็บอกชัดเจนมากว่าถ้าต้องรอให้ความยุติธรรมหรือการหยุดยิงมาถึงในวันพรุ่งนี้ ก็อาจสายเกินไปแล้ว

“Tomorrow never comes until it’s too late”


อ้างอิง

https://www.vox.com/23924319/israel-palestine-apartheid-meaning-history-debate

https://truthout.org/articles/what-preceded-this-bloodshed-in-gaza-was-not-peace-it-was-apartheid/?fbclid=IwAR2NxSfNAxOekS42i1dFyR2xvL0R3NNEmZF5dj51sshpY7IKlnZQ4h9r3lE

https://truthout.org/articles/a-pause-isnt-a-ceasefire-and-a-ceasefire-isnt-an-end-to-the-siege-of-gaza/

https://truthout.org/articles/judith-butler-palestinians-are-not-being-regarded-as-people-by-israel-and-us/

https://www.jadaliyya.com/Details/45383?fbclid=IwAR1ZlFKViAKKub0Q9VgVy0BXDZuEartGS9ghju0qh2Cnpo5HGYrwy0Sn9vU

http://www.unctad.org/en/pages/newsdetails.aspx?OriginalVersionID=1068 

https://youtu.be/4idQbwsvtUo?si=4vMoiJk-JM8PG92b 





3.สงครามในเมียนมา ครบรอบ 3 ปี ทหารครองเมือง คนยังยืนเด่นท้าทาย

กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเป็นปัญหาคลาสสิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “เมียนมา” หรือชื่อเดิม “พม่า” ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีประวัติการต่อสู้กับระบอบทหารและเรียกร้องประชาธิปไตยมาต่อเนื่องยาวนาน ไม่ว่าจะเพราะทหารครองอำนาจประเทศมานับแต่ปลายทศวรรษ 1950 เป็นอย่างน้อย หรือเพราะรัฐธรรมนูญปี 2008 เขียนให้ทหารได้โควต้าที่นั่งในสภาผู้แทนสูงถึง 25% 

แม้ไม่นานมานี้ระบอบทหารเมียนมาที่นำโดย มินอ่องหล่าย จะเพิ่งออกมาพูดเหตุผลการตัดสินใจทำรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ว่าเกิดจากการโกงผลเลือกตั้ง แต่ก็มีคนเชื่อว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญเกิดจากความกลัวที่จะเกิดการปฏิรูป โดยเฉพาะตัวรัฐธรรมนูญ เพื่อลดอำนาจทหาร (ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรค NLD ของอองซานซูจีเคยพยายามทำมาแล้ว) ส่วนอีกข้อเสนอหนึ่งคือ เป็นตัวมินอ่องหล่ายเองที่ต้องการทำไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนล้วนๆ

การต่อสู้กับเผด็จการทหารในเมียนมาเข้มข้นเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 8888 Uprising ในปี 1988 ส่วนในช่วงปี 2000 เป็นต้นมา การประท้วงรัฐบาลทหารอย่างสันติ ไม่ว่าจะเป็นการบีบแตร ตีกระทะ ไปจนถึงการชูสามนิ้ว ก็เกิดขึ้นจนกลายเป็นสิ่งที่คนจำนวนหนึ่งเรียกว่า “Civil Disobedience Movement” (CDM)

ดังที่ทราบกันดีว่า เมื่อทหารยึดอำนาจการปกครองแล้ว สิ่งแรกๆ ที่จะเกิดขึ้นคือการใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มคนที่ต่อต้านขัดขืนรัฐบาล ซึ่งแม้ในระยะแรกประชาชนจำนวนมหาศาลจะต่อสู้กับทหาร CDM แต่เมื่อการปราบปรามสังหารจากฝั่งรัฐบาลทหารไม่ได้เบาบางหรือยุติลง ก็ทำให้คนจำนวนมากต้องอพยพออกจากถิ่นฐานของตัวเองมากกว่า 280,000 คน ตามรายงานของสหประชาชาติ และมีอีกไม่น้อยที่เลือกเข้าร่วมกับกองกำลังชาติพันธุ์จับอาวุธสู้กับรัฐบาลทหาร Saw Hsar Htu Gaw ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยง KNLA ถึงกับบอกว่า เวลานี้คนหันมาสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก 

การที่คนเมียนมาต้องลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดความใส่ใจในการช่วยเหลือจากชุมชนนานาชาติ ประเทศรอบข้างก็ไม่มีใครพยายามเป็นผู้นำเจรจาสันติภาพอย่างแทจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และรวมถึงไทย (เครื่องบินรบของทหารเมียนมามาจากจีนและรัสเซีย ส่วนในอินเดีย สิงคโปร์ และไทย ก็ปรากฏรายงานว่ามีธุรกิจที่ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ทหารเมียนมา) 

หากไทยต้องการมีตัวตนในระดับนานาชาติ เวลานี้นับเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำ เพราะฝ่ายเผด็จการทหารกำลังเสียศูนย์นับจากปฏิบัติการ 1027 ที่กลุ่ม Three Brotherhood Alliance (ภราดรภาพ) บุกโจมตียึดเมืองสำคัญหลายเมืองทางตอนเหนือของรัฐฉานในเมียนมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา จนล่าสุดยังยึดเมืองทางเหนือที่มีชายแดนติดกับจีนได้จนเกิดข้อตกลงหยุดยิงโดยมีจีนเป็นตัวกลาง ทั้งนี้ ผลประโยชน์สำคัญที่จีนจะได้รับจากการผูกสัมพันธ์กับกลุ่มภราดรภาพนี้ ก็มาจากคำมั่นของกลุ่มที่จะทำลายอุตสาหกรรมสแกม/มิจฉาชีพในเมียนมา ศูนย์กลางของการหลอกลวงคนจำนวนมากในประเทศรอบข้างอย่างจีนและไทย 




4. รัฐธรรมนูญไทย ฉบับเก่ายังไม่แก้ ฉบับใหม่ยังไม่ร่าง


หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลเศรษฐาประกาศต่อรัฐสภา ถือเป็นคำมั่นสัญญาต่อประชาชน คือการแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้คนไทย “ได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” 

ปีนี้จะเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจและความจริงจังของรัฐบาล เริ่มจาก “คำถามประชามติ”

ที่ผ่านมายังมีความเห็นแตกต่างกันของกลุ่มต่างๆ ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีเนื้อหาอย่างไร และถูกร่างโดยใคร ซึ่งก็มีพรรคก้าวไกลเสนอว่าควรมีประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง และความสำคัญอยู่ที่คำถามประชามติคำถามแรก

โดยหลักการ คำถามแรกควรเป็นคำถามที่เปิดกว้าง โอบรับความเห็นที่หลากหลาย เพื่อให้ประชาชนที่แม้เห็นต่างกันในรายละเอียด แต่เห็นตรงกันว่าควรมีจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สามารถเห็นร่วมกันได้มากที่สุด

แต่จากข้อสรุปของคณะกรรมการศึกษาฯ ของรัฐบาลเมื่อธันวาคม 2566 ที่เสนอคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ทำให้ถูกตั้งคำถามหนัก ว่าเป็นคำถามประชามติแบบใด? 

“มัดมือชก” “สร้างเงื่อนไขไม่จำเป็น” “วางยาตัวเอง” หรือไม่?

กล่าวคือ หากมีคนที่เห็นด้วยว่าประเทศไทยควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับการล็อกหมวด 1 หมวด 2 เขาควรตอบคำถามประชามตินี้อย่างไรจึงจะสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของตัวเองได้

อีกเรื่องที่สำคัญเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ คือ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดบทเฉพาะกาล 250 คน กำลังจะหมดอายุไปพร้อมกับอำนาจร่วมเลือกนายกฯ ช่วงกลางปีนี้ 

หลังจากนั้น สว. จะเป็นรูปแบบทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 107 คือมีจำนวน 200 คน และมีที่มาจากการคัดเลือกกันเอง จำนวน 3 รอบ (อำเภอ จังหวัด ประเทศ) โดยกลุ่มผู้สมัครที่มีความเชี่ยวชาญตามกลุ่มอาชีพ กลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการและทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น

ถึงอย่างนั้น สว. ยังมีอำนาจให้ความเห็นชอบกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ (กำหนดให้ต้องได้เสียง สว. 1 ใน 3)

รัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องร้อนเรื่องใหญ่ที่กำหนดอนาคตประเทศของปีนี้ 

ส่วนอันนี้เป็นคำถามที่จำเป็นต้องคิดให้ดีก่อนตอบในช่วงต้นปี 2024

1) ถึงที่สุดรัฐบาลจะรับฟังเสียงทักท้วงของประชาชน ทบทวนคำถามแรกให้เปิดกว้าง ไม่มัดมือชกหรือไม่

2) ในระหว่างที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทนที่ฉบับ 2560 โฉมหน้าและบทบาทต่อการเมืองไทยของ สว. ชุดใหม่หลังชุดเฉพาะกาล จะเป็นอย่างไร  




5. นักโทษการเมือง คืนความยุติธรรมให้ผู้คิดต่าง 

หลายคนอาจเคยมีความหวังว่าเมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลพลเรือน สถานการณ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีทางการเมือง น่าจะไปสู่ในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะคดี 112 ขั้นพื้นฐานคือรับประกันสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ก่อนศาลจะพิพากษาถึงที่สุด 

แต่มาถึงวันนี้ เข้าสู่เดือนที่ 4 ของรัฐบาลเศรษฐา กลายเป็นว่าสถานการณ์แทบไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย

ในปี 2566 จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ภาพรวมการเข้า–ออกเรือนจำต่อเดือน มีคนถูกขังมากกว่าคนได้ปล่อย 5:3 รวมผู้ถูกคุมขังจากคดีทางการเมืองสูงสุดถึง 56 คน 

แม้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลใหม่เข้ามา แต่หลังจากมีรัฐบาลใหม่ ก็ยังคงมีการดำเนินคดีทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เฉพาะคดีเกี่ยวกับ ม.112 เพิ่มขึ้น 9 คดี ผู้ต้องหาบางรายไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว การพิจารณาให้ประกันก็ยังมีหลักเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนแน่นอน

เสียงวิจารณ์ยิ่งถาโถม เมื่ออดีตนายกฯ ทักษิณกลับประเทศ ท่ามกลางข้อครหาได้รับ “อภิสิทธิ์” เข้าพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ไม่นอนเรือนจำแม้แต่วันเดียว จนถึงวันนี้เกิน 120 วัน

ยิ่งทำให้คนสงสัยถึง “กระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน” ภายใต้สภาพนี้รัฐบาลจะ “ฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน” ตามที่กล่างอ้างได้หรือไม่

นอกจากนี้ต้องติดตาม ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ของพรรคก้าวไกล ซึ่งตอนนี้ปิดรับฟังความเห็นประชาชนแล้ว เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ จุดยืนท่าทีของแต่ละพรรคการเมืองจะเป็นอย่างไร

สรุปปีนี้ หากปล่อยให้กลไกอำนาจรัฐดำเนินต่อไปโดยตัวมันเอง คงต้องยอมรับว่าเส้นทางการคืนความยุติธรรมแก่นักโทษทางการเมืองและผู้คิดต่างนั้น มีความท้าทายเหนื่อยยาก

เสียงเรียกร้องของประชาชนที่ดังขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทวงถาม “ความยุติธรรมที่มีมาตรฐาน” จึงจะเป็นตัวแปรสำคัญสร้างแรงกระเพื่อมเพื่อการเปลี่ยนแปลง




6. โลกเหลื่อมล้ำแล้ว ประเทศไทยเหลื่อมล้ำกว่า

World Inequality Database เป็นสถาบันวิจัยเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำซึ่งมีเป้าหมายในการทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะด้านรายได้หรือทรัพย์สินย์ สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายและเปิดเผย โดยบุคคลหนึ่งที่มีส่วนร่วมในสถาบันนี้ก็ไม่พ้นตัวพ่อเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่าง Thomas Piketty นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส

หากดูรายงานของ World Inequality Database ไทยยังคงถูกจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก เนื่องจากรายได้ของประเทศกว่าครึ่งหนึ่งดันไหลเข้ากระเป๋าตังค์คนที่รวยที่สุด 10% ของประเทศ ส่วนประชากรอีกกว่าครึ่งหนึ่งมีรายได้เพียง 10% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ

https://wid.world/news-article/2023-wid-update-south-and-southeast-asia/



  
7. Twitter ยังใช้ชื่อว่า X อยู่

ถือเป็นที่ฮือฮากันอยู่พักใหญ่ในปี 2023 กับการเข้าซื้อบริษัทโซเชียลมิเดียขนาดยักษ์ twitter โดยบุคคลซึ่งนิตยสารฟอร์บจัดให้เป็นคนที่รวยที่สุดในโลก อีลอน มัสก์ (ฟอร์บสประเมินว่าเขามีทรัพย์สินคร่าวๆ 232 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ความเกรียนของมัสก์มีให้เห็นอยู่เต็มไปหมด แต่ถ้าจะหยิบมาพูดสักเรื่องก็คงเป็นการรีแบรนด์เปลี่ยนชื่อและโลโก้บริษัท จากนกฟ้าทวิตเตอร์ให้เหลือแค่ตัวอักษรสองแง่สองง่ามอย่างตัว “X” โดยอ้างว่าต้องการยกระดับให้ทวิตเตอร์หรือ X ให้กลายเป็นแอพที่รวมทุกอย่างไว้ในที่เดียว 

จะไม่ให้เรียกการกระทำแบบนี้ว่าเกรียนได้อย่างไร ก็ในเมื่อผู้ใช้จำนวนมากต้องประสบปัญหาไม่ให้เข้า X ผิดอัน!

ใครสนใจมุมมองทางวิชาการ ขอแนะนำให้รู้จักกับ Techno-Feudalism อ่านแล้วอาจพอเข้าใจมากขึ้นว่าอีลอน มัสก์ น่าจะกำลังทำอะไรอยู่ https://www.facebook.com/commonschoolth/photos/a.344473043411972/716355322890407/




8. Digital Wallet ยังไม่มา

ได้กี่โมงนะ




9.โครงการอ่านเปลี่ยนโลกยังทำต่อ เพิ่มเวลายืมเป็น 45 วันแล้ว

อันนี้ข่าวดี อ่านเปลี่ยนโลก (Reading Revolution) โครงการส่งต่อหนังสือ ให้ยืมหนังสืออ่านฟรีเพื่อขยายพรมแดนความรู้ เปิดจินตนาการความเป็นไปได้ใหม่ๆ ผ่านการอ่าน โดยมีหนังสือกระตุ้นให้เกิดจินตนาการความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ปรัชญาการเมือง ศิลปะ และวรรณกรรม มากกว่า 150 ปก 

ข่าวดี! ตอนนี้เราเพิ่มเวลายืมหนังสือจาก 30 วัน เป็น 45 วันแล้ว อ่านกันให้ฉ่ำ

เลือกยืมในเว็บนี้ https://library.pgmf.in.th/