ในที่สุด สหราชอาณาจักรก็สามารถ ‘Get Brexit Done’ ออกจากวงโคจรของสหภาพยุโรปได้สำเร็จ และรอดตายจากความปั่นป่วนทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทูตที่อาจตามมาจากภาวะ ‘ไร้ดีล’ (‘No Deal’) ไปได้อย่างฉิวเฉียด หลังผ่านสารพัดมรสุมการเมืองและมหากาพย์การเจรจาถอนตัวอันยาวนานราวกับจะไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งกินเวลาล่วงไปกว่า 5 ปีนับตั้งแต่ผลการลงประชามติในปี 2016 ว่าสหราชอาณาจักรจะ ‘ออก’ (‘leave’) จากสหภาพยุโรป
นับตั้งแต่วินาทีที่ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสาย Pro-Brexit จากพรรคอนุรักษนิยมป่าวประกาศว่า สหราชอาณาจักรบรรลุข้อตกลงการค้าและความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร (EU-UK Trade and Co-operation Agreement: TCA) แล้วเรียบร้อยในวันคริสต์มาสอีฟปี 2020 นับเป็นเวลากว่า 2 ปีที่สหราชอาณาจักรภายใต้ ‘The ever closer union’ ปิดฉากลง และเริ่มเปิดฉากบรรเลงประวัติศาสตร์บทใหม่ที่ไร้พันธนาการจากระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจแบบ ‘เหนือรัฐ’ เพราะได้รับอำนาจในการควบคุมพรมแดน กำแพงภาษี นโยบาย และกฎหมายกลับคืนมาจากสหภาพยุโรป และยังมีอิสระในการกำหนดระยะความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปและประเทศอื่นในโลกด้วย
คงไม่ผิดนัก หากจะกล่าวว่าปรากฏการณ์เบร็กซิตคือภาพและมวลอารมณ์กระแสการต่อต้านสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเปิดเสรีพรมแดนระหว่างบรรดารัฐสมาชิกที่นำมาสู่การหลั่งไหลของแรงงานต่างชาติ แต่สำหรับจอห์นสันและเหล่าเบร็กซิตเทียร์ส (Brexiteers) ทั้งหลาย ภาพของเบร็กซิตคือความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความมั่งคั่งและรุ่งโรจน์ของสหราชอาณาจักรในฐานะ ‘Global Britain’ ที่มีอิสระอย่างเต็มที่ในการกำหนดข้อตกลงทางการค้าเสรีกับนานาประเทศทั่วโลกเพื่อให้ธุรกิจสัญชาติอังกฤษมีแต้มต่อในการต่อรองทางการค้า มีอิสระในการกำหนดกฎเกณฑ์การลงทุนและอัตราภาษีเพื่อเปลี่ยนให้สหราชอาณาจักรกลายเป็นแหล่งพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี และกลายเป็น ‘สิงคโปร์ริมแม่น้ำเทมส์’ – แม่เหล็กที่ดึงดูดเงินลงทุนจากทั่วทุกสารทิศทั่งโลก รวมทั้งมีอิสระต่อการดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ไม่ต้องอยู่ใต้เงาของสหภาพยุโรป
ต่างฝ่ายต่างคาดการณ์และทำนายกันไปต่างๆ นานา บ้างว่าเบร็กซิตอาจเป็นคุณต่อการเจริญเติบโตและอิทธิพลทางเศรษฐกิจในระยะยาวหากสหราชอาณาจักรเดินหน้าเจรจากับคู่ค้าจนสามารถกำจัดมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งหมดได้ บ้างก็ว่าเปิดให้สหราชอาณาจักรโลดแล่นในโลกได้มากยิ่งขึ้น หรือบ้างก็ว่าเบร็กซิตอาจสั่นสะเทือนสหราชอาณาจักร พาสหราชอาณาจักรเข้าสู่สภาวะปั่นป่วน ดิ่งลงเหวไปสู่สภาวะที่ย่ำแย่ยิ่งกว่าเก่า
แต่ 2 ปีที่ผ่านมา ภารกิจ ‘take back control’ ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมเปลี่ยนสหราชอาณาจักรไปอย่างไรบ้าง? อะไรคือ ‘ความเป็นจริง’ ของเบร็กซิตที่สหราชอาณาจักรต้องเผชิญ? และเบร็กซิตกำลังพาสหราชอาณาจักรไปทางไหนกันแน่?
Finally Global Britain?
ระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีอาจยังไม่นานมากพอที่ความเป็นจริงทั้งหมดของเบร็กซิตจะปรากฏออกมาให้เห็นและยังไม่นานพอที่จะตีราคาจริงที่สหราชอาณาจักรต้องจ่ายหลังเบร็กซิตได้ก็จริง แต่ 2 ปีก็นานมากพอเช่นกันที่เบร็กซิตจะเผยความเป็นจริงบางส่วนออกมา
เมื่อหนึ่งในหัวใจสำคัญของเบร็กซิตคือการจัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหราชอาณาจักร-สหภาพยุโรป-โลก ความเสียหายที่ปรากฏให้เห็นอย่างแจ่มชัดย่อมมาจากแรงสะเทือนทางเศรษฐกิจ – และชัดเจนที่สุดในโลกการค้าระหว่างประเทศ
หลังสหราชอาณาจักรตัดสินใจก้าวออกจากตลาดร่วมและสหภาพศุลกากรร่วม และเปลี่ยนไปใช้ข้อตกลงการค้าและความร่วมมือกับสหภาพยุโรปแทน ข้อตกลงดังกล่าวเปิดโอกาสให้สหราชอาณาจักรมีโอกาสได้ออกไปเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับมหามิตรเก่าโลก Anglo-sphere อย่างสหรัฐฯ หรือออสเตรเลีย (รวมทั้งความร่วมมือทางกลาโหมและความมั่นคงอย่าง AUKUS ด้วย) หรือโลกเสรีประชาธิปไตยอย่างเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่นก็จริง และข้อตกลงอาจไม่ต่างไปจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีตามปกติที่ละเว้นกำแพงภาษีและไม่กำหนดโควตาการนำเข้า-ส่งออกสินค้ามากนัก เว้นแต่ข้อตกลงส่วนที่ว่าด้วยไอร์แลนด์เหนือที่ยังมีพรมแดนติดกับสหภาพยุโรป (สาธารณรัฐไอร์แลนด์) อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะนำเข้าหรือส่งออก สินค้าก็ต้องผ่านกฎเกณฑ์ ระเบียบและกระบวนการศุลกากรที่เปลี่ยนไป จนนำไปสู่ความล่าช้าและต้นทุนในการดำเนินการที่เพิ่มขึ้น แต่ที่สำคัญ สหภาพยุโรปยังคงถือว่าเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสหราชอาณาจักร
ส่วนภาคบริการที่ในข้อตกลงแทบไม่ได้ระบุอะไรไว้ กว่า 80% ของบริษัทย้ายฐานไปจดทะเบียนในสหภาพยุโรปล่วงหน้าแล้ว ส่วนบริษัทที่จดทะเบียนสัญชาติอังกฤษก็ได้รับผลกระทบพอสมควร
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สหราชอาณาจักรหลังเบร็กซิตจะเจ็บตัวไม่น้อย จากรายงานของ จอห์น สปริงฟอร์ด นักวิจัยทางเศรษฐศาสตร์จาก Center for European Reform ชี้ให้เห็นว่า ปริมาณการค้าของสหราชอาณาจักรในเดือนกันยายนปี 2021 อยู่ที่กว่า 11.2% หรือราว 8.5 ร้อยล้านปอนด์ ซึ่งต่ำกว่าในกรณีที่สหราชอาณาจักรยังคงอยู่ต่อในสหภาพยุโรป ยิ่งไปกว่านั้น Office for Budget Responsibility หน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่ประเมินและวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจยังวิเคราะห์อีกว่า เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะมีประสิทธิภาพลดลงในระยะยาว 4% เมื่อเทียบในกรณีที่สหราชอาณาจักรยังคงอยู่ต่อในสหภาพยุโรปเช่นกัน และรอยแผลทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นไปแล้วกว่าสองในห้าส่วนของผลกระทบที่คาดว่าน่าจะกำลังเกิด
แต่ทั่วสหราชอาณาจักรย่อมได้รับผลกระทบจากเบร็กซิตไม่เสมอกัน อนันต์ มีนอน ศาสตราจารย์ด้านการเมืองยุโรปและการระหว่างประเทศแห่ง King’s College London วิเคราะห์ไว้ว่า ภูมิภาคที่น่าจะเจ็บหนักคือภูมิภาคที่เป็นฐานการผลิตและมีแรงงานทักษะต่ำจำนวนมาก ซึ่งที่น่าสนใจคือ พื้นที่เหล่านี้กลับเป็นพื้นที่ที่เสียงส่วนใหญ่โหวตลงประชามติให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป นั่นหมายความว่า มีโอกาสที่ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคจะถ่างออกมากยิ่งขึ้น และขัดขวางวาระ ‘ยกระดับประเทศ’ หลังเบร็กซิตที่จอห์นสันประกาศไว้
ส่วนถ้ามองออกมาในระดับโลก เบร็กซิตได้เปิดอิสระทางนโยบายการต่างประเทศและการวางยุทธศาสตร์ทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายช่องว่างทั้งด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ และการค้าระหว่างประเทศที่สหราชอาณาจักรยังกระโดดเข้าไปเล่นได้ ไม่ว่าจะเล่นเอง หรือเล่นร่วมกับสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรป – คำถามมีอยู่ว่า แล้วจะเล่นอย่างไรให้สหราชอาณาจักรมีอิทธิพลต่อวาระโลกได้?
แน่นอนว่ากว่าจะตีราคาที่แท้จริงของเบร็กซิตออกมาได้คงต้องใช้เวลาหลายทศวรรษ แต่ ณ ปฐมบทของเบร็กซิต Global Britain ยังคงเป็นเพียงแค่ความฝันที่ยังไม่เป็นจริงเท่านั้น
เกมการเมืองใหม่ของสหราชอาณาจักรหลังเบร็กซิต
เช่นเดียวกัน เบร็กซิตเขย่าการเมืองสหราชอาณาจักรไปอย่างไม่มีวันหวนคืน
แรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงที่สุดคงหนีไม่พ้นอาฟเตอร์ช็อกจากการเมืองว่าด้วยไอร์แลนด์เหนือและสก็อตแลนด์ ซึ่งมีชะตากรรมการรวมสหราชอาณาจักรในฐานะ ‘สหภาพ’ (union) เป็นเดิมพัน
พรมแดนระหว่างแคว้นไอร์แลนด์เหนือซึ่งเป็นดินแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ถือว่าเป็นประเด็นแหลมคมมาตลอดการเจรจาเบร็กซิต แม้ว่าท้ายที่สุด ทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปจะสามารถหาทางออกจากกรณีที่เลวร้ายที่สุดที่เส้นพรมแดนจะกลับคืนมาทั้งหมดและทำลาย Good Friday Agreement ข้อตกลงสันติภาพที่ยุติความขัดแย้งจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนในแคว้นไอร์แลนด์เหนือผ่าน Northern Ireland Protocol ได้ แต่ข้อตกลงก็ยังไม่ลงตัวและไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไหร่นัก เพราะในขณะที่ข้อตกลงยังคงการสลายพรมแดนระหว่างสาธารณรัฐไอร์แลนด์และแคว้นไอร์แลนด์เหนือภายใต้ระเบียบของสหภาพยุโรปไว้ได้ แต่ระหว่างเกาะบริเตนและแคว้นไอร์แลนด์เหนือกลับปรากฏพรมแดนจางๆ นำมาสู่ความไม่พอใจครั้งใหม่ในแคว้นไอร์แลนด์เหนือ และอาจเสี่ยงกลายเป็นเชื้อเพลิงของขบวนการแยกตัวเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักรอีกครั้ง – เดิมพันของสหราชอาณาจักรหลังเบร็กซิตจึงอยู่ที่ว่า จะหาทางลงที่รักษาสมดุลระหว่างข้อตกลงการค้าที่ไม่สร้างแรงเสียดทานและการรักษาเจตนารมณ์ของ Good Friday Agreement ไว้ได้อย่างไร
ส่วนสกอตแลนด์ หนึ่งในอีกประเทศหนึ่งที่ลงคะแนนโหวตว่าจะ ‘อยู่ต่อ’ ในสหภาพยุโรปไปกว่า 62% ในการลงประชามติเมื่อปี 2016 อาจกลับมาเปิดไพ่ ‘ลงประชามติออกจากสหราชอาณาจักร’ อีกครั้ง เพราะหนึ่งในเหตุผลที่สก็อตแลนด์ลงประชามติ ‘ไม่แยกตัวเป็นอิสระ’ จากสหราชอาณาจักรในปี 2014 คือการได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปต่อไป กล่าวได้ว่าเบร็กซิตไปสะกิดประเด็นการแยกตัวเป็นเอกราชของสก็อตแลนด์ที่ดูเหมือนจะสิ้นสุดลงไปแล้วกลับอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่องพรรคแห่งชาติสก็อตแลนด์ (Scottish National Party: SNP) ที่ครองรัฐสภาสก็อตแลนด์มากว่าหลายปีประกาศว่า จะจัดการลงประชามติอีกครั้งหากงัดข้อจนรัฐสภาที่เวสต์มินสเตอร์ยอมเปิดให้มีการลงประชามติได้
อีกแรงสั่นสะเทือนหนึ่งเกิดขึ้นคือ ความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมือง จากรอยร้าวที่ดูเหมือนว่าเริ่มจะสมานระหว่าง ‘Remainers’ และ ‘Leavers’ และการช่วงชิงระหว่าง ‘Keep Brexit Done’ และ ‘Make Brexit Work’ ของพรรคอนุรักษนิยมและพรรคแรงงาน
หลังการลงประชามติเมื่อปี 2016 เบร็กซิตกลายเป็นวาระสำคัญทางการเมืองระดับชาติ และนำไปสู่รอยแยกระหว่างกลุ่มคนที่ลงคะแนน ‘อยู่ต่อ’ และ ‘ออก’ อย่างชัดเจน กล่าวคือ เบร็กซิกกลายเป็นอัตลักษณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนและมีอิทธิพลต่อการเมืองอังกฤษยิ่งกว่าอัตลักษณ์ที่แบ่งตามอุดมการณ์และแนวนโยบายของพรรคการเมือง
เวลาผ่านไป ความเห็นของสาธารณชนทั้งสองฝ่ายต่อเบร็กซิตอาจไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก แต่เมื่อวาระทางการเมืองอื่นๆ อย่างโควิด-19 หรือสิ่งแวดล้อมเริ่มครอบครองพื้นที่ ไร้สัญญาณที่ดังพอจากบรรดา Remainers ว่าต้องการให้สหราชอาณาจักรกลับสู่สหภาพยุโรปอีกครั้ง พบแต่สัญญาณความ ‘ปลง’ ต่อเบร็กซิต รวมทั้งเริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เบร็กซิตจากฝ่าย Leavers ว่านำไปสู่ความยากลำบากทางเศรษฐกิจนานัปการ และสัญญาณความเสื่อมความนิยมต่อจอห์นสันลงในหมู่ Leavers ระดับที่ดิ่งจาก 74% ในช่วงที่พรรคอนุรักษนิยมเลือกตั้งชนะขาดลอยในปี 2019 ไปอยู่ที่ 38% ในช่วงปลายปี 2021 การเมืองว่าด้วยเบร็กซิตจึงเปลี่ยนจุดโฟกัสจาก ‘จะอยู่ต่อหรือจะออก’ ไปสู่ ‘จะไปต่ออย่างไรหลังเบร็กซิต’
นี่คือหนึ่งในวาระที่พรรคการเมืองต้องขับเคี่ยวกันในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะสำหรับพรรคอนุรักษนิยมที่กลายเป็นว่าความนิยมของพรรคส่วนหนึ่งอิงอยู่กับภารกิจเบร็กซิตไปแล้ว ส่วนพรรคแรงงานภายใต้การนำของเซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์ ก็เริ่มปรับท่าทีและยุทธศาสตร์เตรียมที่จะ ‘Make Brexit Work’ – ในแง่หนึ่งก็มองได้ว่าเป็นการตั้งคำถามต่อแนวทางการเดินหน้าเบร็กซิตที่กำลังดำเนินอยู่ของรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม
เดิมพันทางการเมืองหลังเบร็กซิตนับว่ายังขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอน
ล่วงผ่าน 2 ปีหลัง ‘Get Brexit Done’ ณ เวลานี้อาจยังยากที่จะประเมินว่าเบร็กซิตจะนำไปสู่อะไร จะพาสหราชอาณาจักรไปสู่ Global Britain ได้จริงหรือไม่ หรือการตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่ แต่ที่แน่นอนคือ สหราชอาณาจักรยังคงไม่ผ่านพ้นคลื่นลมแห่งความไม่แน่นอนอีกหลายระลอก