คนเจนเนอเรชั่น X และ Y เผลออาจจะจนถึงเยาวรุ่นเจน Z ในสมัยนี้คงเติบโตมาพร้อมกับแบบเรียนทางการที่บอกว่าประเทศไทยเป็น ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ หรือ ประเทศไทยเคยจะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชียอย่างแน่นอน ทางเราย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ประเทศไทยเคยประกาศจะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชียในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณที่จะ ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ แต่ดูเหมือนว่าผ่านไป 30 ปีพี่ไทยยังคงเป็นลูกเสือไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาได้เสียที
เวลาเราพูดถึงประเทศพัฒนา (developed country) หรือประเทศร่ำรวย (high-income country) เราคงนึกถึงประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ที่เป็นประเทศมหาอำนาจทั้งทางการเมือง และเศรษฐกิจ . แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ประเทศไหนหลุดพ้นจาก ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ แล้วที่หมายถึง การที่ประชากรในประเทศหนึ่งมีรายได้เฉลี่ยแตะระดับ high income สะท้อนคุณภาพชีวิตโดยรวมซึ่งธนาคารโลกใช้เกณฑ์ รายได้ประชาชาติต่อหัว หรือ GNI per capita ว่าประเทศไหนมีรายได้ประชาชาติต่อหัวมากกว่า 12,375 ดอลลาร์สหรัฐฯ บ้าง ( ข้อมูลปี 2019)
ในปี 1960 ธนาคารโลกเริ่มเก็บข้อมูลรายได้แต่ละประเทศในเวลานั้นมีประเทศ ‘รายได้ปานกลาง’ อยู่จำนวน 101 ประเทศ แต่ผ่านไป 50 ปีกลับมีประเทศที่หลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง (middle income country) ขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูงมีเพียง 13 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน ที่ได้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เป็นเกาะขนาดเล็กอีก 2 ประเทศ (มอริเชียส และ เปอร์โตริโก) แล้วก็มีประเทศอย่าง อิควอเทอเรีย กีนี ที่บังเอิญโชคดีขุดเจอน้ำมันกลายเป็นประเทศร่ำรวยในชั่วข้ามคืน
อีก 6 ประเทศได้แก่ อิสราเอล ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวันซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก . ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้เวลา 93 ปี และอังกฤษใช้เวลา 128 ปีในการเป็นประเทศร่ำรวย ในขณะที่สามเสือแห่งเอเชียตะวันออกประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ใช้เวลาเพียง 20-30 ปีเท่านั้นในการกลายเป็นประเทศร่ำรวยได้ ความน่าสนใจของสามเสือแห่งเอเชียตะวันออกอยู่ตรงที่ไม่เพียงแต่วิ่งไล่กวดด้วยความเร็วเท่านั้น แต่ยังกระโดดแซงประเทศอื่นๆ ที่มีจุดเริ่มต้นพร้อมกันในการก้าวจากความยากจนมาเป็นประเทศร่ำรวยในเวลาที่สั้นมากหากเทียบกับสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ
เราจะพาคุณย้อนกลับไปดูวิธีการไล่กวด (catch up) หรือ ‘ยุทธศาสตร์การพัฒนา’ ของสามเสือแห่งเอเชียตะวันออกที่จุดเริ่มต้นในการพัฒนาประเทศใกล้เคียงกับประเทศไทย และเหตุใดสามเสือแห่งเอเชียตะวันออกถึงกระโดดแซงหน้าประเทศอื่นๆ ที่เริ่มต้นใกล้ๆ กันไปอย่างก้าวกระโดดแซงหน้าพี่ไทยไปอย่างไม่เห็นฝุ่น
การกระโดดแซงหน้าของเสือแห่งเอเชียตะวันออก
หากเราย้อนกลับไปดูในช่วงปี 1961 คนไต้หวันมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 122 ดอล์ลาร์ พอๆ กับคนโมร็อคโคอยู่ที่ 120 ดอล์ลาร์ แต่ก็ยังน้อยกว่าคนโคลัมเบียมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 222 ดอล์ลาร์ ผ่านไป 40 ปีรายได้เฉลี่ยของไต้หวันพุ่งทะยานสูงถึง 13,139 ดอล์ลาร์สูงกว่าคนโคลัมเบีย 7 เท่า (1,810 ดอล์ลาร์) และสูงกว่าคนโมร็อคโคที่เคยอยู่ระดับเดียวกันถึง 10 เท่า (1,320 ดอล์ลาร์)
คนเกาหลีใต้สตาร์ทต่ำกว่าเพื่อนรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 82 ดอล์ลาร์พอๆ กับเคนยาอยู่ที่ 72 ดอล์ลาร์ แต่ก็ยังน้อยกว่ากานาที่รายได้เฉลี่ยคือ 179 ดอล์ลาร์ 4 ทศวรรษผ่านไปคนเกาหลีมีรายได้มากถึง 12,020 ดอล์ลาร์ สูงกว่าเคนยา 30 เท่า (390 ดอล์ลาร์) และมากกว่ากานาถึง 40 เท่า (320 ดอล์ลาร์)
ในขณะที่สิงคโปร์ก็ไม่แพ้ใครในปี 1960 คนสิงคโปร์มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 428 ดอล์ลาร์ ยังตามตรินิแดด และโตเบโกที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 631 และตามสหราชอาณาจักรที่มีรายได้อยู่ที่ 1380 ดอล์ลาร์ เวลาผ่านไปครึ่งศวรรษรายได้ต่อหัวของคนสิงคโปร์ทะยานขึ้นมาเป็น 52,960 ดอล์ลาร์ มากกว่าตรินิแดด และโตเบโกสามสี่เท่า และยังแซงหน้าสหราชอาณาจักรที่มาก่อนเสียด้วย (39,899 ดอล์ลาร์)
ในปี ค.ศ. 1962 คนเกาหลีใต้ คนเคนย่าและคนไทยมีรายได้เฉลี่ยใกล้เคียงกัน คนเกาหลีใต้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 120 ดอลลาร์, เคนย่า 100 ดอลลาร์, ไทย 110 ดอลลาร์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 60 ปี ในปี ค.ศ. 2018 คนเกาหลีมีรายได้ทะยานขึ้นไปอยู่ที่ 30,000 ดอลลาร์สูงกว่าเคนย่า 19 เท่า และสูงกว่าไทยเกือบ 5 เท่าตัว เพราะรายได้ของคนไทยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 6,000 ดอลลาร์เท่านั้น
สามเสือแห่งเอเชียตะวันออกอย่างไต้หวัน และเกาหลีใต้ใช้เวลา 26 ขณะที่สิงคโปร์ใช้เวลา 38 ปี เราจะเห็นได้ว่าเสือแห่งเอเชียตะวันออกทั้งสามตัวที่เริ่มต้นการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับไทย แต่มีอัตราการเติบโตสูงกว่า และสามารถก้าวขึ้นเป็น ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ ที่มีรายได้ต่อหัวสูงได้ในที่สุดโดยใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 27 ปีเท่านั้น
นี่คือความแตกต่างของความเร็วในการวิ่งไล่กวด ดังนั้นการเป็นประเทศกำลังพัฒนาผู้มาทีหลัง จึงไม่ใช่เรื่องแปลก สิ่งสำคัญที่สุดคือ แต่ละประเทศจะวิ่งไล่กวดอย่างไร ด้วยยุทธศาสตร์ใด และสามารถวิ่งได้เร็วแค่ไหน เราจะมาสำรวจกันผ่านเส้นทางการพัฒนาของสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน
เสือตัวที่ 1 สิงคโปร์ : โมเดลในฝันของเผด็จการทั่วโลก
คนส่วนใหญ่คิดว่า “สิงคโปร์โมเดล” เป็นสูตรสำเร็จที่ทำตามกันไม่ยาก ขอแค่ให้มีผู้นำดี เปิดเสรีให้เต็มที่ ประเทศก็จะร่ำรวยได้เองโดยอัตโนมัติ แต่แท้จริงแล้วสิงคโปร์โมเดลมีลักษณะเฉพาะตัวหลายด้านที่ยากจะเดินรอยตาม
ประการแรก สิงคโปร์มีจุดเริ่มต้นที่แทบจะไร้ภาคเกษตร สัดส่วนภาคเกษตรและภาคประมงในปี 1961 คิดเป็นเพียง 3.6% ของ GDP เท่านั้น แตกต่างจากประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่เริ่มต้นด้วยภาคเกษตรที่ใหญ่มากจึงต้องเผชิญโจทย์ที่ยากกว่าเรื่องการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพภาคเกษตรและโยกย้ายกำลังแรงงานไปสู่ภาคอื่นๆ ในแง่นี้ โจทย์ตั้งต้นของสิงคโปร์จึงง่ายกว่าหลายประเทศ
นอกจากนี้ เวลาพูดถึงการเปิดเสรีของสิงคโปร์ ต้องไม่ลืมว่าสิงคโปร์เปิดเสรี “แบบมียุทธศาสตร์” เสมอ สิงคโปร์ไม่เคยเปิดรับต่างชาติโดยไม่วางแผนล่วงหน้า แม้ว่าจะเปิดเสรีการค้าการลงทุนจริง แต่มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการส่งเสริมในแต่ละช่วงเวลา ส่งเสริมด้านการเงิน ด้านแรงงาน และด้านเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ
อีกด้านที่คนมักมองไม่เห็นกันคือ สิงคโปร์เป็นประเทศที่ใช้รัฐวิสาหกิจอย่างเข้มข้นภายใต้บริษัทโฮลดิ้งอย่าง Temasek ซึ่งมีกิจการในเครือเข้าไปดำเนินกิจกรรมพื้นฐานของประเทศ ตั้งแต่ธนาคาร DBH, บริษัทโทรคมนาคม Singtel จนถึงสายการบิน Singapore Airline
หากดู “สัดส่วนการสะสมทุนถาวรเบื้องต้น” (gross fixed capital formation) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้มูลค่าการลงทุนว่าเกิดจากภาคเอกชนหรือภาครัฐพบว่า บทบาทรัฐของสิงคโปร์สูงถึง 1 ใน 3 มาโดยตลอดการไล่กวดทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากสะท้อนบทบาทที่ซ่อนอยู่ของรัฐบาล
สิงคโปร์โมเดลจึงไม่ใช่แค่การมีผู้นำที่ดีและเปิดเสรีอย่างไม่ลืมหูลืมตาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการวางบทบาทของรัฐอย่างเหมาะสมกับภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศ เปิดเสรีจริง แต่ก็มีอุตสาหกรรมตามเป้าหมายชัดเจน และปรับโครงข่ายรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองอยู่ตลอดเวลา
เสือตัวที่ 2 เกาหลีใต้: สร้างบริษัทท้องถิ่นให้เป็นยักษ์ใหญ่ระดับโลก
ยุทธศาสตร์การพัฒนาของเกาหลีคือ การมุ่งสร้างบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับสากล (global giants) สร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยอัตราเงินเฟ้อที่สูงและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น
รัฐบาลเกาหลีใต้คอยควบคุมอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่ให้มีการแข่งขันมากเกินไปผ่านการใช้ “สินเชื่อนโยบาย” (policy loans) การช่วยเหลือเหล่านี้มาพร้อมกับเงื่อนไขว่า บริษัทที่ได้รับการช่วยเหลือจะต้องขยายการผลิดไปเท่าไร ต้องส่งออกได้เท่าใดตามกรอบเวลาที่รัฐกำหนดไว้ ไม่ใช่การช่วยเหลือแบบให้เปล่า
รัฐอัดเงิน อัดทรัพยากรทุกอย่างไปสนับสนุนกิจการขนาดใหญ่จนทำให้เมื่อถึงต้นทศวรรษ 1980 บริษัทใหญ่ที่สุด 4 แห่งก็มีทรัพย์สินรวมกันสูงกว่างบประมาณของรัฐบาลเกาหลีใต้ทั้งประเทศแล้ว ที่น่าสนใจคือ โมเดลพัฒนาแบบสร้างยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ก็มีต้นทุนทางสังคมด้วย เพราะเป็นแนวทางที่สร้างผู้ชนะและผู้แพ้ในระบบอย่างชัดเจน ผู้ชนะของโมเดลการพัฒนาแบบนี้คือ ทหารที่เป็นผู้ควบคุมการเมืองช่วงไล่กวด และบริษัทใหญ่ที่เราเรียกกันว่า “แชโบล” ในขณะเดียวกัน ผู้แพ้ในระบบได้แก่ บริษัทที่ถูกทอดทิ้งไปไม่ได้รับการสนับสนุน แรงงานที่ถูกกดค่าแรงเป็นเวลานาน รวมถึงบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก
การหนุนทั้งทุนใหญ่ทุนเล็กให้โตไปพร้อมกันทำได้ยากในความเป็นจริง เพราะบริษัทใหญ่ที่รัฐช่วยเหลือย่อมกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในแต่ละอุตสาหกรรมที่ยืนขวางประตู จนยากที่ SMEs จะเข้าไปแข่งขันแย่งตลาดได้ ในขณะเดียวกัน ถึงแม้การพัฒนาของเกาหลีใต้จะสร้างชนชั้นกลางใหม่ขึ้นมา แต่ชนชั้นกลางก็ต้องมีทางเลือกในชีวิตค่อนข้างจำกัด ต้องแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเข้มข้น มีบริษัทใหญ่ให้เลือกเข้าทำงานเพื่อความมั่นคงอยู่ไม่กี่เจ้า โอกาสในการออกไปทำธุรกิจของตัวเองไม่มากนัก
ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างบุคคล ประสิทธิภาพระหว่างบริษัทเล็กและบริษัทใหญ่ และรายได้ระหว่างเพศ ทั้งหมดขยายตัวสูงขึ้นตามเวลา โมเดลการพัฒนาแบบเกาหลีใต้จึงเป็นโมเดลการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จจริง แต่ก็ส่งผลต่อสังคมและการเมืองในแบบเฉพาะตัว เป็นบทเรียนให้เราตระหนักว่า แต่ละเส้นทางการพัฒนานั้นมีต้นทุนและผลกระทบที่ต่างกันออกไป
เสือตัวที่ 3 ไต้หวัน: ผงาดโลกแบบยักษ์ล่องหน
ไต้หวันเริ่มต้นการพัฒนาด้วยการปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ ยกระดับจากผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าสู่อุตสาหกรรมส่งออกด้วยการผนวกเข้าเป็นเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตโลก ดึงคนไต้หวันที่ทำงานอยู่ใน Silicon Valley ให้กลับมา เกิดเป็นปรากฏการณ์ “สมองไหลกลับ” เพื่อสร้างอุตสาหกรรมไฮเทคอย่างการผลิตชิป
เราเรียกยุทธศาสตร์การพัฒนาของไต้หวันว่าเป็นโมเดลแบบ “ยักษ์ล่องหน” เพราะไต้หวันเริ่มต้นด้วยการสนับสนุนกิจการท้องถิ่นขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เป็นหัวหอกในการพัฒนา พร้อมกับสร้างกลไกรองรับอย่างเป็นระบบ เช่น ใช้รัฐวิสาหกิจในอุตสาหกรรมต้นน้ำเพื่อจัดการต้นทุนวัตถุดิบ รวมถึงการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่เน้นเทคโนโลยีเชิงกระบวนการ (process technology) เพื่อให้ SMEs สามารถเอาไปต่อยอดได้
ไต้หวันมักได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบ “การเติบโตแบบมีส่วนร่วม” (inclusive growth) เพราะรักษาระดับความเหลื่อมล้ำให้ต่ำได้แม้จะเติบโตรวดเร็ว (ต่างจากเกาหลีใต้ที่เติบโตเร็ว แต่ความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มขึ้น) แต่เราต้องเข้าใจเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ด้วย เพราะแรงจูงใจสำคัญมาจากปัจจัยการเมืองเป็นหลัก
เหตุที่พรรคก๊กมินตั๋งซึ่งเป็นผู้นำการพัฒนาไต้หวันยุคไล่กวดนั้นแพ้สงครามจากจีนแผ่นดินใหญ่จนต้องอพยพมาที่เกาะฟอร์โมซา ทำให้พรคคก๊กมินตั๋งมีลักษณะเป็น “คนนอก” ที่กังวลว่าจะซื้อใจชาวนาอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง จึงต้องปฏิรูปที่ดินขนานใหญ่และสร้างฐานเศรษฐกิจของตัวเองด้วย SMEs เพราะไม่อยากเพิ่มอำนาจเศรษฐกิจให้กับธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มีอยู่แล้ว เมื่อมองเผินๆ จึงเสมือนว่าเป็นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม แต่แท้จริงแล้วมีแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์การเมืองเบื้องหลังที่เราต้องเข้าใจด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ที่เราเรียกโมเดลการพัฒนาของไต้หวันว่าเป็น “ยักษ์ล่องหน” เพราะเรามักมองไม่เห็นตราสินค้าของไต้หวันเหมือนที่เห็นแบรนด์ใหญ่ๆ จากเกาหลีใต้ เนื่องจากสินค้าที่ผลิตจากไต้หวันซ่อนตัวอยู่ในซัพพลายเชนโลกตามจุดต่างๆ เช่น ในห่วงโซ่การผลิตโทรศัพท์มือถือ (smartphone) ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันสินค้าของไต้หวันก็ไปซ่อนตัวอยู่ตรงกลางห่วงโซ่การผลิตเป็นซัพพลายเออร์ที่ทำงานร่วมกับ Apple เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ นอกจากนี้ ยังมีบริษัท TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) ที่เป็นผู้ครองตลาดการผลิตชิปขนาด 5 นาโนเมตรอยู่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก
ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบไต้หวันส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำไม่ขยายตัวมากนักในช่วงที่เติบโตรวดเร็ว การเมืองค่อยๆ เปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยที่มีพรรคใหญ่ผลัดกันเป็นรัฐบาล ปัจจุบันก็ได้รับการยกย่องเรื่องเสรีภาพสื่อ ผ่านกฎหมายการแต่งงานเพศเดียวกันเป็นที่แรกในเอเชีย เป็นต้นแบบของการสร้าง “รัฐเปิดเผย” (open government)
เราจะเห็นว่า เสือแห่งเอเชียตะวันออกทั้งสามตัวเป็นเสือคนละสายพันธุ์ เพราะมีลักษณะพื้นฐานต่างกัน ถึงจะวิ่งเร็วและกระโดดได้ไกลพอๆ กัน แต่ก็ใช้วิธีกระโดดคนละวิธี
อย่างไรก็ดี เสือแห่งเอเชียตะวันออกทั้งสามตัวก็มีจุดร่วมกันอยู่ที่ การใช้ยุทธศาสตร์สร้างอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง (ไม่ใช่การพึ่งพาแต่การลงทุนจากต่างชาติ) และมุ่งยกระดับเทคโนโลยีของประเทศให้ทันชาติตะวันตก (ไม่ใช่เพียงผู้ซื้อหรือนำเข้าเทคโนโลยี)
เสือทุกตัวยึด ‘นโยบายอุตสาหกรรม’ เป็นหัวใจหลักในการพัฒนา ไม่ได้เน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์เหมือนที่ประเทศไทยยึดเป็นแนวทางการพัฒนา
เราเริ่มต้นในจุดสตาร์ทพอๆ กับเกาหลีใต้และไต้หวัน ห่างจากสิงคโปร์ไม่มากนัก จนถึงกลางทศวรรษ 1980 ประเทศไทยก็ยังห่างจากสามเสือไม่มากนัก แต่นับจากทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เราก็อยู่ “คนละโลก” กับเสือเอเชียแล้ว เพราะทั้งสามเสือกระโดดสู่ “โลกที่หนึ่ง” ทิ้งไทยไว้ใน “โลกที่สาม” เช่นเดิม
ตั้งแต่ก่อนโรคระบาด เศรษฐกิจไทยก็เริ่มสั่นคลอนอ่อนแอจนสื่อต่างชาติขนานนามเป็น “คนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เมื่อต้องมาเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังระบาดระลอกใหม่และไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดในเร็ววัน โจทย์เศรษฐกิจยิ่งทวีความยากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว
ใครอยากอ่านหนังสือ “เศรษฐกิจสามสี” โครงการอ่านเปลี่ยนโลกของ Common School มีให้ยืมอ่านฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ข้อมูลอ้างอิง
- วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร, เศรษฐกิจสามสี : เศรษฐกิจแห่งอนาคต, กรุงเทพฯ : Bookscape, 2563