วันนี้เป็นวันครบรอบชาตกาล 124 ปี ของนายทหารผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนาม แปลก ขีตตะสังคะ หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘จอมพลป. พิบูลสงคราม’ สำหรับสังคมไทย หลายๆ คนอาจมีความทรงจำเกี่ยวกับนายทหารผู้นี้อย่างแตกต่างหลากหลาย ทั้งบทบาทของสมาชิกผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จอมเผด็จการ และผู้ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมในการ “สร้างชาติ” เอาไว้ในปัจจุบันอย่างมากมาย จนบางครั้งเราก็แทบจะลืมไปแล้วว่า สิ่งเหล่านั้นได้ก่อร่างสร้างตัวในยุคที่ขุนพลผู้นี้เรืองอำนาจ

เฉกเช่นบุคคลทางการเมืองคนอื่นๆ ถึงแม้กาลเวลาจะผ่านมายาวนานถึง 57 ปี หลังจากเขาเสียชีวิต ในปี 2507 เรื่องราวของจอมพลแปลกก็ยังคงถูกกล่าวถึงเป็นครั้งคราวในหลากหลายแง่มุมผ่านปูมประวัติศาสตร์ งานวิชาการ หรือแม้แต่ภาพยนตร์อย่างโหมโรง (2547) จวบจนต้นปี 2563 กระแสความเข้มข้นทางการเมืองก็ได้การปลุก ‘วิญญาณ’ ของจอมพลผู้นี้ขึ้นมาอีกครั้งในฐานะสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตั้งแต่มีมมุกตลกในวงโซเชียลอย่าง “เชื่อกูตั้งแต่แรกก็จบแล้ว #%* ! ” การจัดชุมนุมของกลุ่ม “กูลูกหลานจอมพลป.แต่กูไม่เอาเผด็จการ” จังหวัดลพบุรี การจัดงานวันเกิดให้กับจอมพลแปลกในวันที่ 14 กรกฎาคม บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปจนถึงการหายไปของป้ายและอนุสาวรีย์บริเวณบ้านเดิมของจอมพลแปลก พิบูลสงครามในค่ายทหารอย่างลึกลับในปีเดียวกัน

มีมุมมอง และมุมมีมอะไรของจอมพล ป. ให้เราศึกษาบ้าง? ในวันครบรอบวันเกิด 124 ปี เราจะพาทุกท่านไปรู้จักชายผู้นี้กัน

ประวัติสั้นๆ ของเด็กชายแปลก

เด็กชายแปลก ขีตตะสังคะ เกิดเมื่อ 14 กรกฎาคม 2440 เป็นชาวจังหวัดนนทบุรี อยู่ในครอบครัวเกษตรกร เข้าศึกษาโรงเรียนนายร้อยเมื่ออายุได้ 12 ปี แต่งงานกับท่านผู้หญิงละเอียดเมื่ออายุ 20 หลังแต่งงานได้ 3 เดือนก็เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารปืนใหญ่ และสามารถสอบไล่ได้ ‘ที่ 1 ของรุ่น’ จนสามารถรับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสในวัย 29 ปี ซึ่งเป็นที่ๆ เขาได้พบกับเหล่า “คณะราษฎร” ผู้ที่จะเป็นทั้งกัลยาณมิตรและศัตรูทางการเมืองของเขาอนาคต

ภาพถ่ายอะไร? ทำไมทำให้จอมพล ป. อยากได้มากถึงออกปากว่า เท่าไหร่ก็จ่าย
คณะราษฎร ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส จอมพล แปลก ขีตตะสังคะ ยืนอยู่ในลำดับที่ 3 จากขวา ภาพถ่ายเผยแพร่ในนิตยสารไท-สัปดาห์

เส้นทางเข้าสู่การเมือง และมีม “เชื่อกูตั้งแต่แรกก็จบแล้ว”

เมื่อกลับจากประเทศฝรั่งเศส เขาก็ได้รับบรรดาศักดิ์และราชทินนามเป็น “หลวงพิบูลสงคราม” ถือศักดินา 800 ไร่ ตามแบบฉบับข้าราชการยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในระหว่างนี้เรื่องราวที่จะเกิดเป็นมีมตลกใน 89 ปีข้างหน้าก็ได้อุบัติขึ้น เมื่อเขาได้หารือกับปรีดี พนมยงค์ สมาชิกคณะราษฎร สหายร่วมอุดมการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในความทรงจำของปัญญาชนสยาม ส.ศิวลักษณ์ ซึ่งสนิทสนมกับบุคคลทั้งฝ่ายคณะราษรและฝ่ายราชสำนักในขณะที่ยังมีชีวิต เล่าว่า เป็นเรื่องที่อาจารย์รับฟังมาจากปรีดี พนมยงค์ ผู้ร่วมอุดมการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า “คุณแปลก” เสนอให้เลือกทางเปลี่ยนแปลงแบบไปให้สุดทาง ตามเหตุผลที่มาจากวิธีคิด “ตีงู ต้องตีให้ตาย” มิฉะนั้นจะนำภัยมาสู่คนทำเอง ซึ่งปรีดีเห็นว่า การอยู่ร่วมกันระหว่างรัฐสภากับราชสำนักเป็นไปได้และไม่เห็นด้วยกับวิถีทางของหลวงพิบูลสงคราม

“ตีงูต้องตีให้ตาย” ส่วนหนึ่งจากกิจกรรม ‘Happy Birthday แบบแปลก แปลก’ รำลึกวันเกิด จอมพล ป. เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ภาพ: iLaw

จนกระทั่งถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 การปฏิวัติของคณะราษฎรก็เป็นแนวทางที่กษัตริย์จะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยในรัฐบาลคณะราษฎรชุดแรกนำโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา หลวงพิบูลสงครามได้ทำหน้าที่เป็น “กรรมการราษฎร” 

แต่แล้วเพียง 1 ปีให้หลังก็เกิดวิฤตการณ์ทางการเมืองขึ้น มีการ ‘รัฐประหารเงียบ’ โดยการสั่งปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เพื่อ “โต้อภิวัฒน์” บทบาทของชายผู้นี้จึงได้เฉิดฉายอีกครั้งในฐานะผู้นำกำลังทหารเข้าทำการยึดอำนาจคืน โดยมีผู้นำรัฐบาลใหม่คือ พันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลานี้หลวงพิบูลสงครามยังมีบทบาทในการเป็นแม่ทัพกองกำลังผสมในการปราบกบฏของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช (2476) จนฝ่ายรัฐบาลได้รับชัยชนะอีกด้วย

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนโยบายรัฐนิยมสร้างชาติแบบ “แปลกๆ ” 

หลังการเลือกสมาชิสภาผู้แทนราษฎรตั้งทั่วไปครั้งที่ 3 (2481) พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ปฏิเสธ สภาจึงมีมติให้พันเอกหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก(2481-2487) ในช่วงเวลานี้เองที่หลวงพิบูลสงครามได้เริ่มสยายปีกทางการเมืองด้วยนโยบายสร้างชาติแบบ “แปลกๆ” ของเขา จนกระทั่งเขาขึ้นสู่ตำแหน่งจอมพล (2484) ไปพร้อมกับความคุกรุ่นแห่งไฟสงครามที่โลกกำลังเผชิญเป็นครั้งที่ 2  

ตลอดช่วงเวลาที่จอมพลแปลกเป็นนายกรัฐมนตรี เขาได้ทำการประกาศ “วันชาติ” ของประเทศสยามเป็นวันที่ 24 มิถุนายน ตามวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (จนกระทั่งยกเลิกในปี 2503 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” โดยได้รับกระแสตอบรับจากทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน และฝ่ายราชสำนักเป็นอย่างดี มีการจัดงานฉลองรื่นเริงในฐานะวันหยุดนักขัตฤกษ์ สิ่งก่อสร้างใดที่ต้องเปิดก็ต้องใช้วันนี้เป็นวันสำคัญในการทำพิธี หรือสิ่งก่อสร้างใดแล้วเสร็จมิทัน ก็ต้องเร่งให้ทันในวันชาติ 

จอมพลแปลกยังได้ประกาศรัฐนิยมจำนวน 12 ฉบับ เพื่อเป็นการสร้างชาติที่เป็นอารยะ หรือการ “โตเป็นผู้ใหญ่” ที่มีสิทธิ์เท่าเทียมกับนานาชาติและละทิ้งความป่าเถื่อนล้าหลัง ตั้งแต่การเปลี่ยนในระดับภาษา คือการใช้ตัวอักษร การสะกดคำ เพื่อให้ “ภาสาไทยไห้เป็นที่นิยมยิ่งขึ้น” รวมถึงการกำหนดคำสรรพนาม “คุณ ท่าน เขา” โดยให้ใช้ในทุกโอกาส และคำทักทายแบบใหม่ คือ “สวัสดี” การลงท้ายประโยคสนทนาด้วยคำว่า “ครับ / ค่ะ” ซึ่งต่างจากคำทักทายแบบเดิมที่มักกล่าวเพียงว่า “สบายดีหรือ” 

การกำหนดการใช้คำศัพท์เหล่านี้ยังรวมไปถึงการลดทอนการใช้คำราชาศัพท์ อย่างการประกาศให้ใช้คำว่า “วันเกิด” กับทุกบุคคลในทุกสถานะรวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น วันเกิดในสมเด็จพระราชินี เป็นต้น ควรกล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนในด้านภาษานี้ ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธการร้องขอให้คนไทยเรียนภาษาญี่ปุ่นโดยกองทัพญี่ปุ่นอีกด้วย เนื่องจากการเผยแพร่ภาษาไทยแบบใหม่ยังไม่ดีพอ

นอกไปจากนี้ เขายังสั่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวไทยเสียใหม่ ด้วยการห้ามเคี้ยวหมาก ห้ามนุ่งโจงกระเบน ห้ามนุ่งกางเกงแพรจีน ไปสวมหมวก นุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อนอก ผูกหูกระต่าย และเคี้ยวหมากฝรั่งแทน พร้อมแนะนำการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย การทำความสะอาดบ้าน มารยาทบนโต๊ะอาหาร การดูแลสุขภาพ การจูบภรรยาทุกเช้าก่อนออกไปทำงาน ยันการขึ้นรถเมล์ กล่าวได้ว่า ในช่วงเวลานี้รัฐได้เข้ามามีบทบาทในการควบคุมชีวิตและร่างกายประชาชนอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ตื่นนอนออกไปทำงานจนถึงกลับเข้าบ้านเลยทีเดียว โดยหากทำผิดก็จะถือว่าเป็นการทำให้ “เสื่อมเสียเกียรติของชาติ” และโดนตำรวจจับเอาได้ 

รัฐบาลภายใต้จอมพลแปลกยังส่งเสริมการจับจองที่ดินของราษฎรไทยเพื่อสร้างผลผลิตและขยายพื้นที่การเกษตรในที่ดินรกร้าง ส่งเสริมอาชีพคนไทยผ่านกฎหมายการสงวนอาชีพ กำหนดการควบคุมธุรกิจต่างชาติโดยกำหนดให้บริษัทต่างๆ ต้องมีคนไทยร่วมถือหุ้น 75% ส่งเสริมธุรกิจรายย่อยโดยหากไม่มีทุนประกอบการ รัฐบาลก็จะเข้าช่วยเหลือในฐานะหุ้นส่วนด้วย การเริ่มพัฒนาระบบสหกรณ์ การเข้าควบคุมกิจการส่งออกหลายประเภท เช่น ข้าว ยางพารา เกลือ สุรา และธนาคาร อีกทั้งในบางช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำและเกิดเภทภัย รัฐยังมีการส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ใช้วัตถุดิบหลายชนิดและราคาถูก เช่น ก๋วยเตี๋ยว และอาหารลือชื่ออย่าง “ก๋วยเตี๋ยวผัด” ซึ่งเป็นอาหารที่มักปรุงรสโดยชาวจีน ก็ถูกเพิ่มเติมสูตรเสียใหม่เข้ากับนโยบายชาตินิยมจนกลายเป็น ‘ผัดไทย’

การผลิตบุคลากรและพลเรือนที่มีคุณภาพเพื่อสอดรับกับรัฐนิยมได้นั้น รัฐจะต้องทำการส่งเสริมด้านการศึกษา โดยในยุคนี้เองได้มีการสร้างโรงเรียนและ ‘อัพเกรด’ วิทยาลัยหลายแห่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัย เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา(2481) มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์(2485 – ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “มหิดล” สมัยจอมพลสฤษดิ์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(2486) และมหาวิทยาลัยศิลปากร(2486) 

เรื่องราวดังกล่าวล้วนเป็นการสร้าง “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” ในแบบจอมพลแปลก ถึงแม้ว่าบางส่วนอาจจะฟังดูแล้ว “ไม่ไทย” ในใจหลายๆ คน แต่จอมพลแปลกก็ยังมีคำสั่งให้ข้าราชการฝึกรำวงมาตรฐานทุกพุธบ่าย จะเรียกว่าเป็นการสร้างชาติแบบใหม่ในฐานะรัฐบาลสามัญชนสไตล์จอมพลแปลกก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไทยในแบบจอมพลแปลกก็กลายเป็นการเบียดขับและสร้างความเป็นอื่นให้กับสิ่งที่ “ไม่ไทย” ในสายตาของจอมแปลก เปิดทางให้กับการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งถูกการครอบงำจากแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งจนบางเหตุการณ์กลายเป็นโศกนาฏกรรมในเวลาต่อมา เช่น การสังหารบาทหลวง แม่ชี และชาวบ้านผู้นับถือศาสนาคริสต์ 7 คนที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่หมู่บ้านสองคอน จังหวัดนครพนม การบังคับชาวมุสลิมภาคใต้ให้แต่งกายตามรัฐนิยม กราบไหว้รูปเคารพและบังคับให้เปลี่ยนศาสนา การยุบเลิกโรงเรียนจีนและห้ามเรียนภาษาจีน การเปลี่ยนแปลงชื่อเพลงไทยเดิม 59 เพลง ที่มีคำว่า ลาว จีน แขก พม่า ออก เป็นต้น

การสร้างความทัดเทียมผ่านกระแสความชาตินิยมของจอมพลแปลกมิได้มีเพียงด้านวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างดินแดน “สหพันธรัฐไทยเดิม” ซึ่งรวบรวมเอาคนไทย(?) กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง เริ่มจากการติดต่อร้องขอดินแดนในกัมพูชาและลาวคืนจากประเทศฝรั่งเศสในปี 2484 โดยหลังการได้รับการปฏิเสธ กองทัพไทยก็รุกคืบบุกยึดดินแดนอินโดจีน ด้วยความสนับสนุนของประชาชน จบลงด้วยการที่ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเป็นฝ่ายเจรจาไกล่เกลี่ย ทำให้ไทยได้ดินแดน จัมปาศักดิ์ ลานช้าง พระตะบอง และเสียมราฐ อีกทั้งภายหลังที่ไทยได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว ก็ได้รับ รัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิส เชียงตุง และเมืองพานจากญี่ปุ่นด้วย จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ไทยจึงต้องส่งเมืองต่างๆ คืนกลับไปให้เหล่าชาติเจ้าอาณานิคมเพื่อแลกกับการไม่ถูกนับเป็นฝ่ายศัตรู

บทบาทของจอมพลแปลกยังรวมไปถึงการสร้างสิ่งก่อสร้างทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะ เช่น การสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ณ ถนนราชดำเนิน การสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อเป็นหลักหมายแห่งชัยชนะในสงครามอินโดจีน อนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจันและย่าโม ซึ่งแสดงถึงการต่อสู้เสียสละของวีรชนสามัญชนก็เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

นักรัฐประหาร ขัดแย้งราชสำนัก 

ถึงแม้ชีวิตทางการเมืองในช่วงแรกจะดูเลิศหรูอลังการงานสร้าง แต่จอมพลแปลกในช่วงที่ 2 ของการเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นกลับเกิดขึ้นจากผลพวงของคณะรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ ฝั่งฟากการเมืองขั้วนายปรีดี พนมยงค์ โดยพลโทผิณ ชุณหะวัณ ภายหลังกรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8 ในช่วงเวลานี้จอมพลแปลกต้องพบกับความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกองทัพ คือการกบฎภายในถึง 3 ครั้ง ได้แก่ กบฏเสนาธิการ (2491) กบฏวังหลวง(2492) และกบฏแมนฮัตตัน(2494) ทำให้จอมแปลกต้องทำการกำจัดผู้ที่มองว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไปจำนวนมาก เช่น กรณีการฆาตกรรม 4 รัฐมนตรีอีสานซึ่งสนับสนุนปรีดี พนมยงค์ การสังหารนายเตียง ศิริขันธ์ หะยีสุหรง อับดุลกาเดร์ผู้นำศาสนาอิสลามซึ่งต่อต้านรัฐนิยม และนายอารีย์ ลีวีระ นักหนังสือพิมพ์ 

เพื่อปรับคณะรัฐบาลใหม่ จอมพลแปลกได้ทำการรัฐประหารตัวเองในปี 2494 และกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง นำรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งในขณะนั้น แทนที่จะรอพระบรมราชวินิจฉัย รัชกาลที่9 เมื่อพระองค์กำลังเสด็จกลับจากประเทศสวิสเซอแลนด์ และจะถึงไทยใน 16 ชั่วโมง คณะรัฐบาลก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญไปแล้ว

ในช่วงเวลาดังกล่าว สถานการณ์ภายนอกโลกกำลังเผชิญกำลังภัยสงครามครั้งใหม่ระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์และทุนนิยม สำหรับฝ่ายรัฐบาล เกิดการจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองยังคงเกิดขึ้นต่อไป ในขณะที่ฝ่ายราชสำนัก รัชกาลที่ 9 ได้เริ่มพระราชกรณียกิจในการ เสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงเริ่มก่อตั้ง “โครงการพระราชดำริ” ในพื้นที่ต่างๆ โดยไร้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล จนในที่สุด ความนิยมของประชาชนในรัฐบาลจอมพลแปลกพิบูลสงครามก็เริ่มตกต่ำลง

ความร้าวฉานของจอมพลแปลกกับฝ่ายราชสำนักยิ่งเด่นชัดขึ้น เมื่อรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บรรดาทหารในวันกองทัพไทย 25 มกราคม 2499 ว่า 

“…เมื่อทหารมีไว้สำหรับประเทศชาติ ทหารต้องเป็นของประเทศชาติ … ทหารจึงต้องปฏิบัติให้สมกับที่ตนได้ รับความไว้วางใจ ไม่ควรไปทำหรือเกี่ยวข้องในกิจการที่มิใช่อยู่ในหน้าที่โดยเฉพาะของตน เช่น ไปเล่นการเมือง ดังนี้เป็นต้น การกระทำเช่นนั้นจะทำให้บุคคลเสื่อมความเชื่อถือในทหาร …”

คล้ายการตำหนิรัฐบาลทหารของจอมพลแปลก จนตนเองต้องออกแก้ข่าวว่า “… พระราชดำรัสเช่นนั้นเป็นการถูกต้องตามหลักการ แต่พระองค์ท่านคงจะไม่ได้หมายความว่า การที่ทหารเข้าเล่นการเมืองในขณะนี้เป็นการไม่สมควร … ”

ความขัดแย้งระหว่างจอมพลแปลกและราชสำนักยังดำเนินต่อไป และยิ่งเข้มข้นมากขึ้น เช่นกรณีการออกผนวชของรัชกาลที่ 9 รัฐบาลได้อนุญาตการปล่อยนักโทษทั่วประเทศ 3,000 แต่ห้ามไม่ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง เพื่อนำไปปล่อยในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษที่พุทธมณฑล การทำพิธีอัญเชิญพุทธประทีปโดยใช้ขบวนเรือแบบโบราณราชประเพณีทั้งที่เป็นงานที่มีผู้นำเป็นเพียงสามัญชนเท่านั้น

บั้นปลายชีวิตการเมือง 

ความขัดแย้งระหว่างราชสำนักและจอมพลแปลกยังคงมีต่อไป จนกระทั่งมีการเลือกตั้งในปี 2500 แต่ผลปรากฏว่ามีการทุจริตหลายรูปแบบ เช่น การส่งอันทพาลก่อกวนหน่วยเลือกตั้ง การนับบัตรเสียเป็นบัตรดี จนพรรคของจอมพลแปลกซึ่งได้คะแนนสูงสุดถูกครหาว่า ทุจริตการเลือกตั้ง แต่ก็ยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ประเด็นความขัดแย้งยังคงเกิดขึ้นอีกหลากประเด็นต่อมา เช่นกรณีการ ‘วีโต้’ การตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การอภิปรายเรื่อง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอบเงิน 7 แสนบาทให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้านของรัฐบาลรวมถึงข่าวลือในการที่รัฐบาลจะจับกุมพระองค์ 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่เรื่องราวดังกล่าวนี้ก้ทำให้ความเชื่อมั่นในรัฐบาลของจอมแปลกสั่นคลอนอย่างถึงที่สุด ในการจัดการความสงบของบ้านเมืองและการปล่อยให้มีการ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เกิดขึ้น จนกระทั่งถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สิ้นสุดชีวิตทางการเมืองของชายวัย 60 ปี โดยเขาได้ลี้ภัยไปที่ประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างลี้ภัยนั้น จอมแปลกยังมีโอกาสอุปสมบทที่ประเทศอินเดีย เรียนภาษาญี่ปุ่น เล่นกอล์ฟ ฝึกเปียโน และทำสวน จนกระทั่งเสียชีวิตอย่างสงบในวัย 67 ปี ที่บ้านในชินจุกุ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยโรคหัวใจ

จอมพลแปลกจึงเป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่มีสีสันมากที่สุดคนหนึ่ง ผู้ที่ได้เป็นทั้งผู้เปิดทางในการเส้นทางสายประชาธิปไตยในสยาม และผู้ที่ทำลายหลักการของมันด้วยการรัฐประหาร ตลอดชีวิตของเขา เราได้เห็นพัฒนาการทางอุดมการณ์ที่ไหลลื่นไปตามยุคสมัยและช่วงเวลา การจะกล่าวถึงจอมพลแปลกเพียงด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว หรือหยิบจับมาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ทางการเมืองจึงอาจมีทั้งผลที่ควรต้องคำนึงถึง ในวาระ 124 ปีชาตกาลนี้ หากผู้คนรุ่นหลังจะรำลึกชายชาติจอมพลนาม แปลก ขีตตะสังคะ ก็ขอให้รำลึกถึงเขาในฐานะ “มนุษย์” ผู้หนึ่งเถิด  

อ้างอิง

หนังสือ

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับการเมืองไทยสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 2544.

นริศ จรัสจรรยาวงศ์. นระ 2475 ลาเวที ทิ้งชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ดวงหน้าสุดท้ายและอนุสาวรีย์ 3 ผู้นำคณะราษฎร ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที 42 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2564. 

ณัฐกมล ไชยสุวรรณ. วันชาติ 24 มิถุนายน: ความรุ่งโรจน์และร่วงโรยผ่านการนำเสนอของสื่อมวลชน ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 40 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2562. 

พีระ เจริญวัฒนนุกุล. การแสวงหาสถานะและการยิมรับของไทย: เหตุแห่งการทวงคืนดินแดนจากอินโดจีนฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2483ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 40 ฉบับที่ 11 กันยายน 2562. 

ศรัญญู เทพสังเคราะห์ จอมพล ป. กับนโยบายที่ดินในช่วงทศวรรษ 2480 ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 31 ฉบับที่  กรกฎาคม 2553. 

ปาตานี ประวัติศาสตรืและการเมืองในดลกมลายู. สงขลา: มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลาม ภาคใต้. 2556.

อนุสรณ์ในงานเสด็จพระราชดําเนินพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม. กรุงเทพฯ: ศูนย์การพิมพ์. 2527

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย.

ชนิดา ชิตบัณฑิตย์. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.

เว็บไซต์

“ครับ-ค่ะ” เริ่มใช้เมื่อใด ส่องการปรับ “ภาสาไทย” ฉบับจอมพล ป. เพื่อความเป็น “ไทย” ?

ย้อนดู “การแต่งกาย” สมัยจอมพล ป. รณรงค์ให้นุ่งผ้าถุง ชี้ทั่วโลกกำลังนิยม

พล อิฏฐารมณ์. จาก “สยาม” มาเป็น “ไทย” แล้วทำไม “ไทย” จึงต้องมี “ย”

การปิดโรงเรียนจีน และห้ามสอนภาษาจีน ในประเทศไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.

25 มกราคม 2485 : ไทยประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และอังกฤษ

พอพันธ์ อุยยานนท์. การผูกขาดการค้าโดยรัฐ กับอุดมการณ์ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ในทศวรรษ 2480

สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึงปัจจุบัน : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ป้าย ‘บ้านจอมพล ป.’ ที่เชียงราย ปลิวแล้ว เหลือแค่ชื่อ ‘ศูนย์เรียนรู้เชิงประวัติศาตร์’

“เลือกตั้งสกปรก สกปรกตั้งแต่ออกแบบรธน.” ดูกลเบื้องหลังเลือกตั้งสกปรก 2500

2475 ในเรื่องเล่าของอาจารย์สุลักษณ์ฯ

กฤช เหลือลมัย. “ผัดไทย” ไม่ใช่นวัตกรรม จอมพล ป.? 

“ก๋วยเตี๋ยว” สร้างชาติ และทางออกวิกฤตเศรษฐกิจฉบับจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ความตึงเครียดระหว่างราชสำนักและรัฐบาล กับความขัดแย้งช่วงงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด