เมื่อสองวันก่อน ในโลกออนไลน์ได้มีการทำแคมเปญ #คนงานแพลตฟอร์มก็คือคนงาน เนื่องในวาระวันแรงงานสากล (May Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน ประชาชนทั่วไปร่วมแคมเปญนี้อย่างคึกคัก ผ่านการแสดงข้อความต่าง ๆ บนข้อความโซเชียลมีเดีย 

ประเด็นสิทธิแรงงานแพลตฟอร์มถูกให้ความสำคัญมากขึ้นทุกทีภายใต้เศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำของสังคมไทย ช่วงที่ผ่านมา ผู้บริการไลน์แมน (Line Man) แกร็บ (Grab) และแรงงานแพลตฟอร์มอื่น ๆ เริ่มออกมาตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง สิทธิแรงงานของฟรีแลนซ์เริ่มมีการถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ขณะเดียวกัน ‘คนทำงาน’ ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังก็เริ่มออกมาพูดทวงถามสิทธิของตัวเองผ่านการกระทำต่าง ๆ เช่น การต่อตั้งสหภาพคนทำงานแห่งประเทศไทยในช่วงผ่านมา

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของธุรกิจดิจิทัลเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการพยายามพัฒนาเทคโนโลยีและแอพลิเคชั่น หรือ “แพลตฟอร์ม” ขึ้นมา เพื่อสร้างบริการที่รวดเร็วและสะดวกสบาย ทั้งในด้านการขนส่ง การสั่งอาหาร การทำความสะอาด การนวดเพื่อสุขภาพ หรือกระทั่งสื่อลามก สนามการแข่งขันทางธุรกิจเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ส่งผลให้ภาคธุรกิจดั้งเดิมต้องปรับตัวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ “แพลตฟอร์ม”ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

แม้สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรามีชีวิตสะดวกสบายเพียงขยับปลายนิ้ว แต่ความสะดวกสบายที่เราได้รับจากบริการแพลตฟอร์มเหล่านี้ กลับอำพรางปัญหาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของการออกแบบผังเมือง ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลเผด็จการ รวมไปถึง ความทุกข์ยากของคนทำงานและความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับแรงงานแพลตฟอร์ม หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Platform Workers

ปัญหาของแรงงานแพลตฟอร์มในสังคมไทยและที่อื่น ๆ ในโลกคือ คนเหล่านี้ถูกบริษัทแพลตฟอร์มข้ามชาติยักษ์ใหญ่กดขี่ขูดรีดอย่างหนัก เพราะการเกิดขึ้นของธุรกิจแพลตฟอร์มกำลังกฎหมายคุ้มครองแรงงานและผู้บริโภคกลายเป็นสิ่งล้าสมัย ผลที่ตามมาคือปัญหาเรื่องค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ความปลอดภัยในชีวิต สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย สถานะการจ้างงาน และสวัสดิการของคนทำงาน ชีวิตของแรงงานแพลตฟอร์มวางอยู่บนเส้นด้ายที่พร้อมจะขาดได้ทุกเมื่อ

ปัญหาแรงงานแพลตฟอร์มในสังคมไทยจะเป็นอย่างไรต่อ? ทางออกของปัญหานี้อยู่ตรงไหน วันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ผู้อำนวยการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ที่จะมาช่วยเราไขข้อข้องใจไปด้วยกัน

ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ผู้อำนวยการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

ทำไมถึงสนใจปัญหาธุรกิจแพลตฟอร์ม ?

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีนัยยะสำคัญในอนาคต ในขณะที่ตอนนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความหมายของงานที่เปลี่ยนไป สถานะของคนทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป มันกำลังเกิดการวางบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องความหมายของงานในอนาคต

ผมว่าปรากฏการในเชิงวิชาการเรียกว่า Informalization of Work ที่งานถูกทำให้ไม่เป็นทางการมากขึ้นจะทำให้คนจำนวนมากก็จะอยู่ในสถานะเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ถ้าเราอยู่ในสถานะแบบนี้ มันมีนัยยะต่างๆที่จะเกิดขึ้นจำนวนมาก สิทธิที่เราเคยมี สวัสดิการที่เราเคยมี ก็จะไม่มี

คำถามแรกสุดเลยประกันสังคมก็จะไม่มีเงิน ถ้าเราบอกว่าเราเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่ระบบประกันสังคมเราไปผูกติดกับการนิยามความหมายของคนงานที่แคบ ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังเคลื่อนไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม คนจำนวนมากเนี่ยจะออกไปอยู่ในภาคที่ไม่ได้จ่ายเงินสมทบเข้าระบบ หรือว่าจ่ายเงินสมทบน้อยลง เพราะว่าภาคเอกชนซึ่งควรจะมีส่วนรับผิดชอบเนี่ย เขาเป็นอิสระจากความรับผิดชอบนี้”

รถขนส่งสินค้าพนักของพนักงาน Grab หนึ่งในธุรกิจแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในไทย แม้ว่าจะช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบาย แต่มีปัญหาการใช้แรงงานมากมายอำพรางอยู่ในโมเดลธุรกิจนี้

“เพราะฉะนั้นในต่างประเทศมีการพูดถึงกันเยอะมากว่า การเกิดขึ้นของ Gig Economy มีนัยยะของเงินคลังในระบบประกันสังคม มันจะเกิดอะไรขึ้น เราจะสร้างความมั่นคงของมันยังไง และตอนเราแก่เราจะอยู่ยังไง ถ้าหากเราไม่ได้อยู่ในระบบการประกันสังคม

ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่กระทบเราทุกคน แต่ว่าก็มีคำถามเชื่อมอีกจำนวนมาก ทั้งระบบภาษี ที่ตอนนี้บริษัทแพลตฟอร์มแทบจะเป็นอิสระจากระบบภาษีที่เป็นอยู่ ทั้งหลาย ๆ เรื่องที่เกี่ยวโยงกันไปหมด สถานะของคนงานเหล่านี้เป็นลูกจ้างของบริษัทของแพลตฟอร์มเหล่านี้หรือไม่ ? และคำถามนี้ก็จะนำไปสู่คำถามต่อไปคือ ความรับผิดชอบของบริษัทแพลตฟอร์มคืออะไร ?

คำถามข้อแรก เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับกฎหมายแรงงาน หรือว่าสิทธิและความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ยกตัวอย่างเรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดสิทธิของคนงานเอาไว้ ซึ่งบังเอิญในบ้านเราและในหลายประเทศ มันไปผูกกับประกันสังคม เพราะฉะนั้น นี่จะเป็นเรื่องใหญ่ถ้าหากว่าพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงประกันสังคมได้

อีกปัญหาเรื่องสถานะคนงาน คือ ช่องว่างของการเข้าไม่ถึงการคุ้มครองทางสังคมซึ่งภาครัฐหรือว่าสังคมที่จะต้องเข้าไปช่วยสนับสนุน เพราะฉะนั้นหัวใจของปัญหานี้มันอยู่ตรงนี้เพียงแต่ว่ามันมีปัญหาที่ซ้อนทับจำนวนมากซึ่งอาจจะมาจากโมเดลธุรกิจ (Business Model) ที่เพิ่งเกิดขึ้น ถ้าจะยกตัวอย่างในการประท้วงที่ผ่านมาของคนในโมเดลแบบแพลตฟอร์มเช่นแกร็บ เราจะเห็นว่าข้อเรียกร้อง สะท้อนปัญหาที่เขาเจอในระดับการทำงานที่ค่อนข้างมาก”

ปัญหาแรงงานแพลตฟอร์มในต่างประเทศเหมือนกับไทยไหม ?

“ในต่างประเทศก็มีการพูดถึงหลาย ๆ ประเด็นตั้งแต่ในช่วงที่ อูเบอร์ (Uber) กำลังเป็นประเด็นก็มีคำถาม คำถามใหญ่สุดคือ สถานะของคนทำงานขับรถอูเบอร์  ตกลงแล้วเป็นคนงานอิสระ (Independent Contactors) หรือเป็นคนงาน จริงๆ แล้วอาจจะลงรายละเอียดไปได้อีกว่าเขาเป็นลูกจ้าง (Employee) ของ อูเบอร์หรือไม่? หรือเป็นคนงานในความหมายของคนงานที่กฎหมายแรงงานกำหนดสิทธิเอาไว้ว่าเขาได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งถ้าเข้าข่ายเป็นคนงานตามกฎหมาย เขาก็จะได้รับสิทธิอย่างเช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ หรือว่าสิทธิในการที่จะลาป่วยโดยได้รับค่าตอบแทน

ประเด็นใหญ่ที่คุยกันมานานก็คือ การจัดประเภทแรงงานที่ผิด (misclassification) ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง การบอกว่าคนกลุ่มนี้ที่เป็นคนงานอิสระ (Independent Contactors) เป็นการจัดประเภทผิด เพราะว่าวาทกรรมของบริษัทหรือเปล่า? นี่เป็นประเด็นใหญ่ที่ในอังกฤษ อเมริกา มีการขยับขับเคลื่อน มีพัฒนาการไปค่อนข้างไกล ถ้าเราติดตามจะเห็นว่าในอังกฤษมีการฟ้องร้องโดยกลุ่มของคนงานแพลตฟอร์มที่รวมตัวกันโดยมีคนขับอูเบอร์ ส่วนหนึ่งต่อสู้กันนานถึง 5 ปี ถ้าจำไม่ผิดเมื่อปลายปีที่แล้วหรือต้นปีนี้ศาลสูงสุดของอังกฤษเพิ่งประกาศว่าคนขับอูเบอร์ ถือว่าเป็นพนักงานของบริษัท กลุ่มนี้ควรจะได้รับสิทธิต่างๆ ที่กฎหมายกำหนด”

การประท้วงของคนขับรถอูเบอร์ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2015 ในสหรัฐอเมริกา การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิแรงงานของพนักงานแพลตฟอร์มเกิดขึ้นอย่างจริงจังและก้าวหน้า ภาพโดย Aaron Parecki / CC BY 2.0

“ในสหรัฐอเมริกาก็มีพัฒนาการไปไกล ที่แคลิฟอร์เนียมีการออกกฎหมายในระดับรัฐที่เรียกว่า Assembly Bill 5 (AB5) ที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมา 2-3 ข้อที่เรียกว่า ABC Test ที่พิสูจน์ว่า คนทำงานคนหนึ่งในบริษัทแฟลตฟอร์มเป็นลูกจ้างหรือไม่ หลักเกณฑ์สามข้อประกอบด้วย หนึ่ง คนงานเป็นอิสระจากการควบคุมและกำกับของผู้ว่าจ้าง ทั้งในลายลักษณ์อักษรและในทางปฏิบัติ สอง คนงานไม่อยู่ในธุรกิจเดียวกับผู้ว่าจ้าง เช่น พนักงานขับรถส่งของที่ทำงานให้บริษัทขนส่ง ก็ต้องถือว่าอยู่ในธุรกิจเดียวกัน ต่างจากนักบัญชีที่ทำงานให้บริษัทขนส่ง และ สาม คนงานทำงานดังกล่าวอยู่อย่างอิสระก่อนที่ผู้ว่าจ้างเป็นผู้อำนวยให้มาทำ เช่น ตนเองขับรถส่งอาหารอยู่ก่อนตั้งนานแล้ว ไม่ได้เพิ่งย้ายมาทำหลังจากเข้าสมัครงานกับผู้ว่าจ้าง ถ้าหากผ่านทั้งสามข้อ พิสูจน์ได้ว่า คนงานไม่เป็นพนักงานของบริษัท บริษัทถึงไม่ต้องรับผิดชอบ

พัฒนาการในรัฐแคลิฟอร์เนียล่าสุดในการเลือกตั้งที่ผ่านมาของสหรัฐอเมริกา วันที่มีการเลือกตั้งใหญ่ระดับชาติ มีการลงคะแนนในประเด็นที่ท้องถิ่นสนใจบวกเข้าไปด้วย ในรัฐแคลิฟอร์เนียก็มีการล็อบบี้โดยบริษัทแพลตฟอร์มที่ส่วนใหญ่แล้วมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นั่นที่ ซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley) ลงขันกันไปล็อบบี้ เพื่อให้เกิดการลงคะแนนข้อเสนอ 22 (proposition 22) ถามผู้มีสิทธิออกเสียงว่า บริษัทแพลตฟอร์มควรถูกยกเว้นจาก AB5 หรือไม่ ปรากฏว่าในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว คนมากกว่าครึ่งลงคะแนนให้แพลตฟอร์มกลายเป็นข้อยกเว้น คนงานแพลตฟอร์มจึงกลับมาอยู่ในสภาพของคนทำงานอิสระเหมือนเช่นในอดีต ถือเป็นการถอยหลังเข้าคลอง” 

หากย้อนกลับมามองในไทยเป็นเช่นไรบ้าง ? 

“พอหันมาดูบ้านเรามันไม่ไปถึงไหนเลย กฎหมายก็ยังไม่มี ไม่ต้องพูดถึงเรื่องความเข้าใจก็ยังน้อยมาก จริงๆ แล้วก็ถามว่า เศรษฐกิจแบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเรานานหรือยัง ผมคิดว่าประมาณ 4-5 ปีได้แล้วถ้านับตั้งแต่ตอนอูเบอร์ เข้ามา จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ในปี 2018 อูเบอร์ก็ออกไปจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะมีข้อตกลงให้แกร็บเข้ามาทำตลาดแทน ตอนนี้ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมันไม่ได้มีแค่ธุรกิจรับส่งผู้โดยสารเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกลุ่มธุรกิจส่งอาหาร การขนส่ง (Logistic) จำนวนมาก แต่อีกจำนวนหนึ่งซึ่งเรายังไม่รู้จัก คือกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับการดูแล (Care Economy) ที่ทำงานเรื่องทำความสะอาด เรื่องการดูแลสุขภาพ ซึ่งกลุ่มนี้มีประเด็นปัญหาคล้ายๆ กันกับกลุ่มคนงานไรเดอร์เป็นปัญหาร่วมกัน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มาจากโมเดลธุรกิจแบบใหม่ แต่ก็มีปัญหาที่เฉพาะซับซ้อนลงไปอีกกับคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง”

ความหลากหลายซับซ้อนของปัญหาแรงงานแพลตฟอร์มคืออะไร ? 

ปัจจัยแรกที่ต้องพูดถึงก่อนเลยคือ แพลตฟอร์มแต่ละอาชีพมีความหลากหลาย และความแตกต่างในเรื่องการทำงานค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเช่น การทำงานแบบของแรงงานไรเดอร์ ในทางวิชาการเรียกว่า On Demand Platform คือ ลูกค้า/ผู้รับบริการอยากได้อะไรเขาก็จะสั่งแล้วก็ได้ทันทีคือเรียกคนมาบริการทันที 

แม้แต่บริษัทที่เป็นการขนส่ง (Logistic) ก็ยังมีความต่างกัน อย่างเช่น บางบริษัทก็มีวิธีส่งงานไปให้คนทำงานเลย บางบริษัทเป็นวิธีต้องแย่งกันกด ก็คือมีงานเด้งขึ้นมา คนที่อยู่ในรัศมีก็จะมองเห็นและต้องเลือกกดงาน ก็จะต่างกับที่อยู่ดีๆ มีงานมา ถ้าเราไม่ปฏิเสธก็ทำ อันนี้เป็นหนึ่งตัวอย่างความหลากหลายในกลุ่มธุรกิจขนส่ง 

ในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับการดูแล (Care Economy) นั้น ระดับพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เอามาใช้ก็มีหลายระดับขึ้นไปอีก ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มแม่บ้านหรือนวดส่วนใหญ่จะไม่ใช่ระบบที่ใช้แอพพลิเคชันที่เต็มรูปแบบ แต่จะใช้ผู้ดูแลระบบ (Admin) เข้ามาเกี่ยวข้อง ลูกค้าอาจจะเข้าไปเลือกวัน-เวลาที่ต้องการทำความสะอาด แต่จะมีผู้ดูแลระบบที่ติดต่อไปหาทางแอพพลิเคชันไลน์ของกลุ่มแม่บ้านกลุ่มหนึ่งที่เขาคิดว่าอยู่ในละแวกบริเวณนั้น 

เพราะฉะนั้นกลไกที่ต่างกันของแอพพลิเคชันก็ทำให้สิ่งที่เรียกว่า “กระบวนการแรงงาน (Labor Process)” (หรือกลวิธีการควบคุมการทำงานของคนงานโดยการออกแบบขั้นตอนทำงาน) ต่างกันเราก็จะเห็นว่าปัญหาที่เจอก็จะต่างกัน ปัญหาของกลุ่มคนทำงานด้านการดูแล (Care Workers) ที่เป็นผู้หญิงก็จะมีปัญหากับผู้ดูแลระบบในลักษณะคล้ายๆ กับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีหัวหน้าคนงาน ทำงานแทนนายจ้างมาสั่งการ คอยต่อว่า คอยควบคุม เพราะผู้ดูแลระบบในแพลตฟอร์มนี้ ผู้หญิงจะเข้ามาทำหน้าเป็นจำนวนมาก บางครั้งก็จะเกิดปัญหาอย่างเช่น ผู้ดูแลระบบให้ใบงานมาบ้านเลขที่ แต่รายละเอียดผิดแล้วก็จะทะเลาะกัน พอทะเลาะกัน ผู้ดูแลระบบก็ไม่ส่งงานให้อีก เกิดการเลือกปฏิบัติกับคนงานที่แพลตฟอร์มไม่สามารถควบคุมได้ แพลตฟอร์มเช่นนี้เอื้อให้เกิดลักษณะของการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ จะต่างกันกับในกลุ่มไรเดอร์ที่เป็นเทคโนโลยีอัลกอริทึมที่ไม่โปร่งใส เลยไม่รู้ว่าเป็นปัญหาในระบบหรือปัญหาของใคร 

มีปัญหาร่วมกันของแรงงานแพลตฟอร์มต้องเผชิญบ้างไหม ? 

ปัญหาหลักๆ ที่มีร่วมกับระหว่างแรงงานไรเดอร์กับคนทำงานบริการในธุรกิจด้านการดูแลคือ เรื่องค่าตอบแทน เนื่องจากงานในแพลตฟอร์มเป็นงานที่มีเงื่อนไขการทำงานและลักษณะการทำงานถูกกำหนดจากฝั่งของแพลตฟอร์มเพียงฝั่งเดียว เพราะฉะนั้นทั้งสองกลุ่มก็จะเจอกับปัญหาค่าแรงที่ลดลงจากการที่แพลตฟอร์มลดค่าแรง เมื่อเกิดการแข่งขันด้านราคาระหว่างแพลตฟอร์มกันเอง  ในช่วงแรกๆ ไม่มีปัญหาหรอก เพราะคนงานทุกบริษัทได้เงินดีหมด พอผ่านปีแรกสองปีแรกมาก็จะเริ่มลดค่าตอบแทนลง 

อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องการขาดสวัสดิการในการทำงาน ทั้งเรื่องอุบัติเหตุในการทำงาน สวัสดิการที่ควรจะมีถ้าเขาเป็นพนักงานของบริษัท ตรงกันข้าม สิ่งที่เราพบ คือคนเหล่านี้อยู่นอกการคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน และบริษัทอยู่นอกการกำกับควบคุมของกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งที่กฎหมายแรงงานกำหนดว่านายจ้างปฏิบัติแบบไหนไม่ได้บ้าง บริษัทแพลตฟอร์มเหล่านี้ละเมิดเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการหักเงิน นัดลูกค้าแล้วไม่ไปทำความสะอาดก็จะถูกหักเงิน ปัญหายิบย่อยของแพลตฟอร์มมีมหาศาลมาก และเป็นปัญหาที่คนติดตามมีอยู่น้อย ไม่รู้จะเริ่มจัดการจากตรงไหน สิ่งที่เราทำอยู่ก็คือการพยายามผลักดันผ่านกรรมมาธิการแรงงานที่มีคุณสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงาน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลที่ตอนนี้กำลังผลักดันเรื่องของคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อวางกรอบกฎหมายเพราะคิดว่ากฎหมายจะเป็นเรื่องแรกที่จะช่วยเรื่องนี้ได้

การชุมนุมของแกร็บไรเดอร์ที่หน้าอาคารธนภูมิ สำนักงานใหญ่บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) โดยมีสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงาน ไปรับฟังปัญหาและข้อเสนอ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563

เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นแรงงานแพลตฟอร์มมีช่องทางสื่อสารหรือร้องเรียนกับบริษัทหรือไม่ ? 

คนงานแพลตฟอร์มต้องเผชิญอีกปัญหาหนึ่งคือ การขาดช่องทางการสื่อสารกับตัวบริษัท ทุกแพลตฟอร์มไม่ว่าจะระบบ Marketplace อย่างกลุ่มผู้หญิงเราจะเรียกว่า Marketplace platform มากกว่า On Demand เพราะว่ามันจะมีลักษณะของการจับคู่เข้ามาเกี่ยว ทั้ง Marketplace และ On Demand แทบจะไม่มีช่องทางการสื่อสารจากคนงานกลับไปยังบริษัทเลย 

สิ่งเดียวที่แพลตฟอร์มส่วนใหญ่ใช้คือ Call Center ซึ่งถ้าไปดูข้อเรียกร้องของไรเดอร์จะเห็นว่าแทบจะใช้งานไม่ได้เลย ปัญหา Call Center เหมือนกับเวลาเราติดต่อบริษัทบัตรเครดิตที่เรามักจะต้องรอสายและปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข หรือถ้ามีคนรับเรื่องก็ไม่สามารถตอบอะไรได้เลย ในกลุ่มแพลตฟอร์ม แทนที่ Call Center จะเป็นกลไกสนับสนุนของคนทำงานมันกลับกลายเป็นกล่องดำอีกกล่องหนึ่งที่ทำให้คนงานเองประสบปัญหาอย่างมากที่จะขอความช่วยเหลือ อย่างเช่น กลุ่มผู้หญิงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการล่วงละเมิดทางเพศสูงมาก เป็นกลุ่มที่ทำงานในห้องพักของคน/ห้องส่วนตัว เวลามีปัญหาขึ้นมา สิ่งเดียวที่เขาจะทำได้คือการโทรแจ้ง Call Center หรือโทรหาผู้ดูแลระบบ ซึ่ง 100% ที่เราทำวิจัยมาคำตอบคือ ไม่สามารถช่วยได้ 

คนงานก็จะบอกเลยว่าการติดต่อบริษัทไม่มีประโยชน์เลย 1.บริษัทพยายามที่จะผลักภาระมาให้คนงานเป็นคนรับผิดชอบ 2.ไม่มีระบบที่วางเอาไว้สำหรับการคุ้มครอง 3.แพลตฟอร์มเหล่านี้ยังเปิดให้คนทำงานไปเจอความเสี่ยงโดยการแสดงโปรไฟล์ของคนทำงานที่มีรูปภาพ สัดส่วน อายุ หน้าตา ถึงแม้งานที่ทำกับสัดส่วนหน้าตาอายุแทบจะไม่มีความเกี่ยวกับการทำงานก็ตาม แต่ทำไมการทำความสะอาดเราต้องเลือกคนที่หน้าตาอายุน้อยหรือหุ่นดี

งานวิจัยในต่างประเทศก็มีการพูดอันนี้ค่อยข้างเยอะว่า  แพลตฟอร์มที่มีข้อมูลรูปร่างหน้าตาสัดส่วนของคนทำงานหญิงเป็นการเปิดความเสี่ยงชัดเจน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่คนทำงานก็พบ แต่ว่าเป็นปัญหาที่ไม่มีพื้นที่ให้เขาพูด 

กรอบความรับผิดชอบของบริษัทแพลตฟอร์มอยู่ตรงไหน ? 

“อย่างที่บอกว่าแต่ละบริษัทมีวิธีการควบคุมการทำงานคนที่แตกต่างกันมากเลย มันมี On Demand ซึ่งกลุ่มไรเดอร์ถูกควบคุมเข้มข้นมาก เพราะว่าต้องทำตามกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ แต่กลุ่มผู้หญิง กลุ่ม Marketplace platform การควบคุมอาจจะน้อยกว่า คือมีการควบคุมการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบก็จริง แต่ในระหว่างการทำงาน เขายังมีความสามารถในการที่จะกำหนดว่า ชั้นทำความสะอาดบ้านหลังนี้ ชั้นจะไปเริ่มจากตรงไหนก่อนแล้วค่อยมาจบตรงนี้ ชั้นจะบริหารเวลายังไง ในระหว่างทางชั้นทำเร็ว ชั้นพักกินข้าว เข้าห้องน้ำ 

กรอบความคิดหนึ่งที่ผมอ่านมาจากงานวิจัยที่อินเดียที่เขาเสนอว่า ถ้าแพลตฟอร์มควบคุมขั้นตอนการทำงานของคนงานอย่างเข้มข้น บริษัทต้องมีความรับผิดชอบสูงขึ้นตามด้วย ถ้าแพลตฟอร์มควบคุมในระดับปานกลางก็อาจจะมีความรับผิดชอบน้อยลง ถ้าควบคุมน้อยแบบที่เป็น Marketplace โดยสมบูรณ์ ที่แค่จับคู่ผู้รับและผู้ให้บริการจริงๆ ไม่ได้เข้าไปกำหนดค่าตอบแทนหรือเงื่อนไขการทำงานอะไรเลย เขาอาจจะไม่ต้องมีความรับผิดชอบมากนัก แต่ในกรณีของแรงงานไรเดอร์ ผมมองว่ามันควบคุมสูงมาก เพราะฉะนั้นบริษัทควรจะมีความรับผิดชอบเกือบเท่ากับนายจ้างในบริษัทเดิมด้วยซ้ำ ซึ่งสามารถอ้างอิงจากนายจ้างในกรอบเดิมทำยังไง เช่น จ่ายเข้าประกันสังคมตามมาตรา 33 ซึ่งรวมถึงสวัสดิการและสิทธิตามกฎหมายแรงงานทุกอย่างที่จะต้องให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดประจำปี วันลาป่วยได้รับค่าตอบแทน มีค่าล่วงเวลา”

“นี่อาจจะเป็นกรอบความคิดที่เอาไปปรับได้กับกระบวนการทำงานที่ทำอยู่ สิทธิและสวัสดิการควรจะเป็นยังไง? เรื่องของการประกันอุบัติเหตุ สิทธิ 7 อย่างในประกันสังคมจะปรับอย่างไร? มีการพูดถึงเรื่องการตั้งกองทุนใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะต้องลองเอาไปคิดต่อยอดกัน เวลาเราได้ยินข้อเสนอเรื่องกองทุน ส่วนใหญ่มักจะมาจากบริบทของคนงานหญิงในงานด้านการดูแล เพราะว่ากลุ่มของคนงานหญิงรู้สึกว่าเขาต้องการอิสระในการทำงานสูง คนงานหญิงที่เป็นแม่บ้านทำความสะอาดบ้านกับพนักงานนวด ส่วนมากกลุ่มนี้รู้สึกว่า เขาจะมีความรับผิดชอบในบ้านของตัวเองซึ่งจะต้องแบ่งเวลา อย่างเช่น เลี้ยงลูกเล็ก ดูแลผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นเขาจะไม่อยากทำงานเต็มเวลา เขาจะอยากทำงานในเวลาที่เขาอยากทำจริงๆ ซึ่งอาจจะต่างจากไรเดอร์ที่กลายเป็นงานประจำเต็มเวลา 

กลุ่มผู้หญิงต้องการการสนับสนุนอย่างเฉพาะเจาะจงอย่างเช่น อุบัติเหตุจากการทำงาน หรือความเจ็บป่วยจากการทำงานซึ่งนี้มีลักษณะสอดคล้องสัมพันธ์กับคนที่ทำงานในโรงงานมาก เพราะการทำความสะอาดบ้านต้องสัมผัสสารเคมี ต้องสูดดมเข้าไปอย่างต่อเนื่อง แต่พอออกจากบริษัทแพลตฟอร์มแล้วอีก 5 ปีเป็นโรคทางเดินหายใจ แล้วใครคือผู้รับผิดชอบในส่วนนี้ การออกแบบกองทุนพิเศษที่นำรายได้จากแพลตฟอร์มมาจัดสรรสวัสดิการให้คนงานแพลตฟอร์มจึงอาจเป็นแนวทางหนึ่ง”

หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเพิ่มขีดความสามารถในการขูดรีดของคนทำงานเพิ่มขึ้น ?  

“ใช่ครับ เทคโนโลยีถูกนำมาใช้อำพรากระบวนการงการขูดรีด อย่างที่บอกว่าพอมาดูกระบวนการทำงานของคนส่งของ เขาแทบจะต้องทำงานที่มีขั้นตอนการทำงานที่แพลตฟอร์มกำหนดอยู่แล้ว เช่น การถ่ายรูปเมื่อไปถึง ขั้นตอนเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงอำนาจสั่งการอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบที่แฝงเอาไว้ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า การลงโทษต่างๆ ที่ทั้งไรเดอร์ และคนงานหญิงสะท้อนออกมา มันตลกจนไม่อยากจะเชื่อว่ามันสามารถทำได้ อย่างเช่น ปฏิเสธงานหนึ่งชิ้นที่รับต้องทำงานซ่อม 4-5 ชิ้น นี่เป็นสิ่งที่เทคโนโลยีอำพรางไม่ให้เรามองเห็นการกดขี่ขูดรีดและกระบวนการที่จะขูดรีด 

ในต่างประเทศอย่างเช่นในยุโรป ทำไมคนบางกลุ่มถึงสามารถทำ สหกรณ์แพลตฟอร์ม (Platform Co-operative) ของตัวเองได้ ส่วนหนึ่งผมคิดว่า มีความร่วมมือของด้านเทคโนโลยีอย่างพวกโปรแกรมเมอร์เข้าไปสนับสนุน แต่อีกส่วนหนึ่งก็มีคนงานในระบบ Gig Economy ในยุโรปที่เป็นคนส่งอาหารที่ใช้จักรยาน ส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษา พอไปดูโปรไฟล์ของคนทำงานในกลุ่มนี้ของบ้านเรา ส่วนใหญ่ต่ำกว่าปริญญาตรี ส่วนมากต่ำกว่ามัธยมปลาย เรามีกลุ่มแรงงานซึ่งเคยอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการหรือแม้กระทั่งมีแรงงานที่ทำงานไร้ฝีมือเป็นจำนวนมากซึ่งไม่เคยถูกพัฒนาทักษะในเรื่องเทคโนโลยีและดิจิทัล คนกลุ่มนี้ก็กลายมาเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริบทแพลตฟอร์มถูกออกแบบมาเพื่อหาประโยชน์จากคนกลุ่มนี้ กลุ่มที่มีระดับการศึกษาต่ำ ใช้ภาษาอังกฤษน้อย”

เมื่อสวัสดิการของคนงานคือ เกมการแข่งขัน…

“ถ้าเราดูลึกๆ จริงๆ แล้วมันเป็นปัญหามาจากกลไกการทำงานของแพลตฟอร์ม ผมขอยกตัวอย่างในกรณีของไรเดอร์ การที่เขาจะได้รับการคุ้มครอง เขาต้องอยู่ระหว่างที่เขารับงาน ก็คือการเปิดรับคำสั่งจากแพลตฟอร์ม และอยู่ระหว่างทางไปส่ง ถ้าเขาส่งของเสร็จแล้วปิดรับคำสั่งก็ถือว่าเขาไม่ได้ทำงาน เพราะฉะนั้นสถานะคนทำงานของเขาก็คืออยู่ระหว่างที่เขาเปิดรับคำสั่ง และปิดส่งงาน ถ้าหากว่าเขาปิดปุ้บและยังไม่ได้รับงานใหม่ และได้รับอุบัติเหตุบนท้องถนน เขาก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง นี่ชี้ให้เห็นว่า ความหมายของการเป็นคนงานเปลี่ยนไป มันต่างจากเดิมมากที่เราเป็นลูกจ้างและการเป็นมนุษย์เงินเดือนเป็นงานติดตัวอยู่กับเราแทบจะ 24 ชั่วโมง ตลอดทั้งวัน หรือแม้กระทั่งวันที่เราไม่ได้ไปทำงานก็ยังมีความเป็นคนงาน มีอัตลักษณ์ความเป็นคนงานอยู่กับตัว รวมถึงสิทธิและสวัสดิการก็ยังอยู่กับเรา 

Gig Economy ทำให้ความหมายของงานเปลี่ยนไป ตัวสถานะ ตัวอัตลักษณ์ สิทธิและการคุ้มครองตามกฎหมายไปเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ จำนวนมากที่เข้ามากระทบ แต่ในกรณีของแรงงานไรเดอร์ก็ยังมีความซับซ้อนอีก อย่างเช่น คนที่จะได้ประกันของบริษัทต้องอยู่ในระดับสูงสุด คือการทำงานส่งอาหารก็จะมีการจัดระดับชั้น (Class) ให้ว่า คุณทำงานกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คุณต้องส่งของได้กี่ชิ้น อย่างกรณีของแกร็บ ถ้าคุณอยู่ในระดับที่เรียกว่า ฮีโร่ แสดงว่าคุณอยู่บนสุด คุณก็จะมีสวัสดิการ เหมือนเล่นเกม 

เราก็ศึกษาสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการแรงงาน (Labor Process) ที่อธิบายการกำกับควบคุมและการต่อต้านของคนงาน ซึ่งเราก็พบว่านักวิชาการทั่วโลกก็พบปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การทำให้เป็นเกม (Gamification) จริงๆ แล้วแพลตฟอร์มพยายามที่จะทำให้มีทั้งแรงจูงใจ และบทลงโทษที่ให้คนงานเหมือนเข้าไปเล่นเกมแล้วก็ทำโบนัสให้ได้ ไต่ระดับขึ้นไป เพื่อที่จะให้มีสวัสดิการสูงขึ้น แต่ว่ากระบวนการเหล่านี้มันแฝงไปด้วยการกำกับควบคุมคนทำงานซึ่งทำให้เกิดพื้นที่สีเทาว่าตกลงแล้วมันใช่หรือไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบลูกจ้างนายจ้าง เพราะว่ามีการกำกับควบคุมที่ค่อนข้างมาก แต่ต้องบอกว่าไรเดอร์และคนงานแพลตฟอร์มจำนวนมากเริ่มตระหนักถึงปัญหาการขูดรีดที่เขาถูกกระทำ พวกเขาตั้งคำถามกับคำว่า ‘พาร์ทเนอร์’ เพียงแต่การทำงานรายชิ้นทำให้พวกเขามีความเปราะบางของสถานะ”

แรงงานแพล็ตฟอร์มพักทานข้าวกันบนรถ เพราะกระบวนการทำให้เป็นเกม (Gamification) ทำให้พนักงานต้องแข่งขันกันไต่ระดับเพื่อรับโบนัสที่สูงกว่า แต่แท้จริงแล้วระบบดังกล่าวกลับแฝงการขูดรีดเอาไว้

“ในขณะเดียวกันการจ่ายงานเป็นรายชิ้น และเรื่องของกระบวนการทำโบนัสทำแต้มเพื่อให้ได้สวัสดิการ ในระดับของปัจเจกแล้วมันเป็นการขูดรีด และไร้มนุษยธรรม ทำให้คนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุและหลายครั้งหลายหน ปัญหาของอัลกอริทึมที่ไม่มีความโปร่งใสทำให้คนงานรู้สึกว่า กฎกติกาบางอย่างที่ตั้งเอาไว้ ถูกตั้งขึ้นมาแบบที่ทำให้คนงานไม่สามารถจะทำได้ อย่างเช่น มีแรงจูงใจว่าต้องทำได้จำนวนกี่รอบต่อสัปดาห์แล้วคุณจะได้โบนัสเพิ่ม เขาก็พยายามทำจนพอถึงจุดหนึ่งใกล้จำนวนที่จะถึง จะไม่มีงานมาเลย ตกลงแล้ว มันเป็นปัญหาส่วนตัวหรือเป็นอัลกอริทึมที่ถูกออกแบบเอาไว้กันแน่?

ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่นักวิจัยพูดถึงกันเยอะว่า ความเป็นกล่องดำของเทคโนโลยีและแอพพลิเคชันเข้ามาทำให้กระบวนการทำงาน ส่วนหนึ่งที่ขูดรีดถูกบดบังหรือมองเห็นไม่ชัดเหมือนกระบวนการทำงานในโรงงานหรือการทำงานในอดีต และอีกส่วนหนึ่งก็เกิดการเคลื่อนย้ายการขูดรีดหรือเคลื่อนย้ายการกำกับไปในพื้นที่อื่นซึ่งเราอาจจะมองเห็นหรือเข้าใจได้ยากขึ้น”

บริษัทกำลังขาดทุน โกหกคำโตของบริษัทแพลตฟอร์ม

“เวลาที่แรงงานไรเดอร์เรียกร้องเรื่องค่าตอบแทน บริษัทมักจะบอกกับคนทำงานว่าบริษัทกำลังขาดทุนจึงไม่มีงบประมาณมากพอที่จะมาเป็นสวัสดิการให้กับคนทำงานได้ ถ้าคุณเรียกร้องค่าส่งเพิ่ม บริษัทก็ยิ่งขาดทุน คนงานก็จะไม่ได้อะไร อันนี้เป็นคำโกหกคำโตของบริษัท เพราะเท่าที่ผมทำวิจัยและติดตามบริษัทแพลตฟอร์มมา จะพบว่า Network Effect หรือผลของการสร้างเครือข่ายที่จะยังไม่เกิดจนกระทั่งบริษัทจะสร้างระบบนิเวศของตัวเองสำเร็จ ในระหว่างที่บริษัทกำลังสร้างเครือข่ายนี่แหละ จำเป็นที่จะต้องขาดทุน ซี่งบริษัทแพลตฟอร์มจำนวนมากสามารถขาดทุนติดกันได้หลายปี เช่นอูเบอร์ ขาดทุนติดต่อกัน 10 ปี แต่ล่าสุดในสหรัฐ Grab กำลังที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ และมูลค่าของบริษัทมหาศาล ทั้งที่ขาดทุนมาตลอด และถ้าถามว่าบริษัทอยู่ได้ยังไง 1. การระดมทุนของ Start Up เป็นกระบวนการระดมทุนที่เอื้อให้บริษัทสามารถเอาเงินจากการร่วมลงทุน (Venture Capital) มาทุ่มตลาดได้ ยอมจ่ายค่าตอบแทนที่มากกว่าความเป็นจริงในช่วงต้น แต่บริษัทไม่เคยพูดความจริงในเรื่องนี้ มีแต่โฆษณาว่าคนทำงานจะได้ค่าตอบแทนสูง แต่สูงแค่ช่วงแรก 2. การขาดทุนไม่ได้หมายว่าบริษัทไม่มีมูลค่า มูลค่าของบริษัทอยู่ที่ข้อมูลกับโครงสร้าง เพราะทุกบริษัทหวังว่าจะเป็นรายสุดท้ายที่อยู่ได้และเขาก็จะคุมโครงสร้างที่ถูกวางขึ้นมา”

“บริษัทเหล่านี้ถ้าไม่จบด้วยการขายให้ธุรกิจร่วมลงทุนก็อาจจะขายให้บริษัทอื่นแบบเป็นการซื้อกิจการไปเลย (Take Over) เพราะเห็นว่าวางระบบเรียบร้อย เพราะฉะนั้นการขาดทุนไม่ได้บอกอะไรเลย เพราะมูลค่าของบริษัทมีตัวเลขอยู่มหาศาล ทุกครั้งที่ขายไปคนที่ได้เงินเยอะที่สุดคือ ซีอีโอ (CEO) หรือ ผู้ร่วมก่อตั้ง (Founder) ในขณะที่คนทำงานไม่ได้อะไรเลย และยังถูก ไล่ออกอีกด้วย หรือเงินเดือนไม่เคยขึ้นเลย

หลายๆ กรณีที่ให้เราศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจแบบใหม่ซึ่งจะเห็นว่าเกือบทุกกรณี ไม่เกี่ยวกับผลกำไรขาดทุน เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนผมได้คุยกับผู้บริหารของบริษัทแพลตฟอร์มหนึ่งในไทยที่ทำทั้งการขนส่งอาหารและนวด เขาก็พูดเรื่องขาดทุนตลอด ผมถามว่าเมื่อไหร่จะปรับสภาพของคนทำงาน เขาก็บอกว่ามันยังขาดทุนอยู่ตลอด ผมก็ถามไปอีกว่า แล้วถ้าในอนาคตคุณกำไร คุณสามารถคืนผลกำไรนั้นกลับมาในอดีตให้กับคนทำงานได้หรือเปล่า เขาก็ไม่ตอบ แล้วก็บอกว่าทำไมวิจารณ์บริษัทเขาเยอะจัง ทำไมไม่มาลองทำธุรกิจเองบ้าง สุดท้ายเขาก็รู้อยู่ เพราะการขาดทุนนี้ไม่ได้มาจากการผิดพลาด เป็นแผนธุรกิจที่วางไว้อยู่แล้วว่าจะต้องขาดทุน แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ถูกสื่อสารไปถึงคนทำงาน

เวลาคนทำงานมาเรียกร้อง เขาก็บอกว่า คุณเรียกร้องเราไม่ได้หรอก เรากำลังขาดทุนอยู่เดี๋ยวเราเจ๊ง แต่ในความเป็นจริง ค่าแรงของไรเดอร์มันถูกเพราะมันกำหนดโดยผูกกับราคาที่เก็บจากผู้บริโภค อันนี้ในทางธุรกิจเรียกว่าการกำหนดราคาแบบพลวัตร เพราะฉะนั้นปัญหาของไรเดอร์เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่มีทางแก้ได้เลย วิธีเดียวเลยคือ วางสาธารณูปโภคของระบบสหกรณ์และส่งเสริมให้เกิดสหกรณ์แพลตฟอร์ม (Platform Co-operative) ในต่างประเทศที่ทำให้คนอยู่ได้ เพราะคนทำงานมารวมตัวกันเป็นเจ้าของ กำหนดค่าตอบแทน กำหนดวิธีการทำงานด้วยตัวเอง และสามารถเรียกเก็บค่าบริการในราคาที่เหมาะสมได้ และคนก็ยอมจ่าย”

ถ้าเช่นนั้น อะไรคือทางออกของปัญหาแรงงานแพลตฟอร์ม? 

“การแก้ไขกฎหมายแรงงานเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น อย่างในอังกฤษมีสถานะคนทำงาน 3 แบบละเอียดกว่าเรา อย่างบ้านเรามีแค่คนทำงานอิสระ คือคนรับจ้างทำงานกับพนักงานที่เป็นคนงาน แต่ในอังกฤษนี้เขามี พนักงาน (Employee), คนงาน (Worker), และผู้รับงานอิสระ (Independent Contractor) ซึ่ง คนงานก็แตกต่างจากพนักงาน เพราะฉะนั้นคนที่เป็น แรงงาน จะมีสถานะต่ำกว่าลูกจ้างบริษัท แต่จะมีสิทธิบางอย่างที่เพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มคนงานอิสระ 

ผมว่าทางหนึ่งในยุโรปเขาพยายามมองสถานะที่สามว่าเป็นทางออกหรือทางเลือกหนึ่งที่พอจะจัดการปัญหาได้ หรือบริษัทแพลตฟอร์มอาจจะพอรับได้ ก็เกิดการต่อรอง อย่างเช่นในอเมริกา บริษัทแพลตฟอร์มพยายามที่จะให้สิทธิในการต่อรอง ในการรวมตัวเพื่อตั้งสมาคมกันโดยที่ไม่ต้องเป็นพนักงาน แต่คุณสามารถมารวมตัวกันเป็นสหภาพของคนทำงานแพลตฟอร์มได้ เพื่อที่จะได้สิทธิบางอย่างตามกฎหมาย แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง ก็สู้กันในระบบแรงงานสัมพันธ์”

“ผมว่าการแก้กฎหมายไทยอย่างน้อยก็จะช่วยแก้ปัญหาที่คาราคาซังคือ แรงงาน “ในระบบ” กับ “นอกระบบ”​ ซึ่งอันนี้เป็นปัญหามากขึ้นจากแต่ก่อนเพราะ พอมีคนงานแพลตฟอร์มเพิ่มเข้ามา คนงานกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะถูกผลักไปอยู่ในกลุ่มคนงานนอกระบบสูง ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐเองมีพยายามที่จะทำอย่างนี้อยู่ซึ่งเราเองก็เข้าไปบอกว่า ทิศทางในอนาคตไม่ควรจะมีการแบ่งเป็น 2 กลุ่มแล้ว เพราะเป็นการแบ่งที่ไม่ได้มีหลักการรองรับและไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานก็ได้มีความพยายามผลักดันร่างกฎหมายแรงงานนอกระบบตัวใหม่ขึ้นมา ตามเจตนารมณ์มันควรที่จะกำหนดสิทธิ กำหนดเรื่องของสวัสดิการที่เขาจะได้รับมากขึ้น แต่กลายเป็นว่าพอกฎหมายเขียนออกมาไม่ดี มันเป็นช่องว่างให้คนงานกลุ่มต่างๆที่ไม่ได้อยู่ในโรงงานหรือในระบบ หรือไม่มีการจ้างงานที่เป็นมาตรฐานถูกผลักเข้ากลุ่มนี้หมดเลย 

เราก็คิดว่าถ้าหากเกิดกฎหมายโดยที่เราไม่พูดถึงแรงงานแพลตฟอร์มเลย ความเสี่ยงจะตกอยู่กับแรงงานกลุ่มนี้ที่จะถูกเรียกว่าเป็นคนงานนอกระบบซึ่งทุกวันนี้ผมก็เห็นว่าคนจำนวนนี้ถูกเรียกว่าแรงงานนอกระบบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการปฏิรูปกฎหมายถ้าจะทำต้องทำทั้งระบบ เพราะมันไปผูกกับประกันสังคม ไปผูกกับกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ซึ่งกฎหมายแรงงานสัมพันธ์บ้านเราก็เขียนเอาไว้แคบมาก ต้องเป็นลูกจ้างเท่านั้นถึงจะสามารถรวมตัวตั้งสหภาพได้ ต้องสัญชาติไทยเท่านั้น ผมคิดว่าถ้าต้องแก้ มันก็ควรจะแก้ แต่ว่าผมไม่แน่ใจว่าทำไมถึงไม่มีแรงผลักจากทางฝั่งภาครัฐ ก็ไม่เห็นว่าภาคส่วนไหนออกมาขับเคลื่อน อาจจะเป็นเพราะจริงๆ แล้วบริษัทแพลตฟอร์มเข้าไปเชื่อมกับภาคส่วนต่างๆ หมดแล้ว ถ้าไปดูเว็บไซต์ของบริษัทแพลตฟอร์มเหล่านี้เราจะเห็นโครงการเพื่อสังคม (CSR) เชื่อมกับธนาคารใหญ่ๆ หน่วยงานภาครัฐต่างๆ แทบจะเป็นภาคีเดียวกันหมดแล้ว ผมก็มองว่าไม่น่าแปลกใจที่ไม่มีใครออกมาผลักดันเรื่องกฎหมายสิทธิให้คนงานแพลตฟอร์มเลย”

ข้อเสนอที่ถูกพูดถึงกันมากในปีนี้คือ รายได้ถ้วนหน้า หรือ Universal Basic Income (UBI) จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาแรงงานแพลตฟอร์มได้หรือไม่ ? 

“ผมว่า UBI ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ว่า UBI ไม่ได้ผูกติดกับอัตลักษณ์ความเป็นคนงาน UBI ผูกติดกับความเป็นพลเมืองหรือประชากรมากกว่าไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร เมื่อเร็วๆ นี้ผมก็ได้ยินข่าวในมหานครนิวยอร์กว่า มีผู้แทนของเมืองพยายามจะเอานโยบายของ UBI มาใช้ ในระดับของเมืองซึ่งคนที่เขาให้ความสำคัญมากก็คือ กลุ่มคนที่ปกติแล้วเขาทำงานที่ไม่ได้ค่าตอบแทน หรือกลุ่มที่เป็น Care Workers เช่น กลุ่มแม่บ้านมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูงมาก แต่ว่าไม่เคยมีใครประมวลว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจ ค่าจ้างว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ 

ถ้าให้เราจ่ายจริงๆ เราคงจะจ่ายไม่ไหว แต่ถ้าถามในมุมกลับกันว่าในขณะที่คนจำนวนมากเหล่านี้ที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไม่เคยได้ค่าตอบแทน มันคือผลประโยชน์ของใคร มันคือผลประโยชน์ของธุรกิจ มันคือกำไรของบริษัทที่เขาลดต้นทุนไปไม่ต้องจ่าย อันนี้ก็คล้ายๆ กันในบ้านเรา ถ้าเราย้อนกลับมาคุยว่าเมื่อก่อนภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ภาคชนบทเป็นภาคที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเพราะว่าคนงานได้ค่าแรงต่ำ ภาระความรับผิดชอบเรื่อง การผลิตซ้ำทางสังคม (Social Reproduction) ของคนงาน การผลิตตามกำลังถูกโอนไปที่ครอบครัว/ครัวเรือนของคนงานหมด ไม่ว่าจะในฐานะของศูนย์เลี้ยงเด็กของประเทศ อีสานกลายเป็นศูนย์ของประเทศไทย เพราะว่าคนงานไม่สามารถเลี้ยงลูกตัวเอง ถ้าหากว่าค่าจ้างเพียงพอจะต้องจ่ายให้กับค่าตอบแทนเหล่านี้ คนงานและครอบครัวก็ไม่ต้องอุดหนุน

กลับมาเรื่อง UBI ผมว่าส่วนหนึ่งที่ดีคือมันดึงเอาความสัมพันธ์ที่ตอนนี้มีปัญหา เพราะมันเอาความสัมพันธ์ของงานและสวัสดิการผูกเป็นสัญญาประขาคม (Social Contract) ของศตวรรษที่ 20 มันเกิดหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดประกันสังคม เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ การต่อสู้ในพื้นที่เศรษฐศาสตร์การเมืองทำให้เกิดสัญญาประชาคมแบบนี้ที่คุณทำงานคุณต้องได้รับสวัสดิการ และทุกคนต้องช่วยแบ่งเบาภาระ” 

“ตอนนี้สัญญาประชาคมนี้เหมือนถูกฉีก และผมคิดว่าการเกิด UBI จะเปลี่ยนวิธีคิดเรา และในเมื่อความสัมพันธ์เก่ามีปัญหา เราต้องมองหาความสัมพันธ์ใหม่ที่งานไม่ได้สัมพันธ์กับสวัสดิการเสมอไป แต่งานมันมองเรื่อง Contribution  ของคุณในเศรษฐกิจภาพรวม ไม่ว่าคุณจะมีงานหรือไม่มีงาน แต่ถ้าคุณมี Contribution คุณควรที่จะได้รับการสนับสนุน ผมว่าอันนี้ก็ดีนะ แต่ต้องไม่ลืมที่จะกลับไปถามถึงความรับผิดชอบของเศรษฐกิจที่ตอนนี้ธุรกิจแพลตฟอร์มมันดึงเอาทรัพยากรของสังคมไปใช้โดยที่มันไม่ต้องจ่ายเงิน เราจะเอาจากเขายังไง ผมว่าเราต้องไม่ลืมตรงนี้

มีข้อเสนอที่หลายคนพูดถึงกันในตอนนี้คือ เราควรจะมีกองทุนสำหรับช่วยเหลือแรงงานแพลตฟอร์มหรือไม่อย่างเช่น เก็บภาษีพิเศษกับบริษัทแพลตฟอร์มเพื่อไปตั้งเป็นกองทุนมาจ่ายเป็นสวัสดิการให้กับแรงงานแพลตฟอร์มซึ่งผมคิดว่าอาจจะต้องคิดออกไปจากกรอบที่เรามีอยู่เดิม เพราะว่าความสัมพันธ์ทำให้เกิดความซับซ้อน และอาจจะต้องเกิดนวัตกรรมในเรื่องของระบบสวัสดิการที่ต้องตามให้ทันกับนวัตกรรมในเชิงธุรกิจ เพราะฉะนั้นโจทย์ใหม่ ความท้าทายใหม่ จะต้องคิดเรื่องนี้ แต่เราเองในฐานะสังคมไทยที่ภาคส่วนต่างๆ ยังอยู่ในกรอบความคิดแบบเก่าแบบ 2.0 3.0 ผมว่ามันไม่สามารถจะแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลได้ถ้าเราไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง”

อ่านงานวิจัยที่ผ่านมาของสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมได้ที่นี่

Author

วรยุทธ มูลเสริฐ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานรณรงค์ทางความคิด คณะก้าวหน้า ผู้สนใจการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมทางการเมือง มีความสนใจด้านทฤษฎีการเมือง ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา