ด้วยประสบการณ์และความสนใจส่วนตัว ผมไม่เคยคิดอยากทำงานราชการเลย ในฐานะที่เคยเข้าไปข้องเกี่ยวกับมันมาบ้าง ผมวินิจฉัยว่า โดยทั่วไปแล้วงานราชการเป็นงานที่ไม่ได้ใช้ความคิดอะไรมาก หลายงานหลายตำแหน่งเป็น bullshit jobs ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน ข้อสนับสนุนหนึ่งของผมมาจากประสบการณ์ส่วนตัวสมัยสอบภาค ก. หลังเรียนจบใหม่ๆ เป็นรุ่นที่มีข่าวจากวิษณุ เครืองามว่า ใครสอบภาค ก. ผ่านจะได้รับการบรรจุทันที
ควรทดไว้สักนิดว่า การแก้ปัญหาการว่างงานไม่ได้มีเพียงแค่เหตุผลทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ในอีกด้านหนึ่งมันยังเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ลดแรงต้านจากความขัดแย้ง (ทางชนชั้น) ในสังคมด้วย
แต่นั่นก็เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือการได้ใช้ความคิดความอ่าน ได้ใช้สมอง ผมพูดแบบนี้ไม่ใช่เพื่อดูถูกด้อยค่าคนทำงานราชการ (ใครอยากเป็นผมเชียร์ด้วยซ้ำ เพราะด้วยกระแสโลกที่โน้มไปในรูปแบบสัญญาจ้างระยะสั้น การมีงานที่มีสวัสดิการรองรับแบบนั้นเป็นจะเรื่องมหัศจรรย์มากๆ ในอนาคต) แต่สำหรับผม งานราชการหลายตำแหน่งเป็นงานที่ไม่ได้ใช้ความรู้มากมายอะไรเลย หลายงานขอเพียงแค่เรารู้ขั้นตอน 1 2 3 4 ก็สามารถทำได้แล้ว พูดง่ายๆ คือมันไม่ได้มอบอำนาจในการใช้เหตุผลตัดสินใจอะไรให้เรานัก (ลองนึกถึงงานที่ต้องรออนุมัติ รอนายผู้บังคับบัญชาลงมาเซ็นต์ให้ ทั้งๆ ที่ปัญหามันเรียกร้องการจัดการโดยเร็วสิ) ด้วยระบบแบบนี้ ผู้ปฏิบัติงานจึงไม่สามารถริเริ่มสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ได้ หรือหากคิดจะมีก็ต้องเผชิญกับระเบียบที่เน้นไปที่การเพ่งโทษและจ้องจับผิด
นี่ยังไม่นับว่า ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยอื่นยั้วเยี้ยไปหมด “คนเก่ง” และ “คนดี” ในระบบราชการจึงมีองค์ประกอบมากกว่าเรื่องความสามารถ
“เรื่องง่ายๆ” นวนิยายสืบสวนสอบสวนขนาดสั้น ของ Leonardo Sciascia บรรจุปัญหาของระบบราชการ (ซึ่งสัมพันธ์กับสังคมอย่างแน่นอน) ไว้เกินกว่าที่ผมบรรยายมาเสียอีก
เรื่องเริ่มต้นด้วยการที่ชายผู้มากทรัพย์สินคนหนึ่งโทรแจ้งให้ตำรวจมาที่บ้าน เพราะพบทรัพย์สินมีค่าบางอย่างเข้า แต่ตำรวจเข้าใจและปฏิบัติต่อสายนี้เป็นแค่การล้อเล่น จนกระทั่งเช้าวันถัดมาพบศพชายคนนี้ถูกยิงตายในบ้านของตัวเอง บ้านหลังที่เขาโทรให้ตำรวจไปพบ
ด้วยความยาวไม่ถึง 100 หน้าของนวนิยาย (งานไม่ใหญ่แน่นอนครับวิ) ผมขอสงวนไม่เล่าอะไรไปมากกว่านี้ แต่ขอดึงฉากประทับใจที่ทำให้ผมย้อนกลับไปคิดถึงก้อนความคิดเรื่องระบบราชการมาแลกเปลี่ยนสักหน่อย
มันเป็นฉากที่อาจารย์ซึ่งเป็นเพื่อนของผู้ตายไปเข้าพบกับอัยการผู้เป็นอดีตลูกศิษย์ของตนเอง ทั้งสองทักทายกันก่อนจะพบว่าต่างฝ่ายต่างจำกันได้ ฝ่ายศิษย์บอกว่ารูปร่างอาจารย์ไม่เปลี่ยนไปเลย แต่ฝ่ายอาจารย์โต้กลับไปว่า “แต่คุณเปลี่ยนไปนะ” ฝ่ายศิษย์เลยชี้แจง “ก็งานบ้านี่…” รูปประโยคยังไม่ทันจบดีเขาเปลี่ยนเรื่อง ราวกับไม่อยากสาธยายต่อ
“ผมขอถามอาจารย์ข้อหนึ่งก่อนได้ไหมครับ…แล้วเดี๋ยวจะถามอีกหลายๆ ข้อในเรื่องอื่นๆ… คือตอนเขียนเรียงความ อาจารย์ให้ผม 3 คะแนนทุกครั้ง เพราะผมลอกคนอื่น แต่ครั้งหนึ่งอาจารย์ให้ผม 5 เพราะอะไรหรือครับ”
“ก็เพราะว่าคุณลอกของนักเขียนที่ฉลาดกว่าคนก่อนๆ น่ะสิ”
พนักงานอัยการหัวเราะ “การใช้ภาษา ผมค่อนข้างอ่อนวิชาการใช้ภาษา แต่ก็อย่างที่อาจารย์เห็น มันไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไร ผมอยู่ที่นี่ ในตำแหน่งอัยการ…”
“การใช้ภาษาไม่ใช่การใช้ภาษา แต่มันคือการใช้เหตุผล” อาจารย์พูด “ถ้าอ่อนเรื่องการใช้ภาษามากกว่านี้คุณคงยิ่งมีตำแหน่งสูงขึ้น”
บทสนทนาข้างต้นนี่แหละ รวบยอดสิ่งที่ผมเล่ามาทั้งหมด
หมายเหตุ: สามารถยืมหนังสือเล่มนี้ได้ฟรีในโครงการอ่านเปลี่ยนโลก https://form.jotform.com/221880458508462