บทความนี้เป็นการเรียบเรียงเนื้อหาจากบรรยายตลาดวิชาอนาคตใหม่ ‘กว่าจะเป็นกฎหมาย’ ในหัวข้อ ทำไมต้องเคารพกฎหมาย เราต่อต้านขัดขืนกฎหมายได้หรือไม่? โดยอาจารย์ ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564
เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในสังคม เราย่อมมีพันธะในการปฏิบัติตามกฎหมายเสมอ เพราะ กฎหมายมาพร้อมกับความยุติธรรมโดยทั่วไปกฎหมายมีพลังบังคับโดยตัวของมันเอง และมาพร้อมกับพันธะทางศีลธรรม และจริยธรรมควบคู่กันไป
แม้ว่ากฎหมายจะมีพลังบังคับให้เราต้องยอมรับ และปฏิบัติตาม แต่คำถามสำคัญคือ เมื่อกฎหมายที่บังคับใช้ขัดต่อศีลธรรม และความยุติธรรมที่สังคมยึดถืออย่างร้ายแรง เช่น กฎหมายที่เลือกปฏิบัติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำให้สังคมไม่อาจยอมรับว่าเป็นกฎหมายได้ และเราจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมนี้หรือไม่
เราจะมาสำรวจกันว่า หากรัฐที่เราสังกัดไม่เป็นนิติรัฐ และกฎหมายไม่มีความยุติธรรมเราสามารถใช้สิทธิในการต่อต้านขัดขืนกฎหมายได้หรือไม่ภายใต้บริบทแบบไหน เงื่อนไขใดได้บ้าง ? เราจะมาดู 4 ขั้นของการต่อต้านขัดขืนกฎหมายกัน
การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายธรรมดา
การต่อต้านขัดขืนกฎหมายในขั้นแรกคือ การที่ปัจเจกเลือกไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งอาจเพราะเหตุทางศีลธรรม และจริยธรรมส่วนตัวซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสังคมการเมืองโดยรวม แต่อาจได้รับผลทากฎหมาย จุดสำคัญที่ต้องพิจารณาของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายธรรมดาคือ รัฐที่เราสังกัดอยู่เป็นนิติรัฐหรือไม่ และเราเป็นบุคคลาธรรมดา หรือเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งจะส่งผลต่อฐานในการพิจารณาในการใช้สิทธิไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ
ในกรณีปัจเจกบุคคลในรัฐที่เป็นนิติรัฐเราไม่สามารถใช้พันธะทางศีลธรรม และจริยธรรมในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้ หากไม่ปฏิบัติตามก็จะได้รับผลทางกฎหมายอยู่ดี ดังนั้นบุคคลย่อมมีหน้าที่ในการเคารพเชื่อฟังกฎหมาย หากฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายปัจเจกก็ได้รับผลทางกฎหมายไม่สามารถหลีกหนีพลังบังคับของกฎหมายได้
ในกรณีเจ้าหน้าที่รัฐในรัฐที่เป็นนิติรัฐเจ้าหน้าที่รัฐมีพันธะผูกพันธ์ต่อกฎหมายมากกว่าคนทั่วไป เพราะการใช้อำนาจรัฐของเจ้าหน้าที่รัฐต้องมีกฎหมายรองรับการใช้อำนาจ และมีกฎหมายเป็นกรอบในการใช้อำนาจ ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐในรัฐที่เป็นนิติรัฐเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
หากปัจเจกบุคคลอยู่ในรัฐที่ไม่เป็นนิติรัฐที่ใช้อำนาตามอำเภอใจไม่ปกป้อง และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปัจเจกบุคคลมีสิทธิในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักระหว่างหน้าที่ในการเคารพกฎหมายกับจุดยืนความถูกต้องทางจริยธรรมของตนเองได้ แต่ก็ไม่สามารถหลบหนีผลทางกฎหมายได้เช่นกัน เพราะรัฐเป็นผู้ถือครองอำนาจรัฐ และบังคับใช้กฎหมาย
ในกรณีเจ้าหน้าที่รัฐในรัฐที่ไม่เป็นนิติรัฐเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีหน้าที่ และไม่มีความจำเป็นต้องผูกพันต่อกฎหมาย และไม่ควรทำตามกฎหมายในรัฐที่ไม่เป็นนิติรัฐ เพราะเป็นกลไกหนึ่งของรัฐที่ไม่เป็นนิติรัฐที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจคุกคาม ละเมิดสิทธิของประชาชน
การดื้อแพ่ง หรืออารยะขัดขืน
ในเมื่อสังคมที่เป็นนิติรัฐเราไม่สามารถไม่ปฏิบัติตามกฎหมายธรรมดาได้ เพราะบุคคลย่อมมีหน้าที่ในการเคารพเชื่อฟังกฎหมาย แต่ในสังคมที่ไม่เป็นนิติรัฐปัจเจกสามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะขัดขืนต่อกฎหมายฉบับนั้นหรือไม่ การดื้อแพ่ง หรืออารยะขัดขืนที่หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำนี้เป็นการต่อต้านขัดขืนกฎหมายซึ่งมีลักษณะร่วมกันกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายธรรมดา แต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ และมีผลกระทบต่อสังคมการเมืองมากกว่า
สิ่งที่ทำให้การดื้อแพ่งแตกต่างจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายธรรมดาการดื้อแพ่งนั้นคือ การดื้อแพ่งต้องเป็นการกระทำที่เปิดเผยต่อสาธารณะโดยวิธีการของผู้กระทำการดื้อแพ่งตั้งอยู่บนหลักของการไม่ใช้ความรุนแรงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลที่สาม และมีแรงจูงใจในทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกระทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน
หลักสำคัญของการดื้อแพ่งคือ ผู้กระทำการดื้อแพ่งรู้สำนึกว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย และยอมรับผลที่ร้ายแรงของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจ และชี้ให้สาธารณชนเห็นถึงความไม่ยุติธรรมของกฎหมายฉบับนั้นนำไปเรียกร้องเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือกฎหมาย
การดื้อแพ่งจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของตน หากปราศจากความชอบธรรม ในทางนิติปรัชญาความชอบธรรมของการดื้อแพ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมาย หรือเรียกร้องด้วยวิธีอื่นในกระบวนการปกติได้อีกแล้ว และรัฐมีการละเมิดหลักความยุติธรรมขันพื้นฐานอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชน การดื้อแพ่งจึงเป็นหนทางสุดท้าย
แต่กระนั้นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถานที่ราชการ ทรัพย์สินของรัฐนั้นถือว่าเป็นการดื้อแพ่ง เพราะถือว่ารัฐคือ บุคคลที่สองซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งของประชาชนในการเรียกร้องทางการเมือง เมื่อรัฐละเมิดความยุติธรรมขั้นพื้นฐานของสังคม
การต่อต้านรัฐ
การต่อต้านขัดขืนกฎหมายขั้นต่อไปคือ การต่อต้านรัฐซึ่งสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อรัฐนั้นๆ การต่อต้านรัฐนั้นมีบางส่วนที่คล้ายคลึงกับการดื้อแพ่ง และสร้างผลกระทบเพียงเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่มีความแตกต่างที่เป้าหมายของการต่อต้านรัฐนั้นเป็นไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง หรือนำไปสู่การปฏิวัติพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเปลี่ยนแปลงรากฐานการปกครองของรัฐใหม่
ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ การต่อต้านรัฐไม่จำเป็นต้องกระทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ หรือโดยสงบปราศจากความรุนแรง ปกติแล้วมักเป็นขบวนการลับ และใช้กำลังในการก่อการ อย่างเช่น ขบวนการต่อต้านนาซีเยอรมนี
ทั้งนี้ไม่ใช่ทุกขบวนการต่อต้านรัฐจะมีความชอบธรรมเสมอไป เพราะหากเราอยู่ในรัฐที่เป็นนิติรัฐย่อมไม่มีความชอบธรรมในการต่อต้านรัฐ เพราะการเรียกร้องทางประชาธิปไตยในระบบปกติยังสามารถทำงานได้ และมีช่องทางอื่นๆ ที่สามารถทำได้
แต่ความชอบธรรมในการการต่อต้านรัฐจะเกิดขึ้นเมื่อรัฐไม่เป็นนิติรัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้น ปัจเจกมีความชอบธรรมากพอที่จะต่อต้านรัฐ และมีแนวโน้มที่จะทำให้คนเห็นอกเห็นใจสนับสนุนขบวนการต่อต้านรัฐมากขึ้นด้วย แต่อย่างไรก็ตามการต่อต้านรัฐต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของความพอสมควรแก่เหตุ และความได้สัดส่วนระหว่างเป้าหมายและวิธีการ มิได้หมายความว่าจะสามารถทำทุกอย่างได้อย่างอิสระ และอาจไม่มีความชอบธรรมในการใช้สิทธิต่อต้านรัฐ
หากมองไปไกลกว่านั้นการก่อการร้ายก็สามารถเป็นสิทธิในการต่อต้านรัฐได้ และมีความชอบธรรมมากขึ้น เมื่อรัฐนั้นเป็นทรราชอย่างร้ายแรง คุกคาม เข่นฆ่าประชาชน
การล้มล้างทรราช
การต่อต้านรัฐขั้นสุดท้ายซึ่งมีผลกระทบที่รุนแรงที่สุดคือ การล้มล้างทรราช ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการล้มล้างทรราชได้ในกรณีที่รัฐเป็นเผด็จการใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าประชาชนทั่วไป หรือผู้ที่ต่อต้านการปกครองของรัฐโดยเจตนา ประชาชนมีความชอบธรรมในการล้มล้างทรราชย์ภายใต้เงื่อนไขเดียวคือ การป้องกันตัวเท่านั้น
แม้ว่าการล้มล้างทรราชอยู่ภายใต้แนวคิดของการป้องกันตัวเอง ในความเป็นจริงการฆ่าคนเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่กฎหมายก็ไม่ได้ปล่อยให้ปัจเจกต้องเผชิญกับภัยร้ายแรง และไม่มีสิทธิป้องกันตัวเองเมื่อมีภัยร้ายแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ในกรณที่รัฐเป็นเผด็จการมีการใช้ความรุนแรงฆ่าประชาชน หรือผู้ต่อต้านการปกครองของรัฐโดยเจตนา ประชาชนถึงจะมีความชอบธรรมในการใช้สิทธิล้มล้างทรราชได้
ประเด็นปัญหาเรื่องการไม่เคารพกฎหมายจนนำไปสู่การต่อต้านขัดขืนกฎหมายที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นนั้นเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างปัญหาว่าด้วยความยุติธรรม และความมั่นคงแน่นอนของกฎหมายซึ่งเป็นคุณค่าที่มีความสำคัญทั้งคู่
ความยุติธรรมมีความสัมพันธ์กับความชอบธรรม เหตุผล และพลังบังคับของกฎหมายที่มีต่อปัจเจกเพราะ หากกฎหมายขัดต่อความยุติธรรมอย่างมากจะเกิดคำถามตามมาว่า ทำไมเราจึงต้องเคารพกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมด้วย
ขณะเดียวกันกฎหมายซึ่งเป็นบรรทัดฐานที่คนในสังคมต้องปฏิบัติตามจึงไม่สามารถเปิดโอกาสให้คนไม่เคารพกฎหมายได้เสมอไป เพราะหากเป็นเช่นนั้นกฎหมายไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างปกติ และความมั่นคงแน่นอนของกฎหมาย กฎหมายนั้นมีความชัดเจนแน่นอนหรือไม่ ต้องกำหนดหน้าที่ และบทบาทอย่างชัดเจนให้คนได้รู้ว่าทำอะไรได้ไม่ได้บ้าง เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาว่า คนไม่รู้ว่าขอบเขตของกฎหมายอยู่ที่ใดจน และกลายเป็นปัญหาตามมาจนนำไปสู่การต่อต้านขัดขืนกฎหมายในที่สุด
คุณสามารถชมการบรรยายตลาดวิชาอนาคตใหม่ “กว่าจะเป็นกฎหมาย” ในหัวข้อ ทำไมต้องเคารพกฎหมาย เราต่อต้านขัดขืนกฎหมายได้หรือไม่? ได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=dPuj5gz9t_I