เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมาณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หรือ ส.ส.เท้ง พรรคก้าวไกลมาบรรยายตลาดวิชาอนาคตใหม่ ตอนพิเศษในหัวข้อ ‘เมื่อเทคโนโลยี Disrupt การเมืองไทย’ พาเราไปสำรวจเส้นทางประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมาว่าฉุดรั้งประเทศไม่ให้ก้าวหน้า และพาไปผจญภัยสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อพัฒนาการเมืองในต่างประเทศ และย้อนกลับมามองสังคมไทย แม้ว่าภาครัฐจะไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมากนัก แต่ภาคประชาสังคม และพรรคก้าวไกลได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามา Disrupt การเมืองไทย เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้โดยไม่ต้องรอคอยรัฐราชการที่แข็งทื่อไม่ยอมปรับตัว ทาง Common School ได้เรียบเรียงคำบรรยายสำหรับผู้ที่พลาดการบรรยายได้อ่านย้อนหลังกัน
อดีตที่ข้ามไม่ผ่าน
89 ปี นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ประชาธิปไตยไทยถูกฉุดรั้งไม่ให้ไปไหน กระบวนการประชาธิปไตยไม่เคยได้เติบโตในวิถีทางที่ควรจะเป็น ประชาชนไทยไม่เคยได้เรียนรู้กระบวนการประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องอยู่ในวงจนอุบาทว์ตลอดมา เลือกตั้งไปไม่ทันไรก็เกิดรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วก็เลือกตั้ง ชนชั้นนำไม่พอใจก็รัฐประหารวนเวียนแบบนี้เรื่อยมา 89 ปี
หากเราลองย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองไทย 89 ปีที่ผ่านมาจะพบข้อมูลที่น่าสนใจ ประเทศไทยเกิดรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง เฉลี่ยแล้วจะเกิดรัฐประหารทุกๆ 6 ปี ถ้าการรัฐประหารคือ ทางออกของสังคมไทย ประเทศไทยคงเป็นหนึ่งในประเทศที่เจริญรุดหน้าประเทศหนึ่งของโลกไปแล้ว เรามีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศรวมแล้ว 20 ฉบับ เฉลี่ยแล้วทุกๆ 4 ปีเราจะมีรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ เรามีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน เฉลี่ยอยู่ในอำนาจคนละ 2.9 ปี จะเห็นได้ว่า กระบวนการประชาธิปไตยไทยไม่เคยได้เติบโตหยั่งรากลึกในสังคม และไม่เคยปล่อยให้ประชาชนเรียนรู้กระบวนการดังกล่าวตามครรลองประชาธิปไตย
ทางออกของสังคมไทยวันนี้คือ การดึงทหารออกจากการเมือง เอาทหารกลับเข้ากรมกอง ขณะเดียวกันเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันกำลังเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยมากขึ้นซึ่งอาจจะเป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่มีวันหวนกลับไปสู่สังคมแบบเดิม และหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ได้
เมื่อประชาธิปไตยไม่สามารถเติบโตในสังคมไทยได้ ทำให้รัฐบาล และรัฐสภาไม่ยึดโยงกับประชาชนเห็นได้จากการที่พรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์โดยตรงของประชาชน เช่น พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม, พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน, พระราชบัญญัติอากาศสะอาด, พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่จะเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างของรัฐ หรือการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากตัวแทนของพี่น้องประชาชน แม้กระทั่งการเข้าไปพิจารณางบประมาณของรัฐจะเห็นได้ว่า กลไกการทำงานของรัฐสภาไม่สามารถตอบสนองความต้องการของพี่้น้องประชาชนได้ เมื่อฝ่ายค้านเสนอร่างกฎหมายไปก็ถูกปัดตก หรือยังไม่นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณา หากไม่ได้อยู่ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้นำวาระต่างๆ ของประชาชนข้าสู่กระบวนการพิจารณาเลย นี่สะท้อนว่า กลไกลของรัฐบาล และรัฐสภาไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนอย่างเห็นได้ชัด หากเราต้องการสวัสดิการที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนต้องทำให้กระบวนการเหล่านี้ยึดโยงกับประชาชนด้วย ประเทศจึงจะสามารถเดินต่อไปได้
โลกในปัจจุบัน อนาคตไทยคือ ปัจจุบันในสากลโลก
คลื่นแห่งการทำลายล้าง (Digital Disruption Wave) Disrupt แปลตรงตัวคือ การทำลายล้าง จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อทศวรรษที่ 1990 ในยุคนี้จะยุคเริ่มต้นของเว็บไซต์ หรือ ดอทคอม หลังจากนั้นเป็นยุคที่อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในการตัดตัวกลางทำให้เกิดการทำลายห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) และห่วงโซ่คุณค่าในการตลาด (Value Chain) และในอนาคตคือ ยุคแห่งการแทนที่กล่าวคือ ข้อมูล (Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามามีบทบาทแทนที่การทำงานของมนุษย์ซึ่งจะเข้าท้าทายหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย
เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการทำลายล้างธุรกิจต่างๆ เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาตัดตัวกลางออกไป เช่น Amazon เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ซึ่งให้บริการเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) จุดเริ่มต้นของ Amazon เป็นเว็บขายหนังสือ ในอดีตการซื้อขายหนังสือต้องไปที่ร้านหนังสือเท่านั้น ร้านหนังสือจึงเป็นตัวกลางระหว่างสำนักพิมพ์กับผู้ซื้อ เมื่อ Amazon เข้ามาทุกคนคลิกเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์แล้วหนังสือก็มาส่งถึงบ้าน หรือในรูปแบบ e-Book ที่สามารถส่งตรงไปที่เครื่องผู้ซื้อได้เลย ปัจจุบัน Amazon ได้ขยายธุรกิจไปไกลกว่าขายหนังสือแล้ว
กรณี ebay เดิมทีถ้าเราจะใช้บริการแบบ ebay ได้ต้องมีนายหน้าในการซื้อขาย แต่ ebay เข้ามาทำลายห่วงโซ่คุณค่าในการตลาด (Value Chain) ตัดตัวกลางเอานายหน้าออกแล้วเปลี่ยนให้เป็นการขายแบบ C2C หรือ Customer to Customer ทำหน้าที่จับคู่คนที่ต้องการขายกับคนที่ต้องการซื้อให้มาเจอกันโดยไม่ต้องมีตัวกลาง
ในวงการสื่อสารมวลชนก็ได้รับผลกระทบจากคลื่นแห่งการทำลายล้างนี้เช่นกัน ทุกอย่างกลายเป็นอยู่ในโลกดิจิทัลทั้งหมด สำนักข่าวต้องปรับตัวมาสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น หนังสือพิมพ์ถูกแทนที่ด้วยคอนเทนออนไลน์ในโซเชียลมีเดีย
แม้แต่ในวงการภาพยนต์ หรือวงการเพลงห่วงโซ่การผลิตยาวมากต้องมีค่ายที่สังกัด มีนักแสดง ศิลปิน ผู้กำกับ หาโรงงานผลิตซีดี เทป ส่งไปขายตามร้านค้าทั่วไปกว่าจะผลิตภาพยนต์ หรือเพลงได้มีกระบวนการผลิตที่ยาวมากกว่าจะถึงมือผู้บริโภค แต่เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามันทำลายทั้งห่วงโซ่การผลิต และห่วงโซ่คุณค่าในตลาดไป เราแทบจะไม่เห็นร้านขายแผ่นหนัง แผ่นเพลงอีกแล้ว ทุกอย่างกลายมาเป็นบริการ Steaming หมดแล้วนี่คือการทำลายล้างห่วงโซ่การผลิต ขณะเดียวกันก็ทำลายล้างงห่วงโซ่คุณค่าในการตลาดด้วยคือ การจะเป็นศิลปินนั้นไม่ต้องพึ่งพาค่ายภาพยนต์ค่ายเพลงอีกต่อไป ทุกคนสามารถผลิตเพลง ผลิตหนังของตัวเองได้แล้วก็ใช้ช่องทาง Youtube หรือ Facebook ของตัวเองในการเผยแพร่
ประเทศอื่นเดินหน้าไปทำเรื่องอื่นหมดแล้ว แต่ปัจจุบันของประเทศไทยคือ การเดินตามหลังอดีตของประเทศอื่นอยู่ หากจะตามโลกให้ทันปัจจุบันของไทยต้องเป็นปัจจุบันในสากลโลกไม่ใช่ปิดกั้นตัวเองให้ล้าหลัง เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังกลายเป็นคลื่นแห่งการทำลายล้างประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เทคโนโลยี กับการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย
เราเห็นแล้วว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปมีบทบาทในการทำลายล้างโลกธุรกิจอย่างไร ในด้านการเมืองเทคโนโลยีเหล่านี้ก็เข้ามามีบทบาทในการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย ทั่วโลกต่างก็ขานรับกระแสคลื่นลูกนี้ ประเทศไทยก็ไม่อาจรอดพ้นจากคลื่นลูกนี้เช่นเดียวกันไม่ช้าก็เร็ว
(เข้าไปดูเว็บ Consul Project ได้ที่นี่ https://consulproject.org/en/)
ในปัจจุบันมีการทำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน (Civic Tech) ตัวอย่างหนึ่งที่เป็น Oepn Source ที่ให้คนทั่วไปสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้เลยคือ Consul Project เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับรางวัลจากสหประชาชน (United Nation) และถูกนำไปใช้ในหลายประเทศทั่วโลกมากกว่า 35 ประเทศภายในแพลตฟอร์ม Consul เปิดให้ประชาชนเข้ามาถกเถียงแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับโครงการนโยบาย หรือร่างกฎหมายที่ตนสนใจ สามารถยื่นใบเสนอโครงการที่ประชาชนมีความต้องการให้รัฐดำเนินการโดยจะต้องมีประชาชนมาลงชื่อตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อให้รัฐนำไปดำเนินการต่อ และยังมีระบบการโหวต แต่ที่สำคัญที่สุดของ Consul Project คือ การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory budgeting) เมื่อประชาชนเสนอโครงการที่ต้องการทำ และมีผู้รับรองตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว ประชาชนสามารถเข้าไปโหวตจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการที่ผ่านแล้วว่า งบประมาณท้องถิ่นในปีถัดไปอยากให้ท้องถิ่นให้ความสำคัญกับเรื่องใดก่อน กรณีเมืองบาเลนเซีย ประเทศสเปนมีการใช้แพลตฟอร์ม Consul Project เข้าไปใช้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมจริงเช่นเดียวกัน
(เข้าไปดูข้อมูลได้ที่นี่ https://decidimvlc.valencia.es/)
การมีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาทำลายล้างตัวกลาง และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณได้เองตั้งแต่ต้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณาว่างบประมาณควรถูกใช้ไปกับโครงการใดก่อนเพื่อจัดลำดับความสำคัญในการใช้งบประมาณ และสามารถตรวจสอบได้ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด
การที่เราจะสามารถนำแพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้มาใช้นั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยืนยันบุคคลว่า มีตัวตนในเมืองนั้นจริงๆ ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐจะต้องมีเมื่อนำแพลตฟอร์มนี้มาใช้คือ อัตลักษณ์ดิจิทัล หรือ Digital Identity ประเทศเอสโตเนีย ฟินแลนด์ และอีกหลายประเทศนำระบบนี้เข้ามาใช้เพียงแค่มีบัตรประชาชนใบเดียวสามารถทำธุรกรรม และใช้บริการของรัฐได้ทุกอย่างผ่านออนไลน์ได้เกือบร้อยเปอร์เซ็น เพราะมีข้อมูลส่วนบุคคล ประวัติการรักษาพยาบาล ประวัติการติดต่อหน่วยงานราชการ ทรัพย์สินต่างๆ ที่ถือครอง
สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย แม้จะมีความพยายามในการทำบริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัลแห่งชาติ (National Digital ID) หรือ NDID แต่ก็เป็นการร่วมมือกันของบริษัทภาคการเงินการธนาคาร บริษัทประกันเป็นผู้ถือครองข้อมูลเหล่านี้ ในเชิงหลักการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐไม่ควรให้เอกชนถือครองเป็นเจ้าของ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ให้เอกชนรายไหนรัฐต้องเป็นผู้กำหนด
นอกจากแพลตฟอร์มที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น มีโครงสร้างพื้นฐานในการยืนยันตัวตนแล้ว สิ่งที่สำคัญต่อไปคือ การเปิดเผยข้อมูล (Open Data) เพื่อให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับการบริหารของรัฐ รัฐจึงมีความจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้ประชาชนเข้าถึงได้ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลดิจิทัลเกิดขึ้นได้
จากข้อมูลการจัดอันดับการเปิดเผยข้อมูลของรัฐจาก Global Open Data Indexระบุว่า
ในด้านการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณภาครัฐของประเทศไทยนั้น แม้ว่าจะมีการเปิดเผยเอกสารงบประมาณให้ประชาชนเข้าถึงได้ แต่ยังไม่เป็น machine-readable ซึ่งไม่สามารถนำไฟล์ PDF นี้ไปใช้งานได้จริง
ด้านการเปิดเผยข้อมูลผลการเลือกตั้งของประเทศไทย เราไม่ผ่านเกณฑ์ของ Global Open Data Index ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลในส่วนดังกล่าว ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ไม่สามารถดาวน์โหลด หรือแม้กระทั่งไม่มีการอัพเดตข้อมูลให้ทันสมัยตลอดเวลา ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ คณะกรรมการการการเลือกตั้งไม่สามารถนำผลคะแนนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นให้กับเราได้
(เข้าไปดูข้อมูลได้ที่นี่ https://index.okfn.org/place/)
ด้านการเปิดเผยข้อมูลรายจ่ายภาครัฐที่เกิดขึ้นจริง ประเทศไทยก็ไม่เปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ให้ประชาชนรับรู้ หรือการเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินในประเทศไทยก็ไม่มีการเปิดเผยเช่นกัน
ทางออกของปัญหาทุจริตคอรัปชันคือ การที่รัฐเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในรูปแบบ OCDS หรือ Open Contracting Data Standard กระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้างที่รัฐใช้ภาษีของประชาชนไปมีขั้นตอนดังนี้ เริ่มจากการวางแผนตั้งโครงสร้าง และการจัดทำงบประมาณ ขั้นตอนที่สองคือ การยื่นซองประมูล ขั้นตอนที่สามคือ การคัดเลือกผู้ชนะการประมูล ขั้นตอนที่สี่คือ การเซ็นสัญญา และอาจมีการแก้ไขสัญญาระหว่างกระบวนการ ขั้นตอนสุดท้ายคือ การเบิกจ่าย และนำไปปฏิบัติจริง แต่ประเทศไทยในปัจจุบันเห็นข้อมูลแค่ขั้นตอนแรกเท่านั้น และไม่ได้เป็น machine-readable ด้วยไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทั้งกระบวนการ เรียกได้ว่า เราถูกทำให้ “ตาบอด” มองไม่เห็นว่ารัฐใช้ภาษีของประชาชนอย่างไรบ้าง
OCDS เป็นมาตรฐานที่กำหนดโดยธนาคารโลก (World Bank) มีหลายประเทศที่นำมาตรฐาน OCDS ไปใช้ในการแก้ไขปัญหา และป้องกันการทุจริตเพิ่มความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เช่น อังกฤษนำไปใช้เมื่อปี 2015 หรือประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างประเทศอินโดเนซียก็นำมาตรฐานนี้ไปใช้ ความน่าสนใจของอินโดเนซียเมื่อเปิดข้อมูลออกมาแล้วสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดลำดับจังหวัดที่มีความเสี่ยงในการทุจริต หรือโครงการที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการทุจริต
(สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่นี่ https://opentender.net)
หากประเทศไทยมีข้อมูลในลักษณะนี้เปิดเผยออกมา และมีการจัดอันดับความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตจะช่วยทำให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบ และทำให้เกิดความโปร่งใสเพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ยิ่งรัฐเปิดเผยข้อมูลมากเท่าไหร่ รัฐก็ยิ่งมีความโปร่งใสมากขึ้นเท่านั้น
เทคโนโลยี กับการ Disrupt การเมืองไทย
เราอาจไม่เห็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งสามสิ่งที่กล่าวไปข้างต้นในประเทศไทยที่ริเริ่มโดยภาครัฐมากนัก แต่พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคฝ่ายค้าน และภาคประชาสังคมมีการขับเคลื่อนเพื่อนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาการเมือง เช่น ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ซึ่งเป็นร่างที่รัฐบาลเสนอทำให้คนไทยเสียโอกาส เสียสิทธิ และเสียทรัพยากร พรรคก้าวไกลเข้าผลักดันในชั้นกรรมาธิการให้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ สามารถโหวตออนไลน์ และโหวตนอกราชอาณาจักรได้แล้ว
หากไม่สามารถเปิดโหวตออนไลน์ให้ประชาชนเข้าถึงการออกเสียงประชามติ และคนที่อยู่นอกราชอาณาจักรไม่มีสิทธิในการโหวตจะทำให้คนไทยเสียโอกาสในการหาคำตอบที่เป็นปัญหาถกเถียงต่างๆ ในประเทศ เช่น ร่างแก้ไขรัฐธรมนูญ หรือสิทธิในการโหวตของพระภิกษุสงฆ์ และการจัดประชามติแต่ละครั้งใช้งบประมาณมหาศาลอาจมีข้อจำกัดด้านจำนวนครั้งในการจัดทำประชามติ หากมีการใช้ระบบโหวตออนไลน์เข้ามาจะทำให้ประหยัดงบประมาณ และเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถหาคำตอบเกี่ยวกับประเด็นถกเถียงในสังคมได้ซึ่งพรรคก้าวไกลก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันร่างนี้ให้มีความก้าวหน้า และตอบสนองความต้องการของประชาชนมากขึ้น
(เข้าไปดูไฟล์งบประมาณที่เป็น Machine-Readable ได้ที่นี่ https://github.com/kaogeek/thailand-budget-pdf2csv)
ข้อมูลการจัดอันดับการเปิดเผยข้อมูลของรัฐจาก Global Open Data Index การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐด้านงบประมาณของเรานั้นไม่ผ่านเกณฑ์ พรรคก้าวไกล กลุ่ม Kaogeek และอาสาสมัครนักพัฒนาจากทั่วประเทศได้ร่วมกันจัดทำให้ไฟล์งบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นไฟล์ PDF ด้วยการนำไปเข้า Google Vision ในการถอดตัวอักษรออกมาเพื่อให้เครื่องอ่านข้อมูลได้จากนั้นก็แปลงไฟล์งบประมาณจากไฟล์ PDF ให้อยู่ในรูปแบบ Spreadsheet หรือที่เรียกว่า Machine-Readable Format เมื่อข้อมูลภาครัฐถูกเปิดเผยออกมาแล้วสามารถนำไปต่อยอดได้อีกมากมายเช่น กรณี #แอร์ไม่เย็น เราสามารถหางบประมาณที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปรับอากาศจากเดิมที่ต้องค้นเอกสารเป็นเวลานาน แต่เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถย่นระยะเวลาให้เหลือเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นเอง นี่เป็นตัวอย่างของการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่เป็น Machine-Readable จะช่วยเข้ามาในการสิเคราะห์งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านการเปิดเผยข้อมูลผลการเลือกตั้งของประเทศไทยที่ Global Open Data Index ให้เราสอบตกในด้านนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลผลคะแนนเลือกตั้งได้ และยังเกิดข้อกังขาต่อผลคะแนนดังกล่าวด้วย กลุ่มภาคประชาสังคมได้ร่วมกันจัดทำ Vote62.com เป็นเว็บไซต์ Crownsource ที่รวบรวมผลคะแนนการเลือกตั้งที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกรอก และตรวจสอบคะแนนในพื้นที่ของตน เพื่อสร้างความโปร่งใสได้ เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองมากขึ้นเป็นการตัดตัวกลางออกในอนาคตเราไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการการเลือกตั้งเลยก็ได้
กรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบลซื้อเสาไฟกินรีต้นละแสนนั้นที่เกิดคำถามมากมายถึงความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง หากเราเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในรูปแบบ OCDS เปิดเผยข้อมูลกระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้างที่รัฐใช้ภาษีของประชาชนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำจะทำให้เราเห็นทุกกระบวนการ และเกิดความโปร่งในการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน มายาคติของการกระจายอำนาจ หรือการยุติรัฐราชการรวมศูนย์คือ คนมักจะคิดว่าเมื่อกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นแล้วจะเกิดการทุจริตคอรัปชันหนักขึ้น แต่หากเราใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นการใช้งบประมาณภาษีของประชาชนให้สามารถเข้าถึงได้พร้อมๆ ไปกับการเพิ่มกลไกในการตรวจสอบที่เข้มข้นปัญหาการทจิตคอรัปชันจะได้รับการแก้ไข
การอภิปรายของคุณประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เรื่องการเอื้อที่ดินให้เครือข่ายนายทุนซื้อที่ดินบริเวณอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ล่วงหน้าโดยใช้ข้อมูลวงในจากคณะรัฐมนตรีก่อนที่มติของคณะรัฐมนตรีจะออกทำให้ซื้อที่ดินในราคาที่ถูก และขายที่ดินในราคาที่แพงหลายเท่าตัว แม้ว่าการซื้อมาขายไปจะไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่เป็นการทุจิตในเชิงนโยบายที่นำข้อมูลวงในมากใช้ประโยชน์เอื้อธุรกิจพวกพ้อง เช่นเดียวกับการซื้อขายหุ้นที่ซื้อหุ้นตามข้อมูลวงในซึ่งมีความผิดการฟอกเงิน
(ดูการอภิปรายของส.ส. ประเสริฐพงษ์ ได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=P9b6N1zLzwY)
งบประมาณพัฒนาดิจิทัลท้องถิ่นนั้นมีการขอเข้ามาทุกปีคือ งบประมารสำหรับการพัฒนาเว็บไซต์จ้างพัฒนาเว็บไซต์นั้นใช้งบประมาณหลักแสนซึ่งท้องถิ่นไทยมีอยู่ 7,800 แห่งใช้งบประมาณมหาศาลมากยังไม่รวมค่าดูแลรักษาระบบที่แยกกันแต่ละท้องถิ่น หน้าตาเว็บไซต์ก็แตกต่างกันในการแต่พื้นที่ต่างคนต่างทำของตัวเอง ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของงบประมาณ ทางส.ส.ก้าวไกลได้มีการอภิปรายว่า ทางออกที่จะช่วยประหยัด และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพคือ การรวมศูนย์แพลตฟอร์มเว็บไซต์ให้รัฐทำแพลตฟอร์มกลางขึ้นมาลงทุนครั้งเดียว และให้ท้องถิ่นทุกแห่งใช้แพลตฟอร์มนี้ซึ่งเราจะสามารถบูรณาการข้อมูลจากทุกแห่งเข้าด้วยกัน กรณีเว็บไซค์ของเทศบาลอาจสามารถที่ทีมงานช่วยกันพัฒนาใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เข้ามาช่วยติดตามรถขยะ ติดตามการให้บริการน้ำประปา รวมถึงบริการสาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้ามาทำธุรกรรมออนไลน์ได้ นี่เป็นการเอาเทคโนโลยีเข้าไปทำลายล้างการ (Disrupt) เมืองไทยได้
(สามารถติดตามการทำงานของผู้แทนราษฎรได้ที่นี่ https://theyworkforus.elect.in.th/)
ตัวอย่างจากภาคประชาสังคมที่เอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปพัฒนาการเมืองเช่น เว็บไซต์ theyworkforus.elect.in.th เป็นการรวบรวมข้อมูลการลงมติ และติดตามการทำงานของผู้แทนราษฎรจากพรรคต่างๆ เพื่อเป็นการกดดันผู้แทนฯ ในสภาให้ทำตามความต้องการของประชาชนด้วยเช่นเดียวกัน
ประเทศไทยตามหลังประเทศอื่นอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ในต่างประเทศมีการนำแพลตฟอร์ม Consul Project ซึ่งเป็น Civic Tech ไปใช้ร่วมกับ Digital ID เพื่อยืนยันตัวตนในการเข้ามาโหวต และจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมได้ และสร้างรัฐเปิดเผยที่มีข้อมูลที่โปร่งใสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบภาครัฐ และป้องกันการเกิดการทุจริตการคอรัปชันได้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นที่ต่างประเทศยังไม่เกิดขึ้นในไทย แม้ว่ารัฐบาลไทยยังไม่ดำเนินการ แต่ภาคประชาสังคม และพรรคก้าวไกลได้ขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในไทยโดยที่ไม่ต้องรอภาครัฐ เทคโนโลยีดิจิทัลไร้พรหมแดน และไม่มีใครสามารถหยุดยั้งคลื่นแห่งการทำลายล้างนี้ได้ การเมืองไทยจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
โอกาส และความท้าทายแห่งอนาคต
เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นทั้งโอกาส และเป็นความท้าทายต่อคุณค่า และหลักการของระบอบประชาธิปไตย จุดกำเนิดของประชาธิปไตยสมัยกรีกที่กรุงเอเธนส์นั้นเป็นประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนไปลงมติโดยตรงไม่มีผู้แทนอาจจะเหมาะสมกับเมืองที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก เมื่อเวลาผ่านไปประชาธิปไตยก็มีพัฒนาการตามสังคมมนุษย์ที่ซับซ้อนขึ้นจึงเกิดประชาธิปไตยทางอ้อมผ่านตัวแทนขึ้นให้ผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ออกกฎหมาย และลงมติแทนตนในรัฐสภา
ปัจจุบันมีแนวคิดใหม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นคือ Liquid Democracy หรือ ประชาธิปไตยแบบลื่นไหลที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาทั้ง Digital ID เพื่อยืนยันตัวตน และ Blockchain ที่สามารถตรวจสอบผลการลงมติได้ และมีความโปร่งใส ในอนาคตอาจจะไม่จำเป็นต้องมีผู้แทนราษฎรที่มีอายุเพียงแค่ 4 ปีมาทำหน้าที่แทนเรา แต่เราทุกคนสามารถเป็นผู้แทนของตัวเองในการใช้อำนาจรัฐได้
ตัวอย่างเช่น หากต้องลงมติในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ แต่เราไม่มีความรู้มากพอ และเราก็เชื่อมั่นในนักวิชาการที่เราสนับสนุน เราก็สามารถมอบเสียงของเราให้กับเขาไปลงมติแทนเราในรัฐสภาได้โดยที่เสียงของเราก็ยังไม่หายไปไหน เมื่อเราเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้จะช่วยลดข้อจำกัดของคนที่จะเข้ามามีบทบาทในการใช้อำนาจรัฐ ทำให้นักวิชาการ และผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ สามารถเข้ามาช่วยกันพัฒนาประทศได้ง่ายมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการตัดตัวกลางที่ทำหน้าที่ดังกล่าวออกไปทำให้เราประหยัดงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง และการดำเนินการในรัฐสภาไปได้เยอะมาก
ในอนาคตที่กำลังจะถึงเป็น’ ยุคแห่งการแทนที่’ เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาท้าทายหลักการประชาธิปไตย โครงการBRIAN Initiative ในสมัยประธานาธิบดี Barack Obama มีการศึกษาการทำงานสมองของมนุษย์ซึ่งเป็นพื้นฐานหนึ่งที่สำคัญทำให้เรามีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในปัจจุบันที่เป็นทั้งโอกาส และความ้ทาทายในเวลาเดียวกัน ทางสำนักข่าว BBC ได้รวบรวมข้อมูลอาชีพที่มีความเสี่ยงที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ในอีก 20 ปี เช่น อายุรแพทย์ ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์สามารถอ่านค่าจากตรวจเลือด เอกซเรย์ปลอดแล้ววินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ หรือเภสัชกร ในสหรัฐอเมริการ้านขายยาให้ปัญญาประดิษฐ์จ่ายยาให้ผู้ป่วยได้แล้ว หรือคนขับรกแท็กซี่ เป็นต้น
(เข้าไปดูข้อมูลได้ที่นี่ https://www.bbc.com/news/technology-34066941)
ในสหรัฐอเมริกาบางรัฐสาลเริ่มมีการใช้ระบบ Compas ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์เข้ามาพิจารณาคดี เพื่อพิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องหาซึ่งระบบจะดูว่าใครมีความเสี่ยงที่จะประพฤติผิดซ้ำหรือไม่ ระบบ Compas จะเอาประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหามาแสดงผลเป็นค่าคะแนนความเสี่ยงให้กับศาลในการพิจารณาคดี ถ้าความเสี่ยงสูงศาลอาจพิจารณาไม่ปล่อยตัว เพราะอาจไปกระทำความผิดซ้ำอีก หรือถ้ความเสี่ยงต่ำก็สามารถปล่อยตัวให้ไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติซึ่งเรื่องนี้ก็มีอคติที่เกิดขึ้นจากเครื่องจักร (Machine Bias) โดยเว็บไซต์ PRO PUBLICA เข้าไปเก็บข้อมูลดังกล่าวแล้วพบว่า การพิจารณาของระบบ Compas มีผลเสียต่อคนดำมากกว่าคนผิวขาว ระบบระบุความคนผิวดำมีความเสี่ยงที่จะกระทำผิดซ้ำ ทั้งที่คนผิวขาวมีอัตราการกระทำผิดซ้ำมากกว่าคนผิวดำ นี่เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขึ้นอยู่กับข้อมูลหรืออคติของคนที่เขียนโปรแกรมขึ้นมาด้วย
(เข้าไปดูได้ที่นี่ https://www.propublica.org/article/machine-bias-risk-assessments-in-criminal-sentencing)
เทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันมีบทบาทเข้ามาสอดส่อง และคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งเป็นความท้าทายต่อตัวหลักการประชาธิปไตยโดยตรง ในปี 2015 รัฐบาลจีนประกาศโครงการ China’s Social Credit System เข้ามาควบคุมประชาชนผ่านการให้คะแนนเครดิต เช่น เดินข้ามถนนไม่ใช้ทางม้าลาย ขับรถฝ่าไฟแดง หรือกระทั่งไม่กลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่บ้านจะมีการหักคะแนนทางสังคม หากถูกหักต่ำกว่าเกณฑ์ที่รัฐกำหนดจะมีบทลงโทษคล้ายๆ กับสังคมในวรรณกรรม 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ที่มีกระทรวงทำหน้าที่สอดส่องประชาชนทุกหนแห่ง
การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลหากใช้ไปในทางเพื่อสร้างความเข้มแข็งของประชาชน สร้างความโปร่งใสในการใช้อำนาจรัฐก็ต้องเป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย หากผู้มีอำนาจในสังคมใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ไปเพื่อควบคุมประชาชนก็จะเป็นการคุกคาม และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และบั่นทอนคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยด้วยเช่นเดียวกัน
คุณสามารถรับฟังการบรรยายย้อนหลังในหัวข้อ “เมื่อเทคโนโลยี Disrupt การเมืองไทย” ได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=g_lUcS3DV8c