(1)
ผมจำได้แม่น วินาทีที่ผมเห็นคำพูดหนึ่งที่มีชื่อของ Jean-Paul Sartre กำกับอยู่ เข้าใจว่าถูกดึงมาจากเล่ม Nausea เนื้อหาประมาณว่า เขาไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าแท้จริงแล้วโฉมหน้าของตัวเอง ‘งดงาม’ หรือ ‘อัปลักษณ์’ และแม้เขาจะถูกพร่ำบอกซ้ำๆ ว่า หน้าเขามันอัปลักษณ์เพียงใด เขาก็ไม่ได้สะทกสะท้านเท่าไรนัก ตรงกันข้าม คำคุณลักษณ์ที่ถูกมอบให้กลับพาเขาไปค้นพบความโอหังของมนุษย์ ที่ถือวิสาสะประเมินความงามของสรรพสิ่ง ทั้งๆ ที่ก้อนเมฆที่เป็นปุยอยู่บนฟ้า หรือหินกรวดที่เรียงรายอยู่ตามพื้น ไม่เคยมีองค์ประกอบด้านความงามอยู่ในตัวมันเองเลย
ผมจำได้แม่น ครั้งที่อ่านคำอธิบายนี้จบ ผมตัดสินทันทีเลยว่า Sartre ค้นพบคำอธิบายนี้ได้เพราะมันเป็นสิ่งที่พาเขาออกจากความขี้เหร่ที่ถูกแขวนอยู่บนใบหน้าของเขา (Sartre รู้ข้อเท็จจริงนี้ดีจึงหันไปเอาดีด้านคารมและการเขียน)
แต่นี่ก็เป็นเพียงแค่ข้อสันนิษฐานตลกๆ ที่ผมเก็บไว้เล่าให้มิตรสหายฟัง
จริงๆ แล้ว มันยังมีด้านทางความคิดที่ผมระลึกได้มากจากการได้อ่านมัน นั่นคือ ภาษาเป็นสิ่งประกอบสร้าง ภาษาเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนและทำความรู้จัก พูดง่ายๆ คำพูดของ Sartre มันทำให้ผมเข้าใจคำว่า ‘Social constructivism’ ได้ถ่องแท้ขึ้น
สำหรับผม Social constructivism คือสิ่งที่ปรากฏชัดผ่านเรื่องราวใน นวนิยาย ‘เพื่อนคนเก่ง’ ของ Elena Ferrante
(2)
หากให้ประเมินคร่าวๆ 50 หน้าแรกคือระยะทางที่ผมจะบอกกับตัวเองได้ว่าควรไปต่อหรือหยุดพอแค่นี้
นวนิยายเล่มนี้ดึงผมไว้ได้ตั้งแต่หน้าอารัมภท ชื่อ ‘ลบร่องรอย’ ผมจำได้แม่นว่า เมื่อพลิกหน้าสุดท้ายของบทนี้ การเดินทางเข้าเนื้อเรื่องต่อไม่ใช่สิ่งแรกที่ผมทำ กลับเป็นการเดินไปเล่าให้มิตรสหายที่อยู่ใกล้ๆ 2-3 คนฟังว่ามันประเสริฐมากแค่ไหน ก่อนกลับไปเดินหน้าเข้าสู่เนื้อเรื่องหลักต่อ
เนื้อเรื่องหลักคือการเล่าถึงอดีต ระหว่างเด็กสาวสองคน เลนู และ ลิลา เลนูรับบทเป็นผู้บรรยายเรื่องราวทั้งหมด โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ ลิลา เพื่อนรักของเธอ
ควรทดข้อมูลที่เลนูให้ไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่า ลิลา เป็นชื่อที่มีเลนูเรียกเพียงคนเดียว มันบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเพื่อนคนนี้ว่าพิเศษมากเกินกว่าคนอื่น
“ใครๆ มักเรียก ลีนา แต่ฉันไม่ ฉันไม่เรียกทั้งชื่อแรกและชื่อหลัง กว่าหกสิบปีมาแล้วที่สำหรับฉัน เธอคือ ลิลา หากจู่ๆ ฉันเกิดเรียกเธอว่า ลีนา หรือ รัฟฟาแอลลา เธอคงคิดว่ามิตรภาพของเราจบสิ้นแล้ว”(น.14)
คงไม่ต้องอธิบายมากว่า การที่ผู้อ่านได้รู้จักเพื่อนของเลนูคนนี้ ผ่านชื่อเรียก ลิลา เป็นอภิสิทธิ์มากเพียงใด
(3)
หากจะต้องจัดประเภท ‘coming of age’ คือคำที่ใช้เรียกนวนิยายเล่มนี้ มันแสดงถึงเส้นทางการเติบโตจนสุดขอบทั้งทางกายและความคิดของตัวละคร
บางท่อนมันเติบโตไปในทางที่คนซึ่งมีความอดทนต่อเรื่องไร้แก่นสารเท่ากับศูนย์อย่างผม อยากจะเลิกๆ อ่านไปเสีย ตัวอย่างของเรื่องที่ว่าก็เช่น คนนั้นมีแฟนแล้วแต่ฉันยังไม่มี ทำไมฉันถึงฉลาดไม่ได้เท่าหล่อนกันนะ หรือฉันอิจฉาหล่อน หล่อนอิจฉาฉัน แน่นอน ความรู้สึกพวกนี้เกิดขึ้นเป็นเพราะผมไม่ได้เติบโตมาแบบนี้ แถมยังรำคาญแบบเข้าเส้นเลย
สิ่งที่เข็นให้ผมอ่านต่อ แถมยังสนุกไปกับมัน คือตอนที่ตัวละครเริ่มค้นพบ ‘ความหมาย’ ของทั้งคำที่รู้จักอยู่แล้วเดิม และเพิ่งได้ยินรู้จักใหม่
ที่มีผลแรงที่สุด คือเมื่อตัวละครเด็กๆ ตะโกนด่ากันไปมา จนนำความสงสัยมาสู่ตัวละครใฝ่รู้อย่างลิลา
“พวกนาซี-ฟาสซิสต์เป็นใครเหรอ ปัสกา พวกนิยมกษัตริย์เป็นใคร แล้วตลาดมืดคืออะไร”(น.139)
ผมทึกทักเอาเองว่า หากใครสักคนเริ่มสงสัยในความหมายของคำเหล่านี้แล้ว ไม่มากก็น้อย ชีวิตเขาจะไม่มีทางดำเนินไปในทิศทางเดิม
นวนิยายไม่ได้ให้คำตอบว่าความหมายของคำพวกนี้คืออะไร แต่ยังมีการใช้ซ้ำอยู่บ้าง เช่นเมื่อครั้งที่เลนูเขียนถึง ‘เมืองที่ปราศจากความรัก’
…อาจารย์ถามฉันว่า:
“เธอคิดว่า ‘เมืองที่ปราศจากความรัก’ หมายความว่าอะไร”
“ประชาชนที่ขาดความสุขค่ะ”
“ยกตัวอย่างมาซักอันซิ”
“อิตาลีภายใต้ระบอบฟาสซิสต์ เยอรมนีภายใต้ระบอบนาซี มนุษย์ทุกคนบนโลกในทุกวันนี้”(น.172)
(4)
ภาษาถิ่น ภาษากรีก ภาษากลาง คนดี คนเหี้ย ความรู้ ความรัก ความตาย ฯลฯ การทำให้เห็นว่าเด็กหญิง (2 คน) เรียนรู้และค้นพบคำและความเหล่านั้นอย่างไร คือสิ่งที่นวนิยายจะมอบให้ผู้อ่าน
มันเป็นนวนิยายที่ทำให้เห็นว่า สำหรับคนๆ หนึ่ง คำว่า ‘เพื่อน’ ‘คน’ และ ‘ความเก่ง’ มีความหมายว่าอย่างไร
หมายเหตุ: สามารถยืมหนังสือเล่มนี้ได้ฟรีในโครงการอ่านเปลี่ยนโลก https://form.jotform.com/221880458508462