ภายหลังการลุกขึ้นสู้ของมวลนักศึกษาประชาชนนับล้านคนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและผู้สืบทอดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องลาออกจากจากตำแหน่ง ในคืนวันเดียวกับที่ประชาชนนับล้านทั่วประเทศบอกว่าพอกันทีกับระบอบ 3 ทรราช ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้แต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี ขึ้นมาเป็น “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน”

ถึงแม้ว่า 3 ทรราชคือ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร จะออกไปแล้วก็ตาม แต่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ยังอยู่

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีประเด็นปัญหาของการแต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ เกิดขึ้น คือประเด็นที่ว่าใครจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ? ให้สอดรับตามหลักการ The king can do no wrong, because the king can do nothing ที่กษัตริย์จะมีคำสั่งใดๆ โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จะกระทำไม่ได้ ผิดหลักการประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ในเวลานั้นมีแต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยจอมพลถนอม กิตติขจร หรือ “สภาตรายาง” ยังอยู่  คนรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีก็คือรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยจอมพลถนอม กิตติขจรและเมื่อรัฐบาลสัญญาธรรมศักดิ์ ต้องแถลงนโยบายในวันที่ 24 ตุลาคม 2516 ก็ต้องแถลงนโยบายกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ด้วย

จึงเกิดเป็นประเด็นคำถามและข้อถกเถียงในสังคมเมื่อประชาชนสามารถไล่ 3 ทรราช ออกไปได้แล้วแต่ทำไมกลไกของ 3 ทรราช ยังอยู่ครบ หรือ 3 ทรราชคือกระเบื้อง 3 แผ่นที่หลุดออกจากหลังคาแต่ฐานรากยังมีอยู่

ตอนนั้นจึงเกิดกระแสเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว และกระแสไล่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดปี 2515 ที่แต่งตั้งโดยจอมพลถนอมนั้นให้ออกไปเสียที ดังขึ้นในสังคมไทยเป็นอย่างมาก

ส่งผลให้ในวันที่ 22 ตุลาคม 2516 ไพจิตร เอื้อทวีกุลคือ สมาชิกสภานิติบัญญัติชุดที่จอมพลถนอมตั้ง ลาออกจากแหน่งคนแรก หลังจากนั้น สนช. ชุดปี 2515 ก็ทยอยลาออกแต่ยังไม่มากเท่าที่ควร ก็ยิ่งทำให้ประชาชนโกรธแค้นมากขึ้น

แต่หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2516 ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ 2,347 คน หรือเรียกกันว่าสภาสนามม้า เพื่อให้ทั้ง 2,347 คน ไปเลือกมากันเองว่าใครจะได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่ที่จะเหลืออยู่แค่ 299 คน ซึ่งในขณะนั้นก็ได้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ปัญญาชน และต่อมาในในภายหลัง การแต่งตั้งสภาสนามม้าก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าในช่วงแรกของการประกาศแต่งตั้ง ไม่ปรากฏว่ามีการอ้างกฎหมายมาตราใด ซึ่งไม่สอดคล้องกับระบอบใหม่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น ส่งผลทำให้สมาชิกสภานิติบัญญัติชุดที่จอมพลถนอมแต่งตั้งขึ้น จึงได้มีการทยอยลาออกเกิดขึ้น คือในวันที่ 11 ธันวาคม 2516 จำนวน 185 คน วันที่ 12 ธันวาคม 2516 จำนวน 61 คน วันที่ 13 ธันวาคม 2516 จำนวน 13 คน และวันที่ 14 ธันวาคม 2516 จำนวน 10 คน รวมที่ลาออกทั้งหมด 288 คน จนกระทั่งเหลือ 11 คนสุดท้ายที่ยังไม่ลาออกคือ

  • 1.พล.ท.กานต์ รัตนวราหะ
  • 2.พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร
  • 3.พล.ท.เต็ม หอมเศรษฐี
  • 4.พล.อ.ธงเจิม ศังขวณิช
  • 5.บุศย์ อุดมวิทย์ พงษ์นุ่มกูล
  • 6.พล.ต.ประณต โพธิทัต
  • 7.ประสิทธิ์ อุไรรัตน์
  • 8.พรหม สูตรสุคนธ์
  • 9.มยูร วิเศษกุล
  • 10.เสนาะ อุนากูล
  • 11.พล.ต.ต.สง่า กิตติขจร

ส่งผลทำให้หลังจากนั้นคือวันที่ 16 ธันวาคม 2516 ก็มีพระราชกฎษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่แต่งตั้งโดยจอมพลถนอม ขึ้นโดยมีสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นการเปลี่ยนผ่านแบบที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทยและยังเป็นความท้าทายของระบอบใหม่หลังการปฏิวัติ 2475 ด้วย

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด