Summary
1.ปรากฎการณ์ “อาหรับสปริง” ที่มาถึงประเทศอียิปต์ในปี2011 นําาไปสู่การโค่นล้มเผด็จการฮอสนีย์ มูบารัค ที่ครองอําานาจกว่า 30 ปีได้สําาเร็จ แต่เนื่องจากขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนประกาศชัยชนะเร็วเกินไป ไว้ใจกองทัพมากเกินไป และเกิดความแตกแยกระหว่างกลุ่มภราดรภาพมุสลิมและกลุ่มที่ต้องการแยกรัฐออกจากศาสนา กองทัพจึงฉวยโอกาสก่อรัฐประหารอีกครั้งในปี2013
2.ภายใต้ความสิ้นหวังเนื่องจากประชาชนถูกเข่นฆ่าและคุกคาม ผู้หญิงกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งพยายามจุดประกายความหวังในสังคมขึ้นมาอีกครั้งด้วยการจัดกิจกรรมต้นทุนไม่แพงที่ชื่อว่า ใครกันจะไปยอมรับ (Who would accept?)แม้จะไม่ได้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตรงๆ แต่ปฏิบัติการนี้ก็ช่วยทําาให้ประชาชนกลับมาพูดถึงปัญหาในสังคมและการเมืองของประเทศตัวเองได้มากขึ้นอีกครั้ง และช่วยส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในสังคมอียิปต์ ที่ผู้หญิงถูกกดขี่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้อย่างทรงพลังด้วย
ความท้าทายของการปฏิวัติอียิปต์
ในปี 2011 ประเทศอียิปต์เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากการลุกฮือของประชาชนในโลกอาหรับ หรือที่รู้จักกันดีเรียกว่า “อาหรับสปริง” ขบวนการประชาชนของอียิปต์นำไปสู่การขับไล่ฮอสนีย์ มูบารัค ประธานาธิบดีเผด็จการที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานเป็นเวลากว่า 30 ปี อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงในอียิปต์เรียกได้ยากว่าเป็นการปฏิวัติที่สำเร็จหรือไม่ การประท้วงใหญ่ในปี 2011 นำไปสู่การยึดอำนาจของกองทัพเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว และถึงแม้จะมีการจัดเลือกตั้งในปีต่อมา รัฐบาลจากการเลือกตั้งของมูฮัมหมัด มุรซี แห่งกลุ่มภราดรภาพมุสลิมก็ถูกกองทัพรัฐประหารหลังอยู่ในอำนาจได้เพียง 1 ปี รัฐใช้ความรุนแรงในการจับกุม ทารุณ และปราบปรามผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองหลายหมื่นคน สร้างความหวาดกลัวเพื่อปกครองประชาชนอย่างมาก
สาเหตุที่การปฏิวัติอียิปต์ไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย เป็นเพราะปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการ ปัจจัยประการแรกคือขบวนการภาคประชาชนที่ประกาศชัยชนะเร็วเกินไป ในปี 2011 มีการประท้วงใหญ่และมีผู้เข้าร่วมหลายล้านคน กองทัพอียิปต์ในขณะนั้นรู้ดีว่าไม่สามารถต้านทานพลังของประชาชนได้ กองทัพอียิปต์พยายามรักษาอำนาจของตัวเองไว้ด้วยการยึดอำนาจจากประธานาธิบดีฮอสนีย์ มูบารัค และจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวพร้อมสัญญาว่าจะจัดเลือกตั้งภายใน 1 ปี เนื่องจากไว้ใจกองทัพมากเกินไป ประชาชนจึงเฉลิมฉลองชัยชนะอย่างเกรียวกราวท่ามกลางรถถังที่ออกมาวิ่งตามท้องถนน โดยไม่รู้เลยว่ารถถังเหล่านี้จะถูกนำใช้ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในภายหลังเช่นกัน
เมื่อประกาศชัยชนะเร็วเกินไป การปฏิรูปกองทัพและการปูรากฐานไปสู่ระบอบประชาธิปไตยจึงไม่ถูกพูดถึงเท่าที่ควรหลังโค่นล้มเผด็จการได้สำเร็จ กองทัพที่ยังมีอำนาจทางการเมืองอยู่เข้าไปมีอิทธิพลในการแต่งตั้งองค์กรอิสระเพื่อขัดขวางการทำงานของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ และต่อมาได้ทำการยึดอำนาจเพื่อพาอียิปต์เข้าสู่ระบอบเผด็จการอีกครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นในอียิปต์ทำให้เห็นแล้วว่าการโค่นล้มเผด็จการเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น หลังโค่นล้มเผด็จการแล้ว ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนยังมีภารกิจอีกมากในการปูรากฐานสู่ระบอบประชาธิปไตย แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่โค่นล้มเผด็จการได้สำเร็จ แต่หากประกาศชัยชนะและฝากสังคมไว้กับคนอื่นเร็วเกินไป สังคมก็อาจหวนกลับไปสู่ระบอบเผด็จการได้อีกครั้ง
ปัจจัยต่อมาคือเอกภาพในขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชน หลังโค่นล้มฮอสนีย์ มูบารัค ได้สำเร็จ ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกคือกลุ่มขบวนการนักศึกษา และพลเรือนที่ต้องการแยกรัฐออกจากศาสนา หรือเรียกอีกอย่างว่าฆราวาสนิยม (secularism) อีกฝ่ายคือกลุ่มภราดรภาพมุสลิมนำโดยประธานาธิบดีมูฮัมหมัด มุรซี ที่ด้านหนึ่งพยายามรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ประธานาธิบดีเพื่อคานอำนาจกับกองทัพ อีกด้านหนึ่งก็ดำเนินนโยบายทางสังคมแบบอนุรักษ์นิยมและล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ลักษณะทั้งสองด้านของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมสร้างความหวาดระแวงให้แก่กลุ่มนักศึกษาและพลเรือนที่ต้องการแยกรัฐออกจากศาสนา ด้วยการกล่าวหาว่ารัฐบาลของมุรซีโกงเลือกตั้ง จับมือกับขบวนการนักศึกษาและพลเรือนที่ไม่พอใจรัฐบาลของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม สุดท้ายแล้วกองทัพใช้ประโยชน์จากความแตกแยกในขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนได้สำเร็จ และนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งในปี 2013
ภายใต้ระบอบเผด็จการ การสร้างเอกภาพภายในขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่า เพราะทุกคนมีศัตรูร่วมกันอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม การรักษาเอกภาพไว้เป็นเรื่องยากขึ้นหลังโค่นล้มเผด็จการได้สำเร็จ คาร์ล ชมิท (Carl Schmitt) นักคิดทางการเมืองเคยกล่าวไว้ว่าการแบ่งแยกระหว่างมิตรและศัตรูเป็นคุณลักษณะอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในสนามการเมือง อย่างไรก็ตาม หากไม่แยกแยะให้ดีว่าใครเป็นมิตรหรือศัตรู การตัดสินใจที่ผิดพลาดอาจนำไปสู่หายนะทางการเมืองได้เช่นกัน การระลึกอยู่เสมอว่าใครคือศัตรูที่แท้จริงจึงมีความสำคัญอย่างมาก หากเคยดูหรืออ่าน The Hunger Games อันเป็นที่มาของสัญลักษณ์การชูสามนิ้ว ท่านผู้อ่านคงคุ้นเคยกับคำกล่าวว่า “remember who is real enemy is” ไม่มากก็น้อย ในที่นี้ ศัตรูที่แท้จริงคือระบอบเผด็จการที่แทรกซึมอยู่ในสถาบันต่างๆ ของสังคมและชุดความคิดต่างๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ถึงที่สุดแล้ว การเอาชนะระบอบเผด็จการจะสำเร็จได้ ขบวนการเคลื่อนไหวประชาชนจะต้องปฏิเสธที่จะจับมือกับสถาบันที่เป็นมรดกตกทอดของระบอบเผด็จการเพื่อเอาชนะกันในทางการเมืองเพียงระยะสั้น และให้ความสำคัญกับการทำงานทางความคิดเพื่อผลักวาระที่ก้าวหน้า
เริ่มใหม่อีกครั้ง
ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการในอียิปต์ การพูดถึงเรื่องการเมืองอย่างตรงไปตรงมากลายเป็นเรื่องอันตรายและเป็นเรื่องต้องห้าม การพูดถึงการเมืองควรเป็นเรื่องปกติ แต่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องผิดธรรมชาติในระบอบเผด็จการ เมื่อการเมืองไม่ถูกตั้งคำถาม การเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงรากเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย ขั้นแรกของการรื้อฟื้นความหวังของการปฏิวัติกลับคืนมาคือการทำให้การเมืองเป็นสิ่งที่พูดคุยอภิปรายได้ผ่านชุดอุดมการณ์ที่หลากหลาย
ท่ามกลางบรรยากาศความกลัวที่การพูดถึงผู้มีอำนาจและการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองกลายเป็นเรื่องต้องห้ามและอันตรายนั้นอาสมา อะโบยูซัฟ (Asmaa Aboyousuf) ซึ่งขณะนั้นเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองชาวอียิปต์ (ปัจจุบันเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และบทบาทของสตรีในความขัดแย้ง) ได้รวมตัวกับเพื่อนๆ ผู้หญิงประมาณ 10 คน และตั้งกลุ่มขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า ขบวนการปลดแอก 30 มิถุนายน (Free June 30 Movement) ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันรับตำแหน่งของมูฮัมหมัด มุรซี ที่ถูกโค่นล้มโดยคณะรัฐประหารในเวลาต่อมา แม้รัฐบาลของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมจะสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มที่ต้องการแยกรัฐออกจากศาสนาและผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาได้รับความไว้วางใจจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศผ่านการเลือกตั้ง และตกเป็นเหยื่อของกองทัพและองค์กรอิสระต่างๆ ที่ขัดขวางการทำงานของรัฐบาล ก่อนจะถูกรัฐประหารในปี 2013
เพื่อรื้อฟื้นความหวังของการเปลี่ยนแปลงสังคมกลับมาอีกครั้ง อโบยูซัฟและกลุ่ม ขบวนการปลดแอก 30 มิถุนายน ได้จัดการรณรงค์ ใครกันจะยอมรับ (who would accept)? ขึ้น เพื่อพูดถึงเรื่องการเมืองแบบอ้อมๆ ผ่านปัญหาทางสังคมต่างๆ และจุดประกายให้คนตัวเล็กในสังคมกล้าออกมาพูดในพื้นที่สาธารณะเกี่ยวกับความต้องการพื้นฐานของตนเอง แคมเปญนี้เป็นการปฏิบัติการไร้ความรุนแรง พวกเธอเริ่มต้นด้วยการออกมาชูป้ายกระดาษขนาดใหญ่ตามท้องถนนตามสี่แยกไฟแดงสัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาที่พวกเราเผชิญร่วมกันอยู่
ป้ายกระดาษนั้นเป็นอุปกรณ์ที่ทำได้ด้วยตัวเองใช้ต้นทุนต่ำ มีปากกากับกระดาษก็สามารถเขียนสร้างสรรค์ข้อความออกมาได้แล้ว ทั้งนี้ป้ายมีความสะดวกในการพกพาเพียงแค่ม้วนเก็บไว้ในกระเป๋า ไม่เพียงแค่สะดวกเฉพาะเวลาที่จะเอาออกไปยืนชูเท่านั้น แต่ยังสะดวกเก็บด้วยเวลามีเจ้าหน้าที่เข้ามาไล่อีกด้วย พวกเธอถือป้ายกระดาษที่พวกเธอถือนั้นมีข้อความว่า “#ใครกันจะยอมรับ_ (Who would accept_?)” ตามด้วยข้อความที่แสดงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เช่น แก๊สราคาแพง ขยะเรี่ยราด ไฟดับ น้ำขาดแคลน และการตกงาน เป็นต้น
ป้ายประท้วงของพวกเธอทำให้ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาสะดุดตาและหันมาอ่านข้อความของพวกเธอ กลยุทธ์แบบนี้เรียกว่าแอคชั่นสร้างการมองเห็น (visibility action) หลังเริ่มรณรงค์ไปสักพักคนส่วนใหญ่ในสังคมเริ่มเห็นถึงความพยายาม และความกล้าหาญของพวกเธอ บางคนเดินเข้ามาขอบคุณให้กำลังใจโดยกล่าวว่า “ขอพระอัลเลาะห์ประทานพรแก่ท่านด้วย” มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่โกรธในสิ่งที่พวกเธอทำ แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่พวกเธอเข้าใจและเตรียมใจไว้แล้ว เพราะสื่อมวลชนในขณะนั้นมักข่าวโจมตีนักกิจกรรมทางการเมืองว่าเป็นพวกรับใช้ชาวต่างชาติ เช่น อเมริกา ตุรกี และการ์ตา
ปฏิบัติการ “#ใครกันจะยอมรับ_ (Who would accept_?)” สิ้นสุดลงเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มเข้ามาคุกคามในช่วงเช้าของวันหนึ่ง ทำให้พวกเธอต้องหลบหนีไป อะโบยูซัฟตั้งข้อสังเกตว่ากลยุทธ์นี้ได้ผลเนื่องจากไม่ได้พูดเรื่องการเมืองตรงๆ แต่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างอ้อมๆ ได้ แต่เมื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของกลุ่มเริ่มแสดงออกมาชัดเจนและตกเป็นเป้าสายตาของตำรวจมากขึ้นจนนำไปสู่การปราบปราม ปฏิบัติการเช่นนี้นับว่าถึงขีดจำกัดแล้ว อะโบยูซัฟเสนอให้เราปรับตัวและเปลี่ยนวิธีการใหม่ที่สร้างสรรค์ต่อไป โดยรักษาความกล้าหาญและความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นต่อไปอย่างไม่ลดละ ปฏิบัติการเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการปูทางไปสู่การยกระดับบทสนทนาทางการเมืองอย่างจริงจังในพื้นที่สาธารณะได้ในอนาคต
แม้การทำงานรณรงค์ของอะโบยูซัฟและเพื่อนๆ จะต้องยุติลง แต่แคมเปญนี้เป็นปรากฎการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในสังคมอียิปต์ (หรืออาจจะรวมถึงสังคมในประเทศแถบตะวันออกกลางทั้งหมดด้วย) กล่าวคือ เป็นการที่ผู้หญิงออกมาประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อผู้มีอำนาจในพื้นที่สาธารณะ แม้อียิปต์จะใช้กฏหมายปกครองสากลเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ไม่ได้ใช้กฎหมายชะรีอะฮ์เหมือนประเทศซาอุดีอาราเบีย หรืออิหร่าน แต่ในทางปฏิบัติแล้วสังคมอียิปต์ก็ยังถือว่าเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงถูกจำกัดสิทธิให้อยู่เพียงในบ้าน การออกมาครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่รวมถึงแสดงให้เห็นพลังของผู้หญิงกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ในสังคมด้วย
แคมเปญนี้ทำให้ผู้คนในอียิปต์ตระหนักและพูดถึงปัญหาปากท้องในที่สาธารณะมากขึ้น และทำให้เห็นว่ารัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจนั้นไร้ประสิทธิภาพในการบริหารอย่างไร พวกเธอทำให้การเคลื่อนไหวภายใต้การปกครองของผู้นำเผด็จการเป็นไปได้และเป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อไม่ให้สังคมสิ้นหวังและยอมจำนนต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ นี่คือพลังของประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยผู้เป็นเจ้าของประเทศที่สร้างการเปลี่ยนแปลง โดยหวังว่าจะทำให้สังคมที่พวกเธออยู่ดีกว่านี้ได้ ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในอียิปต์ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากในการต่อสู้ทางความคิดและผลึกกำลังประชาชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดี่ยวกันอีกครั้ง แต่จุดเริ่มต้นของเส้นทางอันยาวไกลก็เริ่มมาจากก้าวเล็กๆ ของสามัญชนนั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิง
- Asmaa Aboyousuf, Who would accept?, Beautiful Trouble (accessed 12 August 2020)
- Srdja Popovic and Matthew Miller, Blueprint for Revolution: How to Use Rice Pudding, Lego Men, and Other Nonviolent Techniques to Galvanize Communities, Overthrow Dictators, or Simply Change the World, The United States, 2015; Spigel & Grau Trade