ทหาร มีผลกระทบสำคัญต่อสังคมและการเมืองไทยตลอดมาในหลากหลายมิติ ยิ่งเมื่อถึงวงล้อช่วงสิ้นปีงบประมาณเก่า ก้าวขึ้นสู่ปีงบประมาณใหม่ กองทัพมักจะได้รับความสนใจจากสังคมในวงกว้างอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายแม่ทัพนายกอง หรือ ประเด็นเรื่องงบประมาณที่กองทัพได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลสูงเป็นหน่วยงานต้นๆ ของประเทศ
แต่นั่นไม่ได้เป็นเพราะประเทศไทยมีศึกสงครามหรือศัตรูจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา หากเป็นเพราะทหารเข้ามาอยู่ในปริมณฑลทางการเมือง และมีศักยภาพที่จะล้มรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับเลือกมาจากเสียงของประชาชน
ตลอดการเดินทางของประชาธิปไตยไทย ทหารเป็นผู้เล่นสำคัญที่คอยตัดตอนการเมืองผ่านการรัฐประหารอยู่เสมอ แต่ไหนแต่ไรเราก็มักจะเห็นภาพการสัมภาษณ์ทหารยศใหญ่เกี่ยวกับความเห็นทางการเมือง ทั้งๆ ที่สถาบันทหาร หรือทหารอาชีพไม่ควรจะมีบทบาทอะไรในงานบริหารของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเลย
ชื่อของกลุ่มทหารอย่างวงศ์เทวัญ บูรพาพยัคฆ์ หรือแม้แต่กลุ่มอดีตนักเรียน จปร. รุ่นต่างๆ ที่ผนึกรวมพลังกัน แม้จะมีบทบาทมากน้อยแตกต่างกันไป แต่กลุ่มทหารเหล่านี้ก็มักจะถูกพูดถึงในฐานะตัวแปรทางการเมืองเสมอ แต่ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้นายทหารสักคน หรือ กลุ่มทหารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดดเด่นในบทบาททางการเมืองขึ้นมา รักษาอำนาจ หรือยืนระยะอยู่ได้ในอำนาจ มักเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการมีพลังสนับสนุน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งพลังสนับสนุนที่สำคัญมาเสมอในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ของขุนศึก หรือเหล่าทหารหาญก็คือ ศักดินา
บางช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ขุนศึกก็คือผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันศักดินาให้ก้าวขึ้นมามีบทบาท บางช่วงเวลาศักดินาก็ช่วยสนับสนุนขุนศึกให้สามารถดำรงฐานะต่อไปได้ แน่นอนว่าความสัมพันธ์ระหว่าง ขุนศึก และศักดินา มีพลวัตไม่หยุดนิ่ง ตามแต่บริบททางการเมือง สังคม เศรษฐกิจของสังคมไทย รวมถึงบริบทของสังคมโลกด้วย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสองฝ่ายเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญต่อกัน
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ได้มีงานศึกษาบทบาทและการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของชนชั้นนำไทย ขึ้นมามีอำนาจนำ เช่น หนังสือ ‘กว่าจะครองอำนาจนำ’ ของอาสา คำภา โดยการศึกษาข้อมูลทำนองนี้ก็พบว่า เครือข่ายแวดล้อมของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีส่วนสำคัญต่อการขึ้นมามีอำนาจนำ ของพระองค์ เป็นเครือข่ายซับซ้อนและขยายกว้างใหญ่ ครอบคลุมไปถึงคนจำนวนมาก เกษียร เตชะพีระ เรียกกลุ่มก้อนเหล่านี้ว่า “เครือข่ายในหลวง” ซึ่งภายในเครือข่ายประกอบไปด้วย ข้าราชการสายวัง ตำรวจสายวัง ทหารสายวัง ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่เราต้องทำความเข้าใจและศึกษา “ทหารสายวัง” ในฐานะองค์ประกอบที่สำคัญและมีบทบาทสูงกลุ่มหนึ่งของ “เครือข่ายในหลวง” เพื่อทำความเข้าใจชนชั้นนำไทย ที่มีส่วนกำหนดความเป็นไปของสังคมการเมืองไทยมาเสมอ
แม้ว่าจะเปลี่ยนรัชสมัยแล้ว แต่ทหารสายวังก็ยังเป็นกลุ่มที่มีบทบาทและมีพลังในรัชสมัยใหม่ ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง และดูจะยิ่งเป็นกลุ่มก้อนที่มีบทบาทเด่นชัดมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะบุคคลที่ใกล้ชิดแวดล้อมพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ล้วนแล้วแต่เป็นนายทหารหรืออดีตนายทหารแทบทั้งหมด
ยิ่งไปกว่านั้น บทบาทของกองทัพในฐานะที่ควรจะดำเนินไป ในโลกสมัยใหม่บนหลักการประชาธิปไตยคือเป็น ‘กองทัพของประชาชน’ แต่กลับกลายเป็นว่ากองทัพไทยมักถูกประชาชนตั้งคำถามมาโดยตลอดเพราะกองทัพไทยก็ยังไม่เคยเป็น ‘กองทัพของประชาชน’ ได้เสียที กลายเป็นข้อถกเถียงสาธารณะ ตั้งแต่คำถามที่ว่า กองทัพมีไว้ทำไม เหตุใดการแต่งตั้งแม่ทัพนายกองถึงได้รับความสนใจอยู่เสมอ งบประมาณที่สูงลิ่วเกินกว่าหน่วยงานอื่นๆ ในประเทศ ไปจนถึงการล้มรัฐบาลพลเรือนผ่านรัฐประหาร ทั้งๆ ที่ผ่านมาจนศตวรรษที่ 21 แล้ว เหตุใดจึงยังเป็นเช่นนั้นอยู่ คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ควรค่าแก่การหาคำตอบอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายทหารสายวังที่มีบทบาทสูงในช่วงหลังและมีแนวโน้มจะมีบทบาทสูงในการเมืองไทยปัจจุบันและในอนาคตด้วยนั้น พบว่า ประกอบไปด้วย 2 เครือข่ายในสองรัชสมัย ประกอบด้วย ทหารเสือพระราชินี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 และทหารคอแดง ในรัชสมัยรัชกาลที่ 10
ก่อกำเนิด “ทหารเสือราชินี”
หลักสูตรทหารเสือของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (พระราชินีในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9) เป็นหลักสูตรทางทหารพิเศษ ใช้ครูฝึกของหน่วยทำการฝึกเป็นหลัก โดยกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ได้รับอนุมัติจากกองทัพบก ให้ดำเนินการฝึกหลักสูตรทหารเสือ เพื่อเป็นการสนองในพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์ผู้บังคับการพิเศษของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้กำลังพลของหน่วยได้รับการฝึกพิเศษเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ทุกรูปแบบทุกสภาพ ภูมิประเทศ มีจิตใจกล้าหาญ ซื่อสัตย์ และมีความจงรักภักดี ซึ่งได้ดำเนินการฝึกมาตั้งแต่ปี 2524 นายทหารที่เป็นผู้ก่อตั้งหลักสูตรทหารเสือ คือ พันโทณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช อดีตผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ โดยเป็นผู้อำนวยการฝึกคนแรกด้วย
แต่เดิม หลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้เข้าฝึกคือ ต้องเป็นกำลังพลนายทหารสัญญาบัตรและนายทหารประทวน ที่รับราชการ อยู่ในหน่วย ของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ โดยผ่านการทดสอบร่างกาย การสัมภาษณ์ และตรวจโรค สำหรับการจัดกำลังเข้ารับการฝึก ภายหลังเปิดให้หน่วยขึ้นตรงของกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เข้ามาฝึก ได้แก่ กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ รวมถึงนายทหาร นายตำรวจ และกำลังพลจากหน่วยอื่นเข้ามาฝึกแต่ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยต้นสังกัด หลักสูตรทหารเสือดำเนินการฝึก 2 ปี ต่อ 1 รุ่น ระยะเวลาในการฝึกทั้งสิ้น 16 สัปดาห์1
ในหนังสือ เส้นทางพยัคฆ์ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากทหารเสือ สู่หลังเสือ ของวาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหาร ได้เขียนเล่าการก่อกำเนิดทหารเสือราชินีไว้ว่า ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเมื่อครั้นทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งให้ พันโทณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช และ พลเอกอาชวินทร์ เศวตรเศรณี ไปหากำลังทหารมาอารักขา เพราะในเวลานั้นหวั่นเกรงกันเรื่องภัยคอมมิวนิสต์ พันโทณรงค์เดชทำหน้าที่ไปพูดคุยกับนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ไม่นานนัก นักเรียนนายร้อยนับร้อยๆ คนก็ยินดีอาสาถวายอารักขา เล่ากันว่าในจำนวนนี้มีนักเรียนนายร้อย ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมอยู่ด้วย หลังวิกฤติคลี่คลาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ จึงทรงมีรับสั่งให้ พันโทณรงค์เดช จัดตั้งทหารเสือราชินีขึ้นมา ซึ่งพันโทณรงค์เดช ยังได้ดึง ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะนั้นเป็น รอง ผบ.21 พัน 2 รอ. และอนุพงษ์ เผ่าจินดา ตอนนั้นดำรงตำแหน่งเป็นฝ่ายอำนวยการ 2 (ฝอ.2) และประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรองผู้บังคับกองร้อยอาวุธเบาที่ 3 ร.21 พัน 1 รอ. มาช่วยกันตั้งทหารเสือราชินี โดยช่วยกันเป็นครูฝึกทหารเสือราชินีรุ่นแรก โดยที่ พันโทณรงค์เดช เป็นผู้ร่างหลักสูตรการฝึกทหารเสือราชินี
นอกจากจะเป็นหน่วยในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระองค์ทรงก่อตั้งขึ้นแล้วนั้น พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมพิเศษ และทรงทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ในการเปลี่ยนชุดทหารรักษาพระองค์ประจำหน่วยนี้ จากสีแดงเป็นสีม่วง ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์
อีกทั้งกรมยังได้รับพระราชทานสมญานามจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงว่าคือหน่วย “ทหารเสือนวมินทราชินี” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ทหารเสือราชินี” นั่นเอง
“ทหารเสือราชินี” มรดกต่างหน้าจากพันโทผู้ล่วงลับ
อย่างไรก็ตามในวันที่ 22 พฤษภาคม 2528 พันโทณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช ได้เสียชีวิตลงที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายหลังจากที่เดินทางไปเรียนหลักสูตรเสนาธิการทหารบก สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด ทั้งยังเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เอง อีกทั้งพระองค์ยังได้ทรงถ่ายทอดคำอาลัยไว้ในหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พ.ท. ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช ความว่า
“ณรงค์เดช…ขอบใจสำหรับทุกๆ สิ่งที่ณรงค์เดชเคยปฏิบัติมาเพื่อชาติและราชบัลลังก์ เราผ่านทุกสิ่งทุกอย่างมาด้วยกัน ทั้งทุกข์และสุขเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เธอได้ทำทุกอย่างครบถ้วนแล้วตามคำสัตย์ปฏิญาณ ขาดเพียงข้อเดียวเท่านั้น ณรงค์เดชจำได้ไหม ที่ฉันเคยบอกเธอว่า เมื่อฉันหมดภารกิจ ฉันจะไปปฏิบัติธรรมที่วัด เธอยังสัญญาว่าจะไปเยี่ยมและจะได้ไปฟังธรรมด้วย ณรงค์เดช ข้อนี้ข้อเดียวที่เธอ ผิดสัญญา”
นอกจากนี้ ยังมีข้อความจากพันโทณรงค์เดช ที่เขียนกลอนในบัตรรูปดอกกุหลาบส่งมาถวาย ขณะที่เรียนเสนาธิการทหารบก เขาเขียนกลอนบทนี้ โดยแปลงถ้อยคำของเพลง จากยอดดอย ที่เขาแต่งขึ้นเอง
“คิดถึงยอดหฤทัยใจจะขาด แต่ไม่อาจไปตามความเป็นห่วง โพ้นขอบฟ้ามีศรัทธากล้าทั้งดวง ถึงแดนสรวงด้วยภักดีชีวีวาย”
โดยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระอักษรไว้ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพพันโทณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช ไว้ด้วยว่า “ณรงค์เดช เราภาคภูมิใจที่เขาเป็นทั้งกวี และนักรบที่สามารถ”2
นอกจากนี้ บรรดาทหารเสือราชินีต่างก็ล้วนให้ความเคารพรักแก่ พันโทณรงค์เดช ในฐานะผู้ก่อตั้งหลักสูตรทหารเสือราชินี และเป็นนายทหารที่ทำให้ หน่วยทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างมากจากสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง3
อีกทั้งยังมีผู้ที่เคยกล่าวเปรียบเปรยความสัมพันธ์ระหว่างหลักสูตรทหารเสือราชินี และพันโทณรงค์เดชเอาไว้ว่า หลักสูตรทหารเสือราชินี นี้คือ การสร้างให้นายทหารเป็นเสมือนผู้พันณรงค์เดช ผู้ล่วงลับ4
นับตั้งแต่สมัย พันโทณรงค์เดชยังอยู่และภายหลังเสียชีวิต หน่วยทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์มีความใกล้ชิดพระบรมวงศานุวงศ์โดยเฉพาะสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเป็นอย่างมาก และยังมีบทบาทสำคัญในการอารักขาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย และทหารเสือราชินียังมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือหน่วยงานของพระองค์ในกรณีที่เวลาน้อย หรือมีราษฎรมาเข้าเฝ้าฯ เป็นจำนวนมาก เช่น การตรวจสอบประวัติ จัดระเบียบ เพื่อให้มีความคุ้นเคยกับราษฎร หรืองานอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็จะจัดส่วนหนึ่งไปปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชประสงค์5
“3 ป.” รุ่นน้องของณรงค์เดช และดุลอำนาจสำคัญของกองทัพ
นายทหารที่เติบโตมาในหน่วยทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จึงมีความใกล้ชิดและ ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งสองนายทหารผู้นี้เติบโตบนเส้นทางทหารเสือราชินีมาโดยตลอด หรือแม้แต่ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ก็ได้เติบโตอยู่ในหน่วยทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในช่วงแรกๆ เช่นเดียวกัน แต่ภายหลังพอขึ้นยศที่สูงขึ้นในการดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับกองพัน ประวิตรได้ย้ายไปขึ้นตำแหน่งที่กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ก็ตาม
ต่อมานายทหารเหล่านี้ก็สามารถเติบโตในหน้าที่ราชการตามลำดับ จนสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 หรือกระทั่งไปสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ตำแหน่งเหล่านี้จะถูกผูกไว้กับ นายทหารสาย วงศ์เทวัญ ก็ตาม ดุลอำนาจของกองทัพเปลี่ยนมาอยู่ที่กลุ่มนายทหารภาคตะวันออก กลุ่มทหารเสือราชินี ที่มีหัวหอกคือ ประวิตร อนุพงษ์ และประยุทธ์ หรือที่เรียกกันว่า กลุ่ม 3 ป. และในระยะหลังไม่ได้มีแค่ทหารเสือราชินีเท่านั้น แต่นับรวมไปถึงสายบูรพาพยัคฆ์ ด้วย เพราะคำว่า ทหารสายบูรพาพยัคฆ์ คือทหารที่รับราชการและเติบโตอยู่ในกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ แถบภาคตะวันออก ทั้งนี้แม้ว่ากรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์จะอยู่เป็นกรมภายใต้การบังคับบัญชาของกองพลทหารราบที่ 2 ก็ตาม แต่โดยมากเฉพาะทหารจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จะมักอยากเรียกตัวเองว่า ทหารเสือราชินี มากกว่าให้เรียกว่าเป็น บูรพาพยัคฆ์6
ทหารเสือราชินี กับ บทบาทการรัฐประหาร
วาสนา นาน่วม สรุปเทียบ ระหว่างการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และ รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ไว้ว่าเป็นการแก้มือ แก้ตัว จากความผิดพลาดในการรัฐประหารเมื่อครั้งแรกก็ไม่ผิดนัก เพราะผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารครั้งนั้นและครั้งนี้ ล้วนเป็นตัวละครเดิมๆ หากแต่เปลี่ยนตัวละครนำ ให้เป็นไปตามห้วงเวลาที่เหมาะสม7
การพูดเช่นนี้ของนักข่าวสายทหารที่ใกล้ชิดกับนายทหารของกองทัพก็พอจะสะท้อนให้เห็นบทบาทของกองทัพต่อการเมืองไทย กลุ่มก้อนและเป้าหมายของพวกเขาที่ล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ฟังดูคล้ายทฤษฎีสมคบคิดที่ดูห่างไกลจากความจริง แต่ก็น่าคิดว่าหรือนี่อาจไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิด? แต่คือสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นบทบาทของตัวละครบางตัว กลุ่มก้อนบางกลุ่ม ที่อยู่ภายใต้ร่มใหญ่อีกชั้นหนึ่ง ที่ค่อยๆ ก่อตัวและสะสมอำนาจขึ้นมาอย่างมีพลวัต การเข้ามามีบทบาทในกองทัพของพวกเขา ไม่ใช่การปรากฎตัวในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ไม่ได้เป็นเพียงอุบัติเหตุทางการเมือง หรือเป็นการตัดสินใจอย่างฉุกละหุก และปฏิเสธไม่ได้ว่าการรัฐประหารแต่ละครั้ง หากทำสำเร็จ ล้วนเป็น“รางวัล” ให้พวกเขาและบริวารรอบๆ ขึ้นมามีบทบาทสำคัญมากขึ้น รวมถึงการันตีการเข้าสู่เส้นทางอำนาจทั้งในฐานะผู้นำเหล่าทัพ หรือแม้แต่การเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเหนือคู่แข่งกลุ่มอื่นๆ ด้วยก็ได้ แต่มากกว่านั้น พวกเขาก็อาจเป็นหมากตัวหนึ่ง (ที่สมประโยชน์) โดยมีผู้อำนวยการให้เกิดขึ้นเพื่อเป้าหมายในการจัดการพลังอำนาจกลุ่มใหม่ที่ขึ้นมาท้าทายอำนาจตามประเพณี
นอกจากนี้ ความน่าสนใจต่อมาคือ การรัฐประหารครั้งสุดท้ายในรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น มีหัวหน้าคณะรัฐประหารคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้เลือกวันรัฐประหารคือวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเสียชีวิตของพันโทณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช นายทหารเสือราชินีผู้ล่วงลับอีกด้วย
ทหารเป็นทหารของใคร?
คำถามที่ว่าทหารเป็นทหารของใคร อาจพบคำตอบได้จากปากคำของบุคคลสำคัญในกองทัพตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ว่าทหารระดับนำเอง พวกเขามีทัศคติและมีมุมมองเช่นใดต่อประเด็นนี้
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตประธานองคมนตรีสองรัชสมัย เคยพูดกับนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) เอาไว้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 หรือก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น โดยเปรียบเทียบว่ารัฐบาลเหมือน Jockey ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติและพระมหากษัตริย์
และล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904) นำนายทหารชั้นนายพลจำนวน 179 นาย ถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ความว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าจะรักษามรดกของท่านไว้ด้วยชีวิต”
“ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ตามที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ปวงข้าพระพุทธเจ้าที่มารวมตัวกัน ณ ที่นี้ ดำรงตำแหน่งที่สำคัญและพระราชทานยศชั้นนายพลของกองทัพบกนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นเกียรติยศอันสูงยิ่งของการรับราชการ ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ปวงข้าพระพุทธเจ้าต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชทานกำเนิดโรงเรียนนายร้อยฯ แห่งนี้ขึ้น ทั้งยังทรงมีพระเมตตาให้ทรงรับและเปิดโอกาสให้ลูกหลานของประชาชนชาวไทยทั่วไปได้เข้าไปศึกษาเล่าเรียนโดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ เพื่อให้ได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณ ช่วยกันปกปักรักษาเอกราชอธิปไตยของประเทศชาติและราชอาณาจักรไทย ให้อยู่จนมาทุกวันนี้ นอกจากนั้น ปวงข้าพระพุทธเจ้ายังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานกระบี่และพระราชทานยศนายทหารสัญญาบัตรมาตลอดห้วงเวลารับราชการที่ผ่านมา พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่องค์พระมหากษัตริย์ องค์จอมทัพไทยแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์มีต่อปวงข้าพระพุทธเจ้านั้น ปวงข้าพระพุทธเจ้าจักสำนึกจะเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม พร้อมทั้งขอถวายสัตย์ปฏิญาณที่จะจงรักภักดี จะยอมอุทิศตนพร้อมเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของประเทศชาติ ราชอาณาจักรแห่งนี้ และจักเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์เจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ จนกว่าชีวิตจะหาไม่”8
คำพูดของอดีตประธานองคมนตรีสองแผ่นดินและการปฏิญาณตนของนายพลเหล่านี้ที่นำโดยผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน สะท้อนเบื้องหลังวิธีคิดและสำนึกต่อการเป็นทหารว่าพวกเขาเป็นทหารของใครและต้องการรักษาอะไร และอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในการทำหน้าที่ของพวกเขา คำถามที่น่าถามกลับไปคือหากเป็นเช่นนั้น มีประชาชนอยู่ในสมการด้วยหรือไม่
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี เคยเขียนไว้ว่า สถาบันกษัตริย์และกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันชนิดแยกไม่ออกมาแต่ไหนแต่ไร หน้าที่สำคัญที่สุดของกองทัพคือ การปกป้องสถาบันกษัตริย์และถวายความปลอดภัยให้กับตัวกษัตริย์ ราชินีและพระบรมวงศานุวงศ์ ในปัจจุบันซึ่งปลอดจากสงครามจึงอาจจะถือได้ว่า กองทัพมีเพียงภารกิจนี้เท่านั้นอยู่สูงสุด กองทัพจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องกษัตริย์ตั้งแต่การรัฐประหารไปจนถึงข่มขู่ คุกคาม จับกุมคุมขัง และอาจแม้กระทั่งสังหารประชาชนที่เชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อสถาบัน9
สุภลักษณ์ยังได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพใน 2 ส่วนคือ ส่วนแรกคือหน่วยงานราชการในพระองค์ ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชอำนาจโดยตรง10 และ สอง ส่วนของราชการกองทัพ ซึ่งกษัตริย์ได้สร้างความสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายที่สร้างขึ้นมาใหม่11
หน่วยงานราชการในพระองค์ อยู่ใต้พระราชอำนาจโดยตรง
แต่เดิม กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการกองทัพไทย จนกระทั่งในปี 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้ยกฐานะหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เป็นนิติบุคคล ระดับกรม สังกัดกระทรวงกลาโหม โดยในหลวงรัชกาลที่ 10 ขณะยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ และเมื่อมาถึงในช่วงปี พ.ศ. 2562 ก็ได้มีการโอนกรมทหารทั้งสองไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. รวมถึงได้มีการออก พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์และการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ กำหนดให้มี หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เป็นหน่วยราชการในพระองค์12 ซึ่งในปัจจุบันมีผู้บัญชาการคือในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงดำรงตำแหน่งด้วยพระองค์เอง และมีรองผู้บัญชาการคือ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี ทรงเคยทำหน้าที่ก่อนหน้านี้คือเป็นผู้บังคับกองผสมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ถวายการแสดงทหาร ในปี 2559 โดยมียศในขณะนั้นคือ พลโทหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา
รวมถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้โอนย้ายจากตำแหน่งอัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการสูงสุด มาทรงดำรงตำแหน่ง เสนาธิการกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในปี 2564 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ด้วย
ทั้งนี้ มีนายทหารและนายตำรวจที่ทำงานรับใช้ใกล้ชิดได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานนี้ด้วย อาทิ พลเอกจักรภพ ภูริเดช พลตำรวจเอกอรรถกร ทิพยโสธร พลอากาศเอกชาญชาย เกิดผล พลเรือเอกปวิตร รุจิเทศ ซึ่งทั้งหมดมีตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และเป็นที่น่าสังเกตว่านายทหาร นายตำรวจที่ใกล้ชิดเหล่านี้ นอกจากได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวแล้ว จะได้ดำรงตำแหน่งรักษาการหรือดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการสำนักงานที่แบ่งแยกย่อยลงมาภายในจำนวน 5 สำนักงาน เพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่งด้วย
นอกจากนี้ยังเคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดพระมหากษัตริย์จึงทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาด้วยพระองค์เอง มีความเป็นไปได้ในทางหนึ่งว่า หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์เมื่อสมัยสังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งอยู่ในรัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ได้ทรงรับราชการ เติบโตเลื่อนขั้นจนกระทั่งได้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการในที่สุด ส่งผลให้อาจมีความผูกพันและทรงเล็งเห็นว่าเป็นหน่วยงานที่สำคัญก็เป็นได้
5 สำนักงานย่อยของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
ทั้งนี้โครงสร้างของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ภายในยังได้มีการแบ่งเป็นสำนักงานจำนวน 5 สำนักงาน13 โดยแต่ละสำนักงานภายในก็จะมีการแบ่งแยกย่อยเป็นกรม เป็นแผนกย่อยลงไปด้วย มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการแบ่งหน่วยเช่นนี้ มีลักษณะคล้ายเป็นกองทัพอีกเหล่าทัพหนึ่งเลยหรือไม่?
อีกหนึ่งข้อสังเกตคือ กำลังพลภายในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยในปัจจุบันมีทั้งที่ครองยศแบบทหารบก ทหารอากาศ ตำรวจ หรือทหารเรือ แต่กำลังพลเหล่านี้จะอยู่ในสำนักงานเดียวกันโดยไม่แยกว่าครองยศของเหล่าไหน อีกทั้งไม่ทราบแน่ชัดว่าแต่ละส่วนมีกำลังพลจำนวนเท่าใด
- สำนักงานผู้บังคับบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ มีรักษาการผู้บัญชาการคือ พลอากาศเอกชาญชาย เกิดผล ซึ่งยังทำหน้าที่เป็นพระอภิบาลประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ อีกหน้าที่หนึ่งด้วย
- สำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์ เคยมีผู้บัญชาการคือ พลอากาศเอกอำนาจ จีระมณีมัย แต่ภายหลังได้ถูกโอนย้ายไปเป็นรองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายปฏิบัติการ ระดับ 11 และย้ายให้พลเรือเอกปวิตร รุจิเทศ ดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งพลเรือเอกปวิตร รุจิเทศ ยังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานอีกหน้าที่หนึ่งด้วย
- สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์ ก่อนหน้านี้มี พลเรือเอกปวิตร รุจิเทศ ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการสำนักงาน มีความเข้าใจว่าหน่วยงานย่อยนี้ใช้ทรัพยากรบุคคลมาจากกรมราชองครักษ์เดิม โดยผู้บริหารจากกรมราชองครักษ์เดิมก็ได้รับการโปรดเกล้าให้มาอยู่ที่หน่วยนี้ อาทิ พลเอกพงษ์เทพ กนิษฐานนท์ รองสมุหราชองครักษ์ ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการสำนักงานฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 พร้อมกับนายทหารในกรมราชองครักษ์อีก 43 นาย14
- กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ นั้นมีผู้บัญชาการคือ พลเอกจักรภพ ภูริเดช
- กองบัญชาการนายตำรวจราชองครักษ์ในพระองค์ นั้นมีรักษาการผู้บัญชาการคือ พลตำรวจเอกอรรถกร ทิพยโสธร
นอกจากนี้ การเป็นข้าราชการในพระองค์และการเป็นข้าราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกองทัพเอง มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน บางช่วงเวลาข้าราชการเหล่านี้เติบโตในหน่วยงานราชการหลักมาก่อน แต่เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งอาจจะได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นข้าราชการ สังกัดหน่วยงานในพระองค์ เช่น อรรถกร ทิพยโสธร15 เคยเป็นนายตํารวจราชสํานักประจําและได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้บัญชาการนายตํารวจราชสํานักประจํา สํานักงานตํารวจแห่งชาติ หลังจากนั้นอีก 1 ปี ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และได้รับพระราชทานยศพลตำรวจเอก (อัตราพลตำรวจเอกพิเศษ)
หรืออย่างกรณี ธรรมนูญ วิถี16 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หนึ่งใน 5 เสือ ทบ. ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ได้เป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารในตำแหน่ง นายทหารปฏิบัติการประจำสำนักงานผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอก) หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ได้เป็นรองผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (1) กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอก) ซึ่งมีผู้บังคับบัญชาคือ จักรภพ ภูริเดช
ส่วนราชการกองทัพ ซึ่งกษัตริย์ได้สร้างความสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายที่สร้างขึ้นใหม่17
เมื่อเปลี่ยนรัชสมัยใหม่ๆ ได้มีคู่มือ ‘กองทัพบกตามพระราโชบาย’ ถูกเผยแพร่ภายในกองทัพช่วงที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ปัจจุบัน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เป็นองคมนตรี) และคาบเกี่ยวมาสู่ยุคที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบกและมีอีกตำแหน่งหนึ่งด้วยคือเป็นผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ. 904) (ปัจจุบันเป็นรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ระดับ11สังกัดหน่วยราชการในพระองค์) ในคู่มือกองทัพบกตามพระราโชบาย มีการระบุกฎเกณฑ์ของผู้เข้ารับราชการด้วยรายละเอียดยิบย่อยมากมาย อาทิ ต้องเคร่งครัดในระเบียบวินัย ผมสั้นข้างขาวตลอด การแต่งกายท่าทางการแสดงออกต้องเป๊ะ สมรรถภาพร่างกายต้องพร้อม ต้องไม่ทำให้ภาพพจน์กองทัพบกเสื่อมเสีย ถูกร้องเรียนหรือถูกถวายฎีกา ไม่แต่งกายครึ่งท่อนไปรับประทานอาหาร ไม่ไปอยู่ตามที่ไม่เหมาะสมในห้วงเวลาราชการ เช่น ร้านกาแฟ ต้องไม่เสพสุราจนเสียอาการ ผิดวินัยในเรื่องชู้สาว ต้องไม่มีเรื่องเสื่อมเสียลงสื่อโซเชี่ยล ทำผิดกฎจราจร ประพฤติตนไม่เหมาะสมโดนถ่ายประจาน ไม่มีพฤติกรรมกร่าง ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งผิดกฎหมาย ควรเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อม ประพฤติตนให้อยู่ในระเบียบวินัย จะต้องยกระดับมาตรฐานเวรรักษาการณ์ ผู้ที่ที่กระทำผิดจะต้องได้รับโทษอย่างรุนแรง หนึ่งในข้อแนะนำในคู่มือแผนผังคือ หากกำลังพลถ้าไม่พร้อมควรรีบลาออกโดยเร็ว18
นอกจากนี้ ภายในกองทัพเองก็ได้มีเครือข่ายภายในเหล่าทัพด้วย และน่าจะกล่าวได้ว่าขณะนี้ได้เกิดเป็น “เครือข่ายเชิงสถาบัน” เกิดขึ้นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นเครือข่ายเชิงสถาบันที่เกิดขึ้น กำลังจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งสำคัญภายในกองทัพเองด้วย
ก่อกำเนิด ทหารคอแดง
มีการคัดเลือกนายทหารในเหล่าทัพต่างๆ เข้ามาอบรมหลักสูตรนายทหารสัญญาบัตรหน่วยทหารรักษาพระองค์ หรือที่เรียกกันว่า หลักสูตร “ทหารคอแดง” สาเหตุที่เรียกว่านายทหารคอแดงเพราะทหารกลุ่มนี้จะใส่เสื้อยืดชุดฝึกสีขาวขลิบแดงที่คอและแขนเสื้อ ซึ่งจะต้องใส่ไว้ด้านในก่อนสวมทับด้วยเครื่องแบบทหาร และติดเครื่องหมายแสดงตนอย่างละเอียดตามระเบียบ และเมื่อจบหลักสูตร ทหารทุกคนต้องติดเครื่องหมายบอกเลขรุ่นและปีที่จบบนเครื่องแบบที่หน้าอก โดยใช้สีแสดงสัญลักษณ์ของกลุ่มที่ฝึก แรกเริ่มเดิมทีหลักสูตรทหารคอแดงเริ่มต้นกันในกองทัพบก จะมีการคัดเลือกนายทหารที่ “หน่วยก้านดี” เคยมีการรายงานข่าวว่า ผู้ที่เข้ารับการฝึกหลักสูตรนายทหารสัญญาบัตรหน่วยทหารรักษาพระองค์ได้นั้น จะคัดตัวจากหน่วยรักษาพระองค์ทั่วประเทศ ประมาณ 30 กองพัน โดยคัดจากนายทหารหลักที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (รร.จปร.) และทหารที่เลื่อนฐานะส่วนหนึ่ง กองพันละ 20 นาย ทหารเหล่านี้จะต้องเข้ารับการฝึกพื้นฐาน 2 เดือน และฝึกปฏิบัติ 1 เดือน ที่โรงเรียนทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ วังทวีวัฒนา นอกจากนั้นยังคัดจากนายสิบกองพันละ 50 นาย พลทหารกองพันละ 50 นาย เริ่มฝึกครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2560 จบรุ่นแรกจำนวน 150 นาย19 เข้าใจว่าทหารที่จบหลักสูตรรุ่นแรกนั้นมาจากกองทัพบกเหล่าเดียว แต่ในปัจจุบันได้ขยายไปคัดสรรทหารรักษาพระองค์จากเหล่าทัพอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบการฝึกคือ โรงเรียนทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์20 วังทวีวัฒนา (รร.ทม.รอ.) อยู่ในสังกัด กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งมี จักรภพ ภูริเดช หรือ call sign ว่า “นายค็อกเคทอง” เป็นผู้บัญชาการอยู่
ปรัชญา ‘ตุ๋นไข่พะโล้’ และ Siku รากฐานการฝึกทหารของ ทม.รอ.904
หลักสูตรการฝึกทหารคอแดง ได้รับพระราชทานปรัชญาแก่นกลางที่สำคัญในการฝึกของหลักสูตร มาจากแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 10 คือปรัชญาการ Simmer หรือการตุ๋นไข่พะโล้ ทรงเปรียบเทียบการฝึกทหารเหมือนการตุ๋นไข่พะโล้ ให้มีรสชาติอร่อย แม่ครัวจะต้องนำไข่ต้มมาแกะปลอกเปลือก แล้วนำไปตุ๋นในน้ำพะโล้ โดยใช้ความร้อนและเวลาที่เหมาะสม น้ำพะโล้จึงจะค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปยังเนื้อไข่ หากเร่งรีบเกินไป ผ่าไข่ออกมาก็จะเห็นเพียงภายนอกสีน้ำตาลและภายในสีขาว ก็เปรียบเสมือนการฝึกทหาร
หรืออีกหนึ่งปรัชญาคือ ปรัชญารถ SIKU (ซิกู้เป็นชื่อยี่ห้อรถของเล่นจำลองขนาดเล็ก) เป็นรถที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 พระองค์ทรงโปรดเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ โดยพระองค์จะทรงเลือกรถซิกู้ชนิดเดียวกันหลายๆ คัน และจะทดสอบทุกคันด้วยพระองค์เอง หากคันใดไม่ได้มาตรฐาน ก็จะทรงถอดชิ้นส่วนมาปรับแต่ง ทดสอบจนกว่าจะได้มาตรฐาน เปรียบเสมือนครูฝึกต้องหมั่นสังเกต เคี่ยวเข็นผู้ได้รับการฝึกให้เรียนรู้และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง21
หลักสูตรนี้ นอกจากการฝึกภาคสนามแล้ว ยังต้องมีการเรียนในชั้นเรียนด้วย จุดประสงค์เพื่อให้รู้ถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของสถาบันหลักของชาติ โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้รับทราบแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนของทหารรักษาพระองค์ การถวายความปลอดภัย ถวายพระเกียรติ การฝึกอบรมให้รู้ในหน้าที่ การวางตัว กริยา มารยาท ท่าทำความเคารพ เครื่องแต่งกาย ต้องมีความถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว นอกจากนั้นยังต้องท่องบทราชสวัสดิ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 และคาถาธรรมเนียมต่างๆ ให้ขึ้นใจ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึก เตือนใจและสติในการทำหน้าที่ของทหารรักษาพระองค์ให้ครบถ้วนสมบูรณ์22
หลักสูตรทหารคอแดง: ลดอีโก้นายทหารดาวรุ่งในศูนย์ฝึกวังทวีวัฒนา
ความน่าสนใจคือ การฝึกทหารคอแดงทั้งหมดจะใช้พลอาสาสมัครเป็นผู้ฝึกและไปฝึกกันที่วังทวีวัฒนา พลอาสาเหล่านี้มีที่มาจากการเปิดรับสมัครจากทหารกองหนุนทุกเหล่าทัพ และบุคคลพลเรือนชายอายุตั้งแต่ 20 – 28 ปี เข้ารับราชการเป็นทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ฯ (อัตราพลอาสาสมัคร) หลักสูตรฝึกระยะ 26 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะได้เป็นพลอาสาสมัคร23
เป็นที่น่าสังเกตว่า การฝึกนายทหารคอแดงนั้น ได้เลือกใช้พลอาสาเป็นผู้ฝึก ซึ่งพลอาสาเหล่านี้ไม่ใช่บุคคลที่จบโรงเรียนเตรียมทหาร หรือโรงเรียนเหล่าทัพมา ส่วนนายทหารที่มาฝึกหลักสูตรเพื่อเป็นทหารคอแดง โดยมากเป็นนายทหารผู้ “มีอนาคต” เป็น “ดาวรุ่ง” หรือกระทั่งเป็นผู้มีตำแหน่งสูงในกองทัพ (มีผู้เคยตั้งข้อสังเกตว่าเลยมาพร้อมกับอีโก้ด้วย) การให้ พลอาสามาเป็นครูฝึกนายทหารทั้งรุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นใหญ่เหล่านี้ โดยที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในโรงเรียนเตรียมทหารหรือโรงเรียนเหล่าทัพด้วยกันมา หรือแม้กระทั่งการมีความสัมพันธ์เป็น เจ้านายลูกน้องกันมาก่อน จึงสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้ไม่น้อยในหมู่ทหาร เพราะการให้ “คนอื่น” ที่ไม่ได้มีอะไรยึดโยงกัน นอกจากการเป็นคนของศูนย์ฝึกวังทวีวัฒนา มาสั่งฝึก สั่งลงโทษ ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกคับข้องหมองใจกันภายในไม่น้อย
ทั้งนี้มีทหารจำนวนไม่น้อยในหมู่ทหารที่เข้ารับการฝึก ได้แสดงความไม่พอใจต่อการฝึก แต่พวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากยอมรับสภาพและพาตัวเองผ่านพ้นมาให้ได้ ไม่หือ ไม่อือ เก็บงำความไม่พอใจเอาไว้ เพราะเส้นทางนี้คือหนทางก้าวหน้าในกองทัพ ในอาชีพการงาน รวมถึงยังได้รับสิทธิประโยชน์จากค่าอาร์มรายเดือน ซึ่งในกรณีเป็นนายทหารสัญญาบัตรจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 7,500 บาท ยังไม่นับว่าการได้เป็นทหารคอแดงยังสร้างความยำเกรงให้กับทหารคนอื่นๆ ในกองทัพที่ไม่ได้เป็นทหารคอแดงอีกด้วย
แต่อีกด้านหนึ่งการเกิดขึ้นของทหารคอแดงก็ได้สร้างความแตกแยกภายในกองทัพไม่น้อย เพราะเป็นที่รู้กันว่าหากไม่ได้เป็นทหารคอแดง โอกาสจะขึ้นตำแหน่งสำคัญสายหลักๆ ในกองทัพแทบจะไม่มีเลยโดยเฉพาะในกองทัพบกปัจจุบัน จนต้องเปลี่ยนเส้นทางรับราชการ เช่น กรณีการขึ้นสู่ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปัจจุบัน ล้วนต้องเป็น “ทหารคอแดง” ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้แล้วที่นายทหารทั่วไป หรือที่ถูกเรียกว่า “ทหารคอเขียว” ในปัจจุบัน จะมีโอกาสขึ้นสู่ตำแหน่งเป็นผู้นำกองทัพบก
หรือในกรณีตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเองด้วยที่ก็อาจต้องมาจากนายทหารคอแดงเช่นเดียวกันหรือไม่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะเพิ่งมีทหารคอแดงเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น แต่มีการคาดหมายกันว่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนถัดไปก็มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูง ที่อาจจะมาจากนายทหารคอแดงด้วยเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ภายหลังจากที่จบหลักสูตรทหารคอแดงแล้ว ทหารในหลักสูตร รวมไปถึงทหารทุกหน่วยที่เป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์สังกัดเหล่าทัพ จะอยู่ในสังกัดหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ. 904) ด้วย ภารกิจของหน่วยเฉพาะกิจนี้คือ การรักษาความมั่นคงปลอดภัย และพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเป็นทหารของชาติ24 ซึ่งมีข้อสังเกตว่าไม่แน่ชัดว่าหน่วยเฉพาะกิจนี้มีภารกิจแตกต่างอย่างไรกับกองทัพปกติ
อีกทั้งทหารที่สังกัดหน่วยเฉพาะกิจนี้จะกระจายอยู่ตามหน่วยต่างๆ ที่อยู่ภายใต้กองทัพอีกทีหนึ่ง นัยยะหนึ่งคือการกระจายไปเติบโตและคุมหน่วยทหารต่างๆ และมีเส้นทางเติบโตในตำแหน่งหลักของกองทัพด้วย ปัจจุบันผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 คือ พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ซึ่งก็คือผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันนั่นเอง และก่อนหน้านี้มีผู้บัญชาการคนแรกของหน่วยเฉพาะกิจนี้ก็คือ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์
เข็มกลัดเจ้าฟ้าทีปังกรฯ สัญลักษณ์แสดงสถานะพิเศษ
อีกประเด็นหนึ่งที่สร้างความสงสัยให้กับสาธารณชนไม่น้อยคือเหตุใดนายทหารบางนายถึงมีการติดเข็มกลัดทรงกลมที่เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ ไว้ที่กระเป๋าเสื้อข้างซ้าย โดยบทความที่เผยแพร่ทาง Nikkei ที่ออกมาเมื่อปี 2562 ชื่อว่า All the king’s men: Thai military power shifts away from Prayuth ได้เปิดเผยว่านักการทูตต่างประเทศได้ถามถึงข้อสังสัยดังกล่าวต่อ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ได้ตอบว่า “มีเพียงเครือข่ายเล็กๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ติด แสดงถึงความจงรักภักดีที่มีต่อพระมหากษัตริย์” คำตอบของ พล.อ.อภิรัชต์ แสดงให้เห็นว่ามีคนติดเข็มกลัดเป็นคนจำนวนน้อยและที่สำคัญจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตให้ติดด้วย ถึงจะติดได้ แต่ก็ไม่ได้ขยายความว่าผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้ติดต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เลยมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า ต้องเป็นนายทหารคอแดงหรือไม่ถึงจะได้รับอนุญาตให้ติด แต่เมื่อไปดูนายทหารคอแดงที่เป็นนายทหารระดับผู้นำเหล่าทัพคนอื่นๆ อย่าง พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ไม่ได้ติดเข็มกลัดดังกล่าว
แต่พบว่านายทหารชั้นสัญญาบัตร หรือชั้นประทวน ที่สังกัดหน่วยราชการในพระองค์ทุกคนจะได้รับอนุญาตให้ติด รวมถึงกรณีขององคมนตรีด้วย
ความน่าสนใจต่อมา คือมีความเป็นไปได้ว่ากรณีของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ที่ได้รับอนุญาตให้ติดเข็มกลัด น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ สังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เป็นข้าราชการในพระองค์ อีกหน้าที่หนึ่ง โดยที่ไม่ขาดจากตำแหน่งเดิมในกองทัพ นัยยะคือไม่ได้โอนย้ายมาสังกัดหน่วยงานในพระองค์เต็มตัว แต่ควบสองหน้าที่คือมีตำแหน่งอยู่ในกองทัพด้วย
ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ตอนปี พ.ศ. 2561 ส่วน พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ในช่วงปี พ.ศ. 2561 ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ทีหลัง พล.อ.อภิรัชต์ ประมาณ 4 เดือน
ยังมีผู้ตังข้อสังเกตว่าผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ติดเข็มกลัดนี้ โดยมากจะเป็นผู้ถวายงานใกล้ชิดมาก หรือมีการเรียกกันติดปากในหมู่ทหารว่าเป็น “ไข่แดง” คือเมื่อใกล้ชิดมากขนาดนี้ นี่จึงอาจเป็นกุศโลบายว่าถ้าจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันแล้ว ต้องจงรักภักดีต่อพระราชโอรสด้วย หากต้องเปลี่ยนผ่านรัชสมัย
เหลียวหลังแลหน้า เครือข่ายนายทหารกลุ่มใหม่: บทบาทในกองทัพและการเมืองในปัจจุบันและอนาคต ?
การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารล่าสุด บ่งชี้ชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่านายทหารที่จะได้รับการแต่งตั้งคุมกำลังสำคัญและมีโอกาสเติบโตไปในระดับผู้นำเหล่าทัพ กำลังมีม่านประเพณีใหม่คือต้องมาจาก “ทหารคอแดง” และยังต้องได้รับการไฟเขียวจาก ฐานบัญชาการพระราม 5 หรือวอร์รูม ฉก.ทม.รอ 904 ด้วยหรือไม่ การแต่งตั้งครั้งล่าสุดนี้ ตำแหน่งที่สร้างความแปลกใจและเป็นที่กล่าวขานคือ ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 คนใหม่ ที่จะมาแทน สุขสรรค์ หนองบัวล่าง นายทหารคอแดงที่ได้รับการเลื่อนขั้นขึ้นเป็น ห้าเสือ ทบ. ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก โดยนายทหารที่ได้รับเลือกให้มาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 คนใหม่คือ พนา แคล้วปลอดทุกข์25 จากรองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็น แม่ทัพภาคที่ 1 เลย ความน่าสนใจคือ พนา แคล้วปลอดทุกข์ เพิ่งจบหลักสูตรนายทหารคอแดงมาได้ไม่นาน และว่ากันว่าเบียดแซงตัวเต็งอย่าง ธราพงษ์ มะละคำ26 แม่ทัพน้อยที่ 1 ที่คาดว่าจะขึ้นมาตามเส้นทางการเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เพราะก่อนหน้านี้แม่ทัพภาคที่ 1 จะมาจากการเป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 กันมาก่อน แต่ปรากฏว่าครั้งนี้รองแม่ทัพภาคได้ขึ้นเป็นแม่ทัพเลย กลายเป็นว่าเส้นทางของ ธราพงษ์ มะละคำ แม่ทัพน้อยที่ 1 ถูกเก็บเข้ากรุเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. (อัตราพลเอก) แม้จะได้ติดยศพลเอกก็ตาม แต่มีการคาดหมายกันว่าเป็นการดีดออกนอกเส้นทางในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก หรือแม้แต่ตำแหน่งใน 5 เสือ ทบ.ด้วยในทันที และกลายเป็นว่าหมากเกมนี้ ว่ากันว่า ว่าที่ผู้บัญชาการทหารบกถัดไปอีก 2 คน จึง ได้รับการคาดหมายว่าคนที่น่าจะได้เป็นคือ พนา แคล้วปลอดทุกข์
เมื่อไปดูรายชื่อทหารคอแดงที่มียศเป็นระดับนายพลในรุ่นแรกๆ ที่ผ่านการฝึกมาแล้วนั้น พบว่าทหารเหล่านี้ ที่ผ่านมาเป็นดาวรุ่งในกองทัพที่จะได้มีโอกาสก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งในตำแหน่งที่สูงขึ้นหรือเป็นผู้นำเหล่าทัพ หรือแม้แต่การได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้โอนย้ายไปสังกัดหน่วยงานในพระองค์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น27
- อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก และปัจจุบันเป็นข้าราชการในพระองค์ ตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง ระดับ 11
- ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904
- ธรรมนูญ วิถี จากตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก มารับราชการ เป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารในตำแหน่ง นายทหารปฏิบัติการประจำสำนักงานผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
- เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- เจริญชัย หินเธาว์ ปัจจุบันในโผการแต่งตั้งล่าสุดได้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก และถูกคาดหมายว่าจะได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกคนถัดไป
- ทรงวิทย์ หนุนภักดี ถูกคาดหมายว่าจะได้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนถัดไป ซึ่งปัจจุบันในการแต่งตั้งล่าสุดได้ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
- สุขสรรค์ หนองบัวล่าง การแต่งตั้งล่าสุดได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หนึ่งในตำแหน่งของ 5 เสือ ทบ.
- สุวิทย์ เกตุศรี ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองบัญชาการกองทัพไทย
- ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (โรงเรียน จปร.)
- เอกรัตน์ ช้างแก้ว รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (โรงเรียน จปร.)
- ทรงพล สาดเสาเงิน ได้รับการคัดตัว และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้โอนย้ายจาก ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ไปเป็นนายทหารปฏิบัติการประจำสำนักงานรองผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระอง
- กันตพจน์ เศรษฐารัศมี รองแม่ทัพภาคที่ 1
- ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล จากตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 ในการแต่งตั้งล่าสุดได้ดำรงตำแหน่ง รองแม่ทัพน้อยที่ 1
- วรยศ เหลืองสุวรรณ จากตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ในการแต่งตั้งล่าสุดได้ดำรงตำแหน่ง รองแม่ทัพภาคที่ 1
เส้นทางสร้างทหารอาชีพ กองทัพภายใต้รัฐบาลพลเรือน ยุติการรัฐประหารในประเทศไทย
จากที่ไล่เรียงกันมา เราจะพบว่า หากภายในกองทัพยังมีโครงสร้างเครือข่าย ครอบกองทัพไว้อีกทีอย่างผนึกกำลัง เหนียวแน่น และเป็นระบบราวกับมีกองทัพซ้อนกองทัพชั้นหนึ่งแล้ว และกองทัพก็เป็นรัฐซ้อนรัฐอีกชั้นหนึ่งด้วย จะเป็นการยากที่หลักการรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพจะเกิดขึ้นจริงได้ในสังคมไทย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ควรหลีกหนีที่จะพูดถึงปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับปมปัญหาบางอย่างที่หลายคนเลือกที่จะไม่พูด ตรงกันข้ามยิ่งเป็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการในทันที เพราะหลักการรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพเป็นสิ่งจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กองทัพถูกขับเคลื่อนในทิศทางที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อความปลอดภัยของประชาชน เสถียรภาพทางการเมืองและระบอบประชาธิปไตย
การปฏิรูปกองทัพจะสำเร็จได้หรือไม่ เพื่อให้กองทัพสอดคล้องกับการเป็นกองทัพสมัยใหม่ เป็นทหารอาชีพ ที่ปลอดอำนาจทางการเมือง เป็นกองทัพของประชาชน อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน อีกหนึ่งการปฏิรูปที่ต้องเกิดขึ้นด้วย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงเวลาที่ต้องพูดเรื่องการปฏิรูปในเรื่องที่นักการเมืองในระบบและใครหลายๆ คนพยายามเลี่ยงพูดอยู่ตลอดเวลา คือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ดังนั้น อย่างน้อยในเบื้องต้นต้อง ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 ยกเลิกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 แล้วย้อนกลับไปใช้รูปแบบเดิมที่มีสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขานุการในพระองค์ มีสถานะเป็นกรม อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ต้องทำให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง เพื่อให้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจจริงๆ
การเกิดขึ้นของกลุ่มเครือข่ายนายทหารสายวัง หรืออีกนัยหนึ่งคือทหารที่ใกล้ชิดสถาบันกษัตริย์ ดูเหมือนจะสร้างความั่นคงให้กับสถาบันกษัตริย์ แต่แท้จริงแล้ว กลับสร้าง “ความไม่มั่งคง” อย่างน่าจับตา
ที่บอกว่าเป็น”ความไม่มั่นคง” นั้น หมายความว่าทหารส่วนใหญ่ที่มีความตั้งใจและมีความคาดหวังในการเติบโตทางราชการ เพื่อขึ้นตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่อาจไปต่อไม่ได้ ไปได้ไม่สุด หากไม่ได้เข้าไปใกล้ชิด ไม่มี”ตั๋ว” ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปฝึกบางหลักสูตร ซึ่งทหารที่รู้สึกแบบนี้อาจเป็นทหารส่วนใหญ่ของกองทัพด้วยซ้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังทำให้เกิดสภาวะแปลกแยก (Alienation) ในหมู่ทหารด้วยกันเอง แปลกแยกทั้งต่อตนเอง กองทัพ และต่อระบบระบบแบบนี้กำลังกันให้ทหารบางส่วนรู้สึกเป็น “คนนอก” ของกองทัพ ซึ่งเป็นอันตราย เพราะหากเกิดในพื้นที่อื่นก็มีความอันตรายในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดสภาวะคนนอก ในกลุ่มผู้ที่สามารถเข้าถึงอาวุธสงครามได้อย่างอาชีพทหาร จึงยิ่งสร้างความอันตรายมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่นับว่าพอนำกำลังที่อยู่ในเมืองหลวงถูกโอนย้ายเข้าไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ทั้งหมด หากต่อไปมีนายทหารคิดกำเริบเสิบสาน ทำการรัฐประหารขึ้นมาอีก แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะเซ็นรับรองการรัฐประหารหรือไม่ก็ตาม ประชาชนก็อาจคิดเชื่อมโยง ตั้งข้อสงสัยว่า เช่นนั้นแล้ว การรัฐประหารเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งๆ ที่กองกำลังในพื้นที่เมืองหลวงแทบไม่เหลืออยู่ภายใต้อำนาจของผู้บัญชาการเหล่าทัพแล้ว หรือแม้กระทั่ง การที่ผู้นำเหล่าทัพ ที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งได้ ล้วนมาจาก “นายทหารคอแดง” ที่ผ่านการฝึกและใกล้ชิดกับศูนย์ฝึกวังทวีวัฒนาทั้งสิ้น เช่นนั้นแล้วประชาชนจะคิดอ่านกันอย่างไร?
การมีนายทหารในสังกัดที่สั่งได้ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา เป็นทหารที่คัดมาแล้วว่ามี “ความจงรักภักดี” ดูเหมือนจะสร้างความมั่นคงให้แก่สถาบันกษัตริย์ได้ แต่ประวัติศาสตร์จากต่างประเทศมากมายก็พิสูจน์ว่า กลุ่มคนที่ทำอันตรายหรือสร้างความสั่นคลอนให้กับสถาบันกษัตริย์จริงๆ ก็ล้วนมาจากคนใกล้ชิด กลุ่มทหารที่มีอาวุธด้วยกันทั้งนั้น สิ่งที่คิดว่ามั่นคง จริงๆ แล้วอาจไม่ได้มีความมั่นคงเลยก็ได้
ทางออกในหลายๆ ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น โดยมากจะไปในทิศทางที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ปลอดอำนาจโดยแท้ ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ รวมถึงต้องเป็นกลางทางการเมือง และเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเท่านั้น เมื่อเป็นดังนั้นก็ไม่มีความกังวลใดต้องกลัวเกรงเรื่องความไม่มั่นคงของสถาบันกษัตริย์อีกต่อไป เนื่องจากหากมีเงื่อนไขข้างต้น การวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชนก็จะมุ่งไปที่รัฐบาลเพราะรัฐบาลเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริง กษัตริย์เพียงแต่ทรงลงพระปรมาภิไธยในเรื่องต่างๆ ตามที่ผู้เสนอและผู้สนองถวายคำแนะนำมาเท่านั้น คนที่รับสนองพระบรมราชโองการต้องเป็นคนรับผิดชอบเอง นอกจากนี้ บุคลากรคนทำงานของกษัตริย์ก็ต้องแต่งตั้งแค่บุคลากรในงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้นและขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลพลเรือนทั้งหมด อีกทั้งการดูแลกองทัพ การถวายความปลอดภัยก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการ จำเป็นต้องดูแลประมุขของรัฐอย่างสมพระเกียรติ ซึ่งหน้าที่เหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลพลเรือนโดยแท้
อ้างอิง
1. ปิยะภพ มะหะมัด. 2559. ความเป็นมาของหลักสูตรการฝึกเพิ่มเติมทางทหาร : หลักสูตรทหารเสือและทหารมหาดเล็ก. มติชนสุดสัปดาห์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน
2. หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พันโท ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช.2528.
3. วาสนา นาน่วม. 2557. เส้นทางพยัคฆ์ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากทหารเสือสู่หลังสือ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน
4. อ้างแล้ว
5. ทีมข่าวการเมือง. 2564. ทหารเสือราชินี ในสายเลือดต้นกำเนิดประยุทธ์. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: “ทหารเสือราชินี” ในสายเลือด ต้นกำเนิด “ประยุทธ์” (bangkokbiznews.com)
6. วาสนา นาน่วม. 2560. ทหารสายวงศ์เทวัญ บูรพาพยัคฆ์คืออะไร.ออนไลน์.แหล่งที่มา ทหารสายวงศ์เทวัญ บูรพาพยัคฆ์คืออะไร ? – YouTube.
7. อ้างแล้ว
8. สำนักข่าวเดอะแสตนดาร์ต. 2565. ผบ.ทบ. นำ 179 นายพล ถวายสัตย์ต่อหน้าอนุสาวรีย์ ร.5 ปกป้องสถาบันฯ-ดำรงเกียรติทหาร.
9. สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี. 2563. ทหารคอแดง: การก่อกำเนิดของเครือข่ายกษัตริย์ใหม่. ออนไลน์. แหล่งที่มา ทหารคอแดง: การก่อกำเนิดของเครือข่ายกษัตริย์ใหม่ | ประชาไท Prachatai.com
10. อ้างแล้ว
11. อ้างแล้ว
12.สำนักข่าวบีบีซีไทย.2562. โปรดเกล้าฯ พ.ร.ก. โอนกำลังพล-งบประมาณบางส่วนของกรมทหารราบที่ 1-ราบ 11 ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์.ออนไลน์. แหล่งที่มา โปรดเกล้าฯ พ.ร.ก. โอนกำลังพล-งบประมาณบางส่วนของกรมทหารราบที่ 1-ราบ 11 ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ – BBC News ไทย.
13. ส่วนราชการในพระองค์. ออนไลน์. แหล่งที่มา โครงสร้างหน่วยงาน – หน่วยราชการในพระองค์ (royaloffice.th)
14. สำนักข่าวไทยโพสต์. 2560. โปรดเกล้าฯแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ให้ดํารงตําแหน่งจํานวน 44 ราย.
15. สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ. 2560. ออนไลน์. แหล่งที่มา โปรดเกล้าฯ ‘พล.ต.ท.อรรถกร’ เป็นรองผบฯ (พล.ต.อ.พิเศษ) (bangkokbiznews.com)
16. สำนักข่าวไทยรัฐ. 2564. ออนไลน์. แหล่งที่มาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “พลเอกธรรมนูญ” เป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหาร (thairath.co.th)
17. อ้างแล้ว
18. กองทัพบกตามพระราโชบาย. 2560
19. สำนักข่าวไทยโพสต์. 2562. เส้นทางดาวจรัสแส “ฉก.คอแดง” มารู้จัก “ขุนพลรักษาพระองค์” สุดเป๊ะ!. ออนไลน์. แหล่งที่มา เส้นทางดาวจรัสแสง “ฉก.คอแดง” มารู้จัก “ขุนพลรักษาพระองค์” สุดเป๊ะ! (thaipost.net)
20. ฐานเศรษฐกิจ. 2563. หลักสูตร “ฉก.คอแดง” ตีปีกพึ่บพั่บขึ้นคุมกองทัพ. ออนไลน์. แหล่งที่มา หลักสูตร “ฉก.คอแดง” ตีปีกพึ่บพั่บขึ้นคุมกองทัพ (thansettakij.com)
21. โรงเรียนทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์. 2560. คู่มือการฝึกว่าด้วยแบบฝึกบุคคลท่าอาวุธปืนเล็กสั้นไมโครทาเวอร์และอาวุธปืนเล็กสั้น เอ็ม 4 เอ 1
22. อ้างแล้ว
23. หน่วยราชการในพระองค์ 904. 2560. หนังสือราชการถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความอนุเคราะห์ออกประกาศรับสมัครทหารกองหนุนและพลเรือน(ชาย)เข้ารับราชการ.
24. กองบัญชาการกองทัพไทย. 2565. 50 หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ. 904)
25. กรุงเทพธุรกิจ. 2565. นับถอยหลัง สิ้นอำนาจ “3 ป.” “กองทัพ”เปลี่ยนขั้ว รับการเมืองใหม่. ออนไลน์. แหล่งที่มา นับถอยหลัง สิ้นอำนาจ “3 ป.” “กองทัพ”เปลี่ยนขั้ว รับการเมืองใหม่ (bangkokbiznews.com)
26. ราชกิจจานุเบกษา. 2565. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องให้นายทหารรับราชการ
27. อ้างแล้ว