หลังจากโครงการ ‘อ่านเปลี่ยนโลก’ คัดหนังสือ 21 ปกคุณภาพให้นักอ่านได้ยืมหนังสือฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นเวลาหนึ่งปีกว่าๆ ในปีนี้โครงการ ‘อ่านเปลี่ยนโลก’ ของ Common School โดยคณะก้าวหน้าสานต่อภารกิจในการทำงานทางความคิด เพื่อขยายพรมแดนความรู้ เปิดจินตนาการความเป็นไปได้ใหม่ๆ ผ่านการอ่าน เราได้คัดสรรหนังสือใหม่ทั้งประวัติศาสตร์ ปรัชญา เศรษฐศาสตร์การเมือง เรื่องสั้น งานคลาสสิก และวรรณกรรมแบบเข้มข้นจำนวน 10 ปกให้นักอ่านได้เลือกสรร เพื่อกระตุ้นจินตนาการความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการเปลี่ยนโลกให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

1. ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา

ผู้เขียน : วรเจตน์ ภาคีรัตน์

สำนักพิมพ์ : อ่านกฎหมาย

‘ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา’ ปกแข็งสีแดง เล่มหนาของวรเจน์ ภาคีรัตน์ ศาสตราจารย์กฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ว่าความตั้งใจของผู้เขียนหนังสืออยากจะให้เป็นหนังสืออ่านประกอบในการบรรยายวิชานิติปรัชญา แต่หนังสือเล่มนี้ยังเหมาะสำหรับคนทั่วไปที่สนใจปรัชญาและกฎหมาย รวมถึงประวัติศาสตร์ความคิดของนักปรัชญาด้วย หนังสือเล่มนี้จะพาคุณไปย้อนสำรวจความคิดทางนิติปรัชญาของนักคิดตั้งแต่ยุคกรีกที่เราคุ้นชื่อจนถึงศตวรรษที่ 20 วรเจตน์ไม่เพียงแต่ฉายภาพให้เห็นความคิดทางนิติปรัชญาของนักคิดแต่ละคนเท่านั้น แต่ยังพาเราไปสำรวจบริบททางประวัติศาสตร์ สภาพสังคม ระบบการเมืองการปกครองที่แวดล้อมนักปรัชญาแต่ละคนด้วย ทำให้คุณเห็นภาพกว้างของโลกแห่งนิติปรัชญาอย่างเป็นระบบและชวนให้เราใคร่ครวญถึงปัญหาพื้นฐานทางกฎหมายอย่างลึกซึ้ง

ในยามที่กระบวนการยุติธรรมของไทยมืดมนและความตกต่ำของวงการกฎหมายไทย หนังสือเล่มนี้เหมาะมากที่จะหยิบขึ้นมาอ่านเพราะไม่มีห้วงเวลาใดที่เรื่องราวในโลกนิติปรัชญากับโลกแห่งกฎหมายทางปฏิบัติจะอยู่ใกล้เพียงแค่ปลายนิ้ว หนังสือเล่มนี้จะช่วยกระตุ้นความคิด กระตุกปัญญา ตั้งคำถามต่อทัศนะทางนิติปรัชญาที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน

2. อำลาพุทธราชาชาตินิยม: วิพากษ์แนวคิดชาตินิยมแบบพุทธของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต)

ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์ 

สำนักพิมพ์ : Illumination Editions 

หากเราพูดถึงนักวิชาการที่วิพากษ์พุทธศาสนาในประเทศไทยอย่างถึงราก ชื่อของสุรพศ ทวีศักดิ์คงเป็นขื่อแรกๆ ที่เราจะนึกถึง เรามักจะเห็นบทบาทของเขาในการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นศาสนาพุทธไทยอย่างขันแข็งบนโซเชียลมีเดีย อำลาพุทธราชาชาตินิยมหนังสือเล่มล่าสุดของสุรพศจะพาเราไปตั้งคำถาม หาคำตอบว่าเหตุใดพระภิกษุสงฆ์ไทยจึงไม่สามารถแสดงความเห็น เสวนา อภิปราย การชุมนุมในทางสนับสนุนเสรีภาพและประชาธิปไตยไม่ได้ ในขณะที่การเทศนาเพื่อปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ได้ หรือแสดงออกด้วยวิธีการใดๆ เพื่อสนับสนุนอุดมการณ์ดังกล่าวจึงสามารถทำได้  มีรากฐานมาจากอะไร 

สุรพศไม่เพียงแต่พาเราไปตั้งคำถามถึงพุทธราชาชาตินิยมเท่านั้น เขายังได้วิพากษ์แนวคิดชาตินิยมแบบพุทธของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่มีบทบาทอย่างสูงในการควบคุมความถูกต้องของคำสอนทางพุทธศาสนาเถรวาทและมีอิทธิผลต่อแวดวงวิชาการพุทธศาสนาไทยอย่างมากที่ทำให้เราเห็นปัญหาในปริมณฑลของศาสนาและการเมือง ด้วยกรอบคิดเสรีนิยมและโลกวิสัยที่นับว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่แหลมคม 

หากคุณสนใจเป็นคนที่สนใจประเด็นเรื่องปัญหาพุทธศาสนาอยู่แล้ว อำลาพุทธราชาชาตินิยมของสุรพศเป็นเล่มที่คุณไม่ครพลาดเป็นอย่างยิ่งจะทำให้คุณเข้าใจปัญหารากฐานที่ฝังแน่นอยู่ในพุทธศาสนาไทย พร้อมข้อเสนอออกจากพุทธราชาชาตินิยมที่เปิดประตูความเป็นไปได้สู่การแยกศาสนาออกจากรัฐ เพื่อจัดความสัมพันธ์ของทั้งสองใหม่ให้สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่

3. บ้านที่กลับไม่ได้

ผู้เขียน : บุญเลิศ วิเศษปรีชา

สำนักพิมพ์ : มูลนิธิกระจกเงา

หนังสือขนาดกระทัดรัดของบุญเลิศ วิเศษปรีชา ผู้ถูกขนานนามว่าเป็นนักมานุษยวิทยาสายสตรีท บุญเลิศทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง ‘คนไร้บ้าน’ เขาทำงานภาคสนามเก็บข้อมูลทำวิจัยเป็นคนไร้บ้านในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ นานร่วม 16 เดือน   เพื่อทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์อย่างลึกซึ้งรอบด้านและหาคำตอบว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้คนหนึ่งคนที่เคยมีบ้านกลายเป็นคนไร้บ้านในที่สุด

หนังสือรวมเรื่องสั้นของบุญเลิศเล่มนี้เป็นเรื่องราวของคนไร้บ้านทั้ง 8 ชีวิตในกรุงมะนิลา บุญเลิศได้ทดลองเล่าปัญหาดังกล่าวและชวนเราให้รับรู้ ‘ความรู้สึก’ และเข้าใจ ‘พฤติกรรม’ และ ‘ตัวตน’ ของคนไร้บ้านผ่านวรรณกรรม ทำให้คนไร้บ้าน ชนชั้นล่างได้โลดแล่นในแวดวงวรรณกรรมไทยอีกครั้งและทำให้เราเห็นว่าเราควรสนใจประเด็นเรื่องคนไร้บ้าน ไม่ใช่เพราะพวกเขายากไร้ แต่เพราะพวกเขาเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา หนังสือเล่มนี้รอคอยให้ทุกคนกระโจมเข้าไปผจญภัยในโลกของคนไร้บ้านอยู่

4. แปดขุนเขา (Le otto montagne)

ผู้เขียน : เปาโล คนเญตติ

ผู้แปล : นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ 

สำนักพิมพ์ : อ่านอิตาลี 

สำหรับใครที่ชื่นชอบการออกไปท่องเที่ยวผจญภัยท่ามกลางธรรมชาติ ห้อมล้อมไปด้วยผืนป่า ทุ่งหญ้า และภูเขา พร้อมอากาศเย็นๆ ลมหนาว และแสงแดดอ่อนๆ ที่มากระทบตัว และเป็นผู้ที่มีความทะเยอทะยานที่จะพิชิตยอดเขาแล้วล่ะก็ไม่ควรพลาด ‘แปดขุนเขา’ ของเปาโล คนเญตติ สำนวนการแปลของนันธวรรณ์ด้วยประการทั้งปวง ความดีงามของเล่มนี้อยู่ตรงที่การใช้สำนวนภาษาที่สละสลวยบรรยายถึงฉาก บรรยากาศของวิวทิวทัศน์ กลิ่นอายของธรรมชาติ สถานที่ต่างๆ ได้อย่างงดงามชวนให้เราจินตนาการเห็นภาพได้ชัดเจน ราวกับว่าผู้อ่านหลุดเข้าไปในเล่มนี้และร่วมเดินทางไปกับตัวละครด้วย ไม่เพียงแค่ความงดงามของภาษาเท่านั้น แต่ทุกบทสนทนาของตัวละครในเรื่องยังแฝงไปด้วยปรัชญา บทเรียน แง่มุมต่างๆ ของชีวิตที่รอให้คุณเข้าไปสนทนาด้วย พร้อมออกเดินทางกันหรือยัง ? ถ้าพร้อมแล้วหยิบแปดขุนเขาขึ้นมาอ่าน แล้วออกเดินทางไปพร้อมกัน !

5. ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน

ผู้เขียน : รัช

สำนักพิมพ์ : Paragraph 

‘ในแดนวิปลาส’ นวนิยายไทยเล่มนี้ของรัช บันทึกบาดแผลแห่งยุคสมัยของสามัญคนธรรมดาในดินแดนแห่งหนึ่ง เขาฉายภาพให้เราเห็นฉากหน้าของสังคมที่สวยงาม แต่เบื้องหลังกลับเป็นดินแดนเต็มไปด้วยการกดขี่ คุกคาม กดปราบ สังคมแห่งความอยุติธรรมที่ปรากฎให้เห็นทุกอณู แทบทุกหน้ารัชพาเราดำดิ่งไปสัมผัสถึงความเจ็บปวดรวดร้าว แสดงให้เห็นถึงบาดแผลของตัวละคร ดูเหมือนว่าเหตุการณ์และสถานที่ในนวนิยายเล่มนี้จะอยู่ไม่ใกล้ไม่ใกล้จากสังคมที่เรากำลังอาศัยอยู่ นวนิยายไทยเล่มนี้รอทุกคนเข้าไปสำรวจโลกคู่ขนานได้ปรากฎขึ้นต่อหน้าทุกคนแล้ว ‘แด่สังคมอันสงบสุขที่มีความวิปลาสอยู่คู่ขนาน’

6. ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่

ผู้เขียน : คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร

สำนักพิมพ์ : มติชน

การรับรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยาของสังคมไทย เรามักรับรู้เพียงแค่เรื่องการทำสงคราม การรัฐประหารช่วงชิงบัลลังก์ระหว่างราชวงศ์ เพื่อขึ้นมาเป็นใหญ่ หรือกระทั่งพล็อตยอดฮิตที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนานคือ เรื่องราวของการเสียงกรุงฯ หรืออริราชศัตรูอย่างพม่าที่เผาวัดวาอารมในอยุธยาลอกทองคำกลับไปหงสาวดี ประวัติศาสตร์อยุธยาในการรับรู้ของคนไทยจึงเต็มไปด้วยความคับแคบ ไม่รอบด้าน และเต็มไปด้วยเรื่องราวของชนชั้นนำผู้ปกครองแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีพื้นที่ให้กับคนธรรมดาสามัญชนที่มีบทบาทสำคัญในการก่อร่างสังคมอยุธยาขึ้นมา ทั้งยังแฝงไปด้วยอคติความเกลียดชังที่มีต่อเพื่อนบ้าน

จะดีกว่าไหมถ้าเราจะศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาในมุมของประวัติศาสตร์สังคมที่จะทำให้เราเห็นพัฒนาการการก่อตัวของอาณาจักรแห่งนี้ด้วยมุมมองที่กว้างขึ้นและรุ่มรวยข้อมูลอย่างรอบด้านผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์และงานวิชาการจากทั่วโลกที่จะทำให้เราเข้าใจสังคมอยุธยาทั้งในมิติการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เพื่อทำเข้าใจอดีตอย่างที่มันควรจะเป็นและก้าวข้ามอคติความเกลียดชังที่ฝังแฝงอยู่ในการรับรู้ของเรา

7. น้ำตาเหือด แล้วเลือดตก : สาธกการเมืองไทยในวรรณกรรมโลก

ผู้เขียน : ไชยันต์ รัชชกูล 

สำนักพิมพ์ : สมมติ

“การสร้างชาติให้ยิ่งใหญ่ต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคนและอาศัยพลังมหาศาล ต้องรวมผู้คนทั้งแผ่นดิน… มันจะมิเป็นการโอ้อวดไปหน่อยหรือที่จะป่าวประกาศว่าบทบาทในการสร้างชาติของผู้หนึ่งผู้ใดควรได้รับการเทิดทูนอยู่เหนือศีรษะประชากรทั้งปวง”

บางส่วนจากหนังสือเล่มนี้ของไชยันต์ รัชชกูล รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ ผู้หลงใหลในวรรณกรรมเป็นอย่างมากแสดงให้เห็นถึงถ้อยคำที่ความแสบทรวง ชวนให้เราฉุกคิด ตั้งคำถามไปกับวรรณกรรมของนักเขียนระดับโลก งานเขียนในเล่มนี้เป็นการรวมบทความวิจารณ์วรรณกรรมที่ใช้อุบายที่เล่นกับความเป็นสาธกวิจารณ์เป็นคันฉ่องสะท้อนการเมืองไทยได้อย่างลุ่มลึก แหลมคม เปิดโอกาสให้เราเข้าไปตีความอยู่เสมอ ทั้งตอบโต้สถานการณ์การเมืองโดยตรงและไม่ได้เฉพาะเจาะจงในกาละเทศะใด 

สำหรับเขาแล้วนี่เป็นบันทึกเศษเสี้ยวความคิดความรู้สึกทางสังคมการเมืองในช่วงทศวรรษ2550  ท่ามกลางสมรภูมิระหว่างฝ่ายซาบซึ้งน้ำตาไหลกับฝ่ายที่น้ำตาเหือดแล้วเลือดไหล หนังสือเล่มนี้จึงพยายามชวนเราไปเปิดโลกวรรณกรรมมาอ่านชีวิต รวมถึงชวนคิดเรื่องสังคม การเมืองด้วยความเชื่อว่าเรื่องราวของมนุษย์ที่พรรณนาในรูปวรรณกรรมจะช่วยให้เรามองสรรพสิ่งจากมิติต่างๆ ได้อย่างรอบด้านมากขึ้น

8. เศรษฐศาสตร์ความจน

ผู้แปล : ฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์

ผู้เขียน : Abhijit Banerjee & Esther Duflo 

สำนักพิมพ์ : Salt 

ความยากจนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมทุนนิยมมาอย่างยาวนาน ความยากจนกลายเป็นอีกด้านของการพัฒนา เป็นสิ่งที่บั่นทอนชีวิตของผู้คนมากมาย และทำให้มนุษย์ไม่สามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดได้ เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นความยากจนอย่างลึกซึ้งรอบด้าน สองนักเขียนรางวัลโนเบล ด้านเศรษฐศาสตร์ ปี 2019 จะชวนเราไปปฏิวัติความคิดเกี่ยวกับวิธีพิชิตและทลายมายาคติความยากจน แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะพยายามหาคำตอบว่าเราจะออกจากความยากจนอย่างไร เราอาจไม่พบคำตอบสำเร็จรูปจากเล่มนี้ แต่ผู้เขียนจะค่อยๆ พาเราไปร่วมกันหาคำตอบผ่านการสะสมองค์ความรู้ ผ่านเรื่องราวของคนยากจน ผ่านการทดลองที่รัดกุม และข้อมูลเชิงประจักษ์ 

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เหมาะสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ คนที่สนใจเศรษฐศาสตร์ หรือนักเทคนิคเท่านั้น แต่หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของพวกเราทุกคนที่ต้องอาศัยอยู่ในโลกคู่ขนานที่ระบบทุนนิยมได้ทิ้งมรดกนี้ไว้ให้พวกเราทุกคนต้องเผชิญร่วมกัน และเป็นเรื่องของความหวังที่มวลมนุษยชาติจะสามารถมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ ตราบใดที่เรายังมีความยากจนอยู่ การหาหนทางที่จะปลดปล่อยผู้คนออกจากความยากจนและทำให้ผู้คนมีความเสมอภาคสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ยังคงเป็นภารกิจของพวกเราที่ต้องช่วยกันต่อไป  เศรษฐศาสตร์คนจนจะเป็นประตูอีกบานที่จะทำให้เราหาคำตอบออกจากความยากจนได้

9. เมื่อโลกพลิกผัน การปฏิวัติอุตสาหกรรม จุดกำเนิดการเมืองและเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน

ผู้เขียน : คาร์ล โปลานยี 

ผู้แปล : ภัควดี วีระภาสพงษ์

สำนักพิมพ์ : ฟ้าเดียวกัน 

สมัยที่เรายังเรียนวิชาสังคมศาสตร์ในชั้นเรียน เราคงเห็นคำว่า ‘ปฏิวัติอุตสาหกรรม’ ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง แต่ก็เป็นความรู้เพียงพื้นฐานมากๆ เท่านั้น ทั้งๆ ที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์โลกที่เรียกได้ว่า พลิกพันโลกไปสู่ความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น และผลกระทบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็สร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่เปลี่ยนวิถีชีวิต วิธีคิดของผู้คนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ และยังก่อรูประบบตลาด สังคมสมัยใหม่ และรูปแบบของรัฐใหม่ขึ้นมาอีกด้วย

คาร์ล โปลานยีเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เพื่อพยายามทำความเข้าใจโลกสมัยใหม่ภายหลังการขึ้นมาของ ‘ระบบตลาด’ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 19 ไม่เพียงแต่ก่อรูปสังคมสมัยใหม่ หรือการจัดองคาพยพของสังคมภายใต้ระบบเศรษฐกิจตลาดขึ้นมาเท่านั้น แต่ตามข้อเสนอของโปลานยี ‘มนุษย์เศรษฐกิจ’ (Homo Economicus) ก็เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ด้วย รวมเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในระดับทัศนะ วิธีคิด และพฤติกรรมความเคยชินของมนุษย์ปัจเจกชนอีกด้วยที่พาเราเข้าสู่ยุคสมัยใหม่อย่างไม่อาจหวนหลับ เพื่อที่จะเข้าใจปัจจุบันอย่างเท่าทันโลก เราอยากชวนคุณย้อนกลับไปศึกษาอดีต เพื่อทำความเข้าใจการปฏิวัติขนานใหญ่ที่ส่งผลต่อชีวิตผู้คนทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน

10. ฐานันดรที่สามคืออะไร?

ผู้เขียน : Emmanuel Joseph Sieyes 

ผู้แปล : ภัควดี วีระภาสพงษ์

สำนักพิมพ์ : BOOKSCAPE 

หากพูดถึงปฏิวัติฝรั่งเศส เราคงจะนึกถึงการลุกฮือของประชาชนตัดหัวด้วยกีโยติน  ทว่านั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสารธารการปฏิวัติอันยาวนานในประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสเท่านั้น เพื่อจะทำความเข้าใจปฏิวัติฝรั่งเศสมากยิ่ง เราอยากชวนคุณอ่านฐานันดรที่สามคืออะไร ? เล่มขนาดกระทัดรัดของเอ็มมานูแอล โจเซฟ ซิแยส ผู้อุทิศตนเพื่อการปฏิวัติ ว่าหนังสือเล่มนี้มีส่วนในการก่อร่างภูมิปัญญาจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ในการจุดชนวนให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 โค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงได้อย่างไร ?

ซิแยสชวนให้เราให้ตระหนักถึงความสำคัญของตนในฐานะประชาชนผู้ก่อร่างสร้างชาติ ผู้อุทิศเลือดเนื้อและหยาดเหงื่อเพื่อความอุดมสมบูรณ์และรุ่งเรืองของประเทศ แม้การเดินทางของหนังสือที่ทรงอิทธิพลต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสจะมีอายุ 232 ปีแล้วก็ตาม แต่เนื้อหาในเล่มนี้กลับเดินทางข้ามพื้นที่และเวลายังคงร่วมสมัยกับสังคมไทยที่ยังต้องทวงถามถึงอำนาจสูงสุดว่าเป็นของใคร ? 

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด