ดูรายละเอียดหนังสือที่นี่

อ่านเปลี่ยนโลก (Reading Revolution) คือ โครงการส่งต่อหนังสือ ให้ยืมหนังสืออ่านฟรี! เพื่อขยายพรมแดนความรู้ เปิดจินตนาการความเป็นไปได้ใหม่ๆ ผ่านการอ่านของ Common School โดย คณะก้าวหน้า

เพราะเราเชื่อว่าสังคมอุดมปัญญาจะเกิดขึ้นได้จริงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่ก้าวหน้าพร้อมๆ กับเสรีภาพในการแสวงหาความรู้และวิพากษ์วิจารณ์ไปพร้อมกัน

เราจึงคัดเลือกหนังสือที่กระตุ้นให้เกิดจินตนาการความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ปรัชญาการเมือง ศิลปะ และวรรณกรรม ทั้งหมดจำนวน 21 ปก จาก 12 สำนักพิมพ์ เพื่อนำมาแบ่งปันให้ทุกคนได้อ่านในรูปแบบการยืมและส่งต่อ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย!

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Reading Group เปิดวงเสวนาให้นักอ่านได้ถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับนักเขียน นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญหลังอ่านหนังสือจบ รวมทั้งการจัดอบรมเขียนบทวิจารณ์หนังสือ (Book Review) ให้นักอ่านได้มีโอกาสรังสรรค์งานเขียนวิจารณ์หนังสือ งานบรรณาธิกร พร้อมเปิดพื้นที่เผยแพร่ให้สาธารณชนได้อ่านกัน

วิธีการยืม-คืนหนังสือ

  1. ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถยืมหนังสือได้คนละ 1 เล่ม / ครั้ง เพียงกรอกแบบฟอร์มยืมหนังสือ เราจะส่งให้ฟรีถึงบ้าน
  2. ระยะเวลาในการยืมหนังสือคือ 30 วัน / ครั้ง โดยเริ่มนับจากวันที่หนังสือถูกส่งออก
  3. ทางโครงการจะจัดส่งหนังสือทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่ผู้ยืมระบุมาภายในเวลา 7 วัน หลังทำรายการยืมหนังสือ โดยผูยืมจะได้รับอีเมลยืนยันการกรอดข้อมูลยืมในระบบ
  4. การคืนหนังสือ ผู้ยืมสามารถส่งคืนได้ฟรีผ่านซองติดสแตมป์ที่แนบไปในกล่อง โดยต้องส่งผ่านไปรษณีย์ไทยเท่านั้น

    ที่อยู่ “สำนักงานคณะก้าวหน้า Common School เลขที่ 167 ชั้น 2 ซอยรามคำแหง 42 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240”

    หากผู้ยืมประสงค์จะส่งหนังสือคืนผ่านบริการขนส่งอื่นๆ นอกจากไปรษณีย์ไทย ผู้ยืมต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งด้วยตนเอง และกรุณากรอกเลข tracking การส่งผ่านบริการขนส่งอื่นๆ ในแบบฟอร์มนี้
  5. กรณีส่งคืนหนังสือเกินเวลาที่กำหนด 7 วัน หนังสือหายหรือไม่ส่งคืน ทางโครงการขอตัดสิทธิ์ในการยืมครั้งถัดไป
    เพราะหนังสือเป็นของเราทุกคน โดยมี Common School และคณะก้าวหน้าเป็นผู้ดูแล

หากพบปัญหาในการยืม-คืนหนังสือ หรือสอบถามเกี่ยวกับกิจกรรม “Reading Revolution : อ่านเปลี่ยนโลก” ติดต่อได้ที่อีเมล [email protected]


มาโชว์กันหน่อย!

ใครยืมหนังสือไปแล้ว ช่วยกันบอกเล่าความประทับใจ องค์ความรู้ มุมมองว่าหนังสือจากห้องสมุดอ่านเปลี่ยนโลก ทำให้ความคิดของคุณเปลี่ยนไปอย่างไร?​ หรือจะชวนเพื่อนมายืมหนังสืออ่านกันก็ได้

โพสต์ภาพพร้อมติด #อ่านเปลี่ยนโลก ในช่องทางโซเซียลมีเดียของคุณเองได้ทุกช่องทาง

หนังสือ 21 ปกที่เราคัดสรรมา เพื่ออ่านเปลี่ยนโลก

(1) เสรีนิยมกับประชาธิปไตย 

ผู้เขียน :   นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ 

แปล : เกษียร เตชะพีระ

สำนักพิมพ์ : คบไฟ

รู้หรือไม่ว่า “เสรีนิยม” กับ “ประชาธิปไตย” มีความหมายต่างกัน ในขณะที่ ”เสรีนิยม” มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมให้เกิดทางเลือกของปัจเจกบุคคล “ประชาธิปไตย” ให้น้ำหนักไปกับการตัดสินใจความเป็นไปในสังคมร่วมกันของประชาชน แม้สองแนวคิดวางอยู่บนหลักการต่างกัน แต่มันก็แยกขาดจากกันไม่ได้ และรัฐที่ดีควรมีทั้งสองอย่างในสัดส่วนที่เหมาะสม

หากรัฐบาลบังคับให้ประชาชนใส่กางเกงในสีเดียวกันทั้งหมด เพราะทุกคนต้องตัดสินใจร่วมกันตามแบบประชาธิปไตย มันคงจะฟังดูเป็นเรื่องเลยเถิด พอ ๆ กับที่รัฐปล่อยให้ปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ในการแก้ผ้าเดินไปไหนก็ได้ตามอำเภอใจ แม้หลักเกณฑ์ในเรื่องนี้อาจเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยก็ตาม

การตัดสินใจว่าในเรื่องใดควรเป็นเสรีนิยม และเรื่องใดควรเป็นประชาธิปไตยเป็นโจทย์ปัญหาที่สำคัญยิ่ง และดูเหมือนว่าจะไม่มีใครพูดถึงปัญหาในเรื่องนี้ได้ดีไปกว่านอร์แบโต บ๊อบบีโอ ในหนังสือเรื่อง “เสรีนิยมกับประชาธิปไตย” ที่แปลเป็นไทยโดยเกษียร เตชะพีระ บ๊อบบีโอได้นำปรัชญาของนักคิดต่าง ๆ มาอธิบายแนวคิดทั้งสองนี้เอาไว้อย่างลึกซึ้งและเป็นระบบ ผู้อ่านจะได้เข้าใจถึง “เสรีนิยม” และ “ประชาธิปไตย” มากขึ้นไปอีกขั้น โดยเฉพาะในช่วงยามที่สังคมไทยอาจกำลังต้องการสองคำนี้มากที่สุด  

(2) ฉีกแผ่นดิน : อิสลามและปัญหาความชอบธรรมในภาคใต้ ประเทศไทย

ผู้เขียน :   ดันแคน แม็กคาร์โก

แปล : ณัฐธยาน์ วันอรุณวงศ์

สำนักพิมพ์ : คบไฟ


ทำไมปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงไม่คลี่คลายเสียที หนังสือ “ฉีกแผ่นดิน” น่าจะเป็นหนึ่งในงานที่ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ดันแคน แม็กคาร์โก พรรณนาและอธิบายความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านแง่มุมต่าง ๆ ไว้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นบทบาทหน่วยงานความมั่นคงของรัฐไทยในฐานะส่วนหนึ่งของปัญหา หรือความเข้าใจผิด ๆ ที่มองว่าปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความขัดแย้งทางศาสนา หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าปมปัญหาที่อยู่ใจกลางความขัดแย้ง ไม่ใช่สิ่งอื่นใด แต่คือปัญหาว่าด้วย “ความชอบธรรม”

(3) ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร

ผู้เขียน :   ชาตรี ประกิตนนทการ 

สำนักพิมพ์  มติชน


หมุดคณะราษฎรกำลังเป็นประเด็นร้อนขึ้นทุกที ดูเหมือนความพยายามของรัฐบาลในการ “ทุบ-รื้อ-ถอน-ทำลาย” ศิลปะและสถาปัตยกรรมของคณะราษฎรในช่วงที่ผ่านมากำลังส่งผลในด้านกลับ เพราะข่าวที่พบเห็นได้เป็นประจำกำลังย้ำเตือนให้ประชาชนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม

เพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมนี้  งานเรื่อง “ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” ของชาตรี ประกิตนนทการ อธิบายให้เราเห็นว่า ศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยในช่วงทศวรรษ 2475-2490 ถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นเพียง “ศิลปะนอกขนบ” และอยู่ตรงกันข้ามกับ “ความเป็นไทย” ได้อย่างไร และเนื่องจากศิลปะของคณะราษฎรแฝงฝังไปด้วยอุดมการณ์และศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย งานของชาตรีจึงสะท้อนให้เห็นอีกด้านของความเป็นไทย และความเป็นไปได้ในการสร้างความเป็นไทยแบบใหม่ไปพร้อมกันด้วย

(4) ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย

ผู้เขียน :   คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร 

สำนักพิมพ์ : มติชน


“ฝรั่งจะไปเข้าใจอะไร” ดูเหมือนจะเป็นคำพูดที่ใช้ไม่ได้กับ คริส เบเกอร์ เพราะเขาเป็นนักประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่เข้าใจประวัติศาสตร์ไทยถ่องแท้ยิ่งกว่าคนไทยด้วยกันเสียอีก ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย” ที่เขียนร่วมกับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ผู้อ่านจะได้พบเนื้อหาที่หาอ่านไม่ได้ง่าย ๆ จากตำราประวัติศาสตร์อื่น ๆ

ขณะที่ครูในโรงเรียนส่วนใหญ่พร่ำสอนให้เราท่องจำแต่ชื่อพระราชาจักร ๆ วงศ์ ๆ “ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย” ชี้ให้เห็นว่าอันที่จริงประวัติศาสตร์ไทยมีประชาชนในนั้นด้วย เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เป็นประวัติศาสตร์ “สังคม” มากกว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ “ราชาชาตินิยม” ตำราเล่มนี้จึงได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วโลกและนักประวัติศาสตร์ชั้นแนวหน้าในประเทศไทย และถ้าคุณอยากไปเรียนเมืองนอกแต่เงินไม่พอ การอ่านหนังสือเล่มนี้ก็อาจพอทดแทนได้ เพราะมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศล้วนใช้หนังสือเล่มนี้ประกอบการเรียนการสอนกันทั้งนั้น 

(5) จากมือตบถึงนกหวีด : พัฒนาการและพลวัตของขบวนการต่อต้านทักษิณ

ผู้เขียน :   กนกรัตน์ เลิศชูสกุล 

สำนักพิมพ์ : Illumination Edition


“อะไร ๆ ก็ทักษิณ” เป็นมีมหนึ่งที่เราสามารถพบได้ทั่วไปในประเทศไทย ทำไมผีทักษิณจึงไม่ขึ้นหายไปจากการเมืองเสียที ? ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะขบวนการต่อต้านทักษิณที่สร้างผีตัวนี้ขึ้นมา “จากมือตบถึงนกหวีด : พัฒนาการและพลวัตของขบวนการต่อต้านทักษิณ” โดย กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์รัฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นงานที่ช่วยให้เราเข้าใจหนึ่งในตัวแสดงที่สำคัญที่สุดของการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางกระแสการแปะป้ายผู้คนว่าเป็น “สลิ่ม” กนกรัตน์ชี้เห็นว่าสลิ่มหาใช่ไดโนเสาร์ที่ไร้วิวัฒนาการ ทว่ามีความซับซ้อน ความหลากหลาย และความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายอยู่ภายใน การจะปราบสลิ่มให้อยู่หมัดได้ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องเข้าใจความคิดของสลิ่มเสียก่อน และเป็นไปได้ว่าอาจจะไม่มีหนังสือเล่มใดดีไปกว่างานชิ้นนี้ของกนกรัตน์ หากเราต้องการที่จะเริ่มใจความเป็นไปของหนึ่งในตัวแสดงที่สำคัญที่สุดในการเมืองไทย 

(6) ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500 

ผู้เขียน :   ณัฐพล ใจจริง 

สำนักพิมพ์ : ฟ้าเดียวกัน


“รับเงินอเมริกันมาล้มเจ้า” คงเป็นคำกล่าวที่ “กลุ่มคนรัก พล.อ. ประยุทธ์” ใช้โจมตีนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยอยู่เนือง ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าอันที่จริงในช่วงสงครามเย็น ไม่มีใครรักเทิดทูนกษัตริย์ไทยมากไปกว่าซีไอเอ

“ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี: การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500” ผลงานชิ้นล่าสุดของ ณัฐพล ใจจริง ช่วยให้เราเห็นภาพการเมืองไทยยุคทศวรรษที่ 2490 ได้อย่างทะลุทะลวง โดยเฉพาะในช่วงที่อิทธิพลของพญาอินทรีแผ่ซ่านไปทุกที่

บุคคลสำคัญในการเมืองไทยที่มีทั้งคนรักและคนชัง อย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถือเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของช่วงนั้นที่ต้องขับเคี่ยวกับกลุ่มผู้เล่นต่าง ๆ มากมาย เขาก็เหมือนคนมากมายในประวัติศาสตร์ที่ยากจะตัดสินว่าแท้จริงแล้วเป็น “พระเอก” หรือ “ตัวร้าย” ใครเห็น จอมพล ป. เป็นไอดอล หรืออยากรู้จักเขามากกว่านี้ หนังสือเล่มนี้เป็นงานอีกชิ้นที่ควรค่าแก่การซื้อหามาอ่าน

สำหรับหนังสือเล่มนี้ แม้แต่ อ.ธงชัย วินิจจะกูล ยัง “ซูฮก” เพราะช่วยให้เห็นว่ากระแสต่อสู้กับ “ศักดินา” ไม่ใช่แค่เรื่องของฝ่ายซ้ายและคอมมิวนิสต์เท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองกระแสหลักในขณะนั้นด้วย การวิพากษ์วิจารณ์ “ศักดินา” ในขณะนั้นสามารถทำได้อย่างเปิดเผยและแพร่หลาย ท่ามกลางกระแสปัจจุบันที่ผู้นำประเทศออกมาโจมตีคนวิพากษ์วิจารณ์ “ศักดินา” ว่า “มีเบื้องหลัง” อยู่เนือง ๆ คำถามคือแล้วทำไมพวกเราถึงทำเหมือนในอดีตบ้างไม่ได้เล่า

(7) ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง : ว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ 

ผู้เขียน :  ธงชัย วินิจจะกูล 

สำนักพิมพ์ : ฟ้าเดียวกัน


เพื่อเข้าใจที่มาที่ไปของระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนืออการเมืองในประเทศของเรา ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์ไทยและคนเดือนตุลาฯ ได้คลี่คลายให้เห็นเค้าโครงประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่เกิดจากอะไรหลาย ๆ อย่างมาทับซ้อนกัน

ธงชัยใช้วิธีการเล่าประวัติศาสตร์แบบช่วงยาว ไล่ตั้งแต่กำเนิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนมาถึงช่วงมวยคู่เด็ดสองคู่ คู่แรกได้แก่ฝ่ายสถาบันกษัตริย์และฝ่ายนิยมเจ้า ที่มาพบกับฝ่ายคณะราษฎรและกองเชียร์ระบอบใหม่ที่ยืนยันว่า “อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” คู่สองได้แก่ กองทัพไทยที่ปะทะกับฝ่ายเสรีนิยม แต่สถาบันกษัตริย์กลับได้ชัยชนะไปอย่างเนียน ๆ

นอกจากมวยคู่เด็ด ๆ แล้ว ธงชัยยังเล่าถึงยุคประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ และวิกฤติการณ์ทางการเมืองในยุคร่วมสมัยด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เล่นที่ธงชัยวิเคราะห์แจกแจงบทบาทไว้อย่างละเอียดและลุ่มลึกที่สุดก็คือ สถาบันกษัตริย์ที่อยู่เหนืออออออการเมือง ลองอ่านดูสิ แล้วจะเข้าใจว่าทำไมสถาบันกษัตริย์ถึงได้อยู่เหนืออออออการเมืองได้ขนาดนี้

(8.) 1984

ผู้เขียน : จอร์จ ออร์เวลล์

ผู้แปล : รัศมี เผ่าทองเหลือง และอำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์

สำนักพิมพ์ : สมมติ

“นี่มัน 1984 หรือปัจจุบัน” “นี่มันโอชันเนียหรือประเทศไทย” “แล้วนี่มันนิยายหรือความจริง?” ผู้ที่อ่านนิยายเล่มนี้ของจอร์จ ออร์เวลล์คงอดตั้งคำถามเหล่านี้ไม่ได้แน่ และอาจจะตั้งคำถามเช่นนี้มาตลอด 37 ปีที่หนังสือเล่มนี้ถูกแปลเป็นภาษาไทย ดูเหมือนนักเขียนชื่อก้องโลกอย่างจอร์จ ออร์เวลล์จะยังคงมีอิทธิพลทางความคิดต่อพวกเราต่อไป ตราบที่แนวโน้มการเกิดขึ้นของเผด็จการยังคงดำรงอยู่ค้ำฟ้าสถาพรเพราะความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์

เรื่องราวความรักระหว่างวินสตันและจูเลีย ไม่เหมือนความรักที่พบเห็นได้ทั่วไป เพราะมันเป็นความรักที่ไม่สมหวังในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ในประเทศแบบนั้น กระทรวงความจริง กระทรวงความรัก กระทรวงสันติภาพ และกระทรวงสมบูรณ์พูนสุช ทำงานตรงกันข้ามกับชื่อกระทรวงอย่างสิ้นเชิง แถมท่านผู้นำควบคุมทุกอย่าง ตั้งแต่ ภาษาที่ใช้ ข้อมูลข่าวสาร งบประมาณ สถานที่อาคาร ไปจนถึง มดลูกของผู้หญิง แม้แต่การเทิดทูนท่านผู้นำอย่างกระโตกกระตากก็อาจนำไปสู่หายนะได้ โอชันเนียจะเหมือนหรือต่างจากไทยแลนด์แค่ไหน ท่านคงต้องลองหา 1984 มาอ่านกันเอาเอง

(9.) อันโตนิโอ กรัมชี่กับการจัดวางความคิดทางการเมือง : ปรัชญาปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการปลดปล่อยมนุษย์

ผู้เขียน : วัชรพล พุทธรักษา

สำนักพิมพ์ : สมมติ


เมื่อ อันโตนีโอ กรัมชี่ ถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 20 ปี ในปี 1926 ขณะนั้นผู้นำระบอบฟาสซิสต์สั่งการไปว่า ต้องจองจำก้อนสมองนี้ไว้ เพื่อไม่ให้ความคิดของเขาแพร่กระจาย เพราะสมองก้อนนี้ให้ความคิดแก่ผู้คนว่า “ในสถานการณ์วิกฤต พลังเก่าในสังคมนั้นกำลังจะสลายไป แต่ขณะเดียวกันพลังใหม่กลับไม่สามารถกำเนิดขึ้นได้”

หากคุณคับข้องใจต่อสังคมที่คุณอยู่ แต่กำลังตกอยู่ในอาการเบื่อหน่ายการเมือง มองว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก หรือห่วงว่าจะผลประโยชน์ส่วนตัวอาจได้รับผลกระทบ วิญญาณของกรัมชี่อาจเข้ามาเข้าฝันคุณและเล่าให้คุณฟังว่าทั้งหมดนี้เป็นประดิษฐ์กรรมทางความคิดที่เหล่าผู้ปกครองสร้างขึ้น และ “จัดวาง” มันไว้ล่วงหน้าแล้วทั้งสิ้น

หากอยากเข้าใจความคิดของกรัมชี่ งานชิ้นนี้ของวัชรพล พุทธรักษา อาจเป็นหนังสือที่เหมาะกับคุณ เพราะมันจะเผยให้เห็น “กระบวนการจัดวางความคิด” ของกลุ่มชนชั้นนำได้อย่างเป็นระบบ อะไรบ้างที่ถูกจัดวางเอาไว้แล้วในสังคมนี้ สิ่งเหล่านี้ถูกจัดวางโดยใคร จัดวางเอาไว้อย่างไร และเพื่อจุดประสงค์ใด หนังสือเล่มนี้จะฝึกให้คุณตั้งคำถามเหล่านี้กับสิ่งต่าง ๆ ในสังคมได้อย่างถนัดมือขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

(10.) บทสำรวจความคิดทางการเมืองของ อันโตนิโอ กรัมชี่

ผู้เขียน : วัชรพล พุทธรักษา

สำนักพิมพ์ : สมมติ

ไม่เกินเลยแต่อย่างใดที่จะกล่าวว่า นี่คือหนังสือที่ว่าด้วย ‘กรัมชี่’ ในภาษาไทยที่เป็นระบบและให้ภาพรวมได้ชัดเจนที่สุดเล่มหนึ่ง ไม่ว่าคุณจะเคยอ่านหรือไม่แม้แต่ได้ยินชื่อของนักคิดคนสำคัญของโลกคนนี้ก็ตาม เพราะแม้แต่พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ยังบอกในคำนิยมเลยว่า “…ผมอ่านต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ของวัชรพลจบลงด้วยความอิ่มเอิบและชื่นชม นึกอิจฉาผู้อ่านทั้งหลายที่จะได้รับ ‘แผนที่ลายแทง’ งานของกรัมชี่ที่เข้าใจง่าย เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการผจญภัยกับกรัมชี่…”

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ที่ทฤษฎีของกรัมชี่ได้เข้ามาในประเทศไทย กล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานเกี่ยวกับกรัมชี่ที่ครอบคลุมที่สุดเล่มหนึ่ง เพราะแนะนำให้เรารู้จักกรัมชี่อย่างเป็นระบบ และบรรยายเส้นทางความคิดของกรัมชี่ตั้งแต่ ‘ก่อนเข้าคุก’ ถึง ‘ช่วงที่เขาอยู่ในคุก’ นอกจากนี้ ผู้เขียนยังชวนให้ผู้อ่านลองสวมบทบาทของกรัมชี่ เพื่อใช้กรอบคิดของเขาในการพิจารณาเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งด้วย ผู้ที่ต้องการศึกษากรัมชี่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ตัวอักษรทั้งหมดในเล่มนี้ จะทำให้คุณเห็น “แผนที่ลายแทง” ในการทำความเข้าใจกรัมชี่ รวมถึงแผนการเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นด้วย

(11.) การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ

ผู้เขียน : ทักษ์ เฉลิมเตียรณ

ผู้แปล : พรรณี ฉัตรพลรักษ์, ประกายทอง สิริสุข และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

สำนักพิมพ์ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

“การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” ของทักษ์ เฉลิมเตียรณถูกตีพิมพ์ออกมาหลายสิบปีแล้ว แต่ยังคงเป็นคู่มือคลาสสิคของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย คำว่า “พ่อขุนอุปถัมภ์” หรือ “แบบเผด็จการ” เป็นคำสามัญประจำบ้านที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปเมื่อต้องอธิบายลักษณะผู้นำและการเมืองไทย อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา หนังสือเล่มนี้นับว่ามีอิทธิพลต่อการใช้คำนี้อยู่บ้างเหมือนกัน ทั้งในสื่อสาธารณะและการพูดคุยทางวิชาการ

หนังสือเล่มนี้ ช่วยให้เราเข้าใจระบบเผด็จการสมัยจอมพลสฤษดิ์อย่างละเอียด และอาจช่วยให้เราสามารถเข้าใจความปรารถนาของผู้นำบางคนในปัจจุบันที่ชอบอ้างเรื่อง “ความสงบเรียบร้อย” ด้วย ระบบการเมืองในปัจจุบันเหมือนหรือต่างจากระบอบสฤษดิ์อย่างไร ผู้อ่านสามารถหาคำตอบส่วนหนึ่งได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ และความเข้าใจอันนี้อาจช่วยเปิดทางไปสู่สังคมประชาธิปไตยตามหลักสากลคนเท่ากันด้วย เพราะเมื่อเริ่มเข้าใจจุดเริ่มต้นของระบอบเผด็จการ เราก็จะเริ่มเห็นทางออกจากระบอบเผด็จการ

(12.) ปฏิวัติ 2475

ผู้เขียน : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

สำนักพิมพ์ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

หากคุณอยากรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 แต่รู้สึกแสลงใจถ้าจะต้องอ่านหนังสือของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองและบทบาทของเขาในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คุณจะสามารถศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 ผ่านตำราเล่มไหนได้อีกบ้าง

“ปฏิวัติ 2475” ของชาญวิทย์ เกษตรศิริและ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ และอาจเป็นคำตอบสำหรับคุณ หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมผลงานของสองนักวิชาการรุ่นใหญ่เข้ามาไว้ในเล่มเดียวกัน เพื่อให้ภาพความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 อย่างรอบด้าน ทั้งในแง่ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ และคุณูปการที่การปฏิวัติ 2475 มีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย

ขณะที่ชาญวิทย์ผู้เป็นอาจารย์ชี้ให้เห็นว่าปฏิวัติของคณะราษฎรไม่ใช่การ “ชิงสุกก่อนห่าม” อย่างที่กล่าวอ้างกัน และไม่ได้เป็นเพียงการตัดสินใจที่เลื่อนลอย แต่เกิดภายใต้บริบทการเมืองไทยและการเมืองโลกในขณะนั้นที่ส่งผลให้สถานการณ์สุกงอม ธำรงศักดิ์ผู้เป็นศิษย์ก็เสริมให้เห็นว่า 1 ปีหลังการปฏิวัติ กลุ่มต่าง ๆ ในคณะราษฎรและฝ่ายนิยมเจ้า ต่างเข้าต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเพื่อสร้างสังคมที่ตนฝัน จนพัฒนาการประชาธิปไตยกระท่อนกระแท่นจนมาถึงปัจจุบัน

หนังสือเล่มนี้นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่เลวหากต้องการเข้าใจปฏิวัติสยาม

(13.) สามัญสำนึก

ผู้เขียน : โธมัส เพน

ผู้แปล : ภัควดี วีระภาสพงษ์

สำนักพิมพ์ : บุ๊คสเคป

แม้การเขียนหนังสือเกี่ยวกับ “สามัญสำนึก” อาจฟังดูเป็นเรื่องพิลึก เพราะน่าจะเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว แต่หลายครั้งก็เป็นเรื่องจำเป็นในสังคมที่คนมีสามัญสำนึกบิดเบี้ยวเพราะถูกหลอกใช้โดยชนชั้นนำ

อิทธิพลและความสำคัญของ “สามัญสำนึก” เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้ว จุลสารเล่มนี้ขายได้นับแสนเล่มในระยะเวลา 3 เดือนหลังตีพิมพ์ และห้าแสนเล่มในปีที่เกิดการปฏิวัติอเมริกา ทั้งที่ประชากรในอาณานิคมยุคนั้นมีเพียง 2-3 ล้านคน เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิปี 1776 งานชิ้นนี้ได้สลายความรู้สึกจงรักภักดีต่อกษัตริย์จอร์จที่ 3 แห่งอังกฤษที่ยังคาราคาซังอยู่ในหมู่ชาวอาณานิคมลงไปโดยสิ้นเชิง

อย่างที่ทราบกันดี ในวันที่ 4 กรกฎาคม 1776 ขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอเมริกาได้ประกาศเอกราช ตัดขาดความสัมพันธ์กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และไม่ขอเป็นข้าทาสบริวารของกษัตริย์อังกฤษอีกต่อไป จากนั้นจึงเข้าทำสงครามอย่างเต็มตัว จนกระทั่งได้รับเอกราชในปี 1783 “สามัญสำนึก” ได้รับการยกย่องว่าเป็นจุลสารที่มีอิทธิพลสูงยิ่งต่อการปฏิวัติอเมริกา เพราะมันสามารถขจัดเอาอุปสรรคทางจิตวิทยาอันสุดท้ายที่ขวางกั้นการเป็นเอกราชออกไปได้สำเร็จ

“โอ้! ผองท่านผู้รักมนุษยชาติ ผองท่านผู้กล้าคัดค้านทั้งระบอบเผด็จการและผู้ปกครองทรราช จงก้าวออกมาเถิด!” โธมัส เพน กล่าว “ทุกหย่อมหญ้าบนโลกใบเก่าล้วนถูกครอบงำด้วยการกดขี่ เสรีภาพถูกไล่ล่าไปทั่วโลก”

(14.) เศรษฐกิจสามสี : เศรษฐกิจแห่งอนาคต

ผู้เขียน : วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

สำนักพิมพ์ : Bookscape

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจของไทยอยู่ในภาวะระส่ำระสาย จากโรคระบาดและความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ปัญหาคือเราอยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้า แต่เราจะเถียงกับคนที่สนับสนุน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่กำลังฉุดรั้งประเทศไว้อย่างไร และอะไรเป็นข้อเสนอทางเลือกใหม่ที่ควรเข้ามาแทนที่แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว

สำหรับ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร โจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจโลกปัจจุบันประกอบด้วยตัว P สามตัว ได้แก่ Planet, People และ Platform โลกเผชิญกับวิกฤติสภาพอากาศ ประเทศต่าง ๆ เข้าสู่สภาวะสังคมสูงวัยขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับที่เทคโนโลยีพลิกผันและความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นทุกขณะ ภายใต้สภาพเช่นนี้ เทคโนโลยีสีเขียว + ตลาดสีเงิน + ระเบียบโลกสีทอง คือ “สีสัน” ของเศรษฐกิจแห่งอนาคต ที่อาจเป็นทางออกให้กับประเทศไทยได้

“เศรษฐกิจสามสี” เสนอให้รัฐปรับทิศทางการจัดการคน เทคโนโลยี และระเบียบโลก ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ แม้การผลิตและอุตสาหกรรมยังคงเป็นหัวใจของการพัฒนา แต่ในสภาวะที่ห่วงโซ่การผลิตมีลักษณะข้ามชาติมากขึ้นทุกที รัฐควรตระหนักถึงข้อเท็จจริงนื้และหาจุดสร้างรายได้เข้าประเทศให้เจอ ขณะเดียวกัน รัฐก็ต้องขยับเข้าสู่โหมดการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับเทคโนโลยี สร้างงานคุณภาพ และร่วมผลักดันฉันทามติใหม่ในการจัดระเบียบโลกไปพร้อมกัน เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ด้วย

(15.) หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว

ผู้เขียน : กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ

ผู้แปล : นฤดี ปลื้มปวารณ์

สำนักพิมพ์ : บทจร

“หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” เป็นเรื่องราวเจ็ดรุ่นของครอบครัว “บวนเดีย” กับเมืองในจินตนาการที่ชื่อว่า “มาก็อนโด” เมืองมหัศจรรย์ดังกล่าวเต็มไปด้วยสิ่งมหัศจรรย์และเรื่องราวของชะตากรรม นวนิยายอันลือลั่นเล่มนี้ของมาร์เกซเป็นต้นแบบของงานเขียนแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ในละตินอเมริกา ยืนยงเหนือกาลเวลา เป็นที่รักของนักอ่านทั่วโลกหลังมีการแปลออกมาถึง 46 ภาษา

แม้แต่ราชบัณฑิตยสภาแห่งสวีเดนก็ยังให้การยอมรับนวนิยายเล่มนี้ โดยกล่าวว่า “กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซใช้เรื่องเล่าสร้างโลกอันเป็นจักรวาลขนาดย่อมของเขาเองขึ้นมา จักรวาลแห่งนี้สัตย์ซื่อต่อความเอะอะอลวนและชวนพิศวงงงงวย ทว่าก็ยังให้ภาพที่แจ่มชัดน่าเชื่อถือ สะท้อนถึงทวีปทวีปหนึ่ง รวมทั้งความรุ่มรวยและความขัดสนของผู้คนในนั้น” อย่างไรก็ตาม นวนิยายเล่มนี้เพิ่งถูกแปลเป็นภาษาไทยเมื่อไม่นานมานี้เอง

นิยายเล่มนี้คือการมาบรรจบกันของปาฏิหาริย์และความเป็นจริง และการสอดประสานกันอย่างลงตัวของพลังชีวิตและการทำลายล้าง ตลอดหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ผู้อ่านจะได้พบทั้งเรื่องที่ประหลาดและคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็น เสื่อบินได้ โรคนอนไม่หลับ โบสถ์วิหาร ทางรถไฟ นิคมกล้วย ปริศนาครอบครัวพิสดาร สงครามกลางเมือง การสังหารหมู่ ความรุ่งเรือง ความเสื่อมโทรม

(16.) ยัญพิธีเชือดแพะ

ผู้เขียน : มาริโอ บาร์กัส โยซา

ผู้แปล : พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์

สำนักพิมพ์ : บทจร


“ยัญพิธีเชือดแพะ” เป็นนิยายเชิงประวัติศาสตร์ที่เขียนโดย มาริโอ บาร์กัส โยซา นักเขียนรางวัลโนเบลชาวเปรู เรื่องราวของนิยายเล่มนี้เกิดขึ้นในยุคแห่งความโหดร้ายของราฟาเอ็ล ตรูฆิโย จอมเผด็จการผู้ได้รับสมญานามว่า “ไอ้แพะหื่น” เขาพัวพันกับการเมืองของสาธารณรัฐโดมินิกันเป็นเวลากว่า 20 ปีเต็ม ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930-1950

ในช่วงดังกล่าว ภัยอันน่าสยดสยองได้แผ่ปกคลุมไปทั่วสาธารณรัฐโดมินิกัน ประเทศเต็มไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง ลัทธิบูชาตัวบุคคล การทรมาน ขืนใจ และฆ่าปิดปากผู้ต่อต้าน ผู้คนอยู่อย่างหวาดระแวงขลาดกลัว ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่คุกรุ่น ผู้ก่อการกลุ่มหนึ่งที่ผิดใจกับตรูฆิโย หมายมั่นจะยุติระบอบนี้ด้วยการลอบสังหารเขา และทำได้สำเร็จในที่สุดในปี 1961

ภายใต้บริบทข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ มาริโอ บาร์กัส โยซา ได้แต่งเติมเรื่องราวของอูราเนียเข้ามา หลังจากลี้ภัยออกจากสาธารณรัฐโดมินิกันเพราะวิกฤติการทางการเมืองในปี 1961 ผ่านไป 30 ปี เธอกลับมายังบ้านเกิดอีกครั้งเพื่อเยี่ยมพ่อที่กำลังล้มป่วย โดยพ่อเธอเคยเป็นสมุนรับใช้ของตรูฆิโยในวันที่จอมเผด็จการถูกลอบสังหารด้วย

ในการเดินทางกลับบ้านของอูราเนียครั้งนี้ ความทรงจำอันโหดร้ายของระบอบเผด็จการย้อนกลับมาเธออีกครั้ง เช่นเดียวกับความทรงจำของผู้เป็นพ่อ นิยายเล่มนี้ช่วยย้ำเตือนว่าความโหดร้ายของเผด็จการคือสิ่งที่ไม่ควรถูกลืม และความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนี้ควรส่งทอดไปตลอดชั่วรุ่นชั่วหลาน นอกจากนี้ นิยายเล่มนี้ยังถ่ายถอดประสบการณ์และความทรงจำของผู้หญิงในระบอบเผด็จการอันโหดร้ายอีกด้วย 

(17.) อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ผู้เขียน : ไชยันต์ รัชชกูล

ผู้แปล : พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์

สำนักพิมพ์ : อ่าน

      “อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ของไชยันต์ รัชชกูล เป็นเหมือนจิ๊กซอว์อีกชิ้นนึงที่ช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้ครอบคลุมขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็นำเสนอผ่านมุมต่างออกไปด้วย เพราะใช้แนวการวิเคราะห์ทางชนชั้นตามแบบขนบทฤษฎีมาร์กซิสต์ เพื่ออธิบายการขึ้นมาและการล่มสลายลงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในประเทศไทยที่มีอายุอยู่เพียงไม่ถึงหนึ่งศตวรรษ

ในแง่หนึ่งแล้ว งานชิ้นนี้เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่ารัฐไทยไม่ได้เป็นเหยื่อของอาณานิคมที่สูญเสียดินแดน แต่เป็นเจ้าอาณานิคมที่แย่งชิงดินแดนกับเจ้าอาณานิคมอื่น ดังจะเห็นได้จากตอนที่ท้องถิ่นทางเหนือพยายามต่อสู้กับรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ที่เกิดใหม่ หากอ่านเล่มนี้ควบคู่กับ “กำเนิดสยามจากแผนที่” ของธงชัย วินิจจะกุล ผู้อ่านจะเห็นความเชื่อมโยงและรู้สึกถึงความกลมกล่อมเป็นอย่างยิ่ง

(18.) มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ

ผู้เขียน : ภรณ์ทิพย์ มั่นคง

สำนักพิมพ์ : อ่าน

ภรณ์ทิพย์ มั่นคง นักโทษที่ถูกศาลจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการแสดงละครเวทีเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ถ่ายทอดประสบการณ์ตลอดเวลาที่อยู่ในคุกลงในหนังสือหนาขนาดเท่าไบเบิ้ลเล่มนี้ เหตุที่มันเหมือนไบเบิล เพราะเธอแอบฉีกกระดาษจากคัมภีร์ไบเบิ้ลมาบันทึกความรู้สึกของเธอไว้ โดยในขณะนั้นไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามันจะถูกส่งเอาออกมาจากคุกได้หรือไม่

ผู้อ่านสามารถเห็นกระดาษใบนั้นจากหน้าปกของหนังสือ และมีกระดาษใบอื่น ๆ แซมอยู่เป็นระยะตามบทต่าง ๆ ของหนังสือด้วย แม้หลังออกจากเรือนจำเธอจะเขียนบอกเล่าประสบการณ์อย่างเปี่ยมหวัง แต่กระดาษบันทึกครั้งยังอยู่ในเรือนจำกลับสะท้อนให้เห็นความสิ้นหวังอย่างสุดขีด แน่นอนว่าทั้งสองด้านคือความจริงไม่น้อยไปกว่ากัน

หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราเห็นระบบความสัมพันธ์ในเรือนจำ การริดรอนเสรีภาพ และความเลวร้าย แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เราเห็นมิตรภาพ ผลประโยชน์ การใฝ่หาเสรีภาพในสภาวะจำกัด และความอลหม่านอย่างสีสันไปพร้อมกัน หลายครั้งเรื่องเล่าถูกนำเสนอออกมาราวกับเป็นบทละครหรือนิยายจากพรสวรรค์ทางการละครของผู้เขียน หากอยากรู้ว่ามันทำร้ายเราได้แค่ไหน คุณควรหาหนังสือเล่มนี้มาติดบ้านไว้สักเล่ม

(19.) เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ

ผู้เขียน : ยูวัล โนอาห์ แฮรารี

ผู้แปล : นำชัย ชีววิวรรธน์

สำนักพิมพ์ : ยิปซี


ยูวัล โนอาห์ แฮรารี นักประวัติศาสตร์ชาวอิสราเอ็ล เขียนประวัติศาสตร์มนุษย์ของโลกทั้งใบไว้ในพ็อกเก็ตบุ๊คเพียงเล่มเดียวได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่อย่าด่วนตัดสินคุณภาพของมันเพียงเพราะมันกระทัดรัด การจะเล่าประวัติศาสตร์โลกทั้งใบให้อยู่ในเล่มเดียวได้ ต้องอาศัยการนำเสนอผ่านแง่มุมบางอย่างเช่นกัน แง่มุมที่ว่านี้เองที่ทำให้หนังสือเล่มนี้โดดเด่นกว่าหนังสือประวัติศาสตร์มนุษย์ทั่ว ๆ ไปที่เราสามารถพบหาได้ดื่นดาษ 

การควบคุมไฟทำให้เรามีอำนาจเหนือสัตว์ต่าง ๆ การพูดคุยสื่อสารและการนินทาช่วยให้มนุษย์อยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่าได้ เกษตรกรรมทำให้เราไม่ต้องเป็นคนป่าเร่ร่อนอีกต่อไป ตำนาน เรื่องเล่า และศาสนาช่วยให้คนเรือนหมื่นไปถึงเรือนล้านร่วมกันทำเรื่องเหลือเชื่อมากมาย เงินตราช่วยให้เก็บออมสะดวกสบาย แต่ก็นำมาซึ่งความโลภ วิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้เราสุขสบายขึ้นแต่ก็อาจมีอำนาจทำลายล้างโลกได้ เรื่องพื้นฐานเหล่านี้คือวิวัฒนาการประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่ยูวัล โนอาห์ แฮรารีอธิบายออกมาอย่างเป็นระบบขั้นตอน แต่ก็ไม่ทิ้งความสนุกไปเลยแม้แต่น้อย

นอกจากเพลิดเพลินกับประวัติศาสตร์หลายพันปีแล้ว ผู้อ่าน “เซเปียนส์” ยังจะได้พบกับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอันน่าทึ่งจากความรอบรู้ของผู้เขียนด้วย และหากอยากอ่านต่อไปอีก ยูวัล โนอาห์ แฮรารี ก็ฝากผลงานเล่มอื่น ๆ ไว้เช่นกัน เช่น “โฮโม ดีอุส: ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้” และ “21 บทเรียน สำหรับศตวรรษที่ 21” ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว และกำลังรอให้ผู้อ่านได้เข้าไปสัมผัส

(20.) ความยุติธรรม

ผู้เขียน : ไมเคิล เจ. แซนเดล

ผู้แปล : สฤณี อาชวานันทกุล

สำนักพิมพ์ : Salt

ในปัจจุบันที่กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบถูกตั้งคำถาม ความขัดแย้งแบ่งแยกในสังคมไทยที่ไม่มีวี่แววจะคลี่คลาย “ความยุติธรรม” ที่เรากล่าวอ้างและถกเถียงกันมาตลอด มักจบลงที่การตีความเพื่อเอาดีเข้าตัวและเอาชั่วใส่คนอื่น ความเสื่อมถอยทางศีลธรรมที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้จากมนุษย์พ่ายแพ้ต่อความโลภ แต่มาจากความสูญสิ้นศรัทธาต่อแนวคิดศีลธรรมกระแสหลักที่คับแคบและแบ่งโลกออกเป็นขาว-ดำ ซึ่งชนชั้นนำตั้งใจให้เกิดขึ้น ทั้งที่โลกจริงหลากหลายกว่านั้น ซับซ้อนกว่านั้น และอาจมีความหวังมากกว่านั้น

เพื่อการฟื้นฟูความยุติธรรมและศรัทธาที่ประชาชนมีต่อความยุติธรรม สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการตั้งคำถามว่าความยุติธรรมคืออะไร และความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ภายใต้การให้เหตุผลแบบใด ในห้วงยามที่สังคมเป็นเช่นนี้ หนังสือ “ความยุติธรรม” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์มาแล้วถึง 3 ครั้ง ยังคงเป็นหนังสือ “ร่วมสมัย” ในสังคมไทยเรื่อยมา

ภายใต้ความเชื่อว่าเราควรแสดงความเห็นแย้งกันบนหลักการอย่างตรงไปตรงมา แทนที่จะถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาโดยซ่อนเจตนาไว้ ‘ไมเคิล แซนเดล’ นักปรัชญาการเมืองร่วมสมัยได้ถ่ายทอดเนื้อหาวิชา “ความยุติธรรม” ที่เขาใช้ในการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดลงในหนังสือเล่มนี้ แถมยังอัพโหลดวิดิโอการเรียนการสอนทั้งหมดของเขาลงในเว็บไซต์ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้ฟรีด้วย และหลาย ๆ วิดิโอได้มีการใส่คำบรรยายไทยประกอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ไม่ว่าจะเข้าถึงด้วยสื่อรูปแบบใด สิ่งที่คุณจะได้รับคือความเพิดเพลินในการใช้ปรัชญาทางการเมืองหลากสำนักตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันเป็นแว่นขยาย ส่องประเด็นสาธารณะต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน การเกณฑ์ทหาร การโก่งราคาในภาวะฉุกเฉิน การอุ้มบุญ การุณยฆาต การนำปรัชญาการเมืองมาประยุกต์ใช้กับประเด็นร่วมสมัย นอกจากจะเป็นการคืนชีวิตให้กับปรัชญาแล้ว การตั้งคำถามพื้นฐานที่ซ่อนอยู่ภายใต้ประเด็นเหล่านี้อาจช่วยฟื้นศรัทธาให้ประชาชนเชื่อมั่นในความยุติธรรมอีกครั้งด้วย  

(21.) อยู่กับบาดแผล

ผู้เขียน : บุญเลิศ วิเศษปรีชา

สำนักพิมพ์ : Papyrus

ใน “อยู่กับบาดแผล” บุญเลิศ วิเศษปรีชา ได้นำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้พิการ 25 คนจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วง 2553-2557 โดยผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้มีทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลือง หลังเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง มันไม่ได้มีแค่ผู้บาดเจ็บหรือพิการเท่านั้น แต่ยังมีญาติพี่น้องที่ได้รับผลกระทบ และยังมีความทรงจำร่วมของสาธารณชนต่อเหตุการณ์ด้วย โดยมันส่งผลต่อมุมมอง สภาพจิตใจและเส้นทางชีวิตของผู้บาดเจ็บหรือพิการไปตลอด ในแง่นี้ ผู้บาดเจ็บหรือพิการของฝั่งหนึ่งจึงรู้สึกได้รับชัยชนะที่คุ้มค่า แต่อีกฝั่งหนึ่งกลับรู้สึกถึงความผิดบาปและการไม่ได้รับความยอมรับจากสาธารณชน

บุญเลิศนำเสนอชีวิตของผู้คนเหล่านี้ผ่านแนวคิดความทุกข์ทนทางสังคม ที่รวมถึงความทรงจำร่วม ผลกระทบต่อญาติพี่น้อง และวัฒนธรรมลอยนวลของรัฐ งานชิ้นนี้ช่วยให้เราเห็นว่าการบอกให้เขาลืมไม่ใช่ทางออก เพราะพวกเขาต้องอยู่กับแผลเหล่านี้ไปตลอดชีวิตและไม่อาจลืมได้ ทางออกที่ดีที่สุดคือการยอมรับเหยื่อ และขอโทษเหยื่ออย่างจริงใจ พวกเขาไม่ได้ต้องการเอาชีวิตใครเพื่อล้างแค้น แค่ต้องการให้สังคมคืนความเป็นมนุษย์ให้กับพวกเขาบ้างเท่านั้น

อย่ารอช้ากดยืมหนังสือได้เลย

แล้วมาอ่านเปลี่ยนโลกไปด้วยกัน

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด