วันเสาร์ ที่ 8 พฤษภาคม 2564 Common School หยิบหนังสือ ‘ความยุติธรรม (Justice: What’s the right thing to do)’ ของไมเคิล เจ แซนเดล ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาการเมืองประจำมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด มาชวนพูดคุยใน Reading Group ครั้งที่ 9 หนังสือเล่มนี้มีความร่วมสมัยกับสังคมไทยอย่างมาก ในช่วงเวลาที่ความยุติธรรมของประเทศไทยถูกตั้งคำถาม ในครั้งนี้ สฤณี อาชวานันทกุล ผู้แปล ‘ความยุติธรรม’ และ อาจารย์ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน มหาวิทยาธรรมศาสตร์ จะมาชวนเราตั้งคำถาม และชวนถกถึง ‘ความยุติธรรม’ ในระดับสากล และย้อนกลับมาพินิจพิเคราะห์ ‘ความยุติธรรม’ ในสังคมไทย

ในครั้งนี้มีนักอ่านเข้าร่วมทาง Zoom Video Conference 42 คน และติดตามฟังผ่านการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กอีก 600 กว่าคน ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี นักอ่านเข้าร่วมถกเถียงในประเด็นเรื่องความยุติธรรมตั้งแต่เรื่องปัญหาว่าด้วยความยุติธรรม สิทธิในการฆ่าตัวตาย ทางสองแพร่งของความยุติธรรม และประเด็นเรื่องความอิสระ และอุดมการณ์ความยุติธรรมของรัฐไทย

บรรยากาศการบรรยายวิชา ความยุติธรรม ของไมเคิล แแซนเดลที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด
ต้นทางของหนังสือในชื่อเดียวกัน

การให้เหตุผลทางศีลธรรม (Moral Reasoning) 

เวลาได้ยินเรื่องความยุติธรรม เป็นสิ่งที่ชวนให้ปวดหัวอยู่ไม่น้อยสำหรับหลายคน เพราะคำคำนี้มีความลึกซึ้งเกี่ยวพันกับปรัชญาวุ่นวายไปหมด เป็นเรื่องที่เหมือนจะเข้าใจง่ายตรงไปตรงมา แต่เมื่อมองลงไปลึกๆ กลับเป็นเรื่องที่ยากจะให้คำตอบ สฤณีเล่าประสบการณ์สมัยเรียนวิชา ‘ความยุติธรรม’ กับไมเคิล แซนเดลที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดว่า วิชานี้จัดอยู่ในหมวดการใช้เหตุผลทางศีลธรรม (Moral Reasoning) การเรียนการสอนจึงไม่ใช่การพูดถึงนักปรัชญาหรือเนื้อหาในหนังสือของนักปรัชญาเมธีเป็นสำคัญ แต่จะเอาประเด็นร่วมสมัยซึ่งเป็นที่สนใจของคนในสังคมมาตั้งคำถาม ชวนคิด ชวนถกกับนักศึกษาในห้องเรียน และเปิดพื้นที่ให้กับการถกเถียง และการให้เหตุผลกับทุกๆ สำนักคิด ทุกๆ แนวคิด สิ่งเหล่านี้กำลังจะบอกกับเราว่า แท้จริงแล้วความยุติธรรมไม่ใช่สิ่งสัมบูรณ์ ไม่ใช่คุณค่าที่ลอยมาจากฟ้า แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น (Construct) ดังนั้นนิยามของความยุติธรรมในแต่ละสังคมจึงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าคนในสังคมนั้นให้คุณค่าแบบไหน

การถกเถียงเรื่อง ‘ความยุติธรรม’ หรือ ‘ศีลธรรม’ ไม่ใช่แค่การโน้มน้าวให้คนอื่นคล้อยตาม และเอาชนะกันเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเป็นการตรวจสอบการให้เหตุผล ตรวจสอบความคิด ตรวจสอบจุดยืนทางศีลธรรมของตัวเราเอง เพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ ศศิภากล่าว

สฤณีทิ้งท้ายในประเด็นนี้ว่า นักปรัชญาสายชุมชนนิยม (Communitarian) กล่าวไว้ว่า พวกเราทุกคนล้วนเป็นคนที่มีสังกัดใดสังกัดหนึ่งเสมอ ความเป็นครอบครัว ความเป็นคนไทย ทุกคนมีหมวกหลายไป มีมุมมองที่แตกต่างกัน เราก็ต้องเคารพความเป็นสังกัดที่เราอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งสังกัดที่พวกเราอยู่นั้นมีโอกาสที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งกับชุดคุณค่าอื่นๆ ในสังคม และขัดแย้งกับคุณค่าที่เรายึดมั่น และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องรับฟัง และพยายามทำความเข้าใจคนที่เห็นต่างจากเราด้วย

ปัญหาเรื่องความยุติธรรม

ศศิภาชี้ให้เราเห็นถึงปัญหาการถกเถียงเรื่องความยุติธรรมว่ามีอยู่ 2 ระดับ ระดับที่ 1 ได้แก่นามธรรม คือการกำหนดนิยามความหมายของคำซึ่งสัมพันธ์กับอุดมการณ์ทางการเมืองแบบต่างๆ  คนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบหนึ่งจะตีความ ให้คุณค่า และกำหนดนิยามของความยุติธรรมอันสอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นๆ 

ระดับที่ 2 คือการนำนิยามความยุติธรรมมาปฏิบัติ (Practical Reason) ปัญหาแรกสุดคือ คนเรามักให้ความหมาย หรือมองข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามประสบการณ์และมุมมองต่อโลกของตน ซึ่งแต่ละคนย่อมมีมุมมองต่อโลกแตกต่างกัน ปัญหาที่สอง คือเราไม่ได้ยึดถือคุณค่าเพียงคุณค่าใดคุณค่าหนึ่งเท่านั้น เช่น เรายึดถือคุณค่าเรื่องความยุติธรรม แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยึดถือเรื่องความกตัญญูด้วย ดังนั้นเวลาที่เราจะต้องตัดสินว่าอะไรยุติธรรมหรือไม่นั้น เราไม่ได้ตัดสินบนฐานของการให้คุณค่าเรื่องความยุติธรรมเพียงอย่างเดียว แต่มสัมพันธ์กับคุณค่าอื่นๆ

ศศิภายกตัวอย่างของปัญหานี้จากหนังสือเรื่อง “สะพรึง” บทละครของ เฟอร์ดินันด์ ฟอน ชีรัค ที่เกี่ยวกับการตรากฎหมายให้กองทัพใช้อาวุธสงครามกับเครื่องบินพาณิชย์ที่ถูกจี้ปล้นไปก่อการร้ายได้ (ศศิภาเป็นผู้แปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทย) ว่า เกิดเหตุการณ์ที่คนร้ายจี้คนขับเครื่องบินบังคับให้ขับไปชนสนามฟุตบอลซึ่งบรรจุคนอยู่เต็มสนาม ทหารอากาศที่ขับเครื่องบินรบต้องเลือกว่าจะยิงสังหารคนบนเครื่องบินที่มีผู้โดยสารอยู่หลักร้อยเพื่อช่วยคนหลักหมื่น หรือไม่ฆ่าใครและปล่อยให้โศกนาฏกรรมเกิดขึ้น หากเรามองความยุติธรรมแบบอรรถประโยชน์นิยม เราคงต้องยิงเครื่องบินที่บรรทุกคนหลักร้อย เพื่อรักษาคนหลักหมื่นเอาไว้ นี่คือคุณค่าเรื่องความยุติธรรมของทหารอากาศ แต่สมมติว่าในเครื่องบินลำนั้นมีคนรู้จักเป็นที่ญาติ หรือเป็นคนในครอบครัวของทหารอากาศ คำถามคือ เขาจะตัดสินใจยิงเครื่องบินที่มีญาติของเขาอยู่หรือไม่? 

สฤณีชี้ชวนให้เราเปลี่ยนมุมมองเรื่องความยุติธรรมโดยยกข้อเสนอของอมาตยา เซน (Amartya Sen) นักปรัชญา และนักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย ที่เขียนหนังสือชื่อ The Idea of Justice เซนเสนอว่า เราอาจจะตกลงได้ยากว่าอะไรคือความยุติธรรม? เราลองเปลี่ยนมุมมองมาตั้งต้นจากความไม่ยุติธรรม เพราะต่อให้เราไม่สามารถตกลงกันได้ว่าความยุติธรรมเป็นอย่างไร แต่หากพูดถึงความไม่ยุติธรรมเราคงเห็นตรงกันได้ไม่ยากว่าอะไรคือความไม่ยุติธรรมในสังคม น่าจะชวนทำให้เราเข้าใจความยุติธรรมได้มากขึ้น

ทางแพร่งของความยุติธรรม 

กิจกรรมในครั้งนี้เราได้มีการเปิดให้นักอ่านได้มีส่วนร่วมผ่าน Menti แพลตฟอร์ม Interactive Presentation ให้นักอ่านร่วมโหวตแสดงความเห็นในแต่ละประเด็นเรื่องความยุติธรรม การตัดสินใจยิงหรือไม่ยิงเครื่องบินที่มีคนนับร้อยที่กำลังจะพุ่งไปชนคนที่อยู่ในตึกนับพันนับหมื่นคน

นักอ่านที่สนับสนุนให้ยิงท่านแรกกล่าวว่า ตัดสินใจยิงเพราะ มองจากความยุติธรรมในมุมของแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม ในสถานการณ์เช่นนั้นมันบังคับให้เกิดการสูญเสียและมีผู้เสียชีวิต เราคงไม่มีเวลามานั่งนึกว่ามีคนรู้จักเราอยู่ในนั้น เกือบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นคนมักจะตัดสินใจยิงเครื่องบินให้ตกลงเพราะ ความสูญเสียที่น้อยกว่ามันดูสมเหตุสมผล และปฏิบัติได้จริงมากกว่า 

ฝ่ายนักอ่านที่ตัดสินใจไม่ยิงให้เหตุผลว่า ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์นั้นในฐานะมนุษย์ซึ่งมีทั้งเหตุผล และอารมณ์เราคงทำใจกดยิงไม่ได้ เพราะความยุติธรรมมันไม่สามารถแยกขาดจากความเป็นมนุษย์ได้ และเมื่อเราเป็นมนุษย์จึงต้องใช้อารมณ์ร่วมในการตัดสินใจร่วมด้วย การเลือกที่จะยิงทำให้สัญชาตญาณของเราเกิดความขัดแย้งในจิตใจขึ้น เพราะการตัดสินใจเลือกในกรณีนี้นำไปสู่การกระทำที่มีแรงจูงใจในการฆ่าคนตาย การตัดสินใจเลือกที่จะไม่ยิงเป็นเพราะ อารมณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญในการคิดใคร่ครวญทางศีลธรรมว่าอะไรถูกหรือผิด เราไม่ควรตัดเรื่องอารมณ์ของเราออกไป 

นักอ่านอีกท่านชวนคิดได้อย่างน่าสนใจว่า ตัดสินใจเลือกที่จะยิง แต่ไม่ใช่เพราะอรรถประโยชน์นิยม เลือกยิงเพราะป้องกันการเกิดก่อการร้ายขึ้นในอนาคต ถ้าเราอยู่ในตำแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการยิง หากเราตัดสินใจไม่ยิงนั่นแปลว่าเราเลือกที่จะปล่อยให้เกิดการก่อการร้ายขึ้นในครั้งต่อๆ ไป

“หากเรามองกรณีนี้แบบอิมมานูเอิล คานท์ (Immanuel Kant) ซึ่งเป็นนักปรัชญาที่มีความเคร่งครัดในการให้เหตุผลทางศีลธรรม คานท์ไม่เห็นด้วยการพรากชีวิตมุนษย์ในทุกกรณีรวมถึงชีวิตของตัวเราเองด้วย สำหรับคานท์นั้นการกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องทางศีลธรรม เพราะมนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในตัวเอง และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นไม่สามารถประเมินค่าได้ ต่อให้เราต้องตัดสินว่าจะเลือกฆ่าคนหนึ่งคน หรือคนหนึ่งร้อยคนมันก็ไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเลขได้” สฤณีเสริมประเด็นเรื่องการฆ่าตัวตายในมุมมองของคานท์

สฤณี อาชวานันทกุล ผู้แปล ‘ความยุติธรรม’

ศศภิาชวนคิดทิ้งท้ายว่า เมื่อประเด็นทางศีลธรรมเกี่ยวพันกับประเด็นในทางกฎหมาย ทำให้ประเด็นนี้มันซับซ้อนมากขึ้นไปอีก การที่เราเลือกยิงผู้บริสุทธิ์บนเครื่องบินก็เท่ากับเราเจตนาฆ่าคนตาย แต่ถ้าเราตัดสินใจฆ่าคนโดยมีเจตนาที่จะช่วยคนบริสุทธิ์ ไม่ใช่การฆ่าเพื่อผลประโยชน์ ฆ่าด้วยความโกรธแค้น กฎหมายควรจะทำอย่างไรต่อ และจะจัดการอย่างไรกับกรณีเช่นนี้?

ลัทธิความเชื่อกับสิทธิในการฆ่าตัวตาย

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนมีข่าวที่อยู่ในความสนใจของคนเป็นอย่างมากคือ กรณีพระรูปหนึ่งตัดศีรษะตนเองเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ผู้ดำเนินรายการจึงชวนกลุ่มนักอ่านตั้งคำถามถึงสิทธิในการฆ่าตัวตายของมนุษย์ ว่าเกี่ยวข้องกับความยุติธรรมอย่างไร ทั้งในมิติปัจเจกบุคคล และมิติศีลธรรมทางศาสนา

นักอ่านท่านหนึ่งกล่าวว่า การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่มนุษย์ในฐานะปัจเจกสามารถเลือกที่จะทำได้ ในกรณีพระรูปดังกล่าวก็เป็นสิทธิในการเลือกที่จะจบชีวิตของเขาเหมือนกัน แต่ถ้าหากเราพิจารณาจากแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม การที่พระฆ่าตัวตายถวายเป็นพุทธบูชาอาจนำไปสู่การขยายตัวของลัทธิและความเชื่อดังกล่าวซึ่งอาจจะเป็นผลลบต่อสังคม เราอาจจะต้องศึกษาและพิสูจน์ให้ชัดว่าความคิดเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกต้องอาจจะสามารถกระทำได้

“เห็นด้วยว่าการฆ่าตัวตายเป็นสิทธิของปัจเจกที่สามารถทำได้ แต่ในกรณีการฆ่าตัวตายเพราะลัทธิความเชื่อนั้น เราไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าความเชื่อแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ ในรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยความเชื่อความศรัทธาเป็นเรื่องส่วนบุคคล รัฐไม่ควรเข้าไปจัดการ และไม่เห็นด้วยกับการฆ่าตัวตายตามเพราะ ไม่คิดว่าจะมีใครอยากจะฆ่าตัวตายตามเพื่อไปเกิดในภพภูมิข้างหน้า เช่นเดียวกับที่มีคนบอกว่าเล่นเกมส์แล้วจะมีแนวโน้มทำให้มีพฤติกรรมที่รุนแรง” นักอ่านอีกท่านกล่าวเสริม

นักอ่านอีกท่านแย้งว่า มีกรณีตัวอย่างในหลายประเทศที่เกิดการฆ่าตัวตายตามซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น ในเกาหลีใต้ มีกรณีตัวอย่างที่ศิลปินฆ่าตัวตาย แล้วแฟนคลับฆ่าตัวตายตามกันหลายคน ผู้ดำเนินรายการเสริมต่อว่า ในญี่ปุ่นก็มีลัทธิความเชื่อที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายหมู่ด้วยเหมือนกัน

ในประเด็นการถกเถียงนี้ สฤณีชวนคิดจากมุมมองของแนวคิดของลัทธิเสรีนิยม (Libertariansim)  แน่นอนว่าการตัดสินใจฆ่าตัวตายเป็นสิทธิส่วนบุคคล เพราะทุกคนเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง แต่คำถามทางปรัชญาที่สำคัญที่เราต้องคิดต่อก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราตัดสินใจด้วยเจตจำนง ของตัวเราเอง (Free will) จริงๆ ? หรือแท้จริงแล้วตกอยู่ภายใต้ลัทธิ ความเชื่อแบบหนึ่งที่ทำให้ต้องตัดสินใจแบบทำแบบนั้นกันแน่

“หากเป็นอาจารย์แซนเดิลคงสนใจเรื่องศาสนาว่า ความเชื่อการตัดหัวถวายเป็นพุทธบูชามีที่มาอย่างไร คำอธิบายในทางศาสนาเรื่องพุทธบูชาเป็นอย่างไร มีแค่การตัดหัวแค่นั้นหรือไม่ การกระทำเช่นนี้มีความคงเส้นคงวาหรือไม่อาจจะเป็นสิ่งที่ขัดกับสามัญสำนึกของมนุษย์ที่มนุษย์ทั่วไปอยากจะรักษาชีวิตของตัวเองเอาไว้” สฤณีกล่าว

ศศิภากล่าวไปในทำนองเดี๋ยวกันกับสฤณีว่า ทุกคนคงเห็นตรงกันว่าการฆ่าตัวตายเป็นสิทธิของปัจเจกอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่ทับซ้อนของแนวคิดเสรีนิยมคือ คนเรามีสิทธิที่จะที่จะแสดงเจตจำนงในการตัดสินใจฆ่าตัวตายหรือไม่ ในกรณีของพระฆ่าตัวตายนั้นมันไม่ใช่ปัญหาของปัจเจกชนแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของสังคมด้วย เพราะมีการสื่อสารในทางสาธารณะรับรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมความเชื่อ หรือแม้กระทั่งการฆ่าตัวตายหมู่ก็ไม่ใช่การตัดสินใจด้วยเจตจำนงของปัจเจกจริงๆ ปัญหาคือ เรายอมรับกรณีแบบนี้ได้หรือไม่ ? 

“พิธีกรรมหรือการกระทำที่ส่งอิทธิพลต่อความคิดของผู้อื่นในสังคมอาจจะครอบงำเจตจำนงในการตัดสินใจของผู้อื่นที่อาจคล้อยตาม หรือรู้สึกกลัว หรืออาจจะเป็นอาชญากรรมต่อสังคมส่วนรวม ถ้าเราไปดูในหนังสือความยุติธรรมที่พูดถึงเรื่องความยุติธรรมรวมหมู่จริงๆ แล้วความยุติธรรมเป็นเรื่องของสังคมที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ถ้าเราใช้สิทธิเสรีภาพของเราในฐานะปัจเจกแล้วไปกระทบกับสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา แต่ในกรณีพระฆ่าตัวตายมันอาจจะไม่ได้ไปกระทบกับสังคมโดยตรง แต่มันทำให้คนรู้สึกไม่ปลอดภัย ทำให้การมีชีวิตอยู่ในสังคมอาจสั่นคลอน คนจะคล้อยตามกันหรือไม่ โดยส่วนตัวแล้วยังมีความลังเลว่าเราจะให้คุณค่ากับเจตจำนงเสรีของปัจเจกหรืออันตรายที่อาจเกิดผลกระทบต่อสังคมโดยรวม” ศศิภากล่าวทิ้งท้ายก่อนขึ้นประเด็นถัดไป

ความอิสระของตุลาการ และอุดมการณ์ของความยุติธรรมไทย 

จากเรื่องความยุติธรรมในภาพใหญ่ เข้ามาสู่ความยุติธรรมที่เจาะจงมากขึ้น ผู้ดำเนินรายการชวนทุกคนพูดคุยด้วยการถามถึงความรู้สึกต่อคำว่า ‘ความยุติธรรมไทย’ ด้วยการให้คะแนน ผู้ร่วมกิจกรรมส่วนมากให้คะแนนความยุติธรรมไทยอยู่ในระดับต่ำสุด “ระบบยุติธรรมของไทยมีลักษณะเป็นอิสระจากหลักการ แม้ว่าเราจะมีชุดคุณค่าที่ใช้เป็นฐานในการทำความเข้าใจความยุติธรรมได้ สิ่งหนึ่งที่คุณค่าเหล่านั้นต้องมีคือ ความคงเส้นคงวา  ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยในวันนี้ไม่สามารถเอาหลักการ คุณค่าอะไรมาจับได้เลย ในบางศาลของไทยเราสามารถคาดการได้ล่วงหน้าเลย  หากผู้ต้องหาเป็นคนในสังกัดการเมืองฝ่ายตรงข้าม คาดเดาได้มากกว่าข้อเท็จจริง หรือเนื้อหาของคดี สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น ถ้าหากเราเชื่อมั่นในหลักนิติรัฐ หลักการที่สำคัญคือ ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ และมีความคงเส้นคงวาซึ่งหลักการนี้ไม่มีอยู่ในศาลไทย” สฤณีกล่าว

ศศิภาชี้ให้เราเห็นว่า แท้จริงแล้วองค์กรตุลาการไม่ได้เป็นอิสระจากอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ใช่เฉพาะของไทยเท่านั้น ไม่มีทางที่ตุลาการตัดขาดจากอุดมการณ์ทางการเมืองได้ไม่ว่าจะในฐานะของปัจเจกหรือองค์กรทางการเมืองหนึ่งของรัฐ แต่องค์กรตุลาการถูกกำกับไม่ให้เอาอุดมการณ์ส่วนตัวใส่ลงไปในคำพากษาคดี หากไปดูในรัฐที่เป็นนิติรัฐอุดมการณ์ของตุลาการก็รับใช้นิติรัฐ เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถบอกได้ว่าตุลาการห้ามมีอุดมการณ์ เพียงแต่ว่าในฐานะองค์กรถูกกำกับด้วยอุดมการณ์ที่อาจสอดคล้องกับอุดมการณ์ของรัฐ อาจกล่าวได้ว่าอุดมการณ์ของรัฐเป็นแบบไหน องค์กรของรัฐก็เป็นอย่างนั้น

ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์

“ยกตัวอย่างเช่น ในเยอรมนี อุดมการณ์ส่วนตัวของตุลาการอาจจะขัดแย้งกับอุดมการณ์ของรัฐ หรืออุดมการณ์ของกฎหมาย แต่ตุลาการจะไม่สามารถใส่อุดมการณ์ของตัวเองลงไปในคำพากษาได้ซึ่งจะถูกจำกัดโดยกรอบของกฎหมาย เจตนารมณ์ หรือนิติวิธีในระบบกฎหมายเยอรมนี ไทยก็มีลักษณะที่ใกล้เคียงกันเพียงแต่ว่าอุดมการณ์ของรัฐไทยเป็นอุดมการณ์ที่ต่างจากนิติรัฐ ผลจึงออกมาเป็นแบบที่เราเห็นกันทุกวันนี้ ถ้าเราบอกว่าเราเป็นรัฐประชาธิปไตย มีนิติรัฐ การใช้ การตีความกฎหมายก็ต้องสอดคล้องกับอุดมการณ์ที่รัฐยึดถือด้วย ไม่ใช่ตีความจากอุมดการณ์ทางการเมืองส่วนตัว เราอาจตั้งคำถามได้ว่าในปัจจุบันอุดมการณ์ของรัฐเอาคืออะไร?” ศศิภากล่าว 

สฤณีเล่าให้ฟังถึงกรณีในสหรัฐอเมริกา หากดูศาลฎีกา (Supreme Court) ตุลาการทั้ง 9 คน จะเห็นชัดเจนว่าแต่ละคนมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน แต่ว่ามันไม่ได้เป็นปัญหาต่อการทำหน้าที่ คำวินิจฉัยของศาลจะมีความชัดเจนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร อุดมการณ์ หรือฐานคิดที่เขาใช้คืออะไรบ้าง พอเรามาอ่านคำตัดสินเราสามารถรู้ได้เลยว่าเขาตัดสินใจจากอะไร กรณีของไทย เราอาจจะพูดได้ว่าการใช้อุดมการณ์ทางการเมืองเข้ามาตัดสินอาจจะเป็นเรื่องของดุลยพินิจของแต่ละคน แต่ปัญหาของดุลยพินิจของศาลไทยเป็นดุลยพินิจที่ไม่ตั้งอยู่บนหลักการอะไรทั้งสิ้น ที่เป็นการใช้เหตุผลที่มีความคงเส้นคงวา

ความยุติธรรมและศาลไทยในศตวรรรษที่ 21 

“ปัญหาเรื่องความยุติรรมในไทยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง และมักขึ้นอยู่กับมุมมองของสังคมคือ ในตะวันตกมีการถกเถียงปัญหาเรื่องความยุติธรรมมาสองพันปี ว่าความยุติธรรมคืออะไร ในบริบทสังคมไทยเราขาดการถกเถียงตั้งแต่แรกในระดับนามธรรมว่าอะไรคือความยุติธรรม ความยุติธรรมในตะวันตกมีอยู่ 2 มิติคือ มิติแรก Just ความชอบธรรม ความถูกต้อง มิติที่สอง Fair ความเป็นธรรม ในสังคมไทยค่อนข้างให้ความสำคัญกับมิติแรกมากกว่า เช่น โทษในทางอาญา นาย A ฆ่า นาย B กับ นาย C ฆ่า นาย D ซึ่งฐานะทางสังคมของนาย A และ C  ต่างกัน หากพิจารณาจากมิติแรก ถ้าเราลงโทษ C ด้วยความผิดฐานฆ่าคนตายเราจะรู้สึกว่ามันยุติธรรม (Just) สำหรับ C แต่ว่าเราไม่ลงโทษ A เลยไม่มีความผิดทางกฎหมายเลย แม้ว่าความยุติธรรมในมิติแรกอาจจะยอมรับได้กับ C แต่มันไม่แฟร์กับ C ซึ่งในปัจจุบันข้อถกเถียงความคิดว่าคนเท่ากันยังไม่ตกผลึกในสังคมไทย สังคมไทยจึงขาดความยุติธรรมในมิติที่สอง” ศศิภากล่าว

ศศิภาเสริมต่อไปว่า “ศาลในระบอบประชาธิปไตยต้องมีการออกแบบให้มีความยึดโยงกับประชาชนไม่ได้หมายความว่าให้ศาลไปเลือกตั้ง ในญี่ปุ่นมีการนำรายชื่อของผู้พิพากษาศาลสูงเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรรับรอง แต่กรณีศาลไทยเราอ้างหลักความเป็นอิสระของตุลาการคือ ผู้พิพากษามีความเป็นอิสระในการตัดสินใจไม่มีใครบังคับศาลได้ แต่ศาลไทยเป็นความอิสระที่กลับกันคือเป็น อิสระจากการตรวจสอบ อิสระจากองค์กรอื่นๆ และเป็นอิสระจากประชาชน แต่ในงานการทำคดีกลับถูกตั้งคำถามว่ามีความเป็นอิสระจริงหรือไม่” 

ศศิภาทิ้งท้ายในประเด็นนี้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้อาณัติหรือได้รับมอบอำนาจมาจากใครก็ต้องทำงานรับใช้เจ้าของอำนาจนั้น เมื่อที่มาทางอำนาจของศาลมีที่มาจากอำนาจที่ได้รับมอบมาจากประชาชนศาล และมีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้นก็จะช่วยทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงว่าศาลทำเพื่อประชาชนได้บ้าง 

สฤณีเสริมมุมมองในเชิงวัฒนธรรมว่า ความเป็นอิสระของศาลมาจากความเชื่อที่ว่า หากตุลาการไม่เป็นอิสระจะถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองซึ่งเราจำเป็นต้องทำงานทางวัฒนธรรมเพื่อให้ตุลาการเชื่อว่าการยึดโยงกับประชาชนจะเป็นเกราะคุ้มกันให้กับศาลเอง รับฟังเสียงประชาชนมากขึ้นจะเป็นผลดีกับองค์การตุลาการในระยายาว เราต้องเลิกมองว่าตุลาการเป็นเทวดาหรือชนชั้นอภิสิทธิ์ที่เราเข้าไม่ถึง ทำให้ตุลาการกลายมาเป็นบุคคลสาธารณะที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ศาลยึดโยงกับประชาชนเหมือนกัน

นักอ่านท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตุทิ้งท้ายว่า น่าประหลาดว่าองค์กรตุลาการถูกสร้างขึ้นมาภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เรากลับปฏิเสธไม่ให้ศาลยุ่งเกี่ยวกับการเมืองทั้งๆ ที่กฎหมายทั้งระบบมันคือ ระบบการเมือง จึงเห็นด้วยกับทั้งสองท่านว่าถ้าเราออกแบบโครงสร้างองค์กรตุลาการให้ยึดโยงกัประชาชนจะเป็นสิ่งที่ดีมาก 

ทิ้งท้ายกิจกรรม Reading Group ด้วย Interactive Presentation ขอสามคำให้กับงานวันนี้

นี่คือส่วนหนึ่งของการถกเถียงเรื่องความยุติธรรมในกิจกรรม Reading Group ครั้งที่ 9 หากท่านสนใจอยากฟังเพิ่มเติมสามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง Facebook page Common School และ Youtube Channel Common School หรือหากใครต้องการทำความเข้าใจเรื่องความยุติธรรมเราขอแนะนำให้ท่านลองหยิบหนังสือความยุติธรรมของไมเคล แซนเดลขึ้นมาอ่าน และยังมีหนังสือ “สะพรึง” จากสำนักพิมพ์ Illumination Edition ที่แปลโดย อาจารย์ศศิภาเรื่องจะทำให้เราเข้าใจประเด็นความซับซ้อนเข้าไปอีก 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการสร้างบรรยากาศในการถกเถียงในสังคมประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้คนทุกคนที่มีความคิดที่แตกต่างหลากหลายสามารถเข้ามาร่วมถกเถียงกันด้วยเหตุผลและมีวุฒิภาวะกันได้ ต้องบอกว่านี่คือว่างดงามของระบอบประชาธิปไตย เพราะเราเชื่อว่าความคิดที่แตกต่างนี้จะช่วยสรรสร้างความคิดใหม่ จินตนาการใหม่ เพื่อพาสังคมไทยก้าวหน้าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ยืมหนังสือความยุติธรรมจากห้องสมุดอ่านเปลี่ยนโลกได้ที่นี่ ไม่มีค่าใช้จ่าย:

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด