เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา Common School ได้จัดกิจกรรม Reading Group ครั้งที่ 11 ในครั้งนี้เราหยิบหนังสือนอกโครงการมาพูดคุยสนทนากันนั่นคือ Attack On Titan หรือ ผ่าพิภพไททัน โดยอิซายามะ ฮาจิเมะ มังงะ และอนิเมะยอดฮิตที่สะท้อนสังคมไทยได้อย่างดีเยี่ยม นำสนทนาโดย อภิสิทธิ์ เรือนมูล นักเขียนจาก Way Magazine และเฌอเอม ชญาธนุส ศรทัตต์ แฟนมังงะตัวยง บรรยายเต็มไปด้วยการถกเถียงถึงเนื้อเรื่อง ตัวละคร และฉากต่างๆ ที่ยังคงเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ตีความ ทางทีมงานจึงได้สรุปประเด็นสำคัญในกิจกรรมมาให้ผู้ที่พลาดกิจกรรมได้อ่านกัน

การเมือง และปรัชญาในโมเดิร์นมังงะ

เฌอเอมพาเราย้อนกลับไปดูมังงะก่อนปี 2000 ว่า มังงะในช่วงนั้นเป็นเรื่องของการต่อสู้ และอารมณ์ความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยนำเสนอสภาพสังคมของญี่ปุ่นมากเท่าไหร่ เหตุที่เป็นเช่นนี้เฌอเอมตั้งข้อสังเกตุได้น่าสนใจว่าอาจเป็นเพราะ ผลของสังคมญี่ปุ่นที่กำลังจะเข้าสู่ยุค 2000 ที่เกิดความสิ้นหวัง และความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ และการฟื้นฟูจากสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้มังงะเป็นพื้นที่ในการถ่ายทอดความหวังที่จะเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ที่ดีขึ้นกว่านี้ ในขณะที่มังงะยุคใหม่หลังปี 2000 คนค่อนข้างตื่นรู้ทางการเมือง เคลื่อนไหวทางสังคมมากขึ้น มังงะในช่วงนั้นจึงสะท้อนภาพสังคมญี่ปุ่นออกมาอย่างชัดเจนซึ่งไม่ใช่เรื่องที่พูดคุยกันเป็นเรื่องปกติ

เมื่อขยับมาพูดคุยถึงการอ่าน Attack on Titam เฌอเอมบอกว่า เมื่ออ่าน Attack On Titan จบแล้วไม่อยากเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้น เหตุผลไม่ใช่เพราะเรื่องนี้มันแย่ แต่เรารู้จักเรื่องนี้ดีเกินไปจนสามารถมองเรื่องนี้เปรียบเทียบกับสังคมไทยได้เลย หลายเหตุการณ์ค่อนข้างคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้เส้นแบ่งระหว่างจินตนาการกับความเป็นจริงไม่สามารถแบ่งได้อย่างชัดเจนอีกต่อไป

อภิสิทธิ์เล่าเสริมว่า ประเด็นการเมือง และปรัชญาในมังงะสมัยใหม่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1960 เกิดการลุกฮือของขบวนการนักศึกษาในญี่ปุ่นที่ใหญ่มาก มีมังงะที่เรียกว่า ‘เกกิกะ’ Gekiga (劇画) เป็นมังงะที่มีความเป็นผู้ใหญ่ มีความจริงใจ และมีความดาร์ก ใส่ฉากของการใช้ความรุนแรง เช่นเรื่อง โจ สิงห์สังเวียน (Tomorrow’s Joe) เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กที่อยู่ในสลัมซึ่งมีความสามารถในการชกต่อยจนสามารถไต่เต้ากลายเป็นแชมป์มวยระดับโลกได้ ขบวนการนักศึกษาในญี่ปุ่นจำนวนมากอ่านมังงะเล่มนี้ซึ่งเป็นภาพแทนของการต่อสู้ทางการเมืองของพวกเขา

Xenophobia ใน Attack On Titan 

เฌอเอมสนใจประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ที่สะท้อนออกมาในเรื่องนี้ว่า ชาวเอลเดียอยู่ในมาร์เลย์ก็ไม่ได้มองว่าชาวเกาะเกาะพาราดีส์เป็นพวกเดียวกับเขาทั้งๆ ที่เป็นชาวเอลเดียเหมือนกัน คำถามใหญ่คือ อะไรทำให้มนุษย์ที่เหมือนกันแตกต่างกันได้เช่นนี้ ? คำตอบคือ เป็นเรื่องของวัฒนธรรม Attack On Titan สะท้อนอาการกลัวคนต่างชาติ (Xenophobia) ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 30-40 ปี เป็นผลพวงมาจากเศรษฐกิจทุนนิยม เกิดจากการอพยพของผู้คนเข้ามาหางานทำในประเทศจนเกิดเป็นพลเมืองตกค้างในประเทศนั้น แม้ว่าแรงงานที่อพยพจะอยู่ในประเทศนั้น แต่เขารู้สึกว่าเขาเป็น ‘คนต่างชาติ’ คล้ายกับการอพยพเข้ามาของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อมาทำงานในไทย บางคนอาจได้สัญชาติไทยไปแล้ว แต่ด้วยวิธีพูดและบริบทอื่นๆ ก็รู้ทันทีว่าเป็น ‘คนต่างชาติ’ ทำให้เกิดการแบ่งแยกขึ้นทั้งที่คนเหล่านี้อาจมีรากเหง้าทางวัฒนธรรมเดียวกับเรา ดังนั้นเรื่องของอาการกลัวคนต่างชาติอยู่ที่พื้นฐานของวัฒนธรรม และเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติอย่างไม่สามารถแยกจากกันได้

การรัฐประหาร สถาบันกษัตริย์ การฆ่าคน และการตายของเอเรนใน Attack On Titan 

นักอ่านท่านหนึ่งชวนคุยถึงฉากที่เป็นข้อถกเถียงในมังงะเรื่องนี้ ตอนที่อ่านฉากที่เอเรนออกมาฆ่าชาวมาร์เลย์ในงานฉลองท่ามกลางสายตาของนานาชาติ เขารู้สึกสนุกมาก พออ่านจบจึงเกิดคำถามว่า เราควรรู้สึกดีกับฉากนี้จริงๆ หรือไม่ ? หรือเราโดนครอบงำให้รู้สึกดีกับการฆ่าคนอื่น ? สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์กำจัดไททันในเกาะพาราดีส์ คือมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ เป็นรัฐบาลทหารที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ตัวเอเรนเองก็มีอำนาจสูงที่จะได้รับการยกเว้น หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐ หรืออยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาลทหาร สามารถออกมาคิดก่อการกบฏทำลายล้างชาวมาร์เลย์ เราอ่านเรื่องนี้แล้วมีฉากไหนที่รู้สึกว่าเป็นฉากที่มีข้อถกเถียงหาข้อสรุปกับตัวเองไม่ได้หรือไม่ ? 

“ฉากรัฐประหารใน Attack On Titan เป็นฉากที่อ่านแล้วรู้สึกว่า ผู้เขียนเรื่องนี้จะใช้วิธีนี้แก้ปัญหาจริงๆ หรือ? แต่พอกลับมาย้อนคิดอีกทีเราอาจมองฉากนี้จากมุมมองของคนไทยซึ่งเผชิญกับรัฐประหารมามาก มีข้อพิสูจน์แล้วว่า การรัฐประหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆ ได้ แต่หากมองในมุมของผู้อ่านชาติอื่นๆ การใช้รัฐประหารเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้ร้ายแรงมาก แต่ก็ไม่ใช่หนทางที่ดีมากนัก” คุณไนล์ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้กล่าวไว้ 

เฌอเอมเสริมประเด็นรัฐประหารใน Attack On Titan ว่า มังงะเรื่องนี้ออกมาในช่วงเรายังไม่มีการตื่นตัวรัฐประหารมากเท่าทุกวันนี้ ถ้าเราไม่มองเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติโดยไม่ต้องใช้การรัฐประหาร เราอาจจะยอมรับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นว่าเป็นหนึ่งในทางออกของสังคมไทยก็ได้ หากเรามองในบริบทของมังงะเรื่องนี้ที่แยกตัวเองออกจากโลกของความเป็นจริง สามารถมองได้ว่า สังคมกำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่ด้วยอำนาจที่ทำให้คนมีเสรีภาพเท่ากัน ไม่ใช่การใช้สิทธิออกเสียงกลายเป็นว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นมันไปช่วยเหลือให้อำนาจในการปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยส่งต่อไปยังประชาชน แม้ว่าตัวเฌอเอมจะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่รู้สึกกลางๆ กับการรัฐประหารในเรื่อง Attack On Titan อาจเป็นเพราะเราเผชิญกับมันมาเยอะ หากเรามองจากเส้นเรื่องของเรื่องนี้เราจะพบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้นอาจเป็นเส้นเรื่องที่พัฒนาไปสู่อนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นในตัวมังงะเองมากกว่า

เฌอเอม ชญาธนุส ศรทัตต์ วิทยากรร่วมวงสนทนาและนักกิจกรรมด้านการเมือง

“เมื่อเสรีภาพของเรื่องนี้อยู่ในพลังของไททันก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ไปไม่ได้ พอมันไม่มีซึ่งในเรื่องก็ไม่ได้บอกว่า ท้ายที่สุดแล้วยังมีสถาบันกษัตริย์อยู่หรือไม่ แต่หลังจากที่พลังไททันได้หายไปแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงกับสถาบันกษัตริย์ที่เปลี่ยนไปตามบริบทของโลก” เฌอเอมกล่าว

เฌอเอมกล่าวต่อไปว่า อีกฉากที่น่าสนทนาต่อคือ ฉากที่ไรเนอร์ กับแบร์โทลดท์โยนมาร์โก้ให้ไททันกิน เมื่อเรายึดถืออุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งมากแล้ว เรามักจะลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนที่ยึดถืออุดมการณ์ตรงข้ามกับเราซึ่งอุดมการณ์ในเรื่องผูกกับเผ่าพันธุ์ และความเป็นมนุษย์ ถึงที่สุดแล้วเราจะโยนเพื่อนที่ต่างอุดมการณ์ หรือเป็นศัตรูให้ไททันกินหรือไม่ ? และการที่เอเรนฆ่าคนในเรื่องเป็นฉากแอคชันที่ทำให้รู้สึกสะใจ หากเราย้อนกลับมาคิดอีกทีว่า มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศเจตนารมณ์ของตัวเองหรือไม่ ถ้าเราเชื่อมั่นในเจตนารมณ์ของเอเรนมันช่วยไม่ได้ที่จะมีคนตายเพราะ อุดมการณ์ แต่ถ้ามองว่า อุดมการณ์เป็นเรื่องที่ไม่มีคนฆ่า หรือมีคนตาย เช่น เอเรนบอกว่าจะทำลายศัตรูให้หมดโลก ทำให้การรับรู้ในยุคก่อนเราไม่ได้คิดว่า ศัตรูเป็นคน แต่คือ การออกไปฆ่าไททัน  และเราก็ไม่ได้คิดว่าไททันเป็นคนด้วย เมื่อเรารู้ว่าไททันเคยเป็นคน เป็นชาวมาเลย์มาก่อนแล้วทางออกของปัญหานี้คืออะไรในเมื่อเราต้องการทำลายอุดมการณ์บางอย่างไปพร้อมๆ กับการฆ่าคนด้วย

เมื่อเสรีภาพของเรื่องนี้อยู่ในพลังของไททันก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ไปไม่ได้ พอมันไม่มีซึ่งในเรื่องก็ไม่ได้บอกว่า ท้ายที่สุดแล้วยังมีสถาบันกษัตริย์อยู่หรือไม่ แต่หลังจากที่พลังไททันได้หายไปแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงกับสถาบันกษัตริย์ที่เปลี่ยนไปตามบริบทของโลกเฌอเอม ชญาธนุส ศรทัตต์

เฌอเอมตั้งข้อสังเกตุว่า เสรีภาพในการใช้พลังไททันขึ้นอยู่กับใครคือผู้มีอำนาจมากที่สุด สมมติถ้าทั้งเกาะโหวตว่าไม่ต้องการบุกเกาะของชาวมาเลย์ที่เป็นการออกเสียงตามระบอบประชาธิปไตย หากเอเรนไม่ฟังใครจะห้ามเอเรนไม่ให้บุกได้กลายเป็นว่าอำนาจในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ขึ้นอยู่กับศีลธรรมของระบอบ หรือศีลธรรมส่วนตัว ประชาธิปไตยจะสามารถหยุดยั้งเอเรนได้หรือไม่ ? 

อภิสิทธิ์ไม่ได้สนใจประเด็นรัฐประหารในเรื่องมากเท่ากับสนใจสถาบันกษัตริย์ในเรื่องเป็นไปตามหลักการ The king can do no wrong, because The king can do nothing กษัตริย์ไม่อาจทำอะไรผิด เพราะกษัตริย์ไม่ได้ทำอะไรเลย หากมองจากมุมคนที่อยู่ในสังคมไทยจะมองเห็นบทบาทของสถาบันกษัตริย์ไทยแบบหนึ่ง แต่หากมองจากสังคมญี่ปุ่นจะพบว่า ปัญหาของสถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นคือ การไม่มีรัชทายาทที่เป็นผู้ชายในการสืบทอดบัลลังก์ เพราะราชวงศ์มีแต่ผู้หญิง จึงได้เห็นบทบาทของผู้หญิงใน Attack On Titan ที่มีกษัตริย์เป็นผู้หญิงได้ และมีผู้หญิงที่ปกป้องผู้ชายที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกได้ 

อภิสิทธิ์มองว่า การฆ่าคนของเอเรนไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธ์แบบที่เกิดขึ้นในยุคนาซี แต่สำหรับอภิสิทธิ์แล้วนี่เป็นการฆ่าตัวตายโดยตำรวจ (Suicide by cop) เหมือนที่เกิดเหตุการณ์กราดยิงในสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ตำรวจมาสังหารตน จะเห็นได้ว่า นี่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนับตั้งแต่การเกิดขึ้นของเสรีนิยมใหม่ (Neo Liberalsim) ซึ่งญี่ปุ่นเป็นที่แรกที่เจอมันเพราะ ญี่ปุ่นฟองสบู่เพิ่งแตก ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นสูงขึ้น  Franco “Bifo” Berardi อธิบายไว้ในหนังสือ Heroes: Mass Murder and Suicide ว่า การฆ่าตัวตายโดยตำรวจนั้นเกิดจากปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “Annihilating Hihilism” เป็นอาการของทุนนิยมการเงิน (Financial Capitalism) ที่อยู่ภายใต้ตรรกะของ Winner – Loser ที่เกิดการคัดสรรโดยธรรมชาติคนที่สมควรอยู่คือ ผู้ชนะ และผู้ที่ไม่มีค่าอะไรคือ Loser หลายๆ ครั้งมังงะ และอนิเมะเป็นการต่อสู้ของ Winner – Loser เพื่อแย่งชิงตำแหน่งนั้น การที่เอเรนตัดสินใจฆ่าคนเช่นนั้นเป็นการทำให้ตัวเองตายด้วยน้ำมือของคนที่เขารัก

การฆ่าคนของเอเรนไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธ์แบบที่เกิดขึ้นในยุคนาซี นี่เป็นการฆ่าตัวตายโดยตำรวจ (Suicide by cop) เหมือนที่เกิดเหตุการณ์กราดยิงในสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ตำรวจมาสังหารตน จะเห็นได้ว่า นี่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนับตั้งแต่การเกิดขึ้นของเสรีนิยมใหม่ (Neo Liberalsim) ซึ่งญี่ปุ่นเป็นที่แรกที่เจอมันเพราะ ญี่ปุ่นเพิ่งเจอกับวิกฤติฟองสบู่แตก ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นสูงขึ้นอภิสิทธิ์ เรือนมูล

เมื่อหนึ่งชาติพันธุ์กลายเป็นอันตรายต่อคนทั้งโลก การทำหมันเพื่อยุติชาติพันธุ์นี้คือทางออกหรือไม่ ?

ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งข้อสังเกตุได้อย่างน่าสนใจว่า ฉากที่ซีค เยเกอร์ อยากทำหมันชาติพันธุ์ตัวเอง เพื่อไม่ให้ชาวเอลเดียเกิดมาอีก จะได้หยุดวงจรของความหวาดกลัวต่อไททันลง เรื่องนี้ผลักให้ชาวเอลเดียกลายเป็นชาติพันธุ์ที่อันตรายพร้อมที่จะเป็นไททันทำลายล้างชาติพันธุ์อื่นได้ทุกเมื่อ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุคนาซีที่มองคนยิวเป็นเผ่าพันธุ์ที่อันตรายต้องถูกกำจัดไป ประเด็นนี้น่าสนใจว่า นี่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ทางอ้อมหรือไม่ ?  ชาวเอลเดียทั้งหมดเห็นด้วยหรือไม่ที่จะยุติการสืบเผ่าพันธุ์ของตัวเองให้เป็นรุ่นสุดท้าย

ในขณะที่สังคมกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ที่คนสูงวัยไม่สามารถเป็นแรงงานได้ แต่คนรุ่นอื่นๆ จะต้องแบกรับต้นทุนการเลี้ยงดูผู้สูงอายุเอาไว้ ซึ่งเราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการฆ่าคนแก่ให้หมดโลกได้ หากผู้สูงอายุมีล้นสังคม ทำให้สังคมพังพินาศ และอัตราการเกิดก็ต่ำมากจนไม่สามารถมีแรงานมาทดแทนได้ คำถามใหญ่คือ เราควรจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ? 

อภิสิทธิ์ตอบคำถามนี้โดยเริ่มจากการตั้งคำถามถึงระบบนิเวศที่ดีนั้นเป็นคำถามของใคร ? ระบบนิเวศที่ดีเป็นของใคร?  และเป็นอย่างไร? ระบบนิเวศที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยคือ ระบบนิเวศของมนุษย์ เวลาที่พูดว่าระบบนิเวศกำลังถูกทำลาย และแย่ลงมักวางอยู่บนฐานคิดที่ว่า กำลังมุ่งไปสู่สังคมที่อุดมการณ์สมบูรณ์ การทำหมันมนุษย์ หรือสัตว์ กระทั่งการจัดระบบนิเวศ ผังเมือง หรือป่าไม้เป็นการตอบสนองความต้องการของมนุษย์เป็นคำถามที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางที่เรียกว่า Anthropocene และชี้ให้เห็นว่าโลกหมื่นพันล้านปีมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากเรามองอีกมุมหนึ่ง นี่อาจไม่ใช่การถดถอย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงของโลก

อภิสิทธิ์ เรือนมูล วิทยากรร่วมวงสนทนา นักเขียนจาก Way Magazine

ความคิดการทำหมันชาวเอลเดียของซีคอยู่บนฐานคิดที่ว่า คุณไม่มีความสุขในการมีชีวิต และหามรรควิธีในการยุติวงจรนี้ได้คำตอบคือ การไม่ต้องเกิดมาอีกซึ่งค่อนข้างคล้ายคลึงกับปรัชญาในศาสนาพุทธ การทำหมันของซีคไม่ใช่กรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซี แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในญี่ปุ่น ในนิยายของ Mieko Kawakami เรื่อง Breasts and Eggs มีประเด็นที่คล้ายกันคือ ไม่ต้องการให้มีชีวิตใหม่เกิดขึ้นบนโลก การเกิดทำให้มีความทุกข์ ซึ่งความทุกข์นี่แหละ ที่เป็นปัญหาของทุกวันนี้เพราะ เราให้คุณค่ากับการมีความสุข และแสวงหาความสุขซึ่งเป็นวิธีคิดแบบอเมริกา ความสุขกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในการมีชีวิต ภายใต้ตรรกะนี้เมื่อเราไม่มีความสุข หรือเป็นทุกข์เท่ากับชีวิตของเราไม่มีคุณค่าอีกต่อไป และเมื่อความสุขมาพร้อมกับการประสบความสำเร็จในชีวิต หากไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตก็จะไม่มีความสุข และที่คุณไม่มีความสุขเพราะ คุณไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ทางออกที่ถูกทำให้ดีที่สุดคือ การแก้ไขปัญหาที่ตัวเอง เมื่อเราทำให้ตัวเองดีขึ้นแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ที่โครงสร้าง หรือระบอบ เพียงแค่มองโลกในแง่บวกชีวิตของเราก็จะดีขึ้นได้ คุณก็จะมีความสุข และพอใจกับการมีชีวิต 

เฌอเอมเสริมว่า ตอนที่เอเรนถามว่า ในเมื่อคนมีลูกไม่ได้ เรากลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ จะจัดการอย่างไรต่อ ? จึงต้องกลับไปที่สายเลือดศักดิ์สิทธิ์ (Divine Blood) ต้องเหลือไททันไว้ปกป้อง ซึ่งเป็นการวางใจในอุดมการณ์มากเกินไป ซีคมีจุดที่ไร้เดียงสาอย่างหนึ่งคือ มองข้ามความเป็นมนุษย์ การที่ซีคไปวางใจว่า คนที่เหลืออยู่เป็นไททันจะสามารถปกป้องเกาะพาราดีส์เหมือนคนแทงม้าเต็งโดยไม่มีแผนสำรอง ความคิดเรื่องการทำหมันของซีคที่ไม่ได้ปรึกษาใครเลย เป็นเพราะ ซีคไม่ใช่ตัวละครที่เต็มไปด้วยความหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ และไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมอาณาจักรโบราณบนเกาะพาราดีส์ อาณาจักรข้างนอกกำแพงน่าจะมีระบอบประชาธิปไตย ดูจากการที่มีรัฐบาลโลก ในมังงะบอกว่า ชีวิตที่ไม่มีความสุขไม่ใช่ชีวิต สิ่งมีชีวิตมีเป้าหมายคือ การแพร่พันธุ์ ถ้าเรามองว่าการแพร่พันธุ์ไม่ได้สำคัญ ดังนั้นชีวิตก็ไม่ได้สำคัญเช่นกัน ความคิดของซีคจึงคิดว่าในเมื่อชาวเอลเดียเป็นอันตรายกับมนุษยชาติมากก็การทำหมันหยุดเผ่าพันธุ์อาจเป็นทางออกที่ดีก็ได้  ในขณะที่เอเรนเลือกวิธีฆ่าคนที่เหลือทั้งโลกให้หมดไป ซึ่งสะท้อนประเด็นเรื่อง ชาติพันธุ์ด้วย แม้ว่าซีคจะอยู่ในโลกที่มีเสรีภาพในการออกสิทธิออกเสียงเป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่มีความเท่าเทียมบนระนาบเดียวกันคุณก็จะใช้ชีวิตเหมือนเดิมอยู่ดี กลายเป็นว่า ถ้าเรากำจัดความเหลื่อมล้ำไม่ได้ เราก็กำจัดชาติพันธุ์แทน ซึ่งเป็นการมองปัญหาว่าไม่มีทางออกใดๆ อีกแล้ว จึงลงเอยที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ข้อถกเถียงเรื่องเสรีภาพใน Attack On Titan 

อภิสิทธิ์ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นเรื่องความเสี่ยงของการมีเสรีภาพใน Attack on Titan ว่า ทางเลือกของเอเรน กับซีคเป็นทางเลือกแย่พอๆ กัน นำมาสู่คำตอบในเรื่องนี้ว่า สิ่งที่ต้องการจริงๆ ไม่ได้ถูกนำเสนอในเรื่อง และไม่มีตัวแบบ หรือไอเดียที่เป็นความจริง (Reality) ใหม่กลายเป็นว่าบนความเป็นจริงในเรื่องนี้มีทางเลือกให้เลือกแค่สองทางเท่านั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วทางเลือกที่ดีกว่าไม่ได้อยู่ในสมการที่เราสามารถตัดสินใจที่จะเลือกได้ ซึ่งจะมองเห็นตัวเลือกใหม่ได้ต้องถอยออกมาจากความเป็นจริง เมื่อเราติดสินใจทางใดทางหนึ่งไป มันคือ ความเสี่ยงของการมีเสรีภาพ

อภิสิทธิ์ลองเปรียบเทียบพลังของไททัน เป็นเสรีภาพคล้ายๆ กับการมีอินเตอร์เน็ต เมื่อโลกรู้จักอินเตอร์เน็ต เรารู้จักเสรีภาพ และรู้วิธีหลบหนีจากการสอดส่องของอำนาจรัฐซึ่งมาพร้อมกับความเสี่ยงที่ต้องเจอกับไวรัส หรือเจอเนื้อหาที่เป็นการบั่นทอนศีลธรรม หากเราอยู่ในโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก คุณมีเสรีภาพ และรู้สึกว่ามีเสรีภาพ แต่เสรีภาพของคุณถูกควบคุม และกำหนดโดยบริษัท จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า Techno Feudalism คือ เป็นศักดินาใหม่ (Neo Feudalism) ในรูปแบบเทคโนโลยีที่มีการใช้เสรีภาพในการปกครองผู้อื่น ตัวอย่างเช่น บริษัทแพลตฟอร์มที่ต้องการรับสมัครไรเดอร์ หนึ่งในคำประชาสัมพันธ์คือ มีอิสระในการทำงาน สิ่งที่บริษัทเหล่านี้กำลังบอกคือ คุณมีอิสระในการทำงาน คุณมีเสรีภาพในการใช้ชีวิตได้เต็มที่ แต่ที่ผ่านมาคงเห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เสรีภาพที่ไรเดอร์ได้รับไม่ใช่เสรีภาพจริงๆ แต่คือ เสรีภาพที่จะถูกบริษัทเอาเปรียบโดยไม่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งของเสรีนิยมใหม่คือ การที่ทำให้ปัจเจกเหมือนมีเสรีภาพ เพื่อทำให้บริษัทปกครองได้ง่ายขึ้น ในแง่นี้เสรีภาพจึงไม่ได้มีความหมายในเชิงบวกเสมอไป หากลองมองผ่านสายตาของจอร์จ ออร์เวล ผู้เขียนวรรณกรรม 1984 ว่า ผู้ที่ถูกปกครองง่ายที่สุดคือ คนที่คิดว่าตัวเองมีเสรีภาพ ตราบใดที่คุณไม่ผลักเสรีภาพจนไปเจอขอบเขตของมัน คุณก็จะถูกปกครองได้ง่าย ตราบใดที่เราไม่ไปสุดขอบโลก เราจะคิดว่าโลกมันกว้างใหญ่มาก

ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งตั้งคำถามได้น่าสนใจว่า เวลาพูดถึงเสรีภาพในยุคทุนนิยมสมมติว่า ถ้าเราเข้าไปในร้านสะดวกซื้อ มีน้ำให้เลือกอยู่ 7 ยี่ห้อ เรามีเสรีภาพที่จะเลือกดื่มน้ำยี่ห้อไหนก็ได้ หากเราคิดในมุมนี้เสมือนว่าเรามีเสรีภาพในการเลือกได้เต็มที่เลย คำถามคือ ในขณะที่เราไม่มีโอกาสได้กินน้ำประปาดีๆ ที่บ้านของเรา และต้องออกไปซื้อน้ำที่มีเพียงไม่กี่ยี่ห้อแบบนี้ มันเรียกว่าเสรีภาพได้หรือไม่ ? จริงๆ แล้วหัวใจของ Attack On Titan ไม่ใช่เรื่องของรัฐอำนาจนิยม แต่คือ เสรีภาพของเราคืออะไร ? ขอบเขตของเสรีภาพอยู่ตรงไหน ? การวางเรื่องเสรีภาพในช่วงแรกมีน้ำเสียงที่มีความหวังในเชิงบวก เราต้องสู้ เราต้องออกไปข้างนอกไปถึงทะเลให้ได้ แต่ครึ่งหลังของเรื่องเสรีภาพถูกตั้งคำถามมาก มีหลายฉากในช่วงหลังของ Attack on Titan ที่ให้ความหมายของเสรีภาพเป็นไปในเชิงลบมากขึ้น  

พลังของไททัน เป็นเสรีภาพคล้ายๆ กับการมีอินเตอร์เน็ต เมื่อโลกรู้จักอินเตอร์เน็ต เรารู้จักเสรีภาพ และรู้วิธีหลบหนีจากการสอดส่องของอำนาจรัฐซึ่งมาพร้อมกับความเสี่ยงที่ต้องเจอกับไวรัส หรือเจอเนื้อหาที่เป็นการบั่นทอนศีลธรรม หากเราอยู่ในโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก คุณมีเสรีภาพ และรู้สึกว่ามีเสรีภาพ แต่เสรีภาพของคุณถูกควบคุม และกำหนดโดยบริษัท จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า Techno Feudalism คือ เป็นศักดินาใหม่ (Neo Feudalism) ในรูปแบบเทคโนโลยีที่มีการใช้เสรีภาพในการปกครองผู้อื่น ตัวอย่างเช่น บริษัทแพลตฟอร์มที่ต้องการรับสมัครไรเดอร์ หนึ่งในคำประชาสัมพันธ์คือ มีอิสระในการทำงาน สิ่งที่บริษัทเหล่านี้กำลังบอกคือ คุณมีอิสระในการทำงาน คุณมีเสรีภาพในการใช้ชีวิตได้เต็มที่ แต่ที่ผ่านมาคงเห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เสรีภาพที่ไรเดอร์ได้รับไม่ใช่เสรีภาพจริงๆ แต่คือ เสรีภาพที่จะถูกบริษัทเอาเปรียบโดยไม่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานอภิสิทธิ์ เรือนมูล

เฌอเอมเสริมว่า ตอนอ่านภาคแรกเหมือนกับเป็นเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติที่ไม่ได้มีเหตุผลในการเกิดขึ้นแล้วการเป็นทดสอบการเอาตัวรอดของมนุษยชาติ หลังจากผ่านฉากห้องใต้ดินมามีความคล้ายกับบริบทการเมืองโลก และการเมืองไทยด้วยเปรียบเสมือนอาวุธนิวเคลียร์ หากเราเชิดชูอำนาจมาก เราก็จะมีเสรีภาพมากในการเป็นชาติมากกว่าที่อื่นทรงอำนาจมากกว่าก็มีอำนาจต่อรองที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

เฌอเอมทิ้งท้ายด้วยเรื่องเสรีภาพในการเมืองไทย ทำให้นึกถึงกรณีของนักรบองค์ดำที่ใช้เสรีภาพไปบังคับให้คนคิดเหมือนเขา หรือมากราบไหว้รูป ขณะที่กลุ่มสามนิ้วก็มีเสรีภาพที่เราจะไม่รักเคารพในสถาบันกษัตริย์ จึงเกิดการโต้เถียงกันว่า ขอบเขตของเสรีภาพอยู่ตรงไหน หรือสามารถคุกคามคนอื่นได้หรือไม่ ? 

เมื่อเราต้องสวมอัตลักษณ์ใหม่แทนอัตลักษณ์เก่า เพื่อสิ่งที่ดีกว่า 

คุณไนล์ตั้งคำถามชวนคุยได้น่าสนใจมากว่า ในตอนสุดท้ายที่เอเรนเอาพลังไททันนั้นเป็นเพราะ เขาเป็นคนคนส่วนน้อย (Minority) ของสังคมจึงต้องเอาพลังไททันออก เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ หรือมีชีวิตที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ถ้าหากในเรื่องมีเอเรนคนดำ เพื่อที่จะไม่ให้คนดำถูกกดขี่ คือการเปลี่ยนสีผิวคนดำเป็นคนขาวให้หมดมันเป็นการเอาคุณลักษณะที่เป็นส่วนน้อยออกไป เพื่อหวังว่าจะไม่ถูกกดขี่อีกต่อไป แต่ในความเป็นจริงคุณก็ต้องถูกกดขี่อยู่เหมือนเดิม

“สำหรับผมแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติมากๆ เวลาเราพูดถึง Majority กับ Minority  แล้วเอา Minority ออกหมายความว่า การถอด Minority อย่างน้อยที่สุดมันอาจตอบสนองให้ได้อำนาจอะไรบางอย่างกลับมา และเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจ ทำให้นึกถึงการเปลี่ยนชื่อของชาวจีนอพยพที่เปลี่ยนชื่อแซ่จีนให้เป็นไทย มันสร้างเสริมอำนาจอะไรบางอย่างให้คุณสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ แล้วเปลี่ยนจากการนับถือจิ๋นซีฮ่องเต้มานับถืออะไรบางอย่างที่คล้ายกับจิ๋นซีฮ่องเต้” อภิสิทธิ์กล่าว

เฌอเอมเสริมว่า ชาวกระเหรี่ยงต้องเปลี่ยนชื่อให้เป็นไทย เพื่อที่จะเข้าถึงสังคมของคนไทย แต่ถ้าเราตีความพลังของไททันที่สามารถแปลงร่างเป็นไททันได้ ซึ่งโลกมองมันเป็นภัยคุกคาม การที่เราเอาอัตลักษณ์ที่ถูกมองว่าเป็นปีศาจออกไป ในแง่หนึ่งก็เหมือนเป็นการทำลายอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คุณมีผิวสีอะไร แต่สีผิวของมีอำนาจทำลายเสรีภาพในระดับโลกเหมือนกับอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่? ในช่วงต้นของครึ่งหลังของเนื้อเรื่อง ทหารชาวมาร์เลย์สามารถสร้างอาวุธที่ต่อกรกับไททันได้แล้ว นี่อาจเป็นการพยายามรักษาขั้วอำนาจในโลกเอาไว้ก็ได้ พลังไททันเหมือนกับนิวเคลียร์ของกลุ่มคนส่วนน้อยที่สามารถขึ้นมาทัดทานคนกลุ่มใหญ่ในโลก ดังนั้นการเอาพลังไททันออกไปอาจทำให้คนส่วนน้อยเสียเปรียบด้วยหรือไม่? 

มังงะในฐานะเครื่องมือทางการเมือง 

“เราสามารถมองมังงะเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ Attack On Titan เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้หรือไม่ ? ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาสถานการณ์การชุมนุมที่ผ่านมาสร้างผลกระทบมากมายไม่ใช่แค่การตื่นรู้ทางโซเชียลมีเดีย แต่เกิดการกระจายของงานทางความคิด งานวิชาการแพร่หลายมากขึ้น หนังสือฟ้าเดียวกันไม่เคยคนเต็มบูทมากขนาดนี้ นอกจากงานหนังสือวิชาการ หนังสือการ์ตูนก็มีศักยภาพเป็นเครื่องมือทางการเมืองไม่ว่าจะใช้ในทางสัญลักษณ์ หรือเอาเรื่องเล่า เนื้อหามาใช้ที่ผ่านมามีการใช้เรื่อง นารุโตะ หรือแฮมทาโร่ในการชุมนุมมากขึ้น ในช่วงแรกของเรื่องจนถึงการทำรัฐประหารสำเร็จเป็นฉากที่สามารถใช้อธิบายการเมืองไทย และสามารถนำมาทำความเข้าใจการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ปลดแอกจากรัฐเผด็จการได้ รวมถึงใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองได้เช่นกัน” ผู้อ่านท่านหนึ่งกล่าว

นักกอ่านท่านหนึ่งกล่าวว่า Attack On Titan สะท้อนการเมือง และสภาพสังคมไทยโดยมองว่ารัฐประหารไม่ใช่หนทางที่จะแก้ปัญหาได้ แม้ว่าบริบทการรัฐประหารในเรื่องอาจจะยอมรับได้ แต่เมื่อย้อนมองกลับมาในสังคมโลกจะเห็นว่าการรัฐประหารไม่ใช่เหตุการณ์ที่สมเหตุสมผล และประเด็นการเหยียดเชื้อชาติในสังคมไทย คนกรุงฯ เหยียดคนต่างจังหวัดยังคงมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง สำหรับตนแล้ว Attack On Titan สามารถสะท้อนสภาพสังคม และการเมืองไทยได้ค่อนข้างดี

แม้ว่า Attack On Titan จะจบไปแล้ว แต่ก็ยังรอคอยให้นักอ่านทั้งหน้าใหม่ และเก่าทุกคนเข้าไปผจญภัย และอ่านเรื่องนี้ตามใจปรารถนา และหวังว่าคุณจะเห็นอะไรใหม่ๆ ที่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้คุณลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้

สามารถรับชมกิจกรรม Reading Group : Attack On Titan ได้ที่นี่

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด