หลายคนจดชื่อประเทศสาธารณรัฐจีน หรือ “ไต้หวัน” อยู่ในลิสต์ประเทศที่ต้องเดินทางไปยลโฉมดูสักครั้งในฐานะประเทศที่ขึ้นชื่อในด้านอาหารการกิน ท่องเที่ยว การช็อปปิ้ง และเทคโนโลยี แบรนด์สินค้าเทคโนโลยีระดับโลกที่เราคุณชื่ออย่าง HTC, Asus, Acer, BenQ ล้วนเป็นแบรนด์จากไต้หวัน อีกทั้งยังมีชื่อเสียงในด้านศิลปะและวัฒนธรรม ภาพยนตร์ ซีรีส์ ดนตรี
แม้จะต้องรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด แต่ปัจจุบันประเทศไต้หวัน ก็ยังได้รับฉายา 1 ใน 4 เสือแห่งเอเชีย ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 11 ของประเทศที่มีประชาธิปไตยเต็มใบ และมีอัตราเศรษฐกิจที่เติบโตดีกว่าจีน 2.98 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ไต้หวันยังเป็นผู้นำด้านการผลิตไมโครชิพตามหลังเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษ 1980 ไต้หวันที่งดงามเช่นปัจจุบัน กลับเกือบมีสภาพเป็นนรกบนดินอีกแห่งหนึ่งบนโลก ประเทศที่ไร้ซึ่งอนาคตเพราะเผด็จการทหาร ประชาชนที่มีโอกาสต่างย้ายออกจากประเทศ นักศึกษาที่มีโอกาสเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศก็แทบจะไม่ยอมกลับมาสู่บ้านเกิดที่ไร้อนาคตให้เติบโต
แรกเริ่มเดิมที เกาะไต้หวันเคยถูกครอบครองโดยหลากหลายชนชาติ จากชนเผ่าพื้นเมืองที่มีวัฒนธรรมของตนเองภายใต้การการคุ้มครองของราชวงศ์ชิง ต่อมาเจ้าอาณานิคมฮอลันดาและสเปนได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าในเอเชียตะวันออกที่เกาะแห่งนี้ในศตวรรษที่ 17 ต่อด้วยการยึดครองของจักรวรรดิญี่ปุ่นจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งไต้หวันได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองของจีนอีกครั้งภายใต้การนำของคณะชาติหรือก๊กมินตั๋ง (ค.ศ. 1912-1949) หลังการโค่นล้มราชวงศ์ชิงในการปฏิวัติซินไฮ่ (ค.ศ. 1911)
อย่างไรก็ตาม หลังสิ้นสุดการสู้รบระหว่างจีนและญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนยังคงเผชิญกับสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลจีนคณะชาติและกองทัพจีนคอมมิวนิสต์ที่นำโดยเหมาเจ๋อตุง แต่เนื่องจากความอ่อนแอของรัฐบาลก๊กมินตั๋ง กองทัพไร้ระเบียบวินัยและปล้นฆ่าข่มขืนประชาชนตามรายทาง ทำให้ไม่ได้รับความศรัทธาจากประชาชนและประสบความพ่ายแพ้จนต้องอพยพไปยังเกาะไต้หวัน พร้อมประชาชนนับล้านที่ไม่อยากเข้าร่วมกับกองทัพคอมมิวนิสต์
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองเดียวกันกับวีรบุรุษนักปฏิวัติซุนยัตเซน แต่หลังการขึ้นสู่อำนาจของเจียงไคเช็ค ซึ่งเป็นมือขวาของเขา ไต้หวันกลับตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการพรรคเดียวนับตั้งแต่การก่อตั้งรัฐบาลที่ไต้หวันในปี 1949 โดยการใช้ข้ออ้างเรื่องการทำสงครามกับจีนแผ่นดินใหญ่ รัฐบาลคณะชาติของเจียงได้ทำการยึดธุรกิจและสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งยังประกาศกฎอัยการศึกและลิดรอนสิทธิในการตั้งพรรคการเมืองของผู้อื่น
นอกจากนี้ ในไต้หวันยังไม่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรง ห้ามประชาชนยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือพูดถึงผู้ที่สูญหายหรือเสียชีวิตจากการแสดงความเห็นทางการเมือง สื่อสิ่งพิมพ์ถูกเซ็นเซอร์ ผู้ใดที่วิพากษ์วิจารณ์หรือทำตัวเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลก็มักจะถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหา “ล้มเจียง” หรือมีความ “น่าจะ” “อาจจะ” “เป็นไปได้ที่จะ” ฝักใฝ่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นการกล่าวหาลมๆ แล้งๆ เพื่อปกป้องเสถียรภาพทางอำนาจของรัฐบาลนี้ ในระหว่างนี้ มีประชาชนถูกจับขังคุกถึง 140,000 ราย และถูกสังหารถึง 4,000 คน จนถูกขนานนามว่าเป็นยุคแห่ง “ความสะพรึงกลัวสีขาว” (White Terror)
หากความโหดร้ายของระบอบเผด็จการก๊กมินตั๋งไม่ได้เป็นแค่อดีต ไต้หวันคงดูเป็นสถานที่ไม่น่าอยู่ และคนไทยก็คงไม่อยากติดแฮชแท็ก #ทีมไต้หวัน เป็นแน่ อย่างไรก็ตาม ยุคมืดไม่อาจปกคลุมอยู่ได้ตลอดไป เช่นเดียวกับที่ยุคสมัยไม่อาจทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงและปณิธานของประชาชน
ความเป็นมาของกลุ่มตั๋งว่าย
ในปี 1971 กลุ่มนักศึกษาและอาจารย์ 15 คนในมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน และกลุ่มตั๋งว่ายเหรินชื่อ (黨外人士) หรือแปลเป็นไทยว่า “คนนอกพรรค” 3 คน ได้ร่วมกันก่อตั้งนิตยสาร The Intellectual เพื่อปลุกระดมและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้นิตยสารจะถูกสั่งหยุดตีพิมพ์ในปี 1973 และกลุ่มนักศึกษาคณาจารย์จะถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยและบางส่วนถูกจับกุม แต่การรวมตัวกันในครั้งนี้นับเป็นการเคลื่อนไหวที่เริ่มกระเทาะเปลือกเผด็จการเจียงไคเช็คเป็นครั้งแรก
กลุ่ม “ตั๋งว่าย” ที่เหลือกลับได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้นในนามของการ “การปฏิรูปเพื่อปกป้องไต้หวัน” และยังคงทำการเคลื่อนไหวอย่างลับๆ เมื่อเจียงไคเช็คเสียชีวิตในปี 1975 รองประธานาธิบดีเหยียนไช่กานขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่อ ขบวนการตั่งไวได้รับการสนับสนุนมากขึ้นและเริ่มตีพิมพ์นิตยสารการเมืองอีกครั้งในชื่อ Taiwan Political Review เพื่อวิพากษ์วิจารณ์และนำเสนอการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองไต้หวันโดยตรง แม้นิตยสารจะสามารถขายได้นับหมื่นฉบับในเวลาเพียงข้ามคืน แต่ไม่นานนักก็ถูกสั่งปิดไปตามระเบียบ
ต่อมาในปี 1977 สมาชิกกลุ่มตั๋งว่ายได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและเอาชนะสมาชิกพรรคคณะชาติได้ถึง 20 จาก 77 ที่นั่งในสภาบริหารจังหวัด ภายใต้ระบบการเมืองที่ปิดและอันตราย ชัยชนะครั้งนี้นับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญซึ่งสะเทือนอำนาจของรัฐบาลก๊กมินตั๋งอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็มีการพบว่าลูกสมุนของรัฐบาลก๊กมินตั๋งพยายามโกงการเลือกตั้งอย่างซึ่งหน้า เมื่อมีคนรู้เข้าจึงการจลาจลขึ้นในเมืองจงลี่ โดยผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 20,000 คนพากันยึดจุดเลือกตั้ง สถานีตำรวจ และล้อมศาลากลางจังหวัดไว้ เหตุการณ์จบลงด้วยความรุนแรงจากฝ่ายตำรวจ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 คนและหลายคนได้รับบาดเจ็บ
การเคลื่อนไหวชุมนุมหลายครั้งเกิดขึ้นตามมา การจับกุมยังคงดำเนินต่อไป แต่ด้วยความนิยมที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง พรรคก๊กมินตั๋งจึงไม่มีความชอบธรรมในการกวาดล้างขบวนการประชาธิปไตยได้ทั้งหมด เมื่อถึงสมัยของเจียงจิงกว๋อ ประธานาธิบดีคนที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรชายของเจียงไคเช็คในปี 1978 กลุ่มตั๋งว่ายเริ่มมีศักยภาพในการเป็นพรรคฝ่ายค้านที่แข็งแกร่ง ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในประเทศ และชาวไต้หวันโพ้นทะเลที่หนีขุมนรกดังกล่าวไปมีชีวิตใหม่ในยุโรปและอเมริกา
ในเดือนพฤษภาคม 1979 กลุ่มตั๋งว่ายนำโดยหวงซินเจ๋อ หนึ่งในแกนนำกลุ่มได้ตีพิมพ์นิตยสาร Formosa จนมียอดจำหน่ายถึง 110,000 ฉบับเพื่อ “ร่วมส่งเสริมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่” และถูกสั่งห้ามเผยแพร่โดยหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลอีกเช่นเคย การเคลื่อนไหวขืนต้านทางการเมืองและชิงไหวชิงพริบกันระหว่างกลุ่มตั๋งว่ายกับรัฐบาลก๊กมินตั๋งยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงจุดแตกหักในวันที่ 10 ธันวาคม 1979 เมื่อกลุ่มตั๋งว่ายในนาม “นิตยสาร Formosa” ได้ประกาศนัดชุมนุมและเดินขบวนเนื่องใน “วันสิทธิมนุษยชนสากล” และใช้โอกาสดังกล่าวในการปราศรัยโจมตีความฉ้อฉลของรัฐบาลทั้งในเรื่องการกระทำที่โหดร้ายและการคอรัปชั่น รัฐบาลตอบโต้ด้วยการประกาศเคอร์ฟิวโดยห้ามมมีการรวมตัวกันในที่สาธารณะ
ผลกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เมื่อถึงเวลานัดหมายมีมวลชนจำนวนมากนับแสนคนออกมารวมตัวกันเดินขบวนบริเวณสถานีรถไฟฟอร์โมซาบูเลอวาร์ด ขณะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนของรัฐบาลได้วางกำลังรอไว้แล้ว แกนนำได้ขอเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อจัดการชุมนุมโดยสันติ และจะสลายเมื่อถึงเวลา 5 ทุ่ม อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลา 2 ทุ่ม เจ้าหน้าที่กลับทำการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชน บีบพื้นที่มวลชนด้วยแนวโล่ของตำรวจ ประชาชนถูกทำร้ายด้วยท่อนไม้และก้อนหิน ในการสลายชุมนุมครั้งนี้ ตำรวจยังมีมวลชนฝ่ายขวาที่สนับสนุนรัฐบาลตามมาสมทบด้วย
หลังสลายชุมนุม หวงซินเจ๋อและแกนนำประท้วงถูกจับขึ้นศาลทหารโดยบังคับให้รับสารภาพและพิพากษาจำคุก 2 – 6 ปี บางส่วนสมาชิกครอบครัวถูกลอบสังหารโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล และต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศ ประชาชนผู้ร่วมชุมนุมถูกฟ้องในข้อหาก่อความไม่สงบ 152 ราย ขณะที่จำนวนผู้บาดเจ็บไม่เป็นที่แน่ชัด เนื่องจากสำนักพิมพ์ของรัฐบาลพยายามตกแต่งตัวเลขให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นฝ่ายเสียเปรียบ นิตยสารบางฉบับจึงลงตัวเลขแตกต่างกันอย่างลิบลับเมื่อเทียบกับฉบับอื่น ๆ เช่น ฉบับแรก ตำรวจบาดเจ็บ 182 นาย ประชาชนบาดเจ็บ 1 คน อีกฉบับหนึ่งตำรวจบาดเจ็บ 40 นาย ประชาชนบาดเจ็บอย่างน้อย 90 คน การต่อสู้ครั้งนี้เป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้ชาวไต้หวันทั้งในและนอกประเทศหันมาสนใจทิศทางการเมืองในประเทศของตัวเองมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
การเปิดเสรีทางการเมือง
ภายหลังการเสียชีวิตของเจียง ไค เช็ค เสถียรภาพของรัฐบาลตกต่ำลงจากการมัวแต่จ้องจะกลับไปสู่การครองอำนาจบนจีนแผ่นดินใหญ่ ในปี 1978 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ประกาศยกเลิกการรับรองรัฐบาลก๊กมินตั๋งไม่ให้เป็นตัวแทนของจีนแผ่นดินใหญ่อีกต่อไป และเนื่องจากสูญเสียสถานะการรับรองในเวทีระหว่างประเทศ จีนไต้หวันจึงสูญเสียเก้าอี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งประชาชาติให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า “จีนแดง” ด้วยตามลำดับ
รัฐบาลก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของประธานาธิบดีเหยียนไช่กานพยายามยกระดับเสถียรภาพของประเทศและรัฐบาลด้วยการปฏิรูประบบอุตสาหกรรมผ่าน แผนสิบโครงการก่อสร้างสำคัญ และ โครงการพัฒนาใหม่สิบสองโครงการ ในปี 1974 – 1979 จากแผนดังกล่าว รัฐบาลได้ดำเนินโครงการก่อสร้างเส้นทางการขนส่งทางบก ท่าเรือน้ำลึก ท่าอากาศยาน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงกลั่นน้ำมันเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของรัฐบาลให้กลับมาอีกครั้ง ทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นถึง 13% แม้เสรีภาพทางการเมืองจะยังถูกปิดกั้นอยู่
ในปี 1986 แกนนำกลุ่มตั๋งว่ายได้รับการปล่อยตัวครบทั้งหมดและประกาศตั้งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ พรรคการเมืองนี้ชูนโยบายทางการเมืองแบบประชาธิปไตยและการประกาศเอกราชของเกาะไต้หวัน เมื่อเวลาผ่านไป รัฐบาลเผด็จการก๊กมินตั๋งไม่อาจฝืนการเปลี่ยนแปลงได้อีก สุดท้ายจึงยอมประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในปี 1987 หลังบังคับใช้มาเป็นเวลากว่า 38 ปี 57 วัน ถือเป็นกฎอัยการศึกที่ถูกประกาศใช้นานที่สุดในโลก
การเปิดเสรีทางการเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไปในครั้งนี้ ส่งผลให้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าหริอ Democratic Progressive Party (DDP) ก้าวขึ้นมาเป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลคณะชาติอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไต้หวัน สื่อสิ่งพิมพ์และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง นอกจากนี้ ชาวจีนที่อพยพตามรัฐบาลก๊กมินตั๋งมาอยู่ไต้หวันยังได้รับอนุญาตเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวของตนในจีนแผ่นดินใหญ่ได้อีกด้วย
ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดเสรีทางการเมือง เจียงจิงกว๋อได้ประกาศต่อสาธารณะว่าประธานาธิบดีคนต่อไปจะไม่ใช่คนที่มาจากตระกูลเจียงอย่างแน่นอน และภายหลังการเสียชีวิตของเขา หลี่เติ้งฮุยซึ่งเป็นผู้ว่าการเกาะไต้หวันก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีแทน ถึงแม้จะยังเป็นพรรคก๊กมินตั๋งจะยังเป็นรัฐบาลอยู่ แต่การพัฒนาประชาธิปไตยในไต้หวันก็เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในยุคสมัยนี้ มีการปล่อยนักโทษทางการเมืองและแกนนำนักศึกษามออกมาทั้งหมด นอกจากนี้ หลี่เติงฮุยยังปลดรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐ 14 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมและสังหารหมู่ประชาชนด้วย
ในด้านของภาคประชาชน การเคลื่อนไหวต่อสู้ของยังคงถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นในปี 1990 ขบวนการดอกลิลลี่ป่าหรือ Wild Lily ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ประชาชนกว่า 300,000 คนได้เข้าร่วมการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง ตลอดเวลาที่ผ่านมา การเลือกตั้งประธานาธิบดีในไต้หวันเป็นการเลือกจากตัวแทนที่ได้เข้าไปอยู่ในสภาสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) และมีแต่เพียงพรรคก๊กมินตั๋งเท่านั้นที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี จากการประท้วงดังกล่าว หลี่เติงฮุยได้เชิญแกนนำนักศึกษา 50 คนเข้ามาพูดคุยในทำเนียบรัฐบาลและประกาศรับรองว่าเขาสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเต็มใบและจะเริ่มดำเนินการทันที
แล้วประชาธิปไตยในไต้หวันก็ผลิบาน การเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรงครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1996 โดยเป็นการแข่งขันกันระหว่างนายหลี่เติงฮุยจากพรรคก๊กมินตั๋งกับนายเผิงหมิงหมินจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ผลออกมานายหลี่เติงฮุยยังคงชนะด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 54 ขณะที่นายเผิงหมิงหมินได้คะแนนเพียงร้อยละ 21 เท่านั้น
ยุคประชาธิปไตยของหลี่เติงฮุย
ในยุคของหลี่เติงฮุย รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายแผนการเศรษฐกิจที่เรียกว่า “Southbound” โดยมุ่งเน้นการทุ่มลงทุนมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนหน้านี้เกาะไต้หวันต้องพึ่งพาอาศัยเศรษฐกิจและการลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่เกือบ 90% ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงพยายามวางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจรูปแบบใหม่เพื่อลดการพึ่งพาจีนแผ่นดินใหญ่
ในช่วงนี้ ไต้หวันเริ่มเปิดรับแรงงานต่างชาติ (รวมถึงแรงงานไทย) ให้เข้ามาหาโอกาสในประเทศมากขึ้น เนื่องจากหลี่เติงฮุยเป็นชาวไต้หวันโดยกำเนิด ซึ่งแตกต่างผู้นำคนก่อนๆ ที่เคยใช้ชีวิตอยู่บนแผ่นดินใหญ่ หลี่เติงฮุยจึงแสดงท่าที่แข็งกร้าวต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนบนแผ่นดินใหญ่ และพยายามแสดงตัวตนของไต้หวันว่าเป็นรัฐเอกราชมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นและฟื้นอัตลักษณ์ของชาวไต้หวันในฐานะที่กลุ่มคนที่แตกต่างจากจีน
การขึ้นมาของหลี่เติงฮุยหลังการเลือกตั้งนับเป็นหมุดหมายสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไต้หวันไปสู่ประชาธิปไตย แม้ก๊กมินตั๋งจะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป แต่จากการตัดสินใจของหลี่เติงฮุยไต้หวันก็หันหลังให้กับระบอบเผด็จการอย่างถาวร ในปี 2000 นายเฉินสุ่ยเปี่ยน ตัวแทนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในที่สุด และแล้วการครองอำนาจของรัฐบาลก๊กมินตั๋งในไต้หวันกว่า 50 ปีก็ยุติลง
อยู่สู้รอวันเบ่งบาน
การพร้อมเสียสละของประชาชนผู้รักเสรีภาพนับหมื่นแสน และการปรับตัวที่ริเริ่มโดยผู้นำหัวก้าวหน้าในฝ่ายรัฐบาล ถือเป็นสองปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไต้หวันผ่านพ้นช่วงเวลาอันมืดมิดและก้าวเข้าสู่ยุคของความงอกงามและรุ่งโรจน์ได้ในที่สุด หลังจากเฉินสุ่นเปี่ยนลงจากตำแหน่ง โลกก็ได้ยลโฉมหญิงแกร่งนามว่าไช่อิงเหวิน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบันของไต้หวัน จากประเทศที่มีแต่คนอยากทอดทิ้ง วันนี้ไต้หวันกลับกลายเป็นประเทศที่คนไทยหลายๆ คนอยากย้ายไปอยู่อาศัย
แม้วันนี้ประเทศไทยยังคงอยู่ในระบอบเผด็จการ จนเกิดเป็นกระแสย้ายประเทศและ #ทีมไต้หวัน ขึ้นมา แต่หากเราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและรอคอยอย่างมีความหวัง ประเทศไทยก็อาจกลายเป็นเมืองน่าอยู่อันดับต้น ๆ ของโลกเหมือนไต้หวันได้เช่นกัน
ปัจจุบันไต้หวันยังคงเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญในการเป็นรัฐเอกราช เนื่องจากยังคงตกอยู่ภายใต้สภาวะกดดันจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งที่เป็นเช่นนี้ กองทัพไต้หวันกลับประกาศยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และหันไปใช้ระบบสมัครใจอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยนโยบายนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2018 แม้ชายไต้หวันจะยังต้องเข้าระบบการฝึกของกองทัพเป็นเวลา 4 เดือนอยู่ แต่กองทัพไต้หวันก็เริ่มเพิ่มสวัสดิการให้แก่ทหารอาชีพเพื่อเพิ่มความน่าดึงดูดให้แก่ผู้ที่อยากมาสมัคร กองทัพไต้หวันยืนยันว่าแม้จะยกเลิกเกณฑ์ทหาร แต่กำลังพลที่มีก็ยังสามารถปกป้องอำนาจอธิปไตยของไต้หวันได้อย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ไต้หวันยังวางบทบาทของตนเองในเวทีโลกได้อย่างน่าสนใจ ภายใต้นโยบาย “ไต้หวันช่วยคุณได้” (Taiwan can help) รัฐบาลไต้หวันได้ส่งหน้ากากอนามัยไปให้ประเทศที่ขาดแคลนได้ถึง 54 ล้านชิ้น เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแลกกับการรับรองจากประเทศอื่น ๆ ให้เป็นรัฐเอกราช และทั้งที่เป็นช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 การส่งออกของไต้หวันกลับเติบโตที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากหลายประเทศต้องการสินค้าไอทีไปใช้ในการทำงานที่บ้านหรือที่เราคุ้นชินกันดีคือคำว่า work from home
ในปี 2020 ไต้หวันได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงานจาก 23,800 บาทต่อหัวเป็น 24,000 ต่อหัว และในปี 2021 ไต้หวันก็ยังคงดำเนินนโยบายก้าวหน้าด้วยการประกาศเพิ่มค่าธรรมเนียมการประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อขยายความคุ้มครองสาธารณสุขให้แก่ประชาชน สำหรับการป้องกันไวรัสโควิด 19 ไต้หวันได้เริ่มการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา พร้อมกับการสร้างแอพลิเคชั่นเพื่อติดตามผล นี่เป็นเพียงตัวอย่างและส่วนหนึ่งของรางวัลที่ได้มาจากการต่อสู้อันยาวนานของประชาชน แม้ประชาชนหลายคนจะหนีออกจากไต้หวันไปสร้างชีวิตใหม่ แต่ประชาชนไต้หวันจำนวนมากยังคงต่อสู้เพื่อสร้างสวรรค์ของพวกเขาขึ้นมาเอง
อ้างอิง
“ไต้หวัน” มาจากไหน? จากเกาะแหล่งประมง-โจรสลัด สู่ประเทศอุตสาหกรรม-ประชาธิปไตย, ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2020
โควิดก็ทำอะไรไม่ได้: เศรษฐกิจไต้หวันร้อนแรง อัตราเติบโตแซงจีนครั้งแรกในรอบ 30 ปี, brandinside.asia, 13 ธันวาคม 2020
กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน), 2020-2021 ไต้หวันในหนึ่งนาที
ธีรภัทร เจริญสุข, หลี่เติงฮุย บิดาประชาธิปไตยไต้หวัน รัฐบุรุษหลากสีสันผู้ยิ่งยง, the101.world, 21 Aug 2020
นรมณ ดลมหัทธนะกิตติ์, “เจียง ไคเช็ก” จับคนเห็นต่างเข้าตาราง ด้วยกฎอัยการศึกที่ยาวนานที่สุดในโลก,The people,19 มิถุนายน 2019
นุชจรี ใจเก่ง, ขณะที่ “ไต้หวัน” สู้เพื่อเป็นประเทศเสรี เขาสร้างประวัติศาสตร์-อัตลักษณ์ตนเองอย่างไร?, ศิลปวัฒนธรรม, 30 มกราคม 2021
ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข, ระบบประกันสุขภาพไต้หวัน อีกหนึ่งกุญแจสู่การควบคุมโรคระบาด, waymagazine, 4 พฤษภาคม 2019
ปรีดี บุญซื่อ, รายงานพิเศษ The Economist 4 เสือแห่งเอเชียกับ 50 ปีแห่งความสำเร็จของการพัฒนา, Thaipublica, 16 ธันวาคม 2019
ปี 2020 โควิดพิสูจน์ศักยภาพไต้หวัน แข็งแกร่งเหนือใคร ทั้งการทูต ทั้งเศรษฐกิจ, brandinside.asia, 28 ธันวาคม, 2020
ส่งออกไต้หวันทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี หลังความต้องการสินค้าไอทีสูงขึ้นจากช่วง Work From Home, brandinside.asia, 22 ธันวาคม 2020
สมัครใจรับใช้ชาติ บริการสังคม เลือกคนให้เหมาะกับงาน ชวนดู 5 โมเดลเกณฑ์ทหารในต่างประเทศ, The Matter, 12 พฤศจิกายน 2020
ส่องการเลือกตั้งไต้หวัน : บทเรียนการก้าวข้ามอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตย, iLaw, 2018
หลายประเทศรัดเข็มขัดเพราะเศรษฐกิจแย่ แต่ไต้หวันเตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 2.5 หมื่นบาท, brandinside.asia, 19 สิงหาคม 2020
อดีตประธานาธิบดี’ลี เต็งฮุย’ของไต้หวันถึงแก่อสัญกรรม, ไทยโพสต์, 30 July 2020
C. L. Chiou, Politics of alienation and polarization: Taiwan’s Tangwai in the 1980s, Bulletin of Concerned Asian Scholars, 5 June 2019
Ming-sho Ho, Understanding the Trajectory of Social Movements in Taiwan (1980–2010), Sage journals, 1 September 2010
Qin Chen, Inkstone Explains: How did Taiwan transition to democracy?, Inkstone, 4 August 2020
The New Southbound Policy: Deepening Taiwan’s Regional Integration, center of strategic and international studies, January 2018
The “Kaohsiung Incident” of 1979, 26 May 2001
The Jhongli Incident, 13 October 2016
Taiwan is the most democratic country in Asia, Asianews.it, 6 February 2021
Chiang Kai-shek: Chinese statesman, Britannica, 1 April 2021