งบประมาณสถาบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักร ปี 65-66 : 6,185.83 ล้านบาท

หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 (พ.ศ.2550) สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษต้องเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจทำให้จำเป็นต้องพยายามปรับวิธีการงบประมาณใหม่ รัฐบาลในขณะนั้นในฐานะรัฐบาลที่มาจากการรับเลือกของประชาชนต้องหาทางออกร่วมกับพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 โดยได้มีการหารือกันเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสม เพื่อหาทางออกร่วมกัน จนในที่สุดมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเงินอุดหนุนสถาบันฯจากระบบ Civil List  (ให้งบประมาณในแต่ละปีตามแต่รัฐบาลพิจารณา) มาเป็นแบบใช้สูตรคำนวณจาก Crown Property (กองทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) แทนอย่างประสบความสำเร็จในปี 2012 (พ.ศ. 2555) และยังมีการกำหนดให้ทำรายงานประจำปีอย่างละเอียดเช่นกัน


โครงสร้างของหน่วยรับงบประมาณสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

งบประมาณสถาบันฯสหราชอาณาจักร (หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่าอังกฤษ) จะมีระบบนำส่งกำไรของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ารัฐบาลและจะคืนให้เป็นงบประมาณสำหรับสถาบันฯอีกทีหนึ่ง จากผังดังกล่าว ส่วนราชการในพระองค์หรือพระบรมวงศ์ (Royal Family) จะเปรียบเสมือนเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีประมุขเป็นผู้บริหารสูงสุด โดยจะมีสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Estate) มูลค่า 14,100 ล้านปอนด์ หรือ 600,000 ล้านบาท[1] แต่ไม่สามารถขายทรัพย์สินดังกล่าวได้ จึงมีหน้าที่บริหารทรัพย์สินเหล่านี้ ที่เป็นที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้มีกำไรเข้ารัฐบาล ซึ่งตกปีละประมาณ 270 ล้านปอนด์ หรือ 12,000 ล้านบาท คิดเป็น ROA ประมาณ 2% ซึ่งรัฐบาลจะจัดตั้ง คณะกรรมธิการงบประมาณสถาบันกษัตริย์ (Royal Trustees) เพื่อตัดสินใจเรื่องงบประมาณและดูแล กองทุนสำรอง (Reserve Fund) หากงบประมาณในปีนั้นๆ ยังเหลืออยู่เพื่อใช้พิจารณางบประมาณในปีถัดๆไป รวมถึงการกำหนดอัตราการคืนกำไรให้ราชวงศ์เพื่ออุดหนุนส่วนราชการในพระองค์และพระบรมวงศ์เป็นอัตราตายตัวขั้นต่ำ 15% เพื่อนำไปบริหารทรัพย์สินต่อไป

นอกจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แล้ว ราชวงศ์ยังเป็นเจ้าของทรัพย์สินอื่นๆ ที่รัฐบาลไม่เก็บเงินกำไรเข้ารัฐ คือ The Duchy of Lancaster มูลค่า 580 ล้านปอนด์ หรือ 25,000 ล้านบาท ซึ่งทำกำไรปีละ 20 ล้านปอนด์ หรือ 850 ล้านบาท และ The Duchy of Cornwall 960 ล้านปอนด์ หรือ 40,000 ล้านบาท ทำกำไร 20 ล้านปอนด์ หรือ 850 ล้านบาท แปลงเป็นเงินบาททั้งสองก้อนเป็นทรัพย์สินมูลค่าทั้งหมด 65,000 ล้านบาท ทำกำไรทั้งหมดปีละ 40 ล้านปอนด์ หรือ 1,700 ล้านบาท 

ซึ่งตามกฎหมายแล้วไม่ต้องเสียภาษี แต่ราชวงศ์ประสงค์ที่จะเสียภาษีโดยสมัครใจเหมือนบริษัททั่วไป และทั้งสองแห่งนั้นต้องนำส่งรายงานสรุปทางการเงินให้รัฐบาล ที่สำคัญคือกระทรวงการคลังยังมีส่วนเกี่ยวข้องในการอนุมัติการซื้อขายทรัพย์สินขนาดใหญ่เพื่อปกป้องมูลค่าระยะยาวของทรัพย์สิน[2]

สุดท้ายแล้วราชวงศ์อังกฤษมีทรัพย์สินรวมทั้งสามก้อนทั้งหมด 15,540 ล้านปอนด์ หรือ 665,000 ล้านบาท ได้กำไรปีละประมาณ 310 ล้านปอนด์ หรือ 13,700 ล้านบาท แต่หลังจากหักส่วนที่ต้องนำส่งเข้ารัฐบาลประมาณปีละ 8,000 ล้านบาทจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะเหลือกำไรให้กับราชวงศ์ทั้งหมดปีละ 5,700 ล้านบาท (ยังไม่หักภาษีรายได้ฯ) นอกเหนือไปจากนี้งบประมาณที่เกี่ยวข้องจะไปอยู่ในงบตำรวจซึ่งเก็บรายละเอียดเป็นความลับเพื่อความมั่นคง


หน่วยรับงบประมาณ: ส่วนราชการในพระองค์ (องค์กรในพระองค์สหราชอาณาจักร)

การสถาปนาราชวงศ์อังกฤษเป็นการรวมตัวกันของราชวงศ์อังกฤษและสก็อตแลนด์เริ่มตั้งแต่ Queen Anne ปี ค.ศ. 1702 (พ.ศ. 2245) แต่ก่อนหน้านั้นราชวงศ์อังกฤษ (England) สถาปนามาตั้งแต่ Alfred the Great ปี ค.ศ.871 (พ.ศ. 1414) ซึ่งสหราชอาณาจักรค่อยๆ ก่อตัวองค์กรในพระองค์จนถึงปัจจุบันตั้งแต่ยุคกษัตริย์ Henry IV พ.ศ. 1942 ดังนี้

•   เลขาธิการพระราชวัง (Lord Chamberlain) ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 1942 (ค.ศ.1399) รับผิดชอบการต้อนรับแขก งานพิธีกรรม และงานบันเทิงของราชสำนัก ปัจจุบันมีหน้าที่จัดงานพระราชพิธีทั้งหมด

•   พระคลังข้างที่ (Privy Purse) ก่อตั้งปี พ.ศ. 2069 (ค.ศ.1526) ทำหน้าที่จัดการการเงิน มี Michael Stevens อดีตนักบัญชีของ KPMG เป็นหัวหน้าขององค์กร[3]

•   มหาดเล็ก (Master of the Household’s Department) ก่อตั้งปี พ.ศ. 2146 (ค.ศ.1603) เพื่อดูแลงานบริการภายในพระราชวัง เช่น ครัว การดูแลรักษาพระราชวัง

•   ราชเลขาธิการ (Private Secretaries to the Sovereign) ก่อตั้งปี พ.ศ. 2348 (ค.ศ.1805) ทำหน้าที่คล้ายกับองคมนตรีไทย ที่ประสานงานด้านการปกครองกับหน่วยงานรัฐบาล กลับกัน ตำแหน่งองคมนตรีสหราชอาณาจักร (Privy Council Office) ทำหน้าที่คล้ายประธานรัฐสภาไทยซึ่งเป็นตัวแทนจากประชาชน โดยมีผู้นำองค์กรคือ Edward Young อดีตผู้บริหารของธนาคาร Blaclay[4] นอกจากนั้นมีตำแหน่งสื่อสารองค์กรที่บริหารโดยอดีตผู้บริหารการสื่อสารองค์กรแบบมืออาชีพจาก บริษัทพนัน Ladbroke อย่าง Donal McCabe[5]

•   หน่วยงานต่อเติมและซ่อมแซมพระราชวังบักกิงแฮม (Buckingham Palace Reservicing) เพิ่งตั้งขึ้นปี 2560 (ค.ศ.2017) เป็นหน่วยงานชั่วคราวที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์เดียว คือการต่อเติมและซ่อมแซมพระราชวัง เมื่อจบโครงการแล้วก็จะยุบหน่วยงานนี้ในที่สุด

ส่วนราชการในพระองค์ หรือองค์กรในพระองค์ของสหราชอาณาจักรนั้น ประมุขจะเป็นผู้บริหารองค์กรนี้โดยที่รัฐบาลอาจมีความเกี่ยวข้องในบางเรื่องเท่านั้น


การปฏิรูปงบสถาบันกษัตริย์ในปี พ.ศ. 2555

สถาบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรก่อนการปฏิรูปงบฯนั้น ได้รับเงินส่วนแบ่งจากกำไรของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ประกอบไปด้วยที่ดินและอสังหาริมทรัพย์มูลค่าสูงเพื่อใช้ในการจ่ายเงินเดือนของส่วนราชการในพระองค์เป็นส่วนใหญ่ โดยส่วนที่เหลือจะนำเข้ารัฐบาล ซึ่งการบริหารทรัพย์สินส่วนนี้จะเป็นไปตามพระราชประสงค์เปรียบเสมือนบริษัทหนึ่ง นอกจากนั้นสถาบันฯยังได้รับงบประมาณส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมหลายก้อน เงินส่วนแบ่งจากกำไรนั้น จะมีการพิจารณาทุกๆ 10 ปีโดยรัฐสภา ซึ่งจะกำหนดเป็นตัวเลขคงที่ ซึ่งจะพิจารณาไปตามความเหมาะสมของรายจ่ายของส่วนราชการในพระองค์

เหตุผลในการปฏิรูป สืบเนื่องจากหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปี 2550 สหราชอาณาจักรพยายามปรับวิธีการงบประมาณ ซึ่งงบประมาณในส่วนสถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่เกือบสองร้อยปีที่ผ่านมานั้นแตกไปอยู่หลายส่วนหลักๆ 4 ก้อนด้วยกัน[6] (ไม่นับรวมการรักษาความปลอดภัย)

1.Civil List เป็นงบประมาณประจำปีสำหรับการปฏิบัติงานของประมุข

2.งบอุดหนุน การเสด็จพระราชดำเนิน จากกระทรวงคมนาคม

3.งบอุดหนุน การบำรุงรักษาพระราชวัง จากกระทรวงวัฒนธรรม บันเทิง และกีฬา

4.งบประมาณค่าใช้จ่ายการสื่อสารและข้อมูล จากกระทรวงวัฒนธรรม บันเทิง และกีฬา

เพื่อแก้ปัญหาระบบอุดหนุนงบประมาณแบบเดิมที่แยกงบประมาณไปหลายหน่วยรับงบประมาณ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังได้ชี้แจงปัญหาหลักในวันเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปดังนี้[7]

1.ไม่มีความยืดหยุ่นในการใช้งบประมาณ  บางปีพระราชวังต้องการการซ่อมแซมแต่งบประมาณไม่เพียงพอ แต่ไม่สามารถโยกงบประมาณจากงบการเดินทางมาใช้ได้

2.ปัญหาความไม่โปร่งใสของส่วนราชการในพระองค์ ถึงแม้จะมีการประเมินผลงานทุกปีแต่ไม่มีการตรวจสอบโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

3.เงินสำรองของส่วนราชการในพระองค์เริ่มจะหมดคลัง

โดยก่อนที่จะนำเสนอร่าง ฝ่ายบริหารของรัฐบาลได้ปรึกษากับราชินีอลิซาเบทแล้ว ทรงเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว และเมื่อใช้สูตรคำนวณที่ตายตัวจะทำให้ส่วนบริหารทางการเมืองไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับสถาบันฯอีกแล้ว โดยผู้เสนอกฎหมายคือ Justine Greening ในตอนนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการกระทรวงการคลังในด้านเศรษฐกิจจากพรรค Conservative ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจถึงเหตุจำเป็นดังนี้[8]

1.ทำให้การอุดหนุนงบประมาณนั่นยั่งยืนสำหรับส่วนราชการฯ ปราศจากการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองระยะสั้น

2.ทำให้มีความยืดหยุ่นในการที่ส่วนราชการฯจะนำงบไปบริหารอย่างคุ้มค่ามากขึ้น

3.ทำให้เกิดความรับผิดชอบ โดยจัดตั้งการตรวจสอบและถ่วงดุลเพื่อป้องกันการใช้งบประมาณมากเกินไป


คณะกรรมธิการงบประมาณสถาบันกษัตริย์ (Royal Trustees)

งบประมาณสถาบันฯของสหราชอาณาจักรในปัจจุบันเพิ่งถูกปฏิรูปตั้งแต่ปี 2555  จะยกเลิกงบประมาณฯเดิม ที่แตกออกเป็น 4 ก้อนดังกล่าวมันเป็นก้อนเดียว เพื่อแก้ปัญหาสามข้อดังกล่าว รัฐสภาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมธิการฯ (Royal Trustees) ขึ้นมาในปีแรกชั่วคราว เพื่อที่จะเป็นผู้กำหนดงบประมาณฯ ประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, และ ผู้อำนวยการพระคลังข้างที่

โดยหน่วยรับงบประมาณพระคลังข้างที่นั้น หากใช้งบประมาณไม่หมด ส่วนราชการในพระองค์จะต้องนำส่งงบประมาณกลับไปอยู่ใน เงินทุนสำรอง (Reserve Fund) โดย คณะกรรมธิการฯสามารถที่จะนำเงินส่วนนั้นไปลงทุนได้ตามความเหมาะสม ซึ่งหากส่วนราชการในพระองค์มีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าปกติ (คำนวณจากการนำรายจ่ายไปลบกับรายได้ หากรายจ่ายสูงมากกว่างบประมาณฯ จะเบิกทุนสำรองมาเพิ่มให้) คณะกรรมธิการฯอาจจะใช้ เงินทุนสำรอง (Reserve Fund) ให้ส่วนราชการในพระองค์กู้ได้[9]

งบประมาณจะมีสูตรคำนวณตามกฎหมายชัดเจน โดยคณะกรรมธิการฯต้องพิจารณาสูตรคำนวณในส่วนของเปอร์เซ็นต์ทุกๆ 5 ปี และรับรองโดยสมาชิกสภาสูง (สมาชิกวุฒิสภา)[10]


สูตรคำนวณงบประมาณสถาบันกษัตริย์

งบประมาณสถาบันกษัตริย์ประจำปีของสหราชอาณาจักรกำหนดเป็น 5 ขั้นตอนดังนี้[11]

1.คำนวณ 25% ของกำไรของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Estate) ของกำไรปีฐาน ซึ่งเป็นกำไรของปีงบประมาณสองปีที่แล้วของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งในช่วงปีแรกๆนั้นคำนวณที่ 15% แต่เนื่องจากจำเป็นจะต้องซ่อมแซมพระราชวังบักกิงแฮม จึงปรับเป็น 25% ในปีงบประมาณ 2560 เป็นต้นมา[12] แต่จะปรับกลับไปที่ 15% เหมือนเดิมหลังจากซ่อมแซมเสร็จในปีงบฯ 2570[13]

2.นำตัวเลขจากข้อ 1 มาปัดเศษตัวเลขที่น้อยกว่า 100,000 ปอนด์ขึ้น (ประมาณ 4.3 ล้านบาท)

3.นำตัวเลขจากข้อ 2 มาเปรียบเทียบกับงบประมาณสถาบันฯประจำปีของปีที่แล้ว ตัวเลขไหนมากกว่าให้เลือกตัวเลขนั้น

4.หากจำนวนเงินใน เงินทุนสำรอง (Reserve Fund) ของปีฐาน มากกว่ากึ่งหนึ่งของ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการในพระองค์ที่ตรวจสอบแล้ว (audited net relevant resources) ที่คำนวณจากการนำค่าใช้จ่ายฯ ลบกับรายได้ของส่วนราชการในพระองค์ โดยไม่นับรายได้จากงบประมาณสถาบันฯ

คณะกรรมธิการฯ จะลดจำนวนข้อสามลงอีกโดยพิจารณาจากความเหมาะสม จะได้ งบที่ถูกปรับแล้ว

5.สุดท้ายจะได้ตัวเลขงบประมาณฯจาก ข้อ 3 หรือ ข้อ 4 หากเข้าเงื่อนไข

สาเหตุที่ต้องนำตัวเลขของสองปีก่อนมาคำนวณ เพื่อให้ส่วนราชการฯปรับตัวในการบริหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป


การคำนวณงบประมาณ 2565-66

ห้าขั้นตอนการคำนวณนั้น สามารถตรวจสอบได้ในรายงานของกระทรวงการคลัง ที่รายงานกับรัฐสภาดังนี้[14]

1.กำไรจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Estate) ของปีงบประมาณ 2563-64 (ปีฐาน) คือ 269,300,000 ปอนด์ 25% ของ 269,300,000 คือ 67,325,000 ปอนด์

2.ตัวเลข 67,325,000 ล้านปอนด์ ปัดขึ้นทุกๆ 100,000 เป็น 67,400,000 ปอนด์

3.งบประมาณปีงบประมาณก่อนคือ 86,300,000 ปอนด์ ทำให้เมื่อเทียบกันแล้ว ให้ใช้ 86,300,000 ปอนด์

4.เงินทุนสำรองสิ้นปีฐานนั้นคือ 45,400,000 ปอนด์, ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการในพระองค์ที่ตรวจสอบแล้ว (audited net relevant resources) ของปีฐานนั้นคือ 87,500,000 ปอนด์ ซึ่ง 50% ของ 87,500,000 คือ 43,750,000 ปอนด์ ทำให้เงินทุนสำรองมีมากกว่า 50% จึงทำให้ คณะกรรมธิการฯ มีอำนาจในการพิจารณาลดงบประมาณประจำปีลง แต่จากการพิจารณาสรุปว่าจะไม่ปรับตัวเลขลงเพราะคาดว่าเงินทุนสำรองดังกล่าวจะลดลงต่ำกว่า 50% ในปีงบประมาณปัจจุบัน

5.งบประมาณสุดท้ายจะได้ 86,300,000 ปอนด์ สำหรับปีงบประมาณ 2565-66

การคัดค้านกฎหมายนี้เกิดขึ้นเช่นกัน เนื่องจากงบประมาณสถาบันฯหลังปฏิรูปนั้นสูงขึ้นมากกว่าเดิม จากการที่คณะกรรมธิการฯ อนุมัติการเพิ่มอัตราส่วนสูตรคำนวณจาก 15% เป็น 25% เพื่อบำรุงพระราชวังบักกิงแฮมในปี 2560 ส่งผลให้งบประมาณสถาบันฯสูงมากกว่าตอนที่ใช้กฎหมาย Civil List ด้วยซ้ำ ซึ่งผู้แทนราษฎรจาก Scottish National Party (SNP) ได้เสนอให้ยกเลิกกฎหมายใหม่นี้เสีย แล้วกลับไปใช้แบบเดิม[15]


การจัดประเภทการใช้งบประมาณ

เนื่องจากงบประมาณสถาบันฯสหราชอาณาจักร (Sovereign Grant) มีการอุดหนุนให้เป็นก้อนเดี่ยว โดยต้องมีรายงานแจกแจงค่าใช้จ่ายจึงสามารถที่จะหาสัดส่วนการใช้งบประมาณได้จากการแจกแจงในรายงานประจำปีของส่วนราชการในพระองค์[16] ยกเว้นงบประมาณเทิดทูน และจัดงานเฉลิมฉลอง เช่น ค่าใช้จ่ายขบวนพาเหรดในงานเฉลิมฉลองต่างๆ จัดโดยกองทัพ ซึ่งมีการใช้เครื่องบิน RAF flypasts และเรือรบ แต่ไม่ได้มีการจัดทุกปี[17] ไม่สามารถหาจำนวนงบประมาณได้จึงละเว้นไว้เพราะการจัดเฉลิมฉลองมักจะมีขึ้นทุก 10 ปี และจำนวนต่างกันไปแล้วแต่กรณี เนื่องจากว่าตอนนี้มีรายงานทางการเงินเฉพาะปีงบประมาณ 2564-65 เท่านั้น แต่งบประมาณอุดหนุนปีงบประมาณ 2565-66 นั้นเท่ากันทั้งหมด จึงสามารถใช้รายละเอียดของปีที่แล้วได้เลย และในส่วนของรายจ่ายนั้นได้ใช้อัตราส่วนของงบอุดหนุน 86.3 ล้านปอนด์ ต่อรายจ่าย 108.9 ล้านปอนด์ ไม่รวมค่าเสื่อม (depreciation) คิดเป็นการอุดหนุนประมาณ 80% ของรายจ่ายทั้งหมด

1. ถวายความปลอดภัยและการเดินทาง 2,544.24 ล้านบาท

ในส่วนนี้ได้มีประชาชนเรียกร้องให้เปิดเผยงบประมาณที่อยู่ในตำรวจนครบาล (Metropolitan Police) แต่หน่วยงานตำรวจไม่สามารถเปิดเผยได้ด้วยเหตุผลทางความมั่นคง[18] ซึ่งการรักษาความปลอดภัยจะไม่ใช่เพียงประมุข แต่รวมไปถึงนายกรัฐมนตรี แต่มีการประเมินไว้ตั้งแต่หลายล้านปอนด์ไปจนถึง 100 ล้านปอนด์ต่อปี หรือ 4,300 ล้านบาท[19] ซึ่งไม่มีข้อมูลอื่นจึงใช้การหาค่าเฉลี่ยระหว่าง 10 และ 100 เป็น 55 ล้านปอนด์

ทั้งนี้ การเดินทางของสมาชิกราชวงศ์นั้นมีทั้ง การเดินทางไปกับพนักงานในองค์กร และการเดินทางแบบแยกต่างหากด้วย ขึ้นอยู่กับความสะดวกเพื่อไม่ให้รบกวนประชาชน[20]

2. โครงการบำรุงรักษาพระราชวัง 2,144.87 ล้านบาท

โดยปกติจะมีการใช้งบอุดหนุนเพื่อบำรุงรักษาพระราชวังเป็นประจำประมาณ 763 ล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงพระราชวังที่บักกิงแฮมที่มีอายุถึง 400 ปี เป็นมูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงอนุมัติให้เปลี่ยนสูตรคำนวณงบประมาณอุดหนุนดังกล่าวจาก 15% ของกำไรทรัพย์สินฯ เป็น 25% ของกำไรทรัพย์สินฯ เป็นเวลา 10 ปี หลังจากนี้ให้กลับไปเป็น 15% เช่นเดิม

3. ส่วนบุคลากรของส่วนราชการในพระองค์ 1,168.38 ล้านบาท

เงินอุดหนุนในส่วนราชการในพระองค์นั้นสหราชอาณาจักรแยกประเภทหน่วยงานไว้อย่างเป็นระบบ แยกหน่วยงานภายในเป็น 5 หน่วยอย่างชัดเจน งบประมาณบุคลากรแต่ละหน่วยมีจำนวนชัดเจน แยกเป็นสองส่วนคือ

  • ค่าตอบแทน รวมไปถึงพนักงานชั่วคราวด้วย และแบ่งเป็นเงินเดือน ประกันสุขภาพแห่งชาติ และเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐบาล
  • ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น การประสานงานกับหน่วยงานรัฐบาล, การรับสมัครงาน, การอบรมพนักงาน

4. การบริหารจัดการทั่วไป 328.24 ล้านบาท

เงินอุดหนุนในส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับกิจกรรมหลัก มีการแบ่งประเภทไว้อย่างชัดเจน



อ้างอิง

[1] Sullivan, Deutsche Welle, The Crown Estate: The mysterious property empire behind Queen Elizabeth II 09.06.2021

[2] Dan Goss, Institute for Government, Royal finances, 1 June 2022

[3] Sir Alan Reid, the Queen’s money man, to hand over Royal purse strings next year (2016)

[4] The Private Secretary to The Queen (2022)

[5] The Queen appoints Donal McCabe as Communications Secretary (2019)

[6] UK Parliament, Sovereign Grant Bill Bill No 213 2010-12 RESEARCH PAPER 11/57, 12 July 2011, p.3

[7] Ibid, p.8

[8] The Economic Secretary to the Treasury (Justine Greening), House of Commons Debates 30 Jun 2011 : Column 1176

[9] The National Archives on behalf of HM Government, Sovereign Grant Act 2011

[10] The National Archives on behalf of HM Government, Sovereign Grant Act 2011, Section 7 – 8

[11] The National Archives on behalf of HM Government, Sovereign Grant Act 2011

[12] HM Treasury, Sovereign Grant Act 2011: guidance, 12 April 2021

[13] The Economist, Where does Britain’s royal family get its money from?, 11 March 2021

[14] HM Treasury, Sovereign Grant Act 2011: Report of the Royal Trustees on the Sovereign Grant 2022-23, Statement of how the Sovereign Grant for 2022 23 has been calculated, p.5

[15] The Herald, SNP members back motion to repeal Sovereign Grant Act, 10th October 2017

[16] The Royal Household, The Sovereign Grant and Sovereign Grant Reserve Annual Report and Accounts 2020-21

[17] King B, ‘Who pays for the Diamond Jubilee?’, Channel 4 News, 2 June 2012

[18] Metropolitan Police, Freedom of information request reference no: 01.FOI.21.018499

[19] Wood V, ‘How much would Harry and Meghan’s security detail cost?’, The Independent, 9 March 2021; Duell M, ‘All the WORKING Royals who don’t get full protection demanded by Harry and Meghan’, Mail Online, 10 March 2021; Hills M, ‘Who will be paying for Prince Harry and Meghan Markle’s security costs now they’ve moved to LA?’, Evening Standard, 30 March 2020; Worrall P, ‘FactCheck Q&A: Does the monarchy pay for itself?’, 4News FactCheck, 1 June 2012

[20] The Royal Household, The Sovereign Grant and Sovereign Grant Reserve Annual Report and Accounts 2020-21

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด