คำว่า ‘loneliness’ (หรือที่อาจแปลไทยว่าความเหงา) เป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ในระบบภาษาอังกฤษ William Shakespeare คือคนแรกๆ ที่เริ่มใช้คำนี้ในบทละครโศกนาฏกรรม Hamlet โดยในศตวรรษที่ 16 คำๆ นี้ถูกพระคริสต์ใช้ในการเทศน์เพื่อเตือนให้ศาสนิกชนกลัวบาป เนื่องจากนรกเป็นสถานที่ซึ่งมีแต่ความเปลี่ยวเหงา

ต่อมาในศตวรรษที่ 19 ความเหงาก็เริ่มออกห่างจากความเป็นศาสนา และขยับเข้าใกล้ความเป็นฆราวาสมากขึ้น ผ่านการใช้สำหรับอธิบายความรู้สึกแปลกแยกต่อสิ่งรอบข้าง

จนกระทั่งศตวรรษที่ 20 ‘Hannah Arendt’ นักคิดนักปรัชญาการเมืองที่หลายคนขนานนามให้เป็นนักทฤษฎีการเมืองที่สำคัญที่สุดแห่งศตวรรษ ได้ขบคิดเกี่ยวกับความเหงาที่เปลี่ยนไปในยุคสมัยใหม่ เธอไม่ได้บอกว่า ความเหงาเกิดจากฤดูกาลหรือการต้องอยู่คนเดียว แต่เป็นการอยู่ภายใต้เงื่อนไขของเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) ต่างหาก


แนะนำ Hannah Arendt ฉบับย่อสุดๆ

Arendt เป็นชาวยิว-เยอรมันที่ระหกระเหินหนีภัยความตายจากนาซีมาปักหลักอยู่ที่อเมริกา ประเทศซึ่งเธอหมดลมหายใจในบั้นปลายชีวิต “The Origins of Totalitarianism” (1951) คือผลงานแรกๆ ที่สร้างชื่อให้ Arendt มันเล่าและสำรวจเผด็จการเบ็ดเสร็จผ่านการปกครองระบอบนาซีและสตาลิน ทั้งยังเสนอว่าระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จเป็นรูปแบบการปกครองที่เพิ่งเกิดขึ้นได้เพียงไม่นานเท่านั้น

“Eichmann in Jerusalem” (1963) เป็นอีกงานหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้เธอ มันเป็นหนังสือที่พัฒนามาจากบทความที่เธอเขียนให้นิตยสาร The New Yorker ในรูปแบบบันทึกและความเห็นที่มีต่อการพิจารณาคดีของ Adolf Eichmann อดีตสมาชิกพรรคนาซีคนสำคัญและข้าราชการระดับสูงที่มีส่วนสำคัญในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ในหนังสือเล่มนี้ Arendt นำเสนอกรอบคิดอันโด่งดังที่เรียกว่า ‘banality of evil’ จากการที่ Eichmann ให้การว่า เขาไม่รู้สึกว่าการฆ่าคนยิวจำนวนมหาศาลของเขาเป็นการกระทำผิด ทั้งหมดที่เขาทำเป็นเพียงการปฏิบัติตามหน้าที่ ตามคำสั่ง (นายสั่งมา) ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย Arendt เสนอว่า ตามจริงแล้วไอชมันน์ไม่ได้เป็นคนจิตวิปลิตหรือเพี้ยนหลุดโลก ตรงกันข้าม เขาเป็นเพียงคนธรรมดาทั่วไป ที่มองว่าได้ทำหน้าที่ของตนอย่างมืออาชีพ ทั้งยังกำลังทำสิ่งที่จะนำไปสู่สังคมที่ดีอีกต่างหาก โดยในสายตาของ Arendt สิ่งสำคัญที่สุดที่ (คนจำพวก) Eichmann ขาดไป คือการใช้ความคิด

การเสนอเช่นนี้ทำให้คนจำนวนมากมองว่า Arendt กำลังโทษเหยื่อและเข้าข้างพวกนาซี คำวิจารณ์และความโกรธเคืองถาโถมใส่เธออย่างล้นหลาม เพื่อนของเธอเลิกคบ ส่วนชุมชนชาวยิวก็จู่โจมเธออย่างร้ายแรง (สำหรับผู้สนใจเหตุการณ์นี้ขอแนะนำให้หาภาพยนตร์ชื่อ Hannah Arendt (2012) มาดูได้)

การคิดคือสิ่งที่ Arendt ให้ความสำคัญ (บางคนอาจมองว่าเพราะเธอได้รับการศึกษามาจาก Martin Heidegger อาจารย์และชู้รักของเธอ ผู้เขียนปรัชญาเกี่ยวกับภววิทยาและการคิด) เธออธิบายว่า ความสามารถในการคิดเป็นสิ่งที่รัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จริบไปจากประชาชน และอนุญาตให้เหลือไว้เพียงชุดตรรกะของรัฐเผด็จการเพียงเท่านั้น

แต่ใช่ว่าจู่ๆ คนจะเลิกหรือไร้การคิดไปเสียดื้อๆ ใช่ว่าจู่ๆ คนจะสามารถฆ่าคนได้อย่างหน้าตาเฉยโดยไม่รู้สึกผิดบาป สภาวะของการทำตามหน้าที่โดยไม่คิดเป็นสิ่งที่รัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จจำเป็นต้องลงมือปฏิบัติการล่วงหน้าเสียก่อน มันจำเป็นต้องสร้างเงื่อนไขบางอย่างที่จะทำให้รัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จเกิดขึ้นและมีชีวิตยืนยงคงกระพัน เช่น มันต้องสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว (terror) ให้ปกคลุมสังคมเพื่อให้คนไม่กล้าใช้ความคิดของตนเอง เป็นต้น

ในทำนองเดียวกัน ‘ความเหงา’ (loneliness) ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่รัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จให้ความสำคัญ


ความเหงาคือรากฐานของเผด็จการเบ็ดเสร็จ

จริงอยู่ที่เราอาจจะพอนิยามได้ว่า ‘ความเหงา’ คืออะไร แต่ความเหงาก็ไม่ต่างไปจากความรู้สึกอื่นมากนัก ในแง่ว่าภาษาไม่อาจจับกุมความรู้สึกลงไวยากรณ์ของมันได้โดยสมบูรณ์ เพราะแต่ละคนก็มีประสบการณ์ต่อแต่ละความรู้สึกไม่เหมือนกัน กล่าวได้ว่า แต่ละคนมีประสบการณ์ความเหงาแตกต่างกันไป คำว่าความเหงาเป็นเพียงคำสากลกลางๆ ที่ถูกใช้อธิบายประสบการณ์ที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น

Arendt อธิบายว่า เผด็จการเบ็ดเสร็จได้เปลี่ยนความเหงาจากที่เดิมเป็นเพียงประสบการณ์ชั่วครั้งชั่วคราว ให้เป็นสภาวะการมีอยู่อย่างถาวร ผ่านการใช้ความกลัวและการจับแยกผู้คนออกจากกัน (isolate) และฉวยโอกาสจากความเหงาที่เกิดขึ้นด้วยการโฆษณาชวนเชื่อเชิงอุดมการณ์ให้ผู้คนมาผูกจิตเข้ากับตน กล่าวให้ชัดขึ้น สำหรับ Arendt การอยู่อย่างแยกขาดกันจะทำให้เกิดสภาวะที่คนไร้ซึ่งความสัมพันธ์ในชีวิต ทำให้คนแต่ละคนขาดความไว้วางใจทั้งในผู้อื่นและตัวเอง เมื่อไม่ไว้วางใจแม้กระทั่งตนเอง เราก็ไม่เชื่อความเป็นจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า และหันหน้าเข้าหาอุดมการณ์อันเบ็ดเสร็จที่อ้างตัวว่า มีเพียงตนเท่านั้นที่พูดถูกต้องทุกเรื่องทุกเวลาเวลา

กล่าวอีกนัยหนึ่ง เผด็จการเบ็ดเสร็จได้ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่น ด้วยการเปลี่ยนให้เรากลายเป็นคนกลายเป็นคนไม่รู้ร้อนรู้หนาว (cynical) หรือ ‘อยู่เป็น’ เพื่อให้เราไม่สามารถคิดอ่านและตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองได้ (ลองนึกถึงระบบราชการที่มีปัญหาเรื่องการตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการบริหารในระดับล่างๆ)

เมื่อเราไม่สามารถคิดอ่าน ใช้เหตุผล และตัดสินใจ ด้วยตัวเองได้ จึงไม่แปลกที่ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (ที่มักพ่วงกับระบบราชการ) อย่างนาซี จะทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะ banality of evil และคนอย่าง Eichmann ได้ หากกล่าวอีกนัยหนึ่ง เสรีภาพในการคิดจะเป็นสิ่งที่ถูกระงับในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ เพราะมันได้ทำลายความสามารถในการคิดและตัดสินใจของเราไปเรียบร้อยแล้ว (เมื่อไม่มีความสามารถในการคิด ก็ตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองไม่ได้)

แล้วความเหงาเกี่ยวอะไรกับการคิด? คำตอบสำหรับ Arendt คือ เมื่อเราเหงา เราก็จะสูญเสียความสามารถในการทำอะไรอย่างอื่น อีกทั้งยังไม่สามารถสร้างอะไรขึ้นมาใหม่ได้ ความเหงาสำหรับเธอจึงไม่ใช่ขั้วบวกขั้วลบที่ดึงดูดคนเข้าหากันแบบเพลงคาราบาว หากเป็นความรู้สึกที่ร้ายแรงที่สุดและหมดอาลัยตายอยากที่สุดสำหรับมนุษย์ เพราะมันทำให้เราไม่สามารถตระหนักถึงศักยภาพในการทำอะไรสักอย่างในฐานะเป็นมนุษย์ได้ ซ้ำร้ายมันยังทำลายและยึดโลกที่เป็นของเราทุกคน (common world) ไปอยู่ใต้อาณัติมันอีกต่างหาก

การเป็นเพียงร่างเนื้อที่ไม่สามารถคิดอ่านตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองได้ คือรูปแบบในอุดมคติของเผด็จการเบ็ดเสร็จ ดังที่ Arendt เคยว่าไว้ใน Origins of Totalitarianism “ผู้อยู่ใต้บังคับในอุดมคติของเผด็จการเบ็ดเสร็จ … คือผู้ที่ไม่สามารถแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับเรื่องแต่งได้ เรื่องจริงกับเรื่องเท็จ ออกจากกันได้อีกต่อไป”

ทั้งนี้ สำหรับ Arendt ความเหงาไม่ใช่สิ่งเดียวกับความโดดเดี่ยว (isolation) และความสันโดษ (solitude) เธออธิบายว่า หลายครั้งความโดดเดี่ยวก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เช่น การอ่านหนังสือก็เรียกร้องความโดดเดี่ยวในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี การสร้างสรรค์ในช่วงที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจากความสันโดษ

ความสันโดษสำหรับ Arendt คือพื้นที่ส่วนตัวซึ่งเราจะได้ใช้เวลาอยู่กับความคิด การคิดในสภาวะสันโดษจึงไม่ใช่สิ่งที่ไร้ซึ่งความสัมพันธ์โดยสิ้นเชิงเหมือนสภาวะแห่งความเหงา เพราะอย่างน้อยที่สุด การคิดก็เป็นกิจกรรมที่เรามีบทสนทนากับตัวเอง เป็นกิจกรรมที่ทำให้เรามีตัวตน

“สิ่งที่ทำให้ความเหงาเป็นอะไรที่เหลือทน ก็คือการสูญเสียตัวตนซึ่งจะตระหนักได้ผ่านความสันโดษของเราไป”


ทำไมการคิดถึงสำคัญ

การที่รัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จถูกปกคลุมไปด้วยความเหงาเปล่าเปลี่ยวจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ความเหงาเป็นสารัตถะของเผด็จการแบบนี้ เพราะความเหงาเป็นผลผลิตจากการตัดขาดความเป็นจริงตรงหน้าออกจากการคิดอ่านตัดสินใจ

Arendt ถึงขนาดเขียนใน Origins of Totalitarianism ฉบับแก้ไขปี 1958 ว่า ในความเหงา เธอค้นพบสารัตถะของรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จและเห็นจุดที่มันมีร่วมกันกับความกลัว (ฉบับพิมพ์แรกปี 1951 เธอบอกว่า แม้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จอาจหายหน้าจากโลกไปแล้ว แต่องค์ประกอบของเผด็จการเบ็ดเสร็จอาจจะยังดำรงอยู่ก็ได้)

สุดท้ายนี้ หากถามว่าทำไมการคิดถึงเป็นสิ่งสำคัญจนเผด็จการเบ็ดเสร็จต้องยึดจากเราไปโดยสิ้นเชิง นั่นก็เพราะการคิดเป็นสิ่งสามารถเปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนความศรัทธา เปลี่ยนความรู้ (และเปลี่ยนระบอบ?) ที่เราและสังคมถูกสั่งให้ยึดมั่นถือมั่นเป็นสรณะได้ เพราะการคิดเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ต่างจากความคิดที่สามารถถูกแช่แข็งและบรรจุหีบห่อให้บริโภคท่องจำแบบสำเร็จรูปได้ มันจึงไม่แปลกที่การคิดจะเป็นสิ่งต้องห้ามที่สุดในรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ เพราะหากยึดตามคำพูดอันโด่งดังของ Arendt:

“มันก็ไม่มีหรอกความคิดที่อันตราย การคิดต่างหากที่อันตรายโดยตัวมันเอง”
(There are no dangerous thoughts; thinking itself is dangerous.)



อ้างอิง

Samantha Rose Hill. 2020. Where loneliness can lead. Aeon. https://aeon.co/essays/for-hannah-arendt-totalitarianism-is-rooted-in-loneliness

Sean Illing. 2022. The philosopher who warned us about loneliness and totalitarianism. Vox. https://www.vox.com/vox-conversations-podcast/23048597/vox-conversations-hannah-arendt-totalitarianism-the-philosophers

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
อดีตนักเรียนนิติศาสตร์แต่สนใจปรัชญา สนใจเรื่องความคิดและศิลปะ ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ