ครอบครัวและหน้าที่
ครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคม เป็นหน่วยย่อยพื้นฐานของสังคม หลายๆ ครอบครัวกลายเป็นชุมชน หลายๆ ชุมชนกลายเป็นสังคม บทบาทและความสำคัญของครอบครัวมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติเริ่มก่อร่างสร้างอารายธรรมในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ครอบครัวเป็นแหล่งที่มาแรกและสำคัญที่สุดของการจัดหาสวัสดิการให้กับปัจเจกชนในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่วินาทีแรกที่กำเนิดจวบจนวินาทีสุดท้ายในเชิงตะกอน
สถาบันครอบครัวก็เช่นเดียวกับสถาบันอื่น กล่าวคือมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและความสัมพันธ์ตามกาลเวลา ตามปฏิสัมพันธ์การเปลี่ยนแปลงของระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง ในสังคมเกษตรกรรมที่สัมพันธ์กับการผลิตแบบยังชีพ ครอบครัวจำเป็นต้องเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีสาแหรกหลายชั่วรุ่นเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของความเสี่ยงต่างๆ ปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แรงงาน ทุน ต่างเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนรวมของครัวเรือนใหญ่ ผลผลิตที่ได้ก็เป็นกรรมสิทธิรวมและจะถูกแจกจ่ายอย่างเหมาะสมภายใต้การตัดสินใจของกลุ่มผู้อาวุโสของตระกูล ยิ่งไปกว่านั้นด้วยข้อจำกัดของความรู้และเทคโนโลยีการผลิตที่ไม่เพียงพอ ทำให้ครัวเรือนต่างๆ ประสบปัญหานานับประการ ไม่ว่าจะเป็นความอดอยากจากการผลิตอาหารไม่เพียงพอ การถูกขูดรีดเก็บภาษีจากเจ้าที่ดิน ความไม่แน่นอนของภัยธรรมชาติ การระบาดโรค ผลที่ตามมาทำให้การตัดสินใจต่างๆ วางอยู่บนฐานผลประโยชน์ส่วนรวมของตระกูลมากกว่าการตัดสินใจอย่างเสรีเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง สายใยความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัวนั้นนอกจากเป็นสัญลักษณ์ของการสืบสายเลือดแล้ว มันก็มีโซ่ตรวนของหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติด้วยเช่นกัน คนหนุ่ม-สาวแต่งงานเพื่อความรักและเพื่อหน้าที่ นอกจากต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้อาวุโสแล้ว ก็ต้องมีหน้าที่ลูกหลานสืบสกุล และเลี้ยงดูฟูมฟักบุตรหลานเพื่อเป็นแรงงานสืบทอดต่อๆ ไป
ระบบทุนนิยมและการเปลี่ยนแปลงสถาบันครอบครัว
เมื่อระบบการผลิต ความสัมพันธ์การผลิต และระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนเป็นทุนนิยม มันก็ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสถาบันครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การทำงานในท้องทุ่งกรรมสิทธิ์ส่วนรวมของตระกูลก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง แรงงานจากท้องนาก็ค่อยๆ อพยพไปทำงานในโรงงานกับคนที่ไม่รู้จักแทน สวัสดิการที่แต่เดิมได้จากครอบครัวก็ลดน้อยถอยลงไป แรงงานต้องพึ่งพิงสวัสดิการจากค่าจ้างแรงงานและนายจ้างแทน ครอบครัวที่เดิมมีขนาดใหญ่สมาชิกหลายๆ รุ่นก็กลายเป็นครอบครัวขนาดเล็ก สายสัมพันธ์สายใยในครอบครัวก็เริ่มเจือจางลงไป แต่เดิมที่มารดาเมื่อแรกคลอดบุตรมีเวลาเหลือจากการทำงานเพื่อให้นมเลี้ยงดูบุตรตนเอง และมีญาติๆ พี่น้องคอยช่วยเลี้ยงดูอีกแรง ก็กลับกลายเป็นว่าต้องทิ้งลูกแรกเกิดเพื่อไปใช้แรงงานอย่างหนักในโรงงาน
ยิ่งไปกว่านั้นสวัสดิการและเสรีภาพที่เคยวาดฝันไว้ว่าจะได้รับจากระบบทุนนิยม กลับกลายเป็นตรงกันข้าม ค่าตอบแทนแรงงานถูกกดจนไม่เพียงพอจะเลี้ยงแรงงานและครอบครัว สวัสดิการที่ได้จากแรงงานตามกลไกตลาดนั้นไม่เพียงพอที่จะทดแทนสวัสดิการจากครอบครัวที่หดหายไปจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบทุนนิยม ความโหดร้ายของทุนนิยมแบบสุดโต่ง (Laissez-faire) ไม่อนุญาตให้มีพื้นที่ของความเอื้ออาทร หรือการพึ่งพาอาศัยอย่างที่นักปรัชญาเคยใฝ่ฝันไว้ แต่กลับไปกระตุ้นความเห็นแก่ตัว และความละโมบไร้ขอบเขตของมนุษย์ เนื่องด้วยความต้องการถ่านหินที่สูงขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานใหม่ การทำเหมืองแร่จึงมีจำนวนมหาศาลและต้องการแรงงานมากขึ้น ซึ่งเทคนิคการขุดเจาะแบบเก่ายังไม่พัฒนาเท่าปัจจุบัน จึงต้องอาศัยการขุดเจาะใต้ดิน และขนาดร่างกายเด็กที่มีขนาดเล็กกว่าผู้ใหญ่ก็ช่วยให้แทรกตัวเข้าไปในพื้นที่คับแคบในเหมืองถ่านหินได้ง่ายกว่า ยุโรปในศตวรรษที่ 19 จึงสามารถพบการใช้แรงงานเด็กอย่างปกติโดยไม่มีกฎหมายแรงงานคุ้มครองใดๆ แรงงานเด็กทั่วโลกมีจำนวนถึง 150 ล้านคน พ่อแม่นำลูกอายุ 6 ขวบของตนเองไปทำงานกับเครื่องจักร ทำงานในเหมืองถลุงแร่ ไม่ต่ำกว่าวันละ 16 ชั่วโมง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพ และเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานบ่อยครั้ง เพียงเพื่อแลกกับค่าแรง ขนมปังที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต1 กล่าวโดยสรุป สภาพของสถาบันครอบครัวและสายใยความสัมพันธ์ครอบครัวได้ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง สังคมกำลังล่มสลายไร้ทิศทาง
รัฐสวัสดิการและเป้าหมายการทดแทนสถาบันครอบครัว
เมื่อสถาบันครอบครัวล่มสลาย ชุมชนไม่เหลือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่กัน กลไกตลาดสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นขึ้นมา ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดหาสวัสดิการให้ประชาชน รัฐเริ่มสร้างสถานเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเพื่อให้แรงงานไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังเมื่อต้องทำงานในโรงงาน รัฐเริ่มออกกฎหมายประกันอุบัติเหตุระหว่างการทำงานเพื่อสร้างความแน่นอนของการผลิต เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเป้าหมายของรัฐสวัสดิการหรือการกระจายรัฐสวัดิการแก่ประชาชนนั้นมีหลายเป้าหมาย ได้แก่ สร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจ การผลิต เสถียรภาพของสังคม กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ จัดการความเสี่ยงสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ กระจายสวัสดิการและลดความเลื่อมล้ำสังคม แต่เป้าหมายระยะยาวหรือเป้าหมายสูงสุดของรัฐสวัสดิการ คือ การสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันต่างๆ ภายในรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกัน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคม/ประชาชน
สำหรับกรณีรัฐสวัสดิการยุโรปแล้ว การให้สวัสดิการยังช่วยสร้างสถาบันครอบครัวภายใต้คุณค่าสังคมแบบรัฐสมัยใหม่ที่เรียกว่าความสมานฉันท์ระหว่างรุ่น (intergeneration solidarity) ขึ้นมาแทนที่ของเดิมที่ถูกทำลายทิ้งไปแล้ว กล่าวคือ รัฐเปลี่ยนแปลงคุณค่าความกตัญญูของสถาบันครอบครัวแบบเก่าที่แต่เดิมสมาชิกครอบครัวจัดหาสวัสดิการเฉพาะครอบครัวตนเอง ให้กลายเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างเพื่อนร่วมชาติ จากเดิมที่เราเสียสละแรงงาน เวลา ความสุขส่วนตัวเพื่อดูแลเฉพาะลูกหลานพ่อแม่ของเรา ก็กลายเป็นสังคมที่คนทุกรุ่นสามารถอยู่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน พร้อมส่งต่อสังคมสมานฉันท์ให้คนรุ่นต่อๆ ไป โดยนำมาเป็นหลักปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงได้แก่ กลุ่มประชากรวัยทำงานก็ต้องทำงานสุดความสามารถ สร้างรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว และจ่ายภาษีให้แก่สังคม เพื่อที่ว่าภาษีดังกล่าวจะถูกไปใช้จ่ายกับนโยบายสาธารณะเพื่อให้แก่คนชรารุ่นพ่อแม่ในรูปแบบรางวัลตอบแทนที่คนรุ่นดังกล่าวได้เสียสละแรงงานร่วมสร้างชาติขึ้นมา อีกส่วนหนึ่งนำมาเป็นสวัสดิการให้เด็กหนุ่มสาวซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต และเมื่อเวลาผ่านไปจากคนวัยทำงานก็กลายเป็นคนชราและได้รางวัลตอบแทนจากสวัสดิการที่ผลิตจากภาษีของคนรุ่นเด็กก็เติบโตเข้าสู่วัยทำงาน
หลักความสมานฉันท์ระหว่างรุ่นดังกล่าวส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในรัฐเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ความผูกพันระหว่างครอบครัว การให้ความสำคัญแก่ผลประโยชน์ครอบครัวมากเกินไป ก็กลายเป็นสร้างความเข้าอกเข้าใจเพื่อนร่วมชาติ และร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนร่วมชาติ
อีกทั้งความสัมพันธ์แบบใหม่ที่สร้างมาก็ได้ลบล้างข้อด้อยของความสัมพันธ์แบบเก่า ประการแรก หน้าที่ของครอบครัวที่วางอยู่บนความสัมพันธ์ ของสถานะ เพศ อายุ ก็เปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ข้อผูกมัดทางกฎหมาย สวัสดิการที่เราได้รับจะมีความแน่นอนมากขึ้นเนื่องจากเป็นสิทธิตามกฎหมาย ประการสอง ช่วยให้มีการกระจายรายได้เพื่อสร้างความเป็นธรรมมากขึ้น และปกป้องไม่ให้การเสียสละมีมากเกินไปจนเกิดความลำบากแก่ผู้ให้ ป้องกันมิให้คนยากจนที่จิตใจเอื้อเฟื้อเข้าช่วยเหลือคนอื่นจนสิ้นเนื้อประดาตัว ในขณะเดียวกันก็บังคับให้เศรษฐีจิตใจตระหนี่จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือคนในสังคมมากขึ้น ซึ่งวิธีดังกล่าวก็ได้พัฒนาเป็นการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า และภาษีชนิดอื่นเพื่อเกิดการกระจายรายได้
ปัญหาของรัฐเข้ามาทรกแซงสถาบันครอบครัวมากเกินไป
ถึงแม้รัฐสวัสดิการจะมีข้อดี แต่ก็เปรียบเสมือนเป็นดาบสองคมถ้าการแทรกแซงของรัฐเกินขอบเขตมากเกินไป การรักษาสมดุลระหว่างการแทรกแซงของรัฐ-การรักษาเสรีภาพประชาชน จึงเป็นคำถามใจกลางสำคัญมาตลอดว่า ระดับไหนถึงจะเพียงพอและรัฐมีความชอบธรรม
การที่รัฐเข้ามาทดแทนสถาบันครอบครัวในยุโรปได้เกิดปรากฏการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้นมาที่เรียกว่า Male breadwinner กล่าวคือ สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม และสวัสดิการจากรัฐได้ผูกติดสถานการณ์ทำงานของหัวหน้าครัวเรือน ซึ่งก็คือพ่อเป็นหลัก หน้าที่ของภรรยากลับกลายเป็นเรื่องงานบ้านและเลี้ยงดูลูกซึ่งภาระดังกล่าวกลับไม่ถูกเห็นค่าหรือถูกบันทึกใน GDP แต่อย่างใด ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศชายและหญิงตามมา เพศหญิงต้องเสียสละการงานที่เคยทำก่อนแต่งงาน และต้องพึ่งพารายได้และประกันสังคมจากสามีเป็นหลัก ความสัมพันธ์ในครัวเรือยของเพศหญิงจึงตกเป็นเบี้ยล่างของเพศชาย ซึ่งในบางกรณีก็บานปลายกลายเป็นความรุนแรงในครอบครัวตามมา
ปัญหาดังกล่าวได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นสาธารณะในยุโรปเริ่มต้นช่วงทศวรรษ 1950 นอกจากนี้ปัญหาการหย่าร้างที่เพิ่มมากขึ้น ลักษณะครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง ระดับการศึกษาของเพศหญิงสูงมากขึ้น ค่านิยมสังคมที่เปลี่ยนไป รวมถึงความต้องการแรงงานที่มากขึ้น เป็นแรงผลักดันให้เกิดการปฏิรูปสวัสดิการจากรัฐตามมาในหลายๆประเทศ สวัสดิการทั้งในรูปแบบเงินโอนและไม่ใช่เงินโอนได้ถูกนำมาใช้เพื่อกระตุ้นให้เพศหญิงเข้าสู่ตลาดแรงงาน และให้สถานะการทำงานของเพศหญิงเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อาทิเช่น การให้สิทธิการลาคลอดแก่เพศหญิง การแก้กฎหมายการจ้างงาน การขยายสิทธิประกันสังคมแก่แรงงานในภาคบริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง การให้เงินช่วยเหลือ และสวัสดิการแก่มารดา เป็นต้น
ทางแยกสถาบันครอบครัวไทย
ประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีลักษณะคล้ายกลับประเทศอื่นในโลกตะวันออก กล่าวคือ รัฐมีทรัพยากรที่จำกัดและไม่สามารถจัดหาสวัสดิการคุณภาพดีอย่างทั่วถึงให้กับทุกคน สถาบันครอบครัวจึงเป็นสถาบันหลักในการจัดหาสวัสดิการให้แก่สมาชิก และคุณค่าความสำคัญของสถาบันครอบครัวไม่เคยถูกทำลาย สถาบันครอบครัวเปรียบเสมือนตาข่ายสุดท้ายที่รองรับภัยต่างๆ ไม่ว่าจะความฉิบหายหรือความผันผวนจากเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับสมาชิกครัวเรือน ตัวอย่างประวัติศาสตร์ระยะใกล้ที่ชัดเจนคือ ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 แรงงานในภาคการเกษตรที่อพยพเข้ามาหางานทำในภาคบริการในกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นผู้พ่ายแพ้และย้ายกลับถิ่นฐานภูมิลำเนาเดิม สถาบันครอบครัวในชนบทกลายเป็นตาข่ายรองรับให้พวกเขาผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกันได้
อย่างไรก็ตามปัญหาที่มีมากมายในปัจจุบันก็ได้ท้าทายหน้าที่และความสามารถของสถาบันครอบครัวอีกครั้ง
1.) ความเหลื่อมล้ำทางรายได้สร้างช่องว่างทางสังคมระหว่างครัวเรือนร่ำรวยและครัวเรือนยากจน ทำให้สวัสดิการขั้นพื้นฐานและทุนมนุษย์ที่เป็นอาวุธติดตัวแก่คนรุ่นใหม่เพื่อใช้เข้าแข่งขันในตลาดแรงงานมีไม่เท่ากันและแทบจะกำหนดชัยชนะของผู้เข้าแข่งขันตั้งแต่จุดสตาร์ท
2.) คุณค่าปัจเจกชนเสรีนิยมที่เพิ่มมากขึ้นในสถาบันครอบครัว ทำให้จำนวนของครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น อัตราการเกิดน้อยลง การช่วยเหลือกันระหว่างพี่น้อง พ่อแม่ลูก ญาติพี่น้อง ถูกลดทอนลง
3.) สังคมสูงวัย ทำให้คนวัยทำงานต้องเพิ่มผลิตผลการทำงานมากขึ้นเพื่อนำไปใช้กับสวัสดิการแก่คนชรา ปัญหาดังกล่าวยังถูกซ้ำเติมจากประชากรวัยชราส่วนใหญ่มิได้มีการออมเงินเพียงพอต่อการใช้จ่ายหลังปลดเกษียณและต้องพึ่งพาลูกหลานเป็นหลัก
4.) ความหลากหลายของลักษณะครอบครัวปัจจุบัน เนื่องจากสังคมไทยเป็นพหุสังคม คุณค่าสถาบันครอบครัวเองก็มีความหลากหลายเช่นกัน เช่น คุณค่าของครอบครัวไทยในชนบท คุณค่าของครอบครัวจีน อีกทั้งความหลากหลายทางเพศที่ไม่จำกัดแต่เฉพาะ พ่อ-แม่-ลูก
5.) ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรุ่น ปัญหาการเมืองไทยกว่า 15 ปี ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวเช่นกัน ความเห็นต่างทางการเมืองภายในครอบครัวอาจสร้างรอยร้าวความสัมพันธ์ในบางครอบครัว และปะทุขึ้นมากลายเป็นปัญหาสงครามระหว่างรุ่น
ปัญหาดังกล่าวจึงตั้งคำถามกับรัฐอีกครั้งว่า รัฐไทยควรจะเข้ามามีบทบาทอย่างไร การผลักภาระให้สถาบันครอบครัวรับผิดชอบด้านสวัสดิการเป็นหลักเหมือนเช่นเคยอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป นโยบายสวัสดิการสังคมใหม่จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น บำนาญถ้วนหน้าขั้นพื้นฐานเพื่อตอบแทนความยากลำบากของคนรุ่นก่อนในการมีส่วนร่วมสร้างชาติสร้างสังคมขึ้นมา เงินอุดหนุนถ้วนหน้าแก่เด็กแรกเกิดเพื่อลงทุนกับทุนมนุษย์ หลีกเลี่ยงการตายที่ไม่จำเป็นของทารกแรกเกิดเพื่อเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการดูแลครอบครัว และแรงงานต่อประเทศชาติในอนาคต การออกกฎหมายสมรสเพศเดียวกันเพื่อให้การทำธุรกรรมต่างๆ และกรรมสิทธิต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่นลดต้นทุนทางธุรกรรมที่ไม่จำเป็น เป็นต้น
นอกจากนี้รัฐยังสามารถใช้มาตรการอื่นเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ-เอกชน-ครอบครัว-สังคม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน เช่น สนับสนุนเศรษฐกิจสีเงิน (Silver economy) ที่กลุ่มลูกค้าเป็นคนเกษียณเป็นหลัก ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มจำนวนสถานรับเลี้ยงเด็ก และสถานผู้ดูแลคนชราแบบไม่แสวงกำไร สนับสนุนชุมชนในการสร้างงานและความภาคภูมิใจให้คนชรา เช่น ให้คนชรารับหน้าที่ในการช่วยเหลือทำงานในสถานเลี้ยงเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเก็บเครดิตชั่วโมงทำงานไว้นำไปใช้เมื่อถึงเวลาที่ตนเองต้องเข้ารับการดูแลในสถานพยาบาล เป็นต้น
มันหมายความว่า บทบาทของรัฐในการจัดสรรทรัพยากร และสวัสดิการที่ประชาชน ควรได้เป็นเป้าหมายระยะสั้นและระยะกลางในการเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว
สำหรับเป้าหมายระยะยาวของรัฐสวัสดิการคือ การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นของสมาชิกในสถาบันครอบครัว และความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและรัฐด้วยเช่นกัน เราจำเป็นต้องจินตนาการรัฐสวัสดิการที่ประชาชนใฝ่ฝันร่วมสร้างกันว่า จะสร้างคุณค่าสถาบันสังคม สถาบันครอบครัวแบบไหน จะทำลายคุณค่าสถาบันครอบครัวแบบเก่าแล้วสร้างคุณค่าแบบใหม่ขึ้นมาทดแทน หรือรักษาคุณค่าสถาบันสังคมที่มีแบบเดิมอยู่ไว้ รักษาสายใยของครอบครัวเพื่อเป็นฐานในการถักทอรัฐสวัสดิการที่ประชาชนคนไทยอยู่ร่วมกัน เปลี่ยนแปลงปฏิรูปให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันของคนระหว่างรุ่น เพื่อสร้างความสมานฉันท์ขึ้นมาใหม่ และส่งต่อสังคมที่ดีให้กับคนรุ่นต่อๆไป