การเติบโตพัฒนาประเทศอย่างมหัศจรรย์ของเกาหลีใต้

เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผ่านประวัติศาสตร์บาดแผลความลำบากมาอย่างยาวนาน เคยตกเป็นประเทศอาณานิคม เป็นสมรภูมิรบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดความสูญเสียมหาศาล เป็นสมรภูมิสงครามตัวแทนระหว่างมหาอำนาจสองค่ายในสงครามเย็น ผ่านสงครามการแบ่งประเทศ อย่างไรก็ตามเกาหลีก็เป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างน่าอัศจรรย์ เกาหลีใช้เวลา 50 ปีเปลี่ยนผ่านจากประเทศกสิกรรมที่มีความยากจนสูงจากทศวรรษ 1960 กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมรายได้สูง ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 26 เท่า ด้วยอัตราเฉลี่ยการเติบโตเศรษฐกิจ 7.1% ขนาดเศรษฐกิจในปัจจุบันใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก

ในด้านสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของประชาชน อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 83 ปี อัตราความยากจนอยู่ที่ 5.2% ประชาชนมีสิทธิได้รับการศึกษาจากรัฐบาล สัดส่วนของประชากรอายุ 25-64 ปีที่ผ่านการศึกษาระดับมัธยมสูงถึง 89%  ค่าใช้จ่ายด้านปกป้องสังคม (Social protection expenditure) มีมูลค่าเกือบ 10% ของ GDP ประชาชนเกาหลีเข้าถึงสวัสดิการหลายรูปแบบทั้งการรักษาพยาบาล การศึกษา บำนาญ และการว่างงาน

เกาหลีใต้จึงเป็นโมเดลการพัฒนาประเทศที่นักวิชาการศึกษาเพื่อนำมาปรับใช้เป็นแบบอย่างพัฒนาให้กับประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ อย่างไรก็ตามโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี การพัฒนาประเทศของเกาหลีมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ แต่มาจากหยาดเหงื่อที่คนในชาติต้องช่วยกันเสียสละทุ่มเทพัฒนาขึ้นมา


การปรับใช้ค่านิยมขงจื๊อในระบบทุนนิยมเกาหลีใต้

รูปแบบรัฐสวัสดิการตะวันตกมีลักษณะที่ให้สวัสดิการประชาชนอย่างครอบคลุมและคุณภาพสูง มีการใช้จ่ายด้านสังคมสูง และมีการเก็บภาษีอัตราสูง อย่างไรก็ตามรัฐสวัสดิการตะวันตกก็มิใช่เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน แต่เป็นกระบวนการที่ค่อยๆ ใช้เวลาเปลี่ยนแปลงหลายศตวรรษ รัฐมิได้กระจายสวัสดิการคุณภาพสูงให้แก่ประชาชนได้ทันที แต่ค่อยๆ เพิ่มสิทธิประโยชน์ และขยายการครอบคลุมเป็นไปตามการเจริญเติบโตของตัวเลข GDP และงบประมาณรัฐที่เพิ่มขึ้น

ด้วยข้อจำกัดทางทรัพยากร เกาหลีใต้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองจึงไม่สามารถเลียนแบบลักษณะดังกล่าวได้ทันที แต่เกาหลีใต้เลือกที่จะพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการที่แตกต่างออกไป เพื่อลดระยะเวลาที่รัฐสวัสดิการตะวันตกใช้เวลาหลายศตวรรษให้เหลือเพียง 50 ปี เพื่อสร้างรูปแบบรัฐสวัสดิการที่สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการสร้างระบบปกป้องสังคม เกาหลีเลือกที่จะใช้สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันหลักในการจัดหาสวัสดิการให้ประชาชน โดยรัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุน

ค่านิยมขงจื้อในสถาบันครอบครัวมีหลายจุดที่สนับสนุนการทำงานของระบบทุนนิยมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และผลักดันให้เศรษฐกิจของเกาหลีเติบโตขึ้นตามมา นักวิชาการเช่นศาสตราจารย์ Tu Wei-Ming อธิบายว่ามันคือ “ทุนนิยมแบบขงจื้อ” ซึ่งมีลักษณะความคิดที่ให้ความสำคัญเรื่องตัวเรากับความสัมพันธ์ต่อผู้อื่น เพื่อสร้างชุมชนที่มีความไว้วางใจระหว่างกันโดยเริ่มตั้งแต่ฐานจากความสัมพันธ์ในครอบครัว การให้ความสำคัญของพิธีการต่างๆ เพื่อฝึกฝนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การให้ความสำคัญต่อการศึกษาเพื่อสร้างบุคลิกภาพขึ้นมา การให้ความสำคัญของพฤติกรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีของผู้นำทางการเมือง การหลีกเลี่ยงปะทะความขัดแย้งในประชาสังคม แต่มุ่งหาการประนีประนอมฉันทามติ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

คุณค่าดังกล่าวช่วยให้แต่ละคนตระหนักว่าตัวเองมีบทบาทหน้าที่อะไร โดยทุกคนมีความสำคัญในระบบใหญ่ทั้งนั้น เพราะระบบในภาพใหญ่เดินหน้าไปได้ ก็ต้องมีการทำงานของฟันเฟืองตัวเล็กๆ ในสังคม และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการแบ่งงานกันทำในระบบทุนนิยม การให้ความสำคัญกับการศึกษาและพัฒนาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุดได้กลายเป็นฐานของการพัฒนาทุนมนุษย์ในเกาหลี สิ่งเหล่านี้ได้นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานเป็นหลักเป็นระบบเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานองค์ความรู้ ความมีระเบียบวินัยของประชาชนยังช่วยให้การปกครองเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้อยู่ใต้ปกครองปราศจากข้อสงสัยและการต่อต้าน

เส้นสายความสัมพันธ์การช่วยเหลือของครอบครัวช่วยให้การสะสมทุนและการขยายตัวของบรรษัทใหญ่จนกลายเป็นแชโบลที่พัฒนาการผลิตและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

บทบาทของรัฐบาลเกาหลีในช่วงทศวรรษ 1950-1980 ต่อสวัสดิการสังคมและครอบครัวจึงมีเพียงเล็กน้อย มีการให้เงินช่วยเหลือเฉพาะครัวเรือนที่ลำบากและไม่มีสมาชิกในครอบครัวช่วยเหลือ เช่น แม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวที่หัวหน้าครัวเรือนไม่มีสถานภาพการจ้างงาน รวมถึงให้สิทธิประโยชน์แก่ครัวเรือนที่สร้างคุณประโยชน์ให้ชาติ เช่น ครัวเรือนที่มีสมาชิกเป็นทหาร ตำรวจ รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงสังคมและครอบครัวในรูปแบบของกฎระเบียบควบคุม มากกว่าที่จะใช้ภาษีจำนวนมหาศาลเพื่อให้สวัสดิการทั้งในรูปแบบของเงินให้เปล่าและบริการสาธารณะ และปล่อยภาระดังกล่าวให้ครัวเรือนตามค่านิยมขงจื๊อที่พ่อแม่มีหน้าที่ให้การศึกษาบุตรธิดา และกตัญญูต่อบิดามารดา กระแสการเข้าถึงสวัสดิการจึงขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของการสืบสายตระกูลและความกตัญญู ชายวัยทำงานจึงทุ่มเททำงานอย่างหนัก เสียสละเวลาส่วนตัว เสียสละความฝันส่วนตัว เพื่อนำมาให้สวัสดิการแก่สมาชิกในบ้าน แม่บ้านทำหน้าที่ในการจัดการภายในบ้าน ดูแลสามี-ลูก พ่อแม่สามี เพื่อให้ครอบครัวดำเนินไปอย่างราบรื่น ลดความห่วงหน้าพะวงหลังของสามีขณะไปทำงาน ลูกมีหน้าที่ในการตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มความสามารถเพื่อโตขึ้นไปประกอบสัมมาอาชีพและรับช่วงความรับผิดชอบต่อจากพ่อ

และถึงแม้จะมีการขยายสวัสดิการสังคมมากขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร แต่การขยายดังกล่าวมุ่งเป้าไปเฉพาะบางกลุ่มประชากรที่เป็นคุณต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศและความสงบเรียบร้อย รัฐบาลอำนาจนิยมใช้กำลังทหารในการปราบปราม พร้อมๆ กับการใช้ไม้อ่อนด้วยรูปแบบสวัสดิการ เพื่อตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อัตรายากจนที่ลดลง คุณภาพชีวิตโดยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น สร้างความชอบธรรมของการปกครอง


วิกฤติการเงิน 1997 และการแปลค่านิยมขงจื๊อใหม่

อย่างไรก็ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมหัศจรรย์ก็ถึงจุดเสื่อมถอย วิกฤติการเงินในปี 1997 ส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจเกาหลีพังทลายและจำเป็นต้องปรับโครงสร้างขนานใหญ่ โมเดลพัฒนาประเทศแบบเกาหลีได้สร้างความเหลื่อมล้ำสังคม สังคมมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น คุณค่าของการทำงานถูกตีความหมายตามมูลค่าของกลไกตลาด การผูกขาดของแชโบลจากการสนับสนุนของระบบอุปถัมภ์ชะลอการพัฒนาความสามารถการแข่งขันในโลกาภิวัตน์ ปัญหาเศรษฐกิจทุนนิยมแบบขงจื๊อดังกล่าวได้นำมาสู่การตั้งคำถามว่า ค่านิยมแบบขงจื๊อมันล้าสมัยหรือไม่ และจะสามารถปรับตัวเข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้อย่างไร?

Seong Hwan Cha นักวิชาการด้านสังคมวิทยาของเกาหลีได้ให้ทรรศนะอย่างน่าสนใจว่า ระบบทุนนิยมแบบขงจื๊อที่นำมาแปลและปฏิบัติใช้นั้นเป็นการตีความจากมุมมองของคนต่างประเทศและติดกรอบการวิเคราะห์ทุนนิยมแบบเวเบอร์ นักการเมืองและผู้ออกแบบนโยบายพัฒนาประเทศของเกาหลีเลือกที่จะแปลและตัดความหมายของแนวคิดของขงจื๊อที่เป็นคุณต่อระบบทุนนิยม และการปกครองแบบอำนาจนิยม เขามองว่าระบบทุนนิยมแบบตะวันตกเป็นระบบที่เน้นเรื่องการแข่งขันและประสิทธิภาพเป็นหลัก เป็นระบบที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญแต่ไร้จิตวิญญาณ มีข้อด้อยจากที่ระบบจะสร้างความแปลกแยกความแตกแยกระหว่างผู้คนมากขึ้น ในขณะที่วัฒนธรรมขงจื๊อแบบตะวันออกมุ่งแสวงหาความกลมกลืนกันของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ แต่มีข้อด้อยเรื่องประสิทธิภาพและการแข่งขัน

อย่างไรก็ตามเขาก็มองว่าการรับทุนนิยมตะวันตกไม่ได้หมายความว่าเราต้องปฏิเสธคุณค่าของตะวันออก ซึ่งเป็นคุณค่าพื้นฐานในสถาบันอย่างยาวนานจนยากจะลบเลือน เขากระตุ้นให้เกาหลีหาหนทางเลือกที่สามที่เป็นการผสมผสานของคุณค่าตะวันตกและตะวันออก นำข้อดีของทั้งสองฝ่ายเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จิตใจมนุษย์ได้พร้อมๆ กัน

การปกครองแบบอำนาจนิยม และการใช้ระบบอุปถัมภ์ ได้ถูกตีความใหม่ และมองเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ความสงบสุขของสังคมที่เป็นเป้าหมายของขงจื๊อเพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลเผด็จการ ความสงบสุขในสังคมดังกล่าวถูกมองว่าแท้จริงแล้วมาจากการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานและขบวนการประชาสังคม ซึ่งแนวความคิดของขงจื๊อแท้จริงแล้วไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนเชื่องต่อผู้ปกครอง แต่ประชาชนมีหน้าที่ทัดทานการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีคุณธรรมของผู้ปกครอง ผู้ปกครองเองก็ต้องมีพฤติกรรมและคุณธรรมที่เป็นแบบอย่าง ระบบอุปถัมภ์ที่นำไปสู่การสร้างแชโบล การบิดเบือนการแข่งขันที่เป็นธรรม และการผูกขาดตลาด ตรงกันข้าม 

ครอบครัวตามแนวคิดของขงจื๊อมีหน้าที่ช่วยส่งเสริมให้สมาชิกพัฒนาตนเอง แสวงหาความรู้ ส่วนการได้รับผลตอบแทนหรือได้ตำแหน่งการทำงานต่างๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถและคุณธรรมของคนๆ นั้น


การปฏิรูปสถาบันครอบครัวและรัฐสวัสดิการเกาหลีใต้

การขยายสิทธิประโยชน์แก่สวัสดิการครอบครัวในเกาหลีเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ภายหลังการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น การเคลื่อนไหวกดดันของภาคประชาสังคม การเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลประชาชน  การเข้าสู่สังคมสูงวัย และรายได้ต่อประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น

รัฐบาลเพิ่มบทบาทเชิงรุกมากขึ้นกว่าเดิมแต่ก็มิได้ลดความสำคัญของสถาบันครอบครัวแบบขงจื๊อ ครอบครัวยังเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคม แต่มีรัฐบาลเป็นผู้ช่วยสนับสนุนมากขึ้น สร้างการทำงานร่วมกันของ ครอบครัว-รัฐบาล-ชุมชน-กลไกตลาด ความร่วมมือระหว่างเอกชน-รัฐบาล การตีความครอบครัวในความหมายใหม่ มิใช่ครอบครัวแบบพ่อทำงานหนัก แม่เป็นแม่บ้าน ลูกศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น แต่สิทธิประโยชน์ขยายไปยังครอบครัวที่ไม่ได้ผูกพันกันตามสายเลือดด้วย สมาชิกครอบครัวที่มาจากการอุปถัมภ์รับเลี้ยงก็มิสิทธิได้รับสวัสดิการสังคมเช่นเดียวกัน ครอบครัวเดี่ยวที่ไม่มีบุตรหลานก็มีสิทธิได้รับสวัสดิการสังคมเช่นเดียวกันถ้ามีญาติพี่น้องตระกูลเดียวกันทำงานในตลาดแรงงาน การพัฒนาสวัสดิการยังเพิ่มขึ้นในเชิงคุณภาพด้วย รัฐบาลมีการลงทุนสร้างโรงสร้างพื้นฐานและให้เงินสนับสนุนมากขึ้นเพื่อผลิตบริการดูแลเด็กแรกเกิดและดูแลคนชรามากขึ้น ให้เงินสังคมสงเคราะห์ฉุกเฉินแก่ครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือ นอกจากนี้สนับสนุนให้ประชาชนสร้างสมดุลการทำงานและการใช้ชีวิต (work-life balance) สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในครัวเรือน และลดความรุนแรงในครอบครัว


ความท้าทายของค่านิยมขงจื๊อและรัฐสวัสดิการของเกาหลีใต้

ถึงแม้ระบบสวัสดิการของเกาหลีใต้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำที่ต้องทำการแก้ไขอีกในอนาคต ร้อยละ 20 ครัวเรือนยากจนที่สุดมีรายได้เพียง 6% ของรายได้ทั้งหมด เงินช่วยเหลือการว่างงานยังคงต่ำและไม่เพียงพอ เงินบำนาญผู้สูงอายุก็ไม่เพียงพอและบังคับให้แรงงานสูงอายุต้องทำงานต่อเนื่องหลังเกษียณ ความเหลื่อมล้ำทางเพศในการจ้างงานและสถานที่ทำงานยังคงเป็นปัญหาของสังคมชายเป็นใหญ่

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดเพื่อให้สังคมตระหนักรู้ผ่านภาพยนตร์และซีรีย์เกาหลีหลายๆเรื่อง เช่น Parasite, Twenty five- twenty one, Little women,  Our Blues, Reply 1988 และนำไปสู่การตั้งคำถามอีกครั้งในการปฏิรูปสถาบันครอบครัวขงจื๊อครั้งใหม่อย่างไร?

ผมขอปิดบทความนี้ด้วยข้อความจากด็อกซอน เรื่อง Reply 1988 ที่กล่าวว่า

“บางครั้ง ครอบครัวอาจเป็นคนที่หลงลืมเรามากที่สุด แต่ถึงอย่างนั้น ในท้ายที่สุด สิ่งที่ช่วยให้คุณเอาชนะอุปสรรค ไม่ใช่สมองที่เต็มไปด้วยความรู้ แต่เป็นบางคนที่ยอมให้คุณจับมือ และจะไม่มีวันจากคุณไป และนั่นก็คือครอบครัว”

Author

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้สนใจและศึกษาเรื่องรัฐสวัสดิการ และการเมืองเรื่องนโยบายสุขภาพ