การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้ห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างมาก ประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเราจะมาสำรวจกันว่า ห่วงโซ่การผลิตของโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยเราควรจะวางจุดยุทธศาสตร์วางตำแหน่งแห่งที่ของเราอยู่ที่ไหนในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการของโลก 

เพื่อทำให้ประเทศไทยใช้ประโยชน์สูงสุดจากวิกฤตโควิด-19 นำพาประเทศไปข้างหน้าอย่างมียุทธศาสตร์การพัฒนา และมีความสามารถแข่งขันในระดับสากลได้

สำรวจห่วงโซ่การผลิตสมัยใหม่

ห่วงโซ่การผลิตสมัยใหม่ของสินค้าทุกวันนี้ ยกตัวเอย่าง เรามีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 1 ชิ้น สินค้าชิ้นนี้ออกแบบวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ชิ้นส่วนที่เป็นเหล็กมาจากประเทศอินเดีย ชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์มาจากเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน ส่งไปประกอบเป็น Submodules อยู่ในประเทศไต้หวัน ส่วนชิ้นส่วนที่เป็นยาง ยางดิบมาจากประเทศไทยแล้วส่งไปแปรรูปที่มาเลเซีย จากนั้น เหล็ก วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และยางทั้งหมดจะถูกส่งไปที่ซูโจว เมืองที่อยู่ใกล้กับเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เพื่อประกอบเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป 

เมื่อประกอบสินค้าพร้อมขายที่เมืองซูโจวแล้ว สินค้าเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังศูนย์กระจายสินค้า 4 แห่งเพื่อกระจายสินค้าไปทุกประเทศทั่วโลก อันได้แก่ ดูไบ ซีเเอตเทิล สิงคโปร์ และลอนดอน เมื่อไปถึงแต่ละจุดแล้วจะมีการส่งไปขายแบบหน้าร้านที่ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ โดยรถเมล์ รถไฟ หรือรถบรรทุก 

ในทางออนไลน์สินค้าเหล่านี้จะถูกจัดการร้านค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ที่บริหาร เเละจัดการหน้าร้านค้าออนไลน์ที่เก็บอยู่บน Cloud ซึ่ง Server ของ cloud เก็บอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อขายไปแล้วไม่ว่าจะเป็นขายทางออฟไลน์ หรือในทางออนไลน์ สินค้าตัวนี้จะได้รับการดูแลบริการหลังการขายผ่านทาง Call Center ที่ตั้งอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ 

นี่คือรูปแบบของห่วงโซ่การผลิตสมัยใหม่ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกันในระดับการผลิต ระดับการบริการ ระดับการออกแบบ และระดับการบริการหลังการขายผ่านตัวละครผ่านผู้เล่นต่าง ๆ ในหลากหลายประเทศทั่วโลก คำถามก็คือ ในห่วงโซ่การผลิตระดับโลกเช่นนี้ ประเทศไทยเราควรจะวางตำแหน่งแห่งที่ (Position) ของตัวเองอยู่ที่ไหน เพื่อให้เราได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เราแข่งขันกับโลกภายนอกได้ 

ทำไมประเทศไทยจึงต้องมีตำแหน่งแห่งที่ในห่วงโซ่การผลิตระดับโลก

เหตุผลที่เราจะต้องวางยุทธศาสตร์ตำแหน่งแห่งที่ของประเทศไทยในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการในระดับโลก เพราะประเทศไทยไม่สามารถผลิตทุกอย่างได้ในประเทศของตัวเอง เราไม่มีทรัพยากรเพียงพอ เราไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพียงพอที่จะผลิตสินค้าหรือบริการได้ครอบคลุมทุกอย่างในประเทศ ดังนั้น ต้องนำเข้าส่วนหนึ่งมาจากต่างประเทศ ต้องส่งออก ต้องมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพียงพอที่จะทำให้คู่ค้าต่างชาติของเราเลือกที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ของเรา ไม่ว่าจะเป็นด้านราคา ด้านนวัตกรรม ด้านบริการ หรือด้านคุณภาพ

ประเทศไทยจะต้องหาตำแหน่งแห่งที่ในการแข่งขันกับโลกภายนอกให้ได้  เพราะถ้าเราส่งออกไม่ได้ นำเข้าอย่างเดียวประเทศก็จะขาดดุลไปเรื่อย ๆ แล้วก็จะเกิดวิกฤตทางการคลัง ในขณะเดียวกัน การหาที่ยืน หายุทธศาสตร์ของประเทศไทยในห่วงโซ่การผลิตของโลก ยังหมายถึงงานและอนาคตของประเทศไทยอีกด้วย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะของโลกเสรีนิยมทางเศรษฐกิจที่ทุกประเทศเปิดเสรีทางการค้า และการลงทุน นั่นหมายความว่า ถ้าบริษัทของประเทศไทยแข่งขันไม่ได้ บริษัทก็จะล้มละลาย ผลที่ตามมาคือเกิดการเลิกจ้างงาน เมื่อเกิดการเลิกจ้างคนไทยก็จะต้องตกงาน ดังนั้น การเลือกยุทธศาสตร์ เลือกตำแหน่งแห่งที่ของประเทศไทยในห่วงโซ่การผลิตของโลกจึงหมายถึงการเลือกงานและลักษณะของงานว่าประเทศของเราจะทำอะไร 

หากเราเลือกงานที่ผลิตกระบวนการ สินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ คนไทยจะไม่มีโอกาสที่ได้ค่าแรงสูง แต่ถ้าเราเลือกผลิตสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มสูง คนไทยก็จะมีโอกาสได้รายได้ที่สูงขึ้น แต่นั่นหมายถึงว่าเราก็จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพ และมีนวัตกรรมเพื่อมารองรับมูลค่าที่สูงขึ้นในสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย การกำหนดตำแหน่งของประเทศในห่วงโซ่การผลิตของโลก ศักยภาพของคนในประเทศขึ้นอยู่กับทรัพยากรที่มีอยู่ บทบาทของภาครัฐ เจตจำนงของผู้นำประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการเมืองรวมถึงนโยบายต่างประเทศของประเทศต่าง ๆ 

ดังนั้น ตำแหน่งแห่งที่ของประเทศไทยในห่วงโซ่การผลิตในระดับโลกจึงไม่ใช่อะไรที่นิ่งหรือตายตัว จำเป็นจะต้องเข้าไปปรับปรุงหรือวางกลยุทธ์ใหม่อยู่ตลอด

วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกับห่วงโซ่การผลิตในระดับโลกอย่างไร

ในอดีตที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ห่วงโซ่การผลิตของโลกต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวตลอดเวลา วิกฤตโควิด -19 ไม่ใช่ครั้งแรก

ย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้วเกิดวิกฤตเศรษฐกิจดอทคอม หรือ ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอทคอม (Dot Com Bubble) หลังจากนั้นในปีพ.ศ. 2544 เกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน (9/11)  ในปี พ.ศ. 2551 เกิดวิกฤตการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “Hamburger Crisis” นำมาซึ่งวิกฤตการเงินและการคลังในประเทศแถบยุโรปในปีถัดมา ในปีพ.ศ. 2554 ต้นปีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น นำมาซึ่งการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ท้ายปีเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยในประเทศไทย และ ปีนี้ พ.ศ. 2563 เกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

A group of people walking on a sidewalk

Description automatically generated

เหตุการณ์ต่าง ๆ ทำให้ห่วงโซ่การผลิตในระดับโลกหยุดชะงัก วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงบทบาทของรัฐ และการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตมีรูปแบบที่น่าสนใจอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ

1.ประชาชนรู้สึกว่าประเทศไม่มีความมั่นคงทางด้านการสาธารณสุข

2.ประชาชนรู้สึกว่าประเทศไม่มีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ

เริ่มจากด้านสาธารณะสุข ยกตัวอย่างเช่น 75 % ของยาต้านการแข็งตัวของเลือดในอิตาลีมาจากการนำเข้า 60% ของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ในญี่ปุ่นมาจากการนำเข้า ทำให้รัฐบาลและประชาชนในประเทศต่างๆ เริ่มกลับไปมองในห่วงโซ่การผลิตของตัวเองแล้วพบว่า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์หรือยารักษาโรคต่างๆ พวกเขาพึ่งพิงภายนอกมากเกินไป 

ในขณะเดียวกัน ประชาชนที่รู้สึกถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นก่อนการระบาดของโควิด-19 ก่อนอยู่แล้ว ประชาชนรู้สึกว่างานของพวกเขาถูกคุกคามโดยระบบอัตโนมัติ (Automation)  โดยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI  โควิด-19 เป็นเพียงตัวเร่งปฏิกิริยา เร่งความรู้สึกที่ไม่มั่นคงของประชาชน พวกเขากลัวว่าตัวเองจะตามไม่ทันโลก แล้วถูกระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์แย่งงาน

 โควิด-19 ทำให้ความรู้สึกแบบนี้ทวีคูณขึ้นไปอีก ดังนั้น ความรู้สึกไม่มั่นคงทางสาธารณสุข และหน้าที่การงาน จึงทำให้มีความพยายามที่จะรักษางาน และห่วงโซ่การผลิตไว้ในประเทศและภูมิภาค จากเดิมมีความซับซ้อน  จากการแยกกันผลิตตามความเชี่ยวชาญในแต่ละพื้นที่ของโลก กลับมาเป็นการดึงงานและห่วงโซ่การผลิตที่อยู่ในประเทศหรืออยู่ในแถบภูมิภาคของตัวเองมากขึ้น นี่คือกระแสโลกาภิวัตน์ย้อนกลับ หรือ Reverse Globalization 

ห่วงโซ่การผลิตระดับโลกจากเดิมมีลักษณะเป็น Globalization กลายมาเป็น Reverse Globalization และท้ายที่สุดกลายเป็น Regionalization ทั้งหมดนี้เกิดจากความกังวลที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ตัวอย่างของบทบาทของรัฐบาลในต่างประเทศที่พยายามเข้าไปมีส่วนในการปรับปรุงห่วงโซ่การผลิตระดับโลกเพื่อรักษางานในประเทศตัวเอง ได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส รัฐบาลฝรั่งเศสได้ให้เงินสนับสนุนกับบริษัท Renault ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศสไปแล้ว 5.4 พันล้านยูโร เพื่อปรับปรุงห่วงโซ่การผลิตในระดับโลก และเพื่อรักษางานไว้ในประเทศตัวเอง ในเยอรมนีรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือกับบริษัท Lufthansa ซึ่งเป็นบริษัทสายการบินสัญชาติเยอรมันเป็นจำนวนเงิน 9,000 ล้านยูโร ในประเทศญี่ปุ่นรัฐบาลได้สร้างกองทุนที่มีความใหญ่ขนาด 243,000 ล้านเยนขึ้นมา เพื่อช่วยให้บริษัทในญี่ปุ่นที่มีกระบวนการผลิตนอกประเทศกลับเข้ามาในประเทศตัวเอง 

ในประเทศอินเดีย Narendra Modi นายกรัฐมนตรีอินเดียได้ออกมาพูดว่า “This is a new era, era of self learnline’s”  นี่คือยุคใหม่ นี่คือยุคของการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ และออกมาตรการที่ป้องกันบริษัทสัญชาติอินเดียไม่ให้ถูกถูกซื้อกิจการโดยบริษัทต่างชาติ ในประเทศสหรัฐอเมริการัฐบาลสหรัฐอเมริกากดดันและต่อรองกับบริษัท Intel อย่างหนักซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในธุรกิจสาย Semi-conductor ให้มีการผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกาแทนประเทศเม็กซิโก เพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีที่มีความสำคัญทางการค้า และการทหารจะหลุดรั่วออกไปจากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น 

ดังนั้น ภายใต้กระแสที่เปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตจากโลกาภิวัตน์ (Globalization) มาสู่การดึงงาน ดึงการผลิตกลับมาสู่ภูมิภาคตัวเอง (Regionalization) คำถามที่สำคัญคือ ประเทศเราจะอยู่ที่ไหนในห่วงโซ่การผลิตหลังโควิด-19 นี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่เราจะหันกลับมามองประเทศไทยผ่านมุมมองของห่วงโซ่การผลิตในระดับโลกอย่างจริงจัง ว่าเราจะใช้โอกาสนี้พาประเทศไปข้างหน้าได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงก็คือ ทิศทางเศรษฐกิจการเมืองของโลกหลังโควิด-19 ที่เปลี่ยนไป การเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และปัญหาเฉพาะของแต่ละประเทศ 

นี่คือ ปัจจัยและโจทย์หลัก ในการออกแบบของประเทศไทยให้เหมาะสมกับห่วงโซ่การผลิตใหม่หลังโควิด-19 ซึ่งถ้าเราทำได้ดีจะทำให้ประชาชนมีงานที่มีผลตอบแทนดีและมีคุณค่า งานที่มีความหมายจะทำให้ประเทศเรามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและจะทำให้ประเทศไทยก้าวหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ข้ามจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศที่ร่ำรวยได้ นี่คือโอกาสที่สำคัญสำหรับรัฐบาลไทย 

บทบาทของรัฐบาลไทยในวิกฤติโควิด-19

ในความเป็นจริงรัฐบาลไทยได้จัดเตรียมงบประมาณไว้เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งงบประมาณดังกล่าวนี้มีจำนวนเงิน 1.9 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น

1.งบประมาณเพื่อการเยียวยา การสาธารณสุข และการฟื้นฟูประเทศ 1 ล้านล้านบาท

2.งบประมาณเพื่อช่วยเหลือ SME 500,000 ล้านบาท

3.งบประมาณเพื่อพยุงเสถียรภาพทางด้านการเงินในตลาดทุนผ่านการพยุงหุ้นกู้อีก 4 แสนล้านบาท 

ส่วนที่สำคัญคือ งบประมาณการฟื้นฟูประเทศ การพาประเทศไปข้างหน้า และการปรับเปลี่ยนบทบาทของประเทศไทยในห่วงโซ่การผลิตระดับโลก งบประมาณฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทที่อยู่ในงบประมาณหนึ่ง 1 ล้านล้านบาท จนถึงวันนี้ รัฐบาลได้ให้หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ยื่นโครงการข้อเสนอว่าหน่วยงานใดจะต้องใช้เพื่อการฟื้นฟูประเทศไทยหลังจากโควิด-19 โดยเปิดให้หน่วยงานต่าง ๆ ส่งข้อเสนอตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน ถึงวันที่ 15 มิถุนายน ทั้งนี้ ภายในวันที่ 10 มิถุนายน มีโครงการส่งเข้ามาแล้ว 31,024 โครงการ รวมเป็นเม็ดเงินราว 781,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ากรอบงบประมาณ 4 แสนล้านบาท 

โครงการส่วนใหญ่ที่ส่งเข้ามาโดยมากเป็นถนนกว่า 12,000 โครงการ เป็นเรื่องการจัดการน้ำ 7,000 โครงการ เป็นเรื่องการจัดการด้านการเกษตร การอบรมส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ อีก 5,461 โครงการ 

หากดูภาพรวมของโครงการต่างๆ เหล่านี้ จะเห็นว่าไม่มีโครงการหรือยุทธศาสตร์ที่คำนึงถึงจุดยืนของประเทศไทยในห่วงโซ่การผลิตใหม่ของโลกหลังโควิด-19  เราเห็นแต่รูปแบบการบริหารจัดการภาครัฐแบบเดิม หากยังจัดการด้วยแนวคิดแบบนี้ประเทศไทยจะไม่ไปข้างหน้า และไม่พร้อมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป 

ยุทธศาสตร์พัฒนา จุดเปลี่ยนประเทศไทย

ข้อเสนอที่อยากจะให้ทุกคนได้เห็นคือ ถ้าหากเราจัดการงบประมาณ 4 แสนล้านเสียใหม่ โดยการคำนึงถึง ห่วงโซ่การผลิตของโลก ณ ปัจจุบันนี้ เราจะแปรเปลี่ยน และจะขยับตัวเองไปเพิ่มมูลค่าในสินค้า และบริการของพวกเราได้ และจะทำให้คนไทยมีงานทำ จะทำให้งานที่พวกเราทำสร้างผลตอบแทนที่ดีกับพี่น้องประชาชนคนไทย ซึ่งจะนำมาสู่คำถามสำคัญว่า บทบาทของภาครัฐควรจะอยู่ที่ไหน 

เราจะปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตของประเทศไทยให้สอดคล้องโลกได้อย่างไร? เราจะใช้งบประมาณอย่างไร  บทบาทของภาครัฐควรอยู่ตรงไหน ? มีตัวอย่าง 2-3 เรื่องที่อยากให้ลองพิจารณา 

1. เครื่องช่วยหายใจ 

ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงโรคอื่นๆ ในการสาธารณสุข มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งมีตั้งแต่ระดับราคาถูกราว 100 กว่าบาท จนถึงราคาแพงระดับเเสนบาท ซึ่งปัจจุบันเราไม่มีการผลิตใช้ในประเทศไทย  

เครื่องช่วยหายใจเป็นเทคโนโลยีที่มีมานานมากกว่า 50 ปี โดยมีส่วนประกอบคือ โครงสร้าง ระบบอิเล็กโทนิกส์ และระบบจัดการแรงดันลม ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราสามารถผลิตขึ้นเองได้ในประเทศไทย?

ถ้าเรามองรัฐบาลในฐานะผู้ซื้อ และให้รัฐบาลกระตุ้นให้เกิดห่วงโซ่การผลิตใหม่ เกิดเศรษฐกิจใหม่ในฐานะผู้ซื้อ ไม่ใช่การซื้อเพื่อสร้างอุปทาน (Supply) แต่เป็นการซื้อเพื่อสร้างอุปสงค์ (Demand) ถ้าหากเราสร้างเครื่องช่วยหายใจเป็นจำนวน 30,000 เครื่องใน 3 ปี ประเมินราคาของเครื่องช่วยหายใจอย่างต่ำอยู่ที่ 150,000 บาท รัฐต้องซื้อเครื่องช่วยหายใจ 4,500  ล้านบาทแทนที่จะไปนำเข้าเครื่องช่วยหายใจจากต่างประเทศ 

เราสามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนการวิจัยพัฒนาเครื่องช่วยหายใจในประเทศไทยได้ โดยอาจจะแบ่งปริมาณการผลิตออกเป็น 3 ปีให้ชัดเจน และเมื่อเอกชนมีความต้องการชัดเจนก็สามารถเข้าร่วมประมูลและลงทุน เอกชนที่กล้าลงทุนย่อมมีซัพพลายเออร์ (supplier) ของตนเอง คนที่นำระบบลม ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบโครงสร้างมารวมกันซึ่งไม่มีใครทำได้ทุกอย่าง จึงต้องสั่งซื้อระบบจากคนอื่น และจะเกิดการสร้างห่วงโซ่การผลิตใหม่ในประเทศไทย ยกระดับเทคโนโลยี และระดับความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน เกิดบทบาทของรัฐในฐานะผู้ซื้อ เกิดการลงทุนของเอกชน เกิดการจ้างงาน หรือการคิดค้นนวัตกรรมพัฒนาศักยภาพเทคโนโลยี 

ในขณะที่เครื่องช่วยหายใจเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของคนไทย การคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ รัฐจะต้องมีหน้าที่และบทบาทร่วมมือกับเอกชนในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ที่สำคัญคือ การพิสูจน์ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ให้ผ่านมาตรฐาน และต้องเป็นผู้ออกใบอนุญาต และใบรับรองให้กับผลิตภัณฑ์ นี่เป็นเรื่องความมั่นคงทางการแพทย์ที่เราควรพัฒนาต่อไป หากในอนาคตเกิดการระบาดครั้งใหม่

2.รถไฟ 

เราเห็นได้ชัดเลยว่าในประเทศไทยมีรถไฟไม่เพียงพอตอบสนองความต้องการในการเดินทางของพี่น้องประชาชน ถ้าหากเราลงทุนในรถไฟให้แพร่หลายมากกว่านี้ ก็จะทำให้ประชาชนไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว ลดการพึ่งพิงหรือการใช้พลังงานเชื้อเพลิงได้ (Fossil fuel)  เศรษฐกิจไทยก็จะเป็นเศรษฐกิจที่เขียวสะอาดมากขึ้น และทำให้คนใช้บริการการขนส่งสาธารณะมากขึ้น เราจะใช้งบประมาณในการสร้างถนนและการป้องกันมลพิษทางอากาศน้อยลง 

ปัญหาคือ ถ้าเรายังพึ่งพาห่วงโซ่การผลิตรถไฟของโลกแบบนี้และยังนำเข้ารถไฟทั้งหมดอย่างเดียว เราจะนำเงินจากไหนมาเพื่อซื้อรถไฟ 1 ขบวน ดังนั้น วิธีการคือห่วงโซ่การผลิตใหม่ในประเทศไทย ห่วงโซ่ของการผลิตรถไฟในประเทศ เราสามารถทำอะไรได้และจะส่งผลอย่างไรบ้าง

ระดับที่ 1 เราจะมีผู้เดินรถไฟ ผู้ผลิตรถไฟ ผู้บำรุงรักษาและปรับปรุงระบบ

ระดับที่ 2 เราจะมีผู้ผลิตชิ้นส่วนผลิตระบบให้กับผู้ผลิตรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตระบบล้อ ผู้ผลิตมอเตอร์ ผู้ผลิตรางรถไฟ ผู้ผลิตประตู ผู้ผลิตกระจก ผู้ผลิตระบบปฏิบัติการ ผู้ผลิตระบบสื่อสาร ผู้วางสายส่งกำลัง ไม่ว่าจะเป็นวาล์วสายไฟ เซ็นเซอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แน่นอนที่สุดทั้งหมดนี้เราไม่สามารถสร้างเองได้ แต่เราเลือกได้ว่าอย่างน้อยที่สุดถ้าเราเริ่มการสร้างรถไฟในประเทศไทยจะทำให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องในรูปแบบนี้ตามมา 

และที่สำคัญก็คือ ทำโมเดลที่ยากหรือระบบที่ยาก เช่น ระบบขับกำลังส่งหรือระบบอาณัติสัญญาณทีหลัง อาจต้องซื้อจากต่างประเทศมาก่อน ไม่จำเป็นจะต้องทำระบบ หากกระบวนการในห่วงโซ่การผลิตประเทศไทยเรายังมีเทคโนโลยีไม่พอเราสามารถนำเข้าได้ แต่ส่วนที่เรามีเทคโนโลยีเพียงพอแล้ว คนของเรามีความรู้ความสามารถในการผลิตแล้ว เราสามารถใช้ความต้องการของประเทศไทยทำให้ระบบการขนส่งสาธารณะดีมากขึ้น อัพเกรด หรือพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะพื้นฐานของประเทศไทยให้ดีกว่านี้ได้ ทำให้คนหันมานิยมใช้มากกว่านี้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกอุตสาหกรรมในประเทศของเราได้

ระดับที่ 3 โครงการแปรรูปสินค้าพื้นฐานจะทำให้เกิดผู้ผลิตอะลูมิเนียม เม็ดพลาสติก เคมี ยาง กระจก เม็ดสี และเกิดการสร้างอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมในประเทศไทย นั่นคือระบบอัตโนมัติ หรือ automation 

ระบบอัตโนมัติ คือ  ระบบอัตโนมัติที่คนมองว่าจะมาแย่งงานมาแทนที่เรา เครื่องจักรที่เข้ามาทำงานในกระบวนการที่จะใช้คนอยู่ 10 คน แต่พอลงทุนในเครื่องจักรนี้แล้วทำให้กระบวนการนั้นๆ ใช้คนเหลือเพียงแค่ 7 คน ซึ่งถ้า 3 คนที่หายไปได้เงินเดือน 20,000 บาทต่อเดือน ต้นทุนผู้ประกอบการก็จะลดลงหลายหมื่นถึงหลายเเสนบาท ในความจริงแล้วช่างเทคนิคและวิศวกรไทยมีความสามารถพอที่จะทำให้เครื่องจักรตัวนี้ได้ผลิตในประเทศไทยออกแบบโดยคนไทย 

เราสามารถมีคนออกแบบติดตั้งและผู้ควบคุมระบบที่เราเรียกว่า System indicator ซื้อระบบต่าง ๆ แล้วเอาเข้ามาประกอบและใช้งานได้ สามารถรับประกันคุณภาพกับลูกค้า มีระบบโครงสร้าง หรืองาน Application ควบคุมของเหลวหรือระบบไฮดรอลิค (Hydraulic) ระบบควบคุมไฟฟ้า หรือระบบ PLC ระบบชุดอุปกรณ์มาตรฐาน ระบบเซ็นเซอร์ ระบบควบคุมการผลิต หรือระบบลมมอเตอร์ 

A close up of a sign

Description automatically generated

นี่คือส่วนประกอบคร่าว ๆ ของระบบอัตโนมัติ (Automation) ที่เราพูดถึงแต่แม้ว่าผู้ออกแบบผู้ติดตั้งหรือ System integrator จะเป็นคนไทย หากเรามองลึกลงไปในห่วงโซ่การผลิตของระบบต่าง ๆ เราจะพบว่าอุปกรณ์พื้นฐานเชิงระบบส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้ามา ถ้าเราจะยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไปสู่ยุค automation ได้ จากต้อง Localize หรือเรื่องการผลิตให้กับประเทศไทยให้ได้ เมื่อดึงเข้ามาจะทำให้ต้นทุนระบบ automation ของประเทศไทยเดิมและจะทำให้ประเทศไทยได้พัฒนา

การเลือกว่าประเทศไทยจะทำอะไรและไม่ทำอะไรที่จะสอดคล้องกับยุคสมัย ที่จะสอดคล้องกับทรัพยากรพื้นฐาน สอด คล้องกับทักษะศักยภาพของบุคลากรของคนที่เรามีแน่นอน ตัวอย่างที่ยกมาสามารถประยุกต์ใช้กับภาคการเกษตรได้ เพราะเราไม่ได้พูดถึงภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียว ในการกำหนดตำแหน่งของประเทศไทยภาคการเกษตรก็ต้องกำหนดตำแหน่งของประเทศไทยหรือว่าเราจะอยู่ตรงไหนในผลิตภัณฑ์ใด 

3.ยางพารา

ห่วงโซ่การผลิตของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ยางพาราจากสวนออกมาได้ 2 รูปแบบคือออกมาเป็นน้ำยางสด หรือน้ำยางก้อน เราสามารถเอาน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นสินค้าลาเท็กซ์ เช่น ถุงมือถุงยาง อีกลักษณะหนึ่งก็คือเอามาทำเป็นยางแผ่นดิบแล้วก็เอาไปแปรรูปอีกครั้งเป็นยางแผ่นรมควัน ในขณะที่น้ำยางก้อนหรือที่เรียกว่าน้ำยางถ้วยเอาไปทำยางแผ่นที่เรียกว่ายางแผ่น STR ทั้งสองส่วนไม่ว่าจะเป็นยางแผ่นรมควันหรือยางแท่งเอาไปแปรรูปขึ้นรูปออกมาเป็นชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ เช่น ยางรถยนต์ ยางรองเครื่อง ยางต่าง ๆที่ใช้รับแรงกระแทก นี่คือ ห่วงโซ่คุณค่า หรือ value chain ของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา

ดังนั้น ในห่วงโซ่คุณค่ามีเกษตรกรสวนยาง มีการแปรรูปขั้นต้น มีผลิตภัณฑ์ชั้นต้น และมีผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ เกษตรกรสวนยางและสหกรณ์ ได้มูลค่าเพิ่มจากกระบวนการนี้เพียงแค่ขั้นต้นเท่านั้น ส่วนการแปรรูปขั้นต้นและการสร้างผลิตภัณฑ์ขั้นแรกส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมยางของเมืองไทย โดยในส่วนมูลค่าเพิ่มที่เยอะจริงๆ อยู่ในผลิตภัณฑ์ขั้นแรกและการสร้างผลิตภัณฑ์ในขั้นสุดท้ายยังอยู่ในมือของบริษัทต่างชาติ 

แต่ถ้าเราจัดวางตำแหน่งของผู้เล่นต่างๆ ในห่วงโซ่การผลิตยางใหม่ แล้วบอกว่าแปรรูปขั้นต้นจะไม่ให้บริษัทขนาดกลางและบริษัทขนาดใหญ่มายุ่งแล้ว ควรจะให้เกษตรกรรวมตัวกันเองในรูปแบบของสหกรณ์ มูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นตรงนี้ก็ควรจะอยู่ในระดับสหกรณ์ มูลค่าจากยางสดไปเป็นยางข้น ไปเป็นยางแผ่นดิบ ไปเป็นยางรมควัน ไปเป็นยางแท่ง มูลค่าตรงนี้ควรอยู่ที่ชุมชน

ส่วนบริษัทขนาดกลางที่อยู่ในอุตสาหกรรมยางพารา รัฐก็ต้องผลักดันให้ก้าวหน้า ไม่ใช่ผลักดันให้ล้าหลัง ให้วิ่งเข้ามาหามูลค่าเพิ่มจากเกษตรกร แต่ต้องผลักดันให้พวกเขาออกไปแข่งขันกับโลกแล้วดึงมูลค่าเพิ่มจากข้างนอกเอามาแบ่งกันในห่วงโซ่การผลิตในประเทศ ดังนั้น บริษัทขนาดกลางควรจะย้ายมาทำผลิตภัณฑ์ขั้นแรกและบริษัทยางขนาดใหญ่จะให้ไปทำผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย นี่คือตำแหน่งแห่งที่ใหม่ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร ที่จะทำให้เราสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเกษตรกรมีส่วนแบ่งของมูลค่าเพิ่มมากขึ้น 

ถ้าทุนขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ทุนเกษตรกรสหกรณ์มีบทบาทหน้าที่ชัดเจนในห่วงโซ่การผลิตแล้วจะทำให้เราชนะไปด้วยกันหมด ไม่ใช่แค่ทุนใหญ่ชนะคนเดียวถ้าเราแบ่งบทบาทขั้นตอนและมูลค่าเพิ่มในกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ได้ เศรษฐกิจจะเกิดความสมดุลมากขึ้น ทุนใหญ่ ทุนกลาง แล้ว ลก็เกษตรกรสหกรณ์ กลุ่มทุนขนาดเล็กจะโตไปด้วยกันได้ เดินไปในทิศทางเดียวกันเพื่อแข่งขันกับโลก เอามูลค่าเพิ่มกลับเข้าในประเทศไทยไม่ใช่ให้แค่กลุ่มทุนใหญ่ 

4. บริการภาครัฐ 

การเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เราสามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงบริการของภาครัฐได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยหลายส่วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้ใช้เครื่องมือออนไลน์มากขึ้น มีการเปิดบัญชีออนไลน์ของธนาคารเพิ่มขึ้นเยอะมากในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการสั่งของออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์พฤติกรรมของคนไทยที่เคยทำธุรกรรมกับธนาคารออนไลน์จะไม่กลับไปทำธุรกรรมสาขาอีก เพราะไม่ได้ยากลำบากและยังสะดวกมากกว่า 

สาขาธนาคารจะหายไป มีหรือไม่มีโควิด-19 สาขาธนาคารก็อยู่ในแนวโน้มที่จะลดลงอยู่แล้ว การเลิกจ้างพนักงานที่อยู่ในสาขาธนาคารก็ลดลงอยู่แล้ว แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเร่งแนวโน้มนี้ให้ลดลงในอัตราที่เร็วขึ้น คำถามคือ แล้วเราจะทำอย่างไร เราจะรับมืออย่างไร

คำตอบคือ เราต้องสร้างห่วงโซ่การผลิตใหม่ สร้างระบบการผลิตใหม่ที่ดึงคนเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของโลกได้ นั่นคืออุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยใช้รัฐเป็นผู้ซื้อ เช่น ในปีนี้ประชาชนที่ต้องการทำการนัดหมาย กรอกแบบฟอร์ม จ่ายเงินทำธุรกรรมกับรัฐหรืออื่นๆ สามารถทำออนไลน์ได้ทั้งหมดทุกหน่วยงาน  โดยสามารถตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 3 ปีภายใน 5 ปีคนไทยจะไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มยาวๆ อีก 

ชีวิตเราสั้น ชีวิตเรามีค่าเกินกว่าจะไปนั่งกรอกแบบฟอร์ม ในหน่วยงานราชการ ประชาชนจะต้องมีสิทธิ์เลือกที่จะจ่ายเงินออนไลน์ได้ผ่านแพลตฟอร์ม  และเราสามารถนัดหมายโรงพยาบาล นัดหมายการประชุม นัดหมายการเข้าพบหน่วยงานกับภาครัฐใดๆ ก็ล้วนสามารถทำออนไลน์ได้ จะลดเวลาลดความเดือดร้อนของประชาชน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้เศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

ภาครัฐต้องเปิดให้เอกชนแข่งขันในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เมื่อเอกชนรู้ว่าจะเกิดการพัฒนาและมีการลงทุนในอุสาหกรรมเทคโนโลยี ภาคเอกชนจะกล้าลงทุนสร้างคนที่มีความสามารถในการเขียนซอฟต์แวร์ (Software) เมื่อมีการพัฒนาคน บ่มเพาะคนประเทศไทยก็จะมีการสะสมของเทคโนโลยี และเกิดการจ้างงานมากขึ้น 

งานที่หายไปในภาคการผลิตหนึ่งถ้าปล่อยแล้วไม่ทำอะไรเลยจะหายไปเลย แต่งานที่หายไปในภาคการผลิตหนึ่งสามารถทำให้เป็นงานที่เกิดขึ้นมาในภาคการผลิตใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าเดิมได้ ถ้าเราจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของการผลิตว่าเลือกที่จะเดินอย่างไร หากเราตั้งเป้าว่า 3 ปี นับตั้งแต่นี้ไปการชำระค่าธรรมเนียม ค่าปรับ ค่าบริการต่างๆ ของรัฐต้องทำเป็นออนไลน์ทำผ่านแอปพลิเคชันอาจจะได้ส่วนลด 3% หรือลด 5% เพื่อกระตุ้นให้คนมาใช้จ่ายผ่านช่องทางนี้ภายใน 2 ปี 3 ปีก็จะเร่งกระบวนการการเข้าไปสู่การให้บริการภาครัฐผ่านแพลตฟอร์มดิจิตอลเร็วขึ้นไปอีก 

ไม่มีเสรีภาพ ไม่มีนวัตกรรม ไม่มีการพัฒนา

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด คือการมองเศรษฐกิจการเมืองระดับโลกหลังจากโควิด-19 การมองการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีซึ่งโควิด-19 มาเร่งทำให้รวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น และการมองปัญหาของประเทศไทยภายใต้ทรัพยากรที่เรามีอยู่จำกัด เราจะเลือกทำอะไรหรือเลือกไม่ทำอะไร นำเข้าอะไร เราจะผลิตในประเทศเอง เราจะอยู่ตรงไหนของห่วงโซ่การผลิตของโลกในสินค้าและบริการต่างๆ ถ้าตัดงบประมาณออกมาส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เอาไปทำในรูปแบบเดิมไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแหล่งน้ำ  โดยถ้าเราเอามาสร้างงานในรูปแบบใหม่ๆ ห่วงโซ่การผลิตระดับโลกอย่างมียุทธศาสตร์ประเทศไทยจะทำอะไรบ้าง จะเกิดการจ้างงานจากอะไร และนี่คือ โอกาสของประเทศไทยจากห่วงโซ่การผลิต 

แต่สิ่งที่กล่าวไปทั้งหมด จะไม่สามารถเกิดได้เลย ถ้าสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกไม่มีอยู่ในประเทศนี้ เพราะที่มาของนวัตกรรม คือความคิดสร้างสรรค์ และที่มาของความคิดสร้างสรรค์นั้นก็มาจากการที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ในการแสดงความคิดเห็น เหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมที่ประชาชนทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของตัวเองไม่ใช่มาจากประชาชนที่ถูกกดทับ ไม่ได้มาจากประชาชนที่ถูกด้อยค่า ไม่ได้มาจากประชาชนที่รู้สึกว่าตนเองไม่ได้มีสิทธิ์เสรีภาพความเป็นมนุษย์ 

ถ้าเราอยากจะเห็นสังคมไทยที่ก้าวหน้าเท่าทันโลกมีนวัตกรรมที่เป็นของตัวเองจำเป็นที่จะต้องปกป้องการมีอยู่ของสิทธิเสรีภาพอันเป็นรากฐานที่สำคัญของความคิดสร้างสรรค์ในประเทศไทย