บทสัมภาษณ์พิเศษเนื่องในวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม 2564

แม้ข้อเรียกร้องหลักของผู้ชุมนุมในสถานการณ์ทางการเมืองช่วงปี 2563-2564 จะให้น้ำหนักไปที่ความไร้ประสิทธิภาพของคณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน ความอยุติธรรมต่าง ๆ ในสังคม รวมไปถึงเรื่องอันเป็นแก่นกลางสำคัญของกระแสการชุมนุมครั้งนี้ นั่นคือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่พร้อมกันนั้นก็เกิดข้อเสนอทางวัฒนธรรมที่ก้าวหน้าจากหลายแง่มุมผุดขึ้นมามากมาย ประเด็นต่าง ๆ มหาศาลปรากฎขึ้นมาราวกับการปะทุของภูเขาไฟ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการศึกษา ความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ การเปิดโปงและคว่ำบาตรเครือข่ายทุนผูกขาด หรือการปฏิรูปตำรวจและกองทัพ หนึ่งในข้อเรียกร้องที่ปรากฏขึ้นในกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้และมีประชาชนขานรับจำนวนไม่น้อยเลยเช่นกัน ก็คือข้อเสนอแนวทางรัฐสวัสดิการที่เติบใหญ่ขยายวงกว้างไปในโลกออนไลน์และออฟไลน์

การต่อสู้เพื่อสวัสดิการและสิทธิของแรงงานของไทยมีความเป็นมาที่ยาวนาน เช่น การต่อสู้เพื่อยกเลิกภาษีรัชชูปการหลังปฏิวัติ 2475 การประท้วงและนัดหยุดงานของขบวนการแรงงานหลังการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 การต่อสู้เพื่อสิทธิลาคลอดใน พ.ศ. 2536 ไล่มาถึงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร แม้การต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการจะดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทว่าทุกอย่างก็หยุดชะงักลงในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 9 เนื่องจากวิกฤติการทางการเมืองที่นำไปสู่การรัฐประหารถึง 2 ครั้ง การต่อสู้เรื่องสวัสดิการจึงไม่มีความคืบหน้าไปมากนัก

แม้จะมีความพยายามในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทว่าทุกอย่างต้องจบลงในการรัฐประหาร 2557 เมื่อประเทศไทยเข้าสู่รัชกาลใหม่ ความเหลื่อมล้ำในไทยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับการขยายพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลจากการรัฐประหาร ในบริบทเช่นนี้ แรงกดดันจากภาคประชาชนในการเรียกร้องสิทธิแรงงานและรัฐสวัสดิการก็เพิ่มสูงขึ้นทุกที ในช่วงนี้เองที่ความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิแรงงาน รัฐสวัสดิการ และสถาบันกษัตริย์เริ่มถูกพูดถึงในสังคมไทย เรื่องนี้ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 10

ตัวอย่างเช่น การปราศรัยของอาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ที่หน้าตึกสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ชี้ให้เห็นว่าการเรียกร้องรัฐสวัสดิการและสิทธิแรงงานจะเกิดขึ้นได้ต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย หรือในความเคลื่อนไหวของแวดวงหนังสือในช่วงที่ผ่านมา แรงงานวิจารณ์เจ้า ก็ได้เปิดเผยให้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานมีมาก่อนการปฏิวัติ 2475 แล้ว โดยผู้ท้าทายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คนสำคัญก็คือถวัติ ฤทธิเดช ที่กล้าออกมาฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในข้อหาหมิ่นประมาทอย่างห้าวหาญ  

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ปราศรัยในหัวข้อ รัฐสวัสดิการ และประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564

ขณะที่เริ่มมีการพูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำกันอย่างแพร่หลาย เศรษฐกิจยุคใหม่ก็มีตัวแสดงใหม่ ๆ ในชนชั้นแรงงานเพิ่มขึ้น ดังเห็นได้จากการลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมของไลน์แมน แกร็บไบค์ ฟรีแลนซ์ หรือตัวแสดงอื่น ๆ ที่เรียกว่า “แรงงานแพลตฟอร์ม” ทว่าในระหว่างนี้แนวคิดของขบวนการแรงงานกลับดูกลายเป็นเรื่องโบราณคร่ำครึและห่างไกลจากคนทั่วไปขึ้นทุกที เพราะคำว่าแรงงานมักถูกใช้โดยจำกัดวงอยู่เพียงในกลุ่มแคบ ๆ เท่านั้น

หากดูสารคดีเกี่ยวกับแรงงานในโทรทัศน์ เราจะพบว่าแรงงานมักถูกฉายภาพ “เป็นเพียง” ชาวไร่ชาวนา กรรมกรในโรงงาน หรือคนแบกหามก่อสร้าง ภาพพวกเขามักถูกนำเสนอให้ต่ำต้อยเหลือเกิน และขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้เราสำนึกในบุญคุณของพวกเขาด้วยการกระทำแปลก ๆ พร้อมกับพยายามตีตัวออกห่างจากพวกเขาให้ไกลที่สุด ตัวอย่างเช่น ครูมักสอนเราว่าต้องกินข้าวให้หมดจาน ต้องซาบซึ้งน้ำหูน้ำตาไหลในความลำบากของชาวนา แต่ขณะเดียวกันครูก็สอนให้เราตั้งใจเรียน “เพื่อโตไปเป็นเจ้าคนนายคน” จะได้ไม่ต้องมาเป็นชาวไร่ชาวนาหรือพนักงานก่อสร้าง

คนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็น “กระดูกสันหลัง” ของชาติ แต่การนำเสนอภาพแบบนี้กลับแสดงให้เห็นถึงความไร้กระดูกสันหลังของสังคม ทุกครั้งที่เราถูกเรียกร้องให้สำนึกถึงบุญคุณของพวกเขา เรากลับไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากทอดทิ้งพวกเขา และพยายามทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เป็นเหมือนพวกเขา เราถูกทำให้เข้าใจผิดว่าแรงงานเป็นเรื่องของชาวไร่ชาวนา คนงานก่อสร้าง หรือสิ่งที่ไร้เกียรติอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับชนชั้นกลางในเมืองหลวง ทั้งที่จริงๆ แล้วพวกเราทุกคนล้วนเป็นแรงงานและเหยื่อของความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่ต่างกัน

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของแรงงานไทย วันนี้ฉัตรชัย พุ่มพวง สุภาพ หริมฯ  ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนสหภาพคนทำงาน (Workers’ Union) จะมาชวนเราตั้งคำถาม และเอาความเข้าใจเกี่ยวกับแรงงานมาปัดฝุ่นใหม่ หลังจากอ่านบทสัมภาษณ์นี้ ท่านอาจเห็นว่าแรงงานยังคงมีความสำคัญ เพราะแท้จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ว่าชนชั้นนำ 1% จะรวยล้นฟ้าเพียงใด พวกเราทุกคนล้วนก็เป็น ‘คนทำงาน’ และถึงจะฟังดูยาก แต่พลังของคน 99% ก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกให้เท่าเทียมขึ้นได้ ขอเพียงแค่พวกเราร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียว

ฉัตรชัย พุ่มพวง: จุดเริ่มต้นของสหภาพคนทำงาน

ฉัตรชัย พุ่มพวง หรือแชมป์ เป็นคนทำงานสื่อสารที่เรียนจบศิลปะ เขาเป็นหนึ่งในทีมงานของ พูด ช่องยูทูปผลิตวิดิโอสาระน่ารู้ที่มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นทุกที และขณะนี้มีผู้ติดตามแล้วกว่า 85,000 คน

แม้ใฝ่ฝันถึงการรวมตัวกันของคนทำงาน แต่แชมป์ก็มีจุดเริ่มต้นเหมือนคนทั่วไป หลังเรียนจบ แชมป์ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานโดยทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งได้เงินเดือน 20,000 บาท ในแต่ละเดือน แชมป์จะผลิตวิดิโอได้ 2 คลิป แต่บริษัทกลับเอาคลิปไปขายได้ถึง 100,000 บาท ถึงจุดนี้ แชมป์เริ่มคิดว่าถ้าเราทุกคนเป็นเจ้าของบริษัทแล้วแบ่งเงินเท่า ๆ กันน่าจะดีไม่น้อย

เมื่อลาออกไปทำงานในบริษัทที่สอง แชมป์ทำงานแบบไม่เห็นเดือนเห็นตะวันเลย ทั้ง ๆ ที่บริษัทกำหนดเวลาเลิกงาน 5 โมงเย็น และตามกฎหมายปัจจุบัน แชมป์ควรได้รับเงินเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าจากการทำงานเกินเวลาในวันธรรมดา ทั้งที่เป็นเช่นนี้ แชมป์กลับไม่ได้เงินดังกล่าวเพราะคนในที่ทำงานมัวแต่จับผิดกันเองว่าใครกลับก่อน

นอกจากนี้ บริษัทยังกดดันให้ทำงานเสาร์-อาทิตย์ด้วย และทั้ง ๆ ที่ต้องได้ค่าแรงคูณ 3 จากวันธรรมดาตามกฎหมาย แต่แชมป์ก็ไม่ได้อีกเช่นกัน ไม่ต้องพูดถึงค่ารถที่ต้องออกเอง ข้าวกลางวันก็ไม่มีการจัดหาให้

แชมป์ ฉัตรชัย พุ่มพวง หนึ่งในทีมงานเพจ ‘พูด’ และสมาชิกสหภาพคนทำงาน

ด้วยเหตุนี้ แชมป์จึงตัดสินใจออกจากงาน และหันมาทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ นั่นคือการ พูด เกี่ยวกับเรื่องสังคม และเนื่องจากไม่อยากให้กิจการใหม่ของเขาเป็นเหมือนบริษัทที่เขาเคยทำ เขาจึงตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นั่นคือการทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของช่องยูทูปร่วมกัน

“หลังจากออกจากบริษัทมาก็มาตั้งเพจพูด โดยเราทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน และทำให้เรามีเวลาว่างขึ้น ได้ออกมาทำงานขับเคลื่อนสังคมที่เราอยากทำมากขึ้น และได้มีโอกาสเจอผู้คนมากมายจากหลายแวดวง” แชมป์กล่าว

ระหว่างนี้ ประเทศไทยได้เกิดการประท้วงใหญ่ขึ้นทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องสังคมที่เสรี เท่าเทียม และเป็นธรรม แม้แชมป์จะเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ และพยายามผลิตสื่อความรู้ต่าง ๆ ออกมาเพื่อตอบรับกับสถานการณ์ แต่สำหรับแชมป์แล้ว มันกลับรู้สึกมีอะไรบางอย่างขาดหายไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็คือ “ประชาธิปไตยในที่ทำงาน”

“การเคลื่อนไหวของม็อบครั้งนี้เราอาจจะได้ประชาธิปไตย แต่เราก็ต้องกลับไปเจอสภาพการทำงานที่เป็นเผด็จการเหมือนเดิม ลองเปรียบเทียบดูว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่างรัฐธรรมนูญออกกฎหมายโดยคนไม่กี่คนมาบังคับใช้กับคน 60 ล้านคน ในขณะที่บริษัทมีบอร์ดบริหารก็มีกันไม่กี่คนเหมือนกัน” แชมป์กล่าว

และเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจบอบช้ำและมีคนตกงานจำนวนมาก นายทุนพยายามเอารัดเอาเปรียบเท่าที่ทำได้ผ่านกระบวนการช่องทางต่างๆ ด้วยเหตุนี้ การมีประชาธิปไตยในที่ทำงานจึงเป็นเรื่องที่ยิ่งทวีความสำคัญ แชมป์จึงตกผลึกทางความคิด และร่วมกับสมัครพรรคพวกในการก่อตั้งสหภาพคนทำงานขึ้น

“เรื่องการเมือง ประชาธิปไตย เรื่องในที่ทำงาน และปากท้องมันคือเรื่องเดียวกัน เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ก็ถูกเลิกจ้าง และก็ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้รับเงินชดเชยที่ควรได้อีก…จึงได้มารู้จักพี่ๆ และรวมตัวกันเป็นสหภาพคนทำงานในที่สุด” แชมป์กล่าว

ไหม: “นี่คือจุดที่เราต้องออกมาต่อสู้”

ไหม ธนพร วิจันทร์ นักต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานมากกว่า 30 ปี และสมาชิกสหภาพคนทำงาน

หนึ่งในคนที่แชมป์รู้จักคือไหม

ธนพร วิจันทร์ หรือไหมเป็นประธานสหภาพแรงงานวัสดุก่อสร้างของโรงงานชื่อดังแห่งหนึ่งในสระบุรี และต่อสู้เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของแรงงานยาวนานเกือบ 30 ปี ตัวเธอเองเพิ่งถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมเช่นกันจากการระบาดของโควิด-19 และเป็นเพียงพนักงานคนเดียวที่เป็นประธานสหภาพแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง

เธอเล่าให้ฟังว่า เธอเริ่มทำงานในโรงงานตั้งแต่ปี 2535 ก่อนมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สภาพการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นระบบสายพานการผลิตที่กดขี่อย่างมาก แม้แต่การเข้าห้องน้ำก็ต้องเป็นเวลา มิหนำซ้ำยังถูกบังคับให้ทำงานเกินเวลาโดยไม่ได้รับเงินค่าทำงานล่วงเวลา และบริษัทก็มักจะอ้างว่า คุณต้องทำงานช่วยบริษัท

“เราทำงานได้ค่าแรงเพียงวันละ 70 บาท เราถูกกดขี่ค่อนข้างมาก เมื่อกดขี่มากเข้าๆ แรงงานเริ่มทนไม่ไหวจึงรวมตัวกันลุกขึ้นมาสู้นัดหยุดงาน (Strike) พร้อมกันสามโรงงานในปี 2538 แรงงานกว่า 5,000 คนตบเท้าเดินขบวนเข้ามาที่กระทรวงแรงงานในกรุงเทพ ฯ เรียกร้องขอเพิ่มค่าแรง” ไหมย้อนรำลึกอดีต

ไหมกล่าวว่าการต่อสู้เรียกร้องของแรงงานทำให้รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น จาก “เดิมทีทำงาน 6 วันได้ค่าจ้างเฉพาะวันทำงาน” กลายเป็น “สวัสดิการในการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ให้หยุดเสาร์-อาทิตย์” นอกจากนี้ การรวมตัวกันของสหภาพแรงงานหลายบริษัทยังทำให้จากเดิมให้ค่าแรงเป็นรายวัน เปลี่ยนเป็นให้ค่าแรงเป็นรายเดือน

“สหภาพแรงงานเราเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้บริษัทจ้างเราเป็นรายเดือน แม้ว่าเราจะทำงาน 20 วันคุณก็ต้องจ้างเราเต็มเดือน นี่คือดอกผลของการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน” ไหมกล่าว

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของขบวนการแรงงานเริ่มชะงักงัน เมื่อประเทศไทยเริ่มเผชิญวิกฤติการทางการเมืองในช่วงปลายรัชกาลที่ 9 ประกอบความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิต ที่ส่งผลให้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับเดิมไม่ตอบโจทย์กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป  

“หลังจากนั้นแกนนำสหภาพก็ถูกกดดันและคุกคามอย่างหนัก” ไหมกล่าว “ประกอบกับการมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาทำให้หลายคนถูกเลิกจ้าง กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ก็ล้าหลังปรับตัวไม่ทันกับยุคสมัยใหม่ไม่สามารถดูแลลูกจ้างได้ครอบคลุมหลากหลาย”

“นี่คือจุดที่เราต้องออกมาต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน” ไหมกล่าว

สุภาพ หริม ฯ: ยกระดับวงการภาพยนตร์ด้วยคนทำงาน

นอกจากแชมป์และไหมแล้ว คุณสุภาพ หริม ฯ ก็อยู่ในสหภาพคนทำงานด้วย

สุภาพ หริมฯ เป็นคนทำงานในแวดวงธุรกิจสื่อและอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาอย่างยาวนาน หลายคนอาจจะรู้จักเขาในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร Bioscope นิตยสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ลึกและเข้มข้นในเนื้อหา แม้ปัจจุบันเลิกผลิตไปแล้ว แต่สุภาพยังคงเป็นผู้มีความใฝ่ฝันอยากเห็นวงการภาพยนตร์ไทยก้าวหน้า ปราศจากการผูกขาดโดยนายทุนรายใหญ่ และคนทำงานในวงการภาพยนตร์มีคุณภาพชีวิตที่ดี

สุภาพเล่าว่า ที่ผ่านมามีโอกาสได้เจอผู้คนเยอะแยะมากมาย แต่ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนเหล่านี้เข้ามาสู่ระบบแล้วต้องจากออกไป เนื่องจากไม่สามารถอยู่ต่อในวงการนี้ได้ ในช่วงแรกสุภาพก็คิดว่าระบบที่มีอยู่จะสามารถช่วยยกระดับวงการภาพยนตร์ได้ แต่เมื่อรู้แล้วว่าหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ สุภาพจึงเริ่มตระหนักว่าสิ่งที่จะขับเคลื่อนวงการนี้ได้คือการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเพื่อคนทำงาน

สุภาพ หริมฯ ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร Bioscope คนทำงานในแวดวงธุรกิจสื่อและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และสมาชิกสหภาพคนทำงาน

สำหรับภาพฝันในใจของสุภาพคืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา ที่มีสหภาพแรงงานหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็น สหภาพคนเขียนบท สหภาพนักแสดง สหภาพผู้กำกับ หรือสหภาพคนตัดต่อ สหภาพเหล่านี้เป็นตัวแสดงที่สำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมให้คนทำงานมีความกินดีอยู่ดีและผลงานมีคุณภาพ

“มันมีสหภาพแรงงานที่เป็นวิชาชีพของตัวเองที่ดูแลคนทำงานอย่างดีซึ่งมันสัมพันธ์กับองค์กรภาครัฐ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม เช่น Motion Picture of American (MPAA) เป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องโรงภาพยนตร์และจัดเรตติงภาพยนตร์ คุณจะไม่สามารถเอาภาพยนตร์ที่ยังไม่ผ่านตราประทับจากองค์กรนี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ปกติที่เป็นสมาชิกของ MPAA ได้ และเงื่อนไขสำคัญคือภาพยนตร์ที่จะได้รับตราประทับนี้จะต้องเป็นภาพยนตร์ที่ทำงานโดยคนในสหภาพแรงงาน และมีข้อกำหนดที่คุ้มครองคนทำงานในอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน” สุภาพกล่าว

พวกเราทุกคนล้วนเป็นแรงงาน

ระหว่างสนทนากัน สมาชิกสหภาพคนทำงานทั้ง 3 ท่าน มาชวนเราทำความเข้าใจนิยามของแรงงานใหม่ว่าแรงงานคือทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในสังคม กิจวัตรของเราในแต่ละวันล้วนเป็นงานทั้งสิ้น ไล่ตั้งแต่ระดับย่อยไปจนถึงระดับประเทศทั้งหมด ต่อให้คุณเลี้ยงลูกอยู่บ้าน คุณก็เป็นแรงงานเหมือนกัน อาชีพทุกอย่างเท่าที่นึกชื่อได้ล้วนก็เป็นแรงงานเหมือนกันทั้งสิ้น 

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าคนที่แบกรับความเสี่ยงในระบบทุนนิยมคือ ผู้ประกอบการ หรือนายทุน แท้จริงแล้วคนที่เสี่ยงที่สุดคือคนทำงาน นอกจากนี้ ยังมีมายาคติอีกหลายอย่างในสังคมที่ทำให้แรงงานไม่ได้รับสิทธิที่ควรได้

“เราคือคนที่โดนกดขี่มากที่สุด ขูดรีดค่าจ้างให้ต่ำมีชีวิตเพื่อทำงานโดยที่ไม่มีความมั่นคงในชีวิตใดๆ ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกันทำลายมายาคติในวัฒนธรรมทุนนิยมที่ให้คุณค่ากับผู้ประกอบการ นายทุน หรือคน 1% มากเกินไป” แชมป์กล่าว

แชมป์บอกกับเราต่อว่า “นอกจากนี้ระบบทุนนิยมมาพร้อมกับการเมืองอัตลักษณ์ (Identity Politcs) ที่แบ่งเราด้วยชื่ออาชีพ แบ่งเราด้วยอัตลักษณ์เช่น หมอ วินมอเตอร์ไซค์ ชนชั้นกลาง LGBTQ+ ทุนนิยมทำให้เราไม่ใช่พวกเดียวกัน และทำให้คนที่อยู่ในนิยามแรงงานแบบเดิมมองโลกอีกแบบกับคนที่เป็นแรงงาน แต่ไม่รู้ตัวว่าเป็นแรงงาน”

สุภาพเสริมว่าหากใครติดตามข่าวสารในวงการภาพยนตร์ สารคดี Where to invade next ของไมเคิล มัวร์สามารถทำให้เห็นแนวคิดว่าพวกเราทุกคนล้วนเป็นแรงงานได้อย่างดี

“ตอน Doc Club เอาภาพยนตร์เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการเรื่อง Where to invade next (สารคดีของไมเคิล มัวร์ คนทำหนังชาวอเมริกันที่ชวนไปสำรวจการจัดการด้านสังคมและเศรษฐกิจในประเทศแถบยุโรปเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา) มาฉาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่าใครบ้างคือคนทำงาน รัฐดูแลคนทำงานอย่างไร อะไรบ้างที่เขาใส่ใจคนทำงาน เพราะคนทำงานคือคนที่สร้างระบบเศรษฐกิจให้กับประเทศ” สุภาพกล่าว

“ตัวอย่างเช่นแม่เมื่อมีลูก ลูกก็คือแรงงานในอนาคต ลูกคือคนที่จะได้รับการดูแลขั้นพื้นฐานจากรัฐเพื่อให้เป็นแรงงานที่จะไปสร้างเศรษฐกิจในนอนาคต ดังนั้นแม่คือเรี่ยวแรงของรัฐที่ดูแลแรงงานที่จะเติบโตไปในอนาคต ดังนั้นแม่ก็คือแรงงาน แต่สังคมไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญ เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาก็ต้องมองว่าเด็กจะต้องได้รับอะไรบ้างเพื่อที่จะโตไปเป็นแรงงานที่มีคุณภาพในอนาคต” สุภาพกล่าว

นอกจากนี้ การส่งเสริมสหภาพแรงงานให้มีความเข้มแข็งยังเป็นแหล่งที่มาสำคัญของนวัตกรรมใหม่ ๆ และการทำงานหนักด้วย ตามความเห็นของสุภาพ การมีรัฐสวัสดิการไม่ได้ทำให้ประชาชนขี้เกียจอย่างที่คนชอบเถียงกัน:

“ถ้าคุณเลือกที่จะไม่ได้เป็นแรงงานตามที่รัฐคาดหวังหรืออยู่ในระบบ อย่างน้อยคุณเป็นคนที่มีคุณภาพ รัฐก็ยังดูแลคุณอยู่ นี่คือพื้นฐานที่มนุษย์คนพึงได้รับ ถ้าหากเรียนจบเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่อยากเป็นพนักงานประจำในบริษัท อยากเป็นนวัตกรก็สามารถเป็นได้ ซึ่งนวัตกรเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เพราะโอกาสในความสำเร็จมันน้อยมาก แต่เมื่อคุณพลาดร่วงลงมาก็มีเบาะที่รัฐรองรับอยู่ เขาอาจจะไปเป็นแรงงานในแบบนี้ในอนาคต” สุภาพกล่าว

 “ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยทำงานหรือไม่ ทุกคนคือแรงงาน คนไม่ทำงานก็คือแรงงาน สิ่งที่อยากเห็นคือการรวมตัวกันของคนทำงานกันในแบบต่างๆ ที่เห็นว่าตัวเองสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้โดยมีรัฐเป็นส่วนที่มาสนับสนุน เมื่อเกิดสหภาพแรงงานที่รวมตัวกันแล้ว รัฐมีหน้าที่ออกกฎหมายให้คนเหล่านี้สามารถเรียกร้องในสิ่งที่ตนต้องการ เพื่อให้แรงงานที่เขามีอยู่และรวมตัวเกิดประสิทธิผลในการทำงานที่ดีที่สุด ปัจจุบันกฎหมายที่มีอยู่กลับตัดแขนตัดขาเราทำให้เราอ่อนแอมากขึ้น” สุภาพกล่าว

ก้าวแรกสู่การต่อสู้กับนายทุน 1%

หลังจากอธิบายว่าเหตุใดพวกเราทุกคนคือแรงงาน แชมป์ก็เริ่มเปิดประเด็นใหม่ทันทีเพื่อสะท้อนปัญหาสงครามทางชนชั้นที่ริเริ่มโดยนายทุน

“ปัจจุบันเรามีสหภาพที่แข็งแกร่งมากในประเทศคือ สหภาพคนรวยที่รวมตัวเหนียวแน่นมายาวนานเป็นเพียงแค่คน 1% ในประเทศ แต่คนทำงานอย่างเราๆ คือคน 99% เป็นกลุ่มคนที่มากที่สุดในประเทศกลับอ่อนแอ” แชมป์กล่าว

แชมป์เล่าต่อว่า เมื่อนายทุนได้กำไร กำไรทั้งหมดตกเป็นของนายทุน แต่เมื่อขาดทุน ภาระทั้งหมดกลับตกอยู่กับแรงงาน เช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วตอนวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุงในปี 2540 คำถามคือทำไมคนทำงานถึงสู้เขาไม่ได้ ทั้งที่เรามีคนมากกว่าถึง 99 เท่า

สำหรับแชมป์แล้ว คำตอบคือเป็นเพราะ “เราไม่รู้ตัวว่าเราคือพวกเดียวกัน”

“เราคือคนที่ประสบชะตาเดียวกัน ที่เราต้องอยู่ในสภาพแบบนี้ก็เพราะนายทุนกดขี่เรา เราถูกทำให้ไม่รู้เรื่องนี้ แล้วเราก็ถูกหลอกว่าเราจะรอด” แชมป์กล่าว

หากจะเริ่มลุกขึ้นสู้กับนายทุน 1% สำหรับแชมป์แล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเลิกสรรเสริญนายทุนอย่างผิดๆ และหันกลับมาให้ความสนใจกับการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองของแรงงาน “มีคนบอกว่าคนรวยคือผู้มีพระคุณ อยากชวนให้มองใหม่ พวกเราต่างหากคือผู้มีพระคุณ … เราสร้างของมูลค่า 100,000 บาท นายทุนเอาไป 80,000 บาท เราต่างหากคือผู้มีพระคุณ” แชมป์กล่าว

“เราต้องหันกลับมามองว่า พวกเราคนทำงานต่างหากคือ คนที่รับความเสี่ยงที่สุด พวกเราต่างหาก คน 99% คือคนที่สำคัญที่สุด หากคนทำงานหยุดประเทศก็หยุดเดิน ไปต่อไม่ได้ แต่คน 1% หยุดประเทศยังไปต่อได้ พวกเราคือกลุ่มคนที่มีความหมาย พวกเราเป็นคนที่สำคัญที่สุดในประเทศนี้ สิ่งที่จะทำให้เราสู้กับคน 1 % ได้คือการรู้ก่อนว่า เราคือพวกเดียวกันและต้องรวมตัวกัน”

สุภาพกล่าวเสริมว่า “เราต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ว่า แท้จริงแล้วคน 1% กลัวคน 99% เพราะอะไร ? เพราะพวกเขากลัวการรวมตัวของคน 99% ถึงพยายามแบ่งแยกและปกครองพวกเรา หาวิธีแยกกลุ่มคนออกจากกัน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจก็ไปอยู่รัฐวิสาหกิจ เมื่อก่อนรัฐวิสาหกิจกับเอกชนรวมกลุ่มกัน … หากเราคิดใหม่และทบทวน นี่คือสิ่งที่เขากลัว ซึ่งหากทำได้เราชนะเขาแน่นอน”

“ถ้าสมาชิกสหภาพแรงงานรวมตัวกันได้มาก คุณอยากได้นกก็ได้นก คุณอยากได้ดาวก็ได้ดาว แบบนี้ยังไงเราก็ชนะ ประเด็นคือเราจะเปลี่ยนวิธีคิดที่เขาใช้วาทกรรมหลอกลวงพวกเรามายาวนาน มันต้องคิดใหม่ ไม่ใช่รู้ว่าเขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก ต้องลอง เปลี่ยนลองไม่ฟังเขาดูว่าคุณภาพชีวิตเรามันจะดีขึ้นไหม”

ความใฝ่ฝันหาใช่เรื่องห่างไกล

การสร้างสหภาพในประเทศไทยให้เข้มแข็งเป็นสิ่งเป็นไปได้ เพราะไทยเคยมีสหภาพเข้มแข็งมาก่อน และในต่างประเทศก็มีกรณีจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน

แชมป์เปรียบเทียบเสถียรภาพของสหภาพแรงงานในไทยและต่างประเทศให้ฟังว่า

“ในยุโรปเหนือ 60% ของประชากรเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน  ในขณะที่ประเทศไทยประชากรเพียง 1.6% เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เราเป็นประเทศที่มีอัตราคนที่เป็นสมาชิกสหภาพแทบจะน้อยที่สุดในโลก มันสะท้อนให้เราเห็นว่าประเทศที่ประชากร 60% เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้รับสวัสดิการที่ดี แล้วประเทศไทยที่มีสมาชิกเพียง 1.6% ของประชากรได้ประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก เพราะเราไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ กับรัฐและทุนเลย”

“ประชากร 60% ที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทรงพลังถึงขนาดที่รัฐต้องยอมสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ เพราะมันให้ประโยชน์กับคนส่วนใหญ่มากกว่า นี่เป็นผลมาจากการรวมตัวต่อรองกันในระดับประเทศ” แชมป์กล่าว

ธนพรเสริมต่อทันทีว่า “จริงๆ แล้วคนทำงานถูกกดขี่ทุกที่ไม่ว่าจะอยู่ชาติไหน พี่น้องในประเทศสหรัฐอเมริกายังมีการละเมิดสิทธิแรงงานอยู่มาก มันมีการกดขี่ทุกที่แหละ แต่เขามีเกราะคุ้มกัน และมีกฎหมายคอยคุ้มครองเขา แต่ของเรามันแทบไม่มีเลย เราจะเห็นในประเทศฝรั่งเศสเวลาเขาจะแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานที คนจะออกมาประท้วงกันเป็นล้าน รัฐจึงต้องยอมรับยอมทำตาม ทีนี้ถ้าเราคิดว่าการแก้ไขกฎหมายอะไรสักเรื่องที่เกี่ยวกับประชาชน คนต้องออกมารวมตัวส่งเสริมให้พวกเขาได้ยิน แต่ประเทศเรามันแทบออกมาไม่ได้ด้วยกฎหมายต่างๆ ขัดขวางเราทุกวิถีทาง” 

อันที่จริง ในความเห็นของแชมป์ ความพ่ายแพ้ของแรงงานในไทยเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปีมานี้เอง และชัยชนะของแรงงานไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด เพราะมันเคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทยอย่างน้อย 4 ครั้ง และครั้งหนึ่งเคยนำไปสู่การโค่นล้มระบอบเผด็จการด้วย

 “ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 ขบวนการนักศึกษาสมัยนั้นร่วมกับขบวนการแรงงานและขบวนการชาวนา เมื่อต่อสู้ชนะแล้วประชาธิปไตยเบ่งบาน พวกชนชั้นนำซึ่งทะเลาะกับจอมพลถนอม กิติขจรจึงเห็นด้วยกับนักศึกษาแล้วบอกนักศึกษาให้กลับไปเรียน นักศึกษาไม่กลับ  นักศึกษาบอกว่าปัญหายังมีอีกเยอะที่ต้องแก้ไข ก็เลยไปทำงานจัดตั้งหนักขึ้น เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแรงงาน อยากจะเล่าตัวอย่าง 3 กรณีที่ต่อสู้จนสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

กรณีแรกคือ การประท้วงขอขึ้นค่าแรงพนักงานในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจคนนับหมื่นออกมาประท้วงหยุดงานขอขึ้นค่าแรงจาก 16 บาท เป็น 25 บาท ซึ่งได้รับชัยชนะ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนทั้งประเทศค่าแรงขั้นต่ำจาก 16 บาทเป็น 25 บาท เหมือนตอนนี้ 300 บาท เป็น 450 บาท โดยที่ไม่ต้องรอนักการเมืองหรือใครมาช่วย หากเรามีองค์กรที่มันเหนียวแน่น นี่คือความสำเร็จของขบวนการแรงงานในอดีต

กรณีที่สองคือ พนักงานโรงแรงดุสิตนัดหยุดงานประท้วง 23 วัน กลายเป็นแรงบันดาลใจให้พนักงานโรงแรมอื่นๆ ทำตาม เช่นเดียวกับโรงแรมสยามคอนติเนนตัล พนักงานโดนกดขี่จากคณะผู้บริหาร มีการไล่พนักงานออกด้วยเหตุผลจากการเอาบุหรี่ทัดหู หลังจากนั้นมีการบอกให้โรงแรมทั้งกรุงเทพฯ ปฏิเสธงานพนักงานคนนี้ จึงเป็นชนวนนำไปสู่การนัดหยุดงานเรียกร้องทั้งเรื่องค่าแรง และเรียกร้องให้ปลดผู้บริหารออก ที่สำคัญคือพวกเขาชนะ ชัยชนะนี้เป็นเพียงการรวมตัวประท้วงในระดับอุตสาหกรรมเดียวกัน ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ถึงขนาดนี้ 

ต่อมากรณีสุดท้ายในระดับประเทศช่วงปี 2518 รัฐบาลกำลังจะขึ้นราคาข้าว ชาวนาผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติกลับไม่ได้รับประโยชน์ คนที่ได้ประโยชน์กลับเป็นพ่อค้าคนกลาง และนายทุน ชาวนาจึงทำการนัดหยุดงานทั่วประเทศพร้อมกันแค่ไม่กี่วัน รัฐบาลต้องยอมนั่งเซ็นเอกสารข้างๆ ผู้นำแรงงาน เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก” 

สำหรับชัยชนะ 3-4 ครั้งดังกล่าว แชมป์ตั้งข้อสังเกตุว่าการนัดหยุดงานทั้งประเทศ (General Strike) เป็นปัจจัยที่ทำให้การต่อสู้แรงงานประสบความสำเร็จ การนัดหยุดงานทั้งประเทศทำให้เมืองกลายเป็นอัมพาต และเนื่องจากไม่มีใครทำงานให้นายทุน ระบบก็ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ นายทุนจึงต้องยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของแรงงานในที่สุด  

“นี่คือการยกตัวอย่างว่า มันเคยมีแสงยานุภาพขนาดนั้น มันจึงเป็นโมเดลที่ว่าเมื่อเรารู้ว่าเราเป็นพวกเดียวกัน มันสามารถทำแบบนั้นได้ในอนาคต หากเราอยากโค่นเผด็จการ ถ้าเรารวมตัวกันสู้ เราก็โค่นเผด็จการได้” แชมป์กล่าวอย่างหนักแน่น 

สำหรับภารกิจที่สำคัญเพื่อนำไปสู่การนัดหยุดงานครั้งใหญ่นั้น สำหรับแชมป์แล้ว การเปิดฉากต่อสู้ในแนวรบด้านวัฒนธรรมถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

“แม้ว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาเราจะชนะในทางวัฒนธรรมสังคม แต่วัฒนธรรมทางเศรษฐกิจ เรายังคงเป็นทุนนิยมอยู่ จะเห็นได้จากตัวอย่างของแรงงานไรเดอร์รถล้ม คนส่วนใหญ่จะด่าไรเดอร์เป็นอันดับแรกว่าขับรถเร็วบ้าง ประมาทบ้าง และยังเห็นอกเห็นใจบริษัทแพลตฟอร์มบอกว่าบริษัทเขายังขาดทุนอยู่เลย เขาจะเอาอะไรมาให้คุณ ทุกคนมาเข้าใจหัวอกนายทุนหมดเลย ทั้งๆ ที่เราไม่ใช่นายทุน เราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพิ่มประชาธิปไตยในที่ทำงานให้มากขึ้นด้วย”

“พวกเราคือคนที่สำคัญที่สุด เพราะว่า คน 1% หยุดงานเท่าไหร่ก็ได้จะหยุดเป็นเดือนเป็นปียังได้ แต่เราหยุดไม่ได้เพราะ ถ้าเราหยุดไม่มีจะกินแล้ว เราหยุดไม่ได้เพราะ ถ้าเราหยุดบริษัทมันไปไม่ได้ ประเทศมันไปไม่ได้ นี่ความจริงที่ทุกคนรู้ว่าพวกเราคนทำงานคือคนที่สำคัญที่สุด พอคน 1% หยุดประเทศมันไม่เป็นอะไรเลย แต่เราทำได้ ถ้าเราหยุด ประเทศก็หยุด เราจึงสำคัญที่สุด อันนี้อยากจะชวนให้ทบทวนว่าเราคือพวกเดียวกัน แล้วเรามารวมตัวกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงฝ่ายประชาธิปไตย ถ้าคุณอยากม็อบให้ชนะ ต้องเข้าสหภาพ” แชมป์ กล่าว

ธนพรเสริมตอนท้ายว่า “เรามองไปในอนาคต เราต้องเข้าสู่อำนาจรัฐ เราต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นของคนทำงานจริงๆ ให้ตัวแทนของคน 99% เข้าไปจัดการบริหารงบประมาณเพื่อคน 99% ให้กับคนทุกกลุ่มได้มีความมั่นคงชีวิตอย่างเท่าเทียมกันทุกคน”

สู่โลกใบใหม่: รัฐสวัสดิการและสิทธิมนุษยชน

การบอกว่าทุกคนเป็นแรงงาน การต่อสู้แนวรบทางวัฒนธรรม การนัดหยุดงานครั้งใหญ่ และการเข้าสู่อำนาจรัฐ ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่เป้าหมายอะไร ?

หากถามถึงภาพในใจ แชมป์ตอบว่าสิ่งที่อยากได้จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่อะไรอื่นไกลนอกจากสิ่งที่เรียกว่า “รัฐสวัสดิการ” และ “สิทธิมนุษยชน”

“ปลายทางที่เราอยากเห็นคือรัฐสวัสดิการ สหภาพแรงงานคือเครื่องมือหนึ่งที่จะได้มาซึ่งรัฐสวัสดิการ แต่ก่อนที่เราจะได้รัฐสวัสดิการนั้นเราต้องโค่นเผด็จการให้ได้ก่อน สหภาพคนทำงานจะมาเป็นคำตอบของการโค่นเผด็จการ ถ้าเรารวมตัวกันได้ในระดับชาติไม่ว่าจะเผด็จการคนไหน นายทุนหน้าไหนก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้อีกแล้ว หรืออย่างน้อยที่สุดก็คานอำนาจไม่ให้แย่ไปกว่านี้อีกแล้ว”

แชมป์เล่าถึงความฝันอย่างรัฐสวัสดิการต่อว่า “อย่างน้อยเราเป็นให้ได้อย่างยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือที่ทำงาน 4 วันหรือ 3 วันก็ได้ ตอนนี้รัฐกำหนดให้เราทำงาน 6 วันโดยถูกกฎหมาย 8 ชั่วโมงต่อวัน จริงๆ แล้วก็อยากให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่มันสมศักดิ์ศรีกับความเป็นมนุษย์ในปี 2021 ที่ดีด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่ามีอย่างเดียว แต่ต้องมีคุณภาพด้วย”

เมื่อเกิดรัฐสวัสดิการ แชมป์มั่นใจว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการขยับขยายความหมายของ “สิทธิมนุษยชน”

“ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ทั้งหมดมันเป็นสิทธิมนุษยชนที่เราควรได้รับ เราควรทำให้สิทธิมนุษยชนมันขยายเข้าไปอีก ไม่ใช่แค่เสรีภาพในการพูด แต่มันคือปัจจัย 4 การมีชีวิตอยู่อย่างเป็นมนุษย์ที่สมศักดิ์ศรี ทรัพยากรที่ถูกกระจาย มีความเป็นประชาธิปไตยสูงในทุกภาคส่วน ไม่มีใครขโมยอำนาจของทุกคนไป นี่คือสังคมในฝัน เศรษฐกิจเป็นประชาธิปไตย เป็นการร่วมมือกัน เป็นสหกรณ์ให้หมด จะได้ไม่มีใครที่ขโมยมูลค่าของคนอื่นไปได้”

สำหรับธนพรคำอุดมคติอย่าง “รัฐสวัสดิการ” และ “สิทธิมนุษยชน” ไม่ใช่สิ่งอื่นไกล แต่เป็นเรื่องราวของทุกคนในชีวิตประจำวัน

“คนมีความสุข ชีวิตมั่นคงไม่ต้องคิดว่าพรุ่งนี้เช้า ฉันจะมีเงินให้ลูกไปโรงเรียนไหม ฉันจะมีเงินจ่ายค่าเช่าที่นาหรือเปล่า ฉันจะมีเงินค่าเทอมลูกไหม นี่คือสังคมที่เราอยากได้” ธนพรกล่าว

“ถ้าเราลองมาคิดดูว่าที่ดินในประเทศเราเยอะแยะมากมาย แต่ทำไมคนไปอยู่ในสลัม ที่ดินที่ว่างเปล่าอีกเยอะกับคนที่ไปอยู่ในสลัมแคบๆ ทำไมเราไม่แบ่งตรงนั้นมาให้เขามีที่ทำกินมีที่อยู่อาศัยที่มันมีคุณภาพ”

“จริงๆ ทรัพยากรในประเทศของเรามันก็มีเยอะ แต่มันไปกระจุกกับคนแค่ 1% เราอยากเข้าไปเปลี่ยนทรัพยากรในประเทศของเรา ที่ดินที่มันไปกระจุกอยู่กับกลุ่มคน 1% เราควรจะจัดสรรมาให้คน 99% มีที่ทำกิน สุดท้ายถ้าคนมีที่ทำกินมีที่อยู่อาศัยมีรายได้มันก็ทำให้ประเทศของเราเดินต่อไปได้”

“เรามีความฝันว่าเรามาตั้งสหภาพคนทำงาน อยากเห็นสังคมมันเปลี่ยน แม้มันจะใช้เวลานาน แต่มันก็ต้องเริ่ม ถ้าเราคิดว่ามันเป็นไม่ได้มันก็จบแล้ว” ธนพรกล่าว

ในช่วงท้ายของการสนทนา สุภาพหยิบยกภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่เขาชอบมาเล่าเป็นอุทาหรณ์เตือนใจ

“ผมเพิ่งดูหนังเรื่อง White tiger หนังอินเดีย ผมชอบมากเลย มันบอกว่าคนอินเดียเหมือนไก่ที่อยู่ในสุ่ม ตะเกียกตะกายกันขึ้นมา เหยียบกันขึ้นมา เพราะคิดว่าตัวเองรอดแล้ว แต่จริงๆแล้วไม่รอดหรอกเพราะมันยังอยู่ในสุ่ม ก็เหมือนกับคนไทยที่คิดว่าตัวเองรอด แต่จริงๆ แล้วไม่รอด” สุภาพกล่าว

“สังคมไทยปลูกฝังให้เชื่อเรื่องบุญเรื่องกรรม คนรวยคือ คนที่เขาทำบุญมาเยอะ เราคือทำกรรมไว้เยอะ แต่จริงๆ แล้วกรรมอะไรแบบนั้นมันไม่มีอยู่จริงหรอก กรรมมันมีแต่การกระทำเท่านั้น หากคุณเชื่อในการกระทำ คุณต้องลงมือทำ แล้วคุณจะเปลี่ยนมันได้ หากคุณเชื่อเรื่องบุญกรรม คุณก็อยู่ตรงนี้แหละไม่ไปไหนเสียที” สุภาพกล่าวเสริม

เมื่อขอให้ขอทิ้งท้าย ธนพรกล่าวว่า ”อยากจะให้พี่น้องประชาชนคนทำงานทุกกลุ่มในภาคต่าง ๆ ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ เราต้องมาทำงานร่วมกัน มารวมกันเถอะ แล้วเราเชื่อมั่นว่าถ้าเราออกมาครบ 1 ล้าน 2 ล้านคน เราจะมีรัฐสวัสดิการได้”

หากใครอ่านเรื่องราวของทั้งสามคนจบแล้วมีความฝันร่วมกันกับทั้งสามคน เชื่อในประชาธิปไตยของการทำงาน เชื่อในพลังของคน 99% ที่ขับเคลื่อนประเทศนี้จริงๆ และรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพคนทำงาน มาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เท่าเทียม สมัครเป็นสมาชิกกับสหภาพคนทำงานได้ ที่นี่ หรือติดตามความเคลื่อนไหวของสหภาพคนทำงานได้ที่ Facebook Page : สหภาพคนทำงาน Workers’ Union

Author

วรยุทธ มูลเสริฐ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานรณรงค์ทางความคิด คณะก้าวหน้า ผู้สนใจการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมทางการเมือง มีความสนใจด้านทฤษฎีการเมือง ประวัติศาสตร์ และมานุษยวิทยา