บางจินตนาการในวรรณกรรมดิสโทเปียดูเป็นไปไม่ได้ แต่กลับเป็นเหมือนกระจกวิเศษสะท้อนภาพสุดโต่งของสังคมปัจจุบันที่เราอยู่ บางเรื่องเป็นดั่งคำทำนายที่จะมาถึงแน่นอน แม้จะเกิดขึ้นในอนาคตอันยาวไกล

วรรณกรรมดิสโทเปีย พูดถึงสังคมในอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยไปในทางที่เลวร้าย เรื่องราวแขนงนี้เป็นที่นิยมและถูกแปลงจากงานเขียนไปสู่การ์ตูนมังงะ ละครเวที ภาพยนตร์ ซีรีย์ ฯลฯ ตลอด 100 กว่าปีที่ผ่านมา เพราะเสน่ห์ของวรรณกรรมดิสโทเปีย คือการฝันถึงอนาคตอันเลวร้ายที่สุดที่มนุษยชาติมีร่วมกัน และความฝันอันเลวร้ายเหล่านี้ก็สร้างข้อถกเถียงอันเผ็ดร้อนแหลมคมถึงความเป็นไปได้ของโลกอนาคตอันใกล้

สิ่งที่รบกวนใจผู้อ่านที่สุด คือลึกๆ แล้วเราก็รู้ว่าเรื่องราวเลวร้ายเหล่านั้นมีโอกาสจะเกิดขึ้นจริง 

Common School จะพาย้อนไปดูเรื่องราววรรณกรรมและภาพยนตร์จากศตวรรษก่อนที่กลับกลายเป็นจริงขึ้นมาเสียแล้วในปัจจุบัน 

  • Minority Report : จับกุมอาชญากรที่ยังไม่ได้ก่ออาชญากรรม
  • Do Androids Dream of Electric Sheep? : บริการทางเพศกับหุ่นยนต์
  • My Flamboyant Grandson : บริโภคนิยมกับ Personalized Advertising
  • 1984 : การสอดส่องตรวจตรามวลชน

ถ้าย้อนกลับไปเล่าให้ใครฟังว่าเรื่องเหล่านั้นจะเป็นจริง คงมีแต่เสียงหัวร่อด้วยความขบขัน 

เรื่องราวดิสโทเปียได้เกิดขึ้นจริงแล้ว ขอเชิญพบกับฝันร้าย ที่คุณไม่มีทางตื่นจากมัน!

จับกุมอาชญากรที่ยังไม่ได้ก่ออาชญากรรม

Minority Report (หน่วยสกัดอาชญากรรมล่าอนาคต) 

กำกับ:  สตีเฟ่น สปีลเบิร์ก

ออกฉาย: 2002, สหรัฐอเมริกา

Minority Report คือภาพยนตร์ไซไฟดิสโทเปียของพ่อมดแห่งฮอลลีวู้ด ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ ฟิลิปส์ เค ดิ๊ก เรื่องราวเริ่มต้นใน ค.ศ.2054 อาชญากรรมร้ายแรงในรัฐวอชิงตัน ดี.ซี. ลดลงเป็นอย่างมาก เพราะแผนกสกัดอาชญากรรม (Pre-Crime Department) ของกรมตำรวจมีเครื่องมือทำนายอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ ผู้ต้องหาถูกจับกุมและลงโทษก่อนจะก่อเหตุร้าย แต่ไม่เคยมีใครสงสัยในความถูกต้องแม่นยำของพรี-ค็อกส์ (Pre-Cogs) สิ่งมีชีวิตคล้ายมนุษย์ที่มีญาณพิเศษบอกเหตุฆาตกรรมล่วงหน้านี้

จนกระทั่งพรี-ค็อกส์ทำนายว่า จอห์น แอนเดอร์ตัน (ทอม ครูซ) หัวหน้าแผนกสกัดอาชญกรรม กำลังจะก่อเหตุฆาตกรรมในอีก 36 ชั่วโมง แอนเดอร์ตันจึงต้องหลบหนี สืบหาความจริง และพยายามพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองว่าพรี-ค็อกส์เป็นระบบที่น่าเชื่อถือจริงหรือไม่ ในโลกไฮเทคที่เทคโนโลยีจับตาเขาอยู่ทุกฝีก้าว 

ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีใน Minority Report กลายเป็นจริงขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไร้คนขับ การยืนยันตนด้วยใบหน้าและดวงตา บ้านที่ควบคุมสั่งการผ่านเสียง โฆษณาที่คุยกับเราโดยเฉพาะเจาะจง แต่เทคโนโลยีที่นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้านจริยธรรมมากที่สุดเห็นจะเป็นการพยากรณ์อาชญากรรม (Predictive Policing) ที่แม้ฟังดูแล้วจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการป้องกันความเสียหายล่วงหน้า แต่ก็เต็มไปด้วยคำถามต่อความชอบธรรมของการจับกุมผู้ที่ยังไม่ได้กระทำความผิดและอคติในการออกแบบเทคโนโลยี

แม้ Minority Report จะเตือนถึงความอันตรายของเทคโนโลยีนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2002 แต่ดูเหมือนว่าเทรนด์การพัฒนาเทคโนโลยีในงานอาชญากรรมจะไม่ได้ระแวดระวังปัญหานี้สักเท่าไหร่ มีความพยายามสร้างเทคโนโลยีพยากรณ์อาชญากรรม เช่น การใช้กล้องวงจรปิดสอดส่องพฤติกรรมการเดินของผู้คนเพื่อคาดเดาการก่ออาชญากรรม การตรวจตราคำค้นหาบนเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อยับยั้งการก่อการร้าย แต่ก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกากำลังแอบดูข้อมูลละเอียดอ่อนของเราอยู่ทุกวัน 

ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญกว่าพันคนในสหรัฐอเมริการ่วมกันลงชื่อถอดถอนงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่อ้างว่าสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ทำนายอาชญากรได้แม่นยำกว่า 80% จากใบหน้า ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่มีทางจะทำนายใบหน้าโดยปราศจากอคติทางชาติพันธุ์ได้ เพราะกระบวนการจับกุมและกระบวนการยุติธรรมในสหรัฐอเมริกานั้นล้วนเต็มไปด้วยอคติทางชาติพันธุ์ และเป็นการกระทำต่อชนกลุ่มน้อยในสังคมเสมอมา ดังนั้นการใช้วิทยาศาสตร์และปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ใบหน้าผู้มีแนวโน้มเป็นอาชญากรเช่นนี้ยิ่งตอกย้ำปัญหาของการเลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์หนักขึ้นไปอีก 

ถึงแม้แนวคิดเหล่านี้จะถูกปัดตก วิพากษ์วิจารณ์ หรือตรวจสอบอย่างเข้มข้น แต่ปัญหาจากการพยายามสร้างเครื่องมือพยากรณ์อาชญากรรมจะยังคงมีต่อไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นทุกวัน เราจะหาสมดุลระหว่างการป้องกันกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวได้อย่างไร หรือความยุติธรรมและเป็นกลางของเครื่องจักรจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันอีกยาวนาน

ซื้อขายบริการทางเพศกับหุ่นยนต์

Do Androids Dream of Electric Sheep? (หุ่นสังหาร)

ผู้เขียน: ฟิลิป เค ดิ๊ก

ตีพิมพ์: 1968, สหรัฐอเมริกา

นิยายดิสโทเปียนไซไฟระดับคัลต์คลาสสิค ที่ภายหลังก็กลายมาเป็นภาพยนตร์ชื่อดัง Blade Runner เล่าเรื่องราวโลกอนาคตในปี ค.ศ. 2021 (ปีนี้พอดิบพอดี) มนุษย์โลกตัดสินใจส่งประชากรบางส่วนไปสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร และผลิตสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาคล้ายกับมนุษย์ทุกอย่าง เพียงแต่แข็งแกร่งและฉลาดกว่า มีชื่อเรียกว่าเรพลิแคนท์ (Replicant) ทำงานเหมือนทาสให้มนุษย์บนอาณานิคมดาวอังคาร 

ความแตกต่างเดียวจากมนุษย์ของเรพลิแคนท์ คือ ไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เมื่อเรพลิแคนท์จำนวนหนึ่งบนดาวอังคารตัดสินใจก่อกบฎและอพยพลงมาหลบซ่อนตัวบนโลก จึงเป็นหน้าที่ของ ริค เดคการ์ด นายตำรวจที่ได้รับมอบหมายให้ทำการ ‘ปลดระวาง’ เรพลิแคนท์เหล่านั้น 

นิยายเรื่องนี้เต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำยุค ข้อถกเถียงทางปรัชญาและจริยธรรมเกี่ยวกับหุ่นยนต์ โดยเฉพาะคำถามที่ว่าเส้นแบ่งของหุ่นยนต์กับมนุษย์อยู่ตรงไหน 

อีกประเด็นหนึ่งที่สร้างข้อถกเถียงเป็นวงกว้างก็คือ เนื้อหาส่วนหนึ่งในนิยายมีการพูดถึงเรพลิแคนท์ที่ทำหน้าที่ให้บริการทางเพศ หรืออีกนัยหนึ่งคือหุ่นยนต์สนองกามารมณ์

หุ่นยนต์เซ็กส์ (Sex Robot) เป็นคอนเซ็ปต์ที่ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน และผ่านการถกเถียงหลายต่อหลายครั้งถึงจริยธรรมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม ฝ่ายที่สนับสนุนหุ่นยนต์เซ็กส์ให้เหตุผลว่าหุ่นยนต์เหล่านี้เหมือนกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สนองความพึงพอใจทางเพศอื่นๆ อีกทั้งหุ่นยนต์เซ็กส์จะช่วยเหลือผู้คนนับล้านที่ประสบปัญหาในความสัมพันธ์กับมนุษย์จริงๆ และจะเติมช่องว่างในชีวิตของประชากรเหล่านี้ได้ 

ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านหุ่นยนต์เซ็กส์ชี้ประเด็นทำให้มนุษย์โดยเฉพาะผู้หญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศโดยสมบูรณ์ ร่างกายของผู้หญิงถูกมองและถูกทำให้เป็นสินค้าในหลายลักษณะอยู่แล้ว หุ่นยนต์เซ็กส์เหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการตอกย้ำวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ อีกทั้งหุ่นยนต์เซ็กส์ที่สมจริงมากๆ ชวนให้คิดต่อว่าผู้ใช้งานจะปฏิบัติกับมนุษย์จริงๆ อย่างไรในสังคมข้างนอก รวมถึงถ้าหุ่นยนต์นั้นมีระบบความคิดตอบสนองและมีกระบวนการเรียนรู้ที่ซับซ้อน หุ่นยนต์เหล่านั้นจะได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเพศหรือไม่ 

อย่างไรก็ตามท่ามกลางการการถกเถียงอันร้อนแรง บริษัทจำนวนมากเริ่มผลิตโมเดลต้นแบบของหุ่นยนต์เซ็กส์ที่พูดคุย ตอบสนอง รวมถึงเลียนแบบการหายใจได้จริงๆ แม้จะยังไม่ใช่หุ่นยนต์ที่เดินได้ด้วยตัวเอง หรือต่อบทสนทนาจริงจังเช่นเดียวกันกับในนิยาย แต่ปรากฏการณ์นี้ก็ทำให้เราเห็นว่าเทคโนโลยีในปี 2021 ทำให้จินตนาการจากปี 1968 มีชีวิตจริงขึ้นมาอย่างน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึง 

บริโภคนิยมกับ Personalized Advertising

My Flamboyant Grandson 

ผู้เขียน: จอร์จ ซอนเดอร์ส

ตีพิมพ์: 2002, สหรัฐอเมริกา

ลองจินตนาการว่าคุณถูกบังคับให้ดูโฆษณาเพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์บางอย่างในชีวิต ถูกกีดกันการเข้าถึงบริการหากคุณไม่ยอมทิ้ง ‘ความเป็นส่วนตัว’ ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สูบเงินจากผู้คนดูสิ แค่จินตนาการถึงก็น่ากลัวแล้ว แต่เดี๋ยวก่อน อันที่จริงไม่ต้องจินตนาการก็ได้ เพราะคุณอยู่ในโลกใบนั้นมาหลายปีแล้ว! 

เรื่องสั้นดิสโทเปียเบาสมอง (แต่อาจหนักความรู้สึก) ผลงานของ จอร์จ ซอนเดอร์ส (George Saunders) นักเขียนชาวอเมริกาประจำ The New Yorker, GQ และ Harper’s เขาเป็นมือฉมังในการวิพากษ์สังคมอเมริกาด้วยเรื่องเล่าของคนธรรมดา มีจิตใจงดงาม ใช้ชีวิตในวันแสนสุขกับครอบครัว แล้วส่งพวกเขาไปเผชิญหน้ากับสังคมอันเลวร้าย เผด็จการทางวัฒนธรรม และกฎเกณฑ์อันไร้สาระแต่ทรงอำนาจ ภายใต้ฉากหลังของโลกดิสโทเปียที่ดูไม่เลวร้ายเท่าไหร่ แต่ก็ทำให้เห็นว่ากฎเกณฑ์ในโลกอันบิดเบี้ยวนั้นส่งผลเลวร้ายต่อผู้คนอย่างไร 

ใน My Flamboyant Grandson คุณปู่พาหลานชายที่มักถูกรังแกเป็นประจำไปดูละครเวทีเรื่องโปรดของเขาในเมือง ด้วยความขัดสนทางการเงิน คุณปู่ตัดสินใจใช้บัตรกำนัลลดราคาตั๋วเข้าชม ซึ่งมีเงื่อนไขว่าทั้งคู่ต้องเดินผ่านโถงทางเดินที่เต็มไปด้วยโฆษณาซึ่งปรับให้ตรงกับความสนใจของแต่ละบุคคล (Personalized Advertisement) ผ่านบาร์โค้ดที่ฝังอยู่ในรองเท้า ด้วยความกลัวว่าจะไปไม่ทันการแสดงและแผลรองเท้ากัด คุณปู่ตัดสินใจถอดรองเท้าและวิ่งออกจากโถงทางเดิน โฆษณาหยุดแสดง คุณปู่ฝ่าฝืนกฎการชมโฆษณาของทางการ หลังกลับจากการแสดง คุณปู่ได้รับจดหมายค่าปรับ 1,000 เหรียญจากการฝ่าฝืนกฎ แต่สามารถลดหย่อนโทษได้ ด้วยการนั่งรถโดยสาร 3 ชั่วโมงกลับเข้าเมือง เพื่อไปเดินที่โถงนั้น และชมโฆษณาที่เหลือให้จบ

แม้ในปี 2021 ยังไม่มีกฎหมายน่าขบขันอย่างการบังคับชมโฆษณา แต่ไม่ยากเลยที่จะสังเกตได้ว่าเราก็ถูกบังคับให้ดูโฆษณาเพื่อแลกอะไรบางอย่างอยู่ทุกวัน

วัฒนธรรมบริโภคนิยมอันบ้าคลั่งรอบตัวกัดกินสิทธิในการจะดำเนินชีวิตอย่างสงบบนรถไฟฟ้า ในลิฟต์ และในห้างสรรพสินค้า ทั้งหมดถูกแทนที่ด้วยเสียงโฆษณาที่ประเดประดังเข้ามาจากทุกทาง 

ข้อมูลในโลกดิจิทัลของเราถูกตรวจสอบและโฆษณาก็ป้อนเข้ามาบนมือถือ โดยอ้างอิงจากประวัติการค้นหาบนอินเตอร์เน็ตหรือแม้แต่การดักฟังบทสนทนาในชีวิตประจำวัน 

ซอนเดอร์สทำนายชีวิตอันเลวร้ายใต้โลกทุนนิยมของปุถุชนคนธรรมดาได้อย่างแสบสันต์ และคำทำนายที่เขียนขึ้นในวันที่อเมซอนยังเดินเตาะแตะ กูเกิลยังไม่กุมโลกอินเตอร์เน็ต และเฟซบุ๊กยังไม่ถือกำเนิดขึ้น กลับถูกต้องอย่างน่ากลัว โดยเฉพาะไอเดียของโฆษณาที่ ‘สื่อสาร’ กับคุณโดยจำเพาะเจาะจง 

Personalized Advertising ตกอยู่ในข้อพิพาทดุเดือดระหว่างแอปเปิ้ลและเฟซบุ๊กในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจาก iOS ของแอปเปิ้ลอัพเดทระบบปฏิบัติการให้ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะให้แพลตฟอร์มต่างๆ ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ใช้ได้หรือไม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านรายได้มหาศาลต่อเฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กโจมตีแอปเปิลว่ากำลังทำลายผู้ประกอบการรายย่อยนับล้านคนที่ได้ประโยชน์จากการติดตามข้อมูลผู้ใช้ดังกล่าวในการทำการตลาดและจำกัดเสรีภาพในการใช้อินเตอร์เน็ต ในขณะที่ ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิ้ล บอกว่าการหารายได้จากข้อมูลส่วนตัวและใช้ข้อมูลนั้นชักนำผู้คนต่างหากที่ทำลายเสรีภาพในความเป็นมนุษย์ การแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลโดยไม่มีตัวเลือกให้กับผู้ใช้งานเลยก็ไม่ควรได้รับการสรรเสิรญเยินยอ แต่ควรถูกประนามมากกว่า 

จากเทคโนโลยีสุดโก้เก๋ในนิยายไซไฟในอดีต ฉายภาพอันสะดวกสบายของอนาคต ณ ตอนนี้ ระบบ Personalized Advertising อาจเป็นเศษเสี้ยวจากโลกดิสโทเปียในจินตนาการ ที่จับต้องได้มากที่สุดก็เป็นได้ ที่น่ากลัวกว่าคือพวกเราอาจจะยังไม่ตระหนักเลยด้วยซ้ำ 

การสอดส่องตรวจตรามวลชน

1984 

ผู้เขียน: จอร์จ ออร์เวลล์

ตีพิมพ์: 1949, อังกฤษ

1984 ผลงานของนักเขียนชาวอังกฤษนามอุโฆษ จอร์จ ออร์เวลล์ เป็นทั้งผลงานบุกเบิกโลกทัศน์ดิสโทเปียที่สร้างมรดกต่อแวดวงวรรณกรรมมหาศาล และยังเป็นคำพยากรณ์อันแม่นยำของโลกในอีกไม่กี่ปีถัดมาหลังตีพิมพ์จวบจนถึงปัจจุบัน 

เรื่องราวของ วินสตัน สมิธ เจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้ชีวิตอย่างลำบากขัดสนท่ามกลางสังคมเลวร้ายของประเทศชื่อโอชันเนีย ประเทศที่เผชิญภาวะสงครามไม่รู้จบ การกระทำที่ดูจะเป็นภัยคุกคามต่อรัฐแม้เพียงเล็กน้อยก็จะส่งผลให้คนคนนั้นหายไปตลอดกาลโดยไม่มีกระบวนการสืบหาความจริง 

วินสตันทำงานอยู่ในแผนกพิสดารซึ่งทำหน้าที่แก้ไขข้อมูลหลักฐานในอดีตให้สอดคล้องกับปัจจุบัน หรือเติมแต่งตัวเลขข้อมูลใหม่เพื่อสร้างความสำเร็จให้แก่รัฐบาลแม้จะรู้โดยลึกๆ ว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องโกหก 

ไม่มีอะไรในโอชันเนียที่น่าเชื่อถือ เพราะไม่มีสิ่งใดพิสูจน์ได้ มีแต่การประโคมโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลและตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ แม้แต่สงครามที่กำลังเกิดขึ้นบนจอโทรภาพก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นเรื่องจริง 

แต่สิ่งที่ทำให้ระบบดังกล่าวขับเคลื่อนต่อไป คือระบบตรวจตราสอดส่องที่ทรงประสิทธิภาพจนน่ากลัวผ่านสิ่งประดิษฐ์อย่างโทรภาพ ตำรวจความคิด และระบบวิธีคิดที่ทำให้บรรดาผู้คนในโอชันเนียซื่อสัตย์ภักดีต่อรัฐบาลอย่างถึงที่สุดและเชื่อในสิ่งที่พี่เบิ้ม (Big Brother) ผู้นำสูงสุดของประเทศได้ประกาศอย่างไม่มีเงื่อนไข 

1984 ทิ้งมรดกทางความคิดที่ยังคงทรงพลังและถูกพูดถึงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น 2+2 = 5 ตำรวจความคิด อาชญากรรมความคิด ตำรวจความคิด กระทรวงความจริง การคิดสองชั้น และหนึ่งในประโยคสำคัญอันเป็นดั่งลายเซ็นของวรรณกรรมเรื่องนี้ก็คือ ‘พี่เบิ้มกำลังจ้องมองคุณ’ (Big Brother is Watching You) 

ไม่ว่าคุณจะกระทำการใด คิดอะไร กำลังสงสัย หรือนอนหลับอย่างเหนื่อยล้า แม้แต่การเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นหัวใจเพียงเล็กน้อย รัฐบาลก็กำลังจับจ้องอยู่

นี่คือพลานุภาพของการตรวจตราสอดส่องประชาชนในรัฐโอชันเนียที่ผู้อ่านร่วมสมัย หรือแม้แต่หลังจากการตีพิมพ์ 1984 อีก 50 ปี ก็ได้แต่สงสัยว่าเทคโนโลยีชนิดไหนกันจะมาทำหน้าที่เป็นพี่เบิ้มได้ แต่นั่นคือก่อนเดือนมิถุนายน 2013 

หลังจาก เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานปฏิบัติการจากสำนักงานข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency – CIA) และสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency – NSA) ออกมาแฉข้อมูลลับของรัฐบาลอเมริกาที่มีโครงการสอดแนมพลเมืองโดยความร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมและเครือข่ายอินเตอร์เน็ตต่างๆ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ อีเมล ไปจนถึงการดักฟังโทรศัพท์ของประชาชนอเมริกานับ 10 ล้านคน และอาจรวมไปถึงการดักฟังโทรศัพท์ทั่วโลก 

นิยายเรื่อง 1984 ได้ยกระดับจากการเป็นวรรณกรรมดิสโทเปียไปสู่การเป็นวรรณกรรมสัจนิยมและยกระดับจากเรื่องแต่งไปสู่คำพยากรณ์เป็นที่เรียบร้อย 

ออร์เวลล์อาจทำนายถึงการสอดส่องมวลชนขนานใหญ่ได้ถูกต้อง แต่ทำนายพลาดที่ว่าการสอดส่องนั้นจะกระทำโดยอำนาจแบบพี่เบิ้มเท่านั้น เพราะสิ่งที่น่ากลัวกว่าของการสอดส่องตรวจตรามวลชน เพื่อสร้างสภาวะความหวาดกลัวแก่ผู้คน ก็คือการครอบงำผ่านเครือข่ายข้อมูลดิจิทัลที่ไม่ได้ยับยั้งหรือกดทับเสรีภาพของเรา แต่ทำการชักนำ โน้มน้าว ตีกรอบเสรีภาพเพื่อล้วงเอาข้อมูลไปแสวงหาผลประโยชน์โดยเราไม่รู้ตัว 

โชชาน่า ซูบอฟฟ์ (Shoshana Zuboff) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยธุรกิจฮาวาร์ด ผู้ศึกษาคอมพิวเตอร์และสารสนเทศในโลกอินเตอร์เน็ต เรียกการตรวจตราสอดส่องแบบใหม่นี้ว่า การตรวจตราทุนนิยม (Surveillance Capitalism) อำนาจของการตรวจตรารูปแบบใหม่ที่คุกคามอิสรภาพของมนุษย์และสังคมทั้งในทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตย เปลี่ยนมือจากอำนาจการตรวจตราโดยรัฐบาลไปเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการดิจทัลอย่าง เฟซบุ๊ก กูเกิล อเมซอน 

อำนาจเหล่านี้ไม่มีตัวตนแท้จริงให้เราโจมตี แต่สามารถตรวจตรา ครอบงำ บงการพฤติกรรมในการใช้อินเตอร์เน็ต มอบข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำไปวิเคราะห์และกลับมาครอบงำเราอีกที อำนาจตรวจตราเช่นนี้ไม่ได้เลวร้ายบนผิวหน้า ไม่ได้ส่งใครเข้าคุกหรือประหัตประหารชีวิต แต่ทำให้ผู้คนยอมละทิ้งความเป็นส่วนตัว เปลี่ยนวิถีบริโภค เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี และใช้ชีวิตตามที่ระบบทำนายไว้

นี่คือสังคมดิสโทเปียที่ผู้คนกว่าครึ่งศตวรรษก่อนเคยหวาดกลัวว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า!

เมื่อโลกดิสโทเปียเกิดขึ้นจริง โอชันเนียจะเหมือนหรือต่างจากไทยแลนด์อย่างไร?

มาร่วมวงสนทนาหาคำตอบกันกับ Reading Group อ่านเปลี่ยนโลก ครั้งที่ 8 หนังสือ 1984

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด