โดยปกติแล้ว ผู้สนใจในการอ่านงานเกี่ยวกับสังคม การเมือง และประวัติศาสตร์ มักพุ่งเป้าไปที่กลุ่มหนังสือประเภทงานวิชาการหรือหนังสือที่ถูกผลิตจากวิทยานิพนธ์ งานเขียนของคนกลุ่มนี้มักมาจากการทำงานของนักวิชาการที่มีชื่อเสียง เช่น ธงชัย วินิจจะกูล นิธิ เอียวศรีวงศ์ ณัฐพล ใจจริง ประจักษ์ ก้องกีรติ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฯลฯ หลายคนอาจมองพวกเขาเป็น ‘ไอดอล’ ทางความคิด ความรู้ ในโลกของการอ่าน

  อย่างไรก็ตาม หากมองลึกลงไป ผลงานอันทรงคุณค่าเหล่านี้ล้วนถูกเขียนขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า หลักฐาน ที่เป็นเศษเสี้ยวความทรงจำและเบาะแสสำคัญในอดีต ปกติแล้วในการศึกษาประวัติศาสตร์นั้น ผู้ศึกษามักจะอาศัยหลักฐานอยู่ 2 ประเภทหลัก ได้แก่ หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น บันทึกความทรงจำ เอกสารราชการ จดหมาย ใบบอกหัวเมือง ท้องตรา จดหมายเหตุโหร จดหมายรายวันทัพ สมุดข่อย ใบลาน หนังสือพิมพ์ ประกาศ หรือแม้แต่คัมภีร์ทางศาสนา ส่วนหลักฐานอีกประเภทคือหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หลักฐานประเภทนี้มักอยู่ในรูปของสิ่งก่อสร้างและสิ่งประดิษฐ์ เช่น วัดวาอาราม หม้อไหถ้วยชาม ไล่ไปจนถึง เศษอาหาร เช่น กระดูกสัตว์ โถไวน์ยุคกรีกที่ยังมีไวน์ หรือเศษขนมปังโรมันที่ได้รับการเก็บไว้เป็นอย่างดี

สิ่งเหล่านี้ล้วนรอให้นักประวัติศาสตร์เข้าไปทำหน้าที่คล้ายกับ “นักสืบโคนัน” กล่าวคือ ในการทำงานทางประวัติศาสตร์ หลักฐานเหล่านี้จะถูกนำมาปะติดปะต่อเป็นเรื่องราว คล้าย ๆ กับเวลาที่นักสืบเขียนสำนวนคดี อย่างไรก็ตาม งานของนักประวัติศาสตร์ขอบเขตกว้างกว่างานของนักสืบมาก เพราะเรื่องเล่าไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่เพียงการฆาตกรรม การนอกใจ การฉ้อโกง หรือความลับทางธุรกิจ เท่านั้น นักประวัติศาสตร์มีภารกิจในการช่วยให้เราเข้าใจสังคมในอดีต ความเป็นมาของสังคมในปัจจุบันด้วยมุมมองใหม่ด้วย เรื่องเล่าของนักประวัติศาสตร์จึงมีได้หลากหลายกว่ามาก หลายๆ ครั้งเรื่องเล่าของนักประวัติศาสตร์ถูกเรียกด้วยคำอย่างสวยหรูว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์

นอกจากการแบ่งประเภทของหลักฐานจากรูปลักษณ์แล้ว การกล่าวถึงความน่าเชื่อถือของหลักฐานก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น หลักฐานจึงแบ่งออกมาได้อีกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ นั่นคือ หลักฐานชั้นต้นและหลักฐานชั้นรอง หากเรียกให้สวยหรูหน่อย หลักฐานชั้นต้นอาจถูกเรียกว่าหลักฐานปฐมภูมิ หลักฐานชั้นรองอาจถูกเรียกว่าหลักฐานทุติยภูมิ หรือหากติดพูดไทยคำอังกฤษคำ หลักฐานชั้นต้นอาจถูกเรียกว่า primary source ส่วนหลักฐานชั้นรองอาจถูกเรียกว่า secondary source

สำหรับหลักฐานชั้นต้น คือหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเหตุการณ์ที่ต้องการศึกษาในขณะนั้นอย่างใกล้ชิด หลักฐานชั้นต้นอาจเป็นบันทึกของผู้เห็นเหตุการณ์ บทสัมภาษณ์ หรือแม้แต่แผ่นพับโฆษณา ทั้งนี้ อะไรจะเป็นหลักฐานชั้นต้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับหัวข้อที่ต้องการศึกษาด้วย ตัวอย่างเช่น

บางคนมองว่าหนังสือพิมพ์ที่เขียนเรื่องประวัติศาสตร์อยุธยาในปี 2500 ไม่ใช่หลักฐานชั้นต้น เมื่อเทียบกับบันทึกลาลูแบร์ แต่ถ้าเหตุการณ์ที่เราต้องการศึกษาคือประวัติศาสตร์สิ่งพิมพ์ที่เขียนถึงประวัติศาสตร์อยุธยาในปี 2500-2510 หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จะกลายเป็นหลักฐานชั้นต้นทันที โดยที่บันทึกลาลูแบร์ใช้ไม่ได้เลย

นอกจากนี้ หากหัวข้อที่ต้องการศึกษาเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ หลักฐานชั้นต้นก็ไม่จำเป็นต้องเก่าแก่โบราณเสมอไป เช่น หากต้องการเข้าใจประวัติศาสตร์การเข่นฆ่าคนเสื้อแดง หลักฐานชั้นต้นอาจเป็นหนังสือคำสั่งราชการที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นต้น หรือหลาย ๆ ครั้ง หากคุณอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เช่น เข้าร่วมการประท้วงเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในช่วงที่ผ่านมา ก็อาจกล่าวได้เช่นกันว่าคุณนี่แหละคือแหล่งที่มาของหลักฐานชั้นต้น ถ้าเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่มีคนสนใจหันมาศึกษา

ส่วนหลักฐานชั้นรอง คือหลักฐานที่อยู่ห่างไกลจากเหตุการณ์ออกมา หรืออาจเป็นงานเขียนที่เกิดขึ้นในภายหลัง ที่อ้างอิงถึงเหตุการณ์ดังกล่าวที่เราต้องการศึกษา หลาย ๆ ครั้ง เราอาจกล่าวได้ว่างานชิ้นเอกของนักวิชาการที่ถูกตีพิมพ์หรือปรากฎในหน้าสื่อ เช่น บทความ หนังสือ และวิทยานิพนธ์ต่างๆ ซึ่งประกอบขึ้นจากหลักฐานต่างๆ แล้วมาทำการวิเคราะห์เรียบเรียงในภายหลังผ่านกรอบแว่นของผู้เขียนหรือนักวิชาการ กลายเป็นสิ่งมีสภาพเป็นหลักฐานชั้นรองไปโดยปริยาย เนื่องจากหลักฐานเหล่านี้ไม่ได้อยู่สนิทแนบชิดกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น

แต่ก็อีกหลายๆ ครั้ง ข้อเขียนในยุคหลังที่ดูเหมือนจะเป็นหลักฐานชั้นรองก็อาจแปรสภาพเป็นหลักฐานชั้นต้นได้ โดยขึ้นอยู่กับเรื่องที่ผู้สนใจต้องการศึกษา เช่น หากเราอยากรู้ว่าภาพลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ในปี 2500 – 2559 เป็นอย่างไร หลักฐานชั้นรองอย่างหนังสือ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็จะกลายเป็นหนึ่งในหลักฐานชั้นต้นในทันที ดังนั้น อะไรจะเป็นหลักฐานชั้นต้นหรือชั้นรองจึงขึ้นอยู่กับหัวข้อเรื่องราวที่ผู้สนใจต้องการจะเขียนมากกว่า

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าหลักฐานทั้ง 2 แบบยังคงต้องผ่านการวิพากษ์ตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนที่จะใช้เช่นกัน เช่น หลักฐานมาจากที่ใด เวลาใด ผู้พูดหรือเขียนบันทึกไว้มีอคติเข้าข้างฝ่ายใดหรือไม่ในเหตุการณ์ หรืออาจเป็นเพียงผู้เฝ้าดูอยู่ห่างๆ ในเหตุการณ์นี้ นอกจากนั้นยังมีอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้คือการสังเกตว่าหลักฐานจากหลาย ๆ ที่ โดยหลักใหญ่ใจความแล้วพูดถึงการดำรงอยู่ของเหตุการณ์ตรงกันหรือไม่ การนำหลักฐานจากหลาย ๆ ที่มาเปรียบเทียบกันเพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักอาศัยจากแหล่งหลักฐานอย่างน้อย 3 แห่งด้วยกัน ในทางวิชาการถูกเรียกอย่างสวยหรูว่าวิธีการตรวจสอบแบบสามเส้า หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกกันว่า triangulation วิธีการใช้มักนี้ถูกนำมาใช้ในงานพิสูจน์ข้อเท็จจริงอื่น ๆ ที่อยู่นอกแวดวงผู้สนใจประวัติศาสตร์ด้วย เช่น งานข่าว งานวิจัย และงานสืบสวน

ในปัจจุบัน หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรหลายชิ้นได้ถูกตีพิมพ์และสามารถหาอ่านได้จากร้านหนังสือทั่วไป หลายเล่มที่เป็นภาษาต่างประเทศได้รับการแปลเพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน ถึงแม้หลักฐานเหล่านี้จะไม่ได้ถูกรวบรวมเป็นงานวิชาการ แต่มันก็ล้วนมีเรื่องราวและคุณูปการในตัวของมันเองที่รอให้เราไปค้นพบ ตัวอย่างเช่น หลักฐานประเภทบันทึกที่ทำให้เห็นภาพของวิถีชีวิต และเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านสายตาของผู้คนในสมัยนั้น หลักฐานบางชิ้นอาจถูกรังสรรในรูปแบบของกาพย์กลอน บทกวี ทำให้ผู้อ่านได้รับอรรถรสทางภาษาที่งดงาม หรือเรียกว่าอ่านแล้ว “อร่อย”

หลักฐานเหล่านี้เชื้อเชิญประชาชนทั่วไปที่สนใจให้ลองก้าวข้ามผ่านหนังสือประวัติศาสตร์นิพนธ์ของนักวิชาการไปสู่การศึกษาข้อเท็จจริงจากหลักฐานโดยตรง เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องถูกผูกขาดโดยนักวิชาการ เพราะเราทุกคนสามารถคิดเองได้ และมีส่วนร่วมในการเล่าประวัติศาสตร์ของตัวเองได้ ด้วยเหตุนี้ ในตอนต่อ ๆ ไป เราจึงอยากชวนเพื่อนๆ ชาว Common school มาลองอ่านหลักฐานประเภทต่างๆ ที่ถูกตีพิมพ์ และสามารถหาอ่านได้จากร้านหนังสือและห้องสมุดทั่วไป เพื่อเป็นแนวทางสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นฝึกสืบค้นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ด้วยตนเอง