ความเดิมตอนที่แล้ว เราได้พูดคุยถึงแนวทางเบื้องต้นของการฝึกอ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปบ้างแล้ว เช่น ประเภทของหลักฐาน วิธีการจำแนกหลักฐาน และการพิจารณาความน่าเชื่อถือของหลักฐาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่นักวิชาการใช้ในการรังสรรค์งานประวัติศาสตร์นิพนธ์ชั้นเยี่ยม

เรายังได้บอกอีกว่า เอกสารบางชิ้นไม่จำเป็นต้องรอให้นักวิชาการมาศึกษาก่อน แต่ทุกคนสามารถเข้าถึงมันได้ง่ายๆ ในร้านหนังสือหรือเว็บไซต์ออนไลน์ หลักฐานเหล่านี้ตั้งรอให้เรามาค้นคว้าและตีความด้วยตนเองแล้ว โดยเฉพาะบันทึกต่างๆ ที่ถูกแปลจากภาษาโบราณเป็นภาษาปัจจุบัน

ในวันนี้ Common school จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเอกสารชิ้นแรกนั่นคือ “นิราศหนองคาย” หลังจากอ่านแล้ว ทุกท่านอาจขำกลิ้งเหมือนได้อ่านขายหัวเราะยุคโบราณ หรือไม่ก็เหมือนได้ดูรายการแฉของคุณมดดำ นอกจากได้ความรู้ประวัติศาสตร์แล้ว บันทึกฉบับนี้ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยอรรถรส บทกลอน และเรื่องราว

หนึ่งในเรื่องที่น่าขันที่สุดก็คือ แม้เวลาจะล่วงเลยมาแล้วหลายร้อยปีและพัฒนาการทางเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล แต่กองทัพสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 แทบไม่ต่างจากกองทัพไทยในปัจจุบันเลย โดยเฉพาะความ(ไม่)กล้าหาญ การทุจริตคอร์รัปชัน และความเจ้าชู้ของเหล่ากำลังพล หากท่านพร้อมแล้ว เราไปลุยกันเลย !

นิราศหนองคาย: จากหนังสือต้องห้ามสู่บันทึกแฉการทุจริตสุดฮา

นิราศหนองคาย แม้จะถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ในหนังสือ 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน แต่ประวัติที่มาของมันกลับไม่น่าอภิรมย์เลย เนื่องจากผลงานชิ้นนี้เคยถูกบัญญัติให้เป็นหนังสือต้องห้ามในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงขั้นถูกเผาทิ้งมาก่อน

ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้คือขุนพิพิธภักดีหรือนายทิม สุขยางค์ นายทิมเคยถูกลงพระราชอาญาทั้งการโบย การขังคุก และการถอดยศ เนื่องจากทำผิดในข้อหาเขียนบันทึกเสียดสีเจ้าขุนมูลนายและกองทัพจนกระทบความมั่นคงอย่างร้ายแรง หลังจากถูกเฆี่ยนโบยจนสาสมแก่ความผิด กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ขอต้นฉบับจากนายทิมมาคัดลอกไว้และตัดเนื้อหาบางส่วนออกก่อนทำการเผยแพร่ เนื้อหาก่อนหน้านี้จึงขาดวิ่นและไม่มีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจอะไรมากนัก

แต่หลังเวลาผ่านไป 137 ปี นิราศหนองคายฉบับสมบูรณ์ก็ได้รับการเผยแพร่ออกมาในที่สุด แม้จะโชคร้ายในหลายเรื่อง แต่เราก็อาจโชคดีที่เกิดในยุคนี้ เพราะหากไม่ได้เกิดในยุคนี้ เราคงไม่มีโอกาสได้อ่านนิราศหนองคายฉบับไม่ตัดตอน หรืออาจจะเป็นแบบที่หลายคนพูดกันติดปากว่า “อะไรที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น” หากได้อ่านสิ่งที่เขาเขียนจะพบว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากเหล่าขุนนางจะขลาดเขลาแล้ว กองทัพประจำการยังมีสภาพน่าขบขันและเต็มไปด้วยการทุจริต แถมยังมีเพียงไพร่ฟ้าหน้าใสอันไร้ความสามารถเป็นกำลังพล

กองทัพสยามในสมัชรัชกาลที่ 5: ความเจ้าชู้ การทุจริต และจังหวะซิตคอมสุดฮา

เรื่องราวในนิราศหนองคายเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อกองทัพฮ่อหรือพวกกบฏไท่ผิงแตกทัพจากจีนแผ่นดินใหญ่หนีลงมาทางตอนใต้กลายเป็นกองโจร และเนื่องจากกองทัพดังกล่าวเข้ามาปล้นจี้เข่นฆ่าผู้คนอยู่ในหัวเมืองลาวไล่ตั้งแต่หลวงพระบางลงมาถึงหนองคาย รัชกาลที่ 5 จึงส่งกองทัพเข้าไปปราบปรามเพื่อคุ้มครองดินแดนซึ่งขณะนั้นยังเป็นประเทศราชของสยาม

กองทัพสยามขณะปราบฮ่อ ปี 2418

 ผู้ที่ถูกส่งให้ไปรบกองทัพฮ่อในครั้งนั้นได้แก่ ขุนพิพิธภักดี ขุนหมื่นประทวน กรมพระสุรัสวดี และเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ผู้เป็นนาย ระหว่างนี้ ขุนพิพิธภักดีได้แต่งบทกลอนขึ้นเพื่อบันทึกเรื่องราว โดยพรรณาอย่างละเอียดตั้งแต่ข่าวทัพฮ่อมาถึงกรุงเทพฯ การจัดเตรียมยุทธภัณฑ์ การหยุดพักกินอาหาร พักทัพขอพรตามวัดวาอาราม การเดินทัพผ่านหมู่บ้านชุมชนเพื่อพักเติมเสบียง การบุกป่าฝ่าดงที่เต็มไปด้วยไข้ป่าอันตราย ไปจนถึงบรรยากาศ 2 ข้างทางระหว่างเดินทัพทางน้ำและทางบก 

แม้จะฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา ทว่าการพรรณาทั้งหมดกลับเต็มไปด้วยเรื่องน่าตลกขบขันของวิถีชีวิตไพร่ ทหารถูกบังคับเกณฑ์ และระบบราชการของกองทัพสยามในยุคกึ่งโบราณกึ่งปฏิรูป ตัวอย่างเช่น เมื่อเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงได้ข่าวว่าจะต้องไปราชการเพื่อทำสงครามปราบปรามกองทัพฮ่อ ท่านก็เกิดความวิตกกังวลอย่างหนัก โดยในนิราศหนองคายบันทึกความ “ขลาด” ของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงไว้ว่า

แต่เจ้าคุณของฉันท่านดีจริง        ท่านขลาดยิ่งกว่าพวกเขาเป็นไหนไหน

เขาขลาดคิดมาดหมายพึ่งไทย     คงช่วยให้ทุกข์นิราศจึงขลาดดี

นี่เจ้าคุณท่านไม่เห็นเป็นเช่นนั้น   ท่านตัวสั่นเสียยิ่งกว่ากลัวผี

แม้นอ้ายฮ่อยกมาจะราวี            ถึงกรุงศรีคงวิ่งออกไปนอกกรุง

เมื่อครั้นถึงคราวออกไปทัพ ท่านก็ของบรัฐบาลมาทำแหวนเพชรมาแจกเหล่าทหารที่มีความดีความชอบในการรบ แต่ความจริงกลับเอาแหวนไปให้เมีย นอกจากไม่ต้องเสียทรัพย์ตนเองแล้ว ยังได้ชื่อเสียงว่าใจกว้างทำแหวนให้เหล่าทหารเป็นรางวัล

แลท่านทำแหวนเพชรสิบเอ็ดวง             หวังใจจงแจกจ่ายนายทหาร

ที่ไม่คิดย่อหย่อนเข้ารอนราญ               ใครทำการศึกสำเร็จบำเหน็จมือ             

แต่อย่างไรก็ไม่ได้รบเป็นแน่                  เพราะท้อแท้ไม่อยากไปหมีใช่หฤๅ

แต่ทำแหวนเพชรไปให้เขาฦๅ                พอเสร็จทัพกลับใส่มือนางละคร

ไม่ต้องเสียแหวนเพชรสักเม็ดเดียว           ทำกราวเกรียวพอให้ชื่อฦๅกระฉ่อน

แต่ขี้ขลาดท่านยังอาจมาทำกลอน           หวังจะอวดราษฎรให้เลื่องฦๅ

นอกจากการทุจริตโกงแหวนเพชรแล้ว ในนิราศหนองคายมีเรื่องราวอีกมากมาย ทั้งการติดสินบนเจ้าพนักงานเพื่อหนีทหาร การร้องห่มร้องไห้คิดถึงเมียๆ ของบรรดาเจ้านายที่เคย “ได้คลึงเคล้าคลอแคลแฟมลี่” รวมไปถึงเหตุการณ์เล็กๆ ระหว่างทางที่เป็นจังหวะซิตคอม เช่น มีอยู่วันหนึ่ง กองทัพตั้งค่ายพักแรม แต่เมื่อพลบค่ำได้ยินเสียงชาวบ้านจุดพลุในเทศกาลงานวัด ก็ตื่นตระหนกทั้งกองทัพนึกว่าพวกฮ่อบุกมาโจมตี !

เมื่อถึงเมืองหนองคาย เหล่าทหารก็ยังไม่วายแยกย้ายแอบไปเกี้ยวพาราสีกับสาวในเมืองจนเหล่าแม่ทัพนายกองต้องตั้งกฎเกณฑ์ห้ามปรามกันยกใหญ่เพื่อไม่ให้ค่ายทหารกลายเป็นซ่อง ภาพในนิราศช่างแตกต่างจากในลิลิตที่พยายามสร้างภาพสรรเสริญความเกรียงไกรของกองทัพและบารมีของผู้นำเหลือเกิน ในความเป็นจริงแล้ว กองทัพสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 เต็มไปด้วยเรื่องตลกโปกฮา

นิราศหนองคายทำให้เราเข้าใจวิถีชีวิตของไพร่และขุนนางในช่วงเวลาดังกล่าวมากยิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นภาพที่ต่างออกไปจากตำราประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาในปัจจุบันที่ยังคงอยู่ในขนบแบบราชาชาตินิยม และมักเติมแต่งสีสันให้ภาพของบรรพบุรุษในยุคโบราณเป็นนักรบเลือดเดือด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครอยากเป็นทหารที่ถูกเกณฑ์ไปทำสงคราม

นอกจากนี้ นิราศหนองคายยังมอบอรรถรสผ่านบทกวีไทยคำอังกฤษคำในยุคสมัยที่สยามกำลังเข้าสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเต็มตัว สะท้อนให้เห็นว่าขุนพิพิธภักดีมีความรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษอยู่บ้างเช่นกัน และหากขุนพิพิธภักดีไม่บันทึกสิ่งเหล่านี้ไว้ เราก็คงพลาดโอกาสในการเห็นอีกด้านหนึ่งของสยามในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปอย่างน่าเสียดาย

หากต้องการอ่านฉบับเต็มไม่ตัดตอน ต้องเป็นฉบับสีม่วงของกรมศิลปากรเท่านั้น !

Author

Common School
รณรงค์ความคิดแบบก้าวหน้า เพราะเราเชื่อว่าการจะเอาชนะในทางการเมือง จำเป็นต้องเอาชนะกันในทางความคิด