‘จะจนหรือรวยก็ต้องจ่ายเงินเดือนให้รัฐบาลกลางผ่านภาษีฯ’
งบประมาณประจำปีประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นรากฐานการเงินของประเทศนั้นมาจากระบบการเก็บภาษีจากประชาชนทุกคนถึง 88.6% นอกจากนั้นคือหน่วยงานอื่นๆ ที่สร้างรายได้เข้ารัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจ อีก 11.4% จากค่าเฉลี่ยปี 2535-2564 ไม่เพียงแต่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่ยังมีภาษีอีกมากมายที่ประชาชนทุกคนแบกรับต้นทุน[1]
ปัญหาที่แปลกประหลาดและย้อนแย้งอย่างหนึ่งคือ มีชนชั้นกลางที่มีความรู้สึกในแง่ลบกับ “คนจน” จากการที่ไม่ขยันทำงาน ไม่พยายามขวนขวายโอกาสเอง แต่ในความเป็นจริงแล้วเหตุผลที่ทำให้คนจนยังไม่มีโอกาสที่จะขยับฐานะการเงินขึ้นมา อาจจะเป็นเพราะคนจนต้องจ่ายภาษีอยู่มากเมื่อเทียบสัดส่วนกับรายได้ของพวกเขาโดยเฉพาะส่วนของเงินเก็บ “คนจน” คือ “คนส่วนใหญ่” ของประเทศนี้ หากคิดแบบนี้ แสดงว่าคนส่วนใหญ่นั้นนอกจากถูกเหยียดจากมายาคติในแง่ลบจาก “คนรวย”แล้ว ก็กำลังเจอกับระบบโครงสร้างภาษีที่มีปัญหาด้วย
ภาษีไม่ได้มีเพียงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
นับตั้งแต่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value-added tax, VAT) ตั้งแต่ปี 2535 นั้น สัดส่วนของ VAT เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มขึ้นมากกว่า “ภาษีคนรวย” มาอย่างสม่ำเสมอและมีทีท่าที่ภาษีคนรวย (ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) จะมีสัดส่วนการจัดเก็บที่สวนทางกับ VAT ที่กำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะความได้เปรียบทางการลดหย่อนภาษีต่างๆ ที่เป็นทางเลือกให้ผู้มีรายได้สูงมากมาย และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยหลังรัฐประหาร ในขณะที่ประชาชนที่มีรายได้น้อยต้องแบกรับภาระภาษีอย่าง VAT มากที่สุด[2]
ในขณะที่นิติบุคคลอย่างบริษัทขนาดใหญ่นั้นสามารถหาวิธีการหลบเลี่ยงภาษีอย่างถูกกฎหมายได้ หรือบุคคลธรรมดาสามารถที่จะใช้วิธีต่างๆ เพื่อลดภาษี ผู้มีรายได้น้อยซึ่งต้องทำงานรายวันนั้นไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากรอคอยโอกาสจากรัฐบาลที่จะยื่นมือมาช่วยเป็นครั้งคราว หรือแม้กระทั่งออกบัตรสวัสดิการคนจนมาเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมในระยะยาวเพราะเป็นเสมือนการนำภาษีที่ผู้มีรายได้น้อยจ่ายไปทั้งหมดกลับคืนไปอีกครั้งเท่านั้นเอง เช่น ผู้มีรายได้น้อยจ่ายภาษีทางอ้อมประมาณเดือนละ 1,000 บาท แต่ได้เงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณเดือนละ 1,000 บาทเช่นกัน[3] เมื่อเปรียบเทียบกับผู้มีรายได้สูงที่รายการลดภาษีต่างๆสามารถที่จะทำให้ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ด้วยซ้ำไป ในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยนั้นไม่มีทางเลือกอื่น
ทางเลือกของคนจนนั้นไม่มีมากนัก ปัญหาความไม่เท่าเทียมเรื่องภาษีควรมีการแก้ไขที่โครงสร้างทั้งระบบ ควรมีการวิเคราะห์ผลประโยชน์ของการจ่ายภาษีต่างๆ ออกมาเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ เช่น ใน EU มีการใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์และชุดข้อมูล EUROMOD เพื่อวิเคราะห์การกระจายผลประโยชน์ภาษีให้กระจายไปสู่ประชาชนได้อย่างเหมาะสม[4] ซึ่งเป็นการวางแผนทางการคลังในระยะยาวและยั่งยืน มีการเก็บข้อมูลว่าในช่วงของรายได้ตั้งแต่ผู้มีได้น้อยไปจนถึงผู้มีรายได้สูงว่าจ่ายภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมเท่าใด และได้รับผลประโยชน์จากการจัดงบประมาณแผ่นดินประจำปีอย่างไรบ้างในแต่ละช่วงรายได้
VAT = TAX
VAT (Value Added Tax) หรือภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นคือภาษีที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยต้องจ่ายภาษี 7% ในทุกๆ 100 บาทที่จ่ายไปในร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารต่างๆ ประชาชนไม่ว่ามีรายได้เท่าไหร่จะต้องจ่าย 7 บาทให้กับรัฐบาลกลาง โดยให้ร้านค้าเก็บภาษีนี้แทน และในความจริงแล้วกฎหมายให้เก็บ VAT ถึง 10% แต่ว่ามีการผ่อนผันอยู่ที่ 7% มาเป็นเวลายาวนาน แม้ว่าจะผ่อนผันแล้วก็ตาม รายได้จาก VAT นั้นสูงมากที่สุดในบรรดาภาษีทั้งหมด
บ่อยครั้งที่เห็นการถกเถียงในโลกออนไลน์เข้าใจว่าการจ่ายภาษีส่วนใหญ่ของประเทศไทยหรือแม้แต่ของโลกนั้นจำกัดอยู่เพียงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มนุษย์เงินเดือนซึ่งมีรายได้เกินข้อยกเว้นนั้นจำเป็นต้องยื่นจ่ายทุกๆ ปี แต่ในความเป็นจริงนั้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นเป็นเพียง 13% ของรายได้ที่เป็นภาษีเข้ารัฐบาลกลางเท่านั้นเอง
ในขณะที่ภาษีที่มีสัดส่วนเยอะที่สุดกลับเป็นส่วนที่ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือจนก็ต้องจ่าย คือภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นสัดส่วนถึง 30% ของรายได้ที่เป็นภาษีเข้ารัฐบาลกลาง ไม่นับรวมภาษีอื่นๆที่นายทุนผลักภาระให้ประชาชนจ่ายทางอ้อมอีกกว่า 32% เช่น ภาษีน้ำมัน, ภาษียาสูบ, ภาษีสุรา, ภาษีเบียร์, ภาษีรถยนต์, ภาษีเครื่องดื่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งเจ้าของบริษัทอาจผลักภาระภาษีให้ลูกจ้างโดยการจำกัดเงินเดือน
มายาคติของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ในทางหนึ่งผู้ที่เสียภาษีเงินได้ฯ ประจำปีย่อมเสียภาษีให้รัฐบาลกลางมากกว่าผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์อย่างแน่นอน แต่ในทางกลับกัน ผู้ที่มีรายได้เยอะกว่าปกติย่อมมีสิทธิพิเศษและความได้เปรียบดังนี้
- ผู้เสียภาษีเงินได้ฯ ย่อมมีเงินเก็บมากกว่าผู้มีรายได้น้อยตามหลักการ มีโอกาสในการเข้าถึงบริการต่างๆ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
- ผู้เสียภาษีเงินได้ฯ มีวิธีการมากมายที่ได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี เช่น การซื้อกองทุน RMF, กองทุน SSF, ประกันชีวิต, การบริจาคเงินเพื่อสร้างเครดิตในสังคม, การได้ประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย
ระบบการคำนวณภาษีเงินได้ฯ ของไทยนั้นแบ่งออกเป็น 8 ควอร์ไทล์[5] ซึ่งอัตราการเสียภาษีในความเป็นจริงแล้วน้อยกว่าที่คิด เนื่องจากสามารถลดหย่อนได้ และมีเพดานภาษีสูงสุดในแต่ละขั้นเงินได้ดังนี้
ปัญหาของภาษีเงินได้แบบขั้นบันไดของไทยนั้นอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนที่มีรายได้ 150,000 บาทต่อปีเกิดความรู้ว่าเป็นผู้จ่ายภาษีหนัก ซึ่งเป็นความจริงเมื่อสมมติว่ามีรายได้ 60,000 บาทต่อเดือนนั้น จะต้องจ่ายภาษีในรัฐบาลกลางถึง 65,000 บาท (เงินเดือนหายไปหนึ่งเดือน) ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในประเทศมีรายได้ประมาณ 6,500 บาทต่อเดือน[6] นั่นหมายความว่า “คนส่วนใหญ่” ในประเทศนี้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ปรากฎการณ์ที่คนส่วนน้อยมากๆ ในประเทศไทยต้องจ่ายภาษีมากกว่าปกติ อาจจะทำให้มีความรู้สึกในแง่ลบกับผู้ที่ไม่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ว่าในความเป็นจริงแล้วภาษีเงินได้ฯ นี้เยอะขนาดไหนเมื่อเทียบกับภาษีทางอ้อมอีกมากมาย? คนที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นผู้แบกภาระการจ่ายภาษีและงบประมาณประเทศนี้อยู่จริงๆ หรือเป็นแค่ความรู้สึก? เพราะตัวเลขและข้อมูลไม่ได้บอกเช่นนั้น
ในที่สุดแล้วไม่ว่ารายได้เท่าไหร่ ทุกคนต่างก็เสียภาษี แต่ปัญหาของผู้มีรายได้น้อยคือสัดส่วนเงินเก็บจะน้อยลงกว่าผู้มีรายได้สูง
เปรียบเทียบการจ่ายภาษีระหว่าง ผู้ที่เสียภาษีเงินได้ฯ และผู้ที่ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ฯ
กุญแจที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องความเหลื่อมล้ำในการจ่ายภาษีนั้นจำเป็นต้องอธิบายด้วยการยกตัวอย่างดังนี้ โดยกำหนดให้ “คนจน” มีรายได้ต่อปี 100,000 บาท ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้จน แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์กำหนดไว้ที่คนละ 100,000 บาทต่อปี หรือประมาณ 8,500 บาทต่อเดือน[7] และกำหนดให้ “คนรวย” 1 มีรายได้ต่อเดือน 40,000 บาท “คนรวย” 2 มีรายได้ต่อเดือน 80,000 บาท โดยจะกำหนดตัวแปรภาษีไว้บางส่วนที่สามารถคำนวณได้อย่างไม่ยากนัก ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีน้ำมันฯ, ภาษีเบียร์, ยาสูบ, สุราฯ เป็นต้น
จากตารางจำลองดังกล่าว ถึงแม้เป็นการสมมติตัวเลขคร่าวๆ แต่ทำให้มองเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนในส่วนของเงินเก็บ ในทางการจัดการการเงินส่วนบุคคล เงินเก็บเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดนอกเหนือจากรายได้ ในขณะที่ “คนจน” มีเงินเก็บแทบจะเป็นศูนย์ “คนรวย” กลับมีเงินเก็บเยอะกว่ามาก และเมื่อนำเอาเงินภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐมาหารกับเงินเก็บ “คนจน” จ่ายภาษีอย่างหนักมากถึง 555% เมื่อเทียบกับ “คนรวย” ทั้งสองกลุ่มที่จ่าย 26% และ 30% ทั้งนี้ทั้งนั้น คนจนไม่สามารถเก็บเงินได้นั้นเป็นภาวะที่ต้องมีการปรับปรุงสวัสดิการรัฐให้ครอบคลุม เนื่องจาก “คนจน” จ่ายภาษีเยอะกว่า “คนรวย” ในแง่ของสัดส่วนเงินเก็บ ถึงแม้ว่าจะจ่ายภาษีน้อยกว่ามากๆ ในสัดส่วนรายได้และรายจ่าย
เป็นคนจนที่ล้มทั้งยืน แต่คนรวยล้มบนฟูก
ในภาพใหญ่ระดับมหภาคนั้น ปริมาณหนี้ครัวเรือนของคนไทยสูงมาก โดยในปี 2563 หนี้ครัวเรือนสูงถึง 86.5% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ[8] และจากข้อมูลสิ้นปี 2564 นั้น ยังพุ่งสูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก[9] แต่ความน่าประหลาดคือเมื่อดูจากอันดับแล้วประเทศไทยมี GDP ต่อหัวน้อยที่สุดในบรรดาประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูง (ปรับตามค่าครองชีพแล้ว) เหตุใดประเทศที่มี GDP 21,057 เหรียญต่อหัว กลับมาอยู่ในกลุ่มประเทศที่มี GDP ต่อหัวในระดับเฉลี่ยที่ 65,000 เหรียญต่อหัว ซึ่งหมายความว่ามีความเหลื่อมล้ำและมีระบบเศรษฐกิจที่ผิดปกติอย่างมากเกิดขึ้น คนไทยไม่ควรมีหนี้สูงในระดับนี้หากเศรษฐกิจไม่ได้มั่งคั่งขนาดประเทศรายได้สูงอื่นๆ
ทั้งการเปรียบเทียบก่อนหน้านี้ในระดับจุลภาคที่พบว่าคนจนจะเหลือเงินเก็บไม่มาก หรืออาจจะติดลบด้วยซ้ำไปหากต้องการที่จะได้คุณภาพชีวิตที่มีมาตรฐานที่ควรจะเป็น การเป็นหนี้คือทางออกหลักของคนจน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสสูงในการเข้าสู่กระบวนการกู้ยืมนอกระบบเนื่องมาจากรายได้ที่ได้รับต่อเดือนไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น[10] อีกทั้งยังขาดคุณสมบัติในการกู้ในระบบ[11] ต่างจากผู้มีรายได้สูงที่มีสายป่านยาวและมีสายสัมพันธ์อันดีกับทุนต่างๆ จึงสามารถที่จะเป็นหนี้ได้มาก จึงเรียกกันว่า “ล้มบนฟูก” การที่ชี้ไปยังคนจนว่าขี้เกียจจึงไม่สามารถเพิ่มรายได้หรือขยับฐานะขึ้นมาได้อย่างไม่ยากนั้นไม่เป็นความจริง ไม่ว่าจะขยันขนาดไหน การแบกรับภาษีและการเป็นหนี้คือต้นทุนที่ฉุดรั้งคนจนเอาไว้อย่างหนัก และในทางกลับกัน ชนชั้นกลางที่ดูถูกคนจนนั้นอาจจะกลายเป็นคนจนโดยไม่รู้ตัวเนื่องจากการแบกรับหนี้มหาศาลเช่นกัน
ผู้เขียนมองว่าโอกาสที่คนจนในยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโตเป็นตัวเลขระดับเกือบสองหลักอีกต่อไปจากสาเหตุหลายๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือการที่ฐานการเมือง “คนรากหญ้า” ถูกถอนรากถอนโคนตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 และรัฐประหารปี 2557 ที่ถูกแทนที่ด้วยกลุ่มชนชั้นนำอีกครั้ง ซึ่งได้แบ่งแยกชนชั้นทางเศรษฐกิจและสถานะทางการเมืองอย่างรุนแรง อาจจะทำให้คนจนนั้นติดกับดักอยู่กับที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกมุมมองคือคนในเจน X (คนที่เกิดช่วง 2508-2522) นั้นเพียงแค่ทำงานไปตามระบบก็สามารถเติบโตได้อย่างสบายๆ ในช่วงระหว่างปี 2500 – 2538 ที่เศรษฐกิจเติบโตประมาณ 8% ก่อนที่ฟองสบู่เศรษฐกิจจะแตก[12] จึงไม่ได้ตั้งคำถามใดๆต่อระบบสังคมซึ่งอาจจะมองว่าดำเนินมาอย่างถูกทางแล้ว แต่หลังจากนั้นประเทศไทยเจอกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เศรษฐกิจเติบโตในระดับ 3% กลุ่มเจน X นั้นยังมีโลกทัศน์แบบเดิมที่ว่า “ใครขยันก็จะรวย” หรือ ประโยคจากโฆษณาที่มีอิทธิพลอย่างมากคือ “ขยันให้เหงื่อออกตามขุมขน ดีกว่าขี้เกียจ แล้วยากจน จนน้ำล้นออกทางตา” โดยพระพยอม กัลยาโณ[13] เมื่อปี 2550
การแบ่งชนชั้นในสังคมไทยระหว่างผู้ที่จ่ายภาษีเงินได้ฯ กับผู้ที่ไม่ได้จ่ายภาษีเงินได้ฯ จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรงที่มีต่อคนจน ซึ่งเกิดจากการไม่ได้ตั้งคำถาม และความเชื่อในอำนาจนำที่เด็ดขาดอย่างต่อเนื่องจากในอดีตที่ได้นำประเทศไทยมาสู่ความเจริญอย่างรวดเร็วกว่าเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา, เมียนมา, ลาว, เวียดนามที่มีภาวะการเมืองที่ไม่มั่นคง ผู้เขียนมองว่าคนในเจน X เชื่อมั่นว่าระบบโครงสร้างสังคมนั้นวางไว้ได้ดีแล้วเนื่องจากได้มองเห็นคนในรุ่นพ่อแม่เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเข้าสู่ยุคของเจน Y และ millennium นั้น การท้าทายของอำนาจนำใหม่ของพรรคไทยรักไทยในเรื่องการเน้นเศรษฐกิจรากหญ้าที่เน้นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นอย่างมากนั้น อาจจะทำให้ชนชั้นกลางมีความรู้สึกผสมผสานระหว่างความไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของคนจน กลัวว่าเงินช่วยเหลือนั้นจะสูญเปล่า เพราะตนนั้นเชื่อว่าผู้ที่ตกชั้นทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมานั้น “ผิดที่ตัวเอง” แต่ความจริงแล้วสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมืองนั้นกดดันคนจน และการที่ฟองสบู่แตกในปี 2540 ทำให้ความก้าวหน้าของคนจนต้องหยุดชะงัก แต่คนรวยนั้นล้มบนฟูก[14]
คนจน = คนรวย
มุมมองที่มีความเห็นใจและความเชื่อในเรื่องความเท่าเทียมนั้นจะทำให้ผู้คนเริ่มตั้งคำถามมากขึ้น เริ่มต้นจากเรื่องภาษีก่อนน่าจะทำให้มีความเห็นใจขึ้นหรือไม่? ลองนึกภาพคนที่ไม่เคยแม้จะมีเงินเก็บ ไม่มีเครดิตทางการเงินที่จะกู้ใดๆ แทบไม่เหลือความฝันอื่นๆ ในชีวิตนอกจากว่าจะใช้ชีวิตให้มีความสุขไปในแต่ละวันด้วยเงินที่พอจะมีเหลืออยู่ และถูกกดทับจากวาทกรรมที่ว่าคนจนขี้เกียจ ไม่พยายามเอง ถูกกดทับทางการเมืองด้วยการล้มพรรคการเมืองที่พยายามช่วยเหลือ ถูกเอาเปรียบด้วยช่องโหว่ทางระบบที่คนรวยล้มบนฟูกแต่คนจนไม่มีโอกาสล้ม ถูกกดทับจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เติบโต ถูกใช้แรงงานมากกว่าปกติ จากนายทุน จากชนชั้นกลาง จากเครือข่ายค้ามนุษย์ จากเครือข่ายมาเฟียเงินกู้นอกระบบ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงเศรษฐกิจแต่เป็นเรื่องของการพัฒนาสังคมด้วยเช่นกัน ถูกกระบวนการยุติธรรมใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ถูกแบ่งแยกให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ถูกเหยียดหยามอีกสารพัด
ปัญหาเชิงชนชั้นและการแบ่งแยกต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ เพราะมันฝังรากลึกในถึงระดับวัฒนธรรมไปแล้ว เราต้องเชื่อว่าคนจนและคนรวยเกิดมามีศักยภาพเท่าเทียมกัน เราต้องมีความเชื่อมั่นว่าการสร้างโอกาสให้คนจน การทำความเข้าใจปัญหาของคนจนนั้นจำเป็นอย่างมากต่อการเดินหน้าต่อไปของประเทศไทย
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือในช่วงที่คนเสื้อแดงถูกล้อมปราบ คนส่วนมากในเมืองนั้นไม่เข้าใจความเป็นคนเท่ากัน แต่ผู้เขียนมองว่าคนเมืองในขณะนั้นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี มีความคิดที่ว่าคนเสื้อแดงที่มีภาพเป็นคนจนนั้นสร้างภาระให้คนเมือง จึงต้องจัดงาน Big Cleaning Day ขึ้น[15] การช่วยกันสร้างความเข้าใจในเรื่องโครงสร้างของประเทศไทยจึงมีความจำเป็นอย่างมาก หากลองได้เข้าใจเรื่องภาษีของคนจนแล้ว คงจะไม่เกิด Big Cleaning Day ในปี 2553 และการพัฒนาทางการเมืองไทยคงจะก้าวไปอย่างยั่งยืน
อ้างอิง
[1] สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง, 2565, ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาล
[2] สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง, 2565, ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาล
[3] คมชัดลึกออนไลน์ 2565, “บัตรคนจน” บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วันนี้ โอนค่าครองชีพหลายรายการ เช็คด่วน
[4] European Commission, 2022, What is EUROMOD?
[5] กรมสรรพากร, อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2560 ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ.2561 เป็นต้นไป
[6] Rapeepat Ingkasit, ใครคือ ‘คนไทยส่วนใหญ่’ ? เมื่อสถิติของประชากรไทยส่วนใหญ่อาจไม่ได้เป็นคนชนชั้นกลาง
[7] กรุงเทพธุรกิจ, 2564, คลังเปิดเกณฑ์ใหม่รายได้ครอบครัวถือบัตรคนจนไม่เกิน 2 แสนบาท
[8] ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย 2563 อ้างอิงใน ชนาภิวัฒน์ ขันทะ 2564, หนี้ครัวเรือนไทยกับแนวทางแก้ไขให้ยั่งยืน
[9] theglobaleconomy.com, Household debt to GDP by country: the latest data (2021)
[10] Banerjee & Duflo, 2007 อ้างอิงใน วิชญาดา ถนอมชาติ, ศิริขวัญ เจริญวิริยะกุล, กฤษดา เชียรวัฒนสุข, 2563, สาเหตุการคงอยู่ของหนี้นอกระบบในสังคมไทย
[11] วิชญาดา ถนอมชาติ, ศิริขวัญ เจริญวิริยะกุล, กฤษดา เชียรวัฒนสุข, 2563, สาเหตุการคงอยู่ของหนี้นอกระบบในสังคมไทย
[12] World Bank Group, 2022, World Bank national accounts data, and OECD National Accounts data files
[13] ryt9.com, 2550, คาลเท็กซ์ เดโล่ สนับสนุนคนไทยไม่ย้อท้อ
[14] คมชัดลึกออนไลน์,2552, พลิกแฟ้มคดีดัง-ย้อนรอย “ล้มบนฟูก” ช่องกฎหมาย…หายนะรากหญ้า
[15] WAYMAGAZINE 2565, 23 พฤษภาคม 2553 ‘12 ปี Big Cleaning Day’ การทำลายหลักฐานบนประวัติศาสตร์บาดแผลของคนเสื้อแดง