อาทิตย์ที่ 7 มีนาคม 2564 Common School หยิบวรรณกรรมอมตะ 1984 มาเปิดวงสนทนาถกเนื้อหาในหนังสือ นำสนทนาโดย อิสระ ชูศรี อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล มีนักอ่านกว่า 30 คนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกันอย่างออกรสออกชาติ ตั้งแต่การตีความภาษาในวรรณกรรม 1984 อำนาจรัฐ การจำกัดเสรีภาพ ทุนนิยม ซึ่งทั้งหมดยังคงเป็นประเด็นร่วมสมัย แม้ว่าวรรณกรรมเล่มนี้จะตีพิมพ์มาแล้วกว่าหลายทศวรรษ
ยืมหนังสือ โครงการอ่านเปลี่ยนโลก ไปอ่านฟรีๆ
ภาษากับการควบคุมความคิดจิตใจ
อิสระ ชูศรี กล่าวว่า จอร์จ ออร์เวลล์ พูดถึงปัญหาของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จไว้ในหนังสือ 1984 ได้ดี คือ สังคมเผด็จการเป็นสังคมที่ไม่จำเป็นต้องใช้เหตุผล เพราะความคิดของเราถูกควบคุมผ่านการจำกัดการรับรู้ด้วยภาษา จนละทิ้งความเป็นมนุษย์และเหลือเพียงการเชื่อฟังคำสั่งของผู้มีอำนาจเท่านั้น
การจำกัดการรับรู้ที่ระบอบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จใช้ควบคุมพลเมือง คือ ระบบคิดสองชั้น (Double Think) หมายถึงการปลูกฝังให้ยอมรับว่าสิ่งสองสิ่งที่ขัดแย้งกันเองนั้นถูกต้อง โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ว่ากำลังทำอย่างนั้นอยู่ การคิดทำให้คนเปลี่ยนใจได้ เพราะอาจจะได้คำตอบใหม่จากการคิด การคิดสองชั้นจึงไม่ได้ทำให้เกิดความรู้ใหม่ แต่ต้องการทำให้ยอมรับและทำตามจนละทิ้งตรรกะไปอย่างสิ้นเชิง รัฐบอกอะไรก็เชื่อตามนั้น ระบบคิดสองชั้นถือเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นและกลายเป็นมรดกทางความคิดที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้เลยก็ว่าได้
นักอ่านที่มาร่วมถกเถียงยกตัวอย่างการคิดสองชั้นที่พบเห็นในสังคมไทยว่าคือคนที่ไม่ชอบรัฐประหาร แต่ถ้าเป็นการรัฐประหารในประเทศไทยถือว่ายอมรับได้
“ประชาธิปไตย 99.99% ประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือเผด็จการเสียงข้างมาก คนที่บอกว่ามีความเห็นใจคนอื่น แต่พอคนเสื้อแดงตายกลับสะใจ หรือสังคมไทยมักบอกว่าให้มีผัวเดียวเมียเดียว แต่ถ้าเป็นคนที่มีบุญ มีเงิน ก็สามารถทำได้” นักอ่านคนหนึ่งกล่าว
ผู้ร่วมอีกคนกล่าวว่า ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ต้องการให้เรารับรู้ความจริง แต่ต้องการให้เชื่อในสิ่งที่ผู้มีอำนาจบอกว่าจริง รัฐในหนังสือ 1984 ใช้กลไกทุกอย่างทั้งเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ บิดเบือนประวัติศาสตร์ ใช้สื่อทุกชนิดเผยแพร่ข้อมูลด้านเดียวให้คนเชื่อ เพื่อความมั่นคงของพี่เบิ้ม ถ้า 2 + 2 = 5 ก็ต้องเท่ากับ 5 และคนก็พร้อมเชื่ออย่างสุดใจโดยไม่สงสัย กลับกันถ้ามีใครบอกว่า 2 + 2 = 4 อาจจะกลายเป็นคนผิดปกติในสังคมไปเลยก็ได้ และ ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรรมทางความคิด ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคำอธิบายและการใช้มาตรา 112 ในขณะนี้
ผู้ร่วมงานอีกท่านเสริมว่า พรรคอิงก์ซ็อก (Ingsoc) ยังบังคับให้ใช้ภาษาที่เรียกว่า นิวส์สปีก (NewsSpeak) เป็นภาษาที่ตัดคำรุ่มรวยไม่จำเป็นออกไป มีจุดประสงค์เพื่อต้องการจำกัดความหมายของภาษาให้เป็นตามที่พี่เบิ้มอยากห้รับรู้เท่านั้น เมื่อความหมายของคนในภาษาถูกจำกัด ความคิดและความรับรู้ของเราก็มีจำกัดเดียวเช่นเดียวกัน เราจะไม่สามารถคิดไปได้ไกลกว่านี้อีกแล้ว
“นี่คือสิ่งที่ 1984 พยายามชี้ให้เราเห็นว่ารัฐใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการควบคุมความคิดและจิตใจของผู้คน” นักอ่านบอกกับวงสนทนา
การควบคุมพลเมืองในรัฐเผด็จการไม่เพียงแต่ควบคุมร่างกายของเราเท่านั้น แต่ยังควบคุมความคิดจิตใจผ่านภาษา สร้างการรับรู้ใหม่ต่อประวัติศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้พลเมืองเกิดความหวาดกลัวราวกับมีเสียงจากโทรภาพหรือ สายตาคู่นั้นของพี่เบิ้มกำลังจับจ้องอยู่ทุกเมื่อ หากมีความคิดที่ผิดแปลกไปจากคนทั่วไป
ผู้เข้าร่วมงานท่านหนึ่งเล่าประสบการณ์ในตอนเด็กให้ฟังว่า เคยดูละครไซอิ๋วตอนที่ซุนหงอคงไปท้าทายพระยูไล และจินตนาการว่าตัวเขาเองไปนั่งอยู่บนหัวของพระยูไล เมื่อนึกขึ้นได้ก็รู้สึกผิดจนนอนไม่หลับ หลังจากได้อ่าน 1984 จึงรู้ว่านี่คือกลไกอำนาจรัฐที่ทำงานอยู่ในหัวของเราได้แต่คิดอยู่ในใจ แต่ก็ไม่กล้าแสดงออกมา
การต่อสู้กับรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ
ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งเปิดประเด็นว่า ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะมีหนทางในการต่อสู้กับรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จที่สามารถควบคุมความคิดจิตใจของผู้คนได้อย่างไร ?
อิสระ ตอบถ้าอ่านงานหลายๆ ชิ้นของออร์เวลล์จะเห็นว่ามีลักษณะเป็นวรรณกรรมแนวสัจนิยม (Realism) ไม่ได้มุ่งเน้นผลิตคำนิยามเปลี่ยนแปลงความหมายอย่างงานเขียนประเภทหลังโครงสร้างนิยม (Post Structuralism) แต่ออร์เวลล์มองว่าถ้ายึดกุมความเป็นจริงแท้ได้ ถ้าเชื่อว่า 2 + 2 = 4 อำนาจนิยมก็ทำอะไรไม่ได้
“การใช้วิจารณญาณจึงมีความสำคัญมาก สิ่งที่พรรคอิงก์ซ็อกทำคือการทำให้คนยอมรับอำนาจ และไม่ต้องใช้วิจารณญาณ หนำย้ำยิ่งใช้วิจารณญาณ ยิ่งทำให้เดือดร้อน” อิสระ อธิบาย
ในเรื่องฉายภาพให้เห็นว่าตอนแรกวินสตันไม่มีความหวังเลย พอตกหลุมรักก็มีความหวัง แต่สุดท้ายก็ถูกพรากความหวังไป และไม่สามารถรอดพ้นสายตาที่สอดแนมอยู่ตลอดเวลาได้ ทั้งยังตอกย้ำการยอมจำนนและจงเจริญภักดีต่อพี่เบิ้มก็ไม่เสียหายอะไร
อิสระ ย้ำว่าสิ่งที่ออร์เวลล์เสนอคือ “แม้ว่าจะถูกทรยศหักหลังอย่างไร อย่างน้อยการยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอาจทำให้เรายังคงมีสติอยู่ การไม่ศรัทธาต่อพี่เบิ้มกลายเป็นอาการป่วยที่ต้องได้รับการรักษา การที่ตัวเราเองมีความสามารถในการประเมินว่าป่วยหรือไม่นั้น เท่ากับการไม่ปล่อยให้คนอื่นมาพรากวิจารณญาณของเราไป ยืนหยัดในความคิด ความเชื่อ ความมีเหตุมีผล และเชื่อในความเป็นจริง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในรัฐเผด็จการ”
ผู้อ่านท่านหนึ่งกล่าวว่า ในอดีตไม่ว่าจะเป็นสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ หนังสือ และตำราเรียน อยู่ในการควบคุมและถูกปิดกั้นโดยรัฐทั้งหมด รัฐเผด็จการเลือกประวัติศาสตร์บางช่วงบางตอนมาให้ประชาชนรับรู้เท่านั้น แต่ทุกวันนี้มีช่องทางในการหาข้อมูลเยอะแยะมากมาย รัฐจึงไม่สามารถปกปิดความจริงได้อีกต่อไป รัฐไม่สามารถควบคุมปัจจุบันได้อีกแล้ว ใครอยากรู้อะไรสามารถหาคำตอบในอินเตอร์เน็ตได้ทันที
“เมื่อรัฐเผด็จการปิดกั้นสื่อหรือสื่อสิ่งพิมพ์ ทุกคนยังสามารถเผยแพร่ต่อได้อย่างรวดเร็ว นี่แสดงให้เห็นว่ารัฐเผด็จการไม่สามารถควบคุมอดีตได้แต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป อดีตไม่ได้มีแค่เพียงแง่มุมเดียวที่ถูกนำเสนอจากรัฐ มันทำให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมที่เน้นพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์อย่างเดียวนั้นทำให้มองประวัติศาสตร์ผิดพลาดจากข้อเท็จจริง และไม่มีประชาชนอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติ แต่ปัจจุบันพวกเราสามารถสร้างความคิดชุดใหม่ขึ้นมาในสังคมได้” ผู้อ่านท่านหนึ่งกล่าว
ผู้เข้าร่วมอีกท่านปิดประเด็นนี้ได้อย่างน่ารับฟังว่า “การขบถของคนธรรมดาอย่างเราๆ นั้นเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ เมื่อใดก็ตามที่เรารู้ตัวว่าเรากำลังถูกกดขี่จากอำนาจที่ไม่เป็นธรรม เมื่อไหร่ที่มีสำนึกรู้ในจุดนี้ได้ เมื่อนั้นแหละการขบถจึงเกิดขึ้น การสร้างความเปลี่ยนแปลงมีโอกาสเป็นไปที่จะสำเร็จ ดังเช่นเนื้อหาในหนังสือ (หน้า 121) ที่ว่า ‘พวกเขาไม่มีวันกบฏจนกว่าจะสำนึกรู้ และพวกเขาไม่มีทางสำนึกรู้จนกว่าจะกบฏเข้าให้แล้ว’
ความสำคัญในการยืนหยัดในความจริงที่ถูกต้องท่ามกลางการควบคุมความคิดจากรัฐทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเริ่มทำได้ทันที เพราะรัฐดำรงอยู่ได้เพราะความยินยอมของประชาชน หากประชาชนปฏิเสธสิ่งที่รัฐบอกหรือให้เราเชื่อ รัฐก็ดำรงอยู่ไม่ได้ โดยยกเนื้อหาในหนังสือ (หน้า 133) ว่า ‘เสรีภาพ เสรีภาพที่จะพูดว่า 2+2 = 4 ถ้าทำสิ่งนี้สำเร็จอย่างอื่นก็จะตามมา’”
การควบคุมชนชั้นกรรมาชีพด้วยสิ่งมอมเมาในโลกทุนนิยม
ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งเปิดประเด็นว่า วิสตันมีความพยายามในการขบถต่อพี่เบิ้มและฝากความหวังในการเปลี่ยนแปลงไว้กับชนชั้นกรรมาชีพ แต่สุดท้ายเขาก็ถูกจับได้ ถูกทรมาน และถูกล้างสมองให้กลายเป็นพลเมืองที่ดี เป็นหูเป็นตาให้พี่เบิ้ม เพื่อรักษาระเบียบสังคมของโอชันเนียเอาไว้
“สังคมไทยก็ไม่ต่างจากโอชันเนียเท่าใดนัก ทหารหรือตำรวจในระบบที่มีความสงสัยในคำสั่งของผู้บังคับบัญชา พวกเขาจะถูกซ่อม ธำรงวินัย ถูกซ้อมทรมาน ถึงขั้นเสียชีวิต ผู้ที่รอดมาได้ก็กลายเป็นคนที่ชินชากับระบบ กระบวนการเหล่านี้นอกจากเปลี่ยนคนที่ขบถให้กลายเป็นคนที่ยอมจำนนแล้ว ยังทำลายความเป็นมนุษย์อีกด้วย” นักอ่านท่านหนึ่งเสริม
ผู้เข้าร่วมอีกท่านเสริมได้อย่างน่าสนใจว่า รัฐใน 1984 ใช้ 4 ปัจจัยมอมเมาพลเมือง เพื่อควบคุมให้ชนชั้นกรรมาชีพไม่ลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติ โดยไม่ต้องมีโทรภาพอยู่ในบ้านของชนชนั้นกรรมาชีพ ซึ่งได้แก่
1. อาหาร รัฐทำให้อาหารขาดแคลน กรรมากรจะได้หมกมุนอยู่กับการหาอาหารเพื่อประทังชีวิตไปวันๆ
2. เหล้ายิน เพื่อให้กรรมาชีพดื่มด่ำอยู่กับความมึนเมา แสงสีเสียงยามราตรี
3. ล็อตตารี่ พรรคอิงก์ช็อกมอมเมาชนชั้นกรรมาชีพด้วยล็อตตารี่ที่ออกรางวัลทุกวัน แม้ว่าชนชั้นกลางและชนชั้นสูงของพรรคอิงก์ช็อกจะรู้ว่าคนที่ได้รางวัลใหญ่จะเป็นคนที่ไม่มีตัวตนในโลกความเป็นจริง เพื่อให้ชนชั้นกรรมาชีพมีความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าสักวันจะได้รับรางวัลใหญ่ หมกมุนอยู่กับการลุ้นรางวัลจนไม่ต้องคิดถึงการปฏิวัติ
4. สื่อลามก พรรคอิงก์ช็อกอนุญาตให้ชนชั้นกรรมาชีพสามารถเสพสมกามารมณ์และดูสื่อลามกที่พรรคอิงก์ช็อกเป็นผู้ผลิตได้อย่างเสรี ในขณะที่เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับชนชั้นอื่นๆ และต้องทำไปเพื่อการมีบุตรเท่านั้น
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐมอมเมาเพื่อต้องการให้ชนชั้นกรรมาชีพจมปลักอยู่กับความหวังลมๆ แล้งๆ ที่ไม่มีวันเป็นจริง เพื่อลืมเรื่องราวของการปฏิวัติลุกฮือต่อต้านพี่เบิ้ม พลังการปฏิวัติจึงถูกทำลายด้วยสิ่งมอมเมาจากระบบทุนนิยมและรัฐเผด็จการ
ประเด็นร่วมสมัยในสังคมไทยของ 1984
“1984 เป็นหนังสือแปลที่มีความเก่าแก่หรือแปลก่อนที่เราจะเกิดด้วยซ้ำ ระบอบสตาลินที่ออร์เวลล์ต้องการเสียดสีก็ล่มสลายไปแล้ว แต่ผู้คนยังคงอ่านมันอยู่เสมอ เพราะหนังสือมีความร่วมสมัย” อิสระ ชูศรี กล่าว
อิสระ เสริมต่อว่าระบอบอำนาจนิยมมีพลังในการจัดการควบคุมความคิดของประชาชนด้วยกลไกแบบต่างๆ และเล่นกับธรรมชาติของความกลัวของมนุษย์ที่ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น “วินสตันถูกไฟฟ้าช็อตเพื่อให้สารภาพในข้อหาอาชญากรทางความคิดของรัฐ และใช้หนูซึ่งเป็นสิ่งที่วินสตันกลัวที่สุดเพื่อทรมานให้เขายอมจำนนต่ออำนาจของพี่เบิ้ม ถ้าคุณเป็นนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง คุณก็จะเจ้าหน้าที่ตามไปคุกคามถึงที่บ้าน ใช้ผู้ปกครองกดดันให้หยุดเคลื่อนไหว ระบอบอำนาจนิยมรู้ว่าคุณกลัวอะไรและจะจัดการคุณอย่างไร”
ผู้เข้าร่วมอีกท่านอธิบายว่า กระบวนการทรมานและล้างสมองผู้คนเข้าไปทำงานในระดับจิตใจและทำให้รู้สึกว่าการต่อต้านไม่มีประโยชน์ เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้อยู่ดี ทนอยู่กับระบบแบบนี้ดีกว่า เช่นเดียวกับกลุ่มคนในสังคมไทยที่ชินชากับการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ดังนั้นหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ใช้แค่อำนาจบังคับอย่างเดียว แต่ยังทำให้เราเชื่อและยอมรับไปแล้วว่าไม่มีประโยชน์ที่จะต่อต้านขัดขืน ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานอยู่ในระบบก็มักจะบอกว่า หากออกมาเคลื่อนไหวก็อยู่ยากและมีครอบครัวที่ต้องดูแล ท้ายที่สุดก็ถูกระบบกลืนกิน
นักอ่านท่านหนึ่งเสนอประเด็นที่ร่วมสมัยกับสังคมไทยอย่างรายการสองนาทีแห่งความเกลียดชังและสัปดาห์แห่งความเกลียดชังว่า “ทุกวันนี้เราอยู่ในสังคมที่มีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชนและสร้างศัตรูแห่งชาติขึ้นมาให้ประชาชนหวาดกลัว เมื่อความเกลียดและความกลัวเข้าครอบงำ เรามักจะละทิ้งการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริงที่เกิด จนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของผู้เห็นต่างและพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อกำจัดผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองออกไปจากสังคม เพียงเพราะคิดไม่เหมือนผู้มีอำนาจและถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรรมทางความคิด”
นักอ่านอีกท่านเสนอว่า เหตุการณ์การสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 หรือ การสังหารคนเสื้อแดงในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ซึ่งมีกลุ่มคนบางกลุ่มสะใจและยินดีกับการเห็นคนถูกสังหารก็ไม่ต่างกัน แม้กระทั่งล่าสุดอย่างการจับอนาคตของชาติด้วยมาตรา 112 พวกเขาต้องสูญสิ้นอิสรภาพเพียงเพราะมีความคิดไม่เหมือนพี่เบิ้ม ในแง่นี้สังคมที่เราอยู่ไม่ได้แตกต่างกับในหนังสือ 1984
อย่าหยุดคิด-อย่าหยุดตั้งคำถามในสังคมเผด็จการ
“แม้ตอนจบของเรื่องดูเหมือนจะสิ้นหวัง วินสตันตัวเอกของเรื่องถูกจับล้างสมอง ต้องทรยศคนรัก ชนชั้นกรรมาชีพไม่อาจเป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงได้อีกต่อไป และพรรคอิงก์ซ็อกครอบงำความคิดจิตใจของผู้คน อย่างไรก็ตาม ขอให้เรายังคงมีความหวังต่อไป เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่หมดหวังและเริ่มชินชา เมื่อนั้นอำนาจเผด็จการก็จะเข้าครอบงำเราทันที
จงหล่อเลี้ยงความหวังและความขบถของตัวเองไว้เสมอ อย่าหยุดตั้งคำถามในสังคมอันจนปัญญา แม้ว่าคำถามของเราจะไม่ได้สำคัญอะไร ก็จงตั้งคำถามต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง การตั้งคำถามและการขบถเป็นสิ่งที่ยังรักษาความเป็นมนุษย์และจิตวิญญาณเอาไว้ สุดท้ายอย่าหยุดอ่านหนังสือ เพราะหนังสือจะเปิดพรหมแดนความรู้ให้กว้างไกลและสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญาในรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จเช่นนี้ได้” ผู้เข้าร่วมงานท่านหนึ่งกล่าวทิ้งท้าย