ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC เป็นศาลสำคัญที่ช่วยปกป้องบุคคลจากการก่ออาชญากรรมร้ายแรงของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ และติดตามดำเนินคดีผู้กระทำความผิด ที่แม้จะมีการนิรโทษกรรมก็ไม่ช่วยทำให้ผู้กระทำความผิดพ้นผิดไปได้
ICC ถูกจัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญกรุงโรม 2002 ซึ่งกำหนดว่า คดีที่ฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศได้ จะต้องแสดงให้ศาลเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมภายในประเทศนั้นไม่มีเจตจำนงในการดำเนินคดี หรือไม่มีความสามารถเพียงพอในการดำเนินคดี
เสวนา “ICC กับความยุติธรรมที่ยังเอื้อมไม่ถึง” คือวงที่จะตั้งคําถามถึงความท้าทาย ความเป็นไปได้ และบทบาทของภาคประชาสังคม สื่อมวลชน วิชาการ และพรรคการเมืองในการหยุดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดและการผลักดันให้ประเทศไทยให้สัตยาบันข้างต้น โดยมี พวงทอง ภวัครพันธุ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีผู้ร่วมเสวนา 3 คน คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล ธิดา ถาวรเศรษฐ และเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง
ทำไมสังคมไทยต้องพูดถึง ICC (อีกครั้ง)
ในฐานะผู้ดำเนินรายการ พวงทอง ภวัครพันธุ์ เกริ่นนำว่า การพูดถึงเรื่อง ICC จำเป็นต้องมีการท้าวความถึงที่มาเสียก่อน และเริ่มเล่าว่า ICC เป็นประเด็นที่ผุดขึ้นมาในสังคมไทยหลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 โดยมีกระแสเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสังหารประชาชนครั้งนั้นมาดำเนินคดีเป็นแรงขับสำคัญ
พวงทองไล่เรียงว่า แรกเริ่มได้มีกระบวนการภายในประเทศก่อน หลังการสลายการชุมนุมก็มีการโจมตีกัน ฝ่ายผู้ชุมนุมบอกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็บอกว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธและเป็นผู้ก่อการร้าย จากนั้นแต่งตั้งคอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) นำโดยคณิต ณ นคร และสมชาย หอมลออ ซึ่งภายหลังมีรายงานออกมาเน้นหนักไปที่ชายชุดดำ โดยไม่มีการกล่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
การออกรายงานชิ้นนั้น ส่งผลให้กระแสการรายงานของสื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือรายงานว่าผู้ชุมนุมเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรง และไม่มีการเรียกร้องให้มีการนำรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี
อย่างไรก็ดี ข้อมูลของ คอป. กลับตรงกันข้ามกับรายงาน ศปช. (ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53) ซึ่งชี้ว่าผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตทั้งหมด ไม่มีใครมีอาวุธที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐได้อยู่ในมือเลย
พวงทองยังเล่าว่า ขณะที่พรรคประชาธิปปัตย์เป็นรัฐบาล คดีเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมปี 53 ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีแม้กระทั่งการไต่สวนการตาย ซึ่งเป็นกรณีที่มีผู้ร้องเรียนว่าพลเรือนเสียชีวิตจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ
ทั้งนี้ ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ศาลหลายๆ ที่สรุปว่า ผู้ชุมนุมอย่างน้อย 17 คน เสียชีวิตจากกระสุนที่ยิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เดือนตุลาคม 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษร่วมกับอัยการ เข้าฟ้องอภิสิทธิ์และสุเทพ ข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนา
ศาลอาญามีการประทับรับฟ้องในครั้งนั้น
กระทั่งเกิดรัฐประหารปี 2557 ศาลอาญาที่เคยประทับฟ้องเกิดไปรับฟังความเห็นของพรรคประชาธิปปัตย์ ที่บอกว่าคดีดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา แต่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) เพราะเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่ใช่การกระทำอาญาในทางส่วนตัว
“พูดง่ายๆ ศาลลดระดับความรุนแรงของคดีอาญา ให้เป็นแค่ข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น”พวงทองสรุป
ต่อมา ป.ป.ช. ตัดสินว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด ทั้งๆ ที่ไม่มีการเรียกพยานฝ่ายผู้เสียหายไปให้การแต่อย่างใด เรื่องในศาลอาญาก็เป็นที่ยุติ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ยืนตามว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจพิจารณาคดี ทำให้การดำเนินคดีในประเทศถึงทางตัน เมื่อกระบวนการพิจารณาคดีในประเทศถึงทางตัน จึงได้มีความพยายามในการเข้าพบอัยการของ ICC
ต่อมา อัยการของ ICC ได้ตอบรับและชี้ว่ากรณีปี 53 อยู่ในข่ายที่ ICC สามารถพิจารณาได้ จึงได้มีการเข้าพบ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และแจ้งว่า ICC เข้ามาได้ ขอเพียงรัฐบาลลงนามให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมเท่านั้น
การลงนามนั้นไม่เกิดขึ้น และเกิดรัฐประหารเสียก่อน
ตรงนี้เองคือจุดที่ทำให้เราต้องมาคุยเรื่อง ICC ต่อ
4 วิธีการส่งเรื่องไปศาล ICC
ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นผู้ที่ออกมาพูด ICC มาตลอดระยะเวลา 10 ปี นับแต่ปี 2555 ที่เป็นประเด็นทางสังคมนับแต่การสลายการชุมนุมปี 2553 ดังที่เกริ่นไปตอนต้น
ครั้งนี้ปิยบุตรเริ่มต้นด้วยการบรรยายถึงวิธีการในการส่งเรื่องไปยังศาล ICC ว่าสามารถทำได้ผ่านช่องทางใดได้บ้าง โดยสรุปออกมาเป็น 4 วิธีการใหญ่ ดังนี้
- เข้าเป็นรัฐสมาชิกและให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม
- คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) เห็นว่าเป็นกรณีร้ายแรงจึงได้จัดการส่งเอง แม้รัฐนั้นไม่ให้สัตยาบันก็ตาม ตัวอย่างสำคัญเกิดขึ้นมาแล้วคือ ประเทศลิเบียและยูกันดา
- แม้รัฐจะไม่ยอมให้สัตยาบัน แต่ก็สามารถใช้วิธีการทำประกาศยอมรับเขตอำนาจศาล ICC โดยอาศัยข้อ 12 (3) ของธรรมนูญกรุงโรม ที่เป็นการรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะเวลา เฉพาะกรณี ตัวอย่างสำคัญในกรณีนี้คือ ประเทศโกตดิวัวร์ (หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไอวอรีโคสต์)
- อัยการของ ICC มีอำนาจเปิดกระบวนพิจารณาด้วยตัวเอง แบบที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศเคนย่า
สำหรับประเทศไทย ปิยบุตรพิจารณาความเป็นไปได้เรียงรายวิธีการว่า ในเมื่อไทยยังมีสถานะเป็นแค่รัฐสมาชิกแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม ดังนั้น ไทยก็ยังไม่สามารถส่งเรื่องไป ICC ตามวิธีการแรกได้เลย
วิธีการที่ 2 ก็มีความเป็นไปได้ยาก เพราะเมื่อเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นที่มีผู้เสียชีวิตเป็นหมื่นคน กรณีของไทยยังนับว่าน้อยกว่ามาก
วิธีการที่ 3 ซึ่งปิยบุตรเน้นหนักเป็นพิเศษ และกล่าวว่าการหากอาศัยข้อ 12(3) นี้ จะเป็นวิธีที่ไทยสามารถส่งเรื่องรายกรณีไปพลางก่อนได้ ทั้งยังมีข้อดีคือสามารถใช้ถอยหลังไปยังกรณีที่เกิดตั้งแต่ 1 กรกฏาคม 2545 ซึ่งเป็นปีที่เกิดธรรมนูญกรุงโรมได้ทั้งหมด ตรงกันข้ามกับการให้สัตยาบันที่จะกำหนดเขตอำนาจศาลให้พิจารณาได้เฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นหลังวันที่ให้สัตยาบัน กล่าวคือ หากประเทศไทยเกิดให้สัตยาบันในวันนี้ เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 ก็ไม่อยู่ในขอบเขตการพิจารณา
ส่วนวิธีการที่ 4 นั้นก็ยังติดข้อจำกัดว่ารัฐสมาชิกได้ให้สัตยาบันแล้วหรือยังอยู่
แพ็กเกจ 3 ข้อ ถึงพรรคการเมือง ของปิยบุตร
ปิยบุตรยังแสดงทรรศนะว่า
“กรณีเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ ในเมื่อกำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วๆนี้ ควรเรียกร้องต่อพรรคการเมืองทุกพรรคว่าถ้าเป็นเสียงข้างมาก เป็นรัฐบาล จะดำเนิน 3 ข้อ
หนึ่ง รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมทันที
สอง ใช้ธรรมนูญกรุงโรมข้อ 12(3) รับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะช่วงเวลา เฉพาะกรณี ให้ครอบคลุมถึงการสลายการชุมนุมปี 53 สงครามยาเสพติด หรือเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้
สาม แก้ไขกฎหมายกำหนดความผิดอาญาระหว่างประเทศทั้ง 4 ฐาน ได้แก่ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรสงคราม และ รุกราน”
ร้อง ICC เพื่อหยุดประเทศไทยจากการถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก
“ถามว่าทำไมต้องไปร้อง ICC มันไม่ใช่เป็นเพราะคนเสื้อแดงตาย ไม่ใช่เพราะกรณีปี 53 แต่ประเทศไทยถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ดิฉันไม่ได้ไปเรียกร้องเฉพาะปี 53 … เราร้องเพราะไม่ต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับประเทศไทยซ้ำแล้วซ้ำอีก ที่คุณฆ่าแล้วคุณก็ลอยนวลพ้นผิด”
ธิดา ถาวรเศรษฐ กล่าวนำอย่างหนักแน่น ก่อนจะเล่าประสบการณ์ต่อว่า เริ่มร้องตั้งแต่เมื่อครั้งตนเป็นประธาน จนเมื่อจดหมายไปถึง ICC รอบแรก ก็ได้ขอให้ทาง ICC มาสังเกตการณ์และเก็บข้อมูล เพราะเชื่อว่าการเสียชีวิตและการจับคุมกุมขังคนกว่า 5-6 พันคน ตลอดจนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บที่มีจำนวนมากนั้น เป็นงานใหญ่มาก ยังไม่ต้องนับว่า ณ เวลานั้นยังไม่มีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือกองทุนราษฎร อย่างในทุกวันนี้ ทำให้การขยับเขยื้อนโดยอาศัยเพียงตนเองจึงเป็นเรื่องยากลำบากมาก
ขณะที่ธิดากำลังพูดอยู่นั้น พวงทองยิงคำถามแทรกขึ้นมาว่า ช่วงที่ธิดาไปเข้าพบกับ ICC ได้มีการปรึกษาหารือกับพรรคเพื่อไทย หรือคุณทักษิณ ชินวัตรหรือไม่ ด้านธิดาตอบกลับทันทีว่า ‘ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน’ ทั้งยังกล่าวเสริมเจตนาตนอีกว่า
“นปช. ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย เพราะลำพังองค์กร นปช. ก็ปวดหัวมากแล้ว ถ้าไปยุ่งกับพรรคเพื่อไทยอีกก็ไปกันใหญ่ ดิฉันเขียนจดหมายไปตั้งแต่ปี 53 ถามว่าจะต้องบอกกับใคร ไม่จำเป็น คุณเป็นประธาน นปช. ไม่ทำได้อย่างไร มันหาทุกทาง”
ต่อมาธิดามีข้อเสนอประการหนึ่งที่คล้ายกับปิยบุตร คือเสนอให้ใช้ธรรมนูญกรุงโรมข้อ 12(3) เป็นช่องทางในการรับรองเขตอำนาจศาล ICC ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่ารัฐมนตรีไทย คล้ายจะมีความสับสนระหว่างการลงสัตยาบันกับธรรมนูญกรุงโรมข้อ 12(3) นี้
“สำหรับดิฉัน เราเป็นนักต่อสู้ประชาชน เราไม่คิดอย่างเขา เมื่อมันควรจะทำก็ต้องทำ และเราต้องรับผิดชอบการกระทำนั้นได้ ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่ามันเฉพาะกรณีนี้ ทำไมไม่ทำ แต่คุณสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล [รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น] แม้กระทั่งใกล้วันทำรัฐประหาร หมอเหวง [โตจิราการ] โทรไปขอร้องว่าอีกไม่กี่วันเค้ารัฐประหารแน่นอน คุณช่วยกรุณาเซ็นต์สักหน่อย คำตอบก็คือไม่มี ตามความคิดของดิฉันคือ เค้าเกรงว่าธรรมนูญกรุงโรมจะไปมีปัญหากับมาตรา 6 ดิฉันเข้าใจอย่างนั้น อันนี้มองในด้านบวก ก็คือเค้าไม่รู้ว่าถ้าใช้ 12(3) มันก็ไม่เกี่ยวกับประมุขเลย และในนี้มันระบุเฉพาะอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะ ICC เค้าจะเล่นงานบุคคล ไม่ใช่รัฐ นอกจากเล่นงานบุคคลแล้ว บุคคลที่ถูกเล่นงานจะต้องอยู่ในรัฐภาคี ปรากฏว่า ทนายอัมสเตอร์ดัมรู้มาว่า อภิสิทธิ์มีสัญชาติอังกฤษและยังไม่ได้ถอนสัญชาติ ดังนั้นการฟ้องอภิสิทธิ์นั้นทำได้”
“ฉะนั้น อันแรกที่ทำง่ายที่สุดคือ 12(3) ก็คือขอให้ได้นับหนึ่ง แม้จะเป็นกรณีของคนเสื้อแดงก็ตาม ก็คือเรียกร้องจากรัฐ พรรคการเมืองทั้งหลายที่ได้เป็นรัฐบาล โดยเฉพาะฝ่ายประชาธิปไตย ว่าคุณปล่อยให้มีคนตายแล้วตายอีกแบบนี้ไม่ได้”ธิดาสรุป
ธิดายังทิ้งท้ายอีกหนึ่งข้อเสนอว่า จำเป็นต้องมีการรณรงค์ทางความคิดในทางบวก กล่าวคือ ตั้งคำถามกับพรรคการเมืองว่า ต้องการให้ประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยเป็นสากลจริงหรือไม่ อำนาจเป็นของประชาชนแท้จริงไหม เพราะหากต้องการเช่นนั้น ก็ต้องมีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งหมายถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม
“พวกนี้ต้องแก้หมด ถ้าคุณอยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยแบบสากล คุณต้องแก้กฎหมายให้สอดคล้อง นี่ไม่ได้พูดเรื่องการล้มสถาบันไหนเลย”
ธรรมนูญกรุงโรม vs มาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ
“สังคมไทยมีความกลัวมากในเรื่องพระมหากษัตริย์อาจจะถูกฟ้องร้อง…หรือเปล่า?”
คือประเด็นที่ธิดาวางทิ้ง ซึ่งสามารถพิจารณาคู่ไปกับทรรศนะของปิยบุตรได้
ทั้งนี้ จำเป็นต้องทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อนว่า เหตุผลสำคัญอันหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาไม่ลงนามสัตยาบันตลอดเวลา คือการบอกว่า การลงนามสัตยาบันจะเป็นการขัดต่อมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 (หรือก็คือมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550) ซึ่งบัญญัติว่า
“องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”
สำหรับประเด็นนี้ ปิยบุตรชี้ว่า ประเด็นที่ถูกอ้างนั้นอยู่ในธรรมนูญกรุงโรมข้อ 27 ที่มีเจตนาเขียนไว้เพื่อปลดความคุ้มกันของผู้นำเผด็จการทั้งหลาย ที่มักเขียนให้กฎหมายภายในคุ้มกันตนเพียงเท่านั้น ไม่ได้มีลักษณะขัดกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และที่สำคัญที่สุด การอ้างว่าธรรมนูญข้อ 27 นี้ จะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการอ้างเหตุผลที่ ‘อันตราย’ ด้วยเหตุผลสองประการ
ประการแรก หลายรัฐที่มีกษัตริย์เป็นประมุขก็ลงนามให้สัตยาบันรับรองธรรมนูญกรุงโรม และเข้าร่วมเป็นรัฐสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ สวีเดน สเปน นอร์เวย์ ลักเซมเบิร์ก ญี่ปุ่น มาเลเซีย กัมพูชา ฯลฯ ประเทศเหล่านี้มีรูปแบบการปกครองแบบเดียวกับไทยทั้งสิ้น คือระบอบ Constitutional Monarchy
ประการที่สอง ระบอบ Constitutional Monarchy นั้น กษัตริย์ไม่ได้ทรงใช้อำนาจเอง กล่าวคือ คนที่ต้องรับผิดชอบการกระทำทั้งหมดคือรัฐมนตรีที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ กษัตริย์ไม่เกี่ยว ตามหลัก the king can do no wrong because the king can do nothing เช่น หากรัฐบาลกระทำอะไรผิด ไปก่อสงคราม ไปฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คนที่รับผิดชอบก็คือ รัฐบาล นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้กระทำ เป็นผู้รับผิดชอบ กษัตริย์ไม่เกี่ยว ในทางกลับกัน ยิ่งไปให้เหตุผลแบบที่รอยัลลิสต์บางกลุ่มให้เหตุผลยิ่งเป็นอันตราย เพราะคนจะเริ่มคิดว่า สรุปแล้วเป็นเช่นใดกันแน่? แล้วเอามาใช้อ้างไม่เข้าร่วมกับศาลอาญาระหว่างประเทศเพราะเกรงว่ากษัตริย์จะเกี่ยวข้องหรือไม่ แบบนี้อันตราย ในต่างประเทศเขาไม่ได้สนใจเลย แล้วก็ไม่ได้ให้เหตุผลแบบนี้กันด้วย เพราะตามระบอบ Constitutional Monarchy กษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว รัฐบาลผู้ลงนามรับสนองเป็นผู้ที่ใช้อำนาจที่แท้จริง ดังนั้นต้องไปรับผิดชอบเอง
ความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เริ่มด้วยการบอกว่า อุปสรรคใหญ่ที่จะทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้มี 2 ประการ
- อายุความ เพราะถ้าอายุความหมดก็ฟ้องไม่ได้ เหลือเพียงความรับผิดทางศีลธรรม
- ความคุ้มกัน ซึ่งตามหลักมี 2 แบบ แบบแรก-ในทางระหว่างประเทศ เป็นข้อตกลงร่วมกันคือ ประมุขของรัฐ ของรัฐบาล จะไม่ถูกจับกุมบนดินแดนอื่น แบบที่สอง-ความคุ้มกันในประเทศ คือตรากฎหมาย เช่น ตรากฎหมายนิรโทษกรรม
เข็มทองยังชี้ให้เห็นความเป็นไปได้เอาชนะอุปสรรคใหญ่นี้ผ่านการยกตัวอย่างกรณีความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านในชิลี
ภายใต้รัฐบาลทหารของ Pinochet ตุลาการเป็นสถาบันหนึ่งที่ถูกใช้เป็นกลไกการปกครอง โดยตลอดยุคสมัยของ Pinochet นั้น ศาลจะไม่รับฟ้องเรื่องอุ้มหาย ทรมาน ศาลจะไม่รับฟ้อง อย่างสิ้นเชิง
จนกระทั่ง หลัง Pinochet หมดจากอำนาจ และเดินทางไปอังกฤษ ปรากฏว่าศาลสเปนออกหมายจับเขา และศาลอังกฤษก็รับลูกต่อ อ้างว่าเป็นเรื่องเขตอำนาจศาลสากล ซึ่งแม้ Pinochet จะได้รับความคุ้มกัน แต่อาชญากรรมที่เขาทำมันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สุดท้าย แม้ Pinochet จะหลุดกลับไปชิลีได้ Pinochet ก็ต้องถูกสอบสวนในชิลีอยุ่ดี
เข็มทองเน้นว่า การจับ Pinochet เป็นหมุดหมายทางการเมืองที่ขยับอะไรบางอย่างในวงการตุลาการชิลี มันส่งผลให้ทิศทางตุลาการของชิลีเปลี่ยน โดยหลังจากเหตุการณ์นั้นศาลภายในชิลี ก็มองข้ามเรื่องอายุความ และให้เหตุผลว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เคยออกมาไม่ชอบธรรม
จากนั้นชิลีจึงเริ่มมีการเอาผิดทหาร หรือกระทั่งตัวศาล ที่เคยเป็นมือไม้ในกระบวนการกระทำความผิด
อย่างไรก็ดี เข็มทองทดกรณีตัวอย่างนี้ไว้ว่า สภาพนี้มันเกิดขึ้นได้ก็จริง แต่ก็ไม่ง่ายนัก หากต้องอาศัยการทำงานหนัก เพราะขนาดสุดท้ายระบอบเปลี่ยน Pinochet กลับมาก็ไม่เคยถูกเอาผิด เพราะตายจากไปเสียก่อน
ทั้งนี้ หากมองไปยังระบบศาลภายนอกอย่าง ICC เข็มทองอธิบายว่า เจตนารมณ์ของ ICC คือ เพื่อยุติความคุ้มกันรัฐในเรื่องความรับผิด ที่รัฐทำผิดแล้วลอยนวล (to end impunity) ดังนั้น แม้กฎหมายภายในจะมีอายุความ มีนิรโทษกรรม ICC ก็ถือว่าเป็นเรื่องกฎหมายภายใน ไม่เกี่ยวกับอาญาระหว่างประเทศ ต่อให้หมดอายุความ นิรโทษกรรม เรื่องก็ยังอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของ ICC
กระแสเรียกร้อง ICC จะทำให้ตุลาการเปลี่ยนหรือไม่
เมื่อพวงทองถามว่า กระแสเรียกร้อง ICC ให้เข้ามาพิจารณาคดีจะทำให้ตุลาการเปลี่ยนหรือไม่ เข็มทองย้อนประวัติศาสตร์ว่า ไทยมีบาดแผลใหญ่ 2 แผล ที่ทำให้ไม่ไว้ใจระบบยุติธรรมภายนอกคือ กรณีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ที่มีข้อยกเว้นในการบังคับใช้กฎหมายกับคนใต้บังคับเจ้าอาณานิคม จนเป็นแรงกดดันในทางบวกให้ไทยต้องปฏิรูปกฏหมาย แต่เรื่องเล่านี้ก็ปลุกความชาตินิยมเรื่องอำนาจอธิปไตยถูกลดทอนมาตลอด และกรณีประสาทพระวิหาร ที่ทำให้ไทยไม่รับ ICJ หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ อีกเลย
เข็มทองตั้งข้อสังเกตว่า 2 บาดแผลนี้ ไปกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมว่า ระบบตุลาการที่ธำรงมามีข้อบกพร่อง ซึ่งกระทบต่อเนื่องไปยังเรื่องอำนาจอธิปไตย อย่างการนำประมุขไปขึ้นศาลพิจารณาคดี
กระนั้น เข็มทองเห็นว่าความหวังของไทยยังมีอยู่ เพราะแม้กระทั่งผู้พิพากษา ซึ่งเป็นส่วนที่อนุรักษ์นิยมที่สุด เกิดทิศทางในปีหลังๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้า แม้ว่าอาจจะก้าวหน้าน้อยกว่าส่วนอื่นๆ ของสังคมก็ตาม แต่มก็ยังค่อยๆ ขยับไป มันแสดงให้เห็นว่า เมื่อระบบตุลาการมีอิสระไม่ถูกผู้บริหารกดทับ ก็จะสามารถตัดสินคดีความมั่นคง คดี 112 อย่างตรงไปตรงมาได้เหมือนกัน ด้วยทรรศนะนี้ทำให้เข็มทองเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ระบบตุลาการไทยอาจเปิดรับให้มีศาลเสริมเข้ามา
“มันไม่ใช่คนในทั้งหมดที่อนุรักษ์นิยมสุดโต่ง คนแบบนี้คือคนที่ยอมรับได้ว่าระบบที่ตัวเองอยู่มันมีข้อบกพร่อง มันไปไม่ถึงที่จะเอากับอาชกรรมเหล่านี้ที่ผ่านมา และยอมรับได้ถ้าอำนาจตุลาการณ์บางส่วนถูกใช้โดย ICC คือง่ายๆ มีความคิดแบบ cosmopolitan ไม่ได้มีความคิดชาตินิยมสุดโต่ง … ทุกวันนี้ หลักสูตรนิติศาสตร์มันก็เปลี่ยน ความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผลต่างๆ มันก็จะทำให้แรงต้านจากฝ่ายตุลาการณ์มันน้อยลงได้ ถึงมันจะช้าก็ตาม”
หรือจะเริ่มจากเรื่องเล็กๆ ที่ทำง่ายและได้ผล?
พวงทองกล่าวถึงหนังสือ In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand ของ Tyrell Haberkorn ที่เสนอว่า รัฐไทยก่อตัวจากวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ในความหมายว่า รัฐไทยมีการปกป้องผู้ที่กระทำผิด โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ ให้ลอยนวลพ้นผิด อย่างเป็นระบบระบอบ ซึ่งในหลายกรณีก็ไม่ใช่ฝีมือของคนๆ เดียว แต่เป็นความร่วมมือของคนที่อยู่ในกลไกอำนาจรัฐทั้งหลาย เพื่อไม่ให้ระบบระบอบที่เป็นอยู่พังไป จนนำไปสู่คำถามว่า หากเรามุ่งจัดการวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดจากกรณีเล็กๆ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะถูกจัดการน้อยกว่ากรณีใหญ่ๆ จะทำให้ตัวระบบสั่นสะเทือนได้หรือไม่
เข็มทองตอบว่า เขาไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้นนัก เนื่องจากต่อให้ทำได้ ผลที่เกิดก็จะจำกัดอย่างมาก เพราะระบบที่แฝงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในไทยได้พัฒนาไปถึงขั้นที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไร เพราะกลไกของรัฐไม่ได้อยู่กับประชาชน เหมือนเวลาที่มีคนพยายามเอาเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย สุดท้ายเรื่องอื้อฉาวนั้นก็จะหายเข้ากลีบเมฆไปเสมอ ทำให้เขาย้ำว่า การพิจารณารับเขตอำนาจศาล ICC เป็นตัวเลือกความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบเหล่านี้
ด้านปิยบุตรแสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยยอมรับว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วเป็นบทเรียนในอนาคต จะมีก็แต่การยุติความขัดแย้งแบบ ‘thai style’ มาตลอด อาทิ นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เป็นต้น สำหรับเขา การยุติความขัดแย้งแบบนี้เป็นการปรองดองแบบไทยๆ เป็นการยุติที่เกิดจากผู้ทรงอำนาจในระบอบตัดสินใจเอาเองว่าถึงเวลาต้องยุติปัญหาความขัดแย้ง
“ถ้ามันเกิดขึ้นอีกเราก็ไม่มีอำนาจสู้เค้า กลไกระบอบทั้งระบอบมันเอาด้วย คล้ายหลัง 6 ตุลา 19 ที่มี 66/23 คล้ายพฤษภา 35 แล้วเราจะทำอย่างไร คำตอบคือต้องรณรงค์สู้ต่อ เหมือนที่อาจารย์เข็มทองพูดถึงชิลี พวกเผด็จการมันไม่ลงง่ายๆ มันลงต่อเมื่อนิรโทษมันก่อน ถ้าอยู่ดีๆ ไล่เช็คบิลก็ไม่ลง”
“ถ้าข้างหน้าการเมืองก้าวหน้ามากขึ้น ความคิดคนเปิดขึ้น ถึงวันนั้นกลไกกฎหมายก็ทำได้อีกรอบ เหมือนชิลี เหมือนตุรกี ที่บอกว่ากฎหมายนิรโทษกรรมโมฆะ สุดท้ายเราต้องไม่หยุด เพราะสุดท้ายโอกาสมันจะกลับมาอีกครั้งนึง”ปิยบุตรเสนอ
อีกประเด็นหนึ่งที่ปิยบุตรเห็นว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ คือการมีกฎหมายปกป้องผู้ที่คอยแจ้งว่ามีการกระทำผิด หรือก็คือกฎหมายปกป้อง whistleblower เพราะต่อให้ไม่ไปยุ่งเรื่องใหญ่ มาทำเรื่องเล็ก ก็ยังต้องเจอกฎหมายปิดปาก และทั้งองคพยพก็เป็นของระบบฉ้อฉลนี้หมด ดังนั้นจึงต้องผลักดันให้มีการตรากฎหมายปกป้อง whistleblower และยกเลิกพวกกฎหมายปิดปากทิ้งให้หมด เพื่อบีบให้ศาลมีเหตุยกเว้นว่า หากเป็นการพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะจะเอาผิดไม่ได้
ด้านธิดาแสดงทัศนะว่า ไม่ว่าจะเป็นการสู้ในระดับเล็กหรือระดับใหญ่ก็สามารถทำได้ แต่สิ่งที่ต้องตระหนักอยู่เสมอคือ ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาของระบอบ เพราะหากมัวสนใจแต่เรื่องเล็กๆ ก็แปลว่าเรายอมทนกับระบอบที่ไม่ถูกต้อง และการทำเรื่องเล็กเหล่านั้นก็จะเป็นเพียงการทำให้การเมืองหน้าตาดูดีขึ้น
“ใครจะทำเรื่องเล็กไม่มีปัญหา แต่อย่าลืมเรื่องหลักว่าจะเปลี่ยนระบอบไหม ตรงนี้สำคัญ เป็นเรื่องต่อสู้หนักและยืดเยื้อ ดังนั้นมันไม่อาจพอใจกับึความสำเร็จเล็กๆ ได้ เพราะสักพักมันก็ถูกกระทืบ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลอีกกี่ครี่งก็ตาม ถ้าระบอบมันไม่ได้เปลี่ยน คุณก็เจอแบบที่ผ่านมาอีกนั่นแหละ เพราะถ้าคุณเป็นนักต่อสู้ตัวจริงคุณต้องเข้าใจว่าคุณกำลังต่อสู้กับระบอบการเมือง