โครงการ Common School เป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้แบบก้าวหน้า บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งอาจไม่ตรงกับโครงการ Common School เสมอไป
11 เมษายน ปี 1980 เวลา 19.00 น. Tehching Hsieh ศิลปิน edurance art เชื้อสายไต้หวัน เริ่มต้นงานศิลปะด้วยการตอกบัตรแบบเดียวกับมนุษย์แรงงานทำ โดยจะตอกทุกๆ 1 ชั่วโมง ต่อเนื่องนาน 1 ปี ทุกครั้งที่ตอกบัตรเขาจะบันทึกภาพตัวเองผ่านกล้องภาพยนตร์ 16 มม. ไว้ เมื่อปฏิบัติครบกำหนดเวลา ภาพเหล่านั้นจะถูกนำมาวางเรียงเป็นวิดีโอขนาด 6 นาที โดยทุกวินาทีจะเคลื่อนที่ไปด้วยหน่วย 24 เฟรม แต่ละเฟรมจะเผยให้เห็นรูปธรรมในการไหลของเวลา ไม่ว่าจะผ่านสีหน้า ท่าทาง นาฬิกา และเส้นผมบนหัวที่ค่อยๆ ยาวขึ้นทีละน้อยของ Hsieh (เขาโกนหัวจนเกลี้ยงก่อนเริ่มสร้างงาน)
งานชิ้นนี้ถูกตั้งชื่อว่า “Time Clock Piece” (One Year Performance 1980-81) เป็น 1 ใน 5 งาน ภายใต้โครงการศิลปะความยาว 1 ปี ของเขา ครั้งหนึ่ง Marina Abramović ศิลปินชาวเซอร์เบียน ผู้มอง Hsieh เป็นอาจารย์ (master) เคยถามเขาว่า อะไรเป็นเหตุให้กำหนดเวลา 1 ปี เป็นกรอบการทำงานศิลปะชุดนี้ Hsieh ตอบว่า
“งานแสดงของผมต่างฉายมิติความคิดเกี่ยวกับชีวิตที่แตกต่างกันไป แต่มิติที่ว่าล้วนตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่มีอยู่ก่อนแล้วอันเดียวกัน นั่นคือ ชีวิตเป็นคำพิพากษาตลอดชีวิต การมีชีวิตคือการไหลไปตามกาลเวลา การมีชีวิตคือการคิดอย่างเสรี ระยะเวลาหนึ่งปีเป็นหน่วยพื้นฐานที่มนุษย์ใช้คำนวนชีวิต มันยังเป็นเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบหนึ่งรอบ สิ่งเหล่านี้อนุญาตให้ผมใช้ชีวิตอยู่ในเวลาของโลกศิลปะ ทั้งยังเปิดให้ผมคิดได้อย่างเสรี”
ชีวิตเป็นคำพิพากษาตลอดชีวิต เมื่อเกิดมาคนเราไม่สามารถมีเวลาได้นานไปกว่าหนึ่งชีวิต หนึ่งช่วงชีวิตคือความยาวที่เราทุกคนต่างถูกพิพากษาให้ต้องอยู่กับมัน การตอกบัตรทุกหนึ่งชั่วโมงของ Hsieh คือการได้ไหลไปตามกาลเวลา ขณะเดียวกันการทำงานศิลปะนี้ก็ตอบสนองความต้องการที่ต้องการใช้เวลาไปกับสิ่งที่ตนปรารถนา นั่นคือการได้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกศิลปะ
ในแง่นี้ เวลาจึงเป็นกรอบของชีวิตและงาน ทั้งนี้ คำถามที่ตามมาคือ งานเป็นกรอบของชีวิตด้วยหรือเปล่า คำตอบคงเป็นไปได้หลายทาง เพราะหากเชื่อตาม Hsieh การมีชีวิตก็เป็นการคิดอย่างเสรี
อย่างไรก็ดี เวลาเป็นสิ่งเสรีด้วยหรือเปล่า คำตอบของคำถามนี้คงขึ้นอยู่กับว่าอะไรคือภาพความเสรีที่เรามีต่อเวลา
เวลาคือเสรีภาพหรือภาพเสรี
เวลาเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของเสรีภาพ เราไม่อาจมีเสรีภาพได้โดยปราศจากเวลา คงไม่มีใครสามารถออกไปแสดงความคิดเห็นหรือชุมนุมในที่สาธารณะได้ หากจำยอมให้เวลาทั้งหมดถูกริบไปโดยนายจ้าง การพูดเช่นนี้ทำให้เห็นว่า รากฐานของเวลาในโลกทุนนิยม มีสองมิติ ได้แก่
มิติแรก ‘เวลาของลูกจ้าง’ คือเวลาซึ่งจะใช้ไปกับการเอาแรงงานเข้าแลกเงิน มันคือการปล่อยเช่าเสรีภาพของตัวเองเพื่อทำงานให้กับคนอื่น เป็นการปล่อยเช่าเวลาที่ตัวเองสามารถนำไปทำในสิ่งที่อยากทำให้กับการทำสิ่งที่ไม่อยากทำ นั่นก็คืองาน
มิติที่สอง ‘เวลาของนายจ้าง’ เป็นเวลาซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยแรงปรารถนาที่จะทำกำไร (สูงสุด) สะท้อนชัดผ่านวิธีคิดที่มองเวลาเป็นเงิน และเงินคืองาน นั่นทำให้นายจ้างต้องรีดแรงงานจากลูกจ้างออกมาให้ได้มากที่สุด โดยวิธีที่เร็วและง่ายที่สุดก็หลีกหนีไม่พ้นการบีบให้พวกเขาต้องใช้เวลาไปกับการทำงานให้มากที่สุด
ทั้งนี้ แม้นายจ้างจำนวนหนึ่งจะไม่ได้มีวิธีคิดสุดโต่งเช่นนั้น แต่นั่นก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับเล็กน้อยเท่านั้น เพราะพื้นฐานความสัมพันธ์ในการจ้างงานของทุนนิยมคือสิ่งที่เราเรียกว่า ‘สังคมซึ่งหมกมุ่นอยู่กับแรงงาน’ (labour-obsessed society) หรือบางคนอาจเรียกว่า ‘สังคมซึ่งหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องงาน’ (work-obsessed society) ซึ่งมีมาพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของทุนนิยม
ความสัมพันธ์ภายใต้สังคมเช่นนี้ทำให้งานหรือกำลังแรงงานเป็นจุดหมุนของโลก ชนชั้นซึ่งมีทรัพยากรต้องการแรงงาน แรงงานก็ต้องการขายแรงและงานเพื่อแลกค่าตอบแทน โดยมี ‘ตลาดแรงงาน’ เป็นประดิษฐสถานที่ความต้องการสองฝ่ายมาบรรจบกัน
การมีเสรีภาพเป็นหลักการพื้นฐานของตลาด ในสังคมทุนนิยมทุกคนไม่ใช่แรงงานหรือทาสที่ถูกผูกติดกับ ‘เจ้า-นาย’ อีกต่อไป หากกลายเป็น ‘แรงงานเสรี’ (free labour) ที่มีอิสระในการกำหนดชีวิตตัวเอง มีอิสระในการเลือกว่าตนจะจ้างหรือขายแรงงานให้ใคร
แต่นั่นเป็นเสรีภาพที่แท้จริง หรือเป็นเพียงภาพเสรีที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยทุนนิยม?
สำหรับ Karl Marx แรงงานเสรีไม่ได้หมายถึงแค่การมีอิสระที่จะทำสัญญากับใครก็ได้เท่านั้น คำว่า เสรี หรือ ‘free’ ที่ผูกกับแรงงานยังหมายถึง การที่แรงงานไม่ได้ครอบครองซึ่งทรัพย์สินหรือทรัพยากรใดๆ เลย ตามนัยนี้ การที่ทุนนิยมทำลายความสัมพันธ์แบบศักดินา มีการปลดปล่อยทาส และเปลี่ยนให้ทุกคนกลายเป็นแรงงานเสรี จึงเป็นไปในลักษณะเดียวกับที่ Angela Y. Davis นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวชื่อดัง เคยเขียนไว้ว่า แม้หลังสงครามกลางเมืองอเมริกา หรือ civil war (1861-1865) คนผิวสีจะเป็นอิสระจากการเป็นทาส แต่การปล่อยให้เข้าสู่สถานะทางสังคมแบบใหม่โดยปราศจากทรัพยากรใดๆ ติดตัวมาด้วย เป็นการบีบให้พวกเขาต้องกลายเป็นอาชญากร และลงเอยด้วยการถูกบังคับให้ต้องใช้แรงงานหนัก (hard labour) ในเรือนจำ ในท้ายที่สุด
อาจสรุปคร่าวๆ ได้ว่า แม้สถานะของทาสจะหายไป แต่เงื่อนไขของการเป็นทาส หรืออเสรีชน ก็ไม่ได้หายไปด้วย คนเหล่านี้แม้จะได้สถานะของเสรีชนมาครอบครอง แต่เงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจยังคงบีบให้พวกเขาต้องพึ่งเจ้า-นายอยู่ดังเดิม
หากเชื่อตามกรอบคิดสังคมวินัย (disciplinary society) ของ Michel Foucault ที่เสนอว่า ไม่ว่าครอบครัว โรงเรียน ค่ายทหาร สถานที่ทำงาน หรือคุก ล้วนแต่เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ควบคุมชีวิตทั้งสิ้น ย่อมเห็นว่าสถาบันเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้าควบคุมเวลาชีวิตของมนุษย์ จะต่างกันเพียงแค่ระดับความเข้มข้นของอำนาจในการควบคุมเท่านั้น
เวลางานที่เป็นธรรมไม่ได้หล่นมาจากฟ้า
เมื่อมีอำนาจก็ย่อมมีการต่อต้าน การต่อสู้เพื่อลดเวลางานและมีวันหยุดเป็นสงครามสำคัญที่แรงงานและทุนประชันกันตลอดประวัติศาสตร์ทุนนิยม
“8 ชั่วโมงเพื่อทำงาน 8 ชั่วโมงเพื่อพักผ่อน 8 ชั่วโมงเพื่อทำในสิ่งที่เราอยากทำ” คือคำขวัญที่ขบวนการแรงงานอเมริกันในศตวรรษที่ 19 ใช้สู้กับการทำงาน 14 ชั่วโมงต่อวัน 6-7 วันต่อสัปดาห์ (หนึ่งในเหตุการณ์ที่มีการพูดถึงกันมากที่สุดอันหนึ่ง คือเหตุการณ์ Haymarket) และต้องรอจนถึงปี 1938 กว่าจะมีกฎหมาย Fair Labor Standards Act มากำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลา หากใช้งานลูกจ้างเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่า ขบวนการแรงงานต้องสู้กันยาวนานมาเป็นสิบๆ ปี กว่าที่การทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (หรือทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์) จะเป็นกติกาที่สังคมต้องยอมรับและปฏิบัติตาม
อย่างไรก็ดี การออกกฎหมายดังกล่าวของรัฐก็ยังช้ามากเมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวที่เกิดในภาคธุรกิจ เพราะบริษัทรถยนต์ Ford Motor ของ Henry Ford ผู้คิดค้นระบบการผลิตแบบสายพาน ก็เริ่มใช้ระบบการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มาตั้งแต่ปี 1926 แล้ว
การตัดสินใจของ Ford นับเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์ระบบการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ Edsel Ford ลูกของเขาเคยพูดถึงการลดเวลางานนี้ว่า
“มนุษย์ทุกคนต้องการเวลาในการพักผ่อนและฟื้นตัวมากกว่าหนึ่งวันต่อสัปดาห์… บริษัทฟอร์ดพยายามหาแนวทางที่จะสนับสนุนชีวิตครอบครัวอุดมคติให้แก่พนักงานเสมอมา เราเชื่อว่าในการมีชีวิตที่เหมาะสม คนทุกคนควรจะมีเวลาที่จะอยู่กับครอบครัวให้มากขึ้น”
แม้คำพูดดังกล่าวจะสะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทฟอร์ด แต่ขณะเดียวกัน การลดเวลางานไม่ได้มีเพียงแค่เหตุผลเรื่องการสนับสนุนชีวิตครอบครัวอุดมคติเท่านั้น เพราะการลดเวลางานของ Ford ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งประกบเคียงข้างด้วย นั่นคือ การลดเวลางานนี้จะช่วยเพิ่ม ‘ผลิตภาพ’ (productivity) ให้แก่บริษัทอย่างมาก
100-80-100
ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การทดลองลดเวลางานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ (หรือก็คือ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ของภาคธุรกิจกว่า 70 แห่งในสหราชอาณาจักร เป็นสิ่งที่ปรากฏบนหน้าข่าวทั่วโลก การทดลองนี้มีหัวหอกสำคัญคือกลุ่มแคมเปญ 4 Day Week Global ซึ่งร่วมมือกับกลุ่มคลังสมอง (Think Tank) ที่ชื่อว่า Autonomy ตลอดถึงสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัย Oxford มหาวิทยาลัย Cambridge และวิทยาลัย Boston
บนเว็บไซต์ 4 Day Week Global แสดงเหตุผลชัดเจนว่า ระบบการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์เป็นเพียงสิ่งตกยุคและล้าสมัยที่ถูกทำให้เชื่อว่ายังคงมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่
กลุ่มแคมเปญดังกล่าวเสนอว่า การลดเวลางานเหลือเพียง 4 วันต่อสัปดาห์จะเป็นทางออกให้กับปัญหาการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นภาวะหมดไฟ ภาวะซึมเศร้า และภาวะแย่ๆ ที่เกิดจากการทำงานในยุคปัจจุบันได้ และที่สำคัญที่สุด (คล้ายกับสมัยที่ฟอร์ดลดเวลางานเหลือ 5 วันต่อสัปดาห์) การลดเวลางานดังกล่าวยังอาจช่วยให้เกิดผลิตภาพที่มากขึ้นได้อีกด้วย
100-80-100 คือสูตรสำคัญที่ถูกยกขึ้นมา มันหมายถึงการที่ลูกจ้างยังได้ค่าตอบแทน 100% ดังเดิม เพียงแต่ลดเวลางานลงเหลือ 80% โดยที่ยังสามารถสร้างผลิตภาพ (productivity) ในสัดส่วน 100% ดังเดิม
4 Day Week Global ยังเสนอว่าการลดเวลางานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์จะช่วยทำให้ลูกจ้าง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มี work-life balance เพราะมีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า หมดไฟ ฯลฯ ลดลง ซึ่งสัมพันธ์กับการมีความกระตือรือร้นในการทำงานที่มากขึ้น
หากวางข้อเสนอของ 4 Day Week Global เทียบกับสิ่งที่บริษัทฟอร์ดเคยทำสมัยต้นศตวรรษที่ 20 จะเห็นว่าเหตุผลในการลดเวลางานมีความคล้ายกันอย่างมาก กระนั้น แคมเปญนี้ยังมีการชูประเด็นร่วมสมัยที่น่าสนใจพิจารณาเพิ่มเติมขึ้นมา นั่นคือข้อเสนอที่ว่า การลดเวลางานจะช่วยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม
การลดเวลางานเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศอย่างไร
ภายใต้ระบบทุนนิยม สิ่งหนึ่งที่ควรระลึกไว้เสมอคือ การผลิต (production) หรือการสะสมทุน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากขาดการผลิตซ้ำ (reproduction) ที่ทุนนิยมไม่ให้มูลค่า
งานบ้านเป็น ‘งาน’ ชนิดหนึ่งที่ทุนนิยมผลักให้เป็นของฟรี ทั้งๆ ที่งานที่ไม่ฟรีทั้งหลายจะไม่สามารถดำเนินไปได้หากขาดงานชนิดนี้ไป การผลักให้งานบ้านกลายเป็นงานที่ไม่มีมูลค่าจึงเป็นการขูดรีดแบบหนึ่งของทุนนิยม ประกอบกับเมื่อมันผลักให้งานชนิดนี้กลายเป็นภาระของผู้หญิงด้วยแล้ว การต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศจึงแยกไม่ขาดจากการต่อสู้กับทุนนิยม
ทั้งนี้ แม้การลดเวลางานอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางการผลิตข้างต้นนัก แต่ 4 Day Week Global ก็เสนอว่า มันจะช่วยกระจายภาระงานดูแลเอาใจใส่ (care) มากขึ้น ผู้ชายจะมีเวลาทำงานบ้านและเลี้ยงดูลูกมากขึ้น จากเดิมที่ผู้หญิงจะตกเป็นฝ่ายรับกรรมเต็มๆ อยู่ฝ่ายเดียว
การทำให้งานบ้านกลายเป็นงาน ในความหมายที่ว่าทำแล้วต้องได้ค่าตอบแทน (wages for housework) เป็นประเด็นสำคัญของสตรีนิยม กระนั้น การทำให้งานบ้านถูกนับเป็นงานที่มีค่าตอบแทน ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเรียกให้ตระหนักถึงคุณค่าของงานที่ถูกมองข้ามเท่านั้น แต่ยังเป็นไปเพื่อที่จะลดเวลาในการทำมันหลังมันได้รับรู้คุณค่าแล้ว หรือหากเชื่อตาม Silvia Federici นักสตรีนิยมมาร์กซิสต์ การไม่ต้องทำงานเลยก็เป็นปลายทางของการต่อสู้ (มันเป็นทั้งการต่อสู้เรื่องค่าตอบแทน และความสามารถ/เสรีภาพในการควบคุมเวลาของตนเอง)
บ้านจึงไม่ใช่สถานที่พักผ่อนของทุกคน บ้านสามารถเป็นสถานที่ทำงานได้ ดังนั้น Kyle Lewis และ Will Stronge จึงเสนอต่อว่า
การลดเวลางานยังคงไม่เพียงพอในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ หากยังต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของ ‘สถานที่ทำงาน’ (work space) ให้เอื้อต่อการลดงานภายในครัวเรือนด้วย
การลดเวลางานจึงเป็นเรื่องเดียวกันกับความเท่าเทียมทางเพศ เพราะมันเป็นการต่อสู้เพื่อให้เพศซึ่งถูกกดขี่ได้มาซึ่งเสรีภาพ (ที่แยกไม่ออกจากการมีเวลา)
การลดเวลางานเกี่ยวกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอย่างไร
แม้เวลางานและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอาจดูไม่เกี่ยวข้องกันนัก แต่ในความเป็นจริงสองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบชิด เพราะอย่างน้อยที่สุด สายการผลิตจำนวนมากหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปล่อยของเสียหรือคาร์บอนตามมาเป็นของแถม ดังนั้นการลดเวลางาน ซึ่งมีค่าเท่ากับการลดการผลิต ก็ย่อมเป็นการลดปริมาณของเสียเหล่านี้ไปโดยปริยาย ยังไม่นับว่าเมื่อวัน/เวลาการทำงานลดลง ปริมาณคาร์บอนจำนวนมากที่จะเกิดจากการเดินทางไปทำงานก็จะลดลงไปด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น การลดเวลางานยังสัมพันธ์อย่างยิ่งกับของเสียที่เกิดจากการบริโภค อย่างในงานศึกษาของ Juliet Schor ก็ค้นพบว่า ในหมู่คนที่มีเวลางานสูง มักจะมีวิถีชีวิตที่สร้างมลภาวะมากกว่าคนที่มีเวลางานน้อยกว่า เช่น ในคนกลุ่มแรก เมื่อไม่มีกำลังและเวลาเหลือมากพอที่จะประกอบอาหารทานเอง ทำให้ต้องบริโภคอาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูป หรือไม่ก็ใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ Kyle Lewis และ Will Stronge จึงสรุปว่า เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่จะได้ การลดเวลางานเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดในการลดมลพิษต่างๆ ทั้งยังเสนอต่อว่า แม้แต่แนวนโยบายที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่าง Green New Deal (GND) ก็ไม่อาจสำเร็จได้หากไม่มีการลดเวลาทำงาน
สหภาพ-พรรคการเมือง-กระแสสังคม สามตัวละครสำคัญในการลดเวลางาน
เมื่อความยั่งยืนและความเท่าเทียมทางเพศเชื่อมโยงโดยตรงกับเวลางาน นั่นหมายความว่า เวลางานและเวลาชีวิตไม่ได้มีเพียงแค่แง่มุมด้านเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงมุมด้านอื่นๆ โดยเฉพาะที่เป็นด้านชีวิตส่วนตัว
อย่างไรก็ดี การลดเวลางานก็ไม่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยความพยายามส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่ต้องอาศัยการร่วมมือและรวมตัวระหว่างแรงงานด้วยกันเอง ดังเช่นประเทศไอซ์แลนด์ ที่สามารถลดเวลางานทางการเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ได้เพราะแรงงานในไอซ์แลนด์กว่าร้อยละ 90 ของประชากรวัยทำงานต่างสังกัดอยู่กับสหภาพแรงงาน (ขณะที่แรงงานในประเทศไทยเป็นสมาชิกสหภาพเพียงแค่ร้อยละ 1 ของประชากรวัยทำงานเท่านั้น)
และแน่นอน ประวัติศาสตร์ของเวลาการทำงานยังแสดงชัดว่า การลดเวลางานหรือการปรับเปลี่ยนกติกาเกี่ยวกับการทำงานใดๆ ต่างต้องอาศัยการผลักดันจากนักการเมือง/พรรคการเมือง ตลอดจนการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) มาประกอบด้วย
เราต้องการ ‘งาน’ จริงๆ หรือ?
แม้เราจะเชื่อว่า การลดเวลางานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์จะเป็น ‘นวัตกรรม’ ที่ดีต่อทั้งลูกจ้างและนายจ้าง อย่างที่ 4 Day Week Global นำเสนอ แต่ก็น่าตั้งคำถามว่ามันเป็นนวัตกรรมที่เราต้องการจริงๆ หรือ เพราะถึงที่สุดแล้ว มันก็ยังอ้างผลิตภาพ (ที่สูงขึ้น) และยืนอยู่บนสมมติฐานว่าเรายังต้องทำงาน ยังไม่นับว่า ข้อเสนอให้ลดเวลางานนี้ยังใช้ไม่ได้กับแรงงานรูปแบบใหม่ในปัจจุบัน เช่น แรงงานซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาจ้างที่ไม่ประกันชั่วโมงการทำงาน (zero hour contact) แรงงานแพลตฟอร์ม (platform workers) ไปจนถึงแรงงานดิจิทัล (digital labour)
และหากกลับไปพิจารณาประเด็นที่กล่าวไว้ในตอนต้น ข้อเสนอให้ลดเวลางานนี้ ก็ยังติดอยู่ในกรอบสังคมซึ่งหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องงาน มันเป็นเพียงแค่การตอบคำถามว่าต้องทำงานแค่ไหนจึงจะเหมาะสม แต่ไม่ได้ตอบว่า งานคืออะไร เราทำงานไปเพื่ออะไร งานเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีคุณค่าและความหมายจริงๆ หรือ
การละไม่ตอบคำถามเหล่านี้ กระทั่งมองว่ามันเป็นคำถามไร้สาระ สะท้อนถึงการติดอยู่ในบทสวดของการทำงาน (work dogma) มันคือการยืนอยู่บนสมมติฐานว่าชีวิตขาดงานไม่ได้ เป็นการปฏิบัติราวกับว่าเวลางานสำคัญกว่าเวลาชีวิต หรือกล่าวให้ชัดขึ้น มันคือการทำให้การทำงานสำคัญกว่าการมีชีวิต
สุดท้ายนี้ หากเราใช้สิ่งที่ (ว่ากันว่า) Henry Ford เคยพูดถึงการสร้างนวัตกรรมรถยนต์ไว้ว่า “ถ้าผมไปถามผู้คนว่าพวกเขาต้องการอะไร เขาก็จะตอบแค่ว่าอยากได้ม้าที่เร็วขึ้น” บางทีนวัตกรรมที่เราต้องการอย่างแท้จริงอาจไม่ใช่นวัตกรรมที่ลดเวลางาน แต่เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยให้เราไม่ต้องทำงานอีกเลยก็เป็นได้
เพราะแม้ชีวิตจะเป็นคำพิพากษาตลอดชีวิต แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทำงานไปจนกว่าจะตาย (เราถูกพิพากษาให้มีชีวิตตลอดชีวิต ไม่ใช่ให้ทำงานตลอดชีวิต) บางทีเราอาจสรุปอย่างรวบรัดได้ ผ่านคำคมยอดฮิตที่ว่า
“งานหนักไม่ได้ทำให้ใครตาย คนพูดคือเจ้านาย คนตายคือกูค่ะ”
อ้างอิง
David Frayne. 2015. The Refusal of Work: The Theory and Practice of Resistance to Work. Zed Books.
Kyle Lewis and Will Stronge. 2021. Overtime: Why We Need A Shorter Working Week. Verso. สำหรับประเด็นเรื่องการลดเวลางานจะช่วยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมอย่างไร บทความนี้อิงความคิดที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้มากกว่าตัวแคมเปญ 4 Day Week Global เพราะแม้จะมีความแตกต่างอยู่บ้าง แต่ข้อเสนอที่ Kyle Lewis กับ Will Stronge เขียนไว้ ก็ยังพอไปได้กับแคมเปญ ตลอดจนการที่ทั้งสองคนเป็นสมาชิกของกลุ่ม Autonomy พาร์ทเนอร์ของแคมเปญ 4 Day Week Global ก็อาจอนุมานได้ว่า เส้นทางความคิดของทั้งสองคนและแคมเปญจะมีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน
Angela Y. Davis. 2003. Are Prisons Obsolete?. Seven Stories Press. p. 22-39.
Tehching Hsieh. interview by Marina Abramović. Interview Tehching Hsieh and Marina Abramović in conversation. Tate. https://www.tate.org.uk/tate-etc/issue-40-summer-2017/interview-tehching-hsieh-marina-abramovic
Satta. 29 July 2017. สัตตะ | สุนทรีย์แห่งความน่าเบื่อ [Video]. YouTube. https://youtu.be/p4-ZsZBPAgA
Philip Sopher. 2014. Where the Five-Day Workweek Came From. The Atlantic. https://www.theatlantic.com/business/archive/2014/08/where-the-five-day-workweek-came-from/378870/
Tom Banbury. 2021. How Workers’ Struggles Won our Rights. Tribune Magazine. https://tribunemag.co.uk/2021/05/how-our-workers-rights-were-won
HISTORY. 2009. Ford factory workers get 40-hour week. https://www.history.com/this-day-in-history/ford-factory-workers-get-40-hour-week
Anna North. 2021. The five-day workweek is dead. Vox. https://www.vox.com/22568452/work-workweek-five-day-four-jobs-pandemic?fbclid=IwAR3JbtVdhkBi-TOZba9d-n2e_pzAfr05UEX8iGSF4Yz7I7pz35qzSeqPQLc
4 Day Week Global. Why Trial a 4 Day Week?. https://www.4dayweek.com/why-pilot
Stephen Jones. 3,500 workers at 70 firms to trial 4 day work week — here’s how it will work. Business Insider South Africa. https://www.businessinsider.co.za/4-day-work-week-pilot-oxford-cambridge-universities-2022-1?fbclid=IwAR19zmtrr6IEVj-0WW0WXAzw0hSfFj0WTAjZbgAwgNbX7TL4UStCrCR9tzQ
Gudmundur D. Haraldsson. Interview by Luke Savage. “Iceland’s 35-Hour Working Week Worked. It Could Here, Too”. Jacobin. https://jacobin.com/2021/08/iceland-workweek-working-week-shorter-hours-trials-research-alda-autonomy-study
อภิสิทธิ์ เรือนมูล. 2022. แรงงานแพลตฟอร์ม พาร์ทเนอร์ผู้ถูกขูดทุกสัดส่วนเม็ดเงิน รีดทุกอณูชีวิตเป็นละอองไอ. WAY Magazine. https://waymagazine.org/platforms-worker-101/
องค์การแรงงาน. 2565. จำนวนองค์การแรงงานทั่วราชอาณาจักร ณ เดือนกรกฎาคม 2565. https://relation.labour.go.th/attachments/category/107/02082022-001.pdf