ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ไวรัสโควิด 19 กลับมาสู่ประเทศไทยอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีท่าทีว่าจะลดลงจากจำนวนหลักพันในเร็ววันนี้

หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าการแพร่กระจายของไวรัสชนิดนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยล่าสุด สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานออกมาแถลงขอให้คนถอนเงินจากบัญชีธนาคารมาใช้จ่าย เพื่อคงอัตราการเติบโตของมวลรายได้ประชาชาติ (GDP) ในปีนี้ที่จะเพิ่มขึ้นเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (ทั้งที่จากการสำรวจพบว่า กว่า 94 ล้านบัญชีมีจำนวนเงินฝากเฉลี่ยไม่ถึง 4,700 บาท)

ทั้งที่แถลงเช่นนี้ เราก็ยังไม่อาจทราบได้ว่ารัฐบาลจะยังกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้หรือไม่ แน่นอนว่า ปัจจัยชี้เป็นชี้ตายเศรษฐกิจของไทยในตอนนี้คือวัคซีน เราคงทราบกันอยู่แล้วว่า ประเทศใดที่มีวัคซีนก่อนจะเป็นประเทศที่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับมาได้เร็วกว่า หลายๆ ประเทศในโลก เศรษฐกิจเริ่มฟื้นแล้วเพราะจัดหาวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว แต่เนื่องจากประเทศไทยล่าช้าในการจัดหาวีคซีนให้กับประชาชน เพราะ นโยบายการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลที่ประมาทเลือกวัคซีนแบบ “แทงม้าตัวเดียว”  โอกาสที่เศรษฐกิจของประเทศไทยจะฟื้นคืนกลับมาโดยเร็ววันจึงเป็นเรื่องที่เลือนราง

สภาวะความถดถอยทางเศรษฐกิจทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเลวร้ายลงอีก จากข้อมูลของ TDRI ในปีที่แล้วระบุว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2563 จำนวนอัตราการว่างงานของประชากรไทยเพิ่มเป็น 783,800 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 72.1 ในขณะที่ ตัวเลขยังเผยว่า ในจำนวนนี้เป็นแรงงานใหม่เพียงร้อยละ 35.7 แต่ที่ว่างงานเกือบร้อยละ 65 มาจากการว่างงานของแรงงานเก่าซึ่งเกิดจากการถูกเลิกจ้างจากสาเหตุหยุดหรือปิดกิจการ ในขณะที่แรงงานที่ยังคงมีงานอยู่ แต่ประสบปัญหาการทำงานตามปกติจากการระบาดของโควิด19 ทำให้ขาดรายได้มีอัตราเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.4 (ประมาณ5.96 ล้านคน)

ตารางจำนวนอัตราการว่างงานของประชากรไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่มา : TDRI

ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ ด้วยทั่วโลก โดยตัวเลขจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศพบว่า โลกมีอัตราการว่างงานของประชากรเพิ่มขึ้น 22 ล้านคน และอาจเพิ่มขึ้นถึง 24.7 ล้านคน ส่วนตัวเลข GDP โลกอาจลดลงประมาณร้อยละ 4 จนถึง 8 เปอร์เซ็นต์หากสภาวะการแพร่ระบาดเลวร้ายไปกว่านี้ 

ในระหว่างที่โควิดกำลังแพร่กระจายอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ มหาเศรษฐีทั่วโลกต่างก็ออกมาพูดถึงอนาคตของยุคโควิดกันอย่างไม่หยุดหย่อน เช่น การประชุมทางไกล การพัฒนาซอฟแวร์ การหมุนเวียนกันใช้ออฟฟิศ การกลับคืนสู่ชุมชน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มหาเศรษฐีเหล่านี้พูดถึงกลับไม่มีประเด็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิแรงงานอยู่เลย และสิ่งที่ถูกละเลยนั้นได้สร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงเอาไว้มากมาย ให้แรงงานผู้ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจต้องเผชิญหน้าเพียงลำพัง ไม่เว้นแม้แต่มนุษย์เงินเดือนหรือพวก ‘White collar’ ในออฟฟิศ โดยการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการหรือนายจ้าง จากเดือนเมษายนปีที่แล้ว ตัวเลขจากองค์กรแรงงานระบุว่า มีแรงงานที่ถูกนายจ้างหลายแห่งบอกเลิกสัญญาจ้างงานกลางอากาศ หรือให้หยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างจำนวนถึง 880,212 คน

ที่กล่าวมาทั้งหมด คือสาเหตุสำคัญว่าทำไม การรวมตัวกันและสร้างกระบวนการต่อสู้ของแรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ จุดประสงค์ของกระบวนการรวมตัวกันของแรงงาน หรือที่รู้จักกันในนาม “สหภาพแรงงาน” นั้น กล่าวสั้นๆ คือ มีขึ้นเพื่อทำการต่อรอง เรียกร้อง รักษาสิทธิและผลประโยชน์ของเหล่าพี่น้องแรงงานที่พึงได้รับ ในประเทศแถบตะวันตกโดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป การก่อตั้งสหภาพแรงงานแทบจะเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าประเทศดังกล่าวจะมีรูปแบบการบริหารเศรษฐกิจไปในทางสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือทุนนิยมเต็มตัว

โดยมีการสำรวจพบว่า สัดส่วนของแรงงานในระบบเศรษฐกิจในยุโรปที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งนั้น มีอัตราการมีส่วนร่วมกับสหภาพของแรงงานที่ 20-30% คือค่าปกติ ในขณะที่ประเทศที่ให้ความสำคัญกับระบบสวัสดิการแห่งรัฐสูงอย่างประเทศแถบยุโรปเหนือ เช่น สวีเดน เดนมาร์ก สแกนดิเนเวีย นอร์เวย์ อัตราค่าเฉลี่ยจะสูงถึง 50-80% 

โดยสหภาพแรงงานนั้น มีทั้งแบบลักษณะเป็นองค์รวมทุกสาขาอาชีพ และแบ่งย่อยตามประเภทของอาชีพนั้น ยกตัวอย่างในประเทศอังกฤษเช่น  สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมอาหาร (Bakers Food and Allied Workers Union – BFAWU) สหภาพแรงงานวิศวกรและนักดับเพลิง (Associated Society of Locomotive Engineers and Firemen) สหภาพแรงงานนักดนตรี (Musicians’ Union) สหภาพแรงงานนักเขียน (National Union of Journalists) และอีกมากมายหลายประเภทสหภาพเพื่อตอบโจทย์กับการเรียกร้องและรักษาสิทธิ์ของแรงงานกลุ่มนั้นๆมากที่สุด

การที่ประเทศต่างๆ มีสหภาพแรงงานและการเข้าร่วมเป็นสมาชิกจำนวนมากนั้น ยังมีผลสำรวจออกมาที่น่าสนใจ คือการมีความเหลื่อมล้ำในระดับต่ำ ดังที่กล่าวไปแล้วอย่างในกลุ่มประเทศยุโรปเหนือ หรือแม้แต่ประเทศที่มีความเป็นทุนนิยมสูงอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ยังพบว่าการมีส่วนร่วมกับสหภาพแรงงานประมาณ 10% ในขณะที่เมื่อหันกลับมาดูบ้านเรา กลับมีสัดส่วนอยู่ที่ 1.5% เท่านั้น 

แล้วสหภาพแรงงานในประเทศอื่นๆ ทำอะไรบ้างในยุคโควิด? เริ่มต้นด้วยการช่วยเหลือกลุ่มสมาชิกแรงงานง่ายๆ อย่าง Trades Union Congress (TUC) ประเทศอังกฤษ ได้บอกวิธีการป้องกันตนเอง และสิทธิที่แรงงานตามข้อกฎหมายที่สมาชิกสหภาพควรรู้ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจผ่านเว็บไซต์  หรือ Chicago Federation of Labor  สหรัฐอเมริกา ได้อธิบายวิธีการลงทะเบียนให้กับสมาชิกเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนในคลีนิกของสหภาพ 

แนวทางป้องกันตัวเองจากไวรัสโคโรนา โดย Trades Union Congress ประเทศอังกฤษ

มาต่อกันที่เรียกร้องระดับใหญ่ อย่างสหภาพแรงงานนักศึกษา (The University of Illinois Graduate Employees Organization, UIC GEO) มหาวิทยาลัยชิคาโก้ รัฐอิลลินอยส์ เจรจาต่อรองให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ความช่วยเหลือด้านที่พักอาศัยและลดค่ารักษาพยาบาลในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดให้แก่นักศึกษาระดับบัณฑิต ซึ่งโดยปกตินักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 250 เหรียญสหรัฐ ต่อภาคการศึกษา และ 450 เหรียญสหรัฐ สำหรับความคุ้มครองสามเดือนในภาคการศึกษาฤดูร้อน แต่นักศึกษาบางรายไม่สามารถจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลได้ ในขณะที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 

“เป็นเรื่องที่น่าหวั่นวิตกที่ในการระบาดทั่วโลกมหาวิทยาลัยไม่เต็มใจอย่างยิ่งที่จะให้การดูแลสุขภาพด้วยต้นทุนที่ถูกลง”

โอคอนเนอร์ (O’Connor) สมาชิกสหภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยกล่าว

ถึงแม้จะยังไม่ได้รับคำตอบจากมหาวิทยาลัยในด้านการลดอัตราค่ารักษาพยาบาล แต่สหภาพได้รับการรับรองสำหรับที่พักอาศัยฟรีให้กับนักศึกษาระดับบัณฑิต และงานพาร์ทไทม์ที่จะทำให้นักศึกษามีรายได้ในข่วงฤดูร้อน อีกทั้งทางสหภาพยังตั้งเป้าหมายในการต่อรองค่ารักษาพยาบาลให้เป็นสวัสดิการโดยไม่ต้องมีค่ามช้จ่ายสำหรับทุกคนต่อไป

ในประเทศอังกฤษ สมาชิกของสหภาพ Unite the Union ที่ถูกว่าจ้างโดยสหภาพนักศึกษามหาวิทยาลัย เชฟฟิลด์ (Sheffield) ได้รับชัยชนะครั้งสำคัญในการเรียกร้องให้สหภาพจ่ายค่าตอบแทนให้กับแรงงานหลายร้อยคนซึ่งถูกหยุดให้ทำงานและเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้แบบเต็มอัตรา รวมถึงเรียกร้องให้จ่ายค่าตอบแทนสำหรับพนักงานอัตราจ้างให้สอดคล้องกับพนักงานประจำหลังทำงานมาแล้ว 12 สัปดาห์เพื่อยุติการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 

Unite the Union ได้รับชัยชนะจากการเรียกร้องให้จ่ายค่าตอบแทนแรงงานให้สมเหตุสมผล
ภาพจาก Facebook page : Unite the Union

“ขบวนการสหภาพแรงงานเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมเมื่อ 18 เดือนที่แล้ว ผมไม่เคยเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน แต่เราได้ร่วมกันสร้างความมั่นใจว่าตอนนี้พนักงานที่มีความเสี่ยงในสหภาพนักศึกษามีการจ้างงานที่มั่นคงและมีสิทธิมากขึ้น เราได้พิสูจน์แล้วว่า การวางแผนและบริหารอย่างรอบคอบสามารถสร้างชัยชนะเพื่อแรงงานได้”

หลุยส์ แมคคอลลัม (Lois McCallum) ตัวแทนสหภาพนักศึกษาเชฟฟิลด์

 

ในขณะที่ Trades Union Congress (TUC) ประเทศอังกฤษ ได้เสนอให้รัฐบาลขยายเวลาการใช้มาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ถูกพักงานเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 หรือ “furlough scheme” จากเดือนมีนาคม 2020 ไปถึงเดือนตุลาคม สำหรับมาตรการดังกล่าว รัฐบาลได้เยียวยาให้กับพนักงานที่ถูกพักงานในสัดส่วน 80% ของเงินเดือน โดยโครงการนี้ได้รับเครดิตอย่างมากในการพยุงเศรษฐกิจช่วยเหลือรายได้แก่แรงงานกว่า 9.3 ล้านคน

มาดูกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สมาชิก 85,000 คนของสหภาพแรงงาน Service Employees International Union (SEIU)  และ Coalition of Kaiser Permanente Unions  ได้ประสบความสำเร็จในการร่วมกันเรียกร้องให้มีการขยายขอบเขตการจ่ายเงินช่วยเหลือดูแลเด็กระยะสั้น (200 เหรียญต่อสัปดาห์) สำหรับพนักงานที่ต้องรายงานตัวเข้าทำงานในสหภาพในช่วงสถานการณ์โควิด รวมถึงผลประโยชน์สำหรับการลางานพร้อมโบนัสเต็มอัตรา

การชุมนุมเรียกร้องของสหภาพแรงงาน Service Employees International Union (SEIU) สหรัฐอเมริกา
ภาพ Facebook Page : SEIU

ในประเทศสเปน รัฐบาลได้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน Building and Wood Workers’ International  โดยห้ามการเลิกจ้างงานและการยกเลิกสัญญาจ้างงานชั่วคราวในช่วงวิกฤต COVID-19 สหภาพแรงงาน เพื่อการประกันผลประโยชน์การว่างงานตามกฎหมายแรงงานระบุว่า บริษัทหนึ่งบริษัทใดที่ขออนุญาตจากรัฐในการเลิกจ้างคนงานชั่วคราว, ระงับสัญญาจ้างงานหรือลดชั่วโมงการทำงานชั่วคราวในช่วงเวลานี้แรงงานจะได้รับผลประโยชน์จากการว่างงานซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้างเพื่อป้องกันการสร้างข้อได้เปรียบของนายจ้างในการฉวยโอกาสในช่วงวิกฤตกาลนี้

กลับมาดูที้ใกล้บ้านเราในแถบเอเชีย ประเทศอินโดนีเซีย สหภาพแรงงาน The Confederation of All Indonesian Workers’ Union (KSPSI) และ All Indonesian Trade Union Confederation (KSBSI) และนักศึกษา ได้รวมตัวกันประท้วงในนาม The Indonesian Labour Workers Assembly (MPBI) เพื่อต่อต้านการผ่านร่างกฎหมาย Omnibus Bill on Job Creation ซึ่งเปิดโอกาสให้ชาวอินโดนีเซียที่อายุยังไม่มากได้หางานทำ เพื่อแก้ปัญหาการขาดรายได้ของประชาชนโดยรัฐบาล อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวถูกมองว่าเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงต่อการฉวยโอกาสของนายจ้าง ทั้งในเรื่องประกันการจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรม การยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือน การลดอัตราเงินชดเชย และการป้องกันการใช้งานล่วงเวลาเกินความจำเป็น การรประท้วงครั้งนี้ทำให้รัฐบาลตกลงเลื่อนการพิจารณาผ่านร่างออกไป

The Confederation of All Indonesian Workers’ Union (KPSI) กับการประท้วงต่อต้านกฏหมายใช้แรงงานเด็กที่ไม่เป็นธรรม ภาพ : www.industriall-union.org/

“นี่คือการตัดสินใจที่ถูกต้อง ประเทศของเรากำลังต่อสู้กับโรคโควิด -19 และรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการป้องกันการเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก การเลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายออกไปเป้นการทำให้แน่ใจว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนนี้ทั้งรัฐบาลและแรงงานยังเห็นพ้องต้องกัน”

ซาอิด อิกบาล(Said Iqbal) ประธานสมาพันธ์สหภาพแรงงานชาวอินโดนีเซีย (KSPI)

ในส่วนของประเทศฟิลลิปปินส์ ก็มีการเคลื่อนไหวที่ได้รับชัยชนะของ สหภาพแรงงานบริษัท Nexperia ผู้ผลิตวัสดุที่มีคุณสมบัตินำไฟฟ้า 

Nexperia ได้ประสบความสำเร็จในการเจรจาต่อรองร่วมกันหลังจากคนงานหลายร้อยคนจัดการประท้วงเงียบด้วยการจัดฉากกั้นเสียงที่โรงอาหารและสวมเสื้อสีแดงไปทำงานเพื่อเรียกร้องให้มีการตกลงเพิ่มมาตราส่วนค่าจ้างเป็น 1,000 เปโซ (20.8 เหรียญสหรัฐ) ในปี 2021, 900 เปโซ (18.7 เหรียญสหรัฐ) ในปี 2022 และ 900 เปโซ (18.7 เหรียญสหรัฐ) ในปี 2023 รวมถึงการจ่ายเงินก้อนทดแทนหลัง 6,000 เปโซ (124.8 เหรียญสหรัฐ) และการจ่ายโบนัสในอัตรา 36,000 เปโซ (749 เหรียญสหรัฐ) ให้กับพนักงานแต่ละคน  นอกไปจากนี้ สหภาพแรงงานยังได้รับเงินช่วยเหลือค่าอาหารจำนวน 1,690 เปโซ (35.2 เหรียญสหรัฐ) ต่อเดือนต่อสมาชิกและการขยายเวลาการลาป่วยในช่วงของการระบาดของโควิด

สหภาพแรงงานของบริษัท Nexperia ในฟิลิปปินส์ ที่ได้รับชัยชนะในการต่อรอง
ภาพ : http://www.industriall-union.org/

ส่วนประเทศญี่ปุ่น สหภาพแรงงานสหพันธ์สิ่งทอ, เคมี, อาหาร, การค้า, การบริการ และแรงงานทั่วไปของญี่ปุ่น (The Japanese Federation of Textile, Chemical, Food, Commercial, Service and General Workers’ Unions (UA ZENSEN) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันให้รัฐบาลเพิ่มปริมาณเงินอุดหนุนเพื่อการปรับการจ้างงานและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับสมาชิกภายใต้คำสั่งล็อกดาวน์ โดยเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นเป็น 67 เปอร์เซ็นต์สำหรับบริษัทขนาดใหญ่และ 80 เปอร์เซ็นต์สำหรับ บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง

ชัยชนะของแรงงานทั่วโลกไม่ได้หมายถึงการที่นายจ้างหรือผู้อำนาจเจียดรายได้หรือสวัสดิการให้กับผู้ถูกจ้างในฐานะความเมตตากรุณา แต่หมายถึงการรวมตัวกันของแรงงาน ด้วยสำนึกในชนชั้น และสิทธิที่พึงมีพึงได้อย่างเป็นธรรม การเจรจาต่อรองเรียกร้อง “คุณภาพชีวิต” ที่ดีและลด “ความเหลื่อมล้ำ” เป็นสิ่งซึ่งคู่กับสังคมประชาธิปไตย และทำให้คนในทุกกลุ่ม ทุกประเภท ทุกอาชีพ ยืนหยัดได้อย่างเท่าเทียมในสังคมเสมอหน้า

Author

คณะก้าวหน้า
“เราจะเดินหน้าทำงานทางความคิด สร้างความเป็นไปได้ในการปลุกเอาประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ จากจำนวนนับ จากที่เคยเป็นเพียงวัตถุ ..ให้กลายเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศอย่างแท้จริง”