“ปาเจราจริยาโหนติ คุณุตตรานุสาสกา”

วันครูเวียนมาถึง เราต่างต้องนึกถึงบทปาเจรากันถ้วนหน้า ความหมายของบทไหว้ครูนี้คือครูอาจารย์เป็นผู้ทรงคุณอันประเสริฐยิ่ง เป็นประสิทธิ์ประสาทศิลปวิทยากร สำนึกการมองเรื่องผู้สอนคือเจ้าขององค์ความรู้และเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้นั้นมีมานาน นับตั้งแต่สมัยที่ผู้คนยังนับถือผี พุทธ และพรามณ์ โดยบทไหว้ครูนี้เองคือหลักฐานชัดเจนของจารีตเช่นนี้ที่ฝังรากลึกมาช้านานในสังคมไทย

หากยกตัวอย่างเรื่องการไหว้ครู และการครอบครู จะเห็นได้ชัดถึงอิทธิพลของการรับเอาพิธีกรรมจากอินเดียโบราณมา หากจะรับใครเป็นศิษย์แล้วต้องเกิดการไหว้ครู หรือครอบครูก่อน ส่วนการบูชาเทพ เช่น พระศิวะ ครูยักษ์ ครูวานร ตามจารีตพราหมณ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของพิธีไหว้ครูสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ความสัมพันธ์ของครู-ศิษย์ในรูปแบบนี้ยังไม่มีความซับซ้อนมาก เป็นความสัมพันธ์ที่อำนาจครูอยู่เหนือศิษย์อย่างชัดเจน อันเนื่องมาจากบทบาทที่เป็นผู้สั่งสอน ทั้งยังผูกขาดความถูกต้องของสิ่งที่ตนถ่ายทอดให้ศิษย์ โดยมีความอำนาจแห่งความศักดิ์สิทธิ์ตามจารีตศาสนามาเป็นเครื่องมือทางศีลธรรมในการปกป้องอำนาจนี้เอาไว้มิให้เสื่อมคลายไป ทั้งนี้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจลักษณะนี้ยังมีตัวอย่างอันชัดเจน เช่น ธรรมเนียมเกี่ยวกับการผิดครู หรือแรงครู ที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียโบราณ หากใครไม่เข้าพิธีไหว้หรือครอบครูตามธรรมเนียมก็อาจไม่มีใครสอนหนังสือให้ ไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือเกิดเหตุอันไม่พึงประสงค์ได้ การสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์กับบทบาทครูเช่นนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของพลวัตทางอำนาจในการจัดการเรียนการสอนสมัยใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนความรู้ความถูกต้องที่ครูผูกขาดเอาไว้ก็สะท้อนอยู่ในสำนวนอย่าง “ศิษย์ล้างครู” ซึ่งอันที่จริงหมายความถึงการที่ศิษย์ทำลายครูด้วยเจตนาอันมาดร้ายต่อครู ดังที่ปรากฏอยู่ในนิทานธรรมะเกี่ยวกับครูและลูกศิษย์ที่ต้องบังคับช้างในฐานะข้าราชบริพารของพระเจ้าพรหมทัต โดยศิษย์พยายามทำให้ครูต้องอับอายในการแสดงความสามารถต่อหน้าสาธารณชนจนสุดท้ายศิษย์ล้างครูรายนี้ก็โดนผู้คนลงทัณฑ์ด้วยการปาก้อนหินจนขาดใจตายไป ในกรณีนี้ศิษย์ล้างครูนั้นได้รับผลร้ายจากการกระทำของตนเองจนถึงแก่ชีวิตจากการทำร้ายครู โดยนิทานธรรมะและสำนวนนี้ถูกนำมาใช้ในแง่มุมที่ศิษย์ไม่ควรเนรคุณต่อครู การไม่เนรคุณนี้เองก็สามารถตีความได้กว้างขวางตั้งแต่การเชื่อฟังครู การไม่เห็นแย้งกับครู ทำตามโดยไม่ตั้งคำถาม ไปจนถึงการไม่คิดร้ายและทำร้ายครู กลไกเช่นนี้ก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครู-ศิษย์วนเวียนอยู่กับอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน

เมื่อสังคมขยายและซับซ้อนมากขึ้น บทบาทของราชสำนักร้อยรัดกับบทบาทของพุทธและพราหมณ์อย่างชัดเจนทั้งจากการพบการใช้คำว่า “ครู” ในราชสำนักพราหมณ์ หรือในชื่อตำแหน่งแห่งตามที่ระบุไว้ในกฎหมายตราสามดวง และตำแหน่งในวงการสงฆ์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ครูและบทบาทของครูผูกพันอยู่กับศาสนาและราชสำนักจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเนื้อเดียวกัน และกลายเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจ และสถานะทางสังคมที่สูงกว่าคนทั่วไปที่ไม่รู้หนังสือโดยปริยาย กลไกการกีดกันความรู้มีให้เห็นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในหอหลวง ไม่สามารถเผยแพร่ให้กับประชาชนได้ หรือแม้แต่ตัวบทกฎหมายในรัชกาลที่ 1 ก็ถูกห้ามเผยแพร่ทั้งที่เป็นความรู้ที่จำเป็นต่อประชาชน และเมื่อผู้ที่มีความรู้นั้นมีจำกัด การเข้าถึงความรู้ก็มีอยู่อย่างจำกัดเฉพาะคนกลุ่มเล็กในสังคม การที่ครูผูกขาดสำนึกของความเป็นผู้รู้แจ้ง ความถูกต้อง และศีลธรรมอันดีงามจึงเป็นพื้นฐานของบทบาทและคุณลักษณะที่ครูถูกคาดหวังให้เป็นไปโดยปริยาย

การผูกขาดอำนาจของครูในต้นยุครัตนโกสินทร์ยังมีที่มาจากการที่ครูซึ่งในยุควัดเป็นศูนย์กลางของความรู้ด้านศาสนา พระสงฆ์และผู้ที่มาจากราชสำนักเท่านั้นที่จะอ่านออกเขียนได้ ผู้รู้หนังสือจึงมีอยู่อย่างจำกัด หลายครั้งครูยังมีสถานะอยู่เหนือพ่อแม่อันเนื่องมาจากการที่พวกเขาอ่านออกเขียนได้นั่นเอง ร่องรอยของการผูกขาดทั้งความรู้และศีลธรรมของครูยังมีอย่างต่อเนื่องแม้ในยุครัชกาลที่ 5 ซึ่งการศึกษาเริ่มแพร่หลายออกสู่ประชาชนทั่วไปอยู่บ้าง แต่มุมมองที่มีต่อครูยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักดังเช่นข้อ 15 ของ “บุรพกิจของนักเรียน” ในวารสารวิทยาจารย์ ฉบับที่ 6 เดือนเมษายน ร.ศ.120 (พ.ศ. 2444) ได้กล่าวไว้ว่า

(ประมาณปลายยุครัชกาลที่ 5 โดยได้มีการก่อตั้งโรงเรียนวัดมหรรณพาราม โรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรแห่งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2427 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มุ่งให้การศึกษาแก่ประชาชนเพื่อให้เป็นพลเมืองต่อไป)

“นักเรียนทุกคนต้องมีความกลัวเกรงครู, เท่าบิดามารดาของตน เช่น ลูกแถวทหารกลัวนายทหารฉนั้น, ถ้าครูสั่งให้ทำสิ่งใด ต้องทำตามคำสั่งของครูเสมอ, เช่น ครูสั่งไห้ยืนก็ต้องยืนโดยเร็ว (ครูคงจะไม่สั่งให้ไปตาย หรือสิ่งที่นักเรียนทำไม่ได้เปนแน่ เพราะครูเห็นท่าว่าจะทำได้จึงสั่ง ถ้ามิฉะนั้นครูจะเสียอำนาจไป”

ตัวอย่างจากบุรพกิจของนักเรียนสะท้อนว่าการศึกษาสมัยใหม่ในยุคนี้ยังมีครูเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ และเป็นการเรียนรู้ทางเดียวที่นักเรียนพึงปฏิบัติตามคำสั่งของครูเท่านั้น ลักษณะเดียวกันนี้เองก็เกิดขึ้นในการปกครองและความพยายามในการจัดการหัวเมืองที่เริ่มเป็นปฏิปักษ์ต่อสยาม ในห้วงความวุ่นวายจากการเปลี่ยนผ่านการรวมศูนย์อำนาจการปกครองและการริเริ่มการจัดระบบการศึกษาสมัยใหม่ตั้งแต่ พ.ศ.2410 เป็นต้นมาสะท้อนถึงเป้าประสงค์หลักของการจัดการศึกษานั่นก็คือการสร้างข้าราชการที่สามารถรักษาขนมธรรมเนียมแบบแผนดั้งเดิมตามที่ราชสำนักต้องการ

ตัวอย่างหน้าที่ของนักเรียนบุรพกิจนักเรียนที่กล่าวถึงข้างต้นสะท้อนบทบาทครูที่รับเอาภารกิจมาจากรัฐอีกทีในการสร้างข้าราชการที่เชื่อฟังและปฏิบัติงานได้โดยไม่กระด้างกระเดื่องต่อระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์ในสมัยนั้นอย่างเคร่งครัด

พ.ศ.2438 ได้เกิดการอบรมครูและการควบคุมและรักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพครูขึ้นเป็นครั้งแรกที่ “วิทยาทานสถาน” โดยผู้อบรมครูคนแรกคือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าแตกฉานทั้งทางวินัยธรรม พุทธประวัติ และศีลธรรมอันดีงาม รวมถึงเป็นผู้ที่เข้าถึงแก่นของการศึกษาสมัยใหม่ในยุคนั้น ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของครูต้นแบบ และเสนาบดีกระทรวงธรรมการที่ราชสำนักยกย่องว่าเป็นผู้หนึ่งที่พาประเทศไทยเข้าสู่ยุคใหม่ ในยุคนี้เองการศึกษายังเป็นเรื่องของศีลธรรมจรรยา การฝึกหัดด้านร่างกายและอาชีพเพื่อตอบสนองต่อการฝึกเป็นข้าราชการต่อมา “ครูเทพ” หรือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้แสดงความเห็นต่อแนวคิดการจัดการศึกษาผ่านบทกวีของตนเองดังนี้

“…ศึกษาคือสิทธิสูงส่ง      สยามสงวนควรคง

ธำรงสยามยามแปลง

ทหารเอกเกิดเต็มเข้มแข็ง   ส่งสยามดำแคง

แข่งค่าฝ่าเศรษฐสงคราม

จัดประถมศึกษางดงาม     นกสองตัวตาม

ตูมม้วยด้วยกระสุนลูกเดียว

ถือได้ว่าเป็นบทกวีที่สะท้อนแนวคิดการจัดการศึกษาที่มีเป้าหมายคู่ขนานไปกับการเมืองการปกครองอย่างเปิดเผย ชัดเจน กองทัพและการจัดการศึกษาซึ่งมีความสัมพันธ์กับความมีเสถียรภาพของราชสำนักผ่านการปฏิบัติงานวิชาชีพครู ที่เพิ่งได้รับการยกระดับเป็นวิชาชีพขึ้นมาในยุคนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้วิชาชีพครูจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการผูกขาดเอาไว้ซึ่งอำนาจและความรู้ตามแบบที่ราชสำนักต้องการ

เมื่อปฏิวัติสยาม 2475 คณะราษฎรที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดด้านการทหารของประเทศญี่ปุ่นผ่านการไปดูงานต่าง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2477 รวมถึงการส่งนักเรียนไปแลกเปลี่ยนด้านวิชาการทหาร ในยุคที่รัฐบาลของแปลก พิบูลสงครามดำเนินนโยบายสร้างชาติ มรดกทางการศึกษาต่าง ๆ จึงกลายมาเป็นกระบวนการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการรวมเอาผู้คนที่หลากหลายให้กลายเป็นเชื้อชาติไทย การส่งเสริมการศึกษาแก่สตรี และการเสริมสร้างให้เกิดการสร้างโรงเรียนในชนบทมากขึ้น ครูจึงเป็นผู้มีบทบาทในการรับเอาแนวคิดจากรัฐมาถ่ายทอดสู่นักเรียนด้วยวิธีการที่ยังคงผูกขาดความรู้และแนวคิดตามจารีตเดิมที่ผ่านมา หากการเปลี่ยนแปลงเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

บทบาทของครูเริ่มเปลี่ยนแปลง บุคลากรอย่างเตียง ศิริขันธ์ และครอง จันดาวงศ์ล้วนเป็นครูทั้งสิ้น บทบาทครูที่ออกมาต่อต้านเผด็จการจนถูกประหารชีวิตด้วยมาตรา 44 ในยุค สฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือภาพแทนของรอยปริทางความคิดที่ประชาชนเริ่มแสดงออกถึงการไม่ยอมรับการผูกขาดต่ออำนาจรัฐผ่านผู้ที่มีบทบาทชี้นำสังคมอย่างครู

สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง บทบาทของครูในยุคสมัยใหม่อันได้รับอิทธิพลมาจากสหรัฐอเมริกาและองค์กรอย่างสหประชาชาติที่เข้ามาพัฒนาองค์กรฝึกหัดครูผ่านกลไกอย่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อย่างไรก็ดีการผูกขาดทางความรู้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านทั้งการออกแบบโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ การออกกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อควบคุมความรู้และการปฏิบัติงานของครู อาทิ แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2520 ที่ระบุว่าการสร้างครูต้อง

“เป็นผู้ที่มีลักษณะที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้งในแง่บุคลิกภาพทั่วไป ความสัมพันธ์ต่อศิษย์และบทบาทต่อสังคม”

เมื่อเป็นเช่นนี้ครูย่อมต้องผูกขาดทั้งความรู้และความคิดจากรัฐนำสู่การปฏิบัติต่อนักเรียน ยิ่งไปกว่านั้นในยุคที่การปกครองของไทยผ่านการรัฐประหารมานับครั้งไม่ถ้วน หลังเกิดการรัฐประหาร หลักสูตรและแผนการศึกษาของประเทศจะถูกปรับเปลี่ยนมาโดยตลอด เช่น หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรที่วิตกถึงภัยคอมมิวนิสต์ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการปรับหลักสูตรประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นและประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย หมวดวิชาสังคมศึกษา พ.ศ.2520  หรือแม้กระทั่งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 ก็มีการออกแผนการศึกษา 2535 ในปัจจุบันในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา โครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการเองถูกปรับเปลี่ยนให้มีลักษณะของการควบคุมแบบภูมิภาคอย่างสำนักงานศึกษาธิการภาคทั้ง 18 แห่ง ซึ่งเป็นลักษณะโครงสร้างสายบังคับบัญชาแบบทหาร ทำให้ครูต้องมี “หน่วยเหนือ” เพิ่มขึ้น ลดความคล่องตัว และเพิ่มภาระการปฏิบัติงานให้ครูเพื่อการควบคุมติดตามที่ใกล้ชิดมากขึ้น

อันที่จริงจากอดีตจนถึงการปฏิรูปการศึกษาเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ การผูกขาดทางความรู้ของครูเป็นไปตามกลไกการเข้าถึงความรู้ที่มีอยู่อย่างจำกัดรวมถึงบริบททางวัฒนธรรมของพุทธ พราหมณ์ และผี ส่วนยุคสมัยใหม่ครูเองก็ถูกรัฐผูกขาดทั้งความรู้และชุดจริยธรรมในการครองตนเพื่อให้เป็น “แม่พิมพ์” ที่รัฐออกแบบได้ การผูกขาดนี้เองจึงตกทอดลงมาสู่การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน แนวคิดการผูกขาดความรู้และความคิดนี้ย่อมขัดต่อการพัฒนาการศึกษาสมัยใหม่ที่ครูต้องเป็นผู้สนับสนุนกระบวนการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาทักษะที่เป็นของนักเรียนแต่ละคน

เอาเป็นว่าประชาชนเดินไปข้างหน้าหาวิธีที่จะปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการของความรู้ชุดเก่าๆ แต่รัฐยังคงใช้วิธีเดิมเพื่อผูกขาดทุกอย่างในโลกที่การผูกขาดแทบจะเป็นไปไมได้แล้ว

อ้างอิง

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. 2564. “จากพระคุณที่สามถึงคศ.3: พลวัตรวิชาชีพครูว่าด้วยอำนาจและสถานภาพทางสังคมในสังคมไทย” มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง (งานวิจัยยังอยู่ในการดำเนินการ)

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
ครู-นักการศึกษา นักเรียนเก่าฟินแลนด์ตัวจริงที่มีโอกาสได้สัมผัสระบบการศึกษาที่ได้รับยกย่องว่าดีที่สุดในโลก หนึ่งในผู้ผลักดันประเด็นปฏิวัติการศึกษาในประเทศไทย รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกคน 7 คนใส่ชุดครุยขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์ กระทำการในนามของศาลรัฐธรรมนูญลงมติเสียงข้างมากให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี