“เช่นเดียวกับที่ฉันยืนขึ้นต้านแรงโน้มถ่วง ฉันกำลังยืนต่อต้านระบบนี้ด้วย”
เออร์เดม กุนดุซ
เมื่อพูดถึงประเทศตุรกี หลายๆ คนอาจจะนึกถึง อูฐ ทะเลทราย ไอศกรีม สถานที่ท่องเที่ยวที่มีมนต์ขลัง เสียงเพลงจากเครื่องดนตรีพื้นเมือง หรือเเม้เเต่ของกินอย่างเคบับ อย่างไรก็ตาม ตุรกียังเป็นประเทศที่มีกลิ่นอายของการต่อสู้ทางการเมืองมาโดยตลอด
ตั้งแต่การประกาศเอกราชในปี 1923 มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก (Mustafa Kemal Atatürk) ได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้ปลดปล่อยประเทศตุรกี และเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐตุรกี การบริหารของอตาเติร์กนำไปสู่การปฏิรูปตุรกีหลายๆ ด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม และเนื่องจากอตาเติร์กมีนโยบายแยกกิจการของรัฐออกจากศาสนา อตาเติร์กจึงได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาของรัฐฆราวาสและตุรกีแบบสมัยใหม่
แม้เวลาจะผ่านไปหลายทศวรรษ แต่การต่อสู้กับอำนาจอยุติธรรมของประชาชนตุรกีก็ยังไม่สิ้นสุด จากที่เคยต่อสู้กับการกดขี่ของมหาอำนาจในช่วงประกาศอิสรภาพ ปัจจุบันกลับกลายเป็นการต่อสู้กับความอยุติธรรมจากรัฐบาลเผด็จการของตัวเอง
ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรี (2003-2014) เรเจป ไตยิป แอร์โดกัน (Recep Tayyip Erdoğan) นักการเมืองบ้าอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไม่ค่อยได้รับความนิยมชมชอบนักจากประชาชนผู้รักในระบอบประชาธิปไตย ครั้นเมื่อได้อำนาจเพิ่มขึ้นและเป็นประธานาธิบดีในปี 2014 รัฐบาลของแอร์โดกันได้ทำการกวาดล้างและจำคุกฝ่ายตรงข้าม จำกัดเสรีภาพสื่อ พยายามขยายอำนาจบริหารของตัวเอง รวมไปถึงวิจารณ์ผู้ประท้วงตนเองว่าเป็นพวกผู้ก่อการร้าย
ในขณะที่การต่อต้านเกิดขึ้น แอร์โดกันได้สั่งให้ตำรวจปราบปรามและจับกุมผู้ชุมนุมประท้วง เพื่อให้ประชาชนกลัวเเละไม่กล้าออกมาทำอะไรต่อต้านเขา ผลลัพธ์คือประชาชนกลุ่มใหญ่ในตุรกีและทั่วโลกมองว่าเขาเป็นเผด็จการหัวโบราญคร่ำครึ และเนื่องจากเป็นพวกอนุรักษ์นิยมอิสลาม ประชาชนและชาวโลกจึงมองว่าแอร์โดกันกำลังนำพาตุรกีย้อนเวลากลับไปสู่รัฐศาสนาเหมือนก่อนยุคสมัยใหม่
เรื่องราวที่พวกเรานำมาแลกเปลี่ยนในตอนนี้เป็นเรื่องราวของประชาชนคนหนึ่งในตุรกีที่เหลืออดกับการกระทำของผู้ใช้อำนาจของรัฐ ประชาชนคนหนึ่งที่เลิกก้มหน้า ประชาชนคนหนึ่งที่ลุกขึ้นยืนตรงสู้กับอำนาจรัฐ ประชาชนคนหนึ่งที่จุดประกายให้ประชาชนคนอื่น ๆ ลุกขึ้นสู่ และประชาชนคนหนึ่งที่เป็นต้นแบบของขบวนการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมไปทั่วโลก
นี่คือเรื่องราวของเออร์เดม กุนดุซ ศิลปิน นักเเสดง และครูสอนการเต้นรำ สามัญชนชาวตุรกีที่สร้างตำนานด้วยการยืนประจันหน้าต่อสู้กับอำนาจอยุติธรรมอย่างไม่ลดละ การต่อสู้ของเขาถูกเล่าขานไปทั่วโลก หากเทียบเคียงกับมุมมองของไทย คงพอกล่าวได้ว่าเขาเป็น “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย”
การยืนต่อต้าน
การต่อสู้นี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนปลายเดือน พ.ค. ถึง กลางเดือน มิ.ย. 2013 เมื่อคณะรัฐบาลที่มี แอร์โดกันเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ออกประกาศว่าจะมีการปรับปรุงบริเวณพื้นที่สีเขียวของสวนสาธารณะเกซีในย่านทักซิม
สวนเกซีเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ไม่กี่เเห่งในเมืองอิสตันบูล ความตั้งใจของรัฐบาลคือต้องการปรับทัศนียภาพของสวนนี้ให้ทันสมัย และมีโครงการจะสร้างห้างสรรพสินค้าในบริเวณนั้น
ไม่นานหลังจากที่ข่าวนี้เเพร่สะพัด ประชาชนก็เริ่มมีการมาทำกิจกรรมนั่งขัดขวาง (sit-in) เพื่อปกป้องไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตัดต้นไม้หรือทำลายโครงสร้างใด ๆ ของสวนได้
การชุมนุมนี้เองที่ทำให้เออร์เดม กุนดุซ เป็นที่รู้จักของชาวตุรกีและชาวโลก เออร์เดมเป็นศิลปินธรรมดาคนหนึ่งจากเมืองอังการ่า ที่ทำงานหาเลี้ยงชีวิตด้วยการเป็นนักเเสดง ทำงานศิลปะ และเป็นครูสอนเต้น
การไล่รื้อสวนสาธารณะเกซีคือ ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ เออร์เดม รู้สึกว่าทนไม่ได้แล้วกับการปล่อยให้รัฐบาลใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยไม่เห็นหัวประชาชน เย็นวันหนึ่งเขาตัดสินใจขับรถส่วนตัวออกไปที่สวนเกซี เวลานั้นรัฐบาลได้ประกาศให้การชุมนุมสาธารณะผิดกฎหมาย และการรวมตัวใด ๆ ในที่สาธารณะก็ผิดด้วย
17 มิถุนายน 2013 เวลาประมาณ 6 โมงเย็น เออร์เดม เริ่มปฏิบัติการต่อสู้ของเขาด้วยการยืนเฉยๆ เขานำกระเป๋าน้ำดื่มวางไว้ที่ปลายเท้า และเริ่มยืนตรงหน้าเสาธงใหญ่กลางจัตุรัสทักซิม
เออร์เด็มเอามือล้วงกระเป๋าแล้วมองไปยังศูนย์วัฒนธรรมอตาเติร์ก ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเออร์เดม โดยไม่ได้มีป้ายหรือข้อความใดๆ บนร่างกาย เขาทำเพียงเเค่ยืนตรงและมองไปยัง อาคารที่มีรูปอดีตผู้นำที่เขารัก (อตาเติร์ก) และยืนต่อไปอย่างมั่นคงเพื่อบอกให้คนมีอำนาจรู้ว่ายังมีประขาชนคนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ยอมให้กับอำนาจรัฐมากดขี่อย่างเด็ดขาด
แม้จะไม่มีเครื่องเสียงใดๆ แต่การยืนของเออร์เดมกลับสร้างเสียงกระหึ่มไปทั่วสังคม และเขาทำให้เห็นว่าไม่มีรัฐใดสามารถทำลายความตั้งใจอันแรงกล้าของประชาชนได้ ไม่นานหลังเออร์เดมออกมายืนเพียงคนเดียว ผู้คนในโลกออนไลน์ทั้งยูทูป เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ต่างพากันแชร์สิ่งที่เออร์เดมทำ
ในคืนนั้นเอง มีคนมาร่วมยืนกับ เออร์เดม ประมาณ 300 คน พวกเขายืนเฉยๆ ไม่มีการขยับ ไม่มีการพูดคุย หรือ ส่งข้อความใดๆ ทั้งหมดยืนอยู่ราว 8 ชั่วโมงเศษ จนเวลาประมาณตี 2 ตำรวจก็เข้ามาสลายการชุมนุมและจับกุมผู้คนบางส่วนไป
ทุกอย่างดูเหมือนจะจบลงตรงนั้น แต่วันต่อ ๆ มากลับเกิดการชุมนุมในรูปแบบการยืนเฉยๆ ขึ้นอีกหลายเมืองทั่วตุรกี ถ้าจะให้เห็นภาพ ก็เหมือนการเกิดขึ้นของม็อบนักเรียน นิสิต นักศึกษากว่า 30 โรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563
ความไม่พอใจที่มีอยู่กับรัฐบาลถูกระบายออกมาทีเดียวและนำไปสู่การเปิดโปงปัญหาที่รัฐบาลพยายามไม่พูดถึง การชุมนุมในตุรกียกระดับไปมากกว่าแค่การแทนที่สวนสาธารณะด้วยห้างสรรพสินค้า ประชาชนตุรกีไม่อาจทนผู้นำอำนาจนิยมที่ไม่ฟังเสียงประชาชนได้อีกแล้ว
รัฐบาลตุรกีคอยแต่จะทำลายประชาธิปไตย ลิดรอนเสรีภาพสื่อ ควบคุมชีวิตประจำวันของประชาชนด้วยการใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังนำเสนอข่าวปลอมเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง ใช้อำนาจตำรวจทหารในการปราบปรามประชาชน รวมถึงนโยบายการต่างประเทศที่สนับสนุนสงครามในซีเรียด้วย
เมื่อเวลาผ่านไป คนที่ออกมาชุมนุมไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาวอีกต่อไป คนเเก่ วัยกลางคนเริ่มออกมาสมทบ ทั้งฝ่ายที่เคยบอกว่าอยู่ฝ่ายขวา ฝ่ายซ้าย หรือ “เป็นกลาง” ต่างก็ร่วมกันออกมาปกป้องสวนสาธารณะ พร้อมกับต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการเเสดงออก และขอให้ประธานาธิบดีลาออก เพื่อเปิดทางไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใส
ทุกคนออกมาแสดงความไม่พอใจกับสิ่งที่รัฐบาลทำกับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการลิดรอนสิทธิการเเต่งกาย และการห้ามเเสดงออกในที่สาธารณะสิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนไม่อาจทนต่อไปได้อีกแล้ว เเม้จะเป็นแค่การยืนเฉยๆ แต่สิ่งที่ถูกสะท้อนออกมาคือจำนวนของคนที่ไม่พอใจมีมากขึ้นเรื่อยๆ
กลยุทธ์ที่ทำให้เออร์เดมโด่งดังไปทั่วโลกอย่างไม่ได้ตั้งใจคือการยืนนี้เอง เออร์เดมถูกเรียกในสื่อภาษาอังกฤษว่า standing man ซึ่งคงพอเทียบเคียงเป็นไทยได้ว่า “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” กิจกรรมการเเสดงออกที่เขาใช้เพียงร่างกายของเขาในการสื่อสารเรื่องการเมือง แม้จะถูกมองว่าเป็นเเค่ศิลปะการแสดง แต่เออร์เดม บอกว่าการยืนนิ่งเหมือนรูปปั้นหลายๆชั่วโมงของเขาเป็นการเล่าเรื่อง
กิจกรรม “ยืนเด่นโดยท้าทาย” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการประท้วงครั้งใหญ่ในตุรกี แต่รูปแบบของกิจกรรมนับว่าประสบความสำเร็จ และได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชนตุรกีและจากประชาคมโลก
ในช่วงการประท้วงที่ผ่านมาของตุรกี กิจกรรมใดๆ ที่ประชาชนตั้งใจทำเพื่อต่อต้านรัฐบาลมักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารปราบปรามด้วยความรุนแรงอยู่เสมอ ประชาชนไม่เหลือวิธีการใดๆ นอกจากการสร้างศิลปกรรมทางการเมืองสุดสร้างสรรค์ ด้วยการแค่ออกมายืน ยืนให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย ยืนเฉย ๆ ประจันหน้ากับอำนาจรัฐ เราอาจจะเรียกการกระทำแบบนี้ว่า การกระทำโดยไม่กระทำ (actionless action) ก็ได้
การยืนเฉยๆ เป็นการเเสดงออกที่ดูธรรมดา เรียบง่าย แต่ทรงพลังมาก ที่สำคัญ การชุมนุมเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ยังทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลเออร์โด ที่ออกมาบอกว่า “การประท้วง มันเลวร้าย รุนแรง และป่าเถื่อน” ด้วย
จากคำพูดดังกล่าว ประชาชนส่วนมากจึงให้ความสนใจ หัวเราะเยาะความบ้าอำนาจของรัฐบาล และเห็นอกเห็นใจผู้ชุมนุมมากขึ้น ลองคิดดูว่าถ้าเป็นการชุมนุมที่จัดขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค แต่กลับมีการทำร้ายร่างกาย หรือทำลายข้าวของสาธารณะ คนคงหันไปสนใจความรุนแรงที่เกิดขึ้น และทำให้สิ่งที่ต้องการสื่อสารลดความสำคัญลงไป
หลักการสำคัญที่เออร์เดมให้ความสำคัญคือ การไม่ใช้ความรุนแรง กิจกรรมของเขาทำให้เจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจงงกันเป็นแถบ เพราะปกติแล้วรัฐมักตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง แต่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นไม่มีวิธีการจัดการผู้ชุมนุมที่ยืนชุมนุมสงบเงียบ จากกิจกรรมประท้วงดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ไม่รู้จะตอบโต้ยังไง เเม้แต่รองนายกรัฐมนตรีของตุรกีก็ยังออกมาบอกว่า “การชุมนุมนี้ชอบธรรม และไม่ควรถูกประนาม เพราะไม่มีความรุนแรง”
เราทุกคนสามารถเริ่มได้จากอะไรง่ายๆ ได้เช่นเดียวกับเออร์เดม การยืนเฉยๆ สามารถนำมาทำได้อีกนับครั้งไม่ถ้วน ในสถานที่แตกต่างกัน โดยคนที่แตกต่างกัน ในรูปแบบที่แตกต่างกัน บางคนอาจยืนอ่านหนังสือ บางคนอาจยืนนิ่ง บางคนอาจออกมายืนต่อต้านความรุนแรงของตำรวจ คนอื่น ๆ อาจจะออกมายืนเฉย ๆ เพื่ออิสรภาพ ตัวอย่างล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างการ “ยืน หยุด ขัง” เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมือง สามารถแสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า ความเรียบง่ายและไม่รุนแรงของการเคลื่อนไหวแบบนี้ทำให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้
เราอยากชวนทุกคนออกมาเเสดงพลังของประชาชนที่ไม่ยอมจำนน เราอยากให้ทุกคนออกมาบอกว่าเราจะไม่ยินยอมกับความอยุติธรรมและระบอบอำนาจนิยมเช่นนี้ รัฐบาลหลายประเทศอาจบอกว่าการชุมนุม การรวมตัวกันเกินกว่า 3 คน 5 คน เป็นเรื่องผิด แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเราเลือกลุกขึ้นสู้ ในโลกนี้ไม่มีใครสั่งเราได้
การต่อต้านอยู่ในสัญชาตญาณของเรา การต่อต้านคือสิ่งหนึ่งที่ยืนยันความเป็นมนุษย์ เราเป็นสัตว์สังคมที่มีการรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับสิ่งที่มีอำนาจมากกว่ามาโดยตลอด ฉะนั้น การยอมให้รัฐบอกว่าการรวมตัวกันเป็นสิ่งผิดจึงถือเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ !
เราสามารถเริ่มการต่อสู้ได้จากสิ่งเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน หรืออะไรที่สามารถทำได้เลยในทันที เช่น งดเข้าร้านสะดวกซื้อที่สนับสนุนเผด็จการ ออกมาใส่เสื้อสีดำทุกวันศุกร์ ออกไปยืนอ่านหนังสือหน้าทำเนียบเงียบๆ หรือยืนกินไอติมกลางเเดดที่หน้ากระทรวงทรัพยากร ฯ เพื่อรณรงค์เรื่องการลดโลกร้อนก็ได้ หากการกระทำของคุณได้รับความสนใจ ประชาชนอาจมาเข้าร่วมได้เป็นเรือนหมื่นเรือนแสนได้เลยทีเดียว
“เวลาอยู่ข้างเรา” จงกล้าที่จะคิด ตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจและเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ผู้มีอำนาจทั้งหลายพึงสังวรไว้เถิด หมดเวลาของพวกท่านแล้ว นับแต่นี้ต่อไปคือเวลาของพวกเรา ประชาชน !
“ผมเชื่อในพลังของปัจเจก พลังเเห่งการกระทำของปัจเจกชน อย่ามัวเเต่รอให้ใครลุกขึ้นมานำคุณเลย เมื่อใดที่คุณเจอความอยุติธรรมอยู่ตรงหน้า อย่ากลัวที่จะเเสดงออกในเเบบที่คุณรู้สึก ความจริงใจ เเละความเเน่วเเน่ของคุณ จะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนเเปลงสังคมอยุติธรรมได้อย่างถาวร ผมเป็นนักเเสดง ผมก็ออกมาทำการเเสดงการเเสดงของผม คือ การยืนเฉยประท้วงยาว 8 ชั่วโมง ผลของมันก็อยู่ตรงหน้าคุณ
คุณละคือใคร?
คุณจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรมอย่างไร?”
เออร์เดม กุนดุซ
ข้อมูลเพิ่มเติม
- หลังการชุมนุมอย่างสันติ มีผู้ชุมนุมบางส่วนถูกควบคุมตัวในฐานะเเกนนำที่จัดกิจกรรมการยืนเฉยๆ
- การสลายการชุมนุมส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 คน บาดเจ็บอีกกว่า 8,000 คน เเละถูกจับอีกนับพัน ทำให้รัฐบาลตุรกีถูกลดความสัมพันธ์จากนานาชาติ โดยมีสหภาพยุโรปเป็นแกนนำ
- ไม่นานหลังการชุมนุมศูนย์วัฒนธรรมอตาเติร์กที่ย่านทักซิมก็ถูกปิดตัวลง
- รัฐบาลตุรกีได้ออก พรบ.ควบคุมการชุมนุม เเละเพิ่มอำนาจรัฐในการควบคุมอินเทอร์เน็ต เพิ่มอำนาจตำรวจ โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุมในอนาคต
- ปัจจุบันรัฐบาลตุรกีได้ยกเลิกการก่อสร้างในพื้นที่สาธารณะเกซีเเล้ว โดยประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการสวนได้ตามปกติ
อ้างอิง
Standing Man, Erdem Gunduz
Adam Taylor, The ‘Standing Man’ Has Become The Iconic Protest In Istanbul’s Chaos, Business insider, 2013
BBC, ‘Standing man’ inspires Turkish protesters in Istanbul, BBC News, 18 june 2013
Richard Seymour, Turkey’s ‘Standing Man’ Shows How Passive Resistance Can Shake a State, The Guardian, 2013