แหล่งความรู้สำหรับการปฏิวัติ
หากพูดถึงหนังสือคู่มือเกี่ยวกับการปฏิวัติในช่วงหลังมานี้ หลายคนคงคุ้นหูหนังสือชื่อว่า Beautiful Trouble กันดี หนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่นักกิจกรรมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะเป็นแหล่งข้อมูลปฏิบัติไร้ความรุนแรงที่พร้อมนำมาใช้ได้ในทันที หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคม Beautiful Trouble ถือเป็นหนึ่งในหนังสือที่คุณพลาดไม่ได้
ที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้นับว่ามีความน่าสนใจอย่างมาก Beautiful Trouble เกิดจากความร่วมมือของศิลปินและนักกิจกรรมทางการเมืองกว่า 70 คนในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปในปี 2553 ซึ่งเป็น 1 ปีก่อนมีการปฏิวัติอาหรับสปริงและขบวนการ Occupy Wallstreet แม้จะมีความยาวกว่า 500 หน้า แต่หนังสือเล่มนี้ก็มียอดขายกว่า 25,000 เล่มและได้รับการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาอื่น ๆ อีกกว่า 7 ภาษา รวมถึงฉบับภาษาไทยที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ด้วย
เนื่องจากได้รับกระแสการตอบรับเป็นอย่างดี ทีมงานผู้เขียนจึงก่อตั้งองค์กรและเว็บไซต์ขึ้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ฟรี นอกจากจะมีเครื่องมือช่วยออกแบบวางแผนการรณรงค์บนเว็บไซต์ ที่มาจากการถอดบทเรียนกรณีศึกษาต่าง ๆ ในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว ยังมีกองทุนสำหรับคนที่ต้องการต่อสู้เปลี่ยนแปลงสังคมด้วยปฏิบัติการทางตรง (direct action) และช่องทางติดต่อให้คำปรึกษาในการจัดกิจกรรมรณรงค์ทางสังคมต่าง ๆ รวมถึงสายด่วนฮอตไลน์ และโครงการฝึกที่มีนักกิจกรรมผ่านการเข้าร่วมมาแล้วกว่า 15,000 คน
หลังหนังสือ Beautiful Trouble ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม องค์กรจึงเริ่มผลิตหนังสือและกล่องชุดความรู้ออกมาเพิ่มเติม อีกเล่มหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นแหล่งที่มาของเรื่องราวเกี่ยวกับขบวนการนักศึกษาในพม่าที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้คือ หนังสือที่มีชื่อเสียงอย่างมากและเพิ่งได้รับการตีพิมพ์ออกมาในปี 2562 ชื่อว่า Beautiful Rising: Creative Resistance from the Global South
Beautiful Rising เป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวและรูปแบบวิธีการเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชนในซีกโลกใต้ หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นเรื่องราวที่ยังคงมีชีวิต เพราะเกิดมาจากการถอดบทเรียนของขบวนการเคลื่อนไหวหลายแหล่งใน 6 ประเทศของซีกโลกใต้ ได้แก่ เมียนมาร์ จอร์แดน ซิมบับเว บังกลาเทศ ยูกันดา และเม็กซิโก นอกจากจะนำเสนอภาพรวมทางทฤษฎี วิธีการ และกลยุทธ์สำหรับขบวนการเคลื่อนไหวออกมาในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่ายแล้ว ยังแนะนำปฏิบัติการรณรงค์รูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้ทันทีด้วย แต่น่าเสียดายที่หนังสือเล่มนี้ยังไม่มีการแปลออกมาเป็นภาษาไทย
เนื่องจาก Common School คณะก้าวหน้าเห็นว่า เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะเหมาะสมกับห้วงเวลาแห่งความสิ้นหวังภายในใต้ระบอบเผด็จการเช่นนี้ ทั้งยังช่วยขยายขอบฟ้าความเป็นไปได้ในการต่อสู้ของประชาชนได้เป็นอย่างดี จึงอยากจะลองแบ่งปันเรื่องราว เพื่อจุดประกายให้เราจินตนาการต่อยอดหาวิธีการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้นอย่างสร้างสรรค์ และเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความก้าวหน้าที่หยั่งรากในสังคมไทย และสถาปนาให้ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจอธิปไตยขึ้นมาในที่สุด
การเดินทางอันยาวไกลของขบวนการนักศึกษาในพม่า
หากพูดถึงประเทศพม่านั้น ความคิดแรกที่เราอาจนึกถึงคือพม่าเป็นอริราชศัตรูของไทย และเป็นผู้เผากรุงเสียอยุธยาเท่านั้น เรื่องนี้เป็นมายาคติที่ผลิตขึ้นเพื่อสร้างความเกลียดชัง แบ่งเขาแบ่งเราเพื่อให้อัตลักษณ์ความเป็นไทยเด่นชัดขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ค่อยได้รับรู้กันมากนักเกี่ยวกับพม่าคือ ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของพม่า มีการต่อสู้ของประชาชนกับผู้นำเผด็จการทหารอย่างต่อเนื่องและมีขบวนการของนักศึกษาและประชาชนที่เข้มข้นอย่างมาก แม้จะถูกคุกคาม ปราบปรามมากเพียงใด พวกเขาก็ยังแสดงพลังไม่ยอมจำนนต่อสู้กับผู้นำเผด็จการอยู่เสมอ
เรื่องนี้เด่นชัดขึ้นเมื่อเกิดการรัฐประหารในพม่าขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และเริ่มมีการประท้วงต่อต้านเผด็จการขึ้นทั้งในพม่าและไทย เหตุการณ์นี้เป็นหมุดหมายสำคัญในการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ไทย-พม่าในระดับประชาชน เพราะทำให้เห็นว่าถึงที่สุดแล้วเอกราชของชาติไม่จำเป็นต้องถูกช่วงชิงโดยลัทธิอาณานิคมของต่างชาติเสมอไป แต่สามารถถูกยึดครองจากกองทัพทหารของประเทศตนเองได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังทำให้เห็นด้วยว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชนและระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภานั้น เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องร่วมกันต่อสู้ให้ได้มาไม่ว่าจะอยู่ในชาติใดก็ตาม
เหตุการณ์รัฐประหารและต่อสู้ของประชาชนที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ไม่ใช่การต่อสู้ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในพม่า ก่อนหน้านี้พม่าเคยมีการรัฐประหารเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง เช่น การรัฐประหารในปี 2505 (ค.ศ. 1962) ของพลเอกเนวิน และหลังการลุกฮือในปี 2531 (ค.ศ. 1988) ที่นำไปสู่การนองเลือดของนักศึกษา ประชาชน และพระภิกษุสามเณรจำนวนมาก ถึงแม้พลเอกเนวินจะประกาศลาออกและมีการจัดเลือกตั้งขึ้น แต่จนแล้วจนรอดกองทัพพม่าก็ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และสั่งกักบริเวณนางอองซานซูจีซึ่งเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งถึง 15 ปี
เนื่องจากถูกกดดันจากนานาชาติและประชาชนอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลทหารพม่าจึงอนุญาติให้มีการเลือกตั้งอย่างไม่ค่อยเสรีและเป็นธรรมนักอีกครั้งใน พ.ศ. 2553 โดยนายเต็ง เส่ง อดีตนายพลสายปฏิรูปได้รับเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดี แม้เต็ง เส่งจะพยายามปฏิรูปให้ประเทศในด้านต่าง ๆ แต่มรดกตกทอดของเผด็จการฝังรากลึกอย่างมาก การถอนรากเผด็จการไม่ใช่อะไรที่ผู้นำคนเดียวจะสามารถทำได้ ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องต่อสู้จึงได้มา
หนึ่งเหตุการสำคัญในช่วงนั้น คือการเดินขบวนระยะไกลของนักศึกษาพม่าในปี 2558 (Burmese student long march) เหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในการต่อสู้ที่งดงามในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนชาวพม่า
ในเดือนมกราคมเหล่านักศึกษาในแต่ละภูมิภาครวมตัวกันเพื่อประท้วงกฎหมายการศึกษาแห่งชาติที่รัฐบาลพยายามนำมาใช้เพื่อควบคุมการศึกษาจากรัฐส่วนกลาง นอกจากกฎหมายนี้จะทำให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นชาติพม่านั้นมลายหายไปแล้ว ยังไม่คุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการและไม่ยอมรับการตั้งสหภาพนักเรียนและอาจารย์ด้วย
เมื่อกลุ่มคณาจารย์และนักศึกษาพยายามเสนอข้อเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ กระบวนการในการปฏิรูปการศึกษากลับปิดกั้นการมีส่วนร่วมและคุกคามนักศึกษา ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงรวมตัวกันเดินขบวนประท้วงจากภูมิลำเนาของตนไปยังเมืองย่างกุ้ง โดยเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร ระหว่างทางพวกเขาต้องเผชิญกับผู้ไม่เห็นด้วย การจับกุมนักศึกษา ยกระดับไปถึงการสลายการชุมนุม ทว่าในระหว่างนี้ก็มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากหลังเห็นความโหดร้ายทารุณของรัฐเผด็จการเช่นเดียวกัน ส่งผลทำให้รัฐสภาต้องชะลอการผ่านกฎหมายปฏิรูปการศึกษาและยอมเจรจากับกลุ่มนักศึกษาในที่สุด
สำหรับยุทธวิธีที่พวกเขาใช้ในการต่อสู้นั้นเรียกว่าการเดินขบวนระยะไกล หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า trekking การเดินขบวนระยะไกลนับว่าเป็นยุทธวิธีการสื่อสารที่น่าทึ่ง เพราะระหว่างที่มีการเดินผ่านเมืองและหมู่บ้านหลายแห่งในพม่า ขบวนนักศึกษาได้มีโอกาสสื่อสารกับผู้เดินผ่านไปผ่านมาว่ากฎหมายฉบับนี้มีปัญหาอย่างไร เหตุใดพวกเขาจึงต้องออกมาเดินขบวน นอกจากนี้ กลยุทธ์แบบนี้ยังทำให้มีขบวนการนักศึกษามีเวลาออกอากาศ (air-time) ในพื้นที่สื่อเป็นเวลายาวนาน ทำให้พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และเป็นการสร้างแรงกดดันไปยังรัฐบาลไปในตัว
เนื่องจากยุทธวิธีเช่นนี้เป็นการค่อย ๆ สั่งสมการสนับสนุนจากสาธารณชนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ฝ่ายรัฐที่อยากผ่านกฎหมายย่อมร้อนใจขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อถึงจุดที่ไม่อาจยอมได้อีกต่อไป รัฐจึงต้องลงดาบปราบปรามในที่สุด ทว่านั่นเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ของรัฐบาลพม่า เนื่องจากเมื่อการเดินขบวนของประชาชนถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ประชาชนจึงออกมาสนับสนุนการเดินขบวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เหตุการณ์เช่นนี้เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการต่อต้านขัดขืนของประชาชน โดยศัพท์เฉพาะเรียกว่าปรากฎการณ์ “ดาบนั้นคืนสนอง” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า backfire
แม้ว่าตลอดการเดินขบวนนักศึกษาและประชาชนจะถูกข่มขู่ ยั่วยุ คุกคาม ปราบปราม และจับกุมอยู่เสมอ กลุ่มผู้เดินขบวนส่วนใหญ่ก็หาได้ตอบโต้ด้วยความรุนแรงไม่ แต่ยังคงปฏิบัติตามระเบียบวินัยของการเดินขบวนอย่างหนักแน่น ด้วยการไม่ตอบโต้ความรุนแรงกลับไปยังเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเด็ดขาด หลักการเช่นนี้เรียกว่าระเบียบวินัยในการไม่ใช้ความรุนแรง หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า (nonviolent discipline) ภายใต้หลักการนี้ ขบวนการรณรงค์จะมีความชอบธรรมมากขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้นทุกครั้งที่รัฐบาลเข้าทำการปราบปราม
การเดินขบวนระยะทางไกลของนักศึกษาพม่าเป็นหนึ่งในการต่อสู้กับมรดกตกทอดของระบอบเผด็จการกดขี่เพื่อให้ได้มาซึ่งการศึกษาที่ดีสำหรับคนรุ่นหลัง เปรียบเสมือนเป็นการเดินหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังให้หยั่งรากในสังคม การเดินขบวนของนักศึกษาพม่าทำให้เราเห็นว่าสามัญชนคนธรรมดาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังได้ ถ้าพวกเขาร่วมกันลุกขึ้นสู้เพื่อยืนยันในหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
นอกจากการเดินขบวนจะช่วยให้ขอบฟ้าความเป็นไปได้เปิดขึ้นภายใต้สังคมที่ดูมืดมนและอับจนหนทางแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของกระแสธารในการต่อต้านระบอบเผด็จการอำนาจนิยมทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การเดินขบวนต่อต้านการผูกขาดสัมทานเกลือของระบอบอาณานิคมอังกฤษในอินเดีย (พ.ศ. 2473) หรือ ล่าสุดในประเทศไทยก็มีการเดินขบวน “ทะลุฟ้า” เป็นระยะทาง 247 กิโลเมตรในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา แม้การตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าที่ข้างทำเนียบรัฐบาลจะถูกจับกุมและปราบปราม แต่ใช่ว่าการต่อสู้ของประชาชนจะสิ้นสุดลง
“เวลาอยู่ข้างเรา” จงกล้าคิด ตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจและเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ผู้มีอำนาจทั้งหลายพึงสังวรไว้เถิด หมดเวลาของพวกท่านแล้ว นับแต่นี้ต่อไปคือเวลาของพวกเราประชาชน !
“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่าทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัวและไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้เพราะเขาอยู่ยงคงกระพันยิ่งกว่าอาคิลลิสหรือซิกฟริด เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก…โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน”
― เสนีย์ เสาวพงศ์, ปีศาจ
อ้างอิง
https://beautifulrising.org/tool/burmese-students-long-march
https://beautifulrising.org/tool/trek
https://beautifulrising.org/tool/direct-action
https://beautifulrising.org/tool/maintain-nonviolent-discipline
อ่านเพิ่มเติม
จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย : แผนการสู่อิสรภาพ,ยีน ชาร์ป แปลโดย ธรรมชาติ กรีอักษร, ภาคิน นิมมานนรวงศ์,สำนักพิมพ์นิสิตสามย่าน, 2563
ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง: ทางเลือกการจัดการความขัดแย้งที่ไม่ไร้น้ำยา, จันจิรา สมบัติพูนศิริ ใน http://libertyschool.in.th/knowledge/nonviolent-action-janjira/
ยีน ชาร์ปกับ “สันติวิธีของคนดื้อ”,จันจิรา สมบัติพูนศิริ ใน https://www.the101.world/gene-sharp/
“สันติวิธีของคนดื้อ”: ยีน ชาร์ป กับความรู้สันติวิธีในสังคมไทย”,จันจิรา สมบัติพูนศิริ ในhttps://www.the101.world/gene-sharp-2/