เมื่อรัฐไทยปะทะโควิด-19

วิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและสังคมโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประชาชนทั่วโลกได้รับคำแนะนำให้กักตัวอยู่ในบ้าน หากจะออกนอกบ้านก็ต้องปฏิบัติตัวตาม “หลักการเว้นระยะห่าง” (Social Distancing) เพื่อรักษาสุขภาพของกันและกัน ภาคธุรกิจโลกทั้งยักษ์ใหญ่และรายย่อยถูกสั่งให้หยุดงาน หลายๆ แห่งกระทบหนักจนต้องปิดตัวลงส่งผลให้เกิดการว่างงานครั้งใหญ่ทั่วโลก โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประเมินว่าจะมีคนไทยตกงานร่วม 8 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ 

วิกฤตครั้งนี้ได้เปิดเผยให้เห็นว่า รัฐแต่ละรัฐมีจุดอ่อนจุดแข็งอยู่ตรงไหน สำหรับรัฐไทยเจอกับความบกพร่องเยอะในช่วงแรก เพราะ การไม่ประสานกันทำงานในหน่วยงานราชการ แต่ก็ตั้งหลักและควบคุมการระบาดของโรคนี้ได้ ด้วยปัจจัยสำคัญ 2 ตัว คือ

1.ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีระบบสาธารณสุขดี  คือ ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานในทางการแพทย์ที่ดี มั่นคง และมีประสิทธิภาพตั้งแต่หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา รวมทั้งยังมีมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพเป็นอันดับต้นๆของโลก

2.ปัจจัยทางสังคมที่ประชาชนไทยให้ความร่วมมือกับมาตราการเว้นระอย่างดี ไม่ว่าในแง่มาตราการการใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม การเสียสละแล้วยอมหยุดอยู่บ้าน 

ถึงการควบคุมการระบาดจะประสบความสำเร็จ ไม่มีผู้ติดเชื้อกันภายในประเทศเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว แต่ระยะต่อไปจะเป็นส่วนที่ยากขึ้นสำหรับรัฐบาล นั้นคือ “ระยะการฟื้นฟูประเทศ” ในแง่ทางเศรษฐกิจที่นักเศรษฐศาสตร์ทุกสำนักวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่าจะเป็น มหาวิกฤตเศรษฐกิจ และจะลามไปถึงวิกฤตทางสังคมด้วย ไปถึงเรื่องปัญหาสุขภาพจิต คนตกงาน คนขาดรายได้ และจะนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมอื่น ๆ ดังนั้น “รัฐที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดในระยะแรก อาจจะไม่ใช่รัฐที่จะสามารถฟื้นฟูประเทศได้หลังจากนี้” เพราะว่าต้องการทักษะ (Skill Set) คนละชุด แนวนโยบายคนละแบบ และสมรรถภาพคนละแบบ  

เมื่อโควิด-19 เปลือยตัวตนรัฐไทย 

ประเทศไทยโชคดีที่วิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตสุขภาพ ด้วยโครงสร้างสาธารณสุขที่ดีจึงแก้ปัญหาการระบาดได้ แต่ในระยะฟื้นฟูประเทศต้องมีการเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานหลายกระทรวงมากขึ้น เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ในเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงิน ปัญหาทางด้านสังคมก็ต้องประสานงานกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงกระทรวงแรงงาน 

ดังนั้น กลไกรัฐจะต้องอาศัยการบูรณาการในทุกภาคส่วนของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาในระยะฟื้นฟู แต่หน่วยงานของรัฐไทย แต่ละกระทรวง ทบวง กรม มีความสามารถไม่เท่ากัน ทำงานไม่ประสานกัน เวลาพูดถึงรัฐไทยจึงไม่สามารถพูดถึงเป็นส่วนๆ ได้ เพราะ รัฐไทยไม่มีเอกภาพ 

นักรัฐศาสตร์เรียกรัฐไทยว่าเป็น “รัฐรวมศูนย์” แต่ว่าขาดเอกภาพและขาดประสิทธิภาพ คือ รวมศูนย์อำนาจเข้ามาที่ส่วนกลาง นั่นคือ กรุงเทพฯ แต่ในความเป็นจริง กระทรวง ทบวง กรม ทั้งหมดไม่ได้ทำงานบูรณาการร่วมกัน นักรัฐศาสตร์บางกลุ่มเรียกลักษณะการทำงานของราชการไทยเช่นนี้ว่าเป็น “กรมาธิปไตย” คือ ไม่ใช่แค่แต่ละกระทรวงแยกกันทำงานแล้วไม่บูรณาการเท่านั้น ในแต่ละกระทรวง กรมต่างๆ กระทรวงเดียวกันก็ยังไม่ประสานทำงานร่วมกันแยกต่างกันเป็นรัฐอิสระในกระทรวง ซึ่งถือเป็นมรดกการปกครองที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมัยรัชกาลที่ 5 เพราะ ตลอดช่วง 100 ปีของประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่ผ่านมา แม้การเมืองจะมีความผันผวนสูง แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปน้อยมาก คือ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ โครงสร้างรัฐราชการไทยที่ยังคงรวมศูนย์สูงและขาดการบูรณาการเหมือนเดิม 

ดังนั้น รัฐที่มีสมรรถภาพน้อยก็มักจะขาดเอกภาพ ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน จึงต้องใช้อำนาจเชิงบังคับเยอะ  เช่น การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ถือเป็นการแก้ปัญหาการที่รัฐไม่สามารถบูรณาการกันได้ในยามปกติ ถ้าเปรียบเทียบกับรัฐที่มีสมรรถภาพสูง มีประสิทธิภาพสูง รัฐเหล่านั้นก็มีการประกาศภาวะฉุกเฉินในช่วงระยะเวลาที่สั้น และประกาศยกเลิกในที่สุด บางประเทศที่ประสบความสำเร็จไม่ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินหรือใช้กฎหมายฉุกเฉินเลย 

ในกรณีที่รัฐจะใช้อำนาจเชิงบังคับน้อยนั่นเพราะมีประสิทธิภาพ สามารถใช้การบูรณาการประสานการทำงานได้ดีไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวบังคับประชาชนมาก เช่น กรณีของเกาหลีใต้และไต้หวันที่มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีควบคู่กัน ไม่ใช้อำนาจฉุกเฉินหรืออำนาจเชิงบังคับ ไม่ต้องใช้กฎหมายให้เข้มงวด แต่ใช้ความมีประสิทธิภาพของรัฐแก้ปัญหาแทน

กรณีประเทศไทย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่เอามาใช้แก้ปัญหา ยังไม่สามารถประสานทำงานร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย  ในแง่นี้พ.ร.ก. ฉุกเฉิน คือ “ราคาที่สังคมไทยถูกบังคับให้จ่ายกับการมีรัฐธรรมนูญ 2560” ซึ่งผลิตระบบการเมืองที่อ่อนแอ ผลิตรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ทำให้รัฐบาลเคยชินกับการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ทำเหมือนอะไรก็อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ พาสังคมย้อนกลับไปก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อนการเลือกตั้ง 2562 

เวลานี้รัฐไทยกำลังจับประชาชนทั้งประเทศเป็นตัวประกัน แล้วให้จ่ายราคากับระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ระบบการเมืองที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นราคาที่สูงมากที่สังคมต้องจ่ายให้กับรัฐ 

ในระยะถัดไปที่ต้องฟื้นฟูประเทศขนานใหญ่ ภาคเศรษฐกิจกับภาคประชาสังคมกำลังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก  แม้แต่เรื่องพื้นฐานอย่างการบูรณาการจัดการข้อมูลก็ไร้ประสิทธิภาพ การจ่ายเงินเยียวยาก็ประสบปัญหาอย่างมากทุลักทุเลตั้งแต่เริ่มต้น และยังต้องเจอกับปัญหาใหญ่ของระบบราชการไทย คือ การจัดทำแผนร่วมที่มียุทธศาสตร์แต่ละกระทรวงบูรณาการร่วมกัน กลายเป็นว่าแผนที่มีส่วนใหญ่นั้นมีความซ้ำซ้อนกันระหว่างกระทรวง ทำให้งบประมาณซ้ำซ้อน รวมถึงแผนส่วนใหญ่อยู่แต่ในกระดาษ ไม่มีการไปสู่การปฏิบัติจริง ไม่มีการดึงภาคส่วนต่างๆ ทางสังคมเข้ามามีส่วนร่วมกับระบบราชการไทยแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ ระบบการทำงานของราชการไทยยังคุ้นเคยกับการทำงานแบบบนลงล่าง (Top-Down) มีวัฒนธรรมการมองตัวข้าราชการเองเป็น “เจ้าคนนายคน” เหมือนเมื่อสมัย 60 ปีที่แล้วที่เริ่มทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ กระทรวงทุกกระทรวงตอนนั้นมองว่าชาวบ้านปกครองตัวเองไม่เป็น ไม่มีความรู้ เป็นตาสีตาสา ส่วนการปกครองต้องเป็นเรื่องของ “ข้าราชการ” ที่ถูกสอนถูกฝึกมาให้จบไปเป็นเจ้าคนนายคน “เป็นนักปกครอง” ไปใช้อำนาจเหนือประชาชน ทั้งที่จริงแล้ว แนวคิดของระบบราชการสากลทั่วโลก ข้าราชการต้องทำงานรับใช้ประชาชน ทำหน้าที่บริการ ประชาชนเป็นเจ้านายของข้าราชการ ข้าราชการต้องทำทุกอย่างเพื่อบริการให้ประชาชนพึงพอใจที่สุด แต่ของไทยกลับหัวกลับหางกัน คือ มองประชาชนเป็นผู้อยู่ภายใต้การปกครอง ไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถ

วิธีคิดแบบรัฐแบบโบราณนี้จะเห็นออกมาในภาษาที่เต็มไปด้วยการสั่งการสอนการเทศนา มองว่าตัวข้าราชการอยู่เหนือกว่าคนอื่น จึงไม่ยอมดึงพลังทางสังคมหรือดึงพลังของประชาชนซึ่งมีอยู่มากมาเเก้ปัญหา 

วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่สังคมไทยควรจะใช้ในการผลักให้เกิดการปฏิรูประบบราชการที่ยังมีแรงเฉื่อยสูง มีแรงต้านต่อการเปลี่ยนแปลงสูง “เป็นแดนสนธยาที่ไม่ยอมปรับตัวเท่าไหร่” เช่น กองทัพไทยที่ขาดความโปร่งใสตรวจสอบไม่ได้ ไม่ยึดโยงกับประชาชน ขาดความพร้อมรับผิดเมื่อตนทำผิดพลาด  และไม่ใช่แค่กองทัพเท่านั้น ตัวระบบราชการไทยทั้งหมดมีลักษณะเป็นแดนสนธยาราชการไทยจึงไม่ค่อยปรับตัวไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะมีวิกฤตใหญ่ขนาดไหนก็ตาม 

ดังนั้น ถ้าปล่อยให้โอกาสจากมหาวิกฤตครั้งนี้ผ่านไป ภาคสังคม ภาคธุรกิจ ภาคประชาชนไม่จับมือกันในการสร้างฉันทามติเรื่องการปฏิรูปภาครัฐ ระบบราชการให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ อนาคตของประเทศไทยคงน่าเป็นห่วงมากทีเดียว

วิกฤตอำนาจนำ และการกลับมาของการเมืองมาเฟีย

การจะฝ่าวิกฤตนี้ได้คงต้องอาศัย “อำนาจนำ” (Hegemony) ที่เข้มแข็งมากเพื่อหลอมรวมประชาชนไปด้วยกัน แต่ปัญหา คือ ปัจจุบันสังคมไทยอยู่ในสภาวะที่ปราศจากอำนาจนำที่เข้มแข็ง “อำนาจนำ” หมายความว่า อำนาจสูงสุดที่ทุกฝ่ายในสังคม ไม่ว่ากลุ่มไหน ไม่ว่าภาคส่วนไหนก็ยอมรับการนำของอำนาจนี้โดยสมัครใจ มองว่ากลุ่มอำนาจที่ใช้อำนาจอยู่จะพาไปในทิศทางที่ถูกต้อง บ้านเมืองจะเจริญ ฉะนั้น ทุกคนก็จะยอมรับการใช้อำนาจแบบนี้โดยไม่ต่อต้านทานขัดขืน เพราะมองว่า 1.เป็นอำนาจที่ชอบธรรม  และ 2.อำนาจนั้นกำลังพาประเทศไปในทางที่แก้ปัญหาได้

ถ้ามีอำนาจนำแบบนี้สังคมก็จะสงบสุข และจะเดินไปในทิศทางที่ดีมีความขัดแย้งน้อย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีกลุ่มอำนาจนำที่ไม่ได้รับความชอบธรรมจากประชาชนทุกกลุ่มอย่างเป็นเอกฉันท์ขึ้นมาสู่อำนาจด้วยกติกาที่ขาดความเป็นธรรม จงใจสร้างความได้เปรียบให้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น หรือการบังคับใช้กฎหมายที่ไร้มาตรฐาน ก็เป็นต้นตอของปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยจนถึงทุกวันนี้ 

เพราะการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีมาตรฐาน จะทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรม เมื่อขาดความชอบธรรมและขาดวิสัยทัศน์ในการนำพาสังคม ประชาชนก็จะยิ่งรู้สึกว่ากลุ่มอำนาจกำลังใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อค้ำจุนอำนาจของตนเท่านั้น

กลุ่มอำนาจใดไม่สามารถสถาปนาอำนาจนำให้ประชาชน พรรคการเมือง และภาคประชาสังคมทุกฝ่ายยอมรับโดยสมัครใจได้ กลุ่มอำนาจนั้นก็ต้องพึ่งพากลไกอื่น เช่น 

1.การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด คือ สร้างความหวาดกลัวแล้วปกครองด้วยความกลัว เพื่อสกัดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ใช้การข่มขู่ ส่งเจ้าหน้าที่คุกคาม สนับสนุนความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ เพื่อปราบปรามประชาชนที่ไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับอำนาจนำของรัฐโดยสมัครใจ 

ดังนั้น การตั้งคำถามกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เช่น การจ่ายเงินเยียวยา การจ่ายเงินประกันสังคม หรือการออกมาแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตโดยสงบ ก็จะโดนมาตรการของรัฐตามไปข่มขู่คุกคาม เพราะ ต้องการให้สังคมเงียบเสียงตรงนี้ ซึ่งสะท้อนว่า “กลุ่มอำนาจนำไม่สามารถสถาปนาอำนาจของตัวให้ทุกฝ่ายยอมรับได้” ขณะนี้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่ถูกคงไว้ได้ถูกขยายวันเรื่อยๆ และถูกนำไปใช้ในการควบคุมคนมากกว่าการควบคุมโรค ถูกนำไปใช้ในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและความเดือดร้อนของประชาชนมากกว่า หากในอีก 5-6 เดือนข้างหน้า รัฐยังคงใช้อำนาจในลักษณะนี้ปิดกั้นไม่ให้ประชาชนกลุ่มไหนที่เดือดร้อนได้แสดงออก ความตึงเครียดจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และจะน่าเป็นห่วงมากสำหรับเสถียรภาพของรัฐบาล 

2.กลไกระบบการเมืองแบบพ่อขุนอุปถัมภ์ เราไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีชุดนโยบายที่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่มได้ คนที่อยู่ได้ เพราะการใช้ระบบอุปถัมภ์หล่อเลี้ยงพวกพ้องและพรรคพวก ให้ตำแหน่ง ให้รางวัล ให้ผลประโยชน์ต่าง ๆกับเครือข่ายบริวารและพวกพ้อง เพื่อทำให้ทุกคนรู้สึกว่าแม้จะไม่ได้ยอมรับการนำของกลุ่มอำนาจนำของผู้นำโดยสมัครใจ แต่ว่าได้ผลประโยชน์จากการเกาะเกี่ยวกันอยู่ในเครือข่ายอำนาจนี้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สังคมไทยเห็นการเมืองแบบเก่าโผล่กลับขึ้นมาทั้งที่ควรจะหมดไปตั้งแต่การปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 แล้ว 

การเมืองแบบอุปถัมภ์ในสภาผู้แทนราษฎร ปรากฎการณ์ที่เห็นการย้ายพรรค การซื้อเสียงในสภา ปรากฎการณ์งูเห่า ปรากฏการณ์การแย่งตำแหน่งต่าง ๆ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและในพรรครัฐบาลด้วยกัน การจัดสรรที่นั่ง ทุกอย่างกลายเป็นผลประโยชน์ทั้งสิ้น การเมืองแบบเก่ากำลังขยายตัวอย่างน่าตกใจ เจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลมาเฟียกลับมา ทั้งในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งและในสภา เห็นได้จากปรากฏการณ์ที่ไม่ใช้การเมืองเชิงนโยบายและชุดความคิดวิสัยทัศน์ แต่เป็นการเมืองของพวกพ้องใครมีพวกมากกว่า 

ใครสร้างบารมีได้มากกว่า ใครอุปถัมภ์คนอื่นได้มากกว่า กลายเป็นมุ้งขนาดใหญ่เพื่อต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี ในท่ามกลางวิกฤต โควิด-19 ทั้งที่หน้าที่ของรัฐบาล คือ คิดนโยบายแก้ปัญหาทั้งโรคระบาดแล้วก็ฟื้นฟูเศรษฐกิจนำพาสังคมไทยก้าวพ้นปัญหาวิกฤต แต่รัฐบาลปัจจุบันกลับสามารถมีเวลาที่จะไปทะเลาะแย่งชิงต่อรองตำแหน่งกันได้

ปัจจุบันในสภาเริ่มมีการแบ่งเค้ก ส.ส. นักการเมืองพรรคต่างๆ พรรคร่วมรัฐบาล มองงบก้อนนี้ในวิธีคิดแบบการเมืองก่อนปี พ.ศ.2540 คือ ไม่ได้มองในฐานะงบประมาณที่จะมาเยียวยาแก้ไขวิกฤต แต่มองในฐานะ “เค้กก้อนโต” ที่จะมาแบ่งกันได้ใครจะได้ก้อนไหนไปใครจะเอาส่วนไหนไป การจัดสรรงบประมาณจะเห็นว่าเป็นการจัดสรรแบบเหมือนไม่มีวิกฤต โควิด-19  เพราะงบจำนวนมากเอาไปใช้ในการสร้างถนน ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะ หากติดตามการเมืองมานาน ได้ลองสังเกตการณ์ทางการเมืองเป็นประจำ มักจะเกิดคำถามว่าทำไมข้าราชการไทยและนักการเมืองไทยชอบงบประมาณไปสร้างถนน? ก็เพราะงบประมาณในการสร้างถนนเป็นงบประมาณที่ให้ผลประโยชน์กับพวกนักการเมืองหลายตระกูล เช่น สี่แสงการโยธา ตระกูลวงศ์สิโรจน์กุล + ตระกูลศิลปอาชา, ตระกูลชวนะนันท์, ตระกูลลิปตพัลลภ, ตระกูลสะสมทรัพย์ เป็นต้น  

ตระกูลที่กล่าวมามีภูมิหลังมาจากการเป็นผู้รับเหมาทำงานก่อสร้างรับเหมาทั้งสิ้น การตั้งงบก่อสร้างถนน โครงการก่อสร้างทุบ, แต่ง, ต่อ, เติมในหน่วยงานจึงเกิดขึ้นเยอะ เพราะมีโอกาสรั่วไหลและเป็นช่องทางในการคอรัปชั่นได้ง่าย รวมถึงการแจกจ่ายโครงการต่างๆ ไปให้พวกพ้องเพื่อเป็นการตอบแทน งบประมาณแบบนี้จะไม่สามารถช่วยพลิกฟื้นประเทศได้ 

ความเป็นจริง วิกฤตโควิด-19 อาจจะถือเป็นโอกาสครั้งใหม่ให้สังคมไทยร่วมสร้างการเมืองแบบใหม่ วิสัยทัศน์แบบใหม่เพื่อปรับปรุงประเทศก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันภายใต้การนำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ การเมืองแบบย้อนยุคกลับไปก่อนปี พ.ศ.2540 เศรษฐกิจแบบตายหมู่ทุกชนชั้น และปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องมาจากโรคโควิด-19 ด้วย

ภาคประชาสังคม : จากการสงเคราะห์สู่การเปลี่ยนแปลง

ในการศึกษาทางวิชาการได้มีการแบ่งเพื่อวิเคราะห์สังคมในทางวิชาการไว้เป็น 3 ภาคส่วนใหญ่ๆ คือ 1.ภาครัฐ  2.ภาคธุรกิจเอกชนหรือตลาด และ 3.ภาคประชาสังคม

A picture containing sitting, small, table, phone

Description automatically generated

ภาครัฐไทยแม้ไร้สมรรถภาพ ไร้ศักยภาพ ก็ถือว่ายังพยายามอยู่มาก ภาคธุรกิจกิจก็พยายามทำในส่วนของตนเพื่อประคับประคองกิจการและดูแล ลูกจ้าง ผู้ประกอบการ เท่าที่จะพอทำได้ สำหรับภาคประชาสังคมต้องถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ช่วยขับเคลื่อนชาติให้พ้นวิกฤตนี้ เพราะการควบคุมโรคระบาดให้ได้สำเร็จในประเทศไทยเกิดจาก การเสียสละของประชาชนที่ยอมถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพตามคำแนะนำให้อยู่แต่ในบ้าน ไม่ให้ออกไปทำงาน บางคนก็ไม่ได้ไปเจอครอบครัวเลยตามมาตราการการ์ดอย่าตก, หยุดเชื้อ เพื่อชาติของรัฐ เพราะต้องการรักษาการติดเชื้อให้ต่ำที่สุดจนกระทั่งเป็นศูนย์ได้  และแม้จะมีการเสียสละของประชาชน แต่การแก้ไขปัญหาของรัฐก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพขึ้นเลย 

ปัญหาเงินเยียวยาที่ไปไม่ถึงกลุ่มคนเดือดร้อนมีให้เห็นตลอดช่วงวิกฤต แต่ที่น่าสนใจและต้องขอบคุณ คือ เมื่อมีข่าวแบบนี้ออกไป ก็มีกลุ่มประชาชนออกมาลุกขึ้นมาทำอะไรกันเพื่อช่วยเหลือกัน เช่น ร้านอาหารเปิดร้านแจกอาหารฟรี สถานที่ทางศาสนาหลายๆ แห่งกลับมาทำหน้าที่เปิดเป็นโรงทานให้คนมารับอาหารได้ กลุ่มสมาคมศิษย์เก่าชมรมหรือชุมชนต่างๆ เข้าไปเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน บริจาคของให้กัน เอาอาหารไปส่งถึงบ้าน แจ้งข้อมูลข่าวสาร หรือบางที่ก็ใช้ระบบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อไปตรวจโรครักษาสุขภาพคนในชุมชนด้วย 

พลังของภาคประชาสังคมในประเทศไทยมีบทบาทสูงมากกับการรับมือวิกฤตโควิด-19 และเป็นที่น่าสังเกตว่า ภาครัฐเองยังไม่ได้มองการสนับสนุนของประชาชนอย่างครบวงจร ยังไม่ได้ขอบคุณและเรียนรู้จากประชาชนเท่าที่ควร ดังนั้น เมื่อภาครัฐเองยังเยียวยาประชาชนได้ช้าและขาดประสิทธิภาพขนาดนี้ ภาคธุรกิจก็คงไม่ต้องพูดถึง เพราะกลุ่มนี้ประสบปัญหาหนักมาก มีทั้งล้มละลายและต้องประคองตัว ภาคธุรกิจจึงไม่มีพลังเหลือที่จะไปช่วยคนอื่นๆ  

ในวิกฤตนี้ บทบาทของภาคประชาสังคมจึงเด่นชัดและเป็นที่พึ่งได้มาก เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากเครือข่ายบรรเทาปัญหา ภาคประชาสังคมยังต้องมองไปถึงขั้นตอน (Step) ถัดไป  คือ มองหาขั้นตอนสร้างการเปลี่ยนแปลง  

เพราะเมื่อใดที่ภาคประชาสังคม คนธรรมดา ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาในสังคมมากขนาดนี้ นั้นคือสิ่งสะท้อนความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน การจัดลำดับความสำคัญในการเยียวยาประชาชน การจัดสรรงบประมาณได้อย่างทั่วถึงของภาครัฐไทย และยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังขาดตาข่ายรองรับทางสังคม (Social Safety Net) ที่จะคอยรองรับสร้างสวัสดิการทางสังคมที่ดีคอยดูแลประชาชน

A picture containing table

Description automatically generated

สังคมที่มีตาข่ายรองรับทางสังคมที่ดี เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น ประชาชนจะไม่ต้องมีชีวิตที่ตกระกำลำบาก ภาครัฐมีหน้าที่จัดสรรห่วงยางหรือมีขอนไม้ไว้ให้ประชาชนอยู่แล้ว เมื่อตกน้ำไปก็ยังมีอะไรให้กอดไว้ได้บ้าง แต่ในสังคมไทยพอไม่มีตาข่ายรองรับทางสังคมที่ดี เมื่อประชาชนตกลงไปในน้ำก็จมน้ำหายไป ประเด็นสำคัญหลังจากวิกฤตโควิด-19 คือ นอกจากต้องสร้างตาข่ายรองรับทางสังคม  (Social Safety Net) เพื่อไม่ให้ใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลังแล้ว สิ่งที่ต้องช่วยกันผลักดัน คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้พลังภาคประชาสังคมในประเทศไทย ที่เคยมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมาเป็นระยะเวลายาวนาน เคยเป็นภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย กลับมามีพลังได้?

ภาคประชาสังคมไทยเริ่มไร้พลังลงตั้งแต่หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา อำนาจทุกอย่างถูกดึงกลับไปที่รัฐราชการรวมศูนย์ที่ไม่ไว้ใจประชาชน มองประชาชนทั่วไปเป็นกลุ่มคนที่ช่วยเหลือตนไม่ได้ ไม่มีความรู้ความสามารถ ต้องรอคอยให้ส่วนกลางภาครัฐเข้าไปสงเคราะห์ สั่งสอน และดูแล ทั้งยังมองประชาชนบางกลุ่มเป็นศัตรูทางความคิดจ้องแต่จะทำลาย ทำให้พลังทางสังคมไม่ถูกดึงมาใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนต่างๆ

ในอนาคตถ้าเราสามารถออกจากวิกฤตโควิด-19 ไปได้ การฟื้นฟูประเทศต้องมีการเพิ่มอำนาจตัดสินใจให้ภาคประชาสังคมมากกว่านี้ และภาคประชาสังคมต้องตระหนักรู้ว่าภาคประชาสังคมไม่ใช่มีบทบาทแค่ให้บริการทำงานเชิงสังคมสงเคราะห์ หรือช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากเท่านั้น 

เพราะการทำงานเชิงสงเคราะห์เป็นอำนาจในเชิงตั้งรับกับปัญหา ภาคประชาสังคมต้องเรียนรู้ว่าทำอย่างไรที่จะทำให้พลังทางสังคมที่เรียกว่าดี กับ เครือข่ายทางสังคม ให้สามารถขยับบทบาทจากการทำงานเชิงสังคมสงเคราะห์ไปสู่การเป็นพลังทางสังคมที่เป็นขบวนการขับเคลื่อน (Movement) เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้า ไม่ใช่เป็นแค่งานการกุศล (Charity) อย่างปัจจุบัน แต่เป็น “พลังทางสังคมที่เกาะเกี่ยวกันสร้างเครือข่ายแล้วผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างให้รัฐ” (Movement for Change)  ให้ระบบราชการเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง เช่น ปรับระบบงบประมาณสาธารณะสุข ตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นมาจัดสรรในงบสาธารณสุขเยอะขึ้นมากกว่าเดิม ภาคประชาสังคมก็ไม่ต้องมาบริจาคเงินเพื่อสร้างโรงพยาบาล เพราะรัฐควรจัดสรรเงินงบประมาณให้มีโรงพยาบาลที่เพียงพอ 

ภาคประชาสังคมต้องคิดถึงพลังของการสร้างเครือข่าย แล้วผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างให้รัฐ ต้องร่วมมือกันเพื่อมองให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างว่าทำไมต้องบริจาคเงินทุกครั้ง ทำไมต้องมาบริจาคอาหาร ทำไมต้องมาช่วยเหลือกันเอง เมื่อมองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว ภาคประชาสังคมก็จะตระหนักได้ว่าปัญหาเหล่านั้นแก้ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นการยั่งยืนกว่า และรองรับวิกฤตในอนาคตได้มากกว่า  

รัฐที่มีประสิทธิภาพ ไม่เท่า เผด็จการอำนาจนิยม

นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ ทางสังคมศาสตร์หลายคนที่พูดถึงปรากฏการณ์โควิด-19 ไปในทิศทางเดียวกัน มักจะถูกถามบ่อยด้วยคำถามเดิม ภาคประชาสังคมที่เข้มเเข็งจะเกิดขึ้นได้อย่างไร? คำตอบคือ ด้วยประชาธิปไตย นั่นคือ “ในสังคมที่เน้นการสร้างระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ถึงจะให้บทบาทกับประชาชน และไว้ใจประชาชนให้รวมกลุ่มกันได้”  ฉะนั้น  ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยหลังรัฐประหาร พ.ศ.2557 จะเห็นว่าประชาชนถูกกีดกันออกไปจากกระบวนการตัดสินใจ เช่น โครงการ EEC หรือ Eastern Economic Corridor หรือชื่อภาษาไทย คือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่รัฐควรจะฟังผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ประชาชน ชุมชนในพื้นที่ กระทั่งนักธุรกิจภาคเอกชนก็โดนกีดกันออกไป คือ ถ้าไม่มีเส้นสายหรือเป็นกลุ่มเดียวกับที่มีสายสัมพันธ์โดยตรงก็ไม่มีสิทธิ กลุ่มที่ได้เข้าไปลงทุน คือ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ไม่กี่กลุ่มเท่านั้น 

A person sitting at a desk in front of a computer screen

Description automatically generated

สิ่งที่รัฐไทยทำในวิกฤตโควิด-19 คือ ย้อนกลับไปใช้ระบบที่เรียกว่า “ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” กล่าวคือ ไม่มีใครมีบทบาทอะไร พรรคการเมืองถูกตัดออกไป, ภาคประชาชนถูกตัดออกไป, องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO), นักธุรกิจรายย่อยถูกตัดออกไป เหลือแค่ข้าราชการ + ชั้นนำ + กลุ่มทุนขนาดใหญ่ เกิดเป็นการผูกขาดอำนาจเพื่อควบคุมทั้งทางการเมืองและทางทางเศรษฐกิจด้วย 

ส่วนในทั่วโลกที่รับมือกับวิกฤติ โควิด-19 ได้ดี เพราะ รัฐสามารถรักษาสมดุลระหว่าง 2 สิ่งได้ คือ 1.การควบคุมโรค และ 2.การเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น ถ้าประสบความสำเร็จแค่ด้านเดียวก็ไม่สามารถเรียกได้ว่ารัฐนั้นประสบความสำเร็จกับการรับมือกับ โควิด-19  เพราะรัฐต้องเห็นความซับซ้อนของปัญหาและจะต้องพยายามสร้างสมดุลตรงนี้ 

รัฐที่เก่ง ผู้นำที่เก่ง ต้องฟังคนหลายกลุ่ม จะไม่ฟังแค่หมออย่างเดียวไม่ได้ เพราะหมอมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คือ ควบคุมโรค แต่หมอก็อาจจะมองไม่เห็นมิติทางเศรษฐกิจ ทางสังคมอื่นๆ รัฐบาลที่เก่งจึงต้องดึงภาคส่วนต่างๆ และกลุ่มอาชีพต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็น นักเศรษฐศาสตร์ ภาคแรงงาน นักจิตวิทยานักการศึกษา นักธุรกิจ นักสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น ผู้นำที่เก่งจะประมวลความคิดเห็นแล้วตัดสินใจเชิงนโยบาย เลือกทางเลือกที่คนทุกกลุ่มเจ็บตัวน้อยที่สุดโดยไม่ได้มองแค่มิติทางการแพทย์ 

กรณีของจีน แม้รัฐมีสมรรถภาพสูง แต่ว่าเป็นรัฐแบบเผด็จการอำนาจนิยมซึ่งมีปัญหาตามมาคือ การปกปิดข้อมูลข่าวสาร และความน่าเชื่อถือของข้อมูล คือ ถ้ารัฐรับมือกับเรื่องนี้อย่างโปร่งใสตั้งแต่การระบาดช่วงต้น จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกอาจจะไม่บานปลายขนาดนี้ กลับกัน ระบอบประชาธิปไตย คือ ระบอบที่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานได้อย่างเสรี ข้อมูลมีการไหลไหลเวียนอย่างเสรี และมีความน่าเชื่อถือ เพราะตรวจสอบได้  กรณีจีนจึงถือว่าเป็นรูปแบบที่มีปัญหา เพราะที่เกิดการระบาดครั้งนี้ ปัญหาส่วนหนึ่งก็เพราะจีนไม่มีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลให้ประเทศอื่นๆ  

สิ่งที่สังคมไทยต้องการตอนนี้คือ “รัฐที่มีประสิทธิภาพ” ไม่ใช่ “รัฐอำนาจนิยม” โดยทั่วไปคนมักจะสับสนกับ 2 คำนี้ เอามาใช้ในความหมายเดียวกันว่ารัฐที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมเข้มแข็งแบบจีนถึงจะเรียกว่าเป็นรัฐที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นเป็นคนละเรื่องกัน 

รัฐที่มีประสิทธิภาพ คือ บูรณาการการทำงาน มีแผนร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหา เช่น กรณีเกาหลีใต้ ที่ถือเป็นรัฐที่มีประสิทธิภาพควรแก่การเรียนรู้มาก เพราะนอกจากประสบความสำเร็จในประเทศแล้วยังเป็นโมเดลแนะนำไปทั่วโลกด้วย คือ มีการใช้อำนาจเชิงบังคับ (Coercion) น้อยมาก แต่ประสบความสำเร็จในการรับมือ เพราะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการตรวจหาเชื้อผู้เสี่ยงอย่างกว้างขวาง ติดตามตรวจสอบโรคโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยี โดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนเกินไป พอมีคณะทำงานที่มีประสิทธิภาพร่วมกันคิดผู้นำก็ตัดสินใจได้เร็ว มีการสื่อสารที่ดีกับประชาชนเพื่อสร้างความร่วมมือ 

นอกจากนั้น ยังมีประเทศที่ล้มเหลวอย่างชัดเจนก็คือ ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบการปกครองแบบที่เรียกว่าประชานิยมฝ่ายขวา (Right-Populist) ภายใต้ผู้นำที่เป็นผู้นำแบบเข้มแข็ง (Strong man) เช่น สหรัฐอเมริกาภายใต้ โดนัลด์ ทรัมป์ (มีผู้ติดเชื้อเป็นอันดับ 1 จำนวนหลายล้านคน)  บราซิลภายใต้ ฌาอีร์ โบลโซนาโร (ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 2 และประธานาธิบดีเองก็ติดเชื้อด้วย)   รัสเซียภายใต้ วลาดีมีร์ ปูติน  หรือแม้แต่เพื่อนบ้านเราอย่างฟิลิปปินส์ ภายใต้ โรดริโก ดูแตร์เต (มีการแพร่ระบาดในชุมชนแออัด แคมป์แรงงาน คนเสี่ยงตกงานหลาย 10 ล้านคน) 

A person standing in front of a curtain

Description automatically generated

ผู้นำทั้ง 4 คนที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตัวแบบที่เรียกว่า “ผู้นำแบบเผด็จการเข้มข้น” ใช้กระแสชาตินิยมปกครองด้วยความหวาดกลัว แล้วอ้างว่าตัวเป็นผู้นำที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ ที่น่าสนใจคือ “ในยามเกิดวิกฤตกลับพบว่าตัวแบบผู้นำแบบนี้อ่อนแอมากที่สุด” ทั้งไม่สามารถแก้ไขปัญหา ตัดสินใจช้า ไม่ใช้หลักวิทยาศาสตร์และยังสร้างให้เกิดความแตกแยกในทางสังคมด้วย เช่น ที่ฟิลิปปินส์มีการขู่แก้ปัญหาการไม่ยอมเก็บตัวอยู่บ้าน ด้วยการบอกว่า ถ้ามีใครออกจากบ้านให้ตำรวจยิงได้เลยความคิดแบบนี้เป็นปัญหามาก และไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะ “เชื้อโรคไม่ได้หวาดกลัวอำนาจเผด็จการ เชื้อโรคหวาดกลัวอำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพ” หวาดกลัววิทยาศาสตร์ 

แนวคิดการปกครองแบบประชานิยมฝ่ายขวา เกิดขึ้นมาหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี ค.ศ. 2008 ก่อนนั้นก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ และเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป ทำให้คนแสวงหาตัวเลือกใหม่ๆ ทางเลือกใหม่ๆ ในทางการเมืองแล้วก็เหลือบไปเห็นประชานิยมแบบฝ่ายขวาที่อิงกับชาตินิยม อิงกับอำนาจแบบเข้มแข็งเด็ดขาด เพราะ ประชาชนเบื่อผู้นำที่เป็นนักการเมืองแบบเก่า พรรคการเมืองแบบมาตรฐาน จึงหันไปเทคะแนนให้กับนักการเมืองแบบประชานิยมฝ่ายขวา ด้วยมองว่าเป็นทางเลือกที่อาจจะแก้ปัญหาได้ พรรคการเมืองแบบนี้จึงเกิดและเป็นกระแสลุกลามไปในหลายประเทศ กลายเป็นว่า “โควิด-19 ได้ช่วยเปิดเผย และเปลือยล่อนจ้อนให้เห็นว่า ประชานิยมฝ่ายขวาของผู้นำแบบเด็ดขาดเข้มแข็ง เป็นรูปแบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ” 

กลับกัน ผู้นำแบบนิวซีแลนด์ และ ไต้หวัน  ที่เป็นผู้นำหญิง ทำงานได้มีประสิทธิภาพและเข้มแข็งกว่ามาก เป็นผู้นำแบบใหม่ที่เก่งในการสื่อสาร รู้จักใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี มีวิสัยทัศน์เข้าใจว่าความมั่นคงของโลกในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ความมั่นคงยุคสงครามเย็น แต่ยังมองไปถึงความมั่นคงในแง่ระบบสาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงในการจ้างงาน ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนนิยามว่าผู้นำที่ดีผู้นำที่เข้มแข็งคืออะไรไปอย่างสิ้นเชิง

สังคมไทยหลงทางมานานแล้วกับมายาคติ “ระบอบเผด็จการอำนาจนิยม เท่ากับ ระบบที่เข้มแข็ง” แต่แท้จริงแล้ว สังคมไทยสามารถมีระบอบประชาธิปไตยพร้อมกับมีภาครัฐที่มีประสิทธิภาพไปพร้อมกันได้โดยไม่ต้องไปลอกเลียนรูปแบบจีนซึ่งเป็นรูปแบบที่มีความบกพร่อง มีความครึ่งๆ กลางๆ ไม่พยายามสร้างระบอบประชาธิปไตย หรือ รัฐที่มีประสิทธิภาพ 

รัฐไทยควรหันไปดูดูรูปแบบของ ไต้หวัน และ นิวซีแลนด์ ที่ทำงานตอบสนองได้ดีรวดเร็วฉับไว แก้ไขปัญหาของประชาชนได้ถูกจุด และยังไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ไม่ปกปิดเซ็นเซอร์ข้อมูล   มองความเป็นจริงในปรากฏการณ์โลกด้วยว่า รัฐแบบไหน ระบบการเมืองแบบไหน ที่สังคมต้องการสร้างขึ้น นั้นคือ ระบบประชาธิปไตยที่ทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพขึ้น 

ถึงเวลาปฏิรูปการเมือง (ครั้งใหม่)

วิธีที่สังคมไทยจะออกจากวิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน และวิกฤติอื่นๆ ที่จะมีในอนาคตได้ สังคมไทยจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่ครั้งที่ 2 แบบเดียวกับที่นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 

ถึงเวลาปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่แล้ว และการปฏิรูปครั้งใหม่ต้องเป็นโครงการที่ใหญ่กว่ากระบวนการธงเขียวที่เห็นตอน พ.ศ. 2540 เพราะ กระบวนการปฏิรูปทางการเมืองตอน พ.ศ. 2540 มาจากแรงผลักของการเกิดเหตุการณ์พฤษภาคมปี พ.ศ. 2535 สังคมมองร่วมกันว่า การนองเลือดไม่ใช่หนทางสำหรับสังคมไทยอีกแล้ว ประชาชนต้องการออกจากวงจรอุบาทว์ “รัฐประหาร คอรัปชั่น เลือกตั้งใหม่ แล้วก็ยึดอำนาจ” จึงเกิดโจทย์ว่าจะต้องมีการปฏิรูปทางการเมือง แต่การปฏิรูปใน พ.ศ. 2540 มีแรงเหวี่ยงของการปฏิรูปทางการเมือง หนักไปที่นักการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะคนเชื่อกันว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำให้ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ลืมโจทย์สำคัญอีกครึ่งหนึ่งของปัญหาประชาธิปไตยไทยไป  คือ การปฏิรูปกองทัพ เพราะถ้าไม่มีการปฏิรูปกองทัพที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ก็ไม่สามารถตั้งเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ สร้างรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ สร้างระบบการเมืองเชิงนโยบาย ปรับให้มีการกระจายอำนาจ เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เช่น เสนอร่างกฎหมายของตนได้ 

เเม้จะอยู่ในทิศทางที่ก้าวหน้าแล้ว แต่การปฏิรูปใน พ.ศ. 2540 ยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่ในบางเรื่อง ดังนั้น อย่างที่ภาคประชาสังคมหลายๆ ส่วนได้เสนอมาว่า การปฏิรูปการเมืองครั้งนี้สามารถนำรูปแบบการปฏิรูปใน พ.ศ. 2540 เป็นตัวตั้ง แล้วเอารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540  กลับมาใช้ชั่วคราวก่อน ก็อาจจะทำได้ แต่ผมเสนอว่าต้องไม่หยุดแค่นั้น เพราะโจทย์ที่เรากำลังเผชิญเป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก ทั้งในแง่การเมืองที่ขาดความชอบธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย สังคมมีความเหลื่อมล้ำสูง และในแง่เศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำและผูกขาดมานาน 

รัฐไทยเคยเป็นผู้นำประชาธิปไตยของอาเซียนในยุค ค.ศ. 1990 แต่ตอนนี้มีคนเรียกไทยว่าเป็น พม่า, ฟิลิปปินส์ + กัมพูชา คือ เป็นพม่าในสมัยที่อำนาจทหารยังมีอยู่สูงไปฝังอยู่ในโครงสร้าง หรือ เป็นฟิลิปปินส์ในความหมายที่ว่าเป็นตัวแบบของการเมืองแบบเจ้าพ่อมาเฟียการเลือกตั้ง มีการใช้ความรุนแรงการข่มขู่มีบทบาทของตระกูลการเมืองสูงเป็นการเมืองที่อ่อนแอ เป็นระบบเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลทางการเมืองอ่อนแอ มีแต่มุ้งการเมือง การแข่งขันในการหาเสียงไม่มีนโยบายเป็นการแข่งขันกันของตัวบุคคลแล้วก็ชื่อเสียงและบารมี นอกจากนั้นยังมีลักษณะที่เหมือนกับ กัมพูชา คือ เป็นการเมืองที่ผู้นำอย่าง ฮุน เซน เป็นผู้นำเผด็จการ ใช้กลไกทุกอย่างรวมถึงกลไกตุลาการ เข้าทำลายพรรคฝ่ายตรงข้ามจนกระทั่งไม่มีคู่แข่ง แล้วก็สามารถชนะการเลือกตั้งและปกครองในฐานะรัฐบาลพรรคเดียวได้ ทำลายสื่อ ทำลายองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ทำลายภาคประชาสังคม โดยที่ก็ยังคงจัดการเลือกตั้ง แต่พิเศษตรงที่เป็นการเลือกตั้งที่รัฐคุมกระบวนการทุกอย่างในการเลือกตั้ง เรียกว่าเป็นการปกครองที่มีส่วนผสมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องรื้อฟื้นจินตนาการและจิตวิญญาณการปฏิรูปใน พ.ศ. 2540 ผมเสนอว่าต้องถอดบทเรียนจากการปฏิรูปใน พ.ศ. 2540 ว่าแต่ละองคาพยพพลาดอะไรไปบ้างในการปฏิรูปใน พ.ศ. 2540 โดยอาศัยแรงผลักจากวิกฤตโควิดครั้งนี้ ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองที่ก้าวหน้ากว่าเดิม ไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญใหม่ แต่ต้องหา “จินตนาการทางการเมืองใหม่” ที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะออกจากวิกฤตและร่วมกันสร้างการเมืองใหม่ได้จริง 

ผมเสนอว่า การจะสร้างกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ที่ก้าวหน้ากว่าการปฏิรูปใน พ.ศ. 2540 ต้องมีโจทย์เหล่านี้ คือ 

1.เพิ่มการปฏิรูปกองทัพ  

2.การกระจายอำนาจ ต้องก้าวหน้ากว่าเดิม (ยุติราชการรวมศูนย์) 

3.การปฏิรูประบบราชการ ต้องเข้มข้นกว่าเดิม 

4.เพิ่มแนวนโยบายทางเศรษฐกิจในแง่การสร้างรัฐสวัสดิการ

ทั้ง 4 เรื่องนี้จะต้องถูกนำมาขบคิดและใคร่ครวญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้ได้  เพราะในการปฏิรูป พ.ศ. 2540 แนวนโยบายทางเศรษฐกิจยังอยู่ภายใต้เพดานของนโยบายแบบตลาดเสรีหรือเสรีนิยมใหม่ เพราะตอนนั้นรัฐไทยมุ่งฟื้นฟูทุนนิยมไทยและมองไม่เห็นโจทย์เรื่องรัฐสวัสดิการเลย แต่ปัจจุบันสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 สร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนจำนวนมาก ทำให้คนในสังคมต้องการทางเลือกใหม่ เช่น การมีระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ดังนั้น ใครที่สามารถนำเสนอ วิสัยทัศน์ (Vision) ทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจสังคมและในการปฏิรูปการเมืองที่ก้าวหน้าได้ ภาคประชาชนก็จะยินดีต้อนรับและสนับสนุน เพราะคนต้องการทางเลือกใหม่ๆ เสมอเมื่อเกิดวิกฤต

ในอนาคตการเมืองจะเป็นเรื่องของการแข่งขันในการนำเสนอวิสัยทัศน์ในการฟื้นฟูประเทศ  ขบวนการปฏิรูปการเมืองทั้งหลายจะอาศัยแค่พลังส่วนใดส่วนหนึ่ง จะแค่ในสภาอย่างเดียว หรือพลังจากพรรคการเมืองก็ไม่พอ หรือนอกสภาอย่างเดียว พลังจากขบวนการประชาชนเคลื่อนไหวบนท้องถนนก็ไม่พอ ต้องประกอบกัน รูปแบบที่นึกถึงกรณีมาเลเซีย คือ เขาใช้เวลาเกือบ 12 ปี ผ่านการเลือกตั้ง 3 ครั้งกว่าจะผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ และต้องใช้พลังนอกสภากับพลังในสภา ประสานกับสื่อที่มีความเป็นประชาธิปไตยและเข้าใจโจทย์การปฏิรูปทางสังคม 

ดังนั้น ถ้า 3 สิ่งนี้บวกกันได้ก็จะเกิดเป็นพลังที่สำคัญในการสร้างวาระการปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหม่ ที่ต้องไปไกลกว่าการปฏิรูปใน พ.ศ. 2540 

“การเมืองแห่งการมีส่วนร่วม” สิ่งสำคัญในห้วงยามวิกฤต

ช่วงวิกฤต โควิด-19 แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้แต่ละรัฐต้องหารูปแบบทางการเมือง รูปแบบทางเศรษฐกิจแบบใหม่ เพราะคนทั่วโลกยอมรับกันแล้วว่า รูปแบบเศรษฐกิจแบบใครมือยาวสาวได้สาวเอาของเสรีนิยมที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันมีข้อจำกัดเยอะมาก ทั้งในประเทศประชาธิปไตยแบบอเมริกาแล้วก็เผด็จการรวมศูนย์แบบจีน ทั้งสองรูปแบบต่างเป็นรูปแบบที่ทั่วโลกเห็นแล้วว่าล้มเหลว ไม่ใช่รูปแบบที่ดีในทางเศรษฐกิจ จึงเกิดการตั้งคำถามกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ กับแนวคิดโลกาภิวัตน์แบบตลาดเสรีที่นำโดยทุนแล้วก็บริษัทขนาดใหญ่ไม่กี่กลุ่ม ภาคประชาสังคม พรรคการเมือง จึงเริ่มกลับมาพูดถึงการพูดถึงระบบรัฐสวัสดิการ การประกันรายได้ขั้นต่ำให้ทุกคนต่อเดือน มีการถกเถียงกันจริงจังในสังคม ไม่ใช่เรื่องที่เป็นสังคมอุดมคติ (Utopia) เพ้อฝัน วิกฤตนี้ถือว่าได้เปิดโอกาสให้คนสร้างจินตนาการใหม่ๆ และมีวิสัยทัศน์ใหม่ๆ 

ผมขอเสนอวิสัยทัศน์ใหม่ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม 3 ข้อ คือ 

1. Inclusive Politics คือ การเมืองที่ผนวกรวมประชาชนทุกคนเข้ามา 

2. Inclusive economy คือ เศรษฐกิจที่โอบอุ้มคนทุกกลุ่มไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

3. inclusive Society คือ สังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี

ต้องไม่ลืมว่าสังคมที่คนมารอรับบริจาคเข้าแถวรับอาหารอย่างที่เห็นไม่ใช่สังคมที่ดี สังคมแบบสังคมสงเคราะห์ที่มีผู้ให้กับผู้รับไม่ใช่เรื่องที่ใครต้องการ ไม่มีใครอยากมีชีวิตที่ไร้ศักดิ์ศรีขนาดนั้นที่จะต้องมาขออาหารหรือขอเงินจากคนอื่น ทุกคนอยากมีศักดิ์ศรีที่ยืนบนลำแข้ง ได้มีงานทำ มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวตนได้ ถ้าทำให้แต่ละคนแข็งแรงยืนบนลำแข้งตัวตนได้ ไม่ต้องมีการสังคมสงเคราะห์ ไม่ต้องมีการรับบริจาค คนก็จะภูมิใจกว่าด้วยซ้ำ ดังนั้น เมื่อทุกคนเข้มแข็ง คนตัวเล็กก็จะเข้มแข็ง สังคมโดยรวมก็จะเข้มแข็งไปด้วย ในแง่นี้สังคมที่เข้มแข็ง คือ สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ 

สังคมอย่างฟิลิปปินส์หรือสังคมอย่างละตินอเมริกาและแอฟริกาที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คนรวยกระจุกตัวอยู่แค่ 1% หรือ 5% ของสังคมคนรวย สังคมแบบนี้บ้านนี้ต้องล้อมรั้วลวดหนาม กลัวครอบครัวเพื่อนบ้านที่เป็นคนจนในสลัม รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่รู้จะมีใครมาปล้นชิง เข้ามาในบ้านมาขโมยของซึ่งไม่รู้เมื่อไหร่ คือ อยู่อย่างไรก็ไม่มีความสุข  คนที่รวยล้นฟ้าก็ไม่สามารถมีความสุขได้ในบราซิล ในอาร์เจนตินาต้องมีรถรับส่งลูกไปโรงเรียน ไม่กล้าเรียกรถแท็กซี่ หรือให้ลูกขึ้นรถสาธารณะ เพราะกลัวการลักพาตัวลูกหลานเศรษฐีไปเรียกค่าไถ่

เมื่อสังคมที่เหลื่อมล้ำสูงมากขึ้น คุณก็จะไม่สามารถมีความสุขได้ต่อให้คุณมีเงินทองล้นฟ้า วิกฤตนี้เปิดเผยให้เห็นเลยว่าที่ไหนที่เหลื่อมล้ำสูงก็จะเห็นว่ารับมือได้แย่มาก เพราะมีความแตกแยก แล้วมีคนที่ลำบากเยอะมาก ต่อให้มีงบประมาณมากขนาดไหนก็ไม่เพียงพอที่จะไปช่วยเหลือ ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางที่ล้มละลายจะถูกกว้านซื้อและช้อนซื้อควบรวมกิจการโดยธุรกิจขนาดใหญ่ 

ในทางสังคม คนชั้นกลางจะเป็นคนที่ได้รับผลกระทบด้วยไม่ใช่แค่คนจนเหมือนตอนวิกฤต พ.ศ. 2540 จากรายงานของธนาคารโลก (IMF) มีโอกาสที่คนชั้นกลางในไทยจะหดตัวลง เพราะเศรษฐกิจหดตัวอย่างต่อเนื่อง คนชั้นกลางจำนวนหนึ่งจะตกงานและสูญเสียรายได้ที่เคยมี ซึ่งเป็นสภาวะที่น่ากลัวมาก ฉะนั้น ต้องคิดถึงรูปแบบใหม่ในทางเศรษฐกิจที่ต้องลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 

วิสัยทัศน์ใหม่ในทางเศรษฐกิจที่ผู้นำยุคนี้จะต้องตระหนักถึง คือ การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตโลก (Global Supply Chain) และจะอยู่อย่างไรกับสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีนที่จะรุนแรงมากขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ โอกาสทางสังคม เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าต้องมีการเมืองแบบใหม่ มรดกของยุคสงครามเย็นที่เป็นการเมืองที่ล้าหลังไม่สามารถรับภาระออกจากวิกฤตครั้งนี้ได้เลย และยังจะถูกประเทศอื่นทิ้งไว้ข้างหลังมากขึ้นอีกถ้าไม่สามารถปรับรูปแบบทางการเมืองและรูปแบบของรัฐได้

การเมืองแบบที่ต้องการในอนาคต คือ การเมืองที่ผนวกรวมประชาชนทุกคนเข้ามา (Inclusive Politics) ถึงจะเป็นรูปแบบตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับรูปแบบที่ใช้อยู่ตอนนี้คือรัฐราชการแบบรวมศูนย์กลาง (Exclusive Politics) ที่กีดกันคนจำนวนมากออกไป เป็นการเมืองที่อำนาจผูกขาดอยู่กับชนชั้นนำกลุ่มเล็กมาก คือ ข้าราชการและนายพล  กลุ่มอำนาจที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหารปี พ.ศ.2557  และอาจจะมีนักการเมืองกลุ่มเล็กๆ ซึ่งการเมืองแบบนี้ประชาชนจะไปไม่รอด แต่จะดีสำหรับคนที่อยู่ในเครือข่ายชนชั้นนำ 

สังคมไทยต้องสร้างการเมืองที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ตั้งแต่การมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่น เมื่อไม่มีหน่วยงานระดับท้องถิ่นจากการเลือกตั้งมา 6 ปี ปัญหาหลายอย่างจึงไม่ถูกแก้ งบประมาณจึงไม่ถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ประชาชนไม่มีโอกาสเลือกผู้นำท้องถิ่นของเขา ทำให้ท้องถิ่นที่มีศักยภาพมาก ท้องถิ่นที่เป็นรากฐานของการสร้างประชาธิปไตย สร้างผู้นำทางการเมืองแบบใหม่ๆ ถูกแช่แข็งไป และยิ่งทำให้อำนาจยิ่งกระจุกตัวรวมอยู่ในส่วนกลางเหมือนเดิม 
A group of people standing in front of a crowd

Description automatically generated

สังคมไทยต้องเปิดการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่นแล้วต้องเปิดการมีส่วนร่วมให้กับประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่เขาเดือดร้อน รวมถึงนิสิตนักศึกษาที่กำลังตื่นตัวอย่างมาก ยิ่งปิดกั้นจะยิ่งทำให้สังคมเกิดความตึงเครียดแล้ว วันใดวันหนึ่งที่เขาไม่ทนแล้ว การระเบิดออกมาเป็นแบบอาหรับสปริงก็ยากที่จะควบคุมได้ และไม่รู้ว่าจะไปจบด้วยความรุนแรงหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากเห็นการนองเลือดรุนแรง

โดยเฉพาะในสังคมที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง รัฐยิ่งต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้คนเหล่านั้นแสดงออกได้ รวมกลุ่มได้ ไม่เช่นนั้น คิดว่าการเมืองแบบนี้อาจจะดูเหมือนสงบในระยะเวลาชั่วคราว แต่เกินจาก 5 – 6 เดือนไปการเมืองแบบนี้เป็นการเมืองแบบระเบิดเวลา เพราะเป็นการเมืองที่ไม่เปิดโอกาสให้ความทุกข์ร้อนของผู้คน ปัญหาของผู้คนไม่ได้รับการแสดงออก อีกทั้งภาครัฐกลับปิดทุกอย่างไว้และเชื่อว่าจะควบคุมได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ นอกจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่กำลังรออยู่แล้ว ยังจะเป็นเงื่อนไขในการทำให้เกิดความรุนแรงได้ในอนาคต 

ระบบการเมืองแบบที่ผนวกรวมประชาชนทุกคนเข้ามา ควรทำอย่างไรกับพลังต่อต้านประชาธิปไตย?

การสร้างการเมืองที่ผนวกรวมประชาชนทุกคนเข้ามา คือ การสร้างกติกาที่ไม่ให้มีใครได้หมดหรือเสียหมด เป็นกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลที่ถือกำเนิดขึ้นมามีความชอบธรรม มีความแข็งแรง และมีเสถียรภาพจริงๆ 

ชนชั้นกลางหรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ถ้าเล็งเห็นผลประโยชน์ของตัวในระยะยาวไม่ใช่ระยะสั้น จะต้องเห็นประโยชน์ของการสร้างการเมืองที่ผนวกรวมทุกกลุ่ม รวมประชาชนทุกคนเข้ามา เพราะจะทำให้รัฐบาลที่ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นรัฐบาลที่อยู่ได้นานและได้รับการยอมรับ กลุ่มทุนก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะรัฐบาลแบบนี้ย่อมสามารถผลิตนโยบายที่มีประสิทธิภาพและบังคับใช้นโยบายนั้นโดยที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ความขัดแย้งในสังคมน้อยลง โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงถึงขั้นการเปลี่ยนระบอบแบบที่เห็นในตะวันออกกลาง เกิดความวุ่นวาย เกิดสงครามกลางเมือง เกิดรัฐล้มเหลวก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดสภาวะแบบนั้นขึ้นจริง มีความวุ่นวายบนท้องถนนและรัฐล้มเหลว กลุ่มทุนโดยเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เสียผลประโยชน์มากที่สุดจากความไร้เสถียรภาพทางการเมือง 

ทุกกลุ่มต้องมองผลประโยชน์ของตนในระยะยาวไม่ใช่แค่ระยะสั้น ในระยะสั้นการมีระบบการเมืองแบบพ่อขุนสร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจได้โดยตรงผ่านระบบอุปถัมภ์พวกพ้องดูเหมือนจะดี แต่ในระยะยาวระบบแบบนี้จะโดนต่อต้านและจะไม่มีความยั่งยืน โดยเฉพาะกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่หรือคนที่ได้ประโยชน์จากระบบนี้

สังคมที่เหลื่อมล้ำสูงและเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำสูง หมายความว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศ 80% อ่อนแอ และถ้าเขาอ่อนแอจนไปถึงจุดที่กระทั่ง ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ไม่มีกำลังซื้อ ธุรกิจใหญ่ๆ ก็จะรับผลกระทบตามไปด้วย รวมถึงปัญหาทางสังคมที่พูดถึงแล้ว กรณีที่มีอาชญากรรม ความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาทางสังคม ก็จะทำให้ชนชั้นนำที่อยู่บนยอดของพีระมิดไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างสงบสุขและปลอดภัย ไร้การต่อต้านรุนแรง ดังนั้น การลดความเหลื่อมล้ำจึงเป็นการให้ประโยชน์กับชนชั้นนำบนยอดพีระมิดพอๆ กับด้านล่าง

Author

คณะก้าวหน้า
“เราจะเดินหน้าทำงานทางความคิด สร้างความเป็นไปได้ในการปลุกเอาประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ จากจำนวนนับ จากที่เคยเป็นเพียงวัตถุ ..ให้กลายเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศอย่างแท้จริง”